วลีติดปากและความตั้งใจของคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนก่อนที่ลูกจะลืมตาดูโลกคือ “ตั้งใจจะเป็นพ่อแม่ให้ดีที่สุด” แล้วเราก็มักจะวาดภาพอันสวยงามเหล่านั้นเอาไว้ ตอนลูกยังไม่เกิด 😬
แต่เดี๋ยวววววววว
“พ่อแม่ที่ดีที่สุด” หน้าตาเป็นยังไงนะ?
มีจริงไหม ‘พ่อแม่ที่ดีที่สุด’
การเลี้ยงลูกก็เหมือนการเล่นจักกลิ้ง โยนบอลสามลูกด้วยมือสองข้าง ตอนแรกก็ดูเหมือนว่าจะพอไหว แต่สักพักลูกที่สี่ ลูกที่ห้า ก็ตามมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วก็มีเสียงร้องไห้จ้าสลับกับ เสียงเรียก “แม่! พ่อ!”เป็นจังหวะราวกับเป็นเพลงซิมโฟนีชีวิตที่ไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากลูกลืมตาดูโลก และทำให้ลืมไปเลยว่า ฉัน (และพ่อแม่อีกหลายคน) เริ่มต้นการเดินทางนี้ด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการมีลูกว่า “ฉันจะเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด!”
แม้การเลี้ยงลูกจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนอยากทำให้ถูกต้อง และมักรู้สึกกดดันอย่างมากที่จะต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตลอดเวลา แต่ความจริงคือ ไม่มีทางเลยที่พ่อแม่จะทำให้ถูกต้องได้ตลอด เพราะเด็กไม่ได้มาพร้อมคู่มือแนะนำรายบุคคล และบางสถานการณ์ก็ต้องมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความต้องการอื่นๆ ที่ต้องจัดการ ทั้งของลูกคนอื่นๆ (ถ้ามี) และของตัวเราเอง ซึ่งหมายความว่าการประนีประนอมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การพยายามทำให้ถูกต้องตลอดเวลาและเป็น “พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ” อาจนำไปสู่ความกังวล ความรู้สึกผิด ความไม่พอใจ ความทุกข์ และความละอายใจ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความรู้สึกแย่ในการเลี้ยงลูก และบั่นทอนความสัมพันธ์ต่อจากนั้น
หากเราคาดหวังว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด
พึงระวัง! เพราะเราก็จะคาดหวังให้ลูกเป็นลูกดีที่สุดด้วย
ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด เราอยากให้ลูกเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แบบ แข็งแรง มีความสุข ฉลาดหลักแหลม และแน่นอน ไม่เคยโวยวายกลางห้าง ไม่เลือกกิน ไม่ใช้อารมณ์ ไม่มีปัญหากับเพื่อน ไม่ทะเลาะกับใครเลย เป็นเด็กดี เชื่อฟัง…
หยุดก่อน
ฟังดูคุ้นๆ ไหม ความตั้งใจจะเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุดของเราในช่วงต้น กำลังกลายร่างเป็นความคาดหวังโดยไม่รู้ตัวว่าเมื่อฉัน (พ่อแม่)ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกแล้ว ลูกย่อมต้องดีที่สุดเป็นผลลัพธ์ของสมการที่เราได้สร้างไว้
แต่ชีวิตไม่ใช่คณิตศาสตร์ และมักไม่ได้มีผลลัพธ์ตามสูตรสำเร็จใดๆ
พ่อแม่ที่ดีที่สุดไม่มีอยู่จริง!
และเราไม่มีความจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น 🎉
ดร. โดนัลด์ วินนิกอตต์ (Donald Winnicott) จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์เด็กชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นคนแรกที่แนะนำแนวคิด “พ่อแม่ที่ดีพอ” หรือ The Good Enough Parent วินนิกอตต์ไม่ได้ให้ความหมายของการเป็นอพ่อแม่ที่ดีพอว่าเป็นพ่อแม่ที่ขี้เกียจหรือปล่อยปละละเลย แต่หมายถึงพ่อแม่ที่พยายามเข้าใจลูก รักลูก และที่สำคัญ ไม่ทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
ในช่วงแรกของชีวิต ทารกต้องการความรักและการดูแลที่เกือบสมบูรณ์แบบ เราตอบสนองทุกเสียงร้อง ป้อนนมตามเวลา เปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่เปียก (บางครั้งก่อนที่มันจะเปียกด้วยซ้ำ!) แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มปล่อยให้พวกเขารอได้บ้าง หัดให้พวกเขารู้จักความล่าช้าเล็กๆ น้อยๆ และนี่แหละคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะทำให้เด็กทารกเริ่มรับรู้ถึงโลกภายนอก
วินนิกอตต์กล่าวว่า ถ้าเราตอบสนองความต้องการของลูก ‘มากเกินไป’ ตลอดเวลา เด็กจะไม่เข้าใจความจริงของโลก เขาจะเติบโตขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกครั้งที่ต้องการอะไร เพียงแค่ร้องไห้แล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นทันที ซึ่ง…เราต่างรู้ดีว่าโลกไม่ได้เป็นแบบนั้น 😅
การเป็น “พ่อแม่ที่ดีพอ” จึงหมายถึงการหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในช่วงต้นของชีวิตและหลังจากนั้นต้องค่อยๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับความผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนาทักษะการรับมือกับโลกใบนี้
ด้วยการเลี้ยงดูแบบ “ดีพอ” เด็กจะสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งในโลกแห่งภาพลวงตา จินตนาการ และเวทมนตร์ ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้าใจและยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของเขาเสมอไป
แค่ 1 ใน 3 ก็เพียงพอแล้ว
นักวิจัยด้านพัฒนาการเด็กอย่าง ดร. เอ็ดเวิร์ด ทรอนนิค (Edward Tronick) ได้ทำการทดลองที่ชื่อว่า Still Face Experiment และมีข้อค้นพบว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก การที่พ่อแม่ตอบสนองลูกอย่าง “สมบูรณ์แบบ” ตลอดเวลานั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย
จากการศึกษาพบว่า การตอบสนองความต้องการของลูกแค่ 30% ของเวลา ก็เพียงพอแล้วในการสร้างเด็กที่มีความสุขและมีสุขภาพจิตดี 🤯 และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือช่วงเวลาที่พ่อแม่ “พยายามปรับตัว” ให้เข้ากับอารมณ์และความต้องการของลูก ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างในทันที แต่พยายามเรียนรู้ไปด้วยกัน
ดังนั้น หากในช่วงเวลาการเป็นพ่อแม่ของเราเคยมีช่วงที่ไม่เข้าใจว่าลูกต้องการอะไร เช่น ทำไมร้องไห้ทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนนม อุ้มกล่อมแล้ว? จนยอมแพ้และสุดท้ายก็ต้องปล่อยให้พวกเขาหัดปลอบตัวเอง…ก็ไม่ต้องโทษตัวเองขนาดนั้นที่ไม่เข้าใจความต้องการของลูกในบางช่วงเวลา เพราะนั่นก็คือสถานการณ์ปกติทั่วไปในความสัมพันธ์ของมนุษย์คนหนึ่งกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง และเด็กๆ เองก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะปลอบโยนและจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ได้สัมผัสกับความเครียดเล็กๆ น้อยๆ และเรียนรู้ว่าความทุกข์สามารถคลี่คลายได้ ซึ่งเป็นรากฐานของความสามารถในการฟื้นตัวจากอุปสรรคในชีวิต (resilience)
ไม่มีคู่มือการเป็นพ่อแม่ (และนั่นเป็นเรื่องดี)
พ่อแม่ทุกคนต่างเคยรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลี้ยงลูกผิดพลาด ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือเลี้ยงลูกมามากแค่ไหน หรือศึกษาทฤษฎีด้านจิตวิทยาอย่างลึกซึ้งแค่ไหน สุดท้ายเราก็ยังต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอยู่ดี บางครั้งเราทำผิดพลาด บางครั้งเราไม่มีคำตอบ และบางครั้งเราก็อยากแอบไปนั่งร้องไห้ในห้องน้ำ นี่คือเรื่องปกติของการเป็นพ่อแม่
นอกจากแนวคิด “พ่อแม่ที่ดีพอ” (Good Enough Parent) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ดร. โดนัลด์ วินนิกอตต์ จิตแพทย์เด็กและนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษแล้ว หนังสือ The Good Enough Parent จาก The School of Life ก็เสนอแนวคิดที่ช่วยให้พ่อแม่ลดความกดดันและมองการเลี้ยงลูกในมุมใหม่ โดยเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และปล่อยให้ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลี้ยงลูก
1. พ่อแม่ที่มีข้อบกพร่องเป็นเรื่องปกติ และนั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
หากจะให้เลือกบทเรียนเพียงข้อเดียวจากหนังสือเล่มนี้ Dr. Richard Vincent หัวหน้าฝ่ายจิตบำบัดของ The School of Life กล่าวว่า การเป็น “พ่อแม่ที่ดีพอ” ก็เพียงพอแล้ว
“พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบสร้างปัญหาให้กับลูก เพราะพวกเขาตั้งมาตรฐานที่สูงเกินไปจนสุดท้ายทั้งตัวพ่อแม่และลูกเองก็รู้สึกว่าพวกเขาล้มเหลว”
Toby Marshall หัวหน้าฝ่ายสิ่งพิมพ์ของ The School of Life เสริมว่า
“โลกที่เด็กเกิดมาไม่ใช่โลกที่สมบูรณ์แบบ แต่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความขัดแย้ง หากพ่อแม่พยายามจะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือการตั้งตัวเองให้ล้มเหลวและจมอยู่กับความกังวลและความเสียใจ”
ดังนั้น “พ่อแม่ที่ดีพอ” คือพ่อแม่ที่เข้าใจว่าโลกนี้ไม่สมบูรณ์แบบ และเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับโลกแห่งความเป็นจริงด้วยความรัก ความตั้งใจที่ดี และบางครั้งก็ด้วย “ข้อผิดพลาด” ที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งพ่อแม่และลูกสามารถเรียนรู้และเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต
2. ช่วยลูกรับมือกับอารมณ์ลบของตัวเอง ไม่ใช่เอาตัวเองไปสู่สนามอารมณ์ลบของลูก
ทารกร้องไห้ และต้องการการดูแลจากพ่อแม่ตลอดเวลา หลายครั้งอารมณ์ก็รุนแรงและไร้เหตุผล ซึ่งเป็นพัฒนาการทั่วไปเกิดจากสมองส่วนควบคุมอารมณ์ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ และทำให้พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าถูกกดดันจากทุกทิศทุกทาง ยิ่งบวกกับความเหนื่อยล้าในชีวิตประจำวัน ทำให้พ่อแม่หลายคนเผลอกลับไปใช้วิธีจัดการปัญหาแบบเด็กๆ เช่น หงุดหงิดหรือประชดประชัน
หนังสือ The Good Enough Parent ช่วยให้พ่อแม่พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์โดยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงจากวัยทารกสู่วัยผู้ใหญ่ ทารกอาจยังคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่พ่อแม่ควรตระหนักได้แล้วว่า ‘โลกไม่ได้หมุนรอบตัวลูก’ และมีหน้าที่สอนให้ลูกเรียนรู้ว่า อารมณ์ของพวกเขาถูกกระตุ้นจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเหนื่อยล้า ความหิว หรือระดับน้ำตาลในร่างกาย และอารมณ์เหล่านั้นถูกจัดการได้ ซึ่งหากเด็กได้รู้จักากรรับมืออารมณ์เหล่านี้บ้างในบางครั้ง และพ่อแม่ได้ตอบสนองลูกอยู่ตลอดเวลา เด็กจะค่อยๆ พัฒนาไปใช้การเจรจาและการประนีประนอม
3. เปิดโอกาสให้ความอยากรู้อยากเห็นได้เติบโต
เด็กมองโลกด้วยสายตาแห่งความสงสัยและน่าทึ่งเสมอ พวกเขามีมุมมองที่สดใหม่ต่อโลก ทุกสิ่งสำหรับพวกเขาคือสิ่งใหม่ น่าสนใจ และควรค่าแก่การสำรวจ
ในขณะที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มัก รีบ ยุ่งจนไม่มีเวลาหยุดสังเกตสิ่งรอบตัว ซึ่งอาจทำให้เด็กเข้าใจไปว่าความอยากรู้อยากเห็นไม่ใช่สิ่งสำคัญ
การคงความอยากรู้อยากเห็นและความตื่นตาตื่นใจของเด็ก อาจจะไม่ใช่การช่วยตอบคำถามทุกอย่างด้วยความเร่งรีบ แต่พ่อแม่สามารถตั้งคำถามร่วมกับลูก และสนุกไปกับการสำรวจโลกไปพร้อมกับพวกเขา
4. พฤติกรรมดื้อไม่ได้แปลว่าเป็นปัญหาเสมอไป
พฤติกรรมที่ถูกมองว่า “ไม่ดี” ของเด็กหลายครั้งไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องกังวล แต่เป็นเพียง วิธีการสื่อสารที่ยังไม่สมบูรณ์ เด็กอาจยังไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกหรือความต้องการได้อย่างชัดเจน
Marshall อธิบายว่า “พฤติกรรมดื้อของเด็กอาจเป็นวิธีค้นหาความเป็นอิสระและสำรวจอารมณ์ของตัวเอง เด็กที่เคยดื้อมักจะมีความคิดสร้างสรรค์สูง เพราะพวกเขาเคยลองทำสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในทันที หรือเคยทำให้เกิดความวุ่นวายโดยไม่กลัวว่าทุกอย่างจะพังพินาศ”
ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ “ดีเกินไป” อาจซ่อนอารมณ์ของตัวเองเพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านความยืดหยุ่นทางอารมณ์ในอนาคต หนังสือแนะนำให้พ่อแม่เรียนรู้ที่จะมองพฤติกรรมดื้อในบางครั้งเป็นเรื่องปกติ และเข้าใจว่ามันช่วยให้ลูกค้นหาสมดุลในชีวิต พ่อแม่ควรช่วยชี้นำโดยไม่กดดัน
5. เข้าใจความซับซ้อนของความรักแบบพ่อแม่
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักรู้สึกรักลูกอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน หนังสือเล่มนี้ชวนให้พิจารณาว่าความรักแบบพ่อแม่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากความสัมพันธ์แบบอื่น Dr. Vincent อธิบายว่า“ความรักของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็นิยามได้ยากอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากมันคงอยู่ตลอดเวลา มันจะช่วยให้ลูกสามารถผ่านพ้นช่วงวัยที่สับสนของการเติบโตไปได้”
ความรักของพ่อแม่อาจต้องมาพร้อมกับ ความอดทน การให้อภัย และความเข้าใจ แม้ว่าลูกอาจไม่ได้ตอบแทนความรักนั้นในทันที แต่วันหนึ่งความรักและความเข้าใจที่เรามอบให้เขาจะสะท้อนกลับมาในรูปแบบที่เราอาจคาดไม่ถึง
บทสรุป: ปล่อยความเพอร์เฟ็กต์ไป แล้วสนุกกับการเป็นพ่อแม่ที่ดีพอ
การเป็นพ่อแม่เป็นเรื่องยาก และชีวิตจริงก็ต้องการการประนีประนอม ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ทั้งหมดเสมอไป และไม่ใช่ว่าเราควรเลิกพยายามเลี้ยงลูกให้ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราควรดูแลตัวเองและเมตตาต่อตัวเองเมื่อผิดพลาด ปล่อยความรู้สึกผิดไป หยุดกังวลเกี่ยวกับการทำให้ทุกอย่างถูกต้องตลอดเวลา และอย่าลืมดูแลตัวเอง ดื่มกาแฟตอนที่ยังร้อน กินข้าวให้อร่อย และอาบน้ำให้สดชื่น หรือบางครั้งอาจเพิ่มเวลาสำหรับตัวเองสักนิด
เมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้ เราจะมีความสุขขึ้น เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น และสนุกกับการเลี้ยงลูกมากขึ้น และไม่ใช่แค่เราที่ได้ประโยชน์ แต่บรรยากาศในครอบครัวก็จะดีขึ้นด้วย
เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนเพอร์เฟ็กต์ และก็ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ขอให้มั่นใจว่าเราทำดีที่สุดในแบบของเรา ปล่อยให้ลูกได้สัมผัสทั้งความรักและบทเรียนของโลกจริง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ คือการเป็นพ่อแม่ที่ดีพอและมีความสุขไปกับการเติบโตของลูก และสิ่งสำคัญคือการที่พ่อแม่ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองเช่นกัน
อ้างอิง
- บทความ Whai is a “Good Enough mother” https://www.psychologytoday.com/intl/blog/suffer-the-children/201605/what-is-good-enough-mother
- บทความ “Good Enough Parenting” https://forestpsychology.com.au/good-enough-parenting/
- หนังสือ “Good Enough Parenting” โดย The School of Life