‘รักก็คือรัก รักจะเป็นอาชญากรรมได้อย่างไร’ Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga

  • ความรักในครอบครัวไม่ควรเป็นรักข้างเดียว แต่เป็นความรักที่เรามอบให้กันและกัน
  • Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga ภาพยนตร์อินเดีย เล่าเรื่องของ ‘สวีทตี้’ ที่กำลังเผชิญกับการจับคู่จากครอบครัว พร้อมกับความลับที่ไม่สามารถบอกใครได้
  • เพราะรสนิยมที่ไม่ตรงตามกรอบสังคมและลูกมีหน้าที่ต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็นทางแยกให้สวีทตี้ต้องเลือกว่าจะทำให้ครอบครัวหรือคนที่เธอรักมีความสุข

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

หนังที่เล่าเรื่องของชาว LGBTI+ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในยุคนี้

Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga

แต่ถ้าหนังที่เล่าเป็นหนังอินเดียล่ะ? นั่นเป็นเหตุผลที่เราเลือกดูเรื่อง Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga

Ek Ladki Ko Dekha Toh Aisa Laga หรือชื่อภาษาอังกฤษ How I Felt When I Saw That Girl ภาพยนตร์สัญชาติอินเดียที่เล่าเรื่องของ ‘สวีทตี้’ (แสดงโดย Sonam Kapoor) ที่กำลังเผชิญกับความกดดันจากครอบครัวที่อยากให้แต่งงาน พร้อมกับความลับที่ไม่สามารถบอกใครได้

สวีทตี้ แสดงโดย Sonam Kapoor

หนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจเนื่องจากปีที่ออกฉาย ปี 2018 ศาลสูงสุดของอินเดียประกาศยกเลิกมาตรา 377 ที่ระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ และเบื้องหลังหนังเรื่องนี้คือผู้กำกับหญิง Shelly Chopra Dhar และปลายปากกาของ Gazal Dhaliwal นักเขียนบทที่เป็น Transwoman 

ถือเป็นก้าวหนึ่งในการเฉลิมฉลองและขยายพื้นที่โลกภาพยนตร์อินเดีย ด้วยการเป็นหนังที่พูดถึง LGBTI+ ในมุมหญิงรักหญิงเรื่องแรกบนกระแสหลัก (mainstream) 

รักแท้นั้นซับซ้อนและยากลำบาก

ถ้าอ่านเนื้อหาข้างต้น ทุกคนคงรู้แล้วว่าความลับของสวีทตี้คืออะไร การดำเนินเรื่องในหนังพยายามหลอกล่อคนดูให้คิดว่าความลับของสวีทตี้ คือ การแอบรักอยู่กับชายมุสลิม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมเช่นกัน จนถึงกับระบายว่าทำไมทุกคนถึงมักคิดว่าเธอต้องรักกับผู้ชายเท่านั้น

ชีวิตของสวีทตี้อาจไม่ยากลำบากเท่าตัวละคร LGBTI+ ในเรื่องอื่นๆ เพราะมีครอบครัวที่อบอุ่น เติบโตมากับความรักจากย่า พ่อ และพี่ชาย รวมถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่พ่อเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ทำให้เธอไม่เดือดร้อนที่จะใช้ชีวิตตามความฝัน แต่มีฝันหนึ่งของสวีทตี้ที่เธอภาวนามาตลอดว่าขอให้เกิดขึ้นจริง

“หวังว่าโตขึ้นจะมีความรักและกลายเป็นเจ้าสาว” 

สวีทตี้วัยเด็กนั่งคุกเข่าพร้อมกับพนมมืออ้อนวอนต่อสิ่งที่เธอศรัทธาทุกๆ วัน แต่น่าเศร้าที่ความฝันนี้เป็นไปได้ยากเพราะรักที่เธอมีให้กับคนเพศเดียวกัน ทำให้สวีทตี้ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า เธอปกติหรือไม่? ยิ่งเห็นพี่ชายที่เป็นโฮโมโฟเบีย (Homophobia) ต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน ยิ่งทำให้สวีทตี้คิดว่าตัวเองผิดปกติ และความผิดปกตินี้ก็ไม่สมควรที่จะได้รับความรัก เธอเตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับความโดดเดี่ยว

จนกระทั่งงานแต่งงานที่พ่อพาไปร่วมงาน ทำให้เธอเจอความรักอีกครั้ง และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

“หนทางสู่รักแท้มันซับซ้อน ยิ่งหนทางลำบากเท่าไหร่ เรื่องราวมันยิ่งวิเศษมากเท่านั้น”

ซาฮิล (แสดงโดย Rajkummar Rao)

ประโยคที่สวีทตี้บอกกับ ‘ซาฮิล’ (แสดงโดย Rajkummar Rao) นักเขียนบทละครเวทีที่กำลังประสบปัญหาว่าละครเวทีของเขาไม่เคยประสบความสำเร็จ และถูกพ่อที่เป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดังดูถูกบ่อยๆ ซาฮิลฝันอยากเขียนละครเวทีที่เล่าเรื่องความรักมาโดยตลอด แต่บทของเขากลับถูกผู้ชมบอกว่าชวนง่วง ซึ่งสวีทตี้บอกว่าเพราะเขาไม่เคยมีความรักต่างหาก หากมีความรักเขาจะรู้ว่ารักไม่ใช่แค่เจอผ่านการสไลด์หน้าจอแอปหาคู่ แต่ความรัก คือ ความซับซ้อน ยิ่งยากเท่าไรยิ่งทำให้รู้ว่ามันมีความหมายแค่ไหน

คงจะเป็นอย่างที่เธอว่า เพราะรักของสวีทตี้เองก็ยากลำบากเหลือเกินกว่าจะได้ลงเอยและเปิดเผยความสัมพันธ์กับคนอื่นได้

ทำแค่ไหนถึงจะเป็นความภูมิใจของพ่อแม่?

“ลูกต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ”

ประโยคที่เราได้ยินเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง เป็นสโลแกนที่ตัวละครต่างยึดถือและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของแต่ละคน สำหรับสวีทตี้ ครอบครัวคือความสุขที่สุด เธอยอมสละทุกอย่างเพื่อครอบครัว รวมถึงความรักที่มีต่อ ‘คูฮู’ คนรักของเธอ ส่วนซาฮิลเองความพยายามที่จะเป็นนักเขียนบทละครเวทีชื่อดังไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เพื่อให้พ่อภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้สักครั้ง

ฟาก ‘บาลบีร์’ (แสดงโดย Anil Kapoor) พ่อของสวีทตี้ที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นคุณพ่อใจดี หน้าเปื้อนรอยยิ้มทุกครั้งที่ปรากฏบนจอ เขาอยู่ในสถานะที่เป็นทั้งพ่อของลูกๆ และลูกของแม่ เขามักสอนลูกเสมอว่าต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ มักยกเรื่องราวของตัวเองที่รักการทำอาหารแค่ไหน แต่เพราะแม่ไม่ชอบและมองว่า “ห้องครัวเป็นพื้นที่ของผู้หญิงเท่านั้น” ทำให้บาลบีร์ตัดสินใจโบกมือลาความฝันการเป็นเชฟชื่อดังในอินเดีย แต่เขาก็ยักไหล่และคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เขายังคงประสบความสำเร็จในการทำอย่างอื่น และแม่ก็ภูมิใจในตัวเขา

เมื่อความรักครอบครัวต้องมาก่อน ทำให้ตัวละครหลายคนต่างเสียสละความสุขส่วนตัว ซาฮิลเอ่ยปากถามสวีทตี้ว่าทำไมถึงไม่บอกความจริงกับครอบครัว พวกเขาอาจจะเข้าใจก็ได้ แต่คำตอบของสวีทตี้ คือ พวกเขาต้องเสียใจและเธอจะกลายเป็นคนที่ทำให้ครอบครัวอับอาย นั่นเป็นสิ่งที่เธอไม่อยากให้เกิดที่สุด

“งั้นเขาก็ต้องอยากให้เธอมีความสุขเหมือนกันสิ” ซาฮิลยังย้ำอีกครั้ง ความรักในครอบครัวไม่ควรเป็นรักข้างเดียว แต่เป็นความรักที่เรามอบให้กันและกัน รักที่พร้อมทำให้อีกฝ่ายมีความสุข ไม่ใช่กดดันเพื่อให้ตัวเองมีความสุขฝ่ายเดียว

คนที่ป่วยไม่ใช่ LGBTI+ แต่คือสังคมที่ยึดติดความเชื่อตัวเอง

ภาพสังคมที่ถูกถ่ายทอดในหนัง คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าการเป็น LGBTI+ เป็นเรื่องน่าอาย เป็นคนป่วยที่ต้องรักษา เช่นเดียวกับพี่ชายของสวีทตี้ที่รู้ความลับน้องสาวแล้วพยายามรักษาด้วยการให้แต่งงานกับผู้ชาย เพื่อให้เธอกลายเป็น ‘คนปกติ’ แบบที่เขาต้องการ หรือตัวซาฮิลเองที่ตอนแรกจะไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายก็พยายามเปิดใจให้กับความเชื่อใหม่ๆ

ความรักของชาว LGBTI+ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่ใช่เรื่องจริง ยิ่งประโยคนี้ออกมาจากปากของย่าที่สวีทตี้รักมากที่สุด เธอจึงเจ็บช้ำกว่าคำพูดทุกคน นั่นยิ่งทำให้เธอพยายามพิสูจน์ความรักครั้งนี้ให้ทุกคนได้เห็น โดยมีซาฮิลเป็นผู้ช่วย

ละครเวทีจึงเกิดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความรักของสวีทตี้และคูฮู ฉากหน้าเพื่อโปรโมตคอลเลกชันชุดใหม่ของโรงงานพ่อสวีทตี้ แต่เบื้องหลังเพื่อบอกความจริงให้ครอบครัวรู้แบบอ้อมๆ 

แน่นอนว่าตามหลักการทำภาพยนตร์ต้องเกิดปัญหาขึ้น เพื่อให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ พ่อสวีทตี้รู้ความจริงก่อนวันเปิดฉายละครเวที เขารับไม่ได้ที่ลูกสาวสุดที่รักกลายเป็นคนป่วยตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง ปฏิกิริยาของพ่อสวีทตี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือคาดไม่ถึง มีเพียงประโยคเดียวที่ออกจากปากของสวีทตี้ คือ “พ่อที่บอกว่าอับอายเรื่องเธอ แต่พูดตรงๆ พ่อก็ทำเธอผิดหวังเหมือนกัน”

ถึงพ่อแม่จะโตมาแตกต่างกับลูก แต่ก็หวังว่าจะเผื่อที่ความต่างให้ลูกบ้าง

บาลบีร์ ตัวละครพ่อประเภทหนึ่งที่เรามักเจอได้ตามหนัง คุณพ่อสายใจดีที่สปอยล์ลูกเต็มที่ พร้อมทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข แต่สภาพแวดล้อมและสังคมที่โตมาก็หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนทำร้ายความรู้สึกลูกเช่นกัน แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม

เชื่อว่าลูกส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังจะได้พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ 100% เพราะพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมอีกแบบที่หล่อหลอมตัวเขาในวันนี้ แต่เราก็แอบหวังให้พ่อแม่มีสิ่งที่พ่อสวีทตี้มี คือ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อถ้ามันขัดกับความสุขลูก และเผื่อพื้นที่แห่งความต่างให้กับลูก

พ่อสวีทตี้เป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยน แม้สิ่งที่เจอมันจะขัดกับความเชื่อที่ถูกฝังหัวมาตลอดชีวิต เริ่มแรกที่เข้าใจว่าลูกรักกับคนมุสลิม พ่อให้เหตุผลว่าไม่อยากให้สวีทตี้แต่งงานไปเพราะชีวิตจะลำบาก ต้องเปลี่ยนศาสนา เลยพยายามหาผู้ชายคนอื่นให้ลูกแทน แต่เมื่อได้เจอกับ ‘ชาโตร’ แม่ครัวคนสนิทของซาฮิลที่บอกว่า เธอจะไม่มีวันบังคับให้ลูกแต่งงาน เพราะมันเป็นสิ่งที่เธอต้องเจอและทำให้เธอไม่มีความสุขตลอด 22 ปีของการแต่งงาน

“นี่เป็นปัญหาของพ่อแม่อินเดีย พวกเขามัวแต่ยุ่งกับการจัดการชีวิตลูก ทำไมไม่ใช้ชีวิตของตัวเองบ้างล่ะ แล้วปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตไปซะ” ประโยคจากชาโตรที่เหมือนค้อนมาทุบหัวให้บาลบีร์ได้สติ เขายอมที่จะให้ลูกรักกับชายมุสลิมได้

แม้บาลบีร์จะเจ็บปวดใจที่รู้ความจริงว่าสวีทตี้รักผู้หญิง แต่ไม่ว่าสวีทตี้จะเป็นอะไร เธอก็ยังคงเป็นลูกสาว บาลบีร์ยอมรับความเป็นจริงว่า เมื่อธรรมชาติสร้างลูกมาแบบนี้ มันไม่ใช่อาการป่วยที่ต้องรักษา แต่เป็นความรัก เป็นพรจากพระเจ้าที่ไม่ว่ามนุษย์คนไหนก็ควรได้รับ 

“พ่อนึกว่าลูกจะเหมือนแม่ แต่ลูกเหมือนพ่อต่างหาก เพราะพ่อก็ชอบผู้หญิงเหมือนกัน” คำยืนยันที่บาลบีร์มีให้กับลูกสาวว่าเธอปกติเช่นเดียวกับเขาและทุกๆ คนในสังคม

หนังเรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยเนื้อหาหนักๆ คงความเป็น Coming of Age ผสมกับ Romantic Comedy อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากนำเสนอประเด็นนี้อย่างเป็นมิตร เปิดรับคนทุกกลุ่มให้เข้ามาทำความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เพราะเราต่างก็มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้ทุกๆ วัน และอย่างที่บาลบีร์บอก “รักก็คือรัก รักจะเป็นอาชญากรรมได้อย่างไร”


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts