ข้อคิดจาก “พี่เกียรตินิยม” ในวันที่ชีวิตไม่ได้มีแค่เกรด 4

  • “ฝุ่นฝน ยางคำ” ใช้เวลามากกว่า 20 ปี สวมบทบาท “เด็กดี” ที่สังคมอยากให้เธอเป็น แต่การเดินป่าทำให้ฝุ่นฝนค้นพบว่า เส้นทางชีวิตเด็กดีที่เธอกำลังก้าวเดินนั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ 
  • ชุดความคิดของระบบการศึกษาไทยที่ว่าการประสบความสำเร็จมีรูปแบบเดียว ส่งผลให้เด็กมากมายไม่กล้าที่จะเดินออกจากเส้นทางที่สังคมบอกว่าดี 
  • ระบบการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้มากมาย แต่สังคมจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองว่า ระบบการศึกษาไม่ใช่ “เป้าหมาย” แต่เป็น “เครื่องมือ” ของการเรียนรู้ 
  • การจะค้นหาเส้นทางที่ใช่ของตัวเองให้เจอ งานอดิเรกคือสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการพาตัวเองไปทดลองปฏิบัติ เพื่อหาสิ่งที่ตัวเอง “ชอบ” และ “ไม่ชอบ”

ถ้ามีใครสักคนถามว่ายังควรใช้เวลา 20 ปี ในระบบการศึกษา (ไทย) ไหม… ขอตอบว่า “จงหนีไป” 

นี่คือข้อความบางส่วนจากโพสต์บนเฟสบุ๊กของ “Fhunfhon Yang” หรือ “ฝุ่นฝน ยางคำ” ผู้ใหญ่วัยทำงานคนหนึ่งที่กำลังจะลาออกจากงานประจำ เพื่อให้เวลาตัวเองได้เรียนรู้และทำใน “สิ่งที่ชอบ” หลังจากที่เธอใช้เวลามากกว่า 20 ปี สวมบทบาท “เด็กดี” ที่สังคมอยากให้เธอเป็น จากเด็กเรียนเก่งสู่บัณฑิตเกียรตินิยม และพนักงานผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการทำงานอย่างแข็งขัน วันนี้ฝุ่นฝนตัดสินใจเลี้ยวออกจากถนนสายหลัก เพื่อก้าวเดินบนเส้นทางที่เธอเลือกเอง และนี่คือข้อคิดชีวิตที่ “พี่เกียรตินิยม” คนนี้อยากส่งต่อให้น้อง ๆ รุ่นหลัง พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมได้รับฟัง

ผลผลิตที่เกือบสมบูรณ์แบบ 

“เราเป็นคนที่เรียนตามระบบมาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงปริญญาโท แล้วก็เป็นไปตามที่สังคม พ่อแม่ และผู้ใหญ่อยากให้เราเป็น คือเวลาถามว่าทำไมเราต้องเรียนหนังสือ คำตอบมันก็จะออกมาว่า ถ้าไม่เรียนแล้วเราจะทำอะไร หรือถ้าไม่เรียนแล้วเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร การเรียนการศึกษาทำให้เราประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดี ดังนั้น เราจึงมีชุดความคิดนี้ติดอยู่ในหัวตั้งแต่เด็ก เราเกิดมากับความเชื่อนี้เลยว่า เราต้องเข้าโรงเรียน ต้องตั้งใจเรียน ต้องได้ที่หนึ่ง ต้องเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด ต้องเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จบมาก็ต้องทำงานราชการหรือทำงานบริษัทที่ดี ตั้งใจทำงาน เพื่อจะได้เงินเดือนเยอะ ๆ พอตอนแก่ตัวลง เราก็จะได้สบาย ซึ่งนี่คือเป้าหมายของระบบการศึกษาไทย” ฝุ่นฝนเริ่มต้นเล่า 

ฝุ่นฝนไม่ปฏิเสธว่าตัวเองคือนิยามของ “เด็กดี” ที่ผู้ใหญ่รัก เธอไม่เคยตั้งคำถามหรือรู้สึกไม่มีความสุขกับเส้นทางชีวิตที่กำลังก้าวเดิน กระทั่ง “การเดินป่า” ทำให้เธอค้นพบ “บางอย่าง” ที่ทำให้ฝุ่นฝนเลือกที่จะไม่ไปต่อกับชีวิตที่ถือเป็น “ช่วงที่ดีที่สุด” ในชีวิต 

“สิ่งสำคัญที่ได้จากการเดินป่าคือ มันไม่ใช่แค่ไปเดินแล้วเราได้เห็นอะไร แต่มันได้อยู่กับตัวเอง เราได้ยินเสียงข้างในของตัวเองชัดมากเลย เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่เรียนหนังสือจนถึงทำงาน เราไม่เคยได้ฟังเสียงของตัวเองเลย เพราะเสียงข้างนอกมันดังมาก แต่พอเราไปอยู่ข้างในนั้น มันไม่มีอะไรนอกจากเสียงของเราเอง มันเลยเหมือนเป็นช่วงเวลาเบิกเนตรของเรา” 

“มันทุบความเชื่อทั้งหมดของเราไปจนหมด ก่อนเข้าไปเรารู้สึกว่าเราเก่งมาก เรามีอุปกรณ์ เราทำการบ้านมาพร้อมหมด แต่พอเข้าไป เรากลับทำอะไรไม่ได้เลย เราเลยตระหนักได้ว่าจริง ๆ เราไม่ได้เก่งนะ ในโลกนี้มีอะไรอีกตั้งเยอะแยะมากมายที่เราไม่เคยรู้ เพราะเราไม่เคยถอยออกมาจากเส้นทางที่เราเดินอยู่ทุกวัน เราตกตะกอนจากตรงนั้น แล้วเราก็เลือกที่จะไม่ไปต่อ ณ วันที่เราอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่อยากเดินต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี ด้วยชีวิตแบบนี้ เราก็เลยนิยามตัวเองว่า เราคือผลผลิตที่เกือบสมบูรณ์แบบของระบบการศึกษาไทย” ฝุ่นฝนกล่าว

ระบบการศึกษาที่มีไซส์เดียว 

“การศึกษาไทยออกแบบมาแบบ one size fits all หรือมีกล่องใบเดียว และเอากล่องใบนี้ไปยัดให้กับเด็กทุกคน แต่ธรรมชาติของเด็กมันมหัศจรรย์มาก เพราะเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเลย เขามีธรรมชาติของการสงสัยใคร่รู้ที่แตกต่างกัน แต่การที่เราเอากรอบวิชานาฏศิลป์ กรอบวิชาตะกร้อ หรือกรอบวิชาลูกเสือเนตรนารี มาวางใส่ให้กับคนที่สนใจวิทยาศาสตร์ หรือสนใจการทำยูทูบและการตัดต่อวิดีโอ มันดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าไร” 

ฝุ่นฝนสะท้อนว่า การไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรและมุ่งทำในสิ่งที่คนรอบข้างบอกให้ทำคือ “เรื่องน่าเสียดาย” เพราะระยะเวลากว่า 20 ปี ในระบบการศึกษา สามารถทำให้คน ๆ หนึ่งค้นหาตัวเองจนเจอ และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเก่งกาจในเรื่องนั้น ๆ ได้เลย 

“เรามองภาพว่าเขาใส่โปรแกรมให้เรา บอกว่าถ้าคุณไม่เรียน คุณจะมีชีวิตต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่เข้าเรียนตามระบบ เมื่อโตขึ้นแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลยนะ ถ้าคุณไม่ไปเรียน คุณก็จะไม่มีใบปริญญา เราถูกใส่ชุดความคิดแบบนี้ และไม่ใช่แค่พวกเราหรือรุ่นน้องเราเท่านั้น แต่โปรแกรมนี้ถูกใส่มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของเรา เขาใส่มาให้คุณครูของเราด้วย”

“เพราะชุดความคิดที่ว่าการประสบความสำเร็จมีรูปแบบเดียว มันเลยมีผลมาก ๆ กับการตัดสินใจ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ของเด็ก ทำเลยให้เด็กไม่กล้าที่จะเดินออกจากเส้นทางที่สังคมบอกว่าดี” 

เครื่องมือการค้นพบตัวเอง

แม้ระบบการศึกษาไทยจะถูกตีตราว่าเป็น “ตัวสกัดกั้น” ความฝันของคน แต่สำหรับฝุ่นฝนแล้ว เธอมองว่าจำเป็นต้องแยกระบบการศึกษากับ “ระบบการเรียนรู้” ออกจากกันเสียก่อน แล้วจะพบว่าระบบการศึกษาเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการเรียนรู้มากมาย ทั้งนี้ สังคมจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองว่าระบบการศึกษาไม่ใช่ “เป้าหมาย” แต่เป็น “เครื่องมือ” ของการเรียนรู้ 

“เราต้องมองว่ามันมีเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อระบบการศึกษาไทย ซึ่งเหมือนกับเครื่องมือที่ชื่อยูทูบ เครื่องมือที่ชื่อว่าออกไปเที่ยวต่างประเทศกับพ่อแม่ เครื่องมือที่ชื่อว่าออกไปเที่ยวเล่น ออกไปทดลองทำงาน หรือเครื่องมือที่ชื่อว่าช่วยแม่กวาดบ้าน ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนรู้ และมันมีคุณค่าเท่ากันหมด ถ้าเรามองว่าการศึกษาคือเครื่องมืออย่างหนึ่งของการเรียนรู้ในชีวิตของเรา การศึกษาไทยมีประโยชน์ แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามองว่า การศึกษาเป็นเป้าหมาย และเป้าหมายของการศึกษาคือปริญญา เราจะตกเป็นเหยื่อทันที แล้วมันจะวนลูปเดิม” 

“ดังนั้น เราต้องมองว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการเรียนรู้ เราให้เวลา 10 ปีในการเรียนเรื่องพื้นฐาน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปเรียนสิ่งที่ชอบ ไปใช้เครื่องมืออื่น ๆ ที่เราจะได้ประโยชน์จากมัน” ฝุ่นฝนระบุ 

คำแนะนำจาก “พี่เกียรตินิยม” 

“ที่บอกว่า “จงหนีไป” เราไม่ได้หมายความว่าให้ลาออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ให้หนีออกจากกรอบความคิดและค่านิยมเดิม ๆ เพราะเราเชื่อว่า what got you here, won’t get you there อะไรที่พาเรามาถึงวันนี้ มันไม่ได้การันตีว่าสิ่งนี้ จะพาเราไปได้ในอนาคต เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ชุดความคิดหรือความรู้บางอย่างที่เราเรียนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บางอย่างมันอาจจะหมดอายุไปแล้ว เอามาใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น อย่ายึดติดกับสิ่งที่บอกว่า เราเรียนมาแบบนี้ ต้องทำงานแบบนี้หรือทำอาชีพนี้ แล้วจะต้องทำอาชีพนี้ไปจนเกษียณ หรือเราต้องซื่อสัตย์ จงรักภักดี อดทน และพยายามกับอาชีพนี้ไปจนเกษียณ” 

การเรียนรู้สำหรับฝุ่นฝนจึงเป็นการได้ “ลองผิดลองถูก” พร้อมกับการออกไปหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองสงสัย เธอชี้ว่า ชีวิตไม่ใช่การทำข้อสอบปรนัย ที่มีตัวเลือกแค่ ก. ข. ค. หรือ ง. และชีวิตไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องแค่คำตอบเดียว แต่มีความเป็นไปได้มากมายที่รอให้เราทุกคนได้ไปสัมผัส อย่างไรก็ตาม การจะค้นพบคำตอบของตัวเองได้นั้น “งานอดิเรก” คือสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการพาตัวเองไปทดลองปฏิบัติ เพื่อหาสิ่งที่ตัวเอง “ชอบ” และ “ไม่ชอบ” 

“การออกไปทดลอง ให้ได้ลองทำ เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร มันไม่ใช่แค่รู้ว่าตัวเองชอบหรือเปล่า แต่เพื่อจะรู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรด้วย ซึ่งนั่นคือรางวัลชิ้นสำคัญมาก” 

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้ทั้งหมดจากที่ผ่านมา คือ “learn to unlearn” เพราะถ้านับจากจุดแรก ตั้งแต่ที่เราเรียนหนังสือ จนถึงวันนี้ เราตัดสินใจทิ้งหรือ unlearn บางอย่างไป อาจเป็นเพราะมันหมดอายุไปแล้ว ใช้ไม่ได้แล้ว หรือมันอาจจะไม่ใช่ตัวเรา ซึ่งเราต้องยอมปล่อยมันไป แล้วเราก็ค่อย relearn ใหม่ เรียนรู้ใหม่ เรียนรู้สิ่งที่เพิ่งรู้ว่าเราสนใจ แน่นอนว่าเราจะไม่ทิ้งทุกอย่างที่ผ่านมา แต่เราต้องยอมตัดอะไรบางอย่างออกไปบ้าง และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เราสามารถไปต่อกับโลกใบนี้ได้ เพราะในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่เราจินตนาการไม่ถึงว่ามันคืออาชีพ เกิดขึ้นอีกเยอะมากเลย ดังนั้น สิ่งที่เรารู้หรือรู้จักในวันนี้อาจหายและตายไป ถ้าเรายังไปยึดติดกับมัน เราก็จะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ไม่ได้” ฝุ่นฝนกล่าวสรุป 


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts