ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กับภารกิจลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในขวบปีที่ 6 และรางวัล Equity Award เชิดชูคนทำงาน

คนที่ติดตามวงการการศึกษามานานก็น่าจะรู้ว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. คือหน่วยงานที่ทำงานลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขามีโปรเจกต์ใหญ่อย่าง ‘ทุนเสมอภาค’ ที่มอบให้กับเด็กๆ ที่ยากจน ทำให้เด็กๆ ที่ไม่แม้แต่จะเดินทางออกจากบ้านได้เพราะยากจนได้ไปโรงเรียน และในโอกาสพิเศษ กสศ. ก็กระโดดไปร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโปรเจกต์มากมาย

ในปีที่ 6 ของการทำงาน กสศ. ยังคงขับเคลื่อนภารกิจของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่อยู่กับ กสศ. มาตั้งแต่ day 1 อัปเดตกับเราว่าจากที่เด็กๆ ยากจนน้อยคนมากจะเข้าถึงเงินทุน วันนี้ กสศ. สามารถมอบทุนให้เด็กกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี แถมขยับจากตัวเลข 1,600 บาทในปีแรกจนได้ 4,200 ในปี 2569 นี้ และ กสศ. ยังเป็นสะพานเชื่อมให้กับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในการเข้าถึงข้อมูลของเด็กๆ เหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือกันต่อไป

แต่เคล็ดลับความสำเร็จของ กสศ. ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การทำงานอย่างแข็งขันของคนในกองทุนฯ เท่านั้น แต่ ดร. ไกรยศย้ำกว่ามาจาก ‘ภาคีเครือข่าย’ อันแข็งแรงของพวกเขา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งรางวัล Equity Award รางวัลที่จะเชิดชูเกียรติยศของบุคลากรทางการศึกษาและสถานศึกษาที่ทำผลงานเข้าตา เพื่อให้พวกเขามีแรงจูงใจ และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อเด็กๆ ให้กับคนอื่นต่อไป

จุดยืนของ กสศ. ตอนนี้อยู่ที่ตรงไหน และอะไรทำให้พวกเขาอยากทำรางวัล Equity Award ขึ้นมา บรรทัดต่อไปมีคำตอบ

ในฐานะผู้จัดการที่ทำงานกับกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษามาตั้งแต่ต้น คุณมองเห็นการเติบโตของ กสศ. อย่างไรบ้าง

กสศ. เติบโตควบคู่ไปกับการเติบโตของความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อทั้งเด็กเยาวชน ครู และโรงเรียน

เริ่มจากเรื่องของเด็ก แต่เดิมก่อนที่จะมี กสศ. งบประมาณด้านการศึกษามีเพียงแค่ 0.5% ถูกจัดสรรไปให้เด็กที่ยากจนและด้อยโอกาส ซึ่งเท่ากับ 2,500 ล้านบาทจาก 500,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากจริงๆ  และเราไม่ได้มีการคัดกรองความยากจนที่มีงานวิจัยเป็นฐาน ส่วนใหญ่คือให้ครอบครัวแจ้งมาเองว่าจนหรือไม่จน มีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งทุกคนก็ต้องบอกว่าจนอยู่แล้ว มันเลยคัดกรองไม่ได้

จนถึงวันนี้ กสศ. ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงต่างๆ เราเริ่มจากการขอให้รัฐบาลลองพิจารณาดูว่า หากเราสามารถคัดกรองความยากจนได้จริงๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยรองรับ และมีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มงบประมาณให้กับเด็กที่ยากจนเหล่านี้หรือเปล่า ซึ่งรัฐบาลก็ยินดี เราเริ่มจากการให้เงินทุนเสมอภาค 1,600 บาทต่อปีสำหรับเด็กยากจนพิเศษ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าหารตามจำนวนวันที่ไปโรงเรียนก็ตกแค่วันละ 8 บาท

หลังจากนั้น เราเริ่มทำงานกับการคัดกรองความยากจนเพิ่ม โดยการชวนครูไปเยี่ยมบ้านเด็ก ถ่ายสภาพบ้าน ทรัพยากร การถือครองทรัพย์สินของเขา ตอนนั้นมีหน่วยงานอีก 3-4 แห่งมาทำงานร่วมกันกับเรา ทำให้เราได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า 30,000 โรงเรียน  พอเรามีข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็พร้อมที่จะอธิบายกับรัฐไปอีกขั้นว่าเราคัดกรองความยากจนได้แล้ว จากงบประมาณ 1,600 บาทต่อปี เราก็เสนอให้ขยับเป็น 3,000 บาท ค่อนข้างลุ้นกันพอสมควร แต่รัฐบาลก็เชื่อว่าข้อมูลที่ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดได้คัดเลือก คุณครูได้ลงแรง มีความเชื่อมั่นได้และมีน้ำหนักเพียงพอ รัฐบาลเลยพิจารณาปรับให้เป็น 3,000 บาทในปี 2563 

เมื่องบประมาณเพิ่มขึ้น ทำให้เรามีโอกาสขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัด กทม. โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียน ตชด. ฯลฯ ครอบคลุมได้ถึง 6 สังกัดหรือกว่า 90% ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด พอมีทุนเสมอภาค เด็กไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเดินทาง เรื่องจะไม่ได้ทานอาหารเช้า หรือกังวลว่าจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะหลายๆ ฝ่ายก็ให้การสนับสนุน เพื่อให้มีทรัพยากรให้พวกเขาได้รับอย่างเพียงพอ

ทุกวันนี้เรามีครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศทำงานในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการทำงานโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เราอยากจุดประกายให้ระบบการศึกษา โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ลุกขึ้นมาดูแลสนับสนุนเด็กเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน นอกเหนือจากเราจะใช้งบประมาณแผ่นดินแล้ว เรามีการแชร์ข้อมูลที่มีไประดมทรัพยากรจากภาคเอกชน โดยให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ซึ่งเราสามารถระดมทุนได้ไม่น้อยกว่าปีละ 100-200 ล้านบาท 

ช่วงโควิด-19 ก็เป็นด่านสำคัญที่เราเห็นว่าค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าเงินที่ดูแลเด็กเหล่านี้ปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ไหม จึงเสนอในปี พ.ศ.2566 ถึงอัตราค่าครองชีพที่สอดคล้องกับความเป็นจริง สำนักงบประมาณพิจารณาและตอบรับให้เราขึ้นอันตราทุนเสมอภาพเป็นขั้นบันได ทำให้เราขยับไป 4,200 บาทได้ในปี 2569

จากการทำงานกับความเหลื่อมล้ำมา 6 ปี คุณคิดว่าอะไรคือประเด็นสำคัญที่สังคมควรตระหนักรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ

บางคนคิดว่าให้เงินจะแก้ปัญหาอะไรได้ แต่ส่วนใหญ่คนที่คิดแบบนั้นมักจะมีเงินใช้เพียงพออยู่แล้ว เขาไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีเงินและเป็นหนี้เยอะ จะไม่เข้าใจว่าเงิน 3,000-4,000 ก็มีความหมายมากๆ กับเด็กและครอบครัว

บางคนบอกว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำแก้ไม่ได้ด้วยการให้เงิน อันนี้เราเห็นด้วย แต่ถ้ามันไม่มีจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีข้าวกิน มีค่าเดินทางไปโรงเรียนได้ สุดท้ายเด็กบางคนจะไปไม่ถึงโรงเรียน แล้วเขาก็จะทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษา มันเป็นสาเหตุที่เราต้องสื่อสารให้คนได้เข้าใจว่าเงินที่เราจัดสรรไป มันคือองคายพยที่เข้าไปดูแลเด็ก และเมื่อเราได้ข้อมูลมากพอว่าเด็กคนไหนยากจน เราก็ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ให้เขาได้มีโอกาสจัดสรรสวัสดิการให้แก่เด็กเหล่านี้ได้ นี่คือรากฐานที่เราจำเป็นที่จะทำให้สังคมเข้าใจ อีกอย่างคือบางที ภาคเอกชนเขายังไม่แน่ใจว่าจะเข้ามาช่วยเด็กยังไง เราก็พยายามดึงให้ภาคเอกชนได้ลงพื้นที่ไปกับเรา ให้เขาได้เห็น ฟัง และเข้าใจว่าสามารถมีบทบาทยังไง นี่เป็นความท้าทายหนึ่งที่เราทำมาได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จากการเก็บข้อมูลของเด็กๆ กสศ. พบว่าเด็กๆ มีปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรง เด็กบางคนเป็นเด็กกำพร้าอยู่กับผู้สูงอายุ ถ้าเขาไม่มีคือไม่มีเลย น้ำไฟก็โดนตัด เด็กไม่สามารถอ่านหนังสือหรือทำอะไรได้เลย เด็กแบบนั้นต้องรีบช่วยเขาด้านการเงินโดยเร็ว เพราะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด นอกจากนี้ยังมีเด็กที่ถูกใช้แรงงานหรือถูกครอบครัวกดดันให้ออกมาทำงานค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เราต้องให้สังคมช่วยกันสร้างความยืดหยุ่นให้กับครัวเรือนเหล่านี้ โดยการที่ครูไม่ต้องกดดันเรื่องการลาไปทำงานของเด็ก และอาจจัดการสอนเสริม หรือให้โอกาสเด็กได้ทำงานช่วงเสาร์อาทิตย์หรือปิดภาคเรียน เพื่อให้เขาผ่านช่วงนี้ไปได้ เพราะถ้าครูไม่เข้าใจอาจทำให้เด็กเครียดและหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ ฉะนั้นการแก้ปัญหา ควรแก้ด้วยการเข้าใจความหลากหลายตรงนี้ของเด็ก

แล้วในระยะยาว สังคมจะช่วยกันแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน จนเราเรียกว่าความยากจนข้ามรุ่น มันไม่มีอะไรไปตัดวงจรได้ดีกว่าการศึกษาที่เสมอภาค ถ้าพ่อแม่ยากจนแล้วลูกเรียนจบ ป.ตรีได้ ไปสอบบรรจุข้าราชการ เขาก็มีงานที่มีสวัสดิการและประกันสังคม การศึกษาที่เสมอภาคจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ เป็นสะพานที่จะพาให้เขาออกมาจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น แล้วถ้าทำได้ถ้วนหน้า ประเทศเราก็จะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้เช่นกัน 

จริงๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนรวยเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่คนจนก็ยังมีจำนวนมาก ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนจนออกจากวังวนความยากจนในรุ่นเขาได้ มันก็ทำให้เราพัฒนาประเทศต่อไปไม่ได้ ยิ่งในระยะยาวเราเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เด็กเกิดน้อยมาก แต่ผู้สูงอายุที่รอรับสวัสดิการมีมากขึ้นเรื่อยๆ มันไม่มีทางที่ประเทศไทยจะหาเงินพอใช้ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกันตั้งแต่วันนี้ 

จนถึงตอนนี้ สิ่งที่ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัด รวมถึงครูทั่วประเทศได้ทำงานร่วมกันแล้วเกิดความสำเร็จมีอะไรบ้าง และปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้นคืออะไร

ทุนเสมอภาคถือเป็นสิ่งที่ทำแล้วสำเร็จ เพราะแต่ก่อนไม่เคยมีทรัพยากรให้กับเด็กที่ยากจนเลย รวมถึงความพยายามในการคัดกรองความยากจนก็ไม่มีเลย พอเราทำตรงนี้ มีเด็กล้านกว่าคนได้ถูกมองเห็นและเข้าถึงทรัพยากร ถูกสนับสนุนส่งต่อไปยังโอกาสที่ดีกว่าเดิม มีเด็กหลายคนไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา และได้ไปศึกษาต่อในระดับสูงเพราะทุนนี้ นี่คือความก้าวหน้าที่สำคัญในการเข้าถึงและดูแล

ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือความร่วมมือของโรงเรียนและครู พวกเขาใส่ใจกับการทำข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ทันเวลา และทำมากกว่าที่เราขอให้ทำอีก เพราะถ้าครูเขารู้ว่าเด็กคนหนึ่งมีปัญหาอะไร เขาสามารถดึงทรัพยากรจากคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาในพื้นที่มาช่วยดูแลเด็กเหล่านี้ก่อนได้ เช่น บางบ้านขาดเรื่องอาหาร โรงเรียนที่มีโรงครัวทำอาหาร เขาก็นำอาหารที่เหลือตอนมื้อกลางวันใส่ถุงกลับไปให้ครอบครัวของเด็กด้วย นี่คือตัวอย่างของการที่ทุกคนพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน และทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความยั่งยืน

ปีนี้เป็นปีแรกที่ กสศ. ตั้งรางวัล Equity Award ขึ้นมา ความตั้งใจในการทำรางวัลนี้คืออะไร

อย่างที่บอกว่า ภายใน 6-7 ปี เราสามารถมอบทุนให้เด็กๆ กว่าล้านคน ทำให้พวกเขาได้รับการค้นพบและสนับสนุน โดยคนรอบข้างที่ต้องการจะส่งเสริม มันเลยเป็นที่มาว่า เราต้องมีโอกาสเชิดชูและชื่นชมโรงเรียนดีๆ ในเขตพื้นที่การศึกษาดีๆ ที่ให้โอกาสแก่เด็กให้เขาได้รับทุน

มันจึงกลายเป็น Equity Award คือรางวัลที่บอกว่างานเหล่านี้เป็นงานที่ทุกคนควรได้เครดิต ทุกคนควรจะได้ภาคภูมิใจ แล้ววงจรในการสนับสนุนกันจะย้อนกลับไปสู่ตัวเด็ก เราไม่ได้มองว่าเงินอย่างเดียวจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่เรามองว่าด้วยทรัพยากร คนที่อยู่รอบตัวเด็กจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืน เด็กจะได้รับการดูแลมากกว่าเรื่องความยากจน แต่ทุกๆ เรื่องที่่เขาจำเป็น

กสศ. เราไม่รู้หรอกว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเรามีการเชิดชูคนรอบตัวเขา เราเชื่อว่าคนเหล่านั้นก็จะใส่ใจ ตั้งใจ และดูแลเด็กเหล่านั้นเหมือนลูกของตัวเอง

โรงเรียนแบบไหนที่ กสศ. จะให้รางวัล Equity Award 

โรงเรียนไหนที่ทำข้อมูลได้ดี ทันเวลา และดูเวลาเด็กได้อย่างมีนวัตกรรม โรงเรียนเหล่านี้ก็พึงจะต้องได้รับการรู้จัก โรงเรียนอื่นๆ เขาจะได้มีแรงจูงใจในการทำงานลักษณะเดียวกันด้วย เขาจะได้เห็นว่าปีต่อๆ ไป เขาจะสามารถทุ่มเทเพื่อเด็กเยาวชนเหล่านี้ได้เช่นกัน 

เพราะทุกวันนี้งานในระบบการศึกษามีเยอะมาก โรงเรียนมีเยอะมาก ทำให้เรื่องความเหลื่อมล้ำและความเสมอภาคในการศึกษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับรองๆ ไป บางคนอาจคิดว่าทำได้ดีก็ไม่มีใครเห็นหรือยอมรับ เราจึงอยากสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลนี้ งานสร้างความเสมอภาคก็จะกลายเป็นงานที่จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญที่มากขึ้น

คุณมองอนาคตของรางวัลนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าอย่างไร

เป็นรางวัลที่ทุกๆ โรงเรียนให้ทุกๆ สังกัดได้รับและมีส่วนร่วม อยากเห็นว่าโรงเรียนที่ได้รางวัลแล้วก็ยังคงเดินหน้าทำสิ่งดีๆ ออกมาได้เรื่อยๆ ส่วนโรงเรียนที่ได้เห็นข่าวรางวัลนี้ เขาก็จะได้แรงบันดาลเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้กับเด็กมากขึ้น ประชาชนคนไทยที่เห็นว่าโรงเรียนทำได้ดี เขาก็จะอยากสนับสนุนต่อไป นี่เป็นความตั้งใจที่เราอยากเห็น

เป้าหมายของ กสศ. ในวันนี้ มุ่งไปในทิศทางไหน

เหมือนกับโลโก้ของ กสศ. ที่เป็นรูปผีเสื้อ 

ผีเสื้อคือตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และมันมีความเป็นสัญลักษณ์อนันต์ หมายถึงเราอยากเห็นการมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคการศึกษาของทุกคนในระยะยาว ไม่ใช่กิจที่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือ CSR ของเอกชนในระยะสั้น เราอยากเห็นทุกคนทุ่มเทกับเป้าหมายร่วมกันว่าอยากเห็นความยากจนหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งแก้ได้ด้วยการศึกษาที่เสมอภาค

เราอยากเห็นเด็กไทยที่เกิดน้อยลงในทุกปีเขามีโอกาสที่ดีที่จะตามฝันของตัวเอง มีความสามารถ และได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง อยากเห็นการทำงานของทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน ภาคการเมือง ภาคนโยบาย และภาคเอกชน เราก็จะเดินหน้าทำให้เกิดขึ้นต่อไป


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts