ฉันเป็นผู้หญิง หรือไบฯ หรือเลสเบี้ยน?  ผิดไหม? ถ้ายังไม่รู้ใจตัวเอง ชวนรู้จักอีก 1 ความหมายของ Q อย่าง ‘Questioning’ ที่ชี้ชวนให้เราได้สำรวจตัวตนภายใต้ร่มเงาของความหลากหลาย

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้เขียนบทความชิ้นแรกในคอลัมน์ ‘Genเด้อ’ ในเรื่องราวว่าด้วย ‘Gender Reveal ปาร์ตี้ทายเพศ ในยุคสมัยที่เพศกำเนิดไม่ได้ตัดสินว่า ‘เรา’ จะเป็นเพศอะไร’ นั้น พี่อาร์ตไดเรกเตอร์ได้ถามกับผู้เขียนว่าอยากให้บทความออกมาเป็นโทนอะไร และมีทิศทางภาพแบบไหนเป็นพิเศษไหมที่เราอยากเล่า

ณ ตอนนั้นผู้เขียนได้ลองกลับมาขบคิดและทบทวนกับตนเอง แล้วก็ค้นพบว่าตอนนี้ผู้เขียนยังไม่สามารถระบุรูปแบบแนวทางที่อยากไปได้ขนาดนั้น 

ราวกับว่ามันมีทางที่อยากไป มีตัวตนที่อยากเป็น แต่เรายังสับสนกับตัวเองอยู่เล็กน้อยว่าจะนำพาคอลัมน์ใหม่แกะกล่องจาก Mappa นี้ไปในทิศทางไหนดี

ช่วงเวลานั้นเองทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำว่า ‘Questioning’ จากตัว ‘Q’ ใน LGBTQIAN+ ขึ้นมา และตัดสินใจว่าในบทถัดมาเราจะมาเล่าเรื่องนี้กัน

นั่นจึงเป็นที่มาของบทความที่ทุกท่านกำลังอ่านในขณะนี้

หากลองสังเกตคำว่า LGBTQIAN+ แล้วนั้น เชื่อเหลือเกินว่าคุณผู้อ่านหลายท่านคงมีความคุ้นตา คุ้นชิน และพอรู้อยู่บ้างว่า แต่ละตัวอักษรที่มัดรวมทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ในความหลากหลายทางเพศนั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง

ไม่ว่าจะ

L ที่มาจาก เลสเบี้ยน (Lesbian) ที่หมายถึง ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง หรือมีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้หญิง

G ที่มาจาก เกย์ (Gay) ที่หมายถึง ผู้ชายที่ชอบผู้ชายหรือมีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้ชาย (สำหรับในบริบทต่างประเทศคำว่า ‘Gay’ สามารถใช้เรียกได้กับบุคคลที่ชอบเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้ชายกับผู้ชาย)

B ที่มาจาก ไบเซ็กชวล (Bisexual) ที่หมายถึง บุคคลที่ชอบหรือมีแรงดึงดูดได้กับทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม

T ที่มาจาก ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือ ‘บุคคลข้ามเพศ’ ที่หมายถึง บุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด ซึ่งอาจผ่านกระบวนการแปลงเพศ (หรืออาจไม่ผ่านกระบวนการแปลงเพศในทางการแพทย์ก็ได้) เพื่อให้เพศสภาพ (Gender) ของตนเองได้สอดคล้องกับการแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity)

I ที่มาจาก เพศกำกวม (Intersex) ที่หมายถึง บุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพที่กำกวมและระบุเพศได้ยาก

A ที่มาจาก Asexual ที่หมายถึง บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ (หากแต่ก็มีรักโรแมนติกและมีเพศสัมพันธ์ได้)

N ที่มาจาก Non-binary ที่หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้จำกัดเพศตัวเองว่าจะต้องเป็นชายหรือหญิง หรืออาจไม่ต้องการระบุเพศตนเอง

และ Q ที่เราหลายคนมักคุ้นเคยกันดีว่ามาจากคำว่า เควียร์ (Queer) ที่หมายถึงผู้ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็น ‘เพศ’ ใดและต้องรักกับเพศใด

แต่นอกเหนือไปจากคำว่า ‘Queer’ แล้ว ตัว Q ใน LGBTQIAN+ ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือคำว่า ‘Questioning’ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

ความหมายนั้นตรงตามตัว Questioning = การตั้งคำถาม หรือ กำลังตั้งคำถาม

ไม่ว่าจะในการนิยามตัวตนทางเพศหรือตอบคำถามที่ว่ารสนิยมทางเพศของคุณเป็นแบบไหนเองก็ตาม ‘Questioning’ อาจเป็นคำนิยามทางเพศสำหรับบุคคลเหล่านั้น

ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีอยู่จริงและอาจถูกลบเลือนตัวตนไปจากสังคมเมื่อเขาถูกบอกว่าให้ต้อง ‘ระบุเพศ’ อย่างชัดเจนเท่านั้น

“นี่เราเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง เราเป็นเลสเบี้ยนหรือเปล่า?

หรือเป็นไบเซ็กชวลกันนะ?

หรืออาจจะระบุตัวตนว่าเป็นเควียร์ได้ไหม?”

เหล่านี้คือตัวอย่างของการระบุตัวตนและรสนิยมทางเพศของตัวเองที่เกิดมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิตของผู้เขียน

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทั้งในเชิงของเพศทางกายภาพ เพศสถานะ หรือเพศวิถี

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนอยู่ในการระบุความเป็น Questioning ได้ทั้งหมด

หรือเหล่านี้อาจอยู่ในความรู้สึกที่ว่าตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะระบุสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ซึ่งในบางครั้งคนที่กำลังตั้งคำถามเหล่านี้อาจไม่สามารถตอบคำถามตลอดไปทั้งชีวิตก็ได้

หรือในตอนแรกค้นพบตัวตนว่าเป็นแบบหนึ่ง แต่ในอนาคตตัวตนอาจเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนคำในการระบุตัวตนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดบาปอะไร

ไม่ต่างอะไรจากผู้เขียนหรืออีกหลายคน เพราะความชอบและตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ลื่นไหล และพร้อมเปลี่ยนไปได้ตลอด

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในภาวะสับสนเสมอไป และการตั้งคำถามเรื่อยๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดแปลก หากแต่เป็นสิ่งที่เราอาจต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ

คล้ายกับที่ว่าวันนี้เราชอบกินไข่ดาว

แต่อนาคตข้างหน้าเราอาจจะเปลี่ยนไปชอบไข่เจียวก็ได้

ดังนั้นการเรียนรู้ความหมายของตัวตนทางเพศของตนเองก็อาจอยู่ในกระบวนการเติบโตของเราแต่ละคน

และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรเช่นเดียวกัน

ที่มา :

https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=34470
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2418192
https://gaycenter.org/community/lgbtq/
https://www.psychiatry.org/getmedia/1da0f311-d0d1-4bd3-8397-acb76a4a8d6a/Mental-Health-Facts-for-Queer-Questioning-Populations.pdf
https://uwm.edu/lgbtrc/resources/questioning/


Writer

Avatar photo

ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts