- การปูพื้นฐานการมองโลกจากความเป็นจริงจึงสำคัญ และวิธีที่สอนได้ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การสอนผ่านนิทาน
- ‘อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย’ คือหนึ่งในนิทานสำหรับเด็กแนว Realism และสิ่งที่ตัวเอกมีเสมอมาคือ ความหวัง และพลังบวกในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
- ไม่มีฮีโร่ นางฟ้าและเจ้าชายคนใดจะช่วยเราได้นอกจากตัวเอง ถึงแม้เราอาจไม่ได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ มีข้อเสียในตัวเองบ้าง แต่เราก็ยังเป็นคนที่ดีขึ้นและมีความสุขได้ในทุกวัน
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว”
“อาจไม่จำเป็นต้องจบด้วย ‘มีความสุขชั่วนิรันดร์” …
จะโหดร้ายไปไหม ถ้าลูกได้ฟังนิทานที่เล่าความจริงของโลกตั้งแต่เล็ก ?
วัยเด็กเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษที่เต็มไปด้วยความฝัน แต่ ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตในระหว่างเส้นทางการโตเป็นผู้ใหญ่ เราทุกคนต่างรู้ดีว่ามี Hard-Knock Life บทเรียนทดสอบชีวิตมากมายรออยู่
แล้วเราจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง โดยยังมีความเชื่อในโลกที่ดีงาม ไม่ผิดหวังกับความฝันแสนสวยในนิทานได้ยังไง?
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าแม้เลนส์การมองโลกและนิสัยของคนเรา สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต แต่นิสัยส่วนจิตใต้สำนึก (Subconscious) นั้น เกิดจากการบ่มเพาะในช่วงวัย 0-7 ปีเป็นหลัก นั่นคือ หากมีสิ่งใดที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้ในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การล้มแล้วลุก ความรับผิดชอบ การมีน้ำใจ การรับฟังและเห็นอกเห็นใจคนอื่น การเผชิญหน้ากับปัญหา เราจะมีนิสัยเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึกและโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปตลอด
ในทางตรงกันข้าม วัยเด็กของคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เลย มีแนวโน้มจะพัฒนานิสัยเหล่านี้ยากกว่ามาก แม้มี Growth Mindset ก็ตาม
เข้าทำนอง ‘ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก’
ดังนั้นการปูพื้นฐานการมองโลกจากความเป็นจริงจึงสำคัญ และวิธีที่สอนได้ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การสอนผ่านนิทาน
‘อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย’ ของเลโมนี สนิกเก็ต เป็นซีรีส์วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องการเอาตัวรอดของพี่น้องสามคนที่เจอแต่เคราะห์ร้ายทั้งไฟไหม้บ้าน สูญเสียพ่อแม่และผู้ร้ายจ้องโกงมรดก
เด็กๆต้องเผชิญโชคร้ายหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องตลอด 13 เล่ม
ทำไมเรื่องที่ฟังดูหดหู่ขนาดนี้ถึงยังเป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ?
แม้ตอนจบของซีรีส์ชุดนี้ไม่มี Happy Ending อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าตลอดทั้งเรื่อง สิ่งที่ตัวเอกมีเสมอมาคือ ความหวัง และพลังบวกในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่นิทานสำหรับเด็กแนว Realism ควรสอดแทรก เพื่อให้เด็กหรือคนอ่านทั่วไปยังเชื่อมั่นในตัวเองและโลกใบนี้ได้
จากการวิจัยยังพบว่า ถ้าตัวละครในนิทานหรือวรรณกรรมเป็นมนุษย์ที่มีความสมจริง ใกล้เคียงสถานการณ์ในชีวิตจริง เด็กเล็กจะสามารถนำข้อคิดที่ได้จากในนิทาน มาประยุกต์ใช้ได้มากกว่านิทานแฟนตาซีที่ตัวละครเหนือจริงอีกด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเวทมนตร์ ภูต พ่อมด นางฟ้า เจ้าหญิง เจ้าชายเป็นสิ่งไร้สาระไปเสียหมด เด็กยังคงต้องการจินตนาการและโลกใบนี้ย่อมสวยงามเมื่อมีความฝัน แก่นสำคัญไม่ใช่ว่าองค์ประกอบของนิทานมีความแฟนตาซีหรือไม่ แต่ตัวเอกเชื่อว่าตัวเองเป็นคนกุมชะตาชีวิตและควบคุมความสุขของตัวเองได้หรือเปล่า
จะเห็นได้ว่านิทานคลาสสิกสำหรับเด็กหลายเรื่อง นอกจากสอนเด็กได้ดีแล้วยังสามารถสอนบทเรียนได้ดีอย่างเหลือเชื่อให้ผู้ใหญ่ด้วย
ตัวอย่างเช่น Winnie the Pooh เรื่องราวแสนอบอุ่นที่ทุกคนต่างรู้จักดีของเพื่อนพ้องในป่าร้อยเอเคอร์ ทั้งพูห์ พิกเล็ต ไทเกอร์ อียอร์ แรบบิท ต่างเป็นตัวละครที่มีข้อเสียในตัวเอง แต่ทุกคนช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรค แก้ไขปัญหาและเติบโตขึ้น
แม้กระทั่งผู้ใหญ่เอง เมื่อกลับมาอ่านข้อคิดที่เรียบง่ายผ่านนิทานอีกครั้ง ก็ย่อมตระหนักถึงข้อคิดที่หลงลืมไประหว่างเติบโตเหมือนกัน
นิทานที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องจบสวยหวานหวือหวา รักกันนิรันดร หรือ มีความสุขในปราสาทตลอดไป แต่อ่านแล้วอบอุ่น เมื่อกลับมาอ่านทวนอีกทีตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังได้ข้อคิดชีวิตที่งดงาม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนิทานเป็นอาวุธที่ทรงพลัง จะดีกว่าไหมถ้าเพิ่มหมวดหมู่นิทานที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเข้าใจโลกให้เด็กว่า ไม่มีสิ่งใดจะช่วยปลดคำสาปของแม่มดและโลกที่โหดร้าย
ไม่มีฮีโร่ นางฟ้าและเจ้าชายคนใดจะช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง และถึงแม้เราอาจไม่ได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ มีข้อเสียในตัวเองบ้าง แต่เราก็ยังเป็นคนที่ดีขึ้นและมีความสุขได้ในทุกวัน
เมื่อเริ่มเข้าใจตั้งแต่เด็ก โตมาย่อมลดความผิดหวังและเจ็บปวดกับชีวิต เจ็บน้อยกว่าที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราเคยผ่านมา
https://www.primeparentsclub.com/teach-kids-no-happily-ever-after/
https://theconversation.com/one-day-my-end-will-come-kids-dont-need-happily-ever-afters-43636