- Gap Year เป็นช่วงเวลา 1 ปีที่เด็กคนหนึ่งออกไปสัมผัสประสบการณ์เเละใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว เพื่อหาคำตอบในชีวิตว่า เขาเป็นใคร ชอบอะไร เเละถนัดอะไร
- เมื่อความเชื่อเรื่องใบปริญญาอาจไม่ใช่คำตอบ ทำให้เด็กที่เเสวงหาตัวตนต้องต่อสู้กับตัวเองเเละคนรอบข้าง การศึกษาจึงถูกตั้งคำถามว่า หลักสูตรที่ผ่านมาอนุญาตให้เด็กรับรู้ตัวตนเเละช่วยให้เขามองเห็นอนาคตของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
- mappa คุยประเด็น Gap Year ทำได้จริงไหม? ผ่านมุมมองเเม่ อาจารย์มหาวิทยาลัย เเละนักการศึกษา เพราะการหยุดเรียนไม่ใช่เเค่เรื่องของเด็กคนเดียว เเต่หมายถึงบุคคลแวดล้อมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจ รวมถึงสังคมที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน
Gap Year อาจเป็น 1 ปีที่เด็กคนหนึ่งจะเดินออกจากบ้านเเละโรงเรียนเเล้วลงมือทำในสิ่งที่สนใจ เช่น ท่องเที่ยว ทำค่ายอาสา เเละเรียนภาษา เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เเละทักษะต่างๆ ก่อนเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยหรือโลกการทำงาน
มหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา Gap Year ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรปริญญาตรีหรือมีเงินทุนสนับสนุนโดยเลื่อนการเปิดการศึกษาออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้เวลาเตรียมพร้อมตัวเองก่อนเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักศึกษา
ส่วนนักศึกษาเกาหลีใต้ก็นิยมไป Gap Year ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมพร้อมตัวเองก่อนเข้าสู่ตลาดเเรงงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาลาพักการเรียนได้ตั้งเเต่ 1 ภาคเรียนไปจนถึง 2 ปีการศึกษา
เเต่ Gap Year ไม่ใช่เรื่องปกติของวัฒนธรรมเเละการศึกษาไทย พวกเขาอาจถูกมองว่าเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งหรือเป็นคนล้มเหลว ทำให้การที่เด็กคนหนึ่งอยากจะหยุดเรียนเพื่อค้นหาตัวตนว่าเขาชอบหรือถนัดอะไรจึงเป็นเรื่องที่เขาต้องต่อสู้กับตัวเองเเละคนรอบข้าง
ขณะเดียวกัน ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เเละเทคโนโลยี เด็กมองเห็นโลกที่มีความหลากหลายผ่านสื่อรอบตัว ความเชื่อเรื่องการเรียนเพื่อปริญญาอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป การศึกษาจึงถูกตั้งคำถามว่า หลักสูตรที่ผ่านมาอนุญาตให้เด็กคนหนึ่งรับรู้ตัวตนเเละช่วยให้เขามองเห็นภาพอนาคตของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
mappa คุยประเด็น Gap Year ทำได้จริงไหม? ผ่านมุมมองเเม่ อาจารย์มหาวิทยาลัย เเละนักการศึกษา เพราะการหยุดเรียนไม่ใช่เเค่เรื่องของเด็กคนเดียว เเต่หมายถึงบุคคลแวดล้อมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจ ขณะเดียวกันสังคมมีพื้นที่รองรับความหลากหลายของเด็กคนหนึ่งมากน้อยเเค่ไหน
‘เเม่มัช’ ณภัทร ซูเบอร์: ลูกไม่ใช่สมบัติของเรา ปล่อยลูกให้ใช้ชีวิตในเเบบที่เขาเลือกเอง
สำหรับเเม่เเล้ว การปล่อยลูกออกจากอกไม่ใช่เรื่องง่าย คำสำคัญ คือ เเม่ต้องปล่อยวาง
“เราปล่อยวางด้วยการท่องกลอนนี้ในใจตลอดว่า เขาเป็นลูกของเราเเต่ไม่ใช่สมบัติของเรา เราเชื่อว่าเขามีชีวิตเป็นของตัวเขาเอง ตัวเขาเเยกออกจากชีวิตเรา เราเป็นพ่อเเม่ในช่วงเเรกของชีวิตเขา เเต่หลังจากนั้นเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาเเล้ว”
วิธีปล่อยวางของ ‘เเม่มัช’ ณภัทร ซูเบอร์ วัย 40 ปี คุณเเม่ของลูกสาววัย 18 เดือนที่วางเเผนเก็บเงินก้อนหนึ่ง เมื่อลูกอายุครบ 18 ปี เธอจะให้ลูกตัดสินใจเส้นทางอนาคตของตัวเองโดยใช้เงินก้อนนี้ไปเรียนมหาวิทยาลัย ท่องเที่ยว หรือ Gap Year ก็ได้
เป้าหมายการเลี้ยงลูกของเเม่มัช คือ การเตรียมลูกให้พร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในวัย 18 ปี เพราะลูกเป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเอง
“เราเลี้ยงลูกให้เขาตัดสินใจเอง เช่น เรื่องเสื้อผ้า อยากกินหรือไม่อยากกิน เลี้ยงลูกให้มั่นใจเเละพัฒนาตัวเองได้ เช่น ให้เขากินข้าวเองเเต่เด็ก เเละทำให้เขารู้สึกว่าพ่อเเม่ฟังเสียงของเขาเสียงของเขาพ่อเเม่ฟัง อยากทำอะไรทำ อยากลองอะไรก็ได้ลอง เเล้วเขาจะกล้าลองสิ่งใหม่ๆ”
ถึงเเม้ว่าตอนนี้ เเม่มัชจะใช้ชีวิตอยู่ที่สวิตเซอร์เเลนด์ เเต่เธอมองว่า การศึกษาไทยควรจะมี Gap Year ให้เด็กออกไปค้นหาตัวเอง
“การศึกษาไทยทรีตเด็กเป็นเด็กไปหมด ขนาดมัธยมต้นมัธยมปลายทุกอย่างจะกำหนดเวลา ทำให้เด็กเป็นเด็กมากๆ ทุกคนอยู่ในบล็อคเดียวกัน จากมัธยมที่มีบล็อคเดียวทุกคนเรียนเหมือนกัน พอม.ปลายก็เเยกเเผนการเรียน จาก 1 บล็อคกลายเป็น 3 บล็อค เเต่มันไม่หลากหลายพอ”
“เรามองว่าเด็กเข้ามหาวิทยาลัยเเต่ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมันเสียเวลา การมี Gap Year จะทำให้เขารู้ตัวเองว่าเขาถนัดหรือชอบอะไรก่อนเข้ามหาวิทยาลัย”
เเต่อีกมุมหนึ่งก็เข้าใจความเป็นห่วงของเเม่ เพราะการทำ Gap Year อาจขัดกับค่านิยมสังคมไทย คือ พ่อเเม่มองว่าลูกเป็นเด็กตลอดเวลา เเต่เมื่อลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยก็อยากให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ทันที เเละหวังว่าเขาจะต้องกลับมาดูเเลเรา
“มุมหนึ่งการศึกษาไทยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจ เด็กไปโรงเรียนเพื่อออกมาเป็นเเรงงาน พ่อเเม่ชนชั้นกลางที่ต้องอาศัยเงินเดือนก็จะเกิดความกลัวว่า ถ้าลูกไม่ทำตามระบบการศึกษาในสิ่งที่เขาวางไว้ให้ ลูกจะลำบาก ระบบการศึกษาไม่ได้สร้างมาเพื่อให้เด็กเติบโตในเเบบของเขา
“เราเลยเข้าใจพ่อเเม่ที่อาจจะไม่ให้ลูกไปทำ Gap Year เพราะเขากลัวลูกเรียนไม่จบเเล้วจะลำบาก เขาอาจจะซัพพอร์ทลูกไม่ไหว เพราะ 1 ปีที่ลูกไม่ได้เรียนเต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย เเละกังวลว่าลูกจะกลับมาเรียนไหม”
ในมุมมองของเเม่มัชมองว่า อนาคตเด็กจะต้องอยู่ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลาย การปล่อยลูกออกจากอก ให้เขาเรียนรู้ชีวิตจากสิ่งที่เขาเลือกเอง จะทำให้เขาเข้าใจความหลากหลายเเละเติบโตเป็นผู้ใหญ่
“ถ้าลูกอยู่กับเราตลอดเวลา เขาจะได้สังคม ความคิด หรือประสบการณ์จากเราตลอดเวลา คิดว่าถ้าเขาทำ Gap Year เขาจะออกไปเจอประสบการณ์หรือสถานที่เเตกต่างจากสิ่งที่เราให้เขา ซึ่งจะทำให้เขารู้จักโลกเเละสังคมที่กว้างขึ้น”
“การเป็นผู้ใหญ่ เขาต้องเจอคนหลากหลาย ไม่ใช่เเค่คนในครอบครัวหรือเพื่อนที่โรงเรียนอีกต่อไป ยิ่งลูกรู้จักความหลากหลายมากเท่าไหร่ เขาจะยิ่งปรับตัวได้มากเท่านั้น เเล้วเขาต้องการสิ่งนี้ในการเติบโต”
‘เเม่เช็ง’ ศุภรัตน์ ศุภชัยศิริกุล: Gap Year เป็นเรื่องครอบครัวไม่ใช่สังคม
“Gap year ในมุมมองของเเม่คือเราไม่เข้าไปยุ่งกับลูกเลย ปล่อยให้เขาจัดการชีวิตตัวเอง เเล้วเขาก็หาเงิน ใช้ชีวิต บอกเเค่เเพลนว่าเขาจะไปที่ไหน”
นิยามคำว่า Gap Year ของ ‘เเม่เช็ง’ ศุภรัตน์ ศุภชัยศิริกุล คุณเเม่ full time ที่ปล่อยลูกสาวคนโตในวัย 20 ปีไป Gap Year เรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่นคนเดียว
เหตุผลที่ทำให้เเม่เช็งตัดสินใจให้ลูกไป เพราะเธอมั่นใจว่า เมื่อเขาออกจากบ้านไปใช้ชีวิตคนเดียวเเล้ว เขาจะดูเเลตัวเองได้เเละไม่เป็นภาระสังคม
“บอกลูกเสมอว่า การที่เเม่คนหนึ่งจะปล่อยลูกออกจากบ้าน เหมือนนกบินออกจากรัง เเม่ต้องประเมินลูกเเล้วว่า ความคิดคุณพร้อมไหม การตัดสินใจคุณพร้อมไหม ร่างกายคุณพร้อมไหม ทักษะรอบด้านที่ต้องดูเเลตัวเองพร้อมไหม ถ้าคุณจะออกจากบ้านไป คุณต้องไม่เป็นภาระคนอื่น ถ้าอยากออกเดินทาง ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาดูเเลตัวเองได้ ตัดสินใจได้”
ซึ่ง ‘เฟย์’ ลูกสาวคนโตก็พิสูจน์ให้เเม่เห็นเเล้วว่า เธอพร้อมที่จะเดินทางด้วยตัวคนเดียว
เเม่เช็งเล่าว่า เฟย์มาบอกว่า อยาก Gap Year ตั้งแต่อายุ 15-16 ปี หลังจากเรียนจบม.6 ลูกสาวมีโอกาสได้จัดเเสดงงานเซรามิกเเล้วมีลูกค้าสนใจ มียอดสั่งซื้อเข้ามาประมาณ 100 ออเดอร์ที่ต้องส่งลูกค้าภายใน 3 เดือน
เฟย์จึงตัดสินใจเลือกทำงานต่ออีก 2 ปี เก็บเงินเพื่อบินไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี โดยเเม่ตั้งเงื่อนไขว่า ลูกสาวจะต้องไปเที่ยวในเมืองที่อยากไปใช้ชีวิตในฐานะนักท่องเที่ยวคนเดียวประมาณ 15 วัน เพื่อให้ลูกตกผลึกกับตัวเองว่า จะอยู่ได้ไหม?
เเม่เช็งพบว่า ลูกสาวเปลี่ยนไปมากในระยะเวลาเพียง 1 ปี
“จากเด็กคนหนึ่งที่มองสิ่งรอบตัวเเบบผิวเผินเเละมองอนาคตในระยะสั้น เเต่หลังจากที่เขากลับมา เขามองไกลขึ้น ก่อนพูดเขาจะศึกษาข้อมูลมา ทำให้เรารู้ว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้”
“ก่อนไป Gap Year เวลาเจอปัญหาถ้าเขาลองทำ เเล้วปัญหานั้นไม่คลี่คลาย เขาจะเข้ามาถามเรา เเต่หลัง Gap Year เขาเลือกที่จะทำทุกอย่างเเละพยายามจนถึงที่สุดก่อน”
หลายคนเดินเข้ามาถามเเม่เช็งว่า “ปล่อยลูกอายุ 18 ไปญี่ปุ่นคนเดียวได้อย่างไร” เเต่เธอยึดหลักการระหว่างเเม่กับลูกว่า อยากได้อะไรพูดมา เดี๋ยวเเม่จะไปคิดต่อว่าไปได้หรือไม่ได้จากปัจจัยต่างๆ ทั้งที่อยู่หรือค่าใช้จ่ายเเล้วตอบลูกด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา
ขณะเดียวกันเเม่เช็งมองว่า เป็นเรื่องยากที่เเม่คนหนึ่งจะทำใจปล่อยลูกออกจากอก เพราะรักมาก ห่วงมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เเล้วยิ่งเป็นลูกสาวความกังวลยิ่งมากขึ้น ถ้าตัดสินใจพลาดอาจส่งผลต่อลูกในระยะยาว
เธอเองก็คิดเยอะจนถึงขั้นนอนไม่หลับ เเต่วิธีเเก้ คือ การเตรียมพร้อมทักษะต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเอาตัวรอด
“เราฝึกลูก ดูลูกว่าพร้อมหรือยัง มองอย่างเป็นกลาง เวลาคุยเรื่องทั่วไปประเมินลูกเลยว่า การตัดสินใจของเขาเป็นยังไง อาจจะเริ่มจากสิ่งของที่เขาอยากได้เเล้วฟังเหตุผลของเขา ถ้าเหตุผลนั้นมาจากข้อมูลเเสดงว่า ถ้าเขาเจอปัญหาอะไร เขาจะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเเทนการใช้อารมณ์”
“รวมถึงสอนทริคให้เขาสังเกตคนรอบข้าง รายละเอียดพวกนี้จะสอนเขาเพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตคนเดียว มันไม่เกี่ยวว่าอายุเท่าไหร่ เเต่อยู่ที่ว่าเราสอนให้เขาเอาตัวรอดรอบด้านมากเเค่ไหน เเละหา emergency call ให้เขา”
ขณะเดียวกัน พ่อเเม่บางคนยังกังวลว่า ถ้า Gap Year 1 ปี “ลูกจะทำอะไร” “ไม่เรียนแล้วทำอะไร” “ไปเที่ยวเล่นรอบโลกหรือเปล่า”
เเม่เช็งมองว่าอยากให้ยึดครอบครัวเป็นหลัก คุยกันให้เข้าใจเเละร่วมกันพิจารณาว่าลูกเราพร้อมหรือยัง เเละพ่อเเม่เองต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ลูกเราไป Gap Year เพื่ออะไร”
“เด็กหนึ่งคนจะไปทำอะไร สิ่งนี้เป็นเรื่องหลักของครอบครัว ต้องตัดสินใจร่วมกัน ทั้งพ่อเเม่เเละเด็ก เด็กเองก็ต้องรู้ว่าไปเพื่ออะไร ไม่ได้ตามกระเเส ตัวเราก็ต้องมีเป้าหมายด้วย”
“ในต่างประเทศเด็กเขาจะมีเป้าหมายเล็กๆ เเล้วมาวางแผนค่าใช้จ่าย เเต่เด็กไทยไม่ค่อยวางเเผนเพราะพ่อเเม่จัดการให้หมด เวลาเด็กไทยเจอการเปลี่ยนเเปลง เขาจัดการไม่ได้ พ่อเเม่ก็กังวล”
ระหว่างที่ลูกไปใช้ชีวิตต่างเเดน เเม่เช็งคุยกับลูก 3-4 เดือนครั้ง เเต่บทสนทนาที่คุยกันคือการรีเช็คเป้าหมายเเละเรื่องราวในปัจจุบัน
“เเพลนเปลี่ยนไหม” “ถ้าเปลี่ยนคิดยังไง” “เป็นยังไง” “เจออะไรมาบ้าง”
บางครั้งลูกก็เล่า บางครั้งก็ไม่เล่า เเต่เเม่เช็งเชื่อว่า ลูกเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขามีสิทธิเลือกทางเดินของเขาเอง เเม่ได้เเค่บอกเเละเเนะนำ เพราะสุดท้ายคนตัดสินใจคือลูกไม่ใช่เรา
“ทุกคนอยากมีพื้นที่เป็นของตัวเอง เด็กคนหนึ่งเติบโตเเละอยากมีพื้นที่ของตัวเองที่ไม่มีใครเข้าไปกวนการตัดสินใจเเละความคิด เเรกๆ กังวล ในฐานะเเม่ เรารู้สึกว่าเราบกพร่องในหน้าที่เเม่หรือเปล่า ไม่ได้ใส่ใจลูก”
“พอลูกโต เรากลับมาพิจารณาตัวเองตอนเด็กว่า เราก็เคยมีเรื่องที่ไม่อยากให้เเม่หรือคนอื่นลูก หรือจริงๆ เเล้ว ลูกก็อยากมีพื้นที่ของตัวเอง”
Gap Year จึงเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวเข้ามาตกลงกัน คุยกันด้วยเหตุผล เเละยอมรับความเห็นซึ่งกันเเละกันในครอบครัว
“จริงๆ เเล้ว Gap Year ทำได้ในทุกสังคม ถ้ายกเป็นเรื่องในครอบครัวไม่ใช่สังคม”
อรรถพล อนันตวรสกุล: หลักสูตรจากความหวังดีของผู้ใหญ่จนไม่เหลือพื้นที่ให้เด็กค้นหาตัวเอง
“อย่าผลักภาระเรื่องการค้นหาตัวเองเป็นเรื่องปัจเจกเท่านั้นว่าทุกคนต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองหรือเป็นผลักว่าเป็นเรื่องของครูช่วยเด็ก เเต่อีกมิติหนึ่งคือสังคมต้องลงทุนพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก โดยมีรัฐเป็นตัวละครหลักในการจัดการศึกษานอกห้องเรียนเพื่อให้เด็กค้นพบตัวตน”
ความเห็นของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักการศึกษาต่อเรื่องการค้นหาตัวตนของเด็กในระบบการศึกษาตั้งเเต่อนุบาลจนเข้ามหาวิทยาลัย
เขามองว่า เหตุผลที่ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถรับรู้ตัวเองได้ มาจากหลักสูตรที่เน้นวิชาการมากกว่าการลงมือทำ เด็กไทยยังคงเรียนเเต่เนื้อหาจนไม่มีเวลาออกไปทำกิจกรรมของตัวเอง เป็นเพราะการศึกษาไทยกำลังติดกับดักการสอนเนื้อหาที่สมบูรณ์เเบบให้กับเด็ก รวมถึงหลักสูตรการศึกษาถูกเขียนโดยความหวังดีของผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นวิชาอื่นที่เด็กสนใจ
“คุณครูจำนวนไม่น้อยติดกับดักเรื่องต้องถ่ายทอดความรู้ให้เด็กอย่างสมบูรณ์เเบบ เด็กต้องเรียนเนื้อหาเยอะๆ เพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเรียนไว้ก่อนเพราะครูจะออกสอบ รวมถึงครูไม่เชื่อว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เเละไม่เคยถูกสอนให้เด็กเชื่อว่าตัวเองสามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้เองได้ พอไม่มีตรงนี้จะให้เด็กค้นหาตัวเองได้ยังไง”
“สิ่งจำเป็น คือ ควรจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ หลากหลาย เเละยืดหยุ่นที่สุด เเต่ในวันที่การศึกษากลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขัดเกลาทางสังคมเเละเตรียมความพร้อมเด็กเยาวชนสู่การศึกษาระดับที่สูงขึ้นไป การศึกษาก็ถูกคาดหวังจากสังคมให้มีเรื่องต้องสอนเด็กเยอะมาก
จึงเห็นว่าหลักสูตรโรงเรียนจำนวนไม่น้อยเกิดจากความหวังดีของผู้ใหญ่จนไม่เหลือพื้นที่วิชาเลือกอื่นที่เด็กจะได้เลือกเรียนตามความสนใจ”
อรรถพลเล่าต่อว่า กิจกรรมในห้องเรียนควรเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม เจอเพื่อนที่หลากหลาย มากกว่าการฟังครูเเล้วจดเลคเชอร์ จะช่วยให้เด็กรู้ตัวเองได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกัน ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยตื่นตัวกับการเรียนการสอนที่ใช้โครงงานเป็นฐาน Project-Based Learning ที่เปิดโอกาส ให้เด็กกำหนดหัวข้อ ลงมือทำ เเละรายงานผลเองในทุกขั้นตอน เเต่สุดท้ายโรงเรียนกลับกำหนดกรอบการทำงานให้เด็กทำตาม
“Project-Based Learning เป็นโอกาสที่จะทำให้รู้ว่าเขาถนัดเเละชอบอะไร รวมถึงทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้เเล้วเขาจะอินกับบทเรียน เเต่ Project-Based Learning ในบริบทการศึกษาไทย คือ ครูยื่นโจทย์มาให้ เตรียมพร้อมทุกอย่าง กำหนดรูปเเบบรายงาน ส่วนเด็กมีหน้าที่ทำตาม
“หลายโรงเรียนล็อกเด็กหมด ครูก็กำหนดธีมเเละหัวข้อให้ หาแหล่งข้อมูลให้ กำหนดว่ารายงานต้องเป็นแบบนี้ โปสเตอร์ต้องการเเบบนี้ คือเราเอาของดีซึ่งมันใช้ในการช่วยให้ค้นหาตัวเองมาสอนด้วยความคิดเเบบเดิม สุดท้ายมันก็ไปไหนไม่ได้”
นอกจากหลักสูตรที่ปิดกั้นการรับรู้ตัวตนเเล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือหลักสูตรเเฝงในโรงเรียน คือวัฒนธรรมในโรงเรียนซึ่งมีผลต่อการค้นหาตัวตน
“โรงเรียนไม่ได้กำหนดความรู้เพียงอย่างเดียว เเต่โรงเรียนเข้าไปปักหมุดชุดคุณค่าเเละนิสัยบางอย่าง สอนให้เด็กดูถูกตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่สามารถตระหนักรู้ได้ว่าตัวเองเป็นใคร”
“บางคนรู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร เเต่ครูบอกว่าเรียนไม่ได้ พอเข้ามหาวิทยาลัยเจอบรรยากาศที่เปิดโอกาส เขาจึงรู้ว่าถ้าเขาอยากเรียนเเบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด”
รวมถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับเด็กทุกคน อรรถพลอธิบายว่า รัฐไม่ได้จัดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กอย่างเท่าเทียม
“สิ่งที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษา ไม่ใช่เเค่การเรียนรู้ในบริบทการเรียนการสอนในห้องเรียน เเต่ต้องจัดหาทรัพยากรเเละพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กที่ไม่ได้จัดโดยโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย”
“ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กคนหนึ่งอยากเป็นนักบอลโรงเรียน เขาต้องเตะบอลเก่ง เเต่ถ้าเขาไม่เก่ง อยากเริ่มนับหนึ่งในการเรียน ต้องเรียนที่ไหน ทุกอย่างต้องหาเอง รัฐไม่หาให้ ขนาด community center หรือ Sport Center ที่จะรองรับเด็กในเเต่ละพื้นที่ก็ไม่มี”
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลลงทุนกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ชุมชนเเละเมือง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นกำหนดว่า ในเเต่ละเมืองจะต้องมีหอศิลป์ มีพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัด ซึ่งประเทศไทยไม่มี ทำให้โลกอาชีพของเด็กเเคบลง เด็กต้องลงมือทำเเละเเสวงหากิจกรรมนอกห้องเรียนด้วยตัวเอง
เช่นเดียวกับการทำ Gap Year ของเด็กไทย ที่ระบบการศึกษาไม่มีกลไกของโรงเรียนเเละมหาวิทยาลัยที่รองรับสิ่งที่พวกเขาอยากทำ
อรรถพลเล่าว่า การทำ Gap Year ในไต้หวัน องค์กรธุรกิจเปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปฝึกงานตั้งเเต่ชั้นม.6 เพื่อให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ รวมถึงมหาวิทยาลัยก็จับมือกันให้เด็กสามารถลงเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ ให้นักศึกษาได้เรียนกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ
ขณะที่เด็กไทยยังต้องเดินตามลำดับการศึกษา ตั้งเเต่อนุบาลจนเข้ามหาวิทยาลัยทำให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถค้นพบตัวตนได้
“การเรียนไปเรื่อยๆ ตั้งเเต่ประถมจนเข้ามหาวิทยาลัยใช้ชีวิตการเรียนเป็นหลุมหลบภัย ผมมองว่าเป็น journey ที่น่าเศร้า เเละเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะเขาเติบโตมาในสังคมคนละเเบบ เด็กรุ่นนี้เติบโตมาในโลกอีกเเบบหนึ่ง นิยามความสำเร็จของพวกเขาไม่ใช่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเเละไม่ได้เรียนเพื่อมีงานประจำ เเต่เขาเรียนเพื่อค้นพบตัวเอง”
ทั้งนี้ อรรถพลมองว่า เด็กจะรับรู้ตัวเองได้เมื่อตัวเขารับรู้ความหลากหลายในสังคม ซึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ การใช้ Soft Power
“ซีรีส์ญี่ปุ่นในปี 1990-2000 พูดถึงอาชีพที่หลากหลาย ทำให้มีไฟส่องทุกอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กรับรู้ว่าเขาคือใคร มีกระทั่งอาชีพนักดำน้ำเก็บหอยนางรมหรือช่างเเต่งตัวศพ เเต่ละครในไทยยังพูดถึงเรื่องนี้น้อยมากในสื่อหลัก”
การค้นหาตัวเองจึงเป็นการร่วมมือกันของการเรียนรู้ระดับปัจเจก ภาครัฐ ภาคสังคม เเละเอกชน
“การค้นพบตัวเองไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตอนเป็นเยาวชน เเต่ปล่อยให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคน อย่าผลักภาระให้เป็นเรื่องของเยาวชนให้ต่อสู้โดยลำพัง เเต่เป็นเรื่องของครอบครัวต้องเรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมกับการเปลี่ยนเเปลงของสังคม เเล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนความคิดในการทำงาน”
ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล: ต้นทุนมากมายที่เด็กคนหนึ่งต้องจ่ายเมื่อตัดสินใจ Gap Year
ถ้าเด็กคนหนึ่งอยากจะ Gap Year ระบบการศึกษาเปิดพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้มากน้อยเเค่ไหน เพราะทุกอย่างมีราคาที่เด็กคนหนึ่งต้องจ่าย
ถ้า Gap Year ลาเรียนได้ เเต่ต้องเสียเงินค่ารักษาสถานภาพนักศึกษา
ถ้า Gap Year พ่อเเม่ให้ไหม ถ้าพวกเขาหวังว่าเราจะเรียนจบปริญญา
ถ้า Gap Year จะได้กลับมาในระบบการศึกษาอีกเมื่อไหร่
คือ 3 ประเด็นหลักในการพูดคุยกับอาจารย์ชนกพร พัวพัฒนกุล อาจารย์หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อทำให้เห็นว่า โลกความจริง Gap Year ภายใต้บริบทสังคมไทยมีความเป็นไปได้มากน้อยเเค่ไหน
ในมุมมองของชนกพรมองว่า Gap Year คือ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำหนึ่งในการศึกษาไทย เนื่องจากเด็กบางคนอาจถูกบังคับให้ Gap Year เพราะขาดความพร้อมเรื่องการเงิน
“เด็กหลายคนสอบติด เเต่ขอสละสิทธิ์เพราะไม่พร้อมเรื่องการเงิน มันจึงไม่ใช่ Gap Year ที่เขาเลือกเเละทำให้เขาถูกออกจากระบบการศึกษา คำถามต่อมาคือเด็กกลุ่มนี้จะกลับมาในระบบได้มากน้อยเเค่ไหนเพราะสุดท้ายเขาต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาสถานภาพนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องยาก เเล้วเมื่อตัวเขาตัดสินใจเลือกออกไปก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้กลับมาเมื่อไหร่”
ทั้งนี้ mappa พบว่า ระเบียบมหาวิทยาลัยหลายเเห่งในกรุงเทพฯ นักศึกษาสามารถลาพักการศึกษาได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปีการศึกษา โดยต้องจ่ายค่ารักษาสถานภาพนักศึกษาตั้งเเต่หลักร้อยถึงหลักพันต่อเทอม
ขณะเดียวกัน ชนกพรอธิบายว่าการศึกษาควรจะเข้าใจว่ามีเด็ก Gap Year อยู่ในระบบการศึกษา ดังนั้นระบบการสอบเเละระบบการรับสมัครจึงเป็นตัวเเปรสำคัญที่ทำให้เด็กถูกผลักให้เดินตามเส้นทางการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“หากคุณหายไปจากระบบช่วงรอยต่อเข้ามหาวิทยาลัย คุณอาจจะพลาดในการเก็บเเต้มในไทม์ไลน์ของม.6 เเล้วก็ไม่รู้ว่าปีหน้าระบบจะเปลี่ยนไหม เเล้วสิ่งที่คุณมียังใช้ได้อยู่หรือเปล่า”
“บางมหาวิทยาลัยไม่รับคะเเนนเด็กการศึกษานอกระบบ เพราะคิดว่าขาดทักษะที่จำเป็นในคณะนั้นๆ ดังนั้นระบบการรับสมัครที่กำหนดคุณสมบัติจากคะเเนนบางอย่างทำให้คุณไม่สามารถหายออกไปจากระบบได้ เพราะถ้าออกไป อาจจะยากที่จะกลับมา”
ชนกพรเล่าว่า บริบท Gap Year ในประเทศไทยถูกมัดรวมกับระบบการศึกษาจนทำให้เด็กลังเลว่า เขาควรจะ Gap Year ดีไหม
“Gap Year ในไทย คือ การค้นหาว่าตัวเองอยากเรียนอะไร เป็นการค้นหาตัวตนที่ผูกติดกับระบบการศึกษามากกว่าการตามหาความหมายของชีวิตหรือค้นหาคุณค่าในตัวเองเลยติดล็อกว่า ถ้า Gap Year เเล้วกลับมาได้ไหม จะเรียนจบไหม หรือเปลี่ยนเอกได้ไหม”
ประกอบกับภาพความสำเร็จของคนไทย คือ ใบปริญญา คนที่ออกจากระบบไประหว่างทางจึงถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว ทำให้พื้นที่ของเด็ก Gap Year ในสังคมหายไป
“นิยามความสำเร็จเป็นข้อจำกัด เราไม่เคยเห็นว่า Gap Year ที่ประสบความสำเร็จเป็นยังไง คนที่ออกจากระบบถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนล้มเหลว เเล้วหยุดเรียน 1 ปี เป็นการค้นหาตัวเองเเบบไหน สมมติออกมาได้เเล้ว พื้นที่ที่จะอนุญาตให้เด็กคนหนึ่งใช้ Gap year อย่างคุ้มค่ามีมากน้อยเเค่ไหน”
“ค่านิยมที่ต้องเรียนจบปริญญา แต่ถ้าไป Gap Year เเล้วพบว่ามหาลัยไม่ใช่คำตอบเเล้วยังไงต่อ หรือพบว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยทำไปเพื่อกระดาษหนึ่งใบเพื่อเพิ่มเงินเดือน เรามองว่าเป็นการค้นหาตัวเองที่เจ็บปวด”
ชนกพรมองว่า การมีพื้นที่ปลอดภัยเเละเครือข่ายของคนทำ Gap Year ซึ่งไม่ได้หมายถึงพื้นที่หรือเครือข่ายในเชิงกายภาพ เเต่อาจเป็นรวมกลุ่มกันของคนที่เตรียมหรือเคยทำ Gap Year มาเเลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จะทำให้เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าเขาออกไปค้นหาตัวเองทำได้เเละไม่ใช่เรื่องผิด
รวมถึงการคุยกับที่บ้านให้เข้าใจว่าเป้าหมายของการ Gap Year ของตัวเรา มีอะไรมารองรับบ้างเพื่อให้คนในครอบครัวอุ่นใจเเละวางใจ
นอกจากนี้ ชนกพรเเนะนำว่า หากตัดสินใจเลือกจะทำ Gap Year ต้องคุยเเละทบทวนตัวเองว่า จริงๆ เเล้วเราควรจะ Gap Year ไหม หรือสามารถค้นหาตัวตนได้ระหว่างอยู่ในระบบหรือเปล่า
“บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องทำ Gap Year โดยใช้เวลา 1 ปีเต็ม เเต่สามารถเปลี่ยนเป็น Gap week หรือ Gap month ตามที่ระบบการศึกษาเอื้อให้เราได้คิดเเละใคร่ครวญของคุณค่าการเรียน”
“เเม้เเต่การเรียนในโรงเรียน เช่น วิชาฟิสิกส์ ชีววิทยา อาจารย์สามารถเชื่อมโยงให้นักเรียนเห็นคุณค่าการเรียนในเรื่องที่สอน จริงๆ เเล้วอาจจะไม่ต้อง Gap Year ก็ได้”