BASE Playhouse

Intro to Gamification: เราเคยสนุกและติดเกมแค่ไหน การเรียนรู้ผ่านเกมคือสิ่งนั้น

  • gamification คือ กระบวนการที่ทำให้ผู้ใช้ (user) รู้สึกสนุกเหมือนกับการเล่นเกม แต่ไม่ใช่แค่เล่นเอามัน เพราะ gamification มีเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเชิงธุรกิจ การสร้างการเรียนรู้ การทำการตลาด หรือแม้กระทั่งรณรงค์ในปัญหาสังคมต่างๆ
  • เทคนิคการใช้ gamification ในบริบทห้องเรียนคือการหยิบ motivation ของนักเรียนมาเพื่อให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของตัวเอง 
  • คุยกับ กลุ่ม BASE Playhouse ในฐานะกระบวนกรที่นำ gamification เข้ามาเป็นหนึ่งในกระบวนการใช้ ในการเรียนรู้

หากพูดถึงคำว่า ‘เกม’ พ่อแม่หรือคุณครูหลายคนอาจพากันส่ายหน้าหนี

แต่ไม่ใช่ ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ และ แมค-ภีศเดช เพชรน้อย ทั้งคู่เป็นทีมจาก BASE Playhouse 

พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง ที่สำคัญการเรียนรู้ที่ดีจำเป็นต้องมาจากประสบการณ์จริง ทั้งคู่จึงหยิบเอาประสบการณ์ของการติดเกม ความทรงจำจากห้วงความรู้สึกที่สนุกจนไม่อยากเลิกตั้งแต่วัยเด็ก กลับมาเป็นหลักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้ชื่อ gamification 

Gamification คืออะไร  

ความหมายของคำว่า gamification มันค่อนข้างที่จะชัดเจนในตัวเอง หมายถึงการทำให้เป็นเกม

เวลาเราได้ยินคำนี้ อย่างแรกที่เรานึกถึงมันคือเกมหรือเปล่า คำว่า gamification มาจากคำว่า game แน่นอน  ซึ่งเมื่อเราพูดถึงคำว่าเกมสิ่งแรกเลยที่เราจะนึกถึงตามมาคือความสนุก เพราะฉะนั้นคำว่า gamification ความหมายของมันจึงอาจเรียกได้ว่าคือกระบวนการในการสร้างหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดการเสพติดด้วยความสนุกเหมือนกับเกม หรือกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้สามารถเสพติดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ และมีความสนุกเหมือนกับการเล่นเกม

โครงสร้างของ Gamification ประกอบด้วยอะไรบ้าง

เนื่องจาก gamification คือกระบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วยความสนุก ดังนั้นจึงสามารถถอดองค์ประกอบคร่าวๆ ออกมาได้ดังนี้

  • หนึ่ง  คือพฤติกรรมที่เราอยากจะให้เขาเปลี่ยนหรือพฤติกรรมที่เราอยากจะให้เขาทำ ถ้าเราไม่รู้ว่าอยากจะกระตุ้นพฤติกรรมไหนของเขา เราก็ไม่สามารถใช้กระบวนการนี้ได้อย่างแน่นอน
  • สอง คือ motivation เพราะการที่เราจะกระตุ้นพฤติกรรมให้คนทำในสิ่งที่เราอยากให้ทำหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เราต้องรู้ว่าจริงๆ แล้ว ตัวของเขามี motivation หรือมีแรงบันดาลใจอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง
  • สาม คือ กลไกเกม (game machanic) เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมทำให้คนเสพติดได้ง่ายมาก ฉะนั้นในกระบวนการ gamification จึงหยิบกลไกเกมมาใช้ในการออกแบบประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น  

เพื่อให้เห็นตัวอย่าง ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าจนเย็นมีอะไรบ้างที่เป็น Gamification

แมค: ตอนเช้าตื่นมาหลายคนมักใช้เวลาในการออกกำลังกาย ซึ่ง smart watch ต่างๆ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งใน gamification พอใส่ปุ๊บ เขาจะบอกว่า “วันนี้สู้ต่อไปนะ เมื่อวานคุณทำมาดีแล้ว” นี่คือกระบวนการที่กระตุ้นให้เราอยากจะวิ่งต่อหรืออย่างน้อยก็ทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง

เช่นเดียวกัน แม้แต่การขึ้น grab ก็เป็น gamification สิ่งที่ grab ขับเคลื่อนเราได้คือทำให้เราเกิดพฤติกรรมให้เป็นไปตามที่เขากำหนด เช่น ถ้าเราใช้ครบ 3 ครั้งจะส่งคูปองมาให้นะ นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการ gamification ที่เราอาจจะไม่รู้ด้วย 

ม๋ำ: ถ้าย้อนไปในอดีต บัตรสะสมแต้ม บัตรคูปอง บัตรสมาชิก สามารถเก็บแต้มได้ว่าถ้ากินครบ 10 ครั้งนะ จะแถมฟรีอีก 1 ครั้ง พวกนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการของ gamification เหมือนกัน ที่พยายามจะ drive พฤติกรรมเรา ให้สามารถกลับมาซื้อได้ใหม่ สิ่งเหล่านี้จริงๆ เราอาจจะมองว่าเหมือนเป็น marketing campaign แต่จริงๆ แล้วแก่นของมันเป็นแก่นเดียวกัน คือ กระบวนการในการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือ gamification

ฟังดูแล้ว Gamification เชื่อมโยงกับพฤติกรรมมนุษย์  

ม๋ำ: จริงๆ มันคือพฤติกรรมศาสตร์โดยตรงครับ gamification เป็น behavioral science 

ลองนึกง่ายๆ เหมือนที่เราเอาหนูมาหนึ่งตัวอยู่ในกรง มีปุ่ม a ปุ่ม b ให้กด ถ้าหนูไปกดปุ่ม a จะโดนไฟฟ้าช็อต แต่กดปุ่ม b ปุ๊บ ชีสก็จะหล่นลงมาให้หนูได้กิน มันคือคอนเซ็ปต์เดียวกันกับ gamification คือเล่นกับกระบวนการพฤติกรรม เมื่อไรก็ตามที่เราทำอะไรสักอย่างหนึ่งออกไป แล้วมีฟีดแบ็คบางอย่างให้เรากลับคืนมา ฟีดแบ็คนั้นอาจจะเป็น punishment หรือเป็นบทลงโทษ เช่น กดปุ่ม a แล้วมีไฟฟ้าช็อต เราก็จะไม่อยากทำมันอีก หรือฟีดแบ็คนั้นมันอาจจะเป็นเรื่องของ reward หรือการให้รางวัล เช่นกดปุ่ม b แล้วมีชีสมา หนูได้กินชีส มันก็จะสามารถเป็นสิ่งที่กระตุ้นพฤติกรรมของคนนั้นต่อไปได้ ให้เขารู้สึกอยากจะทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำๆ ได้ 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบแบบง่ายๆ ในพฤติกรรมศาสตร์ มันก็คือกลไกในการให้ฟีดแบ็คลูป หรือให้ reward หรือ punishment กลับมาในทุกๆ การกระทำของมนุษย์ เพื่อทำให้มนุษย์เรามี motivation ที่อยากจะทำมันอีกหรือไม่ทำมันอีกนั่นเอง

ในมุมของการสร้างแรงจูงใจ Gamification ต่างจาก Game ปกติอย่างไร

ม๋ำ: ปกติแล้วเรามักจะมองในมุมของเกมเวลาเด็กเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ไปจนถึงบอร์ดเกมเลย ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งก่อนว่าเวลาเราพูดถึงคำว่าเกม จุดประสงค์ของเกมคือความสนุก เราเล่นเพราะเราอยากจะ entertainment เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของเกมคือสิ่งที่ทำให้เราผ่อนคลาย 

แต่ gamification เป็นการใช้กลไกของเกมเหมือนกัน เกิดความสนุกเหมือนกัน แต่เป้าหมายของการกระทำนั้นๆ ไม่ใช่เพื่อความสนุกเป็นหลัก แต่เพื่อจุดประสงค์อื่น แต่เราใช้ความสนุกที่อยู่ในเกมนั้นมาช่วยประกอบ และกระตุ้นให้เขาทำสิ่งที่เราอยากให้เขาทำได้ดีขึ้นและต่อเนื่องขึ้น เท่ากับว่า gamification มีเป้าหมายอื่นที่เป็น hidden agenda ซ่อนอยู่ แต่สิ่งที่เขาได้ระหว่างทางคือความสนุก

ทำไม Playing จึงเท่ากับ Learning 

ม๋ำ: เวลาเรานึกภาพการทำงานของสมอง ถ้าอธิบายในหมวดของชีววิทยา เวลาที่เราจับข้อมูลมาเชื่อมโยง สมองเราประเมินสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยการแก้ปัญหาไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม 

การแก้ปัญหาในที่นี้คือการเก็บข้อมูลจำนวนมาก สมมุติเราตื่นขึ้นมา แล้วเราอยากรู้ว่าวันนี้เราจะทำอะไรดี วันนี้มีเป้าหมายอะไรในชีวิตเราบ้าง รอบๆ ตัวเรามีอะไรบ้าง เราเอาสิ่งเหล่านั้นมาแล้วหาวิธีการที่ดีที่สุดในแต่ละวัน จะเห็นว่าสมองเราเกิดมาเพื่อการแก้ปัญหาบางอย่างอยู่แล้ว

ซึ่งในมุมของการ playing โดยเฉพาะการเล่นเกม ก็คือการแก้ปัญหาเหมือนกัน 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราเล่นบอร์ดเกม บอร์ดเกมมีเป้าหมายบางอย่างให้เราทำหน้าที่ของเราเพื่อไปถึงเป้าหมายให้ได้ ดังนั้นกลไกเวลาเล่นเกมหรือที่เราเรียกว่า play มันคือกลไกเดียวกับสมองเราเวลาทำงาน การประมวลผลกับสิ่งรอบๆ ตัว ก็คือการเรียนรู้บริบทของชีวิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน ทุกๆ ประสบการณ์ที่เราได้กลับคืนมา ก็คือฟีดแบ็คที่เราได้จากการกระทำของเราเอง ทำให้เราเรียนรู้และเติบโตขึ้น อันนั้นคือกลไกของ learning ในชีวิตของมนุษย์อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าสามสิ่งมันเกี่ยวโยงกันทั้ง learning, playing หรือแม้แต่การ solving problem (แก้ปัญหา) 

กลไกของการเล่นเกม คือกลไกปกติที่สมองใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทำให้ learning เกิด

เพียงแต่บางครั้งเราติดอยู่กับมายาคติเกม จึงถูกลดค่า มองว่าเด็กติดเกมเป็นสิ่งไม่ดี สังคมเราก็เลยแยกคำไม่ออก และลืมว่าจริงๆ แล้วการเล่นเกม มันคือกระบวนการทั่วไปที่มนุษย์ทุกคนทำ เวลาเราโตขึ้น เราก็แค่ไม่ได้เรียกมันว่าเกม เราไปเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น ทำงานยังไงให้ได้เลื่อนตำแหน่งให้เร็วที่สุด  

ความแตกต่างของ Game, Game Based Learning, Gamification อยู่ตรงไหน

ม๋ำ: ถ้ากลับไปที่การเปรียบเทียบเมื่อครู่ เราพูดกันไปแล้วว่าเกมคือการเล่นเพื่อเอาความสนุก จุดมุ่งหมายคือเอนเตอร์เทน แต่ gamification คือการ drive พฤติกรรม หรือกระตุ้นพฤติกรรมด้วยความสนุก โดยที่มีเป้าหมายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ แต่พอเราพูดถึง game based learing เรามักนึกถึงการเอา tools บางอย่าง หรือเอาเกมบางอย่างที่มีอยู่แล้วมาใส่ลงไป เพื่อสร้างการเรียนรู้บางอย่างด้วยตัวเกมเอง

gamification จะกว้างกว่าคำว่า game based learning เพราะ game based learning คือการเอาเกมมาใช้ในการสร้างการเรียนรู้บางอย่าง เป้าหมายคือเพื่อเรียนรู้โดยตรง แต่ gamification เป้าหมายคือเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งพฤติกรรมนั้นอาจจะเป็นการเรียนรู้ก็ได้ ถ้าพฤติกรรมนั้นเป็นการเพิ่ม engagement ของการเรียนรู้ ก็ถือว่าเป็น game based learning ได้เหมือนกัน

เช่นนั้น Learning Curve ที่เกิดขึ้นโดยใช้เกมเป็นพื้นฐานจะเป็นอย่างไร

แมค: ปกติแล้วเราเรียนรู้กันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราสโคปรูปแบบมันลงมานิดหนึ่ง ให้เป็น learning ในห้องเรียน กระบวนการที่เราเจอในห้องเรียนอาจจะแบ่งออกได้ประมาณ 3 สเต็ปสั้นๆ introduction (แนะนำว่าจะเรียนอะไร)learning (เริ่มเรียน) – assessment (ประเมินผล)

ถ้าเราโฟกัสแค่ knowledge ในเมื่อ playing กับ learning เป็นเรื่องเดียวกัน เราอาจจะตีโจทย์ใหม่ได้ว่า เราจะทำยังไงให้ห้องเรียน นอกจากให้ความรู้แล้ว มันสนุกมากขึ้น แล้วเด็กๆ ก็อยากเรียนจนจบมากขึ้น

จุดนี้สามารถผูกกับการใช้ gamification ได้ครับ จากกระบวนการ 3 สเต็ปสั้นๆ ปัญหาที่เรามักจะเจอในห้องเรียนคือครูไม่สามารถทำให้เด็กอยู่จนจบ 3 สเต็ปนี้ได้ เพราะเด็กจะเบื่อไปซะก่อน นี่น่าจะเป็นปัญหาคลาสสิก

แต่ gamification จะช่วยให้ครูออกแบบขั้นตอนการสอนใหม่ๆ เช่น ฉันจะเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนในห้องเรียนฉันให้นักเรียนอยู่กับเราจนจบโดยที่เขาไม่เบื่อ เราเอาการเรียนรู้ด้วยเกมมาใส่ในห้องเรียนเราไหม นี่คือเทคนิคที่ gamification จะเข้าไปช่วยกระตุ้นพฤติกรรมในห้องเรียน

มีตัวอย่างไหม

ม๋ำ: เช่น วิชาประวัติศาสตร์ เรายกตัวอย่างเคสที่มักจะเฟล ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นไหม แต่ห้องเรียนที่ผมเคยเจอมาคือความน่าเบื่อ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ มันไม่สนุกเลย

จริงๆ แล้วการออกแบบห้องเรียน กระบวนการใช้ gamification ควรจะเริ่มจากการที่เราถามตัวเองก่อนว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ในครั้งนั้นคืออะไร ในเมื่อเราเข้าใจแล้วว่า playing กับ learning เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องทำให้เขาสนุกเพื่อให้เขาอยู่เรียนรู้กับเราไปจนจบ

ถ้าเป็นวิชาประวัติศาสตร์ อาจต้องทบทวนอีกครั้งว่าเราสอนประวัติศาสตร์เพื่ออะไร ถ้าเราตีโจทย์ได้ว่าแก่นของวิชานี้คือการทำให้เด็กมี skill สามารถวิเคราะห์เรื่องราวในอดีตได้ 

ดังนั้นการให้เด็กไปอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้เกิดสิ่งนั้น เรามาค้นหาวิธีการที่จะทำให้เด็กสนุก ไม่ว่าจะทดลองทำเป็นเกมโชว์ ลอง role play เล่นบทบาทสมมุติ ลองพาเด็กๆ โต้วาทีกันแทนการถามตอบคำถามท้ายคาบ ลองเพิ่ม story telling เข้าไป เปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้ลองเล่าประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นของตัวเอง ถ้าเขามีความสามารถในการปลี่ยนเหตุการณ์บางอย่างในประวัติศาสตร์ได้ เขาอยากให้มันเป็นอย่างไร รวมไปถึงการจัดความรู้ให้อยู่ในรูปแบบการแข่งขันเป็นกลุ่ม ก็อาจช่วยเพิ่ม motivation ให้เด็กๆ ได้ มันอาจจะไปเชื่อมโยงส่งเสริมให้เด็กบางคนรู้สึกว่าฉันมีพาวเวอร์มากพอที่ฉันจะกำหนดประวัติศาสตร์ได้ เป็น motivation ลึกๆ ของเขาที่ได้สร้างอะไรที่เป็นของตัวเอง

การวัดผลหรือการประเมินผลของการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ อยู่ตรงไหน  

ม๋ำ: เป้าหมายของ gamification อย่างที่เราพูดกันไปตอนแรก คือเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เพราะฉะนั้น success หรือไม่ success ดูง่ายๆ เลยว่าเด็กอยู่กับเราจนจบคาบไหม ถ้าเขาอยู่กับเราจนจบ แล้วเขายังมีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะตลอดเลย อันนั้น success แน่นอน 

หรือถ้าจะ success ยิ่งกว่าก็คือจบคาบแล้ว เคยมีเด็กวิ่งมาหาเราแล้วบอกว่า ทำไมเวลาผ่านไปเร็วจังเลย ขอเล่นต่ออีกสักชั่วโมงหนึ่งได้ไหม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ prove ได้แน่นอนว่า กระบวนการนี้มันสมบูรณ์ เพราะเราสามารถ drive engagement ให้เขาอยู่กับเราได้จนจบจริงๆ แต่ในมุมของ learning อันนั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายการเรียนรู้ว่าแต่ละคาบต้องการให้เด็กได้อะไรกลับไป อันนั้นก็อาจจะต้องใช้กระบวนการวัดผลที่อยู่ในมุมของ academic มากขึ้น

ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์

ถ้าคุณครูอยากจะหยิบเอา Gamification ไปเพิ่มประสิทธิภาพในห้องเรียน จะทำได้อย่างไร 

ม๋ำ: gamification เป็น skill เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยประสบการณ์นิดหนึ่ง วิธีการที่ง่ายที่สุดผมอยากแนะนำว่าถ้าครูที่ไม่คุ้นเคยเลยกับการใช้เกม คือไปลองเล่นเกมครับ เกมอะไรก็ได้เลย เพราะว่าเกมทุกประเภทมีกลไกของเกมให้เราก๊อปปี้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ บอร์ดเกม หรือแม้กระทั่งหมากรุก ถ้าขึ้นชื่อว่าเกมแล้วกลไกของมันสร้างความสนุกได้ทั้งหมด ยิ่งถ้าเราได้ลองเล่นให้เยอะ เราจะจำแพทเทิร์นเหล่านั้นในสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว และมีไอเดียต่อยอดให้เราหยิบมาใช้ได้ง่ายขึ้นอีก

แมค: หรือง่ายขึ้นกว่านั้นถ้าอยากหยิบไปใช้ได้เลย อาจจะลองเริ่มจากการสังเกตเด็กๆ ในห้องเรียนตัวเอง ลองดูว่าเขามี motivation กับเรื่องอะไร ถ้าสมมุติว่าเขามี motivation กับเรื่องการแข่งขัน เราก็หยิบ motivation อันนี้ มาออกแบบเป็นกลไกเกมให้เขาแข่งแบบ healthy competition ด้วยโจทย์ของการเรียนรู้ ก็จะทำให้ผลของการเรียน effective ขึ้นเยอะมาก  

Gamification เหมาะกับใครบ้าง

ม๋ำ: การใช้ gamification ในห้องเรียน คือการหยิบ motivation ของคนมาใช้ในการเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะฉะนั้นหัวใจคือการทราบว่าคนแต่ละช่วงวัยมีแรงจูงใจอะไร ยกตัวอย่าง เด็ก ม.6 motivation ของเขาคือการเริ่มมองหามหา’ลัย ซึ่งจะไม่เจอเรื่องนี้ในเด็ก ป.1 ข้อมูลแบบนี้จะทำให้เราสามารถออกแบบกลไกเกมให้เหมาะกับอายุของ user ที่แตกต่างกันได้

ถอยออกจากห้องเรียน ครอบครัวจะใช้ทักษะแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง

ม๋ำ: คอนเซ็ปต์ไม่ต่างกันครับ บางบ้านอาจจะกำลังใช้ gamification อยู่แบบไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น ถ้าลูกทำสิ่งนี้…พ่อแม่จะให้สิ่งนั้นตอบแทนนะ เพียงแต่เงื่อนไขที่ว่านั้นมันจะ healthy หรือเปล่า 

แต่ถ้าอยากจะขยับขึ้นไป สามารถพลิกกิจกรรมต่างๆ ในบ้านให้กลายเป็นเกมไปเลยก็ได้ เพื่อทำให้กิจกรรมนั้นมีความหมายกับลูกมากขึ้น ยกตัวอย่างเร็วๆ เรื่องงานบ้าน จากการพาลูกเก็บของธรรมดาก็เปลี่ยนเป็นเกมมหาสมบัติ คุณพ่อคุณแม่แข่งกับลูกด้วย แล้วค่อยบอกเขาถึงประโยชน์ของการจัดของให้เป็นระเบียบ

เราใช้ Gamification ปรับพฤติกรรมมนุษย์ได้ไหม เช่น เด็กไม่กินผัก เด็กไม่ยอมแปรงฟัน  

ม๋ำ: คำถามนี้เป็นคำถามที่ challenge มาก ปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิกของทุกคน ถ้าให้ผมคิดเร็วๆ ก็คือ ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนเลยว่า motivation ของลูกตอนนั้นคืออะไร เช่น ถ้าตอนนั้นเด็กอินเรื่องรถแข่งมาก เขาอยากเป็นนักแข่งรถ พ่อแม่บอกเขาว่า ‘ถ้าลูกไปกินสลัดกับแม่สักมื้อหนึ่ง เดี๋ยวเราขับรถต่อไปที่สนามแข่งรถเลย’ อันนี้ก็ถือว่าเป็น gamification อย่างหนึ่ง เราแค่หาให้เจอว่าแรงกระตุ้นของเขาคืออะไร แล้วหยิบสิ่งนั้นมาเป็น reward ที่ให้กลับคืนไป เมื่อเขาทำบางอย่างที่เราอยากจะให้เขาทำเรียบร้อยแล้ว 

เราใช้ Gamification สร้างการเรียนรู้ในตัวเองได้ไหม

ม๋ำ: ทำได้แน่นอน แทนที่เราจะไปเข้าใจแรงจูงใจของคนอื่น เราก็มาทำความเข้าใจแรงจูงใจของตัวเอง ว่าตอนนี้เราอินกับอะไร เช่น ตั้งกติกากับตัวเองว่า ถ้าฉันอ่านหนังสือจบ 1 ชั่วโมง ฉันจะกินช็อกโกแลต 1 ชิ้น นี่คือคอนเซ็ปต์เลย แต่ความยากและการวัดว่าจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละคน  

จริงๆ แล้วต้องบอกว่า การใช้ gamification ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในความเชื่อของผมต้องเป็นอะไรที่เรียบง่ายและถ้าเราออกแบบได้แยบยลจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมาย 

Gamification ในโลกธุรกิจจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรบ้าง

ม๋ำ: เราเห็นการใช้ gamification ใน business เยอะมากครับ 

มุมแรก มาร์เก็ตติ้ง มุมนี้เราเห็นได้ชัดเจน เนื่องจาก gamification คือกระบวนการที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ เวลาเราต้องการให้มนุษย์ซื้ออะไรสักอย่าง เราต้องทราบ behavior หรือพฤติกรรมที่เราอยากให้เขาทำ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นการใช้กระบวนการนี้เยอะมากครับ เพราะเขาต้องการให้ผู้บริโภคซื้อของกับแบรนด์ การเก็บคูปอง, เก็บแต้ม, 1 แถม 1, privilege program, membership, VIP สิ่งเหล่านี้เป็น gamification ในมุมของมาร์เก็ตติ้งทั้งหมด  

มุมที่สองมุมที่สามเป็นมุมของ HR ทั้งคู่ แต่ใช้คนละอย่างกัน

เริ่มจาก HR development เป็นเรื่องของการเรียนรู้ของบุคลากร การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กร ซึ่ง gamification สอดคล้องโดยตรงกับกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นเราก็สามารถใช้ในการเทรนนิ่งให้องค์กร เช่น เสริมทักษะ critical thinking ให้พนักงานในองค์กรผ่านการเล่นบอร์ดเกม คิดวิเคราะห์ ทำให้มันสนุก พนักงานจดจ่อกับการเรียนรู้ได้ดีขึ้น 

สุดท้ายคือ HR management คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร เช่น อาจทำให้พนักงานออกกำลังกายเยอะขึ้น กระตุ้นให้คนในออฟฟิศเดินมากขึ้น ผ่านการแข่งขันเป็นแผนก เป้าหมายคืออยากให้พนักงานขยับร่างกายและดูแลสุขภาพ บางครั้งจัดอันดับในรูปแบบ leaderboard เพื่อกระตุ้นให้เกิดการชักชวน แผนกเธอเดินถึงไหนแล้ว วันนี้เดินหรือยัง แผนกเราคะแนนนำอยู่หรือเปล่า นี่ก็เป็น gamification 

ชวนทำนายวิธีการเรียนรู้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราจะเห็นแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีอย่างไร

แมค-ภีศเดช เพชรน้อย

แมค: สิ่งที่น่าจะเกิดชัวร์ๆ หรือว่าอาจจะเกิดขึ้นแล้วก็ได้ คือ personalized learning 

มันคือการ learning จากการที่เราเลือกได้ว่าอยากรู้เรื่องนั้นจริงๆ ไม่ใช่มามีคนบอกว่าเราจะต้องเรียนอะไร ก็จะทำให้เขามีแรงกระตุ้นในการไปเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่ามีคนมาบังคับ ซึ่งวิธีเรียนรู้แบบนี้อาจมีความเป็นออนไลน์มาเกี่ยวข้อง ทำให้เรามีตัวเลือกมากขึ้น  

ถ้าเป็นในมุมการเอากระบวนการเข้าไปใช้ในห้องเรียนเอง เทคโนโลยีก็จะช่วยทำให้เราเข้าถึงฟีดแบ็คของเด็กๆ  เขาโอเคไหม เขาต้องการอะไรเพิ่มเติม  

ถ้าโลกนี้ไม่มี Game มนุษย์จะเรียนรู้ได้ไหม

 ม๋ำ: ต้องถามก่อนว่านิยามของคำว่าเกมหมายถึงอะไร ถ้าเกมเป็นกระบวนการในการทำให้สนุก แล้ว motivation ทุกอย่างอยู่ภายใต้คำว่าเกม โลกการเรียนรู้ก็จะหม่นหมองหน่อย  

เรามักมองว่าเกมคือคะแนน คือการจัดอันดับ leaderboard แข่งขันแล้วจบ แต่ทำไมไม่มองลึกไปกว่านั้น เกมคือการขับเคลื่อนพฤติกรรมด้วยแรงจูงใจ ไม่มีเกมก็เรียนรู้ได้ นั่นเป็นเพราะคุณมี motivation ส่วนตัวอยู่แล้ว

แต่ว่ายิ่งเด็กลงไปเท่าไร แรงจูงใจจะยิ่งหายากมากขึ้น เพราะตามพัฒนาการเด็กอาจจะไม่ได้มีความคิดถึงขั้นที่รู้สึกว่าฉันต้องพัฒนาตัวเอง สิ่งเดียวที่เขาสนใจคือการเล่น ดังนั้นถ้าเขาเล่นด้วยการ explore โลกผ่านเกมมันก็น่าจะดี

การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเดินด้วยเกม ทั้งหมดทั้งมวลสุดท้ายมันคือการเอาพฤติกรรม (behavior science) ของมนุษย์ไปเชื่อมโยงกับคำว่าเกม เพราะคำว่าเกมจับต้องได้ง่ายที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกระบวนการทำงานของสมองออกมาได้ชัดเจน 


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts