เปิดสมองประลอง EF ส่องทักษะฝึกสมอง 9 ข้อที่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนควรฝึก

EF หรือ Executive Funtion คือโครงสร้างสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ การกระทำ และความคิดของคนหนึ่งคนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ผู้ปกครองหลายคนเชื่อว่า EF สำคัญไม่แพ้ IQ หรือ EQ หากฝึกสมองส่วนหน้าของเด็กๆ เป็นประจำ จะทำให้สมองและจิตใจของลูกหลานแข็งแรง พร้อมเติบโตขึ้นมารับมือกับโลกที่ผันผวนทุกวันอย่างไม่เกรงกลัว

ทักษะพัฒนา EF สามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่เกิด ซึ่งอ้างอิงตามการหลักการของ ‘ครูหม่อม-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร’ เราสามารถแบ่งทักษะพัฒนา EF ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มทักษะพื้นฐาน เป็นกลุ่มทักษะที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ แก้ปัญหาได้เก่ง มากกว่านั้นยังเป็นพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 

  • การจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) หมายถึงข้อมูลความทรงจำที่ถูกดึงมาประมวลผล เช่น เมื่อถูกถามว่าตอนเช้าทานข้าวกับอะไร สมองของเราก็จะนึกคิดถึงข้อมูลเกี่ยวกับมื้อเช้าขึ้นมาเพื่อตอบคำถาม ความทรงจำเพื่อใช้งานเริ่มทำงานได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน แต่จะแข็งแกร่งจนทำงานได้อย่างเชี่ยวชาญในช่วงวัย 2 ขวบเป็นต้นไป นั่นคือเหตุผลว่าเราจำอะไรก่อนอายุ 2 ขวบไม่ค่อยได้เท่าไหร่
    Working Memory ยังนำไปประยุกต์ใช้การกำกับความคิดและอารมณ์ เช่น ในสถานการณ์ที่เราเริ่มโกรธ สมองก็จะกลับไปค้นความทรงจำเพื่อใช้งานเพื่อหาข้อมูลว่าโกรธแล้วทำยังไงได้ต่อ เพื่อให้เราสามารถตอบสนองต่อความรู้สึกได้ต่อไป
  • การยับยั้งชั่งใจ (Inhibit) คือความสามารถในการหยุดอารมณ์ ความคิด และการกระทำในเวลาที่เหมาะสม ทักษะนี้สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานของสมาธิ ความอดทน ศีลธรรม และสุขภาพจิตที่ดี เช่น การอยากได้ของสิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราก็สามารถหยุดตัวเองไม่ใช่หยิบ หรืออาการขี้ระแวงว่าพ่อแม่จะไปรักเด็กคนอื่นมากกว่า หากเด็กมีการยับยั้งชั่งใจ เขาก็จะสามารถรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ที่เขาคิดไปเอง และหยุดความคิดนั้นได้
  • การยืดหยุ่นความคิด (Mental Flexibility) หรือการสับเปลี่ยนความคิด (Shifting) คือความสามารถในการเปลี่ยนความคิดไม่ให้ถลำลึก เช่น เมื่อรู้ตัวว่าเศร้าแล้วอยากหยุดตัวเองได้ ก็สามารถจดจ่อกับสิ่งอื่นแทนได้เพื่อที่จะเลิกเศร้า การยืดหยุ่นความคิดเป็นพื้นฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ต่างๆ 

2. กลุ่มทักษะกำกับตนเอง ส่งเสริมให้ควบคุมอารมณ์ได้เก่ง ประกอบด้วย

  • การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) สามารถจัดการอารมณ์ และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเชื่อมโยงกับทักษะพื้นฐานในกลุ่มแรก เพราะก่อนที่จะจัดการอารมณ์ได้ เด็กจำเป็นต้องดึงความทรงจำเดิมมาใช้เพื่อจะได้รู้ว่าต้องจัดการอย่างไร
  • การจดจ่อใส่ใจ (Focus Attention) คือความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานในระยะเวลาหนึ่ง ทักษะนี้จะแข็งแกร่งได้นั้นขึ้นอยู่กับอายุและการฝึกฝน และแน่นอนว่าต้องอาศัยทักษะพื้นฐาน เช่น การนั่งเรียนในห้องเรียนแล้วเห็นเพื่อนเตะบอลอยู่ด้านนอก เด็กจำเป็นต้องใช้การยับยั้งชั่งใจเพื่อจะไม่ไปร่วมเตะบอลกับเพื่อน แล้วค่อยกลับมาจดจ่อใส่ใจกับการเรียนต่อ
  • การคิดทบทวนตัวเอง (Self-Monitoring) คือการรู้ตัวว่ากำลังคิด รู้สึกอย่างไร  และการทบทวนตัวเองเพื่อให้รู้ตัวอยู่เสมอ

3. กลุ่มทักษะปฏิบัติ ส่งเสริมให้ลงมือทำได้เก่ง ประกอบด้วย

  • การริเริ่มลงมือทำ (Initiating Task) มีความกล้าในการลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่ใช่แค่วางแผนเก่งแต่โอ้เอ้ ไม่ยอมลงมือทำสักที การริเริ่มลงมือทำอาจไม่ได้ครอบคลุมแค่การทำงานหรือการเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทักษะทางสังคมบางอย่าง เช่น เด็กอยากมีเพื่อนแต่ไม่มีความกล้าที่จะเริ่มต้นบทสนทนา ทำความรู้จักเพื่อนก่อน หรือการยกมือถามคำตอบกับครูในห้องเรียน  การพัฒนาทักษะการิเริ่มลงมือทำก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมั่นใจในเรื่องนี้เพิ่มเช่นกัน
  • การวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ (Planning and Organize) คือการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้การลงมือทำสำเร็จผล
  • การยืนกรานที่จะไปสู่เป้าหมายให้ได้ (Goal-Directed Persistence) คือทักษะที่จะยึดมั่นในเป้าหมาย แม้จะมีอุปสรรคอะไรมาขวางก็ก้าวข้ามได้ทุกอย่าง ล้มแล้วลุกได้ 

การถอดบทเรียน EF ทั้ง 9 ข้อนั้นสร้างสรรค์โดยครูหม่อมและสถาบัน RLG ที่เชิญชวนครู นักการศึกษา แพทย์ และนักจิตวิทยามาถอดบทเรียนร่วมกัน นับเป็นหลักการพื้นฐานในการฝึกฝน EF ที่หลายคนนำไปทำตามกันได้


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts