- Mappa พูดคุยกับ “ครูมะนาว” แอดมินเพจ “อะไรอะไรก็ครู” เพื่อสะท้อนเสียงของคุณครูรุ่นใหม่ต่อนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของคุณครูทั้งประเทศ
- ข้อสังเกตหนึ่งในการแถลงนโยบายครั้งนี้ คือรัฐมนตรีคนใหม่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหา “หนี้สิน” ของครูมาก จนครูหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะต้องการทางออก “ที่เร่งด่วน” มากกว่า
- “วิกฤตหนี้ครู” เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลพยายามจะเข้ามาแก้ไข โดยในปี พ.ศ.2565 กระทรวงศึกษาธิการพบว่าครูไทยกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% ของครูทั้งหมด มีหนี้สินรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
- แต่โพลสำรวจ “ประเด็นปัญหาใดสำคัญและควรแก้ไขมากที่สุด” มีครูร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 544 คน พบว่าร้อยละ 95 ระบุว่า “ภาระงานและโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน” เป็นปัญหาที่ครูต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุด
วลีเด็ดที่สุดของระหว่างการแถลงนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น “มี 20 ก็ใส่ 20 ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร ไปงานเขา ก็ไปช่วยเขาล้างจาน ร่วมอะไรมาก็เป็นเกียรติแล้ว ต้องเปลี่ยนค่านิยมพวกเราในการอยู่อย่างพอเพียง” ซึ่งแน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวถูกส่งต่อ ล้อเลียน และกลายเป็น “มีม” สนั่นโซเชียล จนสาระสำคัญของการแถลงนโยบายในวันนั้นถูกกลืนหายไปและไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน
แต่นโยบายที่รัฐมนตรีคนใหม่แห่งกระทรวงได้แถลงไปนั้น ตอบโจทย์หรือถูกใจ “คุณครู” ซึ่งเป็นคนสำคัญในระบบการศึกษาหรือไม่ Mappa พูดคุยกับ “ครูมะนาว” แอดมินเพจ “อะไรอะไรก็ครู” เพื่อสะท้อนเสียงของคุณครูรุ่นใหม่ต่อนโยบายที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของคุณครูทั้งประเทศ
รัฐมนตรีที่ไม่ใช่คุณครู (อีกแล้ว)
“ถ้าดูตอนที่ท่านแถลงนโยบาย เราจะเห็นว่าท่านพูดถึงปัญหาของครูและปัญหาของนักเรียน และนำไปสู่เป็นนโยบายหลักเลย นั่นคือการลดภาระครูและภาระนักเรียน ซึ่งมันก็สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเราทำโพลหรือพูดคุยกันนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระงานของครู หรือสิ่งที่นักเรียนต้องเจอ แต่วิธีที่ท่านรัฐมนตรีนำเสนอหรือขยายความถึงที่มาของนโยบาย ท่านไม่ได้พูดถึงในระดับที่เราจะมองเห็นภาพว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่าอาจจะมีการนำไปศึกษาต่อ” ครูมะนาวเริ่มต้นสะท้อน
ดูเหมือนว่าในการแถลงนโยบายครั้งนี้ รัฐมนตรีคนใหม่จะให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหา “หนี้สิน” ของครูมาก จนครูหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะต้องการทางออก “ที่เร่งด่วน” มากกว่าเรื่องหนี้สิน
“ประเด็นที่คนพูดถึงเรื่องหนี้สินคือ หนึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของหลายคน สองคือมันไปขยายการลดภาระด้านนี้มากเกินไป มากกว่าด้านที่เราจะพูดถึงว่าทำไมภาระครูถึงเยอะ ทำไมครูต้องมีงานอื่นนอกเหนือจากงานสอน ซึ่งตรงนี้แหละที่มันจะกลับไปสู่คำพูดที่คนมักจะพูดกันว่า ถ้ารัฐมนตรีไม่ได้มาจากครู ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาก่อน หรือไม่ได้ตั้งใจมาเป็นรัฐมนตรีด้านนี้ เขาจะมองไม่เห็นปัญหานี้เลย” ครูมะนาวกล่าว
หนี้สินไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนของครู
“วิกฤตหนี้ครู” เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลพยายามจะเข้ามาแก้ไข โดยในปี พ.ศ.2565 กระทรวงศึกษาธิการพบว่าครูไทยกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% ของครูทั้งหมด มีหนี้สินรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั่นเอง ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เจ้าหนี้ให้ครูกู้ยืมโดยไม่ควบคุมยอด ทำให้ครูหลายคนกู้ยืมจนเกินศักยภาพที่จะจ่ายคืนจากเงินเดือนได้ ก็เลยกลายเป็นปัญหาหนี้สินของครูที่ดูเหมือนว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ครูมะนาวเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่เพจ “อะไรอะไรก็ครู” เปิดเวทีคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ให้ครูได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และได้พบว่าประเด็นเรื่องหนี้สินของครู “ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน” สำหรับครู เนื่องจากครูหลายคนที่ร่วมแลกเปลี่ยนมองว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาจัดการได้
“ผมเข้าใจว่าเขาน่าจะดูตัวเลขครูไปกู้สหกรณ์ หรือครูแต่ละคนมีหนี้เท่าไร ตัวเลขมันดูเยอะ แต่ในการจัดการหรือหักเงินจากบัญชีเราไป จนเราเหลือเงินเล็กน้อย ที่เราเอามาพูดเล่นตลกๆ ว่าเป็น “เงินทอน” นั่นแหละครับ คือถามว่ามันพอไหม มันไม่พอหรอกครับ แต่มันไม่ใช่ปัญหา”
“ผมกำลังตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเราถึงพูดเรื่องหนี้ทุกครั้งที่มีรัฐมนตรีใหม่ แต่ทำไมเวลาเราไปถามครูด้วยกัน เขาแทบจะมองไม่เห็นเลยว่ามันคือปัญหา หรือมันอาจจะสะท้อนได้ว่า ครูไม่รู้ตัวหรือเปล่าว่าการเป็นหนี้ของครูคือปัญหา ซึ่งอันนี้โทษตัวเองนะ หรือว่าเราไม่รู้ว่าอันนี้มันคือปัญหาของเรา แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คือ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาและเราดูแลจัดการได้ แต่รัฐมนตรีช่วยไปจัดการกระบวนการหรือระบบการทำงานที่ซัพพอร์ตการทำงานของครูดีกว่า แล้วครูจะมีความสุข” ครูมะนาวชี้
ภาระงานและโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน
ครูมะนาวหยิบยกโพลสำรวจ “ประเด็นปัญหาใดสำคัญและควรแก้ไขมากที่สุด” ที่ทางเพจ “อะไรอะไรก็ครู” จัดทำขึ้น มีครูร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 544 คน พบว่าร้อยละ 95 ระบุว่า “ภาระงานและโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน” เป็นปัญหาที่ครูต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุด
(ที่มาของโพล: https://www.facebook.com/photo?fbid=707348951418433&set=a.476578451162152)
“ปกติแล้วครูคนหนึ่งจะมีงานสอนและงานนอกเหนือการสอน ซึ่งงานนอกเหนือการสอนก็แล้วแต่เลย เหมือนกล่องสุ่ม เช่น ตอนเราไปบรรจุ เราไปแทนตำแหน่งของคนที่ทำธุรการ โรงเรียนก็จะมอบหมายงานนี้ให้เรา ซึ่งบางงานก็เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ พอมีครูน้องใหม่เข้ามา ครูคนนั้นก็อาจจะต้องรับงานนั้นไป และอีกส่วนของงานนอกเหนือการสอน คือโครงการหรือนโยบายพิเศษ สมมติว่ากระทรวงมีนโยบายให้ทำโครงการนี้ เขาก็จะสั่งการมาที่เขตพื้นที่ เขตพื้นที่ก็ส่งต่อมาให้โรงเรียน โรงเรียนก็ต้องหาคนมารับผิดชอบ ซึ่งงานนอกเหล่านี้มันต้องรายงานผล”
“เรื่องภาระงานที่มากเกินไป ทำให้ครูไม่ได้สอน ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกว่า ‘ทำไมเราต้องทำงานนี้’ แล้วมันมีการกดดันว่าต้องเอางานนี้มาเป็นผลงานในการประเมิน หรือมาเป็นตัวตัดสินว่าครูคนหนึ่งมีความสามารถหรือมีประโยชน์ต่อองค์กรแค่ไหน ซึ่งพอพิจารณาจากงานเหล่านี้ แต่ไม่ดูการสอนในห้องเรียน ก็เลยโฟกัสผิดจุด ครูก็เลยรู้สึกว่ามันไม่โอเค”
สิ่งเร่งด่วนคือลดภาระงานครู
แน่นอนว่านโยบายใหม่ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน จะกล่าวถึงการลดภาระงานครู แต่ดูเหมือนว่าภาระงานที่เป็นโครงการเสริมหลักสูตรที่ถูกนำมาประกอบหลักสูตรของกระทรวงจะยัง “ไม่ถูกพูดถึง” ซึ่งปัญหาดังกล่าวกลับเป็นปัญหาที่ครูทั่วประเทศกำลังต้องการให้รัฐมนตรีคนใหม่แก้ไขมากที่สุด
“แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างในโพลของเราจะมีประมาณ 500 คน แต่พวกเขาก็เป็นกลุ่มตัวอย่างที่แอคทีฟที่เข้ามาร่วมทำแบบสอบถาม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ 95 เปอร์เซ็นต์จะบอกว่าภาระงานและโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเขาคงรู้สึกว่าในเมื่อเรามีหลักสูตรที่กระทรวงเชื่อมั่นว่ายังไปต่อได้ แล้วทำไมต้องมีโครงการอื่นๆ มาเสริมให้มันเยอะขึ้นอีก ดังนั้น เราควรจะลดโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน โครงการที่เป็นโครงการเสริมหลักสูตร ที่แบบจู่ๆ ก็มีนโยบายสั่งการลงมา มีนวัตกรรมอะไรใหม่จากกระทรวง แล้วสั่งให้โรงเรียนทำ แถมยังต้องรายงานผล ผมว่าตรงนี้ถ้าลดได้ มันจะช่วยให้ครูได้กลับไปทำงาน โฟกัสกับนักเรียนได้มากขึ้น” ครูมะนาวกล่าว
“อีกเรื่องคือเวรรักษาการณ์ ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ยากเลย แค่สั่งยกเลิกไปเลยก็จบแล้ว แต่ตอนนี้เสาร์อาทิตย์ ครูก็ยังต้องไปทำงานที่โรงเรียน เพื่อเวลามีคนมาติดต่อราชการ หรือช่วงกลางคืนก็ต้องมีครูผู้ชายไปนอนเฝ้าโรงเรียน เพื่อป้องกันระวังเหตุ ป้องกันขโมย แล้วถ้าโรงเรียนนั้นมีครูผู้ชายคนเดียว ครูคนนี้ก็ต้องนอนโรงเรียนทุกคืน ก็เลยตั้งคำถามว่าใช้กล้องวงจรปิดมาทดแทนได้ไหม ซึ่งพอไม่สั่งยกเลิก มันก็จะส่งผลกระทบว่าโรงเรียนใช้เรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขประเมินครู ประเมินการทำงาน หรือเอามากดดันครูผู้น้อยให้ไปทำงานเหล่านี้”
จากครูผู้น้อยถึงรัฐมนตรีคนใหม่
แม้จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีที่มาจากอาชีพครู แต่ครูมะนาวก็ไม่ได้มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหามากนัก เนื่องจากหากรัฐมนตรีมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร หรือมีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของครู – นักเรียนไทยจริงๆ จะเป็นหรือไม่ได้เป็นครูมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก แต่อาจจะต้องมีคณะทำงานหรือที่ปรึกษาที่รอบด้าน มองเห็นปัญหาจริง หรือหันกลับไปรับฟังครูที่อยู่หน้างานว่าประเด็นไหนที่พวกเขาต้องการให้แก้ไขมากที่สุด
“สุดท้ายเมื่อกลับไปดูกราฟิกที่ท่านรัฐมนตรีทำขึ้นมา เราก็จะเห็นการพูดถึงการลดภาระครู ลดภาระนักเรียน ซึ่งมันก็เป็นไปในทิศทางที่ดีแล้ว แต่มันยังมีเรื่องอื่นที่ไม่ถูกพูดถึงเลย เช่น อำนาจในห้องเรียน อำนาจของการประเมิน อำนาจของผู้บริหารกับครูที่มีการกดทับกันอยู่ หรือแม้แต่ตัวนักเรียนเองที่กำลังเรียกร้องเรื่องเครื่องแต่งกาย คือสุดท้ายมันก็กลับไปที่เรื่อง ‘โครงสร้างอำนาจ’ ที่กดทับกันอยู่ในโรงเรียน และเรื่องมายาคติอื่นๆ ที่อยู่ในโรงเรียนอีก คือตอนนี้เรากำลังมองปัญหาอย่างกว้างๆ แต่ส่วนที่ลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งเหล่านั้น ผมยังไม่เห็นว่าจะแก้ไขไปในทิศทางไหน” ครูมะนาวฝากปิดท้าย