“ระเบิดเวลาสารพันปัญหารอวันปะทุ” สรุปสถานการณ์การศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัว 2564

  • เหล่านี้เป็น สถานการณ์ด้านการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงจากปี 2563 ลามมาถึงตลอดปี 2564
  • พูดอย่างตรงไปตรงมาและไม่หนีปัญหานี่คือระเบิดเวลาที่นับถอยหลังรอวันปะทุ
  • mappa ชวน 3ผู้เชี่ยวชาญและคลุกวงใน มาร่วมพูดคุยและหาคำตอบไปด้วยกัน อย่างน้อยการรับรู้ความจริงก็ดีกว่าการปิดหู ปิดตา หลอกตัวเองว่าปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้แน่นอน 

ก่อนจะสิ้นปี 2564 ภาพรวมของสถานการณ์ด้านการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ผ่านมาในปีนี้เป็นอย่างไร และในอนาคตจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร mappa ชวนผู้เชี่ยวชาญและคลุกวงใน 3 คน คือ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล และ รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมพูดคุยและหาคำตอบไปด้วยกัน

สถานการณ์ด้านการศึกษา

ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 

“ก่อนมีโควิดรายได้พ่อแม่ของเด็กอาจสูงกว่าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ แต่พอโควิดมารายได้ก็ไม่เหมือนเดิม แต่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ เพราะหลุดไปจากระบบให้การช่วยเหลือไปตั้งแต่แรก”

ประโยคเปิดบทสนทนาของณัฐยา ซึ่งแสดงถึงความกังวลใจต่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นปัญหาหลักต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน ในภาวะที่โรคระบาดโควิด 19 ยังคงกระทบต่อสังคมไทยอย่างหนักหน่วงเป็นปีที่ 2 

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

ต่อเนื่องจากปี 2563 หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหนักขึ้นมาก ปัญหาการไม่มีงานทำ การถูกออกจากงาน รายจ่ายอาจเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น แต่รายรับกลับลดลง หนี้ครัวเรือนในตอนนี้ไม่ได้กระทบแค่คนยากจน แต่ยังรวมถึงครอบครัวที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องแบกรับลูกน้องเยอะๆ ด้วย 

เมื่อพ่อแม่ไม่มีงานทำ แบกรับหนี้สิน เด็กก็เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา มีเด็กจำนวนมากที่ตกหล่นจากระบบให้การช่วยเหลือ เช่น สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก นอกจากนี้ ระบบให้การช่วยเหลือเองก็มีปัญหา มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องมีการลงทะเบียน ต้องผ่านระบบการคัดกรองต่างๆ มากมาย ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจนจริงๆ และมีความล่าช้า จึงทำให้มีเด็กตกหล่น และเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก 

“จึงควรมีสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กเล็กทุกคน” ณัฐยาย้ำ 

ขณะที่อาจารย์เดชรัต มองไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤติเด็กจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุด เปรียบเสมือนแผลเป็นระยะยาวที่เห็นได้ชัด

“เบื้องต้นผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะส่งสัญญาณ เรื่องการลดค่าเทอม เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เราต้องรักษาเด็กไม่ให้หลุดไปจากระบบการศึกษาให้มากที่สุด ส่วนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว คงต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือทางการเงินเข้ามา เพื่อให้เขาได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้” 

วิกฤติ learning loss

“วิกฤติ learning loss คือ การที่เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่มีประสิทธิภาพหรือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ที่หายไป เปรียบเสมือนแผลที่มองเห็นได้ไม่ชัดนัก เมื่อเทียบกับปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา แต่มีความสำคัญมาก”

อาจารย์เดชรัต ชี้ว่าเด็กและเยาวชนกำลัง loss ใน 4 ด้านสำคัญ ดังนี้ 

  • ด้านแรก คือ learning loss ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ คือ กระบวนการที่เราจะต้องใช้ทักษะฝีมือ ต้องเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะฝีมือผ่านการลงมือทำ เช่น ถ้าเป็นเด็กโตก็อาจจะเป็นห้องแล็ป แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก คือ กระบวนการที่เขาอาจจะได้เรียนศิลปะ ได้เรียนดนตรี ได้เรียนพละศึกษา 
  • ด้านที่สอง เป็น learning loss ในแง่ communication การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ทำให้ขาด Two-way communication ในห้องเรียนปกติ เดิมเราอาจจะไม่ได้มี Two-way communication มากนัก แต่ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่เป็นเบาะแส ให้เราทราบว่าผู้เรียนเข้าใจผู้สอนมากน้อยแค่ไหน แต่สถานการณ์บังคับให้ต้องเรียนออนไลน์ communication loss เหล่านี้เกิดขึ้นเยอะมาก 
  • ด้านที่สาม interactive loss หลายครั้งการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากแค่ครูถ่ายทอดความรู้ให้ แต่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานของเรากับเพื่อนๆ ซึ่งอาจเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ เป็นไอเดียต่อยอด เป็นความคิดสร้างสรรค์ หรืออาจจะเป็นแรงบันดาลใจ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้น้อยลงโดยอัตโนมัติ  การเจอกัน คุยกัน ทำงานด้วยกัน จึง loss ไป
  • loss ในเชิงความรู้สึก ในเชิงอารมณ์ อาจจะคล้ายกับ interactive loss แต่ข้อนี้อาจจะไม่ได้เน้นว่าจะ productive หรือไม่ การที่เราเรียนออนไลน์และไม่ได้เจอใคร อาจก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา ผลในเชิงความรู้สึก ซึ่งส่งผลทำให้เกิด learning loss คือเราไม่อยากจะเรียนรู้อะไร เพราะว่าเราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ความหมายของชีวิตเราในช่วงนี้คืออะไร ถ้าเราอยู่โดยคนเดียวลำพัง
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล

ด้านสสส.เองเก็บข้อมูลเรื่อง learning loss เช่นกัน แต่เน้นไปในกลุ่มเด็กเล็ก

“ปัญหา learning loss ในเด็กเล็กจะเห็นได้ชัดเรื่องของพัฒนาการที่ถดถอย โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษา เด็กเล็กมีปัญหาที่เพิ่มขึ้นในเรื่องพัฒนาการของการพูด เนื่องจากการขาดปฏิสัมพันธ์เพราะศูนย์เด็กเล็กจำนวนมากต้องปิดตัวลง เด็กถูกปล่อยให้อยู่กับมือถือ แท็บเล็ตตั้งแต่อายุยังน้อยๆ และก็ถูกปล่อยให้ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่คนเดียววันหนึ่งหลายชั่วโมง ดังนั้นเด็กจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้สื่อสาร”

พื้นที่ในการเรียนรู้และทุนทางสังคมที่หายไป

“มันไม่ใช่เฉพาะแค่ปัญหาเรื่องการเรียน แต่จริงๆ โอกาสที่มันหายไปด้วย คือ การเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน”

อาจารย์เดชรัต กล่าวถึง วิกฤติอีกประการที่มาพร้อมกับการระบาดของโควิด 19 คือ การทำให้พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนหายไป เช่น พิพิธภัณฑ์และพื้นที่สาธารณะปิดไปหลายช่วงเวลา ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กๆ สูญเสียพื้นที่การรวมตัวและการเพิ่มพูนทักษะทางสังคม

ด้านอาจารย์ภูเบศร์เล่าถึงบทสนทนาที่บังเอิญได้ยินว่า 

“ผมไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ข้างหลังผมเป็นคุณพ่อสองคนนั่งคุยกันมีคำพูดหนึ่งที่ผมสะดุดมาก เขาคุยกันว่า ผมว่าลูกผมมีเพื่อนเป็นอวตารมากกว่าเด็กจริงๆ ซะอีก” 

บทสนทนานี้กลับสะดุดใจให้ตั้งคำถามต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของเด็กๆ การระบาดของโควิด 19 ทำให้พื้นที่การเรียนรู้และสันทนาการของเด็ก ซึ่งอาจารย์เรียกว่า third place เช่น พื้นที่สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ซึ่งปกติในเมืองไทยมีน้อยอยู่แล้วืยิ่งเข้าถึงได้ยากขึ้นจากการระบาดของโควิด และไปอยู่ในพื้นที่แบบออนไลน์ ส่งผลให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับมนุษย์จริงๆ ลดน้อยลง และกลายเป็นว่าเด็กมีประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิตอลเป็นหลัก เด็กมีเพื่อนเป็นอวตารในโลกเสมือน 

ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สัมผัส พบเจอผู้คนที่อยู่นอกระบบออนไลน์จึงมีความสำคัญมากในการเพิ่มทักษะทางสังคม นอกจากนี้ อาจารย์ภูเบศรฺมองว่า เด็กๆ ยังเสียโอกาสในการสร้างความผูกพันกับครอบครัวที่เป็นครอบครัวใหญ่ ที่ไม่ได้หมายความแค่พ่อแม่ลูก แต่หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งอย่างน้อยจะพบเจอกันในช่วงเทศกาลสำคัญๆ แต่โควิด 19 ทำให้พื้นที่ตรงนี้ถูกงดไป สิ่งเหล่านี้มันหายไป ซึ่งแต่เดิมมันมีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างสิ่งที่ทำให้คนผูกพันกันและทำให้เกิดเป็นทุนทางสังคม

โอกาสในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางการศึกษา 

“เราสร้างการเรียนรู้ให้ลูกทุกวันอยู่แล้วในบ้าน แต่เราไม่เคยรู้ว่านั่นคือการสร้างการเรียนรู้ให้ลูก วิชาคณิตศาสตร์ การคำนวณอะไรพวกนี้ มันอาจจะอยู่ในการทำอาหารสักเมนูหนึ่งด้วยกัน”

ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางการศึกษาว่า ตอนนี้มองเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ในบ้านผ่านการตั้งคำถามสำคัญว่าเราจะเปลี่ยนผู้ใหญ่ในบ้าน หรือเปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นคนที่สร้างการเรียนรู้ให้กับลูกได้อย่างไร

“จริงๆ เราสร้างการเรียนรู้ให้ลูกทุกวันอยู่แล้วในบ้าน แต่เราไม่เคยมาถอดรหัสนี้กัน ถ้าเราถอดรหัสออกมาว่า นี่ไง เรากำลังได้เรียนรู้เรื่องอะไรอยู่ ก็ทำให้พื้นที่เรียนรู้เกิดขึ้นในบ้าน เราก็จะได้รู้ด้วยว่ายังขาดอะไร แล้วจะสร้างการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ให้ลูกในบ้านได้อย่างไร เรื่องนี้ควรจะต้องสนับสนุนให้มากๆ” 

อาจารย์เดชรัตน์ มองว่า เราต้องเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการมองที่ประสิทธิภาพ เมื่อพิจารณาจากการสอนออนไลน์ตามแบบฉบับระบบการศึกษาแบบไทยๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา 

“ระบบการศึกษาให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การควบคุมเป็นลำดับแรก ไม่ได้สนประสิทธิผล การเรียนออนไลน์มีลักษณะการเรียนรู้ที่ personalize แต่ว่าระบบการศึกษาไม่พร้อมที่จะทำในลักษณะ personalize ยังอยากที่จะคอนโทรลทุกอย่างไว้เหมือนในห้องเรียน มันก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิวัติการเรียนรู้ได้” 

จริงๆ แล้วโอกาสในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการศึกษามีมาก แต่สังคมคงเสียโอกาสนั้นไปแล้ว นั่นคือ การสลายการเรียนรู้ที่เป็นห้องเรียน เพราะจุดแข็งของการเรียนออนไลน์ คือ การเลือกได้ว่าเราจะเรียนแบบไหน ตอนไหน 

“แต่เราดันไปใช้การเรียนออนไลน์แบบเลือกไม่ได้ เราใช้วิธีแบบเดิม เราก็ต้องมาเรียนรู้ในชั่วโมงเดิม เวลาเดิม ในรูปแบบที่เหมือนห้องเรียนให้มากที่สุด ทั้งที่ธรรมชาติของการเรียนออนไลน์มันแตกต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างตรงข้ามกันเลย แต่เรากลับไม่พยายามที่จะปฏิวัติการเรียนรู้ของเรา ไม่พยายามที่จะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่คอนเซ็ปต์การเรียนรู้ออนไลน์ของเรา คือ การเอาห้องเรียนไปอยู่ที่บ้านแต่ละคน ต้องให้ทุกคนมานั่งอยู่หน้าจอ แล้วก็เช็คชื่อ”  

สถานการณ์ครอบครัวและความสัมพันธ์ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน

สถานการณ์ประชากร ณ ปัจจุบัน เด็กเกิดใหม่น้อยลง ก้าวสู่สังคมสูงวัย แต่เด็กที่จะโตเป็นแรงงานสำคัญในอนาคตกลับไม่ได้รับการสนับสนุน

อาจารย์ภูเบศร์ กล่าวถึง สถานการณ์ประชากรอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดว่า เรามีการคาดการณ์ว่าประชากรจะลดลงอยู่แล้วและลดลงอย่างแน่นอน แต่โควิดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลดอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ เป็นตัวแปรหนึ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา ภาษาอนาคตศึกษา เรียกว่า y cart  คือไพ่พลิกเกม พอหงายมันขึ้นมา ภาพต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหมด ความสัมพันธ์ของคนลดลงเพราะมีข้อจำกัด

“การที่คนเราเจอกันน้อยลง สัมผัสกันน้อยลง ผมคิดว่าอย่างหนึ่งคือความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อกันมันลดลง การที่เราไม่สามารถเจอและไม่สามารถสัมผัสหรือไม่สามารถพูดคุย นั่งสบตา หรือว่าไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ที่มันจะสร้างความผูกพันได้ มันลดลง การพบปะกันแบบ physical การปฏิสัมพันธ์ลดลง casual sex ลดลง และอัตราการเกิดจะลดลงไปอีกจากที่คาดการณ์ไว้”

นอกจากความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในสภาวะการเกิดโรคระบาด อย่างที่อาจารย์ภูเบศร์ได้อธิบายไป ณัฐยายังมองถึงปัญหานี้ที่ว่า เด็กเกิดใหม่น้อยลงคนแก่มีมากขึ้น ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ คือ จำนวนผู้ที่อายุหกสิบปีขึ้นไปมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่อายุไม่ถึงสิบห้า กลุ่มเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี คือ กลุ่มที่อีกสิบปี จะกลายเป็นวัยแรงงาน แล้วในกลุ่มนี้เอง ราวๆ หกสิบเปอร์เซ็นต์ คือเด็กจากครอบครัวยากจน ซึ่งหากเด็กๆ ไม่ได้รับการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเต็มที่ เราจะมีวัยทำงานหกสิบเปอร์เซ็นต์เป็นแรงงานไร้ฝีมือ 

“ซึ่งจะส่งผลกับอนาคตของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งศักยภาพในการพัฒนาประเทศและศักยภาพในการโอบอุ้มสังคมผู้สูงอายุ”

รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ความขัดแย้งระหว่างรุ่น 

“มันไม่ใช่แค่ช่องว่างระหว่างวัยธรรมดา แต่คือความไม่ลงรอยระหว่างรุ่น”

ณัฐยา กล่าวถึง generation gap ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมทั่วโลก เพราะว่าสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เป็นสังคมของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว คนต่างวัยรับรู้ข้อมูลคนละชุด เป็นความขัดแย้งในเชิงความคิดที่ซึมลึก และมีความแตกต่างระหว่างวัยสูงขึ้นด้วย 

“เนื่องจากเด็กเกิดน้อยอย่างที่กล่าวไป และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้คนเสียชีวิตลดลง โลกเรามีคนอยู่ร่วมกันหลาย generation ในปัจจุบันที่ทำงานหนึ่งอาจทำงานร่วมกัน 4-5 generation ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจแก้ได้ด้วย deep listening การที่คนแต่ละวัยจะต้องฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่ตัดสินกัน อาจทำให้เราเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น”

พื้นที่บ้าน ความเครียด และความรุนแรงในครอบครัว 

“เราออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ตามลักษณะ urbanization ของความเป็นเมือง พอเป็นเมืองมากขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น กินข้าวนอกบ้าน เอ็นเตอร์เทนเมนต์นอกบ้าน รู้ตัวอีกทีพื้นที่บ้านก็เล็กลงเรื่อยๆ”

อาจารย์ภูเบศร์ ชี้ให้เห็นประเด็นด้านที่อยู่อาศัย จากการเป็นสังคมเมือง ทำให้พื้นที่บ้านเล็กลงเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตทำกิจกรรมนอกบ้านจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้พื้นที่ในบ้านไม่ได้จำเป็นต้องตอบสนองอะไรมากนัก ประกอบกับราคาที่ดินที่แพงขึ้น ดังนั้นพอเกิดการล็อกดาวน์ต้องกักตัวอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่แคบ คนในครอบครัวต้องอยู่ในพื้นที่แออัดด้วยกัน จึงเกิดเป็นความเครียดสะสมและอาจจะก่อให้เกิดปัญหาภายในบ้านได้ 

ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น

ในประเด็นสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ณัฐยาได้ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขระดับประเทศที่ทางกระทรวงพัฒนาสังคมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวสำรวจพบว่า ความรุนแรงในบ้านในครอบครัวพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจนมากๆ สสส.กับกระทรวงการพัฒนาสังคม กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ทำแพลตฟอร์มในระบบ Line ชื่อว่า ‘เพื่อนครอบครัว’ ที่คอยให้คำแนะแนว คำปรึกษา ปัญหาในครอบครัว พบว่ามีเคสความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 

โรคซึมเศร้าในเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้น

“แนวโน้มของการเป็นซึมเศร้าในเด็กเยอะมากขึ้น”

อาจารย์ภูเบศพูดถึงงานงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่กำลังทำตอนนี้กับยูนิเซฟว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพทางด้านจิตของเด็ก แนวโน้มของการมีภาวะซึมเศร้าในเด็กเยอะมากขึ้น อาจจะเกิดจากการที่ไม่มีเพื่อนช่วยคิด เพื่อนคุยน้อยลง การที่เขาอยู่กับตัวเองมากยิ่งขึ้น แล้วไม่ได้พูด ไม่ได้สื่อสาร ไม่ได้ปลดปล่อย

“ผมคิดว่าก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือภาวะกดดันได้ เมื่อก่อนถ้าอยู่รวมตัวกันหลายคน ก็อาจจะเกิดการพูดคุยปรึกษากันได้ แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นมันถูกจำกัด พ่อแม่ก็อาจจะงานยุ่งมาก และไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่สามารถปรับตัวเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกได้ ลูกไว้ใจที่จะพูดคุย ดังนั้นเด็กไม่รู้จะไปปรึกษากับใคร” 

อนาคตศึกษา

“scenario planning คือ การสร้างฉากทัศน์ขึ้นเพื่อวางแผน สร้างยุทธศาสตร์ ที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ได้คาดการณ์ไว้”

อาจารย์ภูเบศร์หยิบอีกหนึ่งงานวิจัยเรื่องอนาคตศึกษาขึ้นมาอธิบาย งานวิจัยชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับศักยภาพและการปรับตัวของรัฐและครอบครัว โดยมีตัวแปรสองตัวแปร ประกอบด้วย ตัวแปรแรก คือ ศักยภาพของรัฐในการกระจายอำนาจและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ รวมถึงสามารถนำพาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ส่วนตัวแปรที่สอง คือ การปรับตัวของครอบครัวในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เลวร้ายในอนาคต 

โดยใช้วิธีการ scenario planning หรือการสร้างฉากทัศน์ ซึ่งอาจารย์ได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของการสร้างฉากทัศน์ว่า หากจะมีห้างมาตั้งที่ใดที่หนึ่ง สามารถคาดการณ์ภาพในอนาคตได้ว่า รถอาจจะติดแถวนี้ อาจจะมีรถไฟฟ้ามาเชื่อม อาจจะมีคอนโดหลายที่เกิดขึ้น จะมีภาพบางภาพที่เป็นภาพที่ดี และจะมีภาพบางภาพที่เป็นภาพที่ไม่ดี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เพราะฉะนั้น หัวใจของฉากทัศน์ก็คือ เราจะทำอะไร วางแผนยังไงเพื่อให้ภาพดีๆ เกิดขึ้น แล้วก็ภาพที่ไม่ดีไม่เกิดขึ้น” อาจารย์ภูเบศ กล่าวสรุป

ในงานวิจัยนี้เกิดเป็นฉากทัศน์สี่ฉากทัศน์ 

  • ฉากทัศน์แรกเรียกว่า Lego บนแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม คือ สถานการณ์ที่รัฐสามารถปรับตัวกระจายอำนาจและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ และสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ แต่ครอบครัวไม่สามารถปรับตัวได้ 
  • ฉากทัศน์ที่สอง เรียกว่า deep learning deep caring คือการที่ทั้งรัฐและครอบครัว มีศักยภาพในการปรับตัวได้ 
  • ฉากทัศน์ที่สาม เรียกว่า อัลกอริทึมเชิงปรนัย เป็นฉากทัศน์ที่ครอบครัวปรับตัวไม่ได้ และรัฐก็ไม่สามารถกระจายอำนาจและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้ ไม่ก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง 
  • ฉากทัศน์ที่สี่ เรียกว่า sandbox ข้างคลองน้ำเสีย คือ การที่ครอบครัวปรับตัวได้ แต่รัฐปรับตัวไม่ได้ 

ฉากทัศน์ของสังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในจุดไหน 

“ถ้าถามว่าฉากทัศน์ทุกวันนี้อยู่ที่ไหน มันอาจจะก้ำกึ่งระหว่างอัลกอรึทึมเชิงปรนัย กับ sandbox ข้างคลองน้ำเสีย มันอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยที่การปรับตัวของแต่ละครอบครัว แต่ผมคิดว่าโดยภาพรวมภาคประชาชนและภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว รับมือได้ เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือระหว่างกันเองในกลุ่มในชุมชนเป็นไปได้ดี แต่ตัวรัฐเองปรับตัวได้ช้าและยากมาก ยังติดกับระเบียบ ติดกับการตัดสินใจที่รวมศูนย์” อาจารย์ภูเบศ วิเคราะห์สรุปสถานการณ์สังคมไทยจากการจับตาดูการรับมือกับโควิดในสองปีที่ผ่านมา


Writer

Avatar photo

ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า

เรียนมาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา พยายามขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆในรูปแบบของตัวเอง กำลังสนุกกับการใช้ชีวิต เขียนหนังสือ ปลูกดอกกุหลาบ สอนภาษาไทยผู้ลี้ภัย และคลั่งรัก

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Avatar photo

ชัชฎา วัฒนสมบุญดี

นักออกแบบที่สนใจเรื่องคนและพฤติกรรมมนุษย์ ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเจอแมวส้มและมีม เป้าหมายในชีวิตตอนนี้คืออยากทำงานที่คนอ่านได้ประโยชน์

Related Posts