- การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงมือและสะท้อนผลจากประสบการณ์ตรง
- กิจกรรมในการเรียนรู้จากประสบการณ์อาจเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ การฝึกงาน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การฝึกภาคสนาม การไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ การวิจัย
- ขั้นตอนสำคัญคือการคัดเลือกและออกแบบการเรียนรู้ตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากประสบการณ์นั้น ๆ
รู้จัก “การเรียนรู้จากประสบการณ์” (Experiential Learning – EL)
การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะได้ “เรียนรู้จากการลงมือ” และสะท้อนผลจากประสบการณ์ กิจกรรมในการเรียนรู้จากประสบการณ์อาจเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ การฝึกงาน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การฝึกภาคสนาม การไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ การวิจัย เป็นต้น
แผนการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ออกแบบอย่างดี มีการกำกับดูแลและประเมินผลสามารถกระตุ้นความสนใจด้านวิชาการได้โดยการส่งเสริมการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ความตระหนักรู้ด้านวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ ทักษะอาชีพและทักษะทางปัญญาอื่น ๆ
การเรียนรู้จากประสบการณ์มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- การสะท้อนผล การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ และการสังเคราะห์องค์ความรู้
- โอกาสที่ผู้เรียนจะได้ริเริ่ม ตัดสินใจ และรับผิดชอบผลที่ตามมา
- โอกาสที่ผู้เรียนจะได้มีส่วนร่วมด้านการใช้สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ สังคม หรือทางกายภาพ
- ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความเป็นไปได้ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากผลลัพธ์ตามธรรมชาติ ข้อผิดพลาดหรือความสำเร็จ
EL ทำงานอย่างไร
เดวิด เอ. โคล์บ นักทฤษฎีการศึกษาอธิบายว่ากระบวนการการเรียนรู้จากประสบการณ์ประกอบด้วยสามอย่างหลัก ๆ ได้แก่
ความรู้ – มโนทัศน์ ข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ได้รับจากการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและประสบการณ์เดิม
กิจกรรม – การนำความรู้ไปปรับใช้ในบริบท “โลกจริง”
การสะท้อนผล – การวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่
EL กับการนำไปใช้
สมาคมการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Association for Experiential Education) นิยามการเรียนรู้จากประสบการณ์ว่ามีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
- ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้รับการคัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงลึกและฝึกฝนทักษะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้เผชิญสถานการณ์คับขันที่แปลกใหม่และไม่อาจคาดเดาได้ หรือเรียนรู้จากผลกระทบตามธรรมชาติ ข้อผิดพลาดหรือความสำเร็จ
- ตลอดกระบวนการการเรียนรู้จากประสบการณ์ ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม สืบเสาะ ทดลอง ตั้งข้อสงสัย แก้ปัญหา ทำนายความเป็นไปได้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และหาความหมายด้วยตัวเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้ท้าทายด้วยการเป็นผู้นำ ตัดสินใจและรับผิดชอบกับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตัวเอง
- การสะท้อนผลการเรียนรู้ในระหว่างและหลังสัมผัสประสบการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ การสะท้อนผลนี้จะนำไปสู่การวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ และการสังเคราะห์องค์ความรู้ (Schon, 1983; Boud, Cohen, & Walker, 1993).
- ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้านปัญญา อารมณ์ สังคมและ/หรือกายภาพ ซึ่งช่วยสร้างเสริมการรับรู้ว่าการเรียนรู้เป็นของจริง จับต้องได้
- ความสัมพันธ์ได้รับการพัฒนาและดูแลเอาใจใส่ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับตัวเอง กับคนรอบข้างและกับโลกภายนอก
ในระหว่างการเรียนรู้จากประสบการณ์ ผู้สอนหรือกระบวนกรมีบทบาทดังนี้
- เลือกประสบการณ์ที่ตรงตามเกณฑ์หรือคุณสมบัติข้างต้น
- ตั้งคำถาม กำหนดขอบเขต สนับสนุนผู้เรียน จัดเตรียมทรัพยากรที่เหมาะสม รักษาความปลอดภัยทั้งทางกายและใจ และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กระบวนการเรียนรู้
- สังเกตและส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ท้าทาย ให้เขาทดลองทำสิ่งใหม่ (ใต้เงื่อนไขว่าไม่ให้ผู้อื่นต้องเสี่ยงอันตราย) และค้นพบทางแก้ปัญหา
- ช่วยให้ผู้เรียนสังเกตความเชื่อมโยงระหว่างบริบทต่าง ๆ หรือระหว่างทฤษฎีกับประสบการณ์และส่งเสริมการพินิจพิจารณานี้เรื่อย ๆ
ตัวอย่างของการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Indiana University, 2006; Moore, 2010) มีดังนี้
การฝึกงาน – คำนี้ในความหมายกว้าง ๆ หมายถึงกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ครอบคลุมถึงคำอื่น ๆ อาทิ สหกิจศึกษา งานจิตอาสา หรือการลงพื้นที่ ซึ่งบางครั้งมีหน่วยกิตและเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนสนใจโดยไม่เกี่ยวข้องกับภาคทฤษฎี ส่วนใหญ่กิจกรรมเหล่านี้จะมีการประเมินโดยบุคลากรและมีที่ปรึกษาหรือนายจ้างที่เป็นคนนอก ผู้เรียนจะได้ฝึกประสบการณ์การทำงาน ทำโครงการต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ สัมภาษณ์และสังเกตการทำงานของหน่วยงานและพนักงาน การฝึกงานอาจมีหรือไม่มีค่าจ้างก็ได้ เมื่อผนวกการฝึกงานเข้ากับชั้นเรียน ผู้เรียนอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในสัปดาห์ทำงานอาสาในหน่วยงาน สนับสนุนกิจกรรมนอกหลักสูตรต่าง ๆ หรือสังเกตผู้คนในบริบทการทำงานจริง
กุญแจสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์รูปแบบนี้คือการสะท้อนผลโดยมีคนกำกับดูแล จุดมุ่งหมายอาจเป็นการผสมผสานทฤษฎีกับการปฏิบัติ สำรวจทางเลือกอาชีพ หรือพัฒนาตนเองและทักษะการทำงาน
การทำงานบริการ – ในที่นี้หมายถึงการทำงานบริการชุมชนนอกห้องเรียน อาจเป็นชุมชนในละแวกเดียวกับสถานศึกษาหรือเข้าร่วมผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนได้ทำงานบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน และสะท้อนผลการทำงานเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาในรายวิชามากขึ้น รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของเนื้อหาที่เรียนมากขึ้นและเพิ่มความตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองของตนเอง
การฝึกภาคสนาม – ผู้เรียนจะได้ทำวิจัยหรือฝึกภาคปฏิบัตินอกสถานศึกษาและได้สัมผัสกับผู้คน ธรรมชาติ หรืออย่างอื่นที่เป็นประเด็นที่สนใจศึกษา โดยเฉพาะในด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ วิทยาศาสตร์โลกหรือสิ่งแวดล้อม
การไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ – การไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศเป็นโอกาสดีที่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ๆ และฝึกทักษะการใช้ชีวิตในที่ที่ไม่คุ้นเคย บางครั้งการไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศอาจอยู่ในรูปแบบการฝึกงานหรือการทำงานบริการ
การเรียนรู้จากประสบการณ์มีหลากหลายรูปแบบ ข้อสำคัญคือการเลือกและออกแบบการเรียนรู้ตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากประสบการณ์ต่าง ๆ
อ้างอิง
https://www.bu.edu/ctl/guides/experiential-learning/
https://www.dprep.ac.th/th/experiential-learning-course/
https://www.lifeeducation.in.th/positive-education/
https://inskru.com/idea/-MdFxKufHRJm-KkhbL1u