- Game-based Learning คือกระบวนการการใช้เกมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมือนกับเกมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
- การเรียนรู้โดยใช้เกมจะช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิมากขึ้น เครียดน้อยลง และได้พัฒนานิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
- ข้อสำคัญคือการสนับสนุนแรงจูงใจภายใน และพยายามป้องกันไม่ให้ผู้เรียนยึิดติดกับแรงจูงใจภายนอก
ประเด็นปัญหาใหญ่ที่นักการศึกษาต้องเผชิญคือการกระตุ้นผู้เรียน เมื่อใดก็ตามที่ผู้เรียนค้นพบความสนุกในการเรียนคณิตศาสตร์ การอ่าน วิทยาศาสตร์ ผู้สอนก็สามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ การทำให้ผู้เรียนสนใจประเด็นใหม่ ๆ นับเป็นโจทย์โหดหินมากทีเดียว
ลองประยุกต์ใช้เกม แนวทางการเรียนที่ใช้กิจกรรมและการให้รางวัลเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เมื่อใช้เกมในการสร้างเสริมความชื่นชอบในการเรียนรู้ กลยุทธ์นี้สามารถช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากและมีแรงผลักดันในการเรียน ทว่าเมื่อผนวกกับรางวัลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างปาร์ตี้พิซซาหรือขนม การใช้เกมจะทำให้ผู้เรียนหลงลืมจุดประสงค์ของโรงเรียนในการสนับสนุนการเรียนรู้
การเรียนรู้โดยใช้เกมคืออะไร
การเรียนรู้โดยใช้เกมกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงการศึกษา มีนักวิชาการและนักวิจารณ์จำนวนมากกล่าวถึง แต่แท้จริงแล้วมันคืออะไร เหตุใดถึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
การเรียนรู้โดยใช้เกมคือการใช้กิจกรรมและรางวัลจูงใจภายนอกในการส่งเสริมแรงจูงใจของผู้เรียนในบริบทนอกเหนือจากเกม มันออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสบการณ์และการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เป้าหมายหรือระบบสักระบบ
การเรียนรู้โดยใช้เกมทำงานอย่างไร
หากจะสืบย้อนไปถึงต้นกำเนิดของการเรียนรู้โดยใช้เกม แนวทางการเรียนรู้นี้เริ่มต้นมาจากจิตวิทยาการศึกษาและปัจจัยที่ส่งเสริมแรงจูงใจของผู้เรียน ในบางครั้ง การหาแนวทางที่ช่วงคงไว้ซึ่งแรงจูงใจในการทำงานยาก ๆ เป็นเรื่องท้าทาย การเรียนรู้ด้วยเกมทำให้กระบวนการเรียนรู้สนุกขึ้น ยิ่งผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนหรือโครงการต่าง ๆ มากขึ้น ความรู้สึกเชิงบวกที่มีต่อประสบการณ์การเรียนรู้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่พวกเขาจะเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น
ในทศวรรษที่ผ่านมา การเรียนรู้โดยใช้เกมเติบโตในแวดวงต่าง ๆ อย่างเช่นวงการสุขภาพและองค์กร ยิ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนมากขึ้น การเรียนรู้โดยใช้เกมกลายเป็นกลวิธีการสอนที่เป็นที่นิยม อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับกลยุทธ์การเรียนรู้อื่น ๆ การเรียนรู้โดยใช้เกมมีทั้งประโยชน์และโทษเมื่อนำไปใช้ในโรงเรียน
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้การเรียนรู้โดยใช้เกม
- ให้ “แต้ม” ในโลกเสมือนจริงเมื่อทำงานลุล่วง
- เล่นเกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะทางการเรียน
- แข่งขันกับเพื่อนร่วมชั้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ประโยชน์โดยสังเขปของการเรียนรู้โดยใช้เกม ได้แก่
- เสริมแรงจูงใจในการเรียน
- เสริมสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
- เพิ่มสมาธิในการเรียน
- ลดความเครียดของผู้เรียน
เมื่อใช้อย่างผิดวิธี การเรียนรู้โดยใช้เกมในชั้นเรียนจะทำให้ผู้เรียนมัวสนใจรางวัลและหมดความสนใจในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งตรงกันข้ามกับผลที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับแรงจูงใจภายในและภายนอก
แรงจูงใจภายในเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนสนุกกับการเรียนรู้ด้วยรางวัลจากการเรียนรู้เอง เช่น ความตื่นเต้นที่เกิดจากความเข้าใจแนวคิดใหม่ ๆ หรือค้นพบทักษะที่ไม่เคยมี ส่วนแรงบันดาลใจภายนอกเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับแรงบันดาลใจจากปัจจัยภายนอก ทั้งรางวัลและการลงโทษ ประโยชน์ของการเรียนรู้โดยใช้เกมจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้สอนให้ความสำคัญกับการเพิ่มแรงจูงใจภายในในระหว่างที่วางแผนและออกแบบการเรียนรู้
ในฐานะผู้สอน เราสามารถช่วยไม่ให้ผู้เรียนได้รับอิทธิพลของแรงจูงใจภายนอกได้ด้วยการเลือกรางวัลที่ส่งเสริมแรงจูงใจภายใน แทนที่จะเลี้ยงพิซซ่า ลองระดมสมองหารางวัลที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความหลงใหลในวิชาต่าง ๆ ที่เรียน หากเป็นอย่างนั้น ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมกับส่วนที่สนุกในการเรียนรู้โดยใช้เกมทั้งการอ่าน การคิดคำนวณหรือทักษะอื่น ๆ
ตัวอย่างรางวัลของการเรียนรู้โดยใช้เกม
- การทัศนศึกษา
- หนังสือภาพ
- การแสดงความสามารถพิเศษ
- การ์ดที่เขียนด้วยลายมือจากผู้สอน
- ช่วงเวลาพักเงียบ ๆ ในชั้นเรียน
ตราบใดที่คุณรู้วิธีการประยุกต์การเรียนรู้โดยใช้เกม มันจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับผู้เรียน เมื่อวิธีการเรียนรู้นี้สามารถสร้างเสริมแรงจูงใจภายในได้ ผู้เรียนก็จะมีส่วนร่วมมากขึ้น กระตือรือร้นขึ้น และเครียดน้อยลง
อ้างอิง
https://www.merriam-webster.com/dictionary/gamification
https://www.waterford.org/education/gamification-in-the-classroom/
https://www.trueeducationpartnerships.com/schools/gamification-in-education/
https://active-learning.thailandpod.org/learning-activities/game-based-learning