Edupreneur แก๊งคนธรรมดาที่ช่วยกันแงะปัญหาการศึกษามาแก้

ผู้เขียนและเหล่านักอ่านทุกท่านต่างเป็นผลผลิตจาก ‘ระบบการศึกษาไทย’ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง มีทั้งคนที่เคยเป็น หรือกำลังเป็นเด็กมัธยมฯ ที่เจ็บปวดกับการแบกรับความคาดหวังเพื่อให้เป็นที่ยอมรับหากได้เข้ามหาวิทยาลัย เจ็บปวดกับการเรียนในวิชาที่ไม่จำเป็น เจ็บปวดกับวัฒนธรรมแปลกๆ ในโรงเรียนที่ละเมิดสิทธิเด็ก เจ็บปวดกับครูที่ไม่เข้าใจ เจ็บปวดกับการไม่ได้ตามหาความฝัน ไปจนถึงเจ็บปวดกับการที่โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีความสุข และปลอดภัยบ้างก็เจ็บปวดจากการถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

เราอาจไม่ได้พูดตรงๆ ว่า ‘การศึกษาไทย’ กำลังทำร้ายเด็กไทย แต่เราอาจพูดได้ว่า ‘สังคมไทย’ กำลังทำร้ายเด็กไทย จากการหล่อหลอมให้เด็กไทยเดินตามลูปการศึกษาเดิมๆ ที่ยึดถือกันมา ไม่เปลี่ยนให้ทันยุคสมัยสักที ปัญหาการศึกษาไทยจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เราต้องแก้กันที่ภาพใหญ่ ลงลึกตั้งแต่วิธีคิด และทุกคน ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน คนในสังคม และรัฐบาล ต้องมีส่วนในการออกแบบร่วมกัน ซึ่ง ‘Edupreneur’ กลุ่มคนผู้ทำงานด้านการศึกษาที่รวมตัวกันเป็นทีมอเวนเจอร์สเพื่อแก้ไขปัญหาด้านศึกษา ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่นี้

มะโหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ จาก Black Box, นะโม-ชลิพา ดุลยากร จาก insKru, ครูเก๋-สุดารัตน์ ประกอบมัย จาก insKru, เก๋-ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี จากมูลนิธิ Why I Why, ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร จาก Saturday School และ เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย จาก a-chieve คือตัวแทนส่วนหนึ่งจาก Edupreneur ที่มีมากกว่า 20 บริษัท องค์กร มูลนิธิ และกลุ่มคนที่ทำงานด้านการศึกษาอื่นๆ ที่ต่างขับเคลื่อน และมุ่งมั่นแก้ปัญหาการศึกษามาหลายปี เชื่อว่าการศึกษาจะแข็งแรงได้ ถ้าโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ทั้งเด็ก และครูได้แสดงทักษะ ได้หาตัวเองเจอ ได้เรียนและได้อิสระในการออกแบบการสอนในสิ่งที่จำเป็น โดยไม่มีกรอบบางอย่างมาครอบ และที่สำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเด็กจะอายุน้อยกว่าหลายปีก็ตาม

Edupreneur มีทั้งคนที่เคยเป็นเด็กหลังห้อง และเด็กหน้าห้อง ที่มองเห็นปัญหาด้านการศึกษาตั้งแต่สมัยเรียนจนจบมาหลายปี ก็ยังมองเห็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไข อะไรบ้างที่กลุ่มคนที่อินเรื่องการศึกษาเหล่านี้มองเห็นว่าควรพัฒนา (ได้แล้ว) บทสัมภาษณ์ด้านล่างคือเสียงจากพวกเขา เด็กที่เคยติดหล่มอยู่กับปัญหาการศึกษาไทย ที่โตมาเป็นผู้ใหญ่ผู้อยากเปลี่ยนแปลงระบบนี้ให้ดีขึ้น

Edupreneur คืออะไร 

ยีราฟ: เราเป็นแก๊งคนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องการศึกษา เพราะเห็นว่าการศึกษาไทยกำลังมีปัญหา และน่าจะมีวิธีที่ทำให้การศึกษาตอบโจทย์เด็กๆ มากกว่านี้ กลุ่มของเราจึงเป็นพื้นที่รวมตัวกัน เพื่อมาแชร์ปัญหาที่ตัวเองเจอ หรือแลกเปลี่ยนความคิดด้านการศึกษากัน ไปจนถึงเป็นวงชุบชูจิตใจจากการไปสู้ในสนามกันมา

เก๋: คนที่รับไม้ต่อ ก็จะเป็นเหมือนโฮสต์ หรือเจ้าภาพหลักครั้งต่อไป เราก็จะมาคุยกันว่าจะมีตีมหลักอะไร จะมีประเด็นอะไรมาพูดคุยกัน จะจัดเวิร์คช็อปอะไร หรือจะแค่มาเฮฮาสังสรรค์กันก็ได้

มะโหนก: หลักๆ คือการช่วยกันอัปเดตสถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้น ให้เราได้ไปทำงานออกแบบโดยไม่ทับไลน์กัน ใครถนัดอะไรก็มุ่งไปอันนั้น เหมือนเป็น PLC ที่ย่อมาจาก Professional Learning Community ให้คนทำงานมา learning กัน ซึ่งเกิดขึ้นบนโต๊ะกินข้าวก็ยังได้

นะโม: พื้นที่ของ Edupreneur เปิดรับกลุ่มคนใหม่ๆ ที่อินเรื่องการศึกษา แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ให้เข้ามา join กัน โดยที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะสมาชิกของเรารู้จุดแข็งของตัวเอง เช่น เรารู้ว่า a-chieve เก่งเรื่องออแกไนซ์ เราก็ไปดึงเขามาทำอีเวนต์ร่วมกันได้ หรือเราอยากทำโปรเจ็กต์กิจกรรมบางอย่าง เราก็อาจจะเรียก Saturday School มาร่วมด้วยก็ได้

สิ่งที่องค์กรของแต่ละคนกำลังเคี่ยวเข็ญอยู่คืออะไรบ้าง

เก๋: Why I Why เข้าปีที่ 20 แล้ว เราทำงานส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง พูดง่ายๆ คือการปั้นคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าเขาจะสนใจประเด็นอะไรก็ตาม เราจะช่วยบ่มเพาะเขาให้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา หรือช่วยเติมให้เขามีทักษะ หรือองค์ความรู้นั้นๆ มากขึ้น เพื่อเอามาใช้เปลี่ยนแปลงสังคมในแบบของพวกเขา เช่น จากไอเดียเล็กๆ ที่เขาอยากทำ เราจะเอาสิ่งเล็กๆ นั้นมาช่วยทำให้เกิดโครงการ เขียนเปเปอร์ขึ้นมา ช่วยหาแหล่งทุน เป็นเมนเทอร์ และหาที่ปรึกษาให้พวกเขา

มะโหนก: Black Box เราแทนตัวเองเป็น learning design service provider หรือบริษัทรับออกแบบการเรียนรู้ตามโจทย์ สร้างสรรค์การเรียนรู้ให้เป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีหัวข้อตายตัว 

เอิร์ธ: a-chieve เป็นบริษัทจำกัด ทำเรื่องประเด็นแนะแนว ให้เด็กรู้จักตัวเอง และซัพพอร์ตครูแนะแนวไปด้วย เพื่อซัพพอร์ตให้ครูไปทำงานกับเด็กอีกที

ยีราฟ: Saturday School เริ่มมา 8 ปี เราสร้างมาจากแนวคิดสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือฝั่งของเด็ก ที่เราเชื่อว่า เด็กสามารถเติบโตไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตัวเอง และกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้างของเขาได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพชุมชน หรือมาจากครอบครัวยากจนก็ตาม กลับอีกฝั่งหนึ่ง เราเชื่อว่า คนในสังคมที่อยากช่วยการศึกษามีเยอะ แต่ไม่มีพื้นที่ที่ทำให้ตัวเองได้มาช่วยการศึกษาอย่างจับต้องไ้ด้ ผมเลยเปิดพื้นที่วันเสาร์ให้เด็กๆ และคนทั่วไปมามีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาการศึกษา เด็กๆ ก็จะได้เรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ งานหลักของเราคือหาอาสาสมัครมาสอนเด็กๆ ด้วยวิชานอกหลักสูตร เช่น เต้น ศิลปะ ร้องเพลง ดนตรี กีฬา ทำหนังสั้น เป็นต้น

นะโม: insKru ตอนนี้ 5 ปีแล้วค่ะ เป็นบริษัทที่ทำประเด็นเกี่ยวกับครู หลักๆ ก็จะ inspire และ empower ครู ผ่านการสร้างพื้นที่ให้ครูได้มาเจอกัน ซัพพอร์ตกัน และดึงคนอื่นๆ ที่ทำเรื่องต่างๆ มาซัพพอร์ตครูอีกที เช่น ใช้เทคโนโลยีเป็นแพลตฟอร์มให้ครูสามารถแชร์ไอเดียกันได้ หรือใช้เครื่องมือในโซเชียลมีเดียที่มีให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน พร้อมมีกิจกรรมต่างๆ 

ครูเก๋: เราทำงานกับ insKru ก็จริง แต่เราเป็นครูในระบบด้วย ทุกคนในวงนี้คือ passion และ idea ขณะที่เราเป็นตัว pain เลย เราเลยออกไปข้างนอกเพื่อไปหาอะไรบางอย่างมาช่วยการศึกษาในระบบ เรารู้ว่าสิ่งที่มีอยู่มันไม่ใช่ เลยมาเจอกับนะโม ที่สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เวลาที่เราทำอะไรข้างนอก มันเป็นงานที่เพิ่มจากหน้าที่ราชการ มีน้องคนหนึ่งบอกว่างานในโรงเรียนเยอะอยู่แล้ว พี่จะไปหางานอื่นทำไม เรารู้สึกว่า ถ้าเรากำลังพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แสดงว่าสิ่งที่มีอยู่มันไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้เติมเต็มความรู้สึกเรา เราก็เลยออกมาร่วมขับเคลื่อนพร้อมหาไอเดียไปด้วย 

พวกคุณคิดว่าเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขในระบบการศึกษาคืออะไร

นะโม: การเปลี่ยนรัฐบาลค่ะ เพราะเรารู้สึกว่า แม้จะมีความพยายามที่จะทำอะไรบางอย่าง เช่นแก้หลักสูตร แต่พอผู้นำที่อยู่บนนั้น ไม่ได้อัปเดตมุมมองของตัวเอง หรืออะไรก็ตามแต่ มันเป็นอุปสรรคขัดขวางที่เราพยายามแค่ไหนแทบตาย ก็ติดอยู่ที่ระบบหลักสูตรอยู่ดี

ครูเก๋: แต่ก่อนเราไม่ค่อยอินกับเรื่องเชิงโครงสร้าง หรือนโยบายเท่าไหร่ เพราะเรารู้สึกว่า มันใหญ่ไป ครูต้องแก้ไขได้เองสิ แต่พอทำไปเรื่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ มันจะไปเจอคำว่า แก้ให้ตาย แต่ถ้าข้างบนโครงสร้างมันไม่ได้แก้ลงมาให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้มันก็เหนื่อยเปล่า 

เช่น ทุกวันนี้เหมือนเด็กจะได้รับการเรียนรู้ได้จากที่โรงเรียน แต่ในโรงเรียนเด็กกลับไม่ค่อยได้เรียนรู้แบบจริงๆ ซะงั้น มันดูมีความรุงรังในระบบการศึกษาเยอะเกินไป เช่น ครูทำหน้าที่สอน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างเต็มที่เลย เขาทำอย่างอื่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจัดงาน จัดอีเวนต์ จัดทำเอกสาร เราก็รู้เนอะว่าครูต้องใช้แรงกาย แรงสมองในการสอน แต่พอให้มาทำเอกสารเยอะๆ มันจะมีเรี่ยวแรงในการคิดไอเดียการสอนน้อย แล้วก็มีเวลาให้กับเด็กน้อยลงไปด้วย

ลองไปถามเด็กได้เลยค่ะ ถ้าเราอยากรู้ว่าการศึกษาตอนนี้เป็นยังไง เด็กจะตอบว่า ไม่ค่อยได้เรียน เพราะครูต้องไปทำงานนู่นนี่นั่นก่อน ซึ่งสิ่งที่ครูต้องรับผิดชอบคือเด็ก แต่จริงๆ แล้ว พองานอื่นเข้ามา ถ้าไม่ไปทำงานอื่น ไม่ทำงานเอกสาร เราก็ไม่ได้เงินเดือนมาสอนเด็ก เราจะไม่สนใจงานอื่นก็ไม่ได้ สิ่งที่เร่งด่วนคือทำยังไงก็ได้ให้ครูได้สอนจริงๆ เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จริงๆ และการที่ครูต้องมีแผนการสอน ที่ต้องเป็นกระดาษปึกๆ เพื่อให้คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจ มันยังจำเป็นอยู่ไหม เพราะการสอนของครูอาจมีวิธีการเตรียม และสอนไปเลย สิ่งเหล่านี้คือโซลูชั่นที่รุงรัง ที่ควรเปิดอิสระให้ครูออกแบบการสอนมากกว่านี้

ยีราฟ: ด่วนและแก้ไขได้ก็จะดี น่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพและคัลเจอร์การทำงานของราชการ หลายอย่าง การทำงานของระบบราชการที่มันใหญ่โต เทอะทะ มันไม่รวดเร็ว ไม่เปิดรับโซลูชั่นที่เหมาะกับปลายทางจริงๆ เงินเดือนครูยังขึ้นโดยวิทยฐานะที่ไม่เกี่ยวกับการสอน คือมันไม่ได้ส่งไปถึงเด็กจริงๆ เวลาของครูเสียไปกับการทำอย่างอื่นนอกเหนือการสอน สุดท้ายเด็กมาเรียนหนังสือกับครู แต่ครูไม่สอนเด็ก มันต้องมีอะไรผิดพลาดบางอย่างแล้วกับระบบ เราเลยงงว่าตัวชี้วัดเหล่านี้มันจะไปถึงเด็กจริงไหม ระบบราชการจึงควรเปลี่ยนโครงสร้าง และควรโยกงบมาลงส่วนนี้เพื่อหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์เด็ก ครู และโรงเรียนจริงๆ

มะโหนก: เรื่องด่วนที่ต้องแก้ไขคือโซลูชั่นที่ออกมา ต้องเข้าใจให้มากขึ้นกว่านี้ โครงสร้างระดับประเทศ โซลูชั่นมีเยอะเกินไป แต่ส่วนใหญ่ มีไว้ทำไมวะ บังคับให้ทำ แต่ไม่รู้ได้ประโยชน์อะไร เช่น เอกสารจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ การมีเจตนาดีแต่ไม่ได้เข้าใจ จะกลายเป็นการทำร้ายซึ่งกันและกัน ผมเลยอยากให้ทุกโซลูชั่นเข้ามาทำความเข้าใจกัรอย่างน้อย 5 ภาคส่วน ได้แก่ เด็ก ครู พ่อแม่ ผู้บริหาร และสังคม สังคมคือคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบแต่มีความสนใจ และพอมีของที่จะช่วยเรื่องนโยบายต่างๆ 

หากให้แก้นโยบายการสนับสนุน สิ่งที่ต้องแก้ เช่น สนับสนุนพ่อแม่ ทำให้ชีวิตประชาชนมันดี จนเขาสามารถที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และมีใจ มีแรงมาสนับสนุนชีวิตลูก หรือการเปลี่ยนความคิดผู้บริหาร ก็เป็นงานหนักเลย ที่ต้องหาโซลูชั่นใหม่ๆ ด้านการศึกษากับผู้บริหาร จริงๆ ปัจจุบันดีขึ้นกว่ายุคก่อน วิธีคิดเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปเยอะ ถ้าเรานั่งกินกาแฟกับหน่วยงานต่างๆ เขาคิดคล้ายๆ เราเลย แต่ไม่รู้ทำไมพอกลับเข้าไปที่สำนัก หยิบสูทมาใส่ แล้วเป็นอีกแบบ จริงๆ เรามีความหวังนะ เราบอกให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีจัดการ คิดว่ามีคนข้างในทำอยู่ แล้วก็พยายามสู้ในสนามที่เขาพอทำได้ ถ้าใครได้ยินเสียงนี้แล้ว และรู้สึกว่าวิธีคิดของคุณมันพุ่งไปที่เด็ก โดยไม่ต้องปฏิเสธโจทย์ของสังคมว่ามีหน้าที่ผลิตเด็กให้ทำมาหากิน หรือมีชีวิตอย่างมีความสุขในตลาดแรงงานได้ด้วย ก็อย่าลืมว่ามันต้องไม่สำคัญมากกว่าความเป็นมนุษย์ของเขา 

เก๋: เรามองว่าการเมืองและการศึกษาเป็นเรื่องเดียวกัน หากมองถึงประเด็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายการเมืองระดับประเทศ ไปถึงหน่วยย่อยจังหว้ด ที่มีระบอบการบริหารจัดการตัวเอง จะพบว่ายังมีวัฒนธรรมเดิมๆ หรือรูปแบบปฏิบัติของราชการเดิมๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรื้อวิธีคิด กรอบการทำงานที่ไม่ใช่แค่ปลดล็อกครู แต่ปลดล็อกบางอย่างที่มันติดพันให้เอื้อต่อโซลูชั่นเฉพาะจุดได้ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องยึดว่า ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ตัวชี้วัด 10 ปี อะไรที่เป็นคัมภีร์บางอย่าง ที่มันรัดคนทำงาน ให้ติดอยู่ที่ระเบียบ จนไปต่อไม่ได้

หรืออะไรที่เป็นโครงการ การใช้งบประมาณ ที่ถูกคิดล่วงหน้าตามสไตล์ของการบริหารแบบรอบปี ถ้าคิดว่าหน่วยตัวเองเต็มมือ ก็ให้นึกถึงคนทำงานที่มีโซลูชั่น ฮาวทู มีเครื่องมือ กระจายออกให้ช่วยทำ เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขารับงบประมาณ ซัพพอร์ตให้ NGO ทำเรื่องนั้นแทน เพราะสุดท้ายเราตอบโจทย์เรื่องเดียวกัน ช่วยกันทำงานได้

เอิร์ธ: ถ้าบอกเร่งด่วน ผมอาจจะตอบว่าไม่ต้องทำอะไรเลย (หัวเราะ) อย่าเพิ่งแก้อะไรเลยก็ได้ เพราะยิ่งแก้ ยิ่งวุ่นวาย แต่สิ่งที่ควรจะแก้ อาจจะต้องกลับไปแก้ตัวเองมากกว่า แก้วิธีคิดตั้งแต่แรกในการจัดการศึกษาน่ะ มันผิดเพี้ยนไปหมด การเรียนไม่ได้เอาที่พัฒนาเด็กเป็นตัวตั้ง การเรียนรู้ในแต่ละคาบควรจะเป็นเป้าในตัวมันเอง ไม่ใช่เป็นเวย์ที่พาเด็กไปสู่ตลาดแรงงาน หรือเอาเกรด บางอย่างมาวัด

เราเคยเข้าไปฟังหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องพูด เขาบอกว่าเห็นเป็นปัญหา แต่แก้ไม่ได้ เพราะต้องไปแก้ที่การวัดผล ซึ่งอยู่อีกสำนักหนึ่ง ทั้งๆ ที่นั่นคืองานของคุณเอง คุณต้องไปเชื่อมกับเขาเอง คุยกันให้ตกตะกอน และแก้มัน ไม่ใช่มองเป็นอุปสรรค เลยต้องแก้ที่ตัวเองก่อนเลย เอาหัวหน้ามาคุยกันและออกแบบใหม่ ไม่ใช่มองมาว่า ฉันจะแก้โรงเรียน ฉันจะยุบโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหางบไม่พอ ถึงบอกไงว่าต้องแก้ตัวเองก่อนเลย

วิชาไหนในโรงเรียนที่ไม่ควรมี ยกเลิกได้แล้ว 

ครูเก๋: ส่วนตัวคิดว่าทุกวิชามีส่วนเสริมสร้างให้เด็กพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่จะมีวิชาหนึ่งที่คนรู้สึกว่าขัดต่อความรู้สึก คือวิชาลูกเสือ ส่วนตัวคิดว่าวิชานี้ ถ้ามุ่งเน้นไปในทางการสร้างทักษะเอาชีวิตรอด มันจะดีมากๆ มันจะไม่ขัดต่อความรู้สึกภายใน แต่พอมันต้องมีเครื่องแบบต่างๆ มันดูรุงรัง เยอะแยะ เราจะเห็นว่าเด็กไม่อยากเรียนวิชาลูกเสือเพราะเขาไม่มีเงินซื้อเครื่องแบบก็มี และเครื่องแบบมันร้อน วิชานี้จึงไม่ควรจะมี หรือถ้ามีก็ควรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่เป้าหมายชัดเจนว่ามีเพื่ออะไร เรียนไปทำไม ถ้าเรียนไปเพื่อเอาตัวรอด แสดงว่าก็ไม่ต้องมาท่องกฎปฏิญาณแล้วไหม ควรสอนว่ายน้ำ สอนเอาตัวรอดชัดๆ

ทุกวิชามันมีความดีงามของมันอยู่แล้วแหละ แต่พอใส่ลงไปแล้วมันไม่ได้ใช้จริงก็มีเยอะ เช่น ภาษาไทย ทุกคนต้องเรียนภาษาไทย แต่เด็กต้องไปมุ่งเกี่ยวกับวรรณคดี ทีนี้ครูภาษาไทยก็สะท้อนมาว่า มันไม่ได้พาเด็กให้ฝึกอ่าน ฝึกพูด เด็กเลยเขียนไม่คล่อง อ่านไม่คล่อง ครูเก๋มองว่าการศึกษาไทยตอนนี้มันไม่ได้เรียนควาเป็นมนุษย์ คือเราเรียนอะไรไม่รู้เหมือนเป็นหุ่นยนต์ ทำอะไรก็ต้องเก่งตามหลักสูตรที่ท่องจำกันมา เพื่อให้เด็กมีความสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่คำว่าสมบูรณ์ของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องพูดภาษากลางอย่างเดียว หรือภาษาอังกฤษอย่างเดียว หรือต้องเก่งคณิตก็ได้

ยีราฟ: เราต้องโฟกัสว่าเนื้อหาอะไรจำเป็น และไม่จำเป็น ถ้าจำเป็น มันจำเป็นในช่วงเวลาไหน และจำเป็นสำหรับใคร เช่น คณิตศาสตร์มอปลาย เราจะเรียนเรื่องหาพื้นที่ทรงกรวย คือคนจำนวนน้อยมากที่จะได้ใช้ คือเราไม่จำเป็นต้องเอาเนื้อหาหลายๆ อย่าง มายัดให้เด็กทุกคน คือเราเอาแค่จำเป็นอย่างเดียวพอดีไหม ซึ่งถ้าตัดออกจริงๆ มันสามารถตัดได้เลย ประมาณครึ่งหนึ่ง 

ส่วนเรื่องเป้าหมายวิชา มันจะผ่านหลักสูตรอะไรดี รูปแบบการเลคเชอร์ การที่ครูพูดให้เด็กฟัง เด็กเรียนรู้ได้น้อยมาก มันสามารถทำอะไรได้บ้างที่ทำให้การเรียนรู้ในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียน พัฒนาไปถึงเป้าหมายของวิชานั้นจริงๆ วิชาสังคม เราอาจจะต้องการพัฒนาในเรื่องของการเข้าใจว่าโลกเป็นยังไง ทำให้เด็กมี critical thinking เราก็ควรออกแบบห้องเรียนให้ไปถึงตรงนั้น ไม่ใช่การสอนว่า บุคคลนี้เกิดพ.ศ.อะไร มันอาจไม่จำเป็นต้องรู้ ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย เราสามารถรู้ได้โดยคลิกเดียว มันไม่จำเป็นต้องให้เด็กจำแล้วไปสอบแล้ว  

หรือวิชาลูกเสือ ถ้าจะมี ในมุมมองผมคือการพัฒนา leadership ความเป็นผู้นำ อาจทำให้เด็กได้ซอฟต์สกิลอื่นๆ ซึ่งต้องใช้วิธีการแบบใหม่ในการสอน และอาจไม่ใช้คำว่าลูกเสือแล้วก็ได้

มะโหนก: มันอาจจะไม่ใช่การเพิ่ม หรือลดวิชาเรียนลง เพราะหากลักษณะการทำงานของครู หรือตัวชี้วัดของระบบการศึกษายังเป็นแบบเดิม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมว่าการเขย่ากล่องวิชาใหม่ก็คงช่วยได้แน่ๆ แต่ถ้าเขย่ากล่องไปแล้ว ยังวัดด้วยการสอบปรนัย ที่แปลว่าวัดความจำได้ เดี๋ยวก็จะตกที่นั่งเดิม เพราะฉะนั้น วัดอะไรก็จะได้แบบนั้น ต้องทำการบ้านเรื่องการวัด สิ่งนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ที่เราต้องวัดผลแบบนี้ เพราะว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องการจะประกาศให้สังคมโลกทราบเป็นมาตรฐานเดียวกันว่า เด็กไทยได้ หรือไม่ได้อย่างไร และมาตรฐานที่ง่ายที่สุดสำหรับเด็กหลายล้านคนก็คือ มึงจำได้แค่ไหน จะให้ครูไปวัดความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นไปไม่ได้ด้วยอัตรากำลังของครูหลักแสนคน

โลกปัจจุบันไม่ได้เน้นความจำแล้ว เน้นเอาความรู้ไปใช้งานมากกว่า แต่การเปลี่ยนตรงนี้ไม่ง่ายเลย ทางรอดตอนนี้ก็คงต้องเอาความรู้ที่จำเป็นต้องสอนจริงๆ ก่อน ถามตัวเองว่าตอนเรียนอะไรจำเป็นต่อคุณ และถอดสิ่งไม่จำเป็นออกไป

วิชาที่ควรสอนสักที ต้องมีได้แล้ว

เก๋: น่าจะเปิดช่องว่างให้แต่ละโรงเรียนได้ออกแบบร่วมกันตามบริบทของโรงเรียนมากกว่า ว่าอะไรที่จำเป็น ที่ต้องเพิ่มเป็นวิชา แต่ไม่ใช่เป็นแพทเทิร์นเดียวกันว่าต้องมีวิชานี้ทุกโรงเรียน อยากให้เพิ่มเรื่องกระบวนการมากกว่า ส่วนตัวอยากให้มีเรื่องของซอฟต์สกิลเข้าไป แต่มันไม่จำเป็นต้องแยกออกมาเป็นวิชา เพราะมันสอดแทรกในทุกวิชาที่ครูกำลังจัดการเรียนการสอนได้ ฝึกวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน เข้าใจตัวเอง เข้าใจเพื่อนที่นิสัยคนละแบบและอยู่ด้วยกันในโรงเรียน จัดการเพื่อน จัดการอารมณ์ตัวเอง ทำงานกลุ่มได้อย่างมีความสุข วิชาชีวิตสามารถสอดแทรกได้หมด 

เอิร์ธ: วิชาที่อยากให้เพิ่ม เพิ่มวิชาให้กับผอ. กับ ครู ได้ปะ เพราะสมมติเราจัดอิสระให้โรงเรียนมากขึ้นแล้ว แต่ว่ามันยังติดที่การจัดการ หรือวิธีคิดของผอ. หรือครูอีก มันก็จะยังเป็นเหมือนเดิม พอมานั่งนึกย้อนดู งานที่มันอิมแพคต่อตัวเด็กมากที่สุดจริงๆ กลายเป็นว่าคือคลาสเรียนที่ผอ. เปลี่ยนว่ะ คลาสเรียนที่ครูเปลี่ยนว่ะ งั้นขอเป็นวิชาให้กับผอ.ได้ไหม ในการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ เพราะถ้า ผอ. โรงเรียนไม่ได้มีเซ้นส์การจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือการศึกษามันก็ไม่เกิดประโยชน์ คุณต้องรู้เรื่องพื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษาก่อน

ครูเก๋: เด็กที่จบไปแล้ว มักจะมาบอกกับเราว่า สิ่งที่ครูให้กับหนู มากกว่าวิชาเคมี คือเรื่องการเข้าใจตนเอง เก๋รู้สึกว่าวิชาจิตวิทยา เป็นสิ่งที่เด็กควรรู้ ควรเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่นให้ได้มากกว่านี้ วิชาแนะแนวไม่ได้พาไปสู่การที่เด็กเข้าใจตัวเองมากขนาดนั้น เหมือนมีให้แค่ถามว่าจะศึกษาอะไรต่อ 

เราเคยถามว่าเรียนวิทยาศาสตร์ ชอบไหม เขาชอบนะ แต่พอจบออกไป เขาไม่ได้บอกว่าตารางธาตุจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันแต่สิ่งที่เราให้มากกว่าวิชาที่เราสอน คือด้านจิตวิทยา การเข้าใจตนเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำที่เป็นซอฟต์สกิล เด็กจะมาบอกว่า หนูไปทำงาน หนูอยู่กับที่ทำงานได้ เพราะสิ่งที่ครูสอน และเขาพูดคำว่าครูคนอื่นไม่ได้สอน แต่ไม่ใช่ว่าครูคนอื่นไม่รู้เรื่องพวกนี้ แต่เขาไม่ได้ตระหนัก เขาก็วิ่งตามตัวชี้วัดของเขาไป ไม่ได้คิดจะทำเพื่อเด็ก

อยากให้มีวิชานอกกรอบ ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะเราเคยพาเด็กไปทำกิจกรรม เราพบว่าเด็กไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ เพราะกลัวว่าสิ่งที่เขาทำมันจะผิด มันจึงควรมีวิชาที่คิดอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เหมือนให้อำนาจผู้เรียนออกแบบเองว่าอยากเรียนอะไร พอเราคิดวิชา มันจะต้องมีตัวชี้วัด แต่ทีนี้ ถ้าให้เด็กคิดวิชาเขาเอง เขาก็ต้องวัดตัวเขาเอง ถ้าเด็กคนหนึ่งสามารถบอกได้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร แล้วสามารถวัดผลตัวเองได้ บอกได้ว่าความสำเร็จของฉันคืออะไร มันจะมีวิชาใหม่เกิดขึ้นมหาศาล อาจมี 700 ล้านวิชาไปเลยก็ได้ ฉะนั้นการจะให้คนมีอำนาจแค่ไม่กี่คนมาคิดวิชาให้เด็กจึงไม่ดีเท่าให้เด็กได้คิดหรือลองค้นหาเอง

เรื่องสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐาน ควรใส่เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาไหม

มะโหนก: จะเอาอะไรไปสอน ถ้าครูยังไม่รู้เรื่องสิทธิเลย คนที่ละเมิดสิทธิคนอื่นทุกวัน จะไปสอนสิทธิคนอื่นได้อย่างไร คนที่ถูกละเมิดสิทธิบ่อยๆ จะเห็นความสำคัญของสิทธิได้อย่างไร จริงๆ สิทธิเรื่องนี้มันง่ายมากคือให้มนุษย์เรา exercise ว่าฉันมีสิทธิ สมมติเกิดเหตุขัดแย้งบางอย่าง ฉันแกล้งเพื่อน ละเมิดสิทธิเพื่อน ถ้าตอนนั้นครูพามานั่งลงถามว่าคนที่ถูกกระทำว่ารู้สึกยังไง ทำไมรู้สึกไม่แฟร์ เพื่อนคนที่ทำล่ะรู้สึกยังไง แย่ไหม หรือรู้สึกดี และเพื่อนที่เป็นพยานรู้สึกยังไง ผมว่าอันนี้มันคือการสอนสิทธิอย่างแท้จริง ซึ่งต่อให้เด็กท่องไม่ได้ พูดไม่ได้ว่าสิทธิเรียกว่าอะไร แต่เขาจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ว่า อ๋อสิทธิ คือฉัน เธอ และเรามีจุดที่มีความสุขร่วมกัน โดยไม่ควรทำร้ายกัน

เก๋: เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนควรรู้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กยุคปัจจุบัน ที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาไปหาความรู้ของเขาเอง ขณะที่ครูยังไม่มีความรู้เรื่องนี้เท่าเด็กบางคนเลยด้วยซ้ำ อย่างเรื่องทรงผมนักเรียน มันคือสิทธิเนื้อตัวของเด็ก คิดว่ายิ่งประกาศออกมาให้เป็นการจัดการของโรงเรียน ก็ควรเปิดให้นักเรียนเปิดแชร์ความเห็นไปเลยว่าอยากทำแค่ไหน เด็กบางคนไม่รู้ว่าเขามีสิทธิว่าคิดนอกกรอบเดิมได้ การเปิดให้แสดงความเห็น และทำให้เกิดการรับรู้ทั้งโรงเรียนร่วมกันน่าจะดีที่สุด

ครูเก๋: ในฐานะครู วันหนึ่งเราอยากย้อมผม อยากจะลองมีผมสีทอง เราย้อมมา ผู้ใหญ่มองเหมือนเราทำผิดมาก เราก็คุยกับเขาว่า ‘ครูเก๋ผมทองก็สอนได้นะคะ’ โดยที่วัดกันที่ผลงานไหม เขาบอกว่าเดี๋ยวเด็กเรียนแบบ ก็จะกลับไปที่ปัญหาทรงผมนักเรียน ที่เราไม่ควรยุ่งกับทรงผมครูด้วย เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรมี ไม่ใช่ว่าครูควรจะเป็นแบบนี้ เด็กควรจะเป็นแบบนั้น เราอยู่ในมายเซ็ตที่ว่าต้องเป็นอะไรบางอย่างตลอด โดยที่เราไม่ได้ยอมรับความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล 

บางทีครูเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถ้าเด็กทำอะไรไม่ถูกใจปุ๊บ จะใช้อำนาจครอบทันที หยุด อย่าวิ่ง อย่าทำ อย่าพูด อย่าแสดงความคิดเห็นทันที ถ้าเราแสดงให้เห็นว่าครูกับนักเรียนเท่ากัน เราสามารถทำอะไรได้ หรือไม่ได้ในห้องเรียน เช่น ถ้านักเรียนห้ามใส่รองเท้าเข้าห้อง ครูก็ต้องห้ามใส่สิ ทำไมนักเรียนใส่ถุงเท้าจนดำ แต่ครูเดินด้วยรองเท้า เราอยากเห็นภาพนักเรียนที่ไม่ต้องนั่งต่ำกว่า ไม่ต้องไหว้ หรือถูกบังคับให้กราบ อะไรแบบนี้ควรเกิดขึ้น

วัฒนธรรมแปลกๆ ในระบบการศึกษาที่คุณมองว่า “อิหยังวะ”

ยีราฟ: เด็กทำไมต้องมาเข้าแถวก่อนกินข้าว หลังกินข้าว ก่อนเข้าห้อง สวดมนต์ก่อนเข้าห้อง มันดูไม่จำเป็นเลย

เอิร์ธ: เข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า ตากแดด ถ้าฝนตก ตั้งหน้าห้องได้ เพราะเดี๋ยวเด็กเป็นหวัด แต่กลางแดดหน้าเสาธง จริงๆ มันก็ป่วยได้เหมือนกันนะ เช็คอินหน้าห้องง่ายกว่าไหม

มะโหนก: ประชุมผู้ปกครอง คือประชุมน่ะดีแล้ว แต่มักจะอยู่บนแนวคิดว่า พ่อแม่เอาเด็กซึ่งเป็นสิ่งของมาฝากไว้ ครูมีหน้าที่พูดให้ฟังว่า ฉันได้พัฒนาของของเธอมากน้อยแค่ไหน เราว่าแปลก เพราะการเป็นครู เป็นพ่อแม่ มันควรจะเป็นบรรยากาศของการนั่งลง และต้องช่วยกันเรื่องนี้ เด็กคนนั้นต้องนั่งอยู่ด้วย ก็จะวนกลับไปเรื่องสิทธิ ว่าเด็กควรมีสิทธิเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในวงนั้น เป็นวิธีพูดคุยสามฝ่าย

ครูเก๋: ครูที่อายุเยอะแล้วได้เงินเดือนเยอะ แต่งานน้อย เป็นสิ่งที่เรารู้สึกตลก แต่ครูจบใหม่ มีไอเดีย ไฟแรง กลับงานเยอะแต่เงินน้อย มันดูขัดกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นการสร้างคัลเจอร์ที่ทำลาย performance การทำงานของครู มันทำให้ระบบราชการดูไม่ได้งาน มันย้อนแย้ง ทำให้หมดไฟ กูทำงานแทบตาย ได้เงินแค่หมื่นห้า พี่คนนั้น ไม่ได้ทำอะไร ได้ 6 หมื่น มันอิหยังวะ คนเราไม่ได้อิ่มทิพย์ด้วยคำชม เงินมันใช้หล่อเลี้ยงชีวิต และหล่อเลี้ยงไฟในการทำงานด้วย

คิดว่าครูบางคนไม่เข้าถึงนักเรียนเพราะอะไร หรือยังขาดทักษะอะไร

ครูเก๋: ครูที่ไม่น่ารักกับเด็ก จะพูดว่าเด็กมันเป็นอย่างนั้นแหละ เด็กมันดื้อ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ โง่ เรียนรู้ไม่ได้ ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เขาไม่เชื่อว่าคนคนหนึ่งสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ แต่เขามาเป็นครูนะ เหมือนจะทำหน้าที่ด้วยการสอนไปเฉยๆ และไม่ได้ ทำความเข้าใจว่านัดเรียนเก่งเรื่องนี้ ไม่เก่งเรื่องนี้มันเกิดจากอะไร ซึ่งความคิดแบบนี้มีปัญหา

ย้อนกลับไปเราว่าครูนี่แหละควรเรียนจิตวิทยาเพิ่มก่อนเด็ก การทำความเข้าใจมนุษย์ ทุกคนทำหล่นหายไปตรงไหน เรารู้สึกว่าครูต้องเริ่มที่จากสิ่งนี้ก่อนจะไปสอนเด็ก ครูไทยตอนนี้ยึดอำนาจว่าฉันเป็นครู เธอเป็นนักเรียน ไม่ได้ลดตัวเองลงมาทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันว่าเขามีปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า เช่น ครูทะเลาะกับคนที่บ้านมาหงุดหงิดกับนักเรียนได้ แต่นักเรียนเบื่อ เซ็ง โดดเรียน นักเรียนผิดมาก ทำไมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาโดดเรียน มีปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า อย่างตัวเราเอง เราจะสังเกตว่ามีอะไรผิดแปลกไป ในสายตาที่เรามองเด็กสามสิบคนที่มองเห็นได้ เขาเศร้า เราก็ไปพูดคุย ทุกอย่างมันก็เผยออกมาว่าที่บ้านมีปัญหา เขาไม่ได้อยากให้เราแก้ แต่เรารับฟัง เขาก็รู้สึกดีขึ้นมา และพร้อมเรียนกับเรา

มะโหนก: เหตุผลมันเกิดจากการทับซ้อน เพราะครูไทยก็ไม่เคยมีใครเข้าถึงเขา ครูของครูก็ไม่เข้าใจเขาตอนเป็นนักเรียน มันกลับไปที่ระบบนี้ไม่มีความเข้าใจความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น บวกกับพ่อแม่ยุคหนึ่งก็ไม่ทรีตเด็กด้วยความเข้าใจ ครูไม่เข้าถึงเด็กเพราะตอนนั้นก็ไม่เห็นมีใครช่วยกูเลย ครูของครูก็บอกให้ฉันกดทับสิ่งนี้ไว้ ทุกอย่างมันเลยต้องคาราคาซังมาถึงปัจจุบัน 

เอิร์ธ: ผมว่ามันซับซ้อน empathy ก็ส่วนหนึ่ง และมันขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดด้วยนะ เพราะมันเป็นการทำงานกับคน ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานกับคนได้ แต่ฝึกได้ วัฒนธรรมองค์กร ที่เราสวมหมวกนี้ปุ๊บ เราจะสกรีนความเป็นคนออกไป มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ เรื่อง parents education ก็สำคัญ ไม่ใช่แค่เชิงจิตวิทยา แต่เกี่ยวกับการเลี้ยงดู ที่ต้องทำงานร่วมกับเด็ก ฟีลลิ่งของครูจึงไม่ใช่ทำไม่เป็น แต่ผู้ใหญ่กับเด็กมีความกลัวอยู่ในนั้น ครูบางคนกลัวเด็กเฮ้วๆ ไม่รู้วิธีการรับมือ หรือเวลาเด็กร้องไห้ เด็กตะโกน ก็ไม่รู้จะทำยังไงดี

แสดงว่าการเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องเรียน คุณถึงออกมาขับเคลื่อนกันนอกระบบ

ครูเก๋: ใช่ค่ะ หลายอย่างที่เราตื่นรู้ เราอยากใส่ลงไปในห้องเรียน แต่ด้วยกรอบห้องเรียนมันทำไม่ได้ เราเลยออกมาทำข้างนอก พาเด็กออกมาทำกิจกรรมข้างนอก พาลงชุมชน ทำแค่วันสองวัน เขาเปลี่ยนไปมากกว่าเราสอนเขาในห้องเรียนสามปีอีก เราเห็นเลยว่าเด็กคนหนึ่งแค่พาไปเจออะไรบางอย่างมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เขาโดยไม่ต้องพูดอะไรเยอะ มันกลับมาที่คำว่า ‘ไม่ทัน’ หรือ ‘สายไป’ ถ้าเด็กคนนึงเขาหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็ก เขาจะเป็นมนุษย์มหัศจรรย์แค่ไหน ทำไมต้องเอาเขามายัดหรือใส่กรอบอะไรไว้

เก๋: ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะเข้ามาอยู่ในระบบ ตั้งแต่เริ่มต้นเลย Why I Why ไม่ได้จับเด็กมัธยมเยอะ แต่ลุยเด็กมหาวิทยาลัย คิดว่ามันเข้าถึงง่ายกว่า เจาะง่ายกว่า แต่สุดท้ายแล้ว มันไม่ทัน เพราะเด็กที่เราเจอ มันต้องลงมาทำตั้งแต่เล็กๆ ทำข้างนอกมันจะได้แค่ประมาณหนึ่งแหละ เท่าที่กำลังเราไหว แม้เราจะช่วยกันทำ มันจะไม่อิมแพคเยอะ เราต้องหาอีกขาหนึ่งเข้ามาเจาะ และทำในระบบอยู่ดี แต่จะเอาท่าไหนที่เราทำได้ก็เป็นอีกเรื่อง

มะโหนก: เราสนใจทำนอกระบบเพราะในระบบมันเป็นพื้นที่ที่ไม่สะดวกต่อการเรียนรู้ เอาภาษาคนคือไม่ปล่อยให้พลาดเลย ห้องเรียนไทยไม่ยอมรับความผิดพลาดของนักเรียน และต่อมาคือไม่ยอมรับความผิดพลาดของครูด้วย ครูก็เลยกดทับ ด่าเด็ก เพราะฉันก็โดนด่ามาเหมือนกัน เด็กจะโตในพื้นที่แบบนี้ยากมาก มนุษย์เราเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่งั้นจะไม่เติบโตเลย

เมื่อโรงเรียนไม่ปล่อยให้พลาดเลย ครูเลยเข้าไม่ถึงเด็ก เพราะทักษะการเข้าถึงคน บางทีก็ต้องพลาดบ่อยๆ เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหา ผลักเขาไปเหมือนกันว่าครูต้องเพอร์เฟค เด็กในมือต้องดี เพราะมึงทำไม่ดี พวกกูเลยมาทำงานนี้ จนโตมา ก็ตระหนักได้ว่าบางวันเราก็มีวันที่แย่ วันที่ดี คิดว่าเป็นเพราะฟีลลิ่งแบบนี้ และภาคประชาชนในยุคใหม่ๆ ประชาชนร่วมมือกันมากขึ้น เริ่มกลับมาเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น การแก้ไขปัญหามันก็มองเห็นได้ดีขึ้น

ยีราฟ: โรงเรียนมันคือสถานที่ แต่มันคือตัวจัดการศึกษาในโรงเรียนมากกว่า เราจึงมองเรื่องการพัฒนาเด็กเป็นหัวใจหลัก Saturday School เลือกใช้โรงเรียนเป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ เพราะมีอุปกรณ์พร้อม ห้องเรียนก็จัดการเรียนรู้ได้ เรื่อง cost มีความสะดวก และมีครูคอยดูแลเด็ก ครูที่อยากให้เด็กดีขึ้นก็มีไม่น้อยเลย แต่พอทำในโรงเรียนก็จะพบคัลเจอร์ช็อกบางอย่าง เช่น เรามาสอนเด็กเต้น เด็กอยากเรียนเต้น เต้นพลาดอะไรบ้างไม่เป็นไร แต่มีเหตุการณ์ที่ครูในโรงเรียนพยายามดุเด็ก ให้เด็กต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ บรรยากาศเลยเปลี่ยนเป็นอย่างหนึ่ง 

อีกเคส มีเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เราให้เด็กได้แสดงละครกัน เด็กคิดมาอย่างดี ก่อนจะแสดง ครูมาเปลี่ยนบท พยายามคอนโทรลให้ออกมาดูดี แต่เด็กไม่ได้แฮปปี้เลย ก็เลยรู้สึกว่ามันอยู่ที่ผู้ให้การเรียนรู้ว่าจะมองเด็กเป็นแบบไหน

เชื่อในคำที่ว่า “การศึกษาไทย ผลักภาระให้เด็ก” ไหม

มะโหนก: เราว่าเป็นที่สังคม ถ้าคาดหวังว่าเด็กที่ดีเท่ากับจบมหาวิทยาลัยชั้นนำ คุณก็กำลังผลักภาระให้เด็กคนหนึ่งต้องต่อสู้ตามสายพาน ไม่ได้บอกว่าเข้ามหาวิทยาลัยไม่ดี แต่การเข้ามหาวิทยาลัยมีคุณค่าชุดหนึ่งที่เด็กที่ไม่ได้เรียน ทำงานเซเว่น หรือเรียนโฮมสคูล จะมีคุณค่าอีกชุด 

เมื่อสังคมเรียกร้องว่าเด็กที่มีคุณภาพ เท่ากับ มีการรับรองเมื่อไหร่ แปลว่าตั้งแต่บรรทัดนี้ ทุกคนต้องวิ่งแข่ง และใช้ทรัพยากรที่เข้าถึงได้ทั้งหมด จนถึงเหยียบหัวกัน ถ้าหาผู้ร้าย มันก็คือสังคมเราเนี่ยแหละ ที่ยังคิดแบบนั้นอยู่ 

เอิรธ: ระบบการศึกษาผลักภาระให้กับทุกคน แต่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ แต่คนที่ทำหน้าที่ อย่างรัฐที่ควรทำ มันดันทำหน้าที่ไม่ดี หรือไม่รู้ตัวว่าฉันควรจะต้องทำยังไงวะ ถ้าเด็กออกไป ไม่ได้วุฒิ ค่าแรงมันอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วใครกำหนด มันถูกกดค่าแรงกันมา เด็กไปทำงานทั้งที่เรียนไม่จบ แต่สังคมไม่มีใครให้เขาทำ ไม่จ้างเขาทั้งที่เขาสามารถทำได้ นี่สิปัญหา

ครูเก๋: พอคนคนหนึ่งจะมีที่ยืนในสังคมได้ ต้องจบมหาวิทยาลัย มีใบประกาศ คนเป็นร้อยล้านคน จะให้ทุกคนได้มงนั้น ใบนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนต้องต่อสู้เอง มันคือการผลักภาระ ตัวเราเองก็รับภาระและวิ่งเต้นมาเหมือนกัน มีเรื่องหนึ่งที่เคยทำเราร้องไห้ออกมา คือระบบบอกว่าเด็กเรียนฟรี แต่เวลามีประชุมผู้ปกครอง เราไม่ได้พูดเรื่องการช่วยเหลือนักเรียนมากเท่าการพยายามที่จะเก็บเงินค่าเทอมเด็ก แล้วเด็กที่ไม่มีเงิน แต่อยากเรียนเพื่อเอาวุฒิไปต่อล่ะ จะทำยังไงดี เขาไม่สามารถทำงานได้เลยเพราะต้องได้วุฒิสูง งานดี เงินดี ต่อให้สกิลที่มีเยอะกว่าคนอื่นก็ตาม แต่ของที่เขามีไม่สามารถไปทำงานได้ หรือถ้าเขาไม่ชอบวิชาการ อยากเรียนสายอาชีพล่ะ ก็ไม่ได้อีก เพราะพ่อแม่ยังมองว่าจบแบบนี้มันโปรไฟล์ดีกว่า นี่คือมายาคติที่สังคมเลือกให้เดินตาม และผลักภาระให้เด็ก

เก๋: ครอบครัวก็ผลักภาระให้ลูกหลานตัวเองเช่นกัน อย่างตระกูลหมอ ตระกูลทนายความ ก็บังคับลูกให้เป็นหมอ แบกรับความคาดหวัง ดังนั้นภาระอาจไม่ใช่แค่เม็ดเงิน แต่มันคือความคาดหวังที่เด็กไม่มีสิทธิเลือก

สุดท้ายนี้ ถ้า Edupreneur ได้เป็นรัฐมนตรีศึกษา 1 สมัย จะทำอะไร 

มะโหนก: ใช้เวลาที่โรงเรียนกับที่บ้านเด็กให้มากกว่านี้ ประมาณ 5 เท่า เพราะจะได้ไม่ออกโซลูชั่นที่ใช้ไม่ได้ คนเป็นรัฐมนตรีต้องมองอนาคต เด็กจะรอดไหม โลกเปลี่ยนไป แต่ถ้าไม่เริ่มที่ความเข้าใจก็อย่าเริ่มเลย ยังไม่ต้องทำ เริ่มที่การเลิกทำก่อนก็ได้

เอิร์ธ: ทำใจ งานต้องใหญ่แน่ๆ แต่อาจจะต้องทำสองเรื่อง ทำงานกับผอ. ในฐานะผู้นำโรงเรียน สอง หนีไม่พ้น เรื่องงบ เพื่อจัดการให้โรงเรียนเป็นสภาพแวเล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้จริงๆ ทั้งอาหารเด็ก ที่มันควรจะต้องกินสมบูรณ์ หรือสวัสดิการครู ที่ต้องอยู่ดีกินดี 

ยีราฟ: ลดขนาดตัวเองลง educate ตัวเอง และเปลี่ยนคัลเจอร์ เพราะคัลเจอร์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนในกระทรวงปรับตัวเอง นำพาให้ข้าราชการสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากกว่านี้ พัฒนาตัวเองมากกว่านี้ จะมีอะไรดีๆ มากขึ้น ลดกรอบบางอย่างที่เป็นระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อปลดล็อกอะไรบางอย่าง

เก๋: ถ้ายังไม่พร้อม ก็กระจายออกให้คนที่มีความรู้ทำก็ได้

ครูเก๋: อยากให้ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยไม่ไปกระทบคนอื่น บางทีรัฐมนตรีหรือใครล้วนทำงานเพราะทำตามความคาดหวังสิ่งที่ตัวเองอยากให้เกิด โดยไม่ไปถามคนอื่นว่าเขาต้องการไหม รู้สึกว่าเข้าไปปุ๊บ หยุดทำก่อน อย่าเพิ่งคิด คาดหวัง หรือทำอะไร และมองไปที่ทุกคนให้เขาได้บอกความคาดหวังของเขา เป้าหมายคือเคารพผลประโยชน์ของทุกคนที่จะได้ มันคือความยุติธรรม 

มะโหนก: สุดท้ายตอนนี้เราไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เราเป็นแค่ทีมที่พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น เราอยู่ในยุคที่เห็นแล้วว่า การเรียนรู้ของมนุษย์กว้างเกินไปที่จะอยู่ในมือ หรือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เราด่าเขา เขารู้ แต่เขาแค่แก้ไข หรือจัดการไม่ได้ ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ แล้วสนใจ มีโอกาสก็มารู้จักกัน 

เก๋: การรวมกลุ่ม องค์กร มันจะดี ถ้าร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน พวกเราพร้อมในการปักธงในอนาคต และต้องการกำลังพลคนอื่นๆ มาร่วมกับเราด้วย ประเด็นการศึกษามันมหาศาล ครอบจักรวาล กลุ่มเราจะเป็นกำลังสำคัญและมีพลังมากพอที่จะเคลื่อนการศึกษาไทยไปข้างหน้า

ยีราฟ: การศึกษาทำคนเดียวไม่ไหว เด็กหลายล้านคน เราต้องรวมตัวกัน ในการขับเคลื่อนหลายอย่าง แก๊งเราเป็นตัวช่วยผลักดันในอนาคต เลือกตั้งเสร็จ ถ้าเจาให้เราไปช่วย เราก็ควรพร้อมในตอนนั้นเลย นี่คือทิศทางของเรา


Writer

Avatar photo

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts