“คนไม่อยากมีลูก เพราะโครงสร้างไม่เอื้อ” คุยกับทนายแจม-ศศินันท์ สส.พรรคก้าวไกล ถึงวิกฤตเด็กเกิดต่ำ

หลังจากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐสภามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระแรก ที่มีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งงบสวัสดิการที่สนับสนุนแม่และเด็กมีอยู่ราว 46 ล้านบาท 

โดยก่อนหน้าไม่นาน รัฐบาลได้ผลักดัน ‘การส่งเสริมการมีบุตร’ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากอัตราเด็กเกิดต่ำลงฮวบ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยในอนาคตขาดประชากรวัยทำงาน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ

ดังนั้น Mappa ขอเชิญชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ในฐานะนักการเมืองที่ชี้ว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมสวัสดิการให้แก่เด็กและแม่มากกว่านี้ เพื่อลดวิกฤติเด็กเกิดต่ำ รวมถึงบทบาทในการเป็นแม่ของเธอ ที่ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามถึงสิทธิที่เด็กและครอบครัวพึงจะมี

ชีวิตการเติบโตและแรงบันดาลใจอะไร ที่ทำให้สนใจประเด็นแม่และเด็ก?

ทนายแจมเล่าว่า ช่วงที่โฟกัสกับประเด็นแม่และเด็กจริงๆ คือ ตอนที่ได้เป็นแม่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า “เมื่อเราเป็นแม่แล้ว เวลาเจอปัญหาเราก็จะนึกย้อนไปตอนตัวเองเป็นเด็ก แต่เรากลับรู้สึกว่า เด็กในรุ่นเราโชคดีกว่าเด็กรุ่นปัจจุบัน”

เธอได้ยกตัวอย่างสมัยที่เธอยังเป็นเด็กว่า เธออยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ในสถานะที่หย่าร้าง ดังนั้นเธอจำเป็นต้องไปอยู่กับคุณย่าที่ต่างจังหวัด แต่ก็เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งเพราะบริเวณบ้านคุณย่ามีพื้นที่มากมาย 

ที่ทำให้เธอสามารถเล่นได้อย่างอิสระ เช่น ปีนต้นไม้ ทำขนมจากดิน นอกจากนี้ เธอยังระบุว่าครอบครัวของเธอไม่ได้กดดันเรื่องเรียน แต่อาจจะมีความคาดหวังจากคุณย่าและคุณพ่อบ้าง ด้วยสาเหตุที่ว่าจะได้มีงานทำดีๆ

ทนายแจมเล่าต่อว่า เธอคิดว่าเธอเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน แต่ก็เล่นและทำกิจกรรมอย่างเต็มที่เช่นกัน ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเธอก็ไม่ได้แย่ แต่พอเข้าสู่วัยทำงาน เธอก็เริ่มเห็นปัญหาของเด็ก เยาวชน และความเหลื่อมล้ำต่างๆ มากขึ้น ทว่าในตอนนั้นเธอได้เพียงตั้งคำถาม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร

“แต่พอเรามาเป็นแม่ เรามองว่าตรงนี้แหละคือ จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เพราะพอรู้ว่าตั้งครรภ์เราก็เกิดความกังวลทันที เนื่องจากเราเติบโตขึ้นมาด้วยการไม่มีแม่ เราอยู่กับคุณพ่อตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เราเกิดคำถามในใจว่า ‘เราจะเป็นที่ดีได้หรือเปล่า’ ดังนั้นเราจึงหาหนังสือและเพจต่างๆ เพื่ออ่านเยอะมาก ซึ่งทำให้เราเห็นภาพกว้างๆ ว่า สุดท้ายแล้วการเลี้ยงลูกคนหนึ่งนั้นสำคัญมาก เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาแทบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเราเลย”

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ซ่อนอยู่ในความเป็นแม่

ทนายแจมเล่าว่า เธอรู้สึกว่าเธอมีสิทธิพิเศษมากกว่าแม่คนอื่นๆ เพราะมีเวลาที่จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก และมีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการกินของดีๆ ออกกำลังกาย 

เนื่องจากอยากให้ลูกมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นเธอมองว่าแล้วพ่อแม่คนอื่นที่ไม่มีโอกาสเหมือนกับเธอ ลูกของพวกเขาจะเติบโตมาแบบไหน ตรงนี้แหละที่ทำให้เธอเริ่มเห็นความเหลื่อมล้ำ

“พ่อแม่บางคนยังต้องทำงานหนัก ไม่สามารถแบ่งเวลาให้ลูกได้อย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นบทบาทของแม่นั้นสำคัญมาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่จะอยู่กับลูกมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก ซึ่งทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ความเป็นอยู่ การทำงาน มันสำคัญกับพวกเขาเป็นอย่างมาก” 

เธอจึงสรุปว่า ถ้าเราอยากพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ให้ความรู้แก่พ่อแม่ ก่อนที่ลูกของพวกเขาจะคลอดออกมา ว่าจะต้องพบเจอกับอะไรบ้างหลังจากนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ทนายแจมยังพูดถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดอีกด้วยเช่นกัน เธอระบุว่า ในขณะที่ตั้งท้องเธอไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับภาวะนี้เลย จนหาข้อมูลแล้วพบว่าเธอเป็นภาวะดังกล่าว และยังพบว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนเป็นแม่ส่วนใหญ่มักจะประสบ แต่ทางโรงพยาบาลแทบจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เลย

โครงสร้างไม่เอื้ออำนวย คนจึงไม่อยากมีลูก

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างของประเทศนั้นสำคัญกับการจะมีลูก เพราะมันคือระบบทั้งหมดที่จะมารองรับเด็กที่กำลังจะเกิดมา หรือรองรับแม่ที่กำลังจะมีลูก ฉะนั้นในบางครั้งเวลามีเด็กคนหนึ่งๆ ก่อพฤติกรรมที่ไม่ดี แจมอยากให้สังคมลองคิดว่าเด็กคนนี้เปรียบเสมือนลูกของทุกคน ไม่ใช่แค่ลูกของใครคนใดหนึ่งคนหนึ่ง เพราะไม่งั้นเวลาเด็กคนหนึ่งสร้างปัญหา คนในสังคมบางส่วนจึงเลือกที่จะผลักภาระให้เด็กตรงๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือมองที่ปลายเหตุอย่างเดียว แต่การบ่มเพาะเลี้ยงเด็กสักคน มันไม่ได้เกิดจากสถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของสังคมรอบข้างด้วย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ทนายแจมระบุว่า ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่าปัจจัยเหล่านี้แหละที่ไม่เอื้อให้คนอยากจะมีลูก เนื่องจากการจะมีลูกต้องมีต้นทุน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เงิน แต่รวมถึงต้นทุนทางสังคม จนหลายๆ คนเกิดความคิดที่ว่า ไม่อยากให้ลูกต้องมาเจอสภาพเหล่านี้เหมือนเรา

สังคมจะดีขึ้นได้ ก็เพราะนโยบายเด็กและครอบครัว

“นโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มันอาจไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนอยากมีลูกมากขึ้น 100% แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ควรทำให้ประชาชนเห็นว่าจะไม่มีวันทอดทิ้งพวกเขา” 

ซึ่งงบประมาณปี 67 ของรัฐบาลเศรษฐา ได้ตั้งเงินสำหรับอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (0-6 ปี) ไว้อยู่ที่ 16.4 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะทำการโอนเงินจำนวน 600 บาทต่อเดือน เข้าบัญชีผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือเสี่ยงต่อความยากจน 

ทว่าทนายแจมเคยอภิปรายถึงนโยบายนี้ว่า “เมื่อดูงบอุดหนุนเด็กจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่นอกจากไม่ถ้วนหน้า และยังได้แค่ 600 บาท นอกจากนี้ ยังมีเด็กตกหล่นกว่าอีกหลายแสนคน”

เธอเสริมว่า วันลาคลอดก็สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะลาคลอดได้เพียง 3 เดือน ซึ่งเด็กในช่วง 3 เดือน ถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญมากๆ มันถือเป็นเวลาทองของการเลี้ยงลูกเลยด้วยซ้ำ เป็นตัวกำหนดว่าเด็กจะไปในทิศทางไหน

แต่นโยบายที่ยังไม่เอื้อ ทำให้พ่อแม่หลายคนต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจเองว่า จะต้องลาออกจากงาน หรือ ส่งลูกให้ตายายเลี้ยงแทน โดยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน ส่วนข้าราชการสามารถลาคลอดได้ 188 วัน แต่แรงงานนอกสิทธิไม่มีการกำหนดวันลาคลอดไว้อย่างชัดเจน

โดยทนายแจมเคยอภิปรายประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลควรเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และให้แม่ได้ค่าจ้างเต็มเวลา รวมถึงยังต้องส่งเสริมห้องให้นม ห้องเปลี่ยนแพมเพิส ทางเท้าที่ปลอดภัย ถนนที่ปลอดภัย อากาศที่สะอาด ระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และระบบการศึกษาที่ดี”

ถ้ารัฐบาลสามารถลงทุนสวัสดิการที่เกี่ยวกับเด็กและครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ในอนาคตประเทศเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณไปกับการปราบปรามอาชญากร หรือยาเสพติดจำนวนมากขนาดนี้ก็ได้ เพราะการลงทุนกับเด็กจะก่อให้เกิดสังคมที่ดีในระยะยาว และประเทศไม่ต้องเสียเงินไปกับการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

“หากรัฐบาลยังจัดงบ โดยไม่เข้าใจว่าวิกฤติเด็กเกิดต่ำเป็นวิกฤตประเทศ การตัดใจไม่มีลูกของพวกเขา จะเป็นเหมือนเสียงสะท้อนความไม่พอใจของพวกเขาได้ดีที่สุด ว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่ากับพวกเขา เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวังแบบนี้” ทนายแจมกล่าวระหว่างการอภิปรายงบฯ ปี 67

อ้างอิงจาก

https://www.thairath.co.th/news/politic/2752891

https://thematter.co/social/child-welfare-budget/220470#google_vignette


Related Posts