- สนทนากับพ่อและลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ที่อยากให้คนสนใจว่า มานั่งมานอนหน้าทำเนียบทำไม อยู่บ้านสบายๆ ไม่ชอบหรือ
- ‘บังนี’ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะเป็นนักดูหลำคนสุดท้ายของประเทศ ดูหลำแปลว่า ‘การฟังปลา’ รู้ทิศทาง รู้กระแสน้ำ รู้ชนิดปลา ซึ่งมีเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้าน
- บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้พาทุกคนตั้งต้นจากอาหารทะเลจานโปรด ชวนคิดว่า กุ้ง หอย ปู ปลา ในจานตรงหน้ามาจากไหน – พ่อกับลูกสาวแห่งทะเลจะนะก็กำลังสู้เพื่อสิ่งนั้น
พ่อห่วงไหม ลูกสาวมานั่งหน้าทำเนียบฯ คนเดียว
“ก็ห่วงอยู่นะ” ‘บังนี’ รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ พูดถึงลูกสาว ‘น้องยะห์’ ไครียะห์ ระหมันยะ ที่นั่งงอนอยู่ข้างๆ
“ใช่ค่ะ กว่าจะมา! ปล่อยให้นั่งคนเดียวตั้งนาน ทำไมนาน (หัวเราะ)”
ฝั่งพ่อผู้ตามมาสมทบทีหลังแต่กลับถูกจับไปทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ คืนแรก รีบออกตัวกับลูกสาวทันทีว่า
“ขอแก้ตัวหน่อย (หัวเราะ) ที่เรามาเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลบอกว่าพวกเราวุ่นวาย มากันทำไมมากๆ สี่ห้าสิบคน ลำบากเรื่องการเดินทาง เปลืองค่าใช้จ่าย พูดเหมือนเขาเป็นห่วงเรา เขาบอกว่ามาแค่คนสองคนก็พอแล้ว เราก็จดจำคำนั้นของรัฐบาล และเมื่อสัญญากำลังจะครบรอบ 1 ปี ปรากฏว่า รัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรตามสัญญาได้เลย พอดีน้องยะห์เขาขึ้นมาทำธุระอยู่แล้ว ครอบครัว พี่น้องเครือข่ายเลยคุยกันว่า ในเมื่อน้องยะห์ขึ้นมากรุงเทพฯ อยู่แล้วก็น่าจะขึ้นไปนั่งหน้าทำเนียบไปทวงสัญญาดูว่าเขาจะว่ายังไง”
บังนีบอกว่านี่ถือเป็นครั้งที่สามที่ชาวจะนะถูกสลายการชุมนุม แต่หนนี้หนักหนาที่สุดเพราะถูกจับ
“จริงๆ ตอนนั้นถ้าเอาพ่อไปคนเดียวก็โกรธนะ แต่วันนั้นไปหลายคนก็ไม่เป็นไร พ่อโดนจับ เป็นประสบการณ์ (หัวเราะ)” แล้วลูกสาวก็ตบไหล่พ่อ
“โอ๊ย จะกี่ครั้งกัน ประสบการณ์มันเยอะแล้ว (หัวเราะ)”
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องถูกอำนาจรัฐใช้ความรุนแรง พ่อลูกยังหัวเราะหยอกกันได้ตลอดบทสนทนากว่า 1 ชั่วโมง
วันนี้การเคลื่อนไหวเรียกร้องยังดำเนินต่อไป หากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แค่อยากพาทุกคนตั้งต้นจาก ‘อาหารทะเลจานโปรด’ ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ตรงหน้ามาจากไหน มาจากการลงอวนของใคร มาจากการ ‘ดูหลำ’ หรือฟังปลาของใคร มาจากการค้านนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มไหน แล้วพวกเค้าทำไปทั้งหมดเพื่ออะไร
ชวนสบตาและฟังความคิดของพ่อกับลูกสาวแห่งจะนะ
สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักบังนีมาก่อนเลย บังนีเป็นใครและมาทำอะไรที่นี่
บังนี: ปกติอาชีพหลักคือประมง ตามปู่ย่าตายายลงเรือหาปลาตั้งแต่เด็กๆ เวลาจะขึ้นเรือ ผู้ใหญ่ต้องอุ้มขึ้นไป อุ้มแล้วก็ไปนั่งนิ่งๆ ที่หัวเรือ เมื่อก่อนเรือของพวกเราเป็นเรือใหญ่ เป็นเรือไม้กว้างสัก 2 เมตรยาวประมาณ 14 ศอก
เราจะดูผู้ใหญ่วางอวน กู้อวนจากทะเล เวลาเขาได้ปลาอะไรมาเราก็จะนั่งดู นั่งสังเกตไป ผู้ใหญ่ก็จะพูดว่านี่ปลาอะไร ส่วนอวน จะต้องวางอย่างนี้อย่างนั้น เครื่องมือมีหลายชนิด เรือลำหนึ่งมีเครื่องมือหลายสิบชนิด และหาปลากันตามฤดูกาล ทั้งกลางวันกลางคืน นี่คืออาชีพประมง
ด้วยความที่อยู่ทะเลตั้งแต่เล็ก เล็กขนาดผู้ใหญ่ยังต้องอุ้มขึ้นเรือ ชีวิตเลยผูกพันกับทะเล เพราะก่อนขึ้นเรือ ลงเรือ ก่อนและหลังปฏิบัติภารกิจประมง มันจะรู้สึกมีความสุขเวลาได้เล่นน้ำทะเล ไม่รู้เป็นไงนะ เล่นไม่เบื่อเลย เล่นทุกวัน เล่นซ้ำ เล่นย้ำอยู่อย่างนั้นแหละ บางทีขึ้นจากน้ำทะเลไม่อาบน้ำจืดด้วยซ้ำ อยู่ได้นะ บางคนที่เขาไม่เคยอยู่กับน้ำทะเลเขาก็จะอยู่ไม่ได้ จะชื้นๆ แล้วก็เป็นเกลือ แต่เราอยู่ได้ตามประสาเด็กชาวประมง
แล้วพอโตขึ้น ก่อนไปโรงเรียน เช้าๆ เราจะมานั่งริมทะเล พอวันเสาร์-อาทิตย์เราก็จะออกทะเลเอง ฝึกไปเรื่อยๆ คือทะเลมันอยู่ในสายเลือดแล้ว พอช่วงวัยรุ่น ผมก็ไม่อยากเรียนแล้วถึงแม้พ่อแม่จะส่งเรียน มันรู้สึกว่าจะเรียนไปทำไมในเมื่อเรามีอาชีพอยู่แล้ว มีกินมีใช้ทุกวัน เรียนแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะก็มาออกทะเลอยู่ดี ไม่เอาแล้วไม่เรียนดีกว่า มาทำประมงที่ตัวเองถนัดดีกว่า ตั้งปณิธานไว้เลยว่าเราจะยึดอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก
ตอนนั้นยังไม่มีเรือเป็นของตัวเอง รับจ้างออกทั่วไป ถึงเวลาใครจ้างก็ออกไปกับเขา กิจวัตรคือออกทะเลทุกวัน ยกเว้นหน้ามรสุมที่เราออกบ้างไม่ได้ออกบ้าง วันหยุดราชการ วันหยุดนั่นวันหยุดนี่ ไม่มี นี่ทะเลนะ นอกจากว่า ไปบอกเขาตรงๆ ว่าวันนี้ขี้เกียจ ไม่อยากออกก็พักผ่อน (หัวเราะ)
น้องยะห์ล่ะ ก่อนมาเคลื่อนไหว วิถีชีวิตที่สวนกง เป็นอย่างไรบ้าง
ยะห์: ฟังพ่อ ก็เหมือนมองเห็นตัวเอง เล่นน้ำทะเล เล่นจนโดนแม่ด่า บอกว่าซักเสื้อผ้าไม่ทัน ก็เลยใช้วิธีเล่นน้ำทะเลเสร็จก็แอบๆ ไปตากตัวให้แห้งบนเนินทราย 6,000 กว่าปีของบ้านสวนกงนั่นแหละ แม่จะได้ไม่เห็นเราตัวเปียกกลับมาบ้าน พอแห้งก็กลับเข้ามาบ้าน บางทีก็ไม่อาบน้ำ
แล้วแม่จับได้ไหม
ยะห์: จับไม่ได้ ระดับนี้แล้ว ถามพ่อก่อนว่าทุกวันนี้พ่อรู้ไหม
บังนี: เอ่อ… อันนี้มันก็อยู่ที่การสังเกต (ยะห์หัวเราะ) คือบางทีเราก็จับได้นะ แต่ก็ให้เขาเรียนรู้ บางทีจับได้เราก็ทำเฉยๆ เออ… มันไม่ใช่ความผิดหนักหนา เราก็ปล่อยเขาไป ดูว่าเขาจะมีเหลี่ยมมีอะไรบ้าง เป็นการฝึกการเอาตัวรอด (หัวเราะ)
แล้วการเคลื่อนไหวของจะนะ เริ่มต้นอย่างไรและเมื่อไร
บังนี: เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536
ยะห์: หนูเกิดปี 45 (หัวเราะ)
บังนี: ผมเริ่มพร้อมๆ กับที่พี่ชายยะห์เกิด ยุคนั้นเป็นยุคเริ่มพัฒนา เริ่มมีเรือประมงแบบพาณิชย์ลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เราจึงเริ่มเคลื่อนไหวเพราะต้องการรักษาหน้าบ้านตัวเอง รักษาฐานทรัพยากรของตัวเอง รักษาเครื่องมือประมงของตัวเอง
จริงๆ กฎหมายเขากำหนดเขตประมงพื้นบ้านไว้แล้ว คือภายในรัศมี 3 ไมล์ทะเล หลังจาก 3 ไมล์ทะเลออกไปเป็นเขตประมงแบบพาณิชย์ แต่ช่วงนั้น เรือประมงแบบพาณิชย์ลักลอบเข้ามาในเขต 3 ไมล์ทะเลของประมงพื้นบ้าน
ตอนเข้ามาแรกๆ เราก็ทำใจได้ เออ ทำอย่างไรได้ อาชีพเดียวกันก็แบ่งๆ กันไป แต่เรือพาณิชย์มันก็ลำใหญ่มาก แล้วพอเราไม่ทำอะไร เขาก็ขยับเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่า มันจะมากเกินไป
เขาไม่เพียงแค่จะเอาลูกปลา สัตว์น้ำวัยอ่อน ลูกปลาที่ยังไม่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หนำซ้ำยังทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เราวางเอาไว้ เราจึงทนไม่ได้ ครั้งแรกไปเจรจาก่อน ว่าคุณทำอย่างนี้ไม่ได้นะ แทนที่คุณจะแบ่งเขตตามกฎหมายแต่คุณเข้ามาแล้วยังทำลายเครื่องมือของเราอีก ก็คุยกันหลายรอบนะ แต่สุดท้ายเขาก็ยังเข้ามาเหมือนเดิม
เมื่อคุยกับประมงพาณิชย์ด้วยตัวเองไม่สำเร็จ เราก็ไปคุยกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการก็ไม่สนใจ เราพยายามบอกว่า ประมงพาณิชย์บุกรุกมาเกิน 3 ไมล์ทะเลแล้วนะ เขา (ราชการ) ก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีน้ำมัน เราก็บอกว่าถ้าไม่มีน้ำมันเดี๋ยวเรารวมเงินกันซื้อ ตกลงไหม เขาบอกว่าไม่มีคนขับเรือ เราก็บอกว่าเราขับเรือได้เดี๋ยวเราขับเอง เขาบอกว่าคุณไม่มีใบประกอบการนายท้าย เราก็จบเลยทีนี้ เราพยายามเจรจาแล้ว ความที่ฐานทรัพยากรมันเยอะ พอเขา (ประมงพาณิชย์) เข้ามาแล้วมันคุ้ม ก็เข้ามาอีกเรื่อยๆ แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ตอนนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ มีแต่วิทยุแบบใช้เสา เขาก็ใช้วิทยุเรียกเพื่อนมาตะลุมบอนกันใหญ่เลย ก็มาหน้าบ้านสวนกง ไปหาดนาทับบ้าง มันก็เละ ใช้กำลังกัน ขึ้นโรงขึ้นศาล สุดท้ายก็แก้ไม่ได้ พอมารู้อีกทีก็เป็นของนายทุน ของนักการเมืองในพื้นที่ ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้ พวกเราก็มาจัดตั้งกลุ่ม ชื่อกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบ้านสวนกง
ยะห์: ของหนูเริ่มต้นจากเลือดมันแรง (หัวเราะ) จะไปไหน หนู แม่ พ่อ ไปด้วยกันตลอดเลย จนเพื่อนพ่อตั้งฉายาให้ว่าเป็นสนิมติดรถพ่อ (หัวเราะ) ตามไปทุกที่ไม่ว่าจะวงประชุมไหน แล้วหนูเองเป็นเด็กที่คนในหมู่บ้านเรียกว่า ‘ยะห์ยุ่ง’ (หัวเราะ) เป็นตัวจุ้นจ้าน เป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม เวลาผู้ใหญ่คุยกัน หนูก็จะตั้งคำถาม “แล้วมันเป็นพันพรือ” (แล้วมันเป็นอย่างไร, ทำไปเป็นอย่างนี้)
เริ่มจากพ่อไปนั่งประชุม ถอดบทเรียนกับชาวบ้าน เราได้นั่งฟัง ทีแรกเราก็ไม่รู้สึกอะไรแต่พอยิ่งโตมาเราก็ยิ่งรู้สึก มันยิ่งไปสปาร์คตอนที่หนูได้ลงพื้นที่แล้วเก็บข้อมูลเอง เห็นความเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ กับชีวิตของเรา ว่าทำไมเราถึงโตมาเป็นเนื้อหนังได้ขนาดนี้ มันมาจากอาหารทะเลที่เรากิน ทำไมเราถึงมีเสื้อผ้าใส่ มันก็มาจากพ่อทำอาชีพประมงแล้วเอาไปให้แม่ขายที่ตลาดนัดที่เราไปกับแม่ทุกเสาร์อาทิตย์
เหมือนกับคนที่บ้านบอกว่า “ทะเลก็คือชีวิต” มันคือชีวิตของพวกเราในหมู่บ้าน ที่อยู่ชายฝั่งทะเลตรงนั้น ทั้งชีวิตของเขามาจากทะเล บางคนต้องออกเลตั้งหลายรอบกว่าจะได้เงินมาสร้างบ้านทีละหลัง บ้านที่หนูอยู่ทุกวันนี้ด้วย หนูเรียนมาได้จนถึงขนาดนี้พ่อต้องออกเลไปตั้งเท่าไหร่
อันนั้นอาจเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่พอลงลึกไปในเรื่องของข้อมูล มันเชื่อมโยงตรงที่ว่า พอเราไปเห็นข้อมูลภูมิปัญญาว่ามันมีอะไรบ้าง ปกติเรารู้จักแต่ว่าคนนี้คือลุง คนนี้คือป้า น้า อา แต่เราไม่รู้ว่าเขามีอาชีพอะไรพิเศษ พอเราได้ไปเคาะประตูบ้านว่าใครทำอะไรบ้าง เราก็ได้ข้อมูลภูมิปัญญามากมาย อย่างพ่อเป็นดูหลำ คนฟังเสียงปลา หรือ ‘อูหยำ’ คนสร้างบ้านปลา มันเห็นความสำคัญของทะเลว่าคนในหมู่บ้านเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพ่อของเราที่เป็นคนได้รับความเจ็บปวดจากการถูกแบ่งแยกจากอาชีพ แล้วเขาไม่อยากให้เราต้องเจอสถานการณ์ที่ทะเลไม่มีปลาจะกิน ทั้งๆ ที่อยู่หน้าบ้าน เพราะพวกเรือใหญ่ เรือพาณิชย์เข้ามา ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่เรือพาณิชย์แล้ว แต่มันกำลังจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม
บังนี: ใช่ เลวร้ายกว่าอีก
ยะห์: พอเรารู้ว่ามีอะไรบ้าง เราก็กลับมาคิดนะ คุยกันกับพ่อหลายรอบอยู่กว่าจะเข้าใจ มันต้องเข้าใจด้วยตัวเอง พอเข้าใจแล้วเหมือนได้ปลดล็อก นั่งคุยกับเพื่อนว่า เอ๊ะ ภูมิปัญญานี้อยู่มาได้ยังไง เราอยากให้คนอื่นรู้ว่าภูมิปัญญาบ้านเรานี้อยู่กันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และมันมาจากทรัพยากรที่มีเยอะแยะจนล้น จนต้องเอามาทำเป็นอาหารแปรรูป เพราะสมัยก่อนมันไม่มีน้ำแข็ง ก็ทำให้เห็นว่า อ๋อ นี่ไงมันอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมือนที่เขา (ฝ่ายต้องการสร้างนิคมอุตสาหกรรม) พูดกันว่า ตรงนี้มีสัตว์ทะเลน้อย ถ้าน้อยเราจะเอามาแปรรูปได้ยังไง
ตอนเราเป็นเด็กเราเคยมองข้ามสิ่งนั้นไป ยังไม่เห็นคุณค่า แต่พอเราทำอะไรหลายๆ อย่าง ลองไปเดินบนเนินทรายอายุหกพันกว่าปี จึงเข้าใจว่ามันมีคุณค่ายังไง ยิ่งมีเต่า ยิ่งเห็นปลาโลมา ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกในใจชัดเจนมากขึ้น
ตอนนี้โครงการนี้ (นิคมอุตสาหกรรม) ถูกอนุมัติแล้ว ถ้าเกิดโครงการนี้จริงๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับชาวบ้านบ้าง
ยะห์: กระทบแน่นอน แม้ตอนนี้ผังของเค้าจะเลื่อนจากที่บ้านหนูไปอยู่ในไร่ ถึงที่ตรงนั้นจะไม่มีหมู่บ้านก็ตาม แต่ผลกระทบตามมาคือมลพิษมันอยู่ในบริเวณนั้นแน่นอน ถามว่าใครมันจะอยู่ท่ามกลางมลพิษได้ คือหนีไปไหนไม่ได้ต้องนอนรอความตายอยู่ที่นั่นเหมือนกับมาบตาพุดนั่นแหละ
มันจะส่งผลกับอาชีพอย่างไรบ้าง
บังนี: ย้อนไปตอนที่ประมงพาณิชย์มาทำลาย ตอนนั้นมันถึงขั้นที่ว่าชาวบ้านต้องออกไปหากินข้างนอก เพราะมันหมดจริงๆ หมดทั้งเครื่องมือ หมดทั้งปลา เพราะพวกเขาจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเลยว่า ขนาดเรามีเครื่องมือ มีทะเล เราก็ทำงานไม่ได้เพราะทรัพยากรมันหมด ตอนนั้นชาวบ้านต้องออกไปหากินนอกบ้าน ต้องแยกจากครอบครัว เราก็เลยคิดว่าถ้าเกิดมีนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา มันจะแย่กว่านั้นอีกนะ
ก่อนจะประกาศนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็มีเรื่องท่อโรงแยกก๊าซเข้ามาก่อน ซึ่งตอนนั้นมันเป็นบทเรียนได้อย่างดี คือเมื่อมีโครงการโรงแยกก๊าซเราก็เริ่มเรียนรู้จากที่อื่นว่าส่วนใหญ่นายทุน รัฐบาล เขาก็จะโฆษณาสวยหรู ให้ใช้ก๊าซฟรีบ้าง บ้านเราจะพัฒนา มีงานทำ มีอาชีพ รายได้ดีขึ้น
เมื่อเราได้ฟังคำนี้มา เราก็ไม่รอช้า พอมีปัญหาบนบก เราก็เลยไปหาความรู้นอกบ้าน ดูว่าที่ไหนบ้างที่มีอุตสาหกรรมเหมือนกับเรา เราก็จัดชาวบ้านไปดูงานที่มาบตาพุด ดูงานที่โน่นที่นี่ แล้วก็ไปสอบถามคนในหมู่บ้าน ปรากฏว่าคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยู่ในมาบตาพุด ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งแปลว่าไม่ได้เกิดงานจริงๆ เราก็ถามเขาว่า แล้วตอนนี้อาชีพประมงเป็นไงบ้างตอนนี้ เขาก็ตอบกลับมาว่า “จะไปเหลือเหรอลูกเอ๊ย” คือมันหมด หมดจนกระทั่งเขาต้องออกไปหากินต่างจังหวัด ไกลขึ้น
เราถามเกี่ยวกับสภาพอากาศ การปลูกผักปลูกพืชต่างๆ เขาก็บอกว่าอย่างมะม่วงเนี่ยทีแรกก็ออกลูก ออกดอกของมันดีๆ แต่สุดท้าย พอออกดอกแล้วมันก็จะกลายเป็นสีดำแล้วร่วงหมด พืชผักก็จะมีเขม่า บริโภคไม่ได้เลย แต่ว่าบริษัทพยายามด้วยการสร้างกลุ่มชาวบ้านแล้วเอาหอยแมลงภู่ให้เลี้ยง ได้ค่าจ้างนะ แต่ก็ได้เป็นกลุ่มๆ คือมันจะไม่กระจาย เพราะชาวบ้านมีอยู่เยอะ แล้วหอยแมลงภู่ชุดนั้นเนี่ย ไม่ได้เอาไปขายนะ แต่ไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน
นายทุนทำอย่างนี้เพื่อที่จะบอกกับคนมาดูงานว่า น้ำของไม่ได้เสีย ยังเลี้ยงหอยได้อยู่ แต่จริงๆ แล้วหอยแมลงภู่มันทนกับมลพิษ ชาวบ้านก็จะไม่เอาไปขายนะ อาหารไม่ปลอดภัย อาชีพก็ไม่ปลอดภัย หรือแม้แต่อากาศ ชาวบ้านบอกว่าเมื่อก่อนเขาหลงเชื่อนายทุน ขายที่ดินให้ในราคาที่ถูกเพราะนายทุนบอกว่า ต่อไปลูกหลานของลุงจะสบายมีงานทำ เขาก็เทขายไปหมดเลยเพื่อที่จะให้ทำโรงงาน แต่สุดท้ายแล้ว ลุงยังไม่ตาย แต่ลูกหลานของลุงย้ายหนีไปหมดแล้ว ลุงเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ ฝังรากไว้ที่นี่ ลุงจะไม่ยอมย้ายไปไหน แล้วตอนนี้ ลุงเป็นมะเร็ง เมียของลุงก็เป็นมะเร็ง ลูกสาวของลุงก็เป็นมะเร็ง แต่ลูกสาวของลุงตายไปแล้ว เขาเล่าอย่างนั้น
แล้วรัฐหรือเอกชน ยื่นข้อเสนออะไรให้ชาวบ้านจะนะบ้าง
บังนี: โอ๊ย มีเยอะ เป็นโฆษณาคำหวานเหมือนกัน เช่น ให้ทำงานแสนตำแหน่ง
ทำไมบังนีไม่เชื่อ
บังนี: มันตลกอะ แสนตำแหน่ง
ยะห์: คนสงขลาอัตราการตกงานต่ำมาก และเราไม่ได้เดือดร้อน เราก็มีอาชีพอยู่แล้ว มีงานทำอยู่แล้ว นอกจากขี้เกียจเท่านั้นนั่นแหละ ถึงไม่มีงานทำ
บังนี: แล้วมันเป็นงานที่เราจะสามารถเป็นผอ.ได้ คือเราเป็นนายอยู่แล้ว แล้วเราจะเปลี่ยนงานเพื่อไปเป็นลูกจ้างเขาทำไม
ในเมื่อเรามีกิจการใหญ่โตเท่าทะเล ยังมีทะเลต้องรักษา เรามีโรงงานที่ใหญ่มากที่เราร่วมกันเป็นเจ้าของ แล้วอยู่ดีๆ เราจะขายกิจการของเรา เพื่อไปเป็นลูกจ้างเขา มันดูยังไงๆ อยู่นะ
ชาวบ้านคนอื่นๆ เขาเชื่อแบบบังนีกับน้องยะห์ไหม
บังนี: ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาเชื่อนะ แต่มันก็จะมีที่เฉยๆ ด้วย โครงการใหญ่ๆ อย่างนี้มันต้องมีผู้อิทธิพลอยู่เบื้องหลัง พวกผู้มีอิทธิพลเหล่านี้คือนักการเมืองในหมู่บ้าน พวกนี้จะกดมาเป็นชั้นๆ คือจะมีฝ่ายสนับสนุนก็จะได้ตังค์ มีการจัดจ้าง พอเขาเห็นเราขึ้นมากรุงเทพฯ เขาก็คิดว่าเราจะเป็นเหมือนเขา คือมีการจัดจ้างเหมือนกัน เขาจะมองเราว่าเรามีอาชีพประท้วง (หัวเราะ)
ยะห์: จริงๆ แล้วที่มาเนี่ย ควักเงินในกระเป๋าตังค์ตัวเอง แล้วก็ไม่ได้ออกเลด้วย
บังนี: เราอยากให้คนที่เขาไม่ชอบใจเรา อยากให้เขามาอยู่กับเรา ติดตาม เกาะชีวิตของเราสักพักในช่วงเวลานี้ว่าเรามีชีวิตอยู่ยังไง เราคิดยังไง
ทำไมเราต้องมาเสี่ยงเดินข้ามถนนทั้งๆ ที่เราไม่เคยเดินข้ามถนนกว้างๆ อย่างนี้ ทำไมเราต้องมาเสี่ยงต้องมานอนแบบนี้ ไม่สบาย ร้อน อากาศก็ไม่ชิน ยังต้องมาคุยกับใครไม่รู้ ต้องไปคุยกับคนที่ตำแหน่งใหญ่กว่า ทั้งๆที่พวกเราก็คุยไม่เป็น
แต่ยะห์คุยเป็น
ยะห์: หนูคุยด้วยความจริงมากกว่า กว่าสิ่งที่เขาพูดมาอย่างสวยหรูที่เขาจะเอามาเป็นเหตุผลให้กับสิ่งที่พวกเขาทำ
ยะห์ใช้ social media เยอะด้วย
ยะห์: หนูติดใจอยู่ตรงที่ม็อบท่อก๊าซ มันไม่มีคนทำสื่อ ไม่มีใครมาถ่ายเรา ไม่มีใครมาถ่ายชาวบ้าน คือถ้าไม่มีคนมาทำสื่อบ้านเรา หนูก็ทำเอง
ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ยะห์: ก็มีคนให้กำลังใจ
บังนี: มีคนกดไลก์เป็นพันแล้วเนี่ย เธอน่ะ (หัวเราะ) เก่งนะเธอเนี่ย (หัวเราะ)
พ่อภูมิใจไหม
บังนี: ก็ภูมิใจนะ ในสิ่งที่เป็น ไม่ใช่ภูมิใจที่คนติดตามเยอะ
ไม่ได้ภูมิใจที่เขาดัง แต่ภูมิใจที่เขามีจิตใจที่เป็นส่วนกลาง คิดถึงคนอื่น รักษาฐานทรัพยากรให้คนอื่นๆ เห็นคุณค่าในงานที่เขาทำ เราภูมิใจสิ่งนี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะทำได้สักแค่ไหน มันจะเป็นรุ่นหลังแล้ว ก็สมหวังแล้วว่าเรามีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน
ในคนรุ่นใหม่ๆ แบบยะห์ มีคนอื่นๆ อีกไหม
ยะห์: มีคนในพื้นที่ อย่างตอนที่หนูอยู่ที่นี่ นั่งอยู่คนเดียว เพื่อนๆ เขาก็ไปไลฟ์สด มีขบวนอยู่ที่บ้าน เด็กๆ ก็มานะ ก็จะมีแก๊งปูลม ถามเขาว่ามาทำไม เขาบอกว่ามาทวงสัญญา
ดีใจไหมที่มีน้องๆ มีเพื่อนๆ คนอื่น มาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้
ยะห์: รู้สึกเหมือนพ่อ รู้สึกภูมิใจ อย่างน้อยก็มีคนสืบทอดเจตนารมณ์ ที่อยากจะปกป้องทรัพยากรของโลก หนูกล้าพูดคำนี้เลย เพราะว่าจะนะเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงทรัพยากร พร้อมจะแจกจ่ายไปให้กับคนทั่วไปไม่ว่าใครต้องการ และทรัพยากรจะไม่หมดไปเพราะนอกจากที่เราจะแบ่งปัน เราใช้ประโยชน์ เราจะยังมีการทดแทน ทดแทนด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู
บังนี: คือถ้าเอาง่ายๆ ถ้าจะให้พิสูจน์หรือดูง่ายๆ ในยุคโควิดที่ผ่านมา ผมมองสถานการณ์ประเทศไทยและสถานการณ์โลก ทุกคนจะใช้ชีวิตแบบวุ่นวาย กลัวอด ทุกคนพยายามกักตุนอาหาร และทุกคนก็ขาดอากาศบริสุทธิ์ ขาดอะไรหลายอย่างที่คนจะนะไม่ขาด เราก็ได้โอกาสมาคิดดูแล้วว่า ถ้าเราปล่อยให้การทำลายล้างเกิดขึ้นกับจะนะจนไม่มีวันหวนกลับมาแล้ว เราจะเอาทรัพยากรที่ไหนไปช่วยเพื่อนมนุษย์ในยามวิกฤติ อย่างน้อยๆ ช่วงโควิดเราก็ได้อาศัยทะเลเนี่ยแหละ เอาอาหารมาแจกจ่ายสาธารณะ
อย่างที่หาดใหญ่ มันจะมีชุมชนเล็กๆ ชุมชนสลัม ชุมชนที่เขาพึ่งตลาด เมื่อตลาดปิด เขาก็ไม่รู้จะไปพึ่งที่ไหน เราก็เอาทรัพยากรที่ขึ้นจากทะเลจะนะไปทำอาหารแจก เราก็ภูมิใจว่าเพื่อนร่วมโลกของเราได้กิน เราได้รับใช้พี่น้องที่เดือดร้อน
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือกัน มันคืออะไรล่ะ ผมใช้คำไม่ถูก คือเราไม่สามารถทอดทิ้งกันได้
ยะห์: มันเป็นมนุษยธรรม
บังนี: เออ ใช่ คือรัฐเขาไม่เคยอยู่ในสังคมแบบเรา เขาไม่ได้รู้ว่ากว่ามันจะเป็นทรัพยากรขึ้นมา กว่าปลาแต่ละตัวจะเติบโตขึ้นมา กว่าจะเอาไปให้ผู้คนแต่ละคนมันต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง รัฐแค่ขออนุมัติงบฯ เขาไม่เคยไปเรียนรู้ชาวบ้านเลยว่า วิถีความเป็นอยู่ของเขาเนี่ยเป็นยังไง หรือมีวิถีวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันยังไง
แม้ว่าเราจะเป็นคนชนบท เป็นคนใช้แรงงานที่ตากแดดตากลม แต่เราก็เป็นห่วงสุขภาพของคนกรุงเทพนะ แม้กระทั่งถึงตอนนี้เราก็ยังเป็นห่วงสุขภาพของคนกรุงเทพ เพราะในอนาคตมันก็แออัดขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่เรามาอยู่ขณะนี้ วันนี้เรารู้สึกอึดอัดมากเลย ไม่ว่าจะเป็นอากาศ การกิน หุงหาอาหาร มันไม่เหมือนที่บ้านเรา ที่บ้านเรามันสบาย จะกลิ้ง จะนอน จะทำอะไรตรงไหน มันก็สดชื่นไปหมด
อะไรทำให้นักศึกษาปีหนึ่ง มานั่งตรงนี้คนเดียว
ยะห์: วิบ (หัวเราะ) มันโมโห มันโกรธ โกรธแล้วทำอะไรไม่ได้ และด้วยความที่เราเป็นเด็กดี เราก็เลยไปนั่งรอแบบดีๆ แบบสันติ เพราะอยากรู้ว่า ทำไมยังมีการดำเนินงานอยู่ ในเมื่อเราคุยกันว่าเราจะยุติกระบวนการทั้งหมด แล้วมาทำ SEA (Strategic Environmenta Assessment : แบบประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์) ร่วมกัน สงสัยแค่นี้แหละ แต่รัฐบาลเค้าบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนเซ็นสัญญา
เคยคิดไหมว่าการมาคนเดียว มานั่งคนเดียว เสียงเล็กๆ ของเราจะไปถึงรัฐบาลได้ไหม
ยะห์: ไม่ได้ประเมินอะไรเลย วันนั้นมันดีตรงที่ว่า หนูไม่ต้องเสียค่าตั๋วเอง เพราะว่าวันนั้น จะมาเป็น speaker ของ The standard มาแล้วก็เลยนั่งเลย ไม่กลับบ้าน (หัวเราะ)
พ่อห่วงไหม ลูกสาวมาคนเดียว
บังนี: ก็ห่วงอยู่นะ
แล้วพ่อก็มาสมทบ
ยะห์: ใช่ค่ะ กว่าจะมา!! (เสียงงอน) ปล่อยให้นั่งคนเดียวตั้งนาน ทำไมนาน (หัวเราะ)
บังนี: คืออย่างนี้ ขอแก้ตัวหน่อย (หัวเราะ) ที่เรามาเมื่อปีที่แล้วเนี่ย รัฐบาลเขาบอกว่าพวกเราวุ่นวาย มากันทำไมมากๆ สี่ห้าสิบคน ลำบากเรื่องการเดินทาง เปลืองค่าใช้จ่าย พูดเหมือนเขาเป็นห่วงเรา เขาบอกว่ามาแค่คนสองคนก็พอแล้ว เราก็จดจำคำนั้นของรัฐบาล และเมื่อสัญญากำลังจะครบรอบ 1 ปี ปรากฏว่ารัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรตามสัญญาได้เลย พอดีน้องยะห์ เขาขึ้นมาทำธุระอยู่แล้ว ครอบครัว พี่น้องเครือข่ายเลยคุยกันว่า ในเมื่อน้องยะห์ขึ้นมากรุงเทพอยู่แล้วก็น่าจะขึ้นไปนั่งหน้าทำเนียบไปทวงสัญญาดูว่าเขาจะว่ายังไง ก็ให้น้องยะห์ไปนั่ง ไปนั่งวันแรกก็ไม่มีใครสนใจ
ยะห์: มีนักข่าวมาเรื่อยๆ
บังนี: นักข่าวสนใจ แต่รัฐบาลไม่สนใจ ไม่สนใจเลย แถมยังมีลิ่วล้อ โทรไปบอกนายว่า นายครับ ไม่เป็นไร เขาแค่เด็กผู้หญิงคนเดียว พอเด็กมันเบื่อๆ เดี๋ยวมันก็กลับ เขาบอกว่าเด็กมันมาเล่นขายของ เดี๋ยวมันก็กลับ ชาวบ้านพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา เขาก็ดูอยู่ว่าสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ในเมื่อรัฐบาล ไม่ตอบสนองเราก็ประชุมกัน คิดกันว่าจะเอายังไง สุดท้ายแล้วก็ต้องไปให้เต็มเหมือนเดิม
นับจากปี 36 ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการสลายการชุมนุม
บังนี: โอ๊ย หลายครั้งแล้ว
ยะห์: ครั้งนี้ครั้งที่ 3
มีครั้งไหนที่รู้สึกว่ากระทบมากที่สุด
ยะห์: ที่กระทบที่สุดน่าจะเป็นตอนนี้แหละ หลอกเรา แล้วพอเรามาถามมาทวงสัญญา ก็มาสั่งจับ จับโดยที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ไร้มนุษยธรรมมาก พ่อก็ถูกจับ จริงๆ ตอนนั้นถ้าเอาพ่อไปคนเดียวก็โกรธนะ แต่วันนั้นไปหลายคนก็ไม่เป็นไร พ่อโดนจับ เป็นประสบการณ์ (ตบไหล่พ่อ) (หัวเราะ)
บังนี: โอ๊ย จะกี่ครั้งกัน ประสบการณ์มันเยอะแล้ว (หัวเราะ)
บังนีรู้สึกอย่างไรบ้าง
บังนี: โดนจับ โดนตั้งข้อหา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิดเหรอ ผมว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลไม่มีวุฒิภาวะ เราแค่มาทวงสัญญา ก็แค่มาถามก่อน แบบผู้ใหญ่คุยกันก่อน มาถามชาวบ้านสักนิด หรืออาจจะให้ชาวบ้านพักก่อนสักหน่อย สักคืนหนึ่ง อันนี้แค่สามชั่วโมง บางคนยังไม่ได้กินข้าวเลย บางคนกินข้าวอิ่มๆ คุณก็มากระชาก อะไรงี้ ซึ่งตรงนี้ผมว่า รัฐบาล….(เว้นนาน) ไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านที่มานั่งตรงนั้น มองว่าชาวบ้านเป็นสิ่งกีดขวาง สิ่งขวางทาง ยกไปไหนก็ได้ รัฐบาลคิดเอาเองว่าตัวเองจะทำอะไรกับใครกลุ่มไหนก็ได้ ปัญหานี้แหละที่เราชาวบ้านอำเภอจะนะจะไม่ยอมให้รัฐบาลทำอย่างนี้อีกต่อไป
ทำไมถึงไม่ยอม เพราะว่าถ้าเรายอมครั้งนี้ มันก็จะลุกลามไปถึงพี่น้องของเราในประเทศไทย อันนี้แค่ภาคใต้ อาจจะเป็นภาคกลาง กรุงเทพ ภาคเหนือ ภาคอีสาน เขาก็จะทำทั่วไป อันนี้ก็อยากจะดัดนิสัยรัฐบาล ก็เลยจะอยู่มันอย่างนี้
ที่เราเขียนจดหมายถึงยะห์ตอนที่อยู่ในห้องคุมขัง ที่บอกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะสู้ และยินดีสู้คดี และยินยอมที่จะเอาชีวิตเข้าแลก อันนี้คือพูดจริงๆ แล้วก็เขียนจริงๆ แล้วก็ประกาศจริงๆ ไม่ได้เขียนด้วยอารมณ์โกรธ แต่เขียนด้วยความจริงที่ว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใคร
อยากคุยเรื่องสัมพันธ์พ่อกับลูกบ้าง ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอะไรด้วยกันบ้าง ที่ไม่ใช่เรื่องการเคลื่อนไหว เรียกร้อง
บังนี: ขอตังค์
ยะห์: พ่อขอตังค์ลูก (หัวเราะ)
บังนี: ผลัดกันขอ (หัวเราะเสียงดัง)
ยะห์: หนูจะเป็นคนชอบชวนคนในบ้านไปเที่ยว หอบข้าวไปกินที่ลำธาร น้ำตก เพราะบ้านเราไม่มีลำธาร น้ำตก บางทีก็ไปนั่งเล่นที่เนินทราย บางทีก็ชวนพ่อไปเดินห้าง ตอนเด็กๆ ชอบชวนพ่อไปเดินห้าง เพราะอยู่ในบ้านไม่เคยเห็นห้าง ก็อยากไปทุกปีๆ ในช่วงฮารีรายอ เรามีแพลนไปเที่ยวไปทำกิจกรรมกันตลอด แต่พอมีเรื่องแบบนี้ มีการเคลื่อนไหว ก็ห่างกันเยอะมาก คือครอบครัวอื่น พ่อจะโทรตามหาลูก ครอบครัวนี้คือ ลูกต้องโทรตามหาพ่อ ว่าพ่ออยู่ตรงไหน ถึงบ้านยัง ไปอยู่ตรงไหน ก็แทบจะไม่มีเวลา
สนิทกันไหมคะ
บังนี: ก็สนิทนะ
มีอะไรยะห์ก็เล่าให้พ่อฟังไหม
บังนี: ไม่หมด (หัวเราะ)
ยะห์: ระแวง ใครจะเล่าหมด พอเข้ามหา’ลัยก็จะมีคุยงานกับเพื่อนดึกๆ ดื่นๆ ก็ไม่รู้ว่าพ่อกับแม่จะเข้าใจว่าคุยกับแฟนรึเปล่า
บังนี: ก็คิดบ้างบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่เราดูพฤติกรรมของเขาเนี่ย คือรับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ ตัดสินใจอะไรเองได้ ส่วนใหญ่จะปล่อยๆ แล้วก็ดูห่างๆ คิดว่า เขาคงไม่ทำอะไรที่มันไม่ดี คืออย่างน้อยเขาต้องคิดถึงหน้าพ่อกับแม่ เพราะขนาดสังคมเขายังแคร์ พ่อกับแม่ เขาแคร์แน่นอน เราก็คิดไปอย่างนั้น ค่อนข้างไว้วางใจ
พ่อลูกเห็นต่างกันไหม เห็นต่างแล้วทำอย่างไร
ยะห์: โอย ประจำ ประจำ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องกับข้าว เค็ม หวาน หนูบอกว่าหวาน พ่อบอกว่าเค็ม (หัวเราะ)
บังนี: มันจะเห็นต่างแต่เรื่องแบบนี้แหละ
ทะเลาะกันไหม
บังนี: ทะเลาะกันบ่อย คือยะห์เขาเป็นคนที่งานยุ่งเกี่ยวกับเอกสาร บางทีเขาก็ขี้เกียจอธิบาย บางทีเราก็อยากจะเล่นคอมบ้าง อยากจะทำเป็นบ้าง ก็ให้เขาสอน เค้าก็สอนไม่ได้อะ (หัวเราะ)
ยะห์: พ่อแหละ เรียนไม่ได้ (หัวเราะ)
บังนี: เขาสอนไม่ได้
ยะห์: พ่อแหละเรียนไม่ได้ พ่อลืมทุกที
บังนี: ทะเลาะกันเรื่องแบบนี้อะ บ่อย ทะเลาะเรื่องโทรศัพท์มีปัญหา เรื่องจุกจิกแบบนี้บ่อย แต่แล้วมันก็ลืมๆ คือเราเลี้ยงแบบใกล้ชิด ทะเลาะกันสักพักก็ลืม
ลูกสาวทะเลจะนะ ในวันที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทำอะไรบ้าง
ยะห์: กระโดดยาง ปีนต้นไม้
ปีหนึ่งแล้วนะ
ยะห์: ได้ (เสียงสูง) ตอนม.6 หนูยังกระโดดยางเลย
มีความฝันอะไรบ้าง
ยะห์: หนูอยากไปอยู่ในป่าอะไรสักป่าในประเทศไทย ชอบถ่ายภาพ แล้วก็ชอบทะเลหมอก ชอบอะไรที่เป็นธรรมชาติ
เรียนคณะอะไร
ยะห์: การสื่อสาร
ทำไมเลือกเรียนคณะนี้
ยะห์: ฝังใจ ตอนที่ท่อก๊าซโดนสลายการชุมนุม แล้วไม่มีสื่อมาส่งเสียงให้มันมากพอ ไม่มีคนรู้ความจริง แล้วมันเกิดค่านิยมว่า ต่อสู้ท่อก๊าซในวันนั้นแล้วแพ้ แต่จริงๆ ชาวบ้านจะนะชนะ เพราะว่าก่อนหน้านี้เขาใช้คำว่า “ท่อก๊าซไทยมาเลเซีย และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” คำว่า นิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มันคือต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมตอนนี้ที่มันกำลังเกิดขึ้น ซึ่งถ้าในวันนั้นชาวบ้านจะนะแพ้ ตอนนี้นิคมเต็มไปหมดแล้วภาคใต้ นั่นคือจุดที่หนูอยากออกมาสื่อสาร มันมีเรื่องที่ต้องพูด
อยากทำสื่อด้านไหน
ยะห์: ส่วนตัวอยากเป็นผู้กำกับหนังสารคดี มีพี่คนหนึ่งที่เขามาถ่ายหนู แล้วหนูบ่นๆ ว่าอยากเป็น แล้วเขาก็ให้หนูลองถ่าย เขาก็ถ่ายหนูตอนที่หนูถ่ายอีกที พอถ่ายแล้วเอาฟุตเทจมาดู เขาก็บอกว่าหนูๆ ไม่ต้องไปเรียนแล้ว ไปเรียนอย่างอื่นเถอะ (หัวเราะ)
มีอะไรอยากฝากถึงคนอื่นๆ ไหม
ยะห์: อยากให้ทุกคนกล้าออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง กล้าที่จะใช้สิทธิ์ที่ตัวเองมี ไม่ต้องทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนที่ตัวเองรัก ต่อคนในชุมชน ต่อคนในครอบครัว
พอเราทำมันไปเรื่อยๆ มันก็จะเริ่มขยับ เริ่มเห็นความสำคัญ และความเชื่อมโยงว่ามันจะส่งต่อไปให้คนทั้งโลกได้ยังไง เหมือนที่หนูปกป้องบ้านหนู เพราะบ้านหนูคือแหล่งทรัพยากรของคนทั้งโลก
บังนี: อยากให้เยาวชนทุกคนหันมามองครอบครัวตัวเอง ว่าครอบครัวตัวเองอยู่ได้ด้วยอะไร แล้วก็ใช้สิทธิ์ของตัวเอง ในการเป็นตัวเอง ในความเป็นมนุษย์ว่าเราจะเอื้อเฟื้อแบ่งปันยังไง
ถ้าเด็กๆ ยังมองไม่เห็นคุณค่าของครอบครัว ของบ้านเกิด เราจะสอนลูกเรายังไง บังนีสอนน้องยะห์อย่างไร
บังนี: น้องยะห์นี่มันมีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดแล้ว (หัวเราะ) มันติดตามพ่อไปตลอด แต่ผมว่า โลกนี้จะสอนพวกเราทุกคน เพราะอย่างโควิดที่ผ่านมา มันจะไม่หมดไปง่ายๆ เมื่อโควิดมาผลกระทบก็จะตามมา ที่เราโดนภัยแบบนี้ มันเกิดจากฝีมือตัวเองทั้งนั้น ทำให้ระบบนิเวศเสีย เราคิดแต่จะสร้างถนน สร้างตึก สร้างอุตสาหกรรม ทำงานมากมายเพื่อให้เราหาเวลามีความสุข แล้วสุดท้ายความสุขของเราอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่การที่ครอบครัวได้มารวมตัวกันต่างหาก ถ้าครอบครัวอยู่กันคนละทาง ต่อให้เรามีเงินมาแค่ไหนก็ไม่มีความสุข สุดท้ายเราก็จะต้องเอาเงินมารักษาสิ่งที่ไม่มีทางกลับมาอยู่ดี
หมายเหตุ : สนับสนุนการทำงานของสมาคมรักษ์ทะเลจะนะได้ที่ บัญชีธนาคารออมสิน เลขที่ 020120405392 ชื่อบัญชี สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ