วลี ‘มายาคติทางการศึกษา’ หรือบรรยากาศที่รายล้อมชุดคำพูดนี้ถูกหยิบยกมาถกเถียงอย่างจริงจังและเผ็ดร้อนทั้งในวงการการศึกษาและวงการวิชาการ แต่หลักๆ แล้วคือเราขีดเส้นใต้กับคำถามที่ว่า การศึกษาแบบไหนกันแน่ที่ควรเรียกว่าการศึกษา หรือ นิยามของคำว่า ‘การศึกษาที่ดี’ ทำร้ายครู เด็ก พ่อแม่มามากเท่าไหร่แล้ว
ยากที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าอะไรผิดหรือถูก เพราะเราล้วนเติบโตมาตามรั้วรอบขอบชิดของวัฒนธรรม การเลี้ยงดูโดยครูและพ่อแม่ส่งผลต่อตัวตนของปัจเจกที่จะเลือกหรือไม่เลือกอะไรให้ชีวิตของตัวเอง
หรือในยุคสมัยที่ประเทศไทยมีผู้ใหญ่ที่ ‘หวังดี’ ช่วย ‘เลือก’ การศึกษาที่ควรจะเป็นให้กับเด็ก ประเด็นหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนเลยคือการศึกษาแบบไทยพยายามจะแยกการเมืองออกจากการศึกษา การเงิน การใช้ชีวิต และทุกๆ การเคลื่อนไหวในชีวิตการพยายามขีดเส้นทับตัวตนของเด็กผ่านการศึกษา ก่อให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ความเป็นทวิลักษณ์ (binary) ในการมองโลก อีกทั้งยังเป็นการใช้อำนาจเพื่อกดขี่ให้เด็กเรียน และปรับพฤติกรรมตามวัฒนธรรมที่ล้าหลัง
เราสรุปแบบนี้ได้ชัดเจนเพราะเห็นแล้วว่าการพยายามปั้นนักเรียนให้เป็นนักเรียนดี ยิ่งทำให้พวกเขาอยากเป็น นักเรียนเลว
รุ่นก่อนยุค Baby Boomer อาจจะเป็นยุคสมัยที่เด็กสามารถทำงานได้ ไม่ได้ถูกมอบความเป็น ‘ผ้าขาว’ ให้จนเกิดภาพของเด็กเอ๋ยเด็กดีควรจะมีหน้าที่กี่ร้อยอย่าง เพราะเด็กทุกคนสามารถทำงานได้ อ่านหนังสือแบบไหนก็ได้ หนังสือยังไม่ได้ถูกจัดประเภทชัดเจนว่าเป็นหนังสือสำหรับเยาวชน วัยรุ่นตอนปลาย ฯลฯ เหมือนกับในยุคสมัยต่อๆ มาที่มีการใช้การศึกษาเป็นหนึ่งในกลไกในการจัดการมวลชนเพื่อสร้างชาติหรือสังคมที่ผู้นำมองแล้วว่าดี เช่น การออกหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีไซน์มาแล้วว่าน่าจะเหมาะกับเยาวชนในยุคนั้นๆ
“แต่ถามว่าหลักสูตรนี้มาจากใคร ก็มาจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เป็นใคร มีวิธีคิดแบบไหน เราไม่เคยตั้งคำถาม เราแค่บอกว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเขาน่าจะรู้ดี เลยส่งผลให้หลักสูตรของประเทศอยู่ภายใต้กลุ่มความคิดของผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนจึงตกอยู่ภายใต้กลุ่มคนไม่กี่คนที่พยายามจะใช้ทฤษฎีที่เขาคิดว่าเป็นมาตรฐาน มีความเป็นภววิสัยไว้ใช้กับเยาวชนทุกคน”
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองคณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือบุคคลที่เราจะมาชวนคุยเรื่องมายาคติทางการศึกษา ภาระของเด็กและแรงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เห็นเยาวชนออกมาเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองในประเด็นที่ผู้ใหญ่หลายคนนึกไม่ถึง
“สำหรับผม คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เด็กสองคนไม่จำเป็นต้องมีความสามารถและทักษะเท่าๆ กัน แต่ระบบการศึกษาพยายามทำให้เด็กออกมาเป็นบล็อกเหมือนกันหมด แล้วลงเอยด้วยการตัดสินเด็ก ถ้าเขาไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังของผู้ใหญ่หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็จะถูกประเมินว่าไม่มีความสามารถในเรื่องต่างๆ นี่เป็นปัญหาที่เรื้อรังในระบบการศึกษาไม่ว่าจะบ้านเราหรือต่างประเทศ”
ไปจนถึงคำถามที่ว่าการศึกษาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ยังมีความสำคัญอยู่ไหม พ่อแม่ควรตีความมันใหม่และทำความเข้าใจลูกอย่างไรให้เขาปรับตัวกับโลกแบบที่ไม่ต้องเศร้าหรือสุขกับมันมากจนเกินไป
มายาของผู้ใหญ่ สร้างคติทางการศึกษาแบบไหนให้เด็ก
ระบบการศึกษาไทยมีการเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้างในด้านของบุคลากร หลักสูตร หรือวัฒนธรรมในโรงเรียน
ระบบการศึกษาบ้านเราใช้ระบบของการหยิบยืมข้ามวัฒนธรรมหรือ Cultural Borrowing ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดในช่วงที่เราพยายามปฏิรูปการศึกษา ตั้งโรงเรียน แยกโรงเรียนออกจากวัด ตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้เรามีอารยธรรม น่าเคารพนับถือและสามารถยืนหยัดในช่วงการล่าอาณานิคม
การศึกษาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในแต่ละช่วงสมัย เราพยายามวิ่งไล่ตามความรู้และตามกระแสความเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่น่าจะมีความเจริญ เช่น ในยุคเก่าเราจะมองอังกฤษ อเมริกา เป็นต้นแบบ แต่ในยุคต่อๆ มา เราก็เริ่มมองประเทศเล็กๆ บ้าง อย่างฟินแลนด์ สิงคโปร์ แต่เป็นการหยิบยืมนโยบายและวิธีคิดจากต่างประเทศมาแบบหัวมังกุท้ายมังกร
หนึ่ง เราดึงมาใช้โดยที่ไม่ได้เข้าใจเครื่องมือหรือทฤษฎีนั้นอย่างแท้จริง สอง บริบทที่นำไปใช้ไม่เหมาะสม เพราะวัฒนธรรมไม่เหมือนกันกับต่างประเทศที่เราหยิบยืมมา เช่น ผมโตมากับระบบการศึกษาแบบ Child-centered ที่ครูถูกคาดหวังว่าให้มองเด็กเป็นศูนย์กลางโดยที่ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ยุคต่อมาคือ Positive Psychology (จิตวิทยาเชิงบวก) หรือการพยายามหาแต่แง่บวกในตัวเด็ก เราพบว่าทุกอย่างมีปัญหาตามมาตลอดเวลา
ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลราว 10 ปีที่ผ่านมา เราเจอทฤษฎี Teach Less Learn More (สอนน้อย เรียนรู้มาก แนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์) หรือทฤษฎีอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่พยายามจะเข้าใจบริบทวัฒนธรรมของเราเองก่อนเพื่อที่จะเข้าใจว่าในประเทศเรามีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละภูมิภาค พื้นที่ สังคม วัฒนธรรมอย่างไร ว่าเด็กต้องการการศึกษาแบบใดบ้างในภาพกว้าง
คนที่ออกแบบการศึกษาในเชิงนโยบายมองเด็กเป็นอย่างไร
นักเรียน นักศึกษาถูกมองว่าเป็นทรัพยากรของประเทศที่จะต้องถูกนำมาใช้งาน วิธีการที่รัฐมองคือมองว่าเป็นกำลังสำคัญของประเทศ เลยต้องมาแผ่ดูว่าประเทศต้องการผลิตคนแบบไหนเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน หรือเป็นทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ เด็กก็ถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือเอาไปทำงาน พัฒนาชาติต่อไป
คำถามคือ เราเคยถามเขาไหม ว่าเด็กต้องการอะไร ที่เราคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อเขาเรียนจบ สังคมจะเป็นแบบนี้ นั่นจริงหรือเปล่า จากตัวอย่างสำคัญที่ผ่านมาคือการเข้ามาของ Digital Disruption ซึ่งก่อนหน้านี้มีนโยบายผลิตคนสู่ตลาดแบบหนึ่ง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนที่ถูกผลิตมาก็เกิดการสับสนเพราะโดนผลิตมาเพื่อโลกแบบหนึ่ง แต่เขาโตมาสู่โลกอีกแบบ แล้วเราก็ผลิตเขาออกมาโดยไม่ได้ให้เขามี passion ในสิ่งที่เขาจะทำจริงๆ เขาเรียนเพราะเขารู้ว่าจะได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ปรากฏว่าจบแล้วมันไม่มี เขาก็งง หาทางไปต่อไม่ได้
การมองเด็กให้มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ ระบบอัดฉีดความเป็นวิชาการให้กับเด็ก ทำให้เด็กไม่มี passion อย่างไร
A: เราให้คุณค่ากับวิชาชีพบางวิชาชีพ ซึ่งความนิยมในเรื่องนี้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่หลายๆ วิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร ก็ยังคงได้รับความเคารพในสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า วิธีคิดของสังคมแบบนี้ไม่ได้มาจากรัฐเพียงฝั่งเดียว แต่พ่อแม่เองก็ถูกหล่อหลอมในแง่ของความคิดและวัฒนธรรมที่อยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตเช่นกัน ในแง่ของโรงเรียนเอง เด็กที่ประสบความสำเร็จคือเด็กที่สามารถสอบเข้าในคณะที่น่ายกย่อง ซึ่งถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนด้วย
ทุกอย่างมันเลยผูกโยงกันซับซ้อนแน่นหนา เด็กจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขาสามารถเป็น (อาชีพ) อะไรในชีวิตได้ ถึงได้ชอบมีเพลงหรือคำถามที่ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราคิดว่านั่นคือเป้าหมายของชีวิต แต่จริงๆ แล้ว อนาคตของเราไม่จำเป็นต้องผูกกับอาชีพก็ได้
อนาคตของคนคนหนึ่ง แค่เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เลี้ยงดูตนเองได้ ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ก็อาจจะดีเช่นกัน
เด็กทุกคนจำเป็นต้องค้นหาตัวเองให้เจอไหม คำว่า passion ควรจะทำงานกับเด็กอย่างไร
A: โครงการวิจัย ที่ผมและอาจารย์ที่คณะทำเมื่อปีที่ผ่านมาก็พบเรื่องวิธีคิดที่เป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ ซึ่งบอกว่า เราควรจะต้องรีบค้นหา passion เจอความฝันของตัวเองให้เร็ว ยิ่งเจอเร็วยิ่งดี แนวคิดนี้ทำให้เรากระโจนเข้าไปสู่การพยายามจะเป็นอะไรสักอย่าง แล้วต้องประสบความสำเร็จด้วย
คำถามคือทุกคนต้องหาตัวเองให้เจอไหม โดยเฉพาะในวัยเด็ก หรือวัยรุ่น เราให้ความสำคัญกับการรีบหาตัวเองให้เจอ เพราะสังคมบอกเราว่าอย่างนั้น ไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ล้มเหลว แต่วิธีแบบนี้ มันปฏิเสธมุมมองที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีกระบวนการค้นหาตัวเอง เข้าใจและค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบในเวลาที่ต่างกัน แถมยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอีก
ทุกวันนี้เราพยายามผลักเด็กให้หาตัวเองให้เจอ ป้อนทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อก่อนเราจะพยายามป้อนไปในทางเดียว แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ตื่นตัวก็เลยพยายามป้อนให้ลูกได้แตะทุกๆ เรื่อง จนบางครั้งเด็กก็เกิดความเครียด เพราะเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาชอบหรือรักที่จะทำอะไร เราไม่ให้เวลากับการที่เขาจะได้ค้นพบตัวเองตามช่วงจังหวะชีวิตของเขา ทั้งหมดนี้ มันเลยกลายเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกับปัญหาเดิม คือ เรื่องการพยายามจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนตามค่านิยมเดิม เด็กก็เลยยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม
ฐานะทางสังคมที่แตกต่างและการได้รับการศึกษาทำให้เด็กรับรู้คำว่า passion แตกต่างกันอย่างไร เช่น คนชนชั้นล่างอาจจะไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้เลยเพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ
A: วิธีคิดเรื่องการให้เวลาค้นหาตัวเอง สามารถทำควบคู่กับการประกอบอาชีพที่ทำให้เราเลี้ยงดูตนเองได้ เราไม่จำเป็นต้องทำงานที่เป็นความรักทั้งหมด แต่ทุกวันนี้ถูกโยงพัวพันกันหมดเพราะมีแนวคิดที่ว่าคุณได้ทำในสิ่งที่รักหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำแปลว่าผิด หาตัวเองไม่เจอ
คนที่มาจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เอื้อให้มีตัวเลือกเยอะ อาจจะต้องคิดแค่ว่า จะทำอาชีพอะไร เพื่อให้ตนเองสามารถเลี้ยงดูชีวิตได้ก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ในสังคม จะให้มามัวตามหา passion ให้เจอ ก็อดตายกันพอดี เพราะฉะนั้น วิธีคิดเรื่อง passion มันจึงโยงกับเรื่องชนชั้นทางสังคม และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรเช่นกัน
ในภาพรวมสำหรับผม ชีวิตมนุษย์มีความซับซ้อน การศึกษาควรจะเปิดให้เด็กรู้ว่าเขามีสิทธิที่จะเลือกในชีวิต ถึงแม้วันนี้ บางคนอาจจะยังมีข้อจำกัดในเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง รวมไปถึงสังคมรอบข้าง ต้องช่วยกันสื่อสารให้เด็กเขารู้ว่า มันโอเคที่เขาอาจจะยังไม่เจอความฝัน หาตัวเองไม่พบ มันไม่ได้หมายความว่า เขาล้มเหลวในชีวิต ถ้าเรามีทัศนคติแบบนี้กับเขา ก็อาจจะช่วยลดความคาดหวังและความตึงเครียดในเรื่องที่เขาจะต้องประสบความสำเร็จด้วยการค้นหาตัวเองให้เจอได้
การศึกษาในโรงเรียนยังสำคัญอยู่ไหม
การศึกษายังสำคัญอยู่ไหม ในวันที่เราได้ยินคำว่า ‘การเรียนรู้’ บ่อยขึ้นเรื่อยๆ
การศึกษาในบ้านเราเริ่มเห็นความหลากหลายมากขึ้นแล้วในด้านการจัดการของภาครัฐและเอกชน เราเห็นความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึง ถามว่าการศึกษายังสำคัญไหม ยังสำคัญ แต่ต้องตีความให้กว้างที่สุดก่อน ไม่ใช่ตีความว่าอยู่ในระบบ ไม่ใช่ว่าการศึกษาเท่ากับโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่การศึกษาเป็นเรื่องของระบบซึ่งต้องดูแลองคาพยพในทุกแง่ของกระบวนการเรียนรู้ของคน ผมจึงมองว่ายังจำเป็น แต่ตัวการศึกษาเองก็ต้องปรับทั้งความหมาย ความเข้าใจ รูปแบบ วิธีการให้เปิดกว้างและสอดรับกับสภาพความเป็นไปของสังคมด้วย
นอกจากเรื่องการศึกษา มายาคติด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันและยังสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นของอาจารย์ ที่ทำให้เด็กเกิดความเครียดหรือแรงกดดันมีเรื่องอะไรบ้าง
มายาคติเรื่อง ลูกคือความภาคภูมิใจของพ่อแม่ วิธีคิดนี้ทำให้การตัดสินใจของตัวเด็กเองมุ่งไปที่ว่าต้องไม่ทำให้ครอบครัวเสียใจ เพราะมันผูกอยู่กับคุณค่าเรื่องความกตัญญู การทดแทนบุญคุณ แต่เราก็เริ่มเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่อาจจะแตกต่างออกไปบ้างแล้ว มายาคตินี้เริ่มสั่นคลอนและมาหยุดชะงักในสังคมปัจจุบัน เพราะมีวิธีคิดแบบอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่าในชีวิตของเด็ก อาจเพราะว่าในยุคที่ผมยังเด็ก ความคิดด้านศาสนา ความเชื่อยังทำงานอยู่ค่อนข้างแรง แต่ในยุคใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวไปค่อนข้างไกล ความเชื่อ คุณค่าทางศาสนาเริ่มคลายลงทำให้วิธีคิดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเด็กน้อยลง
อีกเรื่องก็คือ การมองว่า ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพราะฉะนั้น ย่อมจะต้องเป็นคนที่รู้ดีมากกว่าเด็ก เพราะมีประสบการณ์มากกว่า ที่ผ่านมา เวลามีเหตุการณ์บ้านเมืองที่นักเรียนออกมาประท้วงเรียกร้อง เราก็มักจะตัดสินว่า พวกเธอเป็นแค่เด็กมัธยม พวกเธอรู้ไม่เท่าทันผู้ใหญ่บางคนที่หลอกใช้อยู่หรอก แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า แล้วผู้ใหญ่ไม่ถูกหลอกบ้างเหรอ ประสบการณ์คุณมีตั้งมากมาย แต่ทำไมกลายเป็นว่า คุณถูกหลอกง่ายกว่าเด็กอีก
การที่คุณมีอายุเท่าไหร่ ไม่ได้บอกว่าคุณจะสามารถดูแลตัวเองให้ปราศจากการถูกล่อลวงได้ ในเมื่อทุกคนมีสิทธิที่จะถูกล่อลวง ดังนั้นถ้าคุณเชื่อว่า เด็กจะถูกล่อลวง คุณเองก็อาจจะถูกล่อลวงได้เช่นเดียวกัน
อาจารย์มองเห็นความต่างของคนแต่ละรุ่นยังไงบ้าง
สิ่งที่เห็นชัดๆ คือวิธีคิดที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย เรียกรวมๆ ว่าวาทกรรมหรือมายาคติซึ่งเป็นภาพสะท้อนการหล่อหลอมคนแต่ละรุ่นขึ้นมา แน่นอนว่ามันเป็นปรากฏการณ์ของวิธีคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนต่างรุ่น เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่มีการตั้งคำถามที่แตกต่างไปจากครูและพ่อแม่ซึ่งเติบโตมาในอีกบริบทหนึ่ง
เยาวชนรุ่นใหม่เติบโตมาในโลกที่มีสื่อออนไลน์ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากมายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเขาจึงไม่ได้สมาทานกับคุณค่าความเชื่อในเรื่องที่คนรุ่นก่อนหน้าเขาเชื่อ ซึ่งสำหรับผม นี่คือพลวัตของสังคมที่เราต้องยอมรับ
อาจารย์เป็นเด็ก Gen X ใช้ชีวิตอยู่ในระหว่างยุค Analog กับ Digital ซึ่งคนในรุ่นอาจารย์ดูเหมือนยังมีความกลัวที่จะท้าทายกับอำนาจรัฐแม้ว่าจะเข้าถึงความรู้มากพอ แต่สิ่งที่ต่างคือเด็กยุคนี้มีความกล้าที่จะต่อสู้ทางความคิดกับผู้ใหญ่ ถึงแม้จะถูกมองว่าก้าวร้าว อาจารย์มองว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมส่งผลอย่างไรกับความคิดแบบนี้
ผมคิดว่าคนในทุกยุคสมัยเห็นความอยุติธรรมของสังคม เห็นว่าระบบโครงสร้างมีปัญหา แต่อาจจะไม่ได้ตั้งคำถาม เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่า มันคือเรื่องปกติของสังคม แต่ในปัจจุบัน เรามีเครื่องมือทางความคิด มีแนวคิดใหม่ๆ ที่ช่วยอธิบายความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมมากขึ้น และที่สำคัญคือ มีสื่อออนไลน์ที่คนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ดังนั้น พอเกิดสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในสังคม คนรุ่นใหม่ก็เริ่มตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะได้ ซึ่งผมคิดว่า มันช่วยทำให้เขารู้สึกว่าเสียงของฉันมีคนได้ยิน แล้วยิ่งพอมีคนเข้ามาอ่านและเห็นด้วยกับเรา เขาก็อาจจะมองเห็นความเป็นไปได้ในแง่ของการลุกขึ้นมาท้าทายกับอำนาจที่คนรุ่นอื่นถือไว้
ในขณะที่คนรุ่นอื่นๆ อาจเคยตั้งคำถามเยอะ แต่เราไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกที่เรารู้สึกปลอดภัย และเราถูกกำกับโดยชุดความคิดในสังคมว่าเราไม่ควรทำ เพราะพ่อแม่จะเสียใจ ไม่มีที่ยืนในสังคม มีกรอบความเชื่อแบบนี้ครอบเราไว้ แต่คนในยุคนี้มีพื้นที่ให้เขาได้เปิดเผยความรู้สึกของเขา แน่นอนว่าผมไม่ได้มองว่ามันถูกต้องทั้งหมด เพราะเราก็เห็นแล้วว่า มีคนใช้พื้นที่นั้นในการทำร้ายจิตใจคนอื่นเหมือนกัน
ถ้าอย่างนั้น ทำไมการศึกษาไทยถึงยังวนอยู่ในกรอบเดิม
การศึกษาเป็นภาพสะท้อนของสังคม วิธีคิด ความเชื่อต่อเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ ดังนั้น มันจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องที่เป็นปัญหาในสังคมบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ความคาดหวังเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที ความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของความเป็นคน และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง การที่เรายังหมกมุ่นกับเรื่องพวกนี้โดยไม่ตั้งคำถาม มันก็เลยทำให้วิธีการจัดการศึกษายังคงวนเวียนกับการกำกับคนให้อยู่ในร่องรอยเหล่านี้
แต่เด็กๆ ที่ได้รับมรดกมายาคติมาจากการศึกษาที่คนรุ่นเก่าสร้างขึ้น กลับออกมาแสดงออกและมีลักษณะที่แตกต่างอย่างมากกับรุ่นก่อนๆ?
เพราะโลกสมัยเก่าของเราอยู่ในห้องเรียนซะเยอะ อ่านหนังสือ อยู่กับพ่อแม่ เล่นกับเพื่อนบ้าง แต่ยุคนี้โลกของเขาอยู่ในโลกออนไลน์ ได้รับข่าวสารที่ยุคเราๆ ไม่ได้ข้อมูลเหล่านั้นเพราะถูกควบคุมจากภาครัฐ แต่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งมันช่วยทำให้เขาตั้งคำถามกับความผิดปกติมากมายที่คนรุ่นก่อนๆ มองว่ามันปกติ
ผมเชื่อนะว่าถ้าเอาบริบททางสังคมที่มีเทคโนโลยีย้อนกลับไปให้คนในรุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้ตั้งแต่เด็กๆ เขาก็อาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดอะไรบางอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อคนรุ่นหนึ่งเติบโตมากับความเชื่อ สื่อที่เราได้รับทางเดียวถูกควบคุมโดยภาครัฐ ทั้งกระบวนการ propaganda หรือจากหลักสูตรของกระทรวงฯ เราจึงมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงความรู้ในอีกลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าถึงไม่ได้นะ แต่มันไม่ได้อยู่ในวงกว้างแบบทุกวันนี้ ไม่อย่างนั้น เราคงไม่มีนักคิด นักวิชาการรุ่นก่อนๆ ที่เล็ดลอดจากระบบและลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่ในยุคนี้คนสามารถเข้าถึงความรู้นอกกระแสได้มากกว่า ทำให้เขาหลุดจากชุดวิธีคิดที่กำกับให้เขาเชื่องเชื่อตามที่รัฐต้องการ
ความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์จะวนกลับมาในชีวิตของเด็กเช่นกัน
การศึกษาที่ดีสามารถหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน
A: ก่อนอื่นเราไม่ควรจะฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่การศึกษาในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง อย่าลืมว่า เด็กอยู่โรงเรียนเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ในชีวิตเขายังต้องเจอกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ใช้เวลากับเพื่อน และอยู่ในสังคมนอกโรงเรียนอีก
การเติบโตเป็นมนุษย์ที่ดี ควรจะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ มามากมาย สำหรับผม ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง ครอบครัวสามารถมีส่วนในการเรียนรู้ของลูกได้ถ้าผู้ปกครองทำให้ลูกไว้วางใจที่เขาจะผิดพลาดได้ ยอมให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยสนับสนุนแบบที่ไม่ประคบประหงมเกินไปนัก ให้เขารู้ว่ายังมีคนที่เขาพึ่งพิงได้ในเวลาที่เขาต้องการ สร้างหลักประกันให้เขากล้าที่จะเติบโตด้วยตนเอง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า การศึกษาไม่สำคัญ ผมยังเชื่อว่าการศึกษามีความสำคัญที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านความรู้วิชาการและความเป็นมนุษย์ แต่เราต้องไม่ทิ้งบริบทรอบตัวคนคนหนึ่งเช่นกัน
ในยุคก่อนหน้านี้ พ่อแม่อาจจะมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องปัจเจก เรื่องของลูกเรา ครอบครัวเรา แต่เราควรจะต้องมองการศึกษาเป็นเรื่องของ collective (การสร้างคนหนึ่งคนเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม) หรือเปล่า
A: เห็นด้วยครับ การเป็นพลเมืองคือการมีหน้าที่ต่อสังคมที่เราอยู่ เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบและสังคมโดยรวม ต้องยอมรับว่าวิธีคิดแบบปัจเจก เน้นการเอาตัวรอดมันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว เพราะเราเห็นแล้วว่าทุกองคาพยพในสังคมมันเชื่อมโยงกันไปหมด
เศรษฐกิจที่ดี วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีล้วนส่งผลต่อปัจเจกทั้งนั้น ถ้าเราต้องการให้ชีวิตเราดี เราก็ต้องใส่ใจสิ่งต่างๆ เช่น ความอยุติธรรมของสังคมและความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะกลับเข้ามาอยู่ในชีวิตของเราเช่นกัน หน้าที่ของเราคือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สร้างคุณภาพที่ดีที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราเองและต่อสังคม
การหล่อหลอมลูกหลานให้มีวิธีคิดแบบนี้ได้ต้องเริ่มจากตัวของเราเอง พ่อแม่ชวนเขาคิด พูดคุย ไม่ปิดกั้นเขาจากโลกที่เราบอกว่ามันน่ากลัว รุนแรง แต่ให้เขาได้เข้าใจ ได้มองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ทำให้เขาเติบโตโดยมองเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ทำอย่างไรให้เขามีความรับผิดชอบต่อสังคมแต่ไม่เดียวดายเพราะมีเพื่อนมนุษย์ที่อาจจะมีความคิดและปฏิบัติคล้ายๆ กับเขาด้วย เราเห็นแล้วว่ายุคนี้คนเชื่อมโยงกันในทางอุดมการณ์ หรือความสนใจได้ แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก่อนเราอาจจะกลัวว่าโลกอินเทอร์เน็ตจะทำให้คนแยกออกจากกัน แต่ผมมองว่าความเป็นไปของสังคมทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกันในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์สำคัญของสังคมที่สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถขับเคลื่อนสังคมได้จากความสัมพันธ์ที่เป็นกลุ่มก้อนแบบนี้
พ่อแม่เองก็เป็นพลังสำคัญที่มีผลกับการเลือกให้ลูกได้รับการศึกษา มี know-how ที่จะช่วยแลกเปลี่ยนพ่อแม่ในส่วนนี้บ้างไหม
A: มีสองเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ คือเรื่องเครื่องมือความรู้และทัศนคติการเลี้ยงดูลูก เรามองลูกว่าเป็นอย่างไร หน้าที่ของพ่อแม่คืออะไร พ่อแม่ควรหมั่นตรวจสอบสิ่งเหล่านี้
ทุกวันนี้เรามี know-how ออกมาเยอะเกินกว่าที่พ่อแม่จะรับไหวด้วยซ้ำ แต่เราจะนำไปใช้อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า
แต่ยังไงก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงความรู้ที่เหมาะสมได้ เราต้องยอมรับความแตกต่างของพื้นฐานทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน พ่อแม่ต้องทำการบ้านเยอะ ทำงานกับความคาดหวัง ในเรื่องเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ผมยังเชื่อมั่นเรื่องการเรียนรู้ของกลุ่มพ่อแม่ด้วยกันเอง แม้จะอยู่ต่างบริบทกัน แต่การได้เข้าไปเรียนรู้วิธีเลี้ยงลูกของคนอื่นจะช่วยให้เกิดกระจกสะท้อนมองตัวเอง เปิดกว้างที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก
พ่อแม่หลายคนจะมองว่าฉันต้องหาวิธีที่ถูกและดีที่สุด แต่เราลืมว่าทุกอย่างคือกระบวนการเรียนรู้ ต่อให้เราอ่านทฤษฎีต่างๆ แต่เมื่อเจอลูกตั้งคำถาม เถียงคุณ คุณจะตอบโต้อย่างไร ความโกรธแล่นขึ้นมา เราต้องยอมรับว่าเราพลาดได้ เราต้องยอมรับว่าเราขอโทษลูกได้ และสอนให้เขารู้จักการขอโทษเช่นกัน
เมื่อเรามองว่ามันเป็นพลวัต เราจึงสามารถเติบโตไปพร้อมกับลูกได้ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเวลาเขาแสดงความคิด ความรู้สึก เพื่อให้เขาได้อธิบายต่อ การที่เราไม่พยายามรีบสอน หรือปิดกั้นการแสดงออกของเขา ก็คือการสื่อสารให้เขารู้ว่าเราพยายามที่จะเข้าใจเขา เพราะสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็คือการสร้างความไว้วางใจให้ลูกหรือเด็กของเรารู้ว่า ไม่ว่าเขาจะเผชิญอะไรในอนาคต เขายังคงสามารถกลับมาหาเราได้เสมอ
ในตำราเรียนส่วนใหญ่ในแวดวงสังคมศาสตร์และครุศาสตร์ยังยึดอยู่กับหลักสูตรตั้งแต่ปี 70-80 พร้อมกับผู้สอนที่ใช้แนวคิดและข้อมูลที่ไม่ปรับตัว ตรงข้ามกับความเป็นจริงที่องค์ความรู้สมัยใหม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ท้าทายทฤษฎีดั้งเดิมอยู่เสมอ
ยังไม่นับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่รุนแรงขึ้นทุกๆ ปี เด็กไทยจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษากลางคันแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เพราะฐานะยากจน เงื่อนไขชีวิตจัดลำดับความสำคัญให้การศึกษามาทีหลังการทำงาน เว็บไซต์ disruptignite ระบุว่า เด็กไทยมากกว่า 500,000 คนหลุดนอกระบบไปแล้ว ในขณะที่เด็กอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้เรียนต่อ
ยิ่งภาวะโรค COVID-19 เข้ามา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยยิ่งวิ่งไปสู่ทางที่มืดไม่รู้จบ ข้อมูลจากเว็บไซต์ disruptignite ยังบอกอีกว่า มีเด็กเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้นจากครอบครัวที่ยากจนล่างสุดของประเทศ ร้อยละ 20 ที่มีสิทธิเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
วลี ‘มายาคติทางการศึกษา’ จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในด้านนโยบายและวัฒนธรรมที่หลายคนอาจจะเคยอ่านข้อมูลชุดนี้กันมาจนเบื่อหน่ายไปแล้ว แต่เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคสมัยที่ท้าทายและสนุกขึ้นเรื่อยๆ เพราะสนามทางการเมืองบางชั่วขณะก็เหมือนสนามเด็กเล่นที่แสนจะจริงจัง
ความเป็นเด็ก ความเป็นนักเรียน ความเป็นพ่อแม่ ความเป็นครู หรือแม้กระทั่งความเป็นโรงเรียนถูกตั้งคำถามและขโมยนิยามที่ถูกแช่แข็งไว้นานจนไม่เหลือคราบของวาทกรรมเดิม
คำถามที่ว่า ‘ทำไมการศึกษาไทยยังวนอยู่ในกรอบเดิม’ หรือ ‘การศึกษาสร้างเด็กแบบไหนออกมา’ อาจจะตอบได้ด้วยคำถามอีกทีว่า ‘ทำไมเด็กๆ AKA ดอกไม้ที่เบ่งบาน ถึงเบ่งบานได้ในกระถางต้นไม้ที่ผู้เลี้ยงบอกว่าจะรดน้ำให้อย่างดีแต่เมล็ดพันธุ์ไม่รู้สึกปลอดภัย’
ไม่ได้มีใจจะกวนประสาท แต่เรายังสามารถถามได้ต่ออีกว่าโรงเรียน (ที่ไม่ต้องเป็นบ้านหลังที่สอง) พ่อแม่ (ที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ) หรือครู (ที่ไม่ได้พร้อมเป็นแม่พิมพ์ของชาติ) จะสามารถลดมายาคติที่เคยฝากไว้โดยทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวบนบ่าของเด็กๆ อย่างไร พร้อมล้มลุกคลุกคลานไปกับเขาจริงๆ ไหม
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เราอาจจะเจ็บปวดและสวยงามไปด้วยกันได้ภายใต้บาดแผลที่จำเป็นต้องมี
ติดตามงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม’ วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 – 20.30 น. ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ ก่อการครู
ร่วมเสวนาโดย
- เดชรัต สุขกำเนิด Think Forward Center
- พฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
- อดิศร จันทรสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชวนแลกเปลี่ยนโดย: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการเล่ม และ Co-founder mappa media