“Guillermo Del Toro’s Pinocchio” โยงใยอันซับซ้อนระหว่างพ่อ ลูก และสังคม

  • “Guillermo Del Toro’s Pinocchio” ภาพยนตร์อนิเมชัน เทคนิคสต็อปโมชั่น จากฝีมือของผู้กำกับสายดาร์ก กิแยร์โม เดล โทโร
  • ภายใต้การตีความใหม่ “Guillermo Del Toro’s Pinocchio” เน้นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ในฉากยุคสงครามโลกครั้งที่สองและการปกครองในระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลี แต่ยังคงเป็นประเด็นความสัมพันธ์ที่ยังปรากฏชัดในครอบครัวยุคปัจจุบันเช่นกัน
  • นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกแล้ว หนังยังสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสังคม ที่ชักใยต่อกันไปเป็นทอดๆ และส่งผลกระทบระหว่างกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่แน่ใจว่านี่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้ว ที่เรื่องราวของเด็กชายหุ่นไม้ Pinocchio ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทว่า Pinocchio เวอร์ชั่นล่าสุด ในมือของราชาแห่งสัตว์ประหลาดอย่างกิแยร์โม เดล โทโร ที่เพิ่งฉายแบบสตรีมมิงเมื่อไม่นานนี้ ดูเหมือนจะมีประเด็นที่มากกว่าหุ่นเด็กโกหกแล้วจมูกยาวกับการผจญภัยอันน่าระทึกใจ อย่างที่เคยเป็นในเวอร์ชั่นก่อนๆ

“Guillermo Del Toro’s Pinocchio” ปี 2022 นี้ นำเสนอในรูปแบบสต็อปโมชั่นที่สวยงามขาดใจ พร้อมโครงเรื่องหลักเดิมที่ประกอบด้วยช่างไม้เจ็ปเพ็ตโต หุ่นไม้รูปเด็กชายชื่อพินอคคิโอ จิ้งหรีด และเจ้าของคณะละครสัตว์ และเพิ่มเติมฉากประเทศอิตาลีในยุคสงครามโลก ภายใต้การปกครองระบอบฟาสซิสต์โดยเบนิโต มุสโสลินี ซึ่งนำไปสู่การตีความเรื่องราวและตัวละครใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างพ่อ ลูก และสังคม ที่ทั้งกำหนดบทบาทกันและกัน และส่งผลกระทบถึงกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

สังคมที่ชักใยพ่อ

เรื่องราวทั้งหมดใน “Guillermo Del Toro’s Pinocchio” เริ่มขึ้นที่อิตาลี ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการมุสโสลินี และอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในยุคสมัยที่แนวคิดชาตินิยมเฟื่องฟู สังคมให้ค่าความแข็งแกร่งอย่างชายชาตรี และการยึดมั่นในระเบียบวินัยอันเคร่งครัด และโฟกัสส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวละครที่เป็นผู้ชายในเรื่อง ที่มีบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัว

“เจ็ปเพ็ตโต” ช่างไม้ฝีมือดี ที่มีคุณสมบัติความเป็นคนดีของสังคมครบทุกประการ ทั้งความขยันขันแข็ง มีศรัทธาในศาสนา เคารพกฎเกณฑ์ทุกอย่างโดยไม่ตั้งคำถาม และมีลูกชายแสนดีอย่าง “คาร์โล” ทว่าความดีกลับไม่ได้ช่วยรักษาความสุขของเขา แต่ยังพรากแสงสว่างเดียวที่เขามี คือลูกชาย จากน้ำมือของสงครามที่เขาไม่เคยแม้แต่สนับสนุนหรือต่อต้าน

“โปเดสตา” เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง พ่อของเด็กชาย “แคนเดิลวิค” ผู้รักชาติและสนับสนุนสงครามอย่างสุดจิตสุดใจ หายใจเข้าออกเป็นท่านผู้นำ และยึดมั่นในคุณค่าของทหาร จนบ่อยครั้งเขานำวิธีการปกครองทหารในค่ายมาใช้กับครอบครัวและคนทั่วไป หวังให้ใครๆ ก็รับใช้ “ปิตุภูมิ” อย่างไม่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับเขา

“เคานต์โวลเป” ตัวละครตัวนี้ไม่ใช่พ่อผู้ให้กำเนิด แต่วิธีการที่เขาปฏิบัติต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง เขาคือ “เจ้าชีวิต” เคานต์โวลเปเป็นเจ้าของคณะละครสัตว์ที่ฐานะกำลังย่ำแย่จากสภาพเศรษฐกิจในยุคสงคราม และพยายามทุกทางที่จะกอบกู้ฐานะของตัวเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งการล่อลวงผู้อื่น หรือใช้ความรุนแรงกับคนในปกครอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ

พ่อที่ชักใยลูก

“บางครั้งพ่อก็รู้สึกสิ้นหวังเหมือนคนอื่นๆ แล้วก็พูดอะไรบางอย่าง อะไรที่เขาคิดว่าเขารู้สึกในตอนนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เขาไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย” เซบาสเตียน เจ. คริกเก็ต จิ้งหรีดผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลพินอคคิโอ กล่าวกับพินอคคิโอในคืนหนึ่งที่เจ้าหุ่นไม้ทะเลาะกับพ่อ สะท้อนให้เห็นแง่มุมอันอ่อนแอของพ่อในฐานะมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบมาจากความเป็นไปของสังคม และส่งต่อความอ่อนแอนั้นมาสู่ลูกๆ ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป เสมือนคนเล่นละครหุ่นเชิด ที่กำกับทิศทางการเคลื่อนไหวของหุ่นไปตามบทบาทที่ตนได้รับ

แม้จะเป็นพ่อในสังคมที่นิยมชายชาตรี แต่เราพบว่าบรรดาผู้ที่ได้รับบทบาทพ่อในเรื่องนี้ล้วนมีจุดอ่อน นับตั้งแต่เจ็ปเพ็ตโต ผู้เมามายและจมจ่อมอยู่กับความทุกข์จากการสูญเสียลูกชายคนเดียว จึงสร้างหุ่นไม้พินอคคิโอขึ้นมา ด้วยหวังว่าพินอคคิโอจะเป็นเด็กที่สมบูรณ์แบบเหมือนคาร์โล ทว่าพินอคคิโอก็ไม่ใช่ และไม่มีทางเป็นคาร์โลได้ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เจ็ปเพ็ตโตเรียกพินอคคิโอว่า “ภาระ” คำเดียวที่เปลี่ยนชีวิตเจ้าหุ่นไม้ไปตลอดกาล

โปเดสตาเองก็ไม่ต่างจากเจ็ปเพ็ตโตนัก ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ เขาวาดภาพลูกชายผู้แข็งแกร่ง เก่งกาจ กล้าหาญ และทำทุกอย่างเพื่อชาติบ้านเมือง แม้ว่าจะต้องละทิ้งความเป็นมนุษย์เพื่อห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ราวกับว่าแคนเดิลวิคเป็นพลทหารที่ต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ลูกชายที่สมควรได้รับการโอบอุ้ม ปลอบประโลมในห้วงเวลาแห่งสงคราม

ส่วนเคานต์โวลเปก็น่าจะได้ชื่อว่าชักใยเด็กมากที่สุด ภาพเด็กที่เขาอยากจะเห็นจากพินอคคิโอ คือเด็กผู้เชื่องเชื่อ ทำทุกอย่างตามคำสั่ง และเป็นบ่อเงินบ่อทองที่บันดาลรายได้และชื่อเสียงให้เขา เวทีและแสงสีที่พินอคคิโอได้โลดแล่นอยู่ รวมทั้งชื่อเสียง จึงไม่ได้ดลบันดาลอิสรภาพหลังจากอกพ่อ แต่เป็นเหมือนกรงขังกรงใหม่มากกว่า ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เคานต์โวลเปวางตัวเป็นเจ้าชีวิตของทุกคน ทำให้เขาไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจและความรุนแรงในการกำราบผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของตัวเอง 

“เด็กดี” บทบาทที่ลูกต้องเต้นตามการชักใยของพ่อ

เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเรื่องแล้ว คุณสมบัติหนึ่งที่เด็กๆ ในเรื่องต้องเป็นคือ “เด็กดี” แต่ไม่ว่าจะทำเท่าไร พวกเขาก็ไม่เคย “ดีพอ” ในสายตาของพ่อ ซึ่งความไม่ดีพอซักที ก็ผลักให้เด็กๆ ในเรื่องนี้ต้องตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และบางครั้งทางเลือกของพวกเขาก็ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนแบบที่พวกเขาไม่อยากจะเป็น เช่น พินอคคิโอ ที่ไม่อาจจะแทนที่เด็กชายผู้แสนดีอย่างคาร์โล ไม่อาจทำให้พ่อภูมิใจได้ จึงต้องออกเดินทางไปแสดงละครเร่ เพื่อที่อย่างน้อยจะได้มีชื่อเสียงและเงินทอง ให้พ่อได้หันมามองเขาบ้าง 

ส่วนแคนเดิลวิค เด็กชายผู้บอบบาง ที่ใช้ทั้งชีวิตเดินตามคำสั่งของพ่อ เพียงหวังให้พ่อชื่นชมสักนิด ทว่าเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเลือกที่จะเผชิญหน้ากับพ่อ เพื่อนิยามความกล้าหาญในแบบของเขาเอง

หรือแม้กระทั่ง “สเปรซซาทูรา” ลิงในคณะละครสัตว์ มือขวาของเคานต์โวลเป ที่บุคลิกภายนอกดูแข็งกร้าวและพิกลพิการ แต่กลับต้องการความรัก ความเมตตาจากเจ้านาย โดยยอมทำตามคำสั่งเจ้านาย แม้ว่าจะเป็นเรื่องผิด หรือมักจะถูกเจ้านายทำร้ายร่างกายอยู่เสมอก็ตาม ปฏิกิริยารุนแรงที่สเปรซซาทูรากระทำต่อเจ้านายในช่วงท้ายของเรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลจากการใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ยังอาจย้อนมาทำร้ายผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

ให้เด็กได้เป็นเด็ก เด็กจะสร้างโลกที่ดีกว่า

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ “Guillermo Del Toro’s Pinocchio” ยังเผยให้เห็นการดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจในแบบเด็กๆ ทั้งการตั้งคำถาม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการลดทอนอำนาจของผู้ใหญ่ รวมถึงการโอบอุ้มกันและกันระหว่างเด็กๆ อย่างพัฒนาการความสัมพันธ์ของพินอคคิโอและแคนเดิลวิค ที่เริ่มจากการเป็นศัตรูกันสู่การเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้พวกเขาได้เป็นเด็กและเป็นมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรุนแรง รวมถึงวิธีการเรียบง่ายที่เด็กสองคนนี้ใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังหรือฟาดฟันเอาชนะให้ตายกันไปข้าง

และเหนือสิ่งอื่นใด ในช่วงท้ายของเรื่อง เจ้าหุ่นไม้พินอคคิโอได้เลือกทางของตัวเองเพื่อจะไปช่วยชีวิตพ่อออกจากมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวังและโดดเดี่ยว ซึ่งแม้ว่าทางที่เขาเลือกนั้นจะทำให้เขาจบชีวิตลงเช่นเดียวกับมนุษย์ธรรมดา แต่สิ่งที่เขาเลือกก็ถือเป็นทั้งความกล้าหาญและความเป็นมนุษย์ โดยที่ไม่ต้องมีใครชักใยให้เป็น หรือชี้ผิดชี้ถูกว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร มีเพียงพ่อที่บอกเขาว่า เขาไม่ต้องเป็นอะไรเลย และพ่อรักลูกอย่างที่ลูกเป็น

เมื่อเด็กได้เป็นตัวเอง เขาจะเติบโตและสร้างโลกที่ดีกว่าได้


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts