‘เฟมินิสต์’ กับ ‘หมอลำ’ ดูเป็นคำ 2 คำที่ห่างไกลกันสำหรับใครหลายคน แต่หากคุณได้รู้จัก ‘เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์’ คณะหมอลำ LGBTQ+ ที่รวบรวมนักร้องนักเต้นที่มีความหลากหลายทั้งทางเพศ วัย รูปร่าง ฯลฯ หากเราเคยได้ดูโชว์ของพวกเขา คุณอาจเข้าใจได้เลยว่าเฟมินิสต์กับหมอลำนั้นเข้ากันได้ และยังเข้ากันได้ดีอีกด้วย
แนะนำให้กันฟังอย่างย่นย่อ เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์คือคณะหมอลำที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2563 โดย ไอค่อนแพรี่-ธันยบูรณ์ ทิพย์รักษ์ นักกิจกรรม LGBTQ+ อายุ 21 ปี ที่เชื่อว่าการเรียกร้องเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นไม่จำเป็นต้องปราศรัยด้วยความฮึกเหิม หรือนั่งเสวนาจับเข่าคุยแล้วอัดความรู้แน่นๆ แต่การสร้างความเข้าใจนั้นทำได้ผ่านเสียงแคนและท่าเต้นอันม่วนจอย
เช่นเดียวกัน การเปิดพื้นที่ให้คนชายขอบเข้ามาเป็นสมาชิกวงหมอลำ ก็เป็นการสร้างภาพจำใหม่ๆ ให้แวดวงเห็นว่าหมอลำนั้นปรับตัวได้ และไม่ได้เป็นศิลปะที่ผูกยึดกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
อีกไม่นานเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์มีกำหนดการเปิดการแสดงอีกครั้ง เราจึงถือโอกาสนี้ดึงตัวไอค่อนแพรี่มานั่งคุยกันถึงจุดเริ่มต้น ความเชื่อเบื้องหลังการทำวง และปณิธานอันกล้าแกร่งของวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคอีสาน
ปลดแอกหมอลำ
เกิดที่ชัยภูมิ เติบโตที่ร้อยเอ็ด ไอค่อนแพรี่หลงรักการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ออกปากว่าไม่ได้สนใจหมอลำสักเท่าไหร่
เธอเป็นนักร้องประจำวงของโรงเรียน จบออกมาทำงานเป็นนักร้องรับจ้างตามร้านรวงต่างๆ ทั่วภาคอีสาน จนกระทั่งเจอพิษการระบาดของโรคโควิด-19 ไอค่อนแพรี่งานหายเงินหด เธอจึงเข้าร่วมเรียกร้องในม็อบราษฎรที่จัดช่วงปี 2563 ในกรุงเทพมหานคร โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลุ่มผู้หญิงปลดแอก’ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก’ ในภายหลัง
“ตอนแรกเราไม่ได้สนใจเรื่องหมอลำ แต่สนใจเรื่องการทำแท้ง สิทธิเหนือเรือนร่าง และความเท่าเทียมทางเพศเป็นหลัก แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเห็นว่าแม่ๆ ในวงหมอลำและนางโชว์ตกงานกันเยอะมาก เราจึงได้มีโอกาสคุยกับพวกเขา พอได้ใกล้ชิดก็เริ่มชื่นชอบหมอลำ”
ความชอบต่อยอดให้เธอตัดชุดผ้าไหมซิ่นอีสาน ที่หยิบแรงบันดาลใจจากชุดหมอลำและนางโชว์มาผสมกัน ไอค่อนแพรี่ใส่ชุดนี้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว เรียกเสียงฮือฮาจากคนร่วมขบวนและสื่อมวลชนหลายเจ้า
“ช่วงนั้นกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกมีหลายภาค เราได้เข้าร่วมกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกอีสาน ซึ่งเรียกร้องเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีในภาคอีสาน รวมถึงการเรียกร้องให้กับคนทำอาชีพที่ถูกลืม”
และโดยไม่ได้ตั้งใจ กลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เติบโตจากจุดนั้น นั่นเพราะไอค่อนแพรี่อยากตั้งกลุ่มเรียกร้องของตัวเองในแนวทางที่แตกต่าง
“บางคนเข้าใจคำว่าเฟมินิสต์ว่าผู้หญิงเป็นใหญ่ แต่สำหรับเราคำว่าเฟมินิสต์คือความเท่าเทียมของคนในสังคม พี่แฮร์รี่-อนันตชัย โพธิขำ หนึ่งในผู้ก่อตั้งจึงตั้งชื่อวงว่าเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เพราะเราเรียกร้องด้วยความบันเทิง
“การเรียกร้องแบบปราศรัยก็มีข้อดีของมัน แต่เราฟังแล้วนั่งเครียดเพราะเขาปราศรัยความรู้กันแน่นมาก เราเลยคิดว่าเราจะทำยังไงก็ได้ให้คนที่ฟังเราเขาฟังเรา ดูเราไม่ต้องทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เราเลยสอดแทรกการเรียกร้องผ่านบทเพลงและการแสดงที่ดูสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน” ไอค่อนแพรี่อธิบายด้วยตาเป็นประกาย
เฟมินิสต์ / บันเทิง / ศิลป์
เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เริ่มก่อร่างสร้างตัวในเดือนตุลาคมปี 2564
ในยุคแรกเริ่ม กิจกรรมของเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์คือการตั้งวงเสวนาสลับกับการแสดงลิปซิงค์ของนางโชว์ ละคร และการแสดงหมอลำที่ร้องเล่นเต้นสด ซึ่งสมาชิกที่มาแสดงก็มีส่วนผสมของคนหลากหลายทางเพศและวัย มีทั้งเกย์ ทอม ดี้ ทรานส์เจนเดอร์ นอนไบนารี รวมถึงคนชายขอบที่ไม่เคยขึ้นเวทีหมอลำมาก่อน
“หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเอาเกย์หรือกะเทยมาร้องเพลง เพราะก่อนหน้านั้นหมอลำเป็นอาชีพที่ทำได้แค่เพศชายกับหญิงเท่านั้น กะเทยเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการรำ แถมยังโดนด้อยค่า แต่เราตั้งคำถามว่าทำไมจะทำไม่ได้ ตอนนั้นเลยจัดการแสดงเป็นรำเรื่องต่อกลอนที่เคยให้ชายหญิงคู่กัน กลายเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิงคู่กันบ้าง”
การแสดงครั้งนั้นโดนโจมตีจากฝั่งอนุรักษนิยมอย่างรุนแรง ว่าทำให้วัฒนธรรมหมอลำเสื่อมเสีย ซึ่งสำหรับไอค่อนแพรี่ นี่เป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจ ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังยืนยันว่าจะนำเสนอภาพความแตกต่างหลากหลายแบบนี้ออกไป
นั่นเพราะเป้าหมายของเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ คือการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในแวดวงหมอลำ ไปจนถึงอยากสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับคนอีสานอีกด้วย
“ปัจจุบันสังคมไทยขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา เช่น ในสังคมอีสานเขาเข้าใจว่าเพศหลากหลายเป็นเพศที่ตลกและอ่อนแอ หลายคนไม่เข้าใจมิติทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ จึงมักจะใช้คำเหยียดหรือบูลลี่ในปัจจุบัน มากกว่านั้น ในหมู่คนสูงวัยยังมองว่าเพศหลากหลายเป็นสิ่งแปลกประหลาด ผิดปกติ จึงมีการด้อยค่า เช่น การว่ากล่าวว่าไม่มีความสามารถในการหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ครอบครัวส่วนใหญ่จึงสอนให้เด็กๆ เลือกเป็นได้แค่เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น”
กลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์สนใจในประเด็นเหล่านี้ พวกเขาจึงรวบรวมกลุ่มวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศให้มาเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กและความเป็นธรรมทางเพศ เพื่อต่อยอดและออกแบบการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งก็คือหมอลำสุดม่วนซื่นอย่างที่หลายคนได้เห็น
เพราะความหลากหลายคือความสวยงาม
ไอค่อนแพรี่บอกเราว่า ในฉากหน้าของความม่วนซื่น การแสดงของเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์
อย่างเพลงที่ถูกคัดมาก็ล้วนเป็นเพลงที่บอกเล่าเกี่ยวกับสิทธิเด็ก หรือกลอนรำบางเรื่องก็มีเนื้อเรื่องพูดถึงความหลากหลายทางเพศ เกี่ยวกับการกีดกันของพ่อแม่ที่ไม่ให้ลูกรักคนเพศเดียวกัน เหล่านี้คือสิ่งที่ถูกคิดรวมถึงออกแบบมาอย่างประณีตและทรงพลัง
“คนที่มาดูโชว์ของวงเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ สิ่งที่เขาจะได้กลับไปคือความแปลกใหม่ที่ครั้งหนึ่งเขาอาจมองว่าประหลาด เขาอาจไม่เคยเห็นวงไหนเอากะเทยหรือทอมมาเล่นรำต่อกลอน แต่จะได้เห็นว่าพวกเขาเป็นเพศไหนก็ทำได้ และมอบพลังงานที่ดีอีกด้วย”
ปัจจุบัน เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์มีสมาชิกกว่า 53 คน และการคัดเลือกคนเข้าวงยังคงคอนเซปต์เดิม คือไม่ว่าคุณจะนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าอะไร มีรูปร่างแบบไหน หรือมีข้อจำกัดทางร่างกายแบบใด วงเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ยินดีโอบรับทั้งหมดไว้เสมอ
“เรารู้สึกว่ามาตรฐานความงามเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยโอเค ด้วยเพราะวงของเราขับเคลื่อนเรื่องประเด็นความหลากหลายอยู่แล้ว เราจึงอยากรับทั้งคนอ้วน คนผอม คนพิการมาอยู่ในวงเรา คนบางคนเคยไปสมัครวงหมอลำมาหลายแห่งแต่ไม่มีใครรับเลย เพราะเขาไม่ได้ผอมสวยตามมาตรฐาน บางคนเป็นคนข้ามเพศอายุ 30 กว่าปีที่ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับเพราะอายุเยอะ เราจึงอยากให้พื้นที่กับพวกเขา ใครเข้ามาก็รับหมด”
ตั้งแต่ก่อตั้งมา เคยมีช่วงเวลาที่อยากเลิกทำวงไหม เราโยนคำถาม
“มีๆ” ไอค่อนแพรี่ตอบอย่างรวดเร็ว “มีช่วงหนึ่งที่อยากปิดวงเพราะเหนื่อย ด้วยความเป็นหัวหน้าวงเรารู้สึกเหมือนทำงานคนเดียว เลยโพสต์ว่าจะยุติบทบาท เราพูดตรงๆ ว่าการที่เราขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง มันต้องใช้เงินเป็นหลัก ด้วยความเป็นวงหมอลำด้วย ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ ทำไปแล้วไม่เคยได้กำไรกลับมาเลย เข้าเนื้อด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็มีมูลนิธิเพื่อนกะเทยและอีกหลายๆ กลุ่ม ยื่นมือมาช่วยเหลือ เขาพูดให้กำลังใจว่า
‘ถ้าขาดเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ไป โลกก็เหมือนขาดสายรุ้งไปนะ’
เราเลยตัดสินใจทำต่อโดยไปขอทุนจากหลายๆ หน่วยงาน Young Pride Club ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราเพิ่งไปขอทุนมา”
อีกหนึ่งเหตุผลคือ การมีอยู่ของเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ทำให้ดอกไม้แห่งความแตกต่างหลากหลายนั้นงอกงามขึ้นในแวดวงหมอลำ
“หลังจากก่อตั้งวงเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เราเห็นหลายวงเหมือนกันที่เปิดรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของวง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนมาว่าเป็นประจำว่าทำไมเอากะเทยมาร้องเพลง โดนแทบทุกงานเลยด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่ได้กีดกันเขาหรอก ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เพราะสำหรับเรานี่คืองาน และเราต้องทำงานให้ดีที่สุด”
ไอค่อนแพรี่กระซิบว่า ภายในปีนี้ เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์กำลังจะเปิดวงครั้งใหญ่อีกครั้ง มีทั้งเวทีตระการตาและเวทีรถแห่ ให้มาม่วนซื่นกันแบบจัดหนักจัดเต็มแน่นอน
“เราเคยคิดว่าวงหมอลำนั้นทำยาก แต่พอมาทำจริงๆ แล้ว มันมีความสุขมากเลย มีความสุขกับการเห็นเวที การเห็นรีแอคชั่นคนดูที่เขายิ้ม การเห็นคนในวงได้ทำอาชีพนี้ และการได้เห็นคนต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปด้วยกัน เรามีความสุขที่เราได้เห็นคำว่าเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ยังอยู่ในแวดวงหมอลำอยู่” ไอค่อนแพรี่ทิ้งท้ายด้วยน้ำตาและรอยยิ้ม