‘คุณลุงผู้ว่าฯ ช่วยทำให้พ่อแม่พวกหนูรวยได้ไหม?’ วิโรจน์, ชัชชาติ และวรัญชัย 3 คุณลุงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามจากเด็กๆ

  • ผู้ว่าฯ กทม. ทำให้พ่อแม่พวกหนูรวยได้ไหม? คำถามจากเด็กๆ ที่อยากทำความรู้จัก ‘คุณลุงผู้ว่าฯ’
  • อ่านนโยบายอาจเข้าใจยากไปสำหรับคนวัยนี้ ตอบข้อสงสัยที่มีน่าจะทำให้เรารู้จักกันมากกว่า
  • mappa x 101 PUB ชวน วิโรจน์, ชัชชาติ และวรัญชัย 3 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาตอบสารพัดคำถามจากเด็ก

นาทีนี้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่คนในพื้นที่อื่นๆ คงรู้จักผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้เกือบทุกคน เพราะไม่ว่าจะนั่งอยู่บ้านเฉยๆ เราก็ต้องได้ยินเพลงหาเสียงลอยเข้ามา เปิดโทรทัศน์จะดูอย่างอื่นก็เห็นข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือแม้แต่ไถหน้าจอ ยังเจอคอนเทนต์ที่เพื่อนๆ ในโลกโซเชียลแชร์มา 

แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ คนที่ไม่รู้ว่าผู้ว่าฯ คือใคร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมทุกคนถึงให้ความสนใจกันมาก นั่นก็คือเด็กๆ 

เด็กอาจจะยังไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ แต่พวกเขาก็เป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ และทิศทางเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไปย่อมส่งผลกับการเติบโตของพวกเขา

mappa x 101 PUB ชวน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และวรัญชัย โชคชนะ 3 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาตอบสารพัดคำถามจากเด็กๆ ตั้งแต่ผู้ว่าฯ คือใคร จะช่วยทำให้พ่อแม่ของพวกเขารวยได้ไหม รวมถึงลุงๆ ช่วยห้ามไม่ให้ ‘ลุงตู่’ ซื้อเรือดำน้ำได้หรือเปล่า?

ก่อนอื่นหนูอยากรู้ว่า ‘ผู้ว่าฯ กรุงเทพ’ คือใคร?

วิโรจน์ : ผู้ว่าฯ กทม. เป็นหนึ่งในคนที่จะทำให้ความฝันของเด็กที่เติบโตในเมืองนี้เป็นจริง และจัดการกับความกลัวต่างๆ ที่พวกหนูมี เช่น กลัวคุณแม่ขับรถออกไปนอกบ้านแล้วจะประสบอุบัติเหตุ ผู้ว่าฯ จะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ทำให้แม่ของหนูเกิดอุบัติเหตุ

ชัชชาติ : ผู้ว่าฯ เป็นเหมือนกับนิติบุคคล คนที่จะมาช่วยดูแลบ้านและคุณภาพชีวิตของพวกเรา เช่น จัดการปัญหาน้ำท่วม ดูแลคุณภาพโรงเรียน ทางเท้า บริการสุขภาพ เป็นต้น 

วรัญชัย : สาเหตุที่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาเยอะตั้งแต่เกิดจนตายแหละครับ ต้องการคนมาแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองให้เจริญรุ่งเรืองให้กับคนกรุงเทพ ไม่ว่าจะด้านการจราจร ขนส่ง สาธารณูปโภค ความสวยงามต่างๆ 

แล้วคนที่เป็นผู้ว่าฯ จะช่วยทำให้พ่อแม่ของพวกหนูรวยด้วยได้ไหมคะ จะได้มีเวลาอยู่กับหนูเยอะๆ ไม่ต้องออกไปทำงานนานๆ

วิโรจน์ : ต้องทำนโยบาย โดยเอาภาษีที่เราเก็บมาเติมสวัสดิการ เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุที่ได้เงินจากรัฐ 600 บาทต่อเดือน เราจะเติมให้ทุกคนได้ 1,000 บาทต่อเดือน หรือสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิด – 6 ปีในครอบครัวรายได้น้อย ได้เงินอุดหนุนจากรัฐ 600 บาทต่อเดือน เราจะเพิ่มเป็น 1,200 บาทต่อเดือน เป็นต้น ผมเชื่อว่าสวัสดิการที่ดีจะเหนี่ยวนำให้เกิดเศรษฐกิจที่ดีและโอบรับทุกคน

ชัชชาติ : เงินจะมี 2 ส่วน คือ รายรับกับรายจ่าย ถ้ามีรายจ่ายเยอะแต่รายได้น้อย พ่อแม่ก็ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาอยู่กับน้องๆ ผู้ว่าฯ อาจจะไม่ได้เพิ่มตังค์ให้คุณพ่อคุณแม่โดยตรง แต่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น ทำโรงเรียนใกล้บ้านให้ดีมีคุณภาพ น้องๆ ก็ไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม ไม่ต้องเดินทางไปเรียนโรงเรียนดีๆ ที่อยู่ไกล ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น หรือทำศูนย์สาธารณสุขที่มีคุณภาพ พ่อแม่ไม่ต้องไปเสียค่าประกันชีวิตพวกหนูแพงๆ 

วรัญชัย : ต้องมีงานทำครับ เพราะพ่อแม่บางคนไม่มีงานทำ หรือหากินแบบลำบาก ไม่มีรายได้ แน่นอนว่าลูกก็ต้องอดอยากไปด้วย เพราะเด็กยังหากินเองไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ บางที 6 – 7 ขวบต้องไปขายพวงมาลัยละ เขาเรียกหาเงินก่อนวัยอันควร

ผมจะดูแลความเป็นอยู่พ่อแม่ เก็บสำรวจข้อมูลครอบครัวว่าพ่อแม่มีลูกกี่คน กินอยู่ยังไง นโยบายของผม คือ บริหารคนกับเมือง บริหารคน คือ ให้คนเกิดดี กินดี อยู่ดี และตายดี ส่วนบริหารเมือง คือ ทำบ้านเมืองให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย

หาที่วิ่งเล่นยากจังค่ะ บ้านหนูก็ไม่ค่อยมีพื้นที่ สนามเด็กเล่นแถวบ้านก็อยู่ไกล แถมของเล่นพังด้วย คุณลุงผู้ว่าฯ จะแก้ไขได้ไหมคะ เพิ่มที่ให้พวกหนูได้วิ่งเล่น

วิโรจน์ : ผมว่าเมืองมันต้องมีกลไก พื้นที่สีเขียวเราต้องทำเพิ่ม แต่อย่าไปทำใต้ทางด่วนหรือที่ที่คมนาคมเข้าไม่ถึง เดินทางลำบาก เพราะทำไปคนก็ไม่ได้ใช้ พื้นที่สีเขียวที่ดีควรประเมินจากจำนวนคนใช้ กรุงเทพฯ มีจำนวนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ครอบครองโดยนายทุน ถ้าเขาไม่อยากเสียภาษีที่ดินราคาสูง ลองเอาพื้นที่นี้มาให้กรุงเทพฯ ทำสวนหย่อม สวนสาธารณะ เขาก็ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน มอบให้กทม.ใช้งานแทน หรือเอกชนจะทำเองก็ได้ แล้วให้ประชาชนเข้ามาใช้ ให้สิทธิ์รับส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ทำให้เมืองนี้แก้ปัญหาและโอบรอบปัญหาซึ่งกันและกันได้

ชัชชาติ : สนามเด็กเล่นที่ดี คือ สนามเด็กเล่นที่พวกน้องๆ ไปได้ทุกวัน เดินไม่เกิน 10 นาทีจากบ้าน แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ ไม่มีงบประมาณไปดูแล เราต้องกระจายลานกีฬา สวนสาธารณะที่มีของเด็กเล่นที่มีคุณภาพ เด็กเล่นได้จริง มีร่มเงา ออกแบบให้ทันสมัยและปลอดภัย 

อีกหนึ่งแนวคิด คือ เปิดโรงเรียนให้เด็กๆ มาเล่นช่วงเสาร์ – อาทิตย์ เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่มีสวนเด็กเล่น อยู่ใกล้ชุมชนอยู่แล้ว ฉะนั้น กทม.ลองไปคุยกับโรงเรียนให้เปิดช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ได้ไหม เพื่อให้เด็กๆ เข้ามาเล่น แล้วก็ให้ชุมชนช่วยดูแลด้วย

วรัญชัย : ผมคิดว่าผู้อำนวยการเขตต้องเป็นคนดูแล อย่าลืมว่ากรุงเทพฯ แบ่งเป็น 50 เขต มีผู้อำนวยการเขตละคน รวมเป็น 50 คน ผู้ว่าฯ จะต้องไปกำชับให้เขาดูแล้ว สภาพสนามเด็กเล่นเป็นอย่างไร ความสะอาด ความปลอดภัย รวมถึงสวนสาธารณะด้วย เพราะพ่อแม่ไปเล่นสวนสาธารณะ เด็กก็ไปเล่นสนามเด็กเล่น 

ห้องสมุดไม่มีหนังสือที่พวกหนูอยากอ่านเลย คุณลุงผู้ว่าฯ พอจะเพิ่มหนังสือที่สนุกๆ เหมาะกับพวกหนูในห้องสมุดได้ไหมคะ

วิโรจน์ : บริการสาธารณะในกรุงเทพฯ มีจริง แต่มันไม่เคยโอบรับและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเลย เช่น ห้องสมุดไม่ให้ชาร์จไฟมือถือ ทั้งๆ ที่เราทุกคนต้องใช้ แล้วการชาร์จมือถือให้แบตเต็ม 1 ครั้ง ใช้เงินไม่เยอะเลย 25 สตางค์ไม่เกินนี้ ถือเป็นค่าการตลาดที่ถูกมากๆ เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาใช้ห้องสมุด

ปัญหาเข้าไปไม่มีหนังสือที่อยากอ่าน คนบางกลุ่มอ่านหนังสือเพราะอยากอัปเดตความรู้ หรืออยากอ่านหนังสือที่กำลังเป็นที่นิยม Best Seller แต่หนังสือเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ในห้องสมุดประชาชน หรือบางครั้งคนก็ไม่ได้เข้าไปเพื่ออ่านหนังสืออย่างเดียว บางครั้งผมเข้าห้องสมุด ผมเข้าไปนอนบ้างก็มี การนอนท่ามกลางหนังสือไม่ใช่ปัญหา ห้องสมุดบางที่มีการปรับรูปแบบใหม่ เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ให้เรามาพบปะกันในบรรยากาศเงียบๆ มีห้อง meeting room หรือ โซน co-working space ซึ่งเราไม่เคยเห็นการปรับตัวแบบนี้กับห้องสมุดประชาชนเลย

การอ่านหนังสือไม่ควรบังคับ ไม่จำเป็นว่าเข้าห้องสมุดต้องอ่านหนังสือเท่านั้น ผมคิดว่าเราควรเข้าห้องสมุดแล้วต้องรู้สึกชิว มีสิ่งที่เราอยากทำนอกจากอ่านหนังสือ มีเสรีภาพ อยากจะเข้าไปเมื่อไหร่ก็ได้ ผมว่าต้องทำห้องสมุดให้ตอบโจทย์นี้ให้ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราดึงคนเข้ามาที่ห้องสมุดก็สามารถนำเสนอหนังสือ สื่อที่ทำให้เขาอ่านมากขึ้นได้

ชัชชาติ : ผมว่าต้องพัฒนาห้องสมุดให้กระจายทั่วกรุงเทพฯ อย่างน้อยต้องมีความทันสมัย มีอินเทอร์เน็ต Wi-Fi มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ มีหนังสือที่มีคุณภาพทันสมัย ที่อยากอีกอย่างคือ ยืมหนังสือ ebook เพราะบางคนไม่สะดวกที่จะไปยืมหนังสือที่ห้องสมุดตลอด ถ้างั้นยืมหนังสือออนไลน์แทนได้ไหม ระบบแบบนี้มีแล้วที่ TCDC (Thailand Creative & Design Center) ให้กทม.เอามาทำเป็นต้นแบบก็จะเพิ่มปริมาณการอ่านได้มากขึ้น

แล้วจริงๆ กทม.เองควรให้หนังสือกับพ่อแม่ที่มีลูกวัยแรกเกิดอย่างน้อย 3 เล่มต่อบ้าน เวียนกันใช้ อ่านจบก็เอามาแลกคืนรับเล่มใหม่

วรัญชัย : ผมทราบมาว่าห้องสมุดที่ทำใหม่แถวสี่แยกคอกวัว ลงทุนไปพันกว่าล้าน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมของคน เพราะท่านทำผิดพลาด หนึ่ง – ไม่มีที่จอดรถ สอง – การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง คนไม่รู้จัก สาม – บริการไม่จูงใจคน ห้องสมุดไม่มีอะไรเลย 

ห้องสมุดกทม.ผู้ว่าคนใหม่ต้องเข้าไปปรับปรุง หาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมไม่ได้รับความนิยม แล้วก็ปรับปรุง

เวลาเดินทางไปสอบในกรุงเทพฯ ลำบากมากเลยค่ะ รถมีน้อย แถมยังติดมากๆ พวกหนูเกือบไปสอบไม่ทัน คุณลุงผู้ว่าฯ จะช่วยทำให้พวกหนูไปสอบง่ายๆ ได้ไหมคะ

วิโรจน์ : กรุงเทพฯ เหมือนองค์กรทั่วไป ถ้าเราเห็นว่าเส้นทางไหนที่ฟันหลอ รถสาธารณะวิ่งน้อย สามารถขอกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง จัดจ้างรถเมล์ในราคาย่อมเยา ส่วนเส้นไหนมีรถเมล์เอกชนวิ่งอยู่แล้ว ก็ให้จัดสเปกตามที่เราต้องการ เช่น ควันรถต้องได้ตามมาตรฐาน Euro 5 (เป็นกฎระเบียบที่กำหนดโดยประเทศกลุ่มทวีปยูโรป เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงภาคการขนส่ง มีหลายระดับด้วยกัน ปัจจุบันไทยอยู่ที่ระดับ Euro 4) หรือเป็นรถเมล์ชานต่ำที่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวสามารถขึ้นได้

ที่สำคัญการทำขนส่งสาธารณะอย่าคิดถึงคำว่า ‘กำไร’ บริการขนส่งสาธารณะสามารถขาดทุนได้ แลกกับผลตอบแทนที่สังคมได้รับ คือ คุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น เก็บเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น

ถ้าเราคิดถึงแต่กำไร พอขาดทุนก็เลือกที่จะตัดงบ ปล่อยให้สภาพรถโทรมต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ เลยเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางของคนรายได้น้อย ทั้งๆ ที่มหานครทั่วโลกมันคือการเดินทางของคนทุกคน 

ชัชชาติ : ปัญหารถติดเป็นปัญหาโลกแตกของกรุงเทพฯ และอำนาจที่ผู้ว่าฯ มีอาจจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งหมด วิธีการแก้ปัญหารถติดที่ดีที่สุด คือ การโดยสารรถสาธารณะ ทำให้จำนวนรถในถนนน้อยลง เดินทางคล่องตัวขึ้น 

สิ่งที่ผู้ว่าฯ ทำได้ หนึ่ง – ประสานงานกับคนที่เกี่ยวข้อง คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจราจรในกรุงเทพฯ รวมถึงใช้เทคโนโลยีช่วยระบาย เช่น เอาอุปกรณ์มาติดเพื่อบริหารไฟเขียว – ไฟแดงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รถจะได้ไหลเร็ว

สอง – จัดการรถที่จอดขวางการจราจร และถนนบริเวณที่มีการก่อสร้างต้องดูแลให้รถเดินทางคล่องตัว และสาม – ทำระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น กทม.ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียว น้องๆ บางคนบ่นว่าราคาแพง นั่งไม่ไหว ฉะนั้น กทม.ต้องไปคุยกับเอกชนที่ทำรถไฟฟ้าควบคุมราคาให้คนส่วนใหญ่เอื้อมถึง รวมไปถึงจุดเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน กทม.ต้องดูแลทางเท้าให้ดี น้องๆ จะได้เดินทางสะดวก

วรัญชัย : ส่วนตัวผมมองว่าขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ราคาแพง สิ่งที่กทม.ควรแก้ คือ หนึ่ง – ทำให้มีรถเมล์ทั่วถึงและราคาอย่าแพง สอง – ทำเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินให้ครอบคลุม ราคาไม่แพง ผู้ว่าฯ ต้องไปประสานงานคุยกับขนส่งมวลชนเหล่านี้ครับ 

พวกหนูชอบนั่งรถเมล์นะคะ รถเมล์ที่ไม่มีแอร์ก็ชอบเหมือนกัน แต่มันร้อนจังเลยค่ะ นั่งแล้วเหมือนรถไฟเลย

วิโรจน์ : ผมเคยบอกว่าเราต้องทำรถมีแอร์ให้ทุกคนขึ้นได้ในราคาย่อมเยา ผมก็ถูกด่าว่า คุณต้องสงวนรถเมล์ร้อนให้คนจนขึ้นบ้างสิ ถ้าทำรถเมล์แอร์หมดคนจนจะขึ้นได้ยังไง แล้วทำไมเราต้องสงวนรถเมล์ร้อนเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของคนจนด้วยล่ะ? ไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรได้ขึ้นรถเมล์ดีๆ ถ้ากลัวแพงก็เก็บค่าโดยสารราคาถูกสิ จะขาดทุนก็ให้ขาดทุนไป อย่างที่บอกว่าเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางสังคม

ถ้าเราคิดจะเอากำไรจากบริการสาธารณะทุกอย่าง เท่ากับรัฐกำลังดูดเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจหรือเปล่า ประชาชนก็เดือดร้อนกันสิ

ชัชชาติ : นั่งรถเมล์แล้วร้อนเพราะ 3 สาเหตุ หนึ่ง – รถคันอื่นที่มีแอร์เอาความร้อนมาโยนใส่เรา สอง – ร้อนเพราะพื้นถนนดูดซับความร้อนแล้วปล่อยความร้อนออกมา และสาม – ความร้อนพุ่งขึ้นมาจากใต้ท้องรถเมล์เลยทำให้รู้สึกว่านั่งรถเมล์ร้อน เป็นรถเมล์ไฟ ยิ่งรถติดก็ยิ่งเป็นไฟ ถ้าตอนรถเมล์วิ่งๆ ก็อาจจะดีหน่อยเพราะมีลมช่วยถ่ายเท

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเปลี่ยนเป็นรถเมล์แอร์ให้หมดดีกว่า แล้วทำเป็นชานต่ำให้แม่ลูกขึ้นได้ คนสูงอายุ คนพิการขึ้นได้ง่ายๆ ปัจจุบันรถเมล์ปีนขึ้นไม่ใช่ง่ายนะ ยากมากๆ บันไดตั้ง 3 ขั้น ยิ่งเวลารถจะออกเขาก็ไล่คนให้ลงเร็วๆ อันตรายมากโดยเฉพาะเด็ก คิดว่าควรจะเปลี่ยนมาตรฐานหน่อย 

วรัญชัย : ตามธรรมชาติของมนุษย์คงไม่มีใครอยากนั่งรถร้อนๆ แต่รถเมล์แอร์มันแพง รถตู้ก็แพง ผู้ว่าฯ ก็ต้องประสานงานกับขสมก.ว่าไปนี้ขอให้เป็นรถเมล์แอร์ได้ไหม แต่ราคาอย่าแพง ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบน่าจะฟรี วัยมัธยมกับมหา’ลัยครึ่งราคา แล้วก็บริการต้องสะอาดด้วย ให้มีที่สำหรับพระภิกษุ เด็ก สตรี มันควรจะมีอย่างนั้น ต้องประสานงานครับ แต่ทุกวันนี้ไม่รู้ประสานหรือเปล่า

คำถามถามสุดท้ายนะคะ หนูเห็นข่าวนายกซื้อเรือดำน้ำ รถถังบ่อยๆ หนูเองไม่รู้ว่าซื้อมาทำไม แล้วราคาก็ตั้งแพง คุณลุงผู้ว่าฯ พอจะช่วยคุยกับนายกให้ไม่ต้องซื้อของพวกนี้ได้ไหมคะ?

วิโรจน์ : ถ้าปากอย่างผู้ว่าฯ วิโรจน์น่าจะช่วยได้ (หัวเราะ) โดยอำนาจผู้ว่าฯ คงห้ามไม่ได้ แต่เราพูดในเชิงจัดสรรงบประมาณได้ว่า ถ้าคุณมีเงินไปซื้อเรือดำ อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เอางบนั้นมาช่วยจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นดีกว่าไหม ประชาชนกำลังลำบาก แล้วรัฐสวัสดิการเป็นหน้าที่ของรัฐบาล คุณสามารถเติมสวัสดิการให้กับประชาชนได้ไหม

ชัชชาติ : เราคงไปยุ่งเกี่ยวกับเรือดำน้ำไม่ได้ แต่ผู้ว่าฯ สัญญาว่าจะใช้เงินของคุณพ่อคุณแม่ที่จ่ายภาษีมาให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อให้น้องๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตครับ 

วรัญชัย : ผู้ว่าฯ ต้องเข้าไปคุยกับคณะนายก ผมจะเปิดเวทีประชาธิปไตยทุกเขต เวทีนี้ผู้ใหญ่มาแสดงความคิดเห็น เวทีนี้เด็กมาแสดง ตอนนี้ไม่มีศึกสงครามแล้ว รถถัง เรือดำน้ำไม่จำเป็น ท่านพอจะหยุดชะลอก่อนได้ไหม ให้ฐานะประเทศไทยดีกว่านี้ งบประมาณที่ว่าเอามาช่วยเหลือเด็กๆ ได้ไหม ทั้งการศึกษา ความเป็นอยู่ เอาอย่างนั้นดีกว่า ผู้ว่าฯ ต้องไปคุย


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts