พลิกโฉมการศึกษาผ่าน GenAI: ปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ด้วย ChatGPT ตอนที่ 3

ตามที่เกริ่นไว้ถึงความสามารถที่เหลือล้นของ GenAI ในตอนที่แล้วนะครับ สรุปกันอีกทีก็คือว่า ณ เวลานี้ ผ่านไป 1 ปีพอดีจากที่เคยทำได้แค่อ่านคำสั่งและตอบเป็นข้อความ วันนี้มันสามารถมองเห็นรูปภาพ ฟังคำสั่งเสียง และพูดได้แล้ว

(ภาพจาก openai.com)

ความสามารถในการ ‘มองเห็น’ นี่สำคัญมากนะครับ เพราะทำให้มันแปรผลรูปภาพเป็นข้อมูลที่มันเข้าใจและตอบคำถามเราได้ ในตัวอย่างจากบล็อกของ OpenAI มีคลิปโชว์การถ่ายภาพจักรยานและบอกให้ ChatGPT app บนสมาร์ทโฟนช่วยอธิบายวิธีลดความสูงอานจักรยานให้หน่อย

(ภาพจาก openai.com)

ถ้าดูจากรูปจะเห็นว่า (1) ขั้นตอนแรกคือเราถ่ายรูปจักรยานทั้งคันให้ ChatGPT ดู แล้วในคำตอบมีการอธิบายถึงวิธีการคลายตัวล็อค ซึ่งมีสองแบบคือ หูรัดหลักอานเบาะแบบงัดได้ (Lever) และแบบสกรู (Bolt) ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจักรยานเราเป็นแบบไหน (2) เราก็ถ่ายรูปซูมให้ดูแล้วถามยืนยัน พอมันบอกว่าไม่ใช่หูรัดแบบงัดได้ แต่เป็นแบบสกรู ChatGPT ก็แนะนำต่อว่าคุณต้องมีประแจแอล (Allen wrench) หรือประแจหกเหลี่ยม (Hex Key) ทีนี้เราก็ไม่แน่ใจอีกว่าในกล่องเครื่องมือช่างเรามีประแจแบบนี้ไหม (3) เราก็เปิดกล่องแล้วถ่ายรูปให้ ChatGPT ช่วยดูให้หน่อย พอมันยืนยันเราก็จัดการปรับความสูงของอานได้ เรียกว่ามันสามารถเป็นครูฝึกการปรับเบาะจักรยานให้เราได้เลย

เห็นความสามารถของเทคโนโลยี GenAI ว่าทำได้ขนาดนี้ หลายคนที่ยังกังขาอาจอยากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเสิร์ชเอนจิน (search engine) อาจคิดว่าฉันหาเองจาก Google ก็ได้ ก็จริงครับ แต่มันใช้เวลานานกว่านี้แน่นอน หลายคนที่ตื่นเต้นอาจคิดว่าแบบนี้ก็ไม่ต้องมีครู ไม่ต้องมีโรงเรียนแล้วใช่ไหม (มาอีกแล้วแนวคิดแบบนี้) และในเวลาเดียวกันครูหลายคนก็มารวมตัวกันค้นหาวิธีที่จะให้การศึกษาการเรียนรู้ได้ไปต่อ โดยเอา GenAI มาเป็นเครื่องมือช่วยเรียนรู้ด้วย แล้วถ้าเราอยากจะเกาะกลุ่มครูอาจารย์กลุ่มนี้เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนในแบบที่เหมาะกับยุคสมัย เราต้องเริ่มอย่างไร?

GenAI ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง

เนื่องจาก GenAI เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่สามารถทำอะไรก็ได้ หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่ามันจะมาช่วยงานด้านการศึกษาได้อย่างไร เรื่องนี้คงต้องแยกเป็นสองประเด็นคือ มันจะช่วยงานครูได้อย่างไร และมันจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของครูนั้นเราต้องรู้หลักการ prompt เบื้องต้นก่อนแล้วถึงจะขยับไปหาไอเดียการใช้งานที่หลากหลายขึ้น

Prompt ที่ดีเป็นแบบนี้

การสั่งให้ GenAI ผลิตเนื้อหาหรือสื่ออะไรก็ตาม ผลลัพธ์มันจะดีได้ก็ต่อเมื่อคำสั่งนั้นหรือ prompt นั้นดีพอ ในบริบทของ GenAI สิ่งที่จะเพิ่มคุณภาพให้ prompt คือบทบาทที่มันต้องเล่น (role) แนวทางที่มันต้องใช้ (rules or models) และรูปแบบของผลลัพธ์ (output format) ตัวอย่างของ prompt ที่มี 3 สิ่งนี้จะมีหน้าตาแบบนี้ครับ

“เธอคือครู [ชั้นปี] อยากออกแบบบทเรียน [ระยะเวลา] เรื่อง [หัวข้อเรียนรู้]  แบ่งเป็นเนื้อหา [กิจกรรมการเรียนรู้ + ระยะเวลา] และ [กิจกรรมการเรียนรู้ + ระยะเวลา]”

ตัวอย่างการใช้คือเติมข้อมูลที่เราต้องการลงไปในช่อง […]

“เธอคือครูชั้นประถมที่อยากออกแบบบทเรียน 3 ชั่วโมงเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ แบ่งเป็นเนื้อหาบรรยาย 1 ชั่วโมงและกิจกรรมอีก 2 ชั่วโมง”

ก็จะได้คำตอบประมาณนี้

ถ้าเราพอใจกับคำตอบ แล้วอยากจะไปต่อก็ได้ เช่นกรณีนี้ผมอยากขยายรายละเอียดของ กิจกรรมที่ 2: การจำลองสถานการณ์ ก็สามารถ prompt ต่อไปได้เลยว่า

ช่วยขยายความกิจกรรมที่  2: การจำลองสถานการณ์ (45 นาที) ให้มากขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน และขอ rubric ในการประเมินด้วยเป็นรูปแบบตาราง

จะเห็นว่าผมกำหนด prompt ให้ชัดเจนว่าอยากได้ rubric ประเมินกิจกรรมในรูปแบบตารางด้วย (ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องพูดให้ชัดว่าเป็น formatted table)

ด้วยเวลาไม่ถึง 2 นาที ผมใช้ 2 prompts ขึ้นโครงสร้างแผนการสอน 3 ชั่วโมงได้ ซึ่งถ้าอยากจะปรับแต่งต่อไปอีกก็สามารถคุยกับ ChatGPT ไปได้เรื่อยๆ หรือจะนำออกมาทำต่อเองเพื่อเก็บรายละเอียดก็ได้เช่นกันครับ

เห็นรูปแบบการ prompt แล้ว หลายคนอาจจะพอคิดต่อได้ว่าเราสามารถให้ ChatGPT ช่วยสร้างเนื้อหาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบบประเมิน สร้างข้อสอบแบบเลือกตอบ ร่างอีเมล สรุปเนื้อหาต่างๆ ก็ทำได้ดีเช่นกัน ถ้าอยากหาไอเดียเพิ่มเติมอะไรบ้างลองแวะไปดูที่ Prompt Library สำหรับครูอาจารยได้ที่ https://www.aiforeducation.io/prompt-library ในบ้านเราผมลองดูใน Inskru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ก็เริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ChatGPT บ้างแต่ก็ถือว่าน้อยมากนะครับ บนเว็บมี 2 บทเรียน บนเฟซบุ๊กก็มีเพียง 2 โพสต์ (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2023)

Prompt เดียวไม่ได้ อย่าถอดใจ

จากที่เฝ้าติดตามชุมชนออนไลน์ หลายครั้งเห็นคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมคำตอบของ GenAI ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวังและถอดใจ ไม่ไปต่อ เช่นเราอาจขอให้ ChatGPT สร้างแผนการสอนให้เรา แล้วมันไม่ได้ดังใจ หรือมันยังตอบไม่ครอบคลุม ซึ่งสาเหตุมีมากมาย เช่นเราอาจจะสั่งงานไม่ชัดเจน ไม่ละเอียดพอ หรืออาจเลือกศัพท์ที่แปลได้หลายความหมายทำให้มันเข้าไปผิด เราอาจขอให้มันทำอะไรหลายอย่างมากไป เช่นขอให้คิดวัตถุประสงค์วิชา พร้อมกับกิจกรรมและ rubric มันอาจจะทำได้ไม่ครบ เราลองย่อยคำสั่งทีละเรื่องจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ตรวจสอบผลลัพธ์ของ GenAI เสมอ

อย่าลืมว่าโมเดลของ GenAI ถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลมหาศาลบนอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ก็เต็มไปด้วยอคติ การเหมารวมต่างๆ ที่อาจสะท้อนออกมาในผลลัพธ์เช่นกัน สำนักข่าว Bloomberg ทดลองให้ Stable Diffusion ซึ่งเป็น GenAI ที่ใช้สร้างภาพจาก prompts เพื่อพิสูจน์ว่าอคติมันฝังลึกอยู่ในเทคโนโลยีนี้

(ภาพจาก Bloomberg)

จากตัวอย่างภาพผลการทดลองพบว่าถ้าเราขอให้มันสร้างภาพ ‘ครู’ จะได้ผลเป็นครูผู้หญิงถึง 76% และส่วนใหญ่จะมีสีผิวขาว ในขณะที่ภาพ ‘นักสังคมสงเคราะห์’ จะได้ภาพผู้หญิงถึง 85% แต่สีผิวจะเข้มกว่า นอกจากนี้ถ้าให้มันสร้างภาพผู้พิพากษา แพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิก ก็จะได้ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นแม่บ้านก็ได้ภาพผู้หญิงเกือบหมด พูดง่ายๆ คือ Stable Diffusion มองอาชีพเหล่านี้ตาม Stereotype ของคนอเมริกันแบบสุดโต่งเลยก็ว่าได้

นักวิชาการทั้งหลายที่ใช้ GenAI ช่วยเขียนงานหลายคนก็พลาดไม่ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงของผลลัพธ์ หรือไม่รู้ว่าที่จริง GenAI มันเขียนแหล่งอ้างอิงแบบ ‘เดา’ ได้น่าเชื่อถือ แต่เป็นงานที่แต่งขึ้นเองสดๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ มันสะท้อนว่า GenAI แม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ยังมีข้อจำกัดและควรใช้อย่างระมัดระวัง

อย่ามอง GenAI ในแง่ลบ

ในกลุ่มเฟซบุ๊ก chatGPT for Teachers มีปรากฏการณ์น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับมุมมองของการใช้งาน GenAI ทุกครั้งที่มีคนถามว่าจะใช้มันช่วยตรวจการบ้านเด็กได้อย่างไร ช่วยสร้างสไลด์เตรียมสอน หรือทำงานธุรการบางอย่าง มักจะมีคนมาตอบแบบเหน็บแนมว่า “นั่นมันงานของคุณไม่ใช่เหรอ?” อยู่เสมอ คือบรรยากาศของการใช้เทคโนโลยีมันยังไม่เป็นมิตร หลายคนไม่เข้าใจว่าคำว่า ‘ช่วย’ ไม่ได้แปลว่าปล่อยให้ GenAI มันทำงานโดยเราไม่เข้าไปตรวจสอบ แต่มันเป็นการผ่อนแรงการทำงานที่ซ้ำซากบางอย่าง หรือช่วยทำในบางเรื่องที่มันทำได้เร็วกว่าเราหลายเท่า อย่างผมเองใช้ Gamma (https://gamma.app/) ซึ่งเป็น GenAI ที่สามารถสร้างสไลด์ดีไซน์สวยงามได้ด้วย prompt เดียว มันสามารถเดาโครงเรื่อง เนื้อหาของหัวข้อที่เราจะพูดได้ และเราสามารถ Export มันออกมาเป็น PowerPoint เพื่อปรับแต่งแก้ไขตามที่เราต้องการต่อได้ทันที คือผมสามารถจะสร้างสไลด์ที่เสร็จไปแล้วประมาณ 50% ภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที แบบนี้ใครจะไม่อยากได้

ชวน GenAI สร้างเนื้อหาการสอน

เรื่องที่ GenAI ถนัดมากๆ เลยคือการอธิบาย มันทำหน้าที่เป็นครูช่วยสอนได้ดีเลิศ โดยเฉพาะการบรรยายเรื่องต่างๆ เป็นขั้นเป็นตอน เราสามารถเตรียมการสอนแบบละเอียดให้เหมาะกับช่วงอายุผู้เรียนได้ด้วยการถาม ChatGPT พร้อมระบุช่วงอายุแบบนี้

อธิบาย[หัวข้อ] พร้อมภาพประกอบ สำหรับ[ชั้นปี หรือช่วงอายุ]

อธิบาย[วัฏจักรน้ำ]พร้อมภาพประกอบ สำหรับ[เด็กประถม]

ซึ่งผมขอเลือก Bard เพราะรู้สึกว่าจะเป็น GenAI ที่จัดวางเนื้อหาและรูปภาพได้ดีที่สุด

ความเจ๋งของ Google Bard คือมันจะมีแบบร่างคำตอบให้เลือกเสมอ ลองดูที่ผมวงกลม View other drafts ไว้ ถ้าเรากดลงมาก็จะมีตัวเลือกอื่นแสดงแบบนี้ครับ

เราในฐานะผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญก็ต้องเลือกแบบร่างที่เหมาะสม หรือจะเอาทั้งสามแบบมาผสมกันก็สุดแล้วแต่ จำไว้เสมอว่างานที่ GenAI ผลิตออกมาอยู่ในความรับผิดชอบของเรา

อีกเรื่องที่ GenAI ถนัดมากเลยคือการเปรียบเปรย สมมติผมลองให้ Bard อธิบายการทำงาน Loop ของโปรแกรม Python ให้เด็กอนุบาลเข้าใจ มันจะเริ่มเปรียบเทียบกับสิ่งที่เด็กคุ้นเคยแบบนี้

ผมเองมีประสบการณ์สอนในระดับอุดมศึกษา ถ้าเกิดวันหนึ่งต้องไปสอนอนุบาลแล้วคิดไม่ออกว่าจะอธิบายยังไง ลองใช้ Bard ระดมสมองก็ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น

ชวนนักเรียนใช้แบบถูกวิธี

เรื่องที่สำคัญที่สุดในการนำเทคโนโลยีที่ทรงพลังทั้งให้คุณและโทษอย่าง GenAI เข้ามาในห้องเรียนคือเราต้องกำหนดนโยบายการใช้งานให้ชัดเจน และต้องตระหนักว่าประสบการณ์การใช้งาน GenAI ของนักเรียนนั้นแตกต่างหลากหลายบ้าง หนึ่งปีหลังจากที่ ChatGPT เปิดตัว นักศึกษาบางคนยังไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อ แต่บางคนก็ใช้กันจนคล่องไปแล้ว ดังนั้นการวางนโยบายและการอบรมการใช้งานเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น

Ethan Mollick หนึ่งในผู้นำความคิดด้านการใช้ AI ในห้องเรียนจาก Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนโยบาย AI ในชั้นเรียน

(ภาพจาก https://twitter.com/emollick)

Ethan Mollick ขอให้เด็ก (ปริญญาตรี) ใช้ ChatGPT อย่างระมัดระวัง ย้ำกับนักเรียนว่าเรื่องที่ ChatGPT ช่วยเราได้คือเรื่องที่เราเข้าใจ และต้องแจ้งให้ทราบในผลงานเสมอว่ามีการใช้ ChatGPT ช่วย สำหรับภาษาไทยผมเคยร่างไว้และคิดว่าจะเริ่มใช้ในภาคการศึกษาหน้าประมาณนี้ครับ

ร่างนโยบายการใช้ AI ในระดับรายวิชา

1. วัตถุประสงค์ในการใช้ AI: การใช้เครื่องมือ AI ในชั้นเรียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสบการณ์ ส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องมือเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม โดยผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดว่ากิจกรรมการเรียนรู้ใดสามารถใช้ AI ช่วยได้

2. ประเด็นจริยธรรม:

ความโปร่งใส: นักศึกษาควรแจ้งให้ชัดเจนเมื่อได้ใช้ AI ในงานที่ได้รับ

ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: นักศึกษาต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ไม่ควรใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม

อคติของผลลัพธ์: นักศึกษาควรตระหนักว่าโมเดล AI สามารถสะท้อนทัศนคติหรืออคติจากข้อมูลการฝึกหัด (training data)

3. ข้อจำกัดของ GenAI: ผู้ใช้ควรตีความผลลัพธ์จาก AI เหล่านี้อย่างถี่ถ้วนและตระหนักว่าผลลัพธ์ไม่ถูกต้องเสมอไป

4. ขั้นตอนการใช้ GenAI:

บันทึก Prompt: เก็บ Prompt ที่คุณใช้กับ AI

เตรียม Output: เพิ่ม Output จาก AI ไว้ในรายงาน

สะท้อนความคิด: สะท้อนความคิดเกี่ยวกับกระบวนการ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง? มีอะไรที่ทำให้คุณประหลาดใจบ้าง?

5. Template สำหรับการรายงาน:

ชื่อเรื่อง: [ชื่อของโปรเจ็กต์ของคุณ]

วันที่: [วันที่]

Prompt ที่ใช้:

1. [Prompt 1]

2. [Prompt 2]

Output:

1. [Output 1]

2. [Output 2]

สะท้อนความคิด:

[สะท้อนความคิดเกี่ยวกับกระบวนการ ประสิทธิภาพของ AI สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ สิ่งที่ทำให้คุณประหลาดใจเป็นต้น]

เป้าหมายของเราคือการใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยการเรียนรู้และการทำงาน ไม่ใช่การแทนที่การคิดวิเคราะห์และการเข้าใจ

เมื่อเรามีนโยบายแล้ว ต่อมาก็ต้องหาสื่อที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการทำงานกับ ChatGPT มันเป็นอย่างไร สำหรับภาษาอังกฤษ ช่อง YouTube ของ Wharton School มีคลิปสอนนักเรียนใช้ GenAI ด้วย สั้นๆ ไม่ถึง 10 นาที (https://youtu.be/ZorvXYUZtRg?si=y6VaaTo4IwKq5OOm) ส่วนภาษาไทยคลิปของครูยู ก็เป็นจุดเริ่มที่ดีเช่นกัน (https://youtu.be/7_cIyGdiejg?si=KXLuYWg2YBVGZNHg)

GenAI ทำให้เราจัดการเรียนรู้แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

The International Baccalaureate (IB) หน่วยงานให้บริการหลักสูตรนานาชาติระดับโลกเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ออกคำแถลงเกี่ยวกับ Generative AI โดยขี้นต้นว่า

The IB believes that artificial intelligence (AI) technology will become part of our everyday lives—like spell checkers, translation software and calculators.

โดยทาง IB ชี้แจงว่าจะไม่ห้ามการใช้งานเทคโนโลยีนี้ แต่จะ ‘ปรับตัว’ และใช้งานมันอย่างมีจริยธรรมและมีประสิทธิภาพ นักเรียนต้องให้เครดิตงานกับ AI ทุกครั้งที่ใช้งานมัน และอย่าลืมว่างานที่ใช้ AI ในสัดส่วนที่มากเกินพอดีจะมีผลต่อคะแนนด้วย

การปรับตัวของ IB นี้หมายถึงอะไร? ผมมองว่าการมาถึงของ GenAI ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าเราต้องการสอนและสร้างทักษะอะไรให้กับผู้เรียนกันแน่? เช่น เราให้เด็กเขียนเรียงความก็เพื่อให้เขาได้ฝึกการแสดงความคิดร้อยเรียงเนื้อหาเพื่ออ้างเหตุผลที่จูงใจผู้รับสารได้ ก็ต้องชวนเด็กคิดว่า GenAI ช่วยอะไรเราได้ในแง่นี้ อาจลองให้เขา draft เนื้อหาแรก แล้วส่งให้ ChatGPT ช่วยวิจารณ์ แล้วเอาสิ่งที่มันอธิบายมาคิดต่อ มาโต้เถียงกันในห้องว่ามันดีไม่ดีอย่างไร แล้วค่อยไป draft ที่สอง แบบนี้เราใช้มันเป็นเพื่อนช่วยคิด เป็นติวเตอร์ส่วนตัวช่วยเขียนเรียงความ โดยเด็กจะต้องบันทึกร่องรอยการทำงานร่วมกับ ChatGPT มาให้

หลายเสียงบอกว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเขียนเอง ณ วันนี้ Word Processor แบบออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Google Docs หรือ Microsoft Word (แบบใช้บนเว็บ) ก็สามารถตรวจดูการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เราก็จะรู้ว่าเด็กค่อยๆ เขียนหรือตัดแปะข้อความมาเป็นก้อน


เนื้อหาทั้ง 3 ตอนของซีรีย์ GenAI เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกฯ เป็นเพียงสถานการณ์ของ GenAI ณ เวลานี้ ความท้าทายและโอกาสที่มันนำมาสู่ภาคการศึกษา ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการสอน การผลิตสื่อหรือออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ก็เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ในการใช้จริงนั้นขึ้นอยู่กับระดับชั้นเรียน เนื้อหาวิชา และวัตถุประสงค์ของกิจกรรม ครูอาจารย์ต้องทดลองออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราคงต้องเรียนรู้ไปด้วยกันกับนักเรียน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือเราไม่สามารถหวังพึ่งพากิจกรรมแบบเดิมๆ เช่น การสั่งการบ้านและรอตรวจการบ้านที่ไม่รู้ว่าทำโดยมนุษย์หรือ AI

การมาถึงของเทคโนโลยี Generative AI ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนบทบาทและวิธีการจัดการเรียนรู้กันอย่างจริงจัง เพราะเราไม่สามารถหันหน้าหนีหรือรออีกสักทศวรรษถึงจะพร้อมต้อนรับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกนี้ได้แล้ว

อ้างอิง Part III

ChatGPT can now see, hear, and speak https://openai.com/blog/chatgpt-can-now-see-hear-and-speak

ChatGPT References Unveiled: Distinguishing the Reliable from the Fake https://doi.org/10.1080/10875301.2023.2265369

Humans are biased. Generative AI is even worse https://www.bloomberg.com/graphics/2023-generative-ai-bias/

Practical AI for Instructors and Students Part 5: AI for Students https://youtu.be/ZorvXYUZtRg?si=H6XSYqzdzGHcCLnY

Prompt Framework for Educators: The Five “S” Model https://www.aiforeducation.io/ai-resources/the-five-s-model

GenAI Chatbot Prompt Library for Educators https://www.aiforeducation.io/prompt-library

ChatGPT AI ภัยการศึกษา ถ้าครูไม่รู้ ใช้ยังไง? | Ep.3 https://youtu.be/7_cIyGdiejg?si=KXLuYWg2YBVGZNHgStatement from the IB about ChatGPT and artificial intelligence in assessment and education https://www.ibo.org/news/news-about-the-ib/statement-from-the-ib-about-chatgpt-and-artificial-intelligence-in-assessment-and-education/


Writer

Avatar photo

พ่อบ้านเล่างานวิจัย

พ่อบ้านขี้สงสัยและอยากเห็นคนใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรู้กันเยอะๆ

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts