ฮีลตัวเองอย่างไร เมื่อเติบโตในบ้านที่พ่อแม่ไม่ได้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่ดี

แผลใจจากสายสัมพันธ์ที่แหว่งวิ่น

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ฉันใด การเลือกเติบโตในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบก็ทำไม่ได้ฉันนั้น

ไม่เกินจริงหากเราจะบอกว่าการมีครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์อันแข็งแรงคือพรีวิเลจ เพราะมีเด็กไม่น้อยที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความสัมพันธ์ ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือเด็กๆ จะได้รับผลกระทบจากสายสัมพันธ์อันแหว่งวิ่นของผู้ใหญ่อย่างปฏิเสธไม่ได้

หลายงานวิจัยบ่งบอกว่า การเติบโตในบ้านที่สายสัมพันธ์ร้าวฉานและพ่อแม่แตกหักกันส่งผลต่อสุขภาพจิตของปัจเจก บทความ The Impact of Dysfunctional Families on the Mental Health of Children ของ Lucy Kganyago Mphaphuli ชี้ว่าการเติบโตในบ้านที่ไม่สมบูรณ์ (dysfunctional families) ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่พ่อแม่ขัดแย้งกันตลอด มีการลงไม้ลงมือ ทำให้เด็กรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไปจนถึงการแยกทาง ทำให้เด็กมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่อาการป่วยใจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้าหรือความกังวลได้

การเติบโตในบ้านที่สายสัมพันธ์ไม่แข็งแรงยังส่งผลต่อการเรียน การเข้าสังคม มุมมองความรักและประสบการณ์เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สึกว่าตัวเองโชคร้ายและด้อยค่าอาจติดตัวเขา ยิ่งเมื่อออกมาอยู่ในสังคมที่มีบรรทัดฐานและความคาดหวังต่อเรื่องความรักรูปแบบหนึ่ง เมื่อเขาไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความสัมพันธ์ ยิ่งจะสร้างความรู้สึกผิดหวังในตัวเองอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ดี หลายงานวิจัยยังชี้ว่า ไม่จำเป็นที่เด็กจะได้รับผลกระทบแง่ลบจากสายสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัวเท่านั้น หากผู้ใหญ่รับรู้ถึงปัญหาและมีการสื่อสารที่ดีกับเด็กๆ (เช่น พ่อแม่ที่หย่าร้างกัน) พวกเขาจะสามารถปลูกฝังให้เด็กๆ มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีแนวคิดว่าตัวเองเป็นอิสระ และมีสกิลของการ ‘ล้มแล้วลุก’ ได้เช่นกัน

Image by jcomp on Freepik

หากไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เห็น ก็สร้างตัวอย่างนั้นขึ้นเอง

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี มีพ่อแม่ที่เข้าอกเข้าใจและสื่อสารเป็น ข้อนั้นเรารู้ดี

คำถามคือ เมื่อเราเติบโตมากับความสัมพันธ์ที่ไม่ดีของผู้ใหญ่ แล้วเราจะเยียวยาตัวเองจากบาดแผลวัยเยาว์ และปรับมุมมองทางด้านความสัมพันธ์ของตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร เรารวบรวมคำแนะนำจากนักจิตวิทยาและเว็บไซต์ฮีลใจหลายแห่งและขอสรุปเป็นข้อๆ ให้ฟังดังนี้

  • การรับรู้ว่าเรามีบาดแผลทางจิตใจจากสายสัมพันธ์ที่แหว่งวิ่นของครอบครัวอาจเป็นขั้นแรกที่เราควรทำ การรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเกิดขึ้นจริง และหาทางเยียวยาจากมันก็ถือเป็นสัญญาณดีๆ แล้ว
  • ที่สำคัญ อย่าโทษตัวเองสำหรับการกระทำจากคนในครอบครัวของคุณเด็ดขาด
  • เมื่อรับรู้ถึงปัญหาแล้ว ก็ต้องรับรู้ว่าหลายต่อหลายครั้ง ความรู้สึกที่เกิดจากแผลใจอาจเข้ามาทักทายเราเป็นระยะ ทั้งความโกรธ ความเศร้า ความเหงา เมื่อไรที่เขามาทักทายก็โอบรับความรู้สึกเหล่านั้นไว้ให้เต็มที่
  • การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็เป็นชอยส์ที่แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาที่ปรึกษาหรือจิตแพทย์ ยิ่งสำหรับคนที่มีปมทางจิตใจฝังลึกเพราะตอนเด็กๆ เคยโดนทำร้ายหรือทอดทิ้ง บางครั้งเราไม่รู้ว่าตัวเองกำลังกดปัญหานั้นไว้ในใจอยู่จนมันบั่นทอนความสามารถในการเชื่อใจและรักใครสักคน
  • ตั้งเป้าหมายในการเยียวยาตัวเอง เช่น อยากให้อภัยคนในครอบครัวผู้สร้างสายสัมพันธ์ที่แหว่งวิ่นให้ได้ เพื่อที่สุดท้ายสายสัมพันธ์เหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเราในอนาคต
  • พยายามพาตัวเองไปทำสิ่งที่รู้สึกดี รับรู้ว่า self-esteem เป็นสิ่งที่พัฒนาได้เสมอหากเราทุ่มเทเวลากับพลังงานในสิ่งที่เราสนใจ ไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือการเยียวยาประเภทอื่นๆ ที่ครีเอทีฟขึ้นมาหน่อยก็ได้ เช่น การใช้ศิลปะหรือการเขียนหนังสือ เพื่อแสดงความรู้สึกข้างในออกมา
  • ที่สำคัญ อนุญาตให้ตัวเองได้เทคแคร์ตัวเอง อย่ารู้สึกผิดในการทำให้ตัวเองได้เอ็นจอย
  • เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สร้างความสัมพันธ์อันแข็งแรงกับคนอื่นๆ เพื่อให้เห็นหน้าตาของสายสัมพันธ์ที่ดี และไม่จำเป็นต้องเป็นสายสัมพันธ์แบบรักโรแมนติกเท่านั้น แค่เพื่อนสักคนที่คุยดีพทอล์กกันได้ก็ถือเป็นลาภอันประเสริฐ
  • หัวเราะเยอะๆ โฟกัสกับปัจจุบัน และพยายามแสดงความรัก แม้จะไม่เคยเห็นหน้าตาของความรักเลย เพราะเชื่อเถอะว่า การแสดงความรักจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีและลดความเสียใจจากสายสัมพันธ์เดิมๆ แม้จะเป็นการแสดงความรักง่ายๆ เช่น การซื้อดอกไม้ ซื้อขนมให้คนทีรัก หรือการกอดก็ตาม
  • สุดท้าย-ซึ่งอาจเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการให้อภัยคนที่สร้างแผลใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อพวกเขา แต่เพื่อตัวเราเอง
Photo by Suhyeon Choi on Unsplash

แล้วสายสัมพันธ์ที่ดีในบ้านควรมีหน้าตาเป็นแบบไหน

หลายงานวิจัยชี้ชัดว่า สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงในบ้านจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงและใช้สารเสพติด รายงานของ CNNhealth บอกไว้แบบนั้น

จากรายงานเดียวกันซึ่งออกสำรวจกับเด็กๆ มากกว่า 37,000 คนใน 26 ประเทศ พวกเขาพบว่า คนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจะส่งผลให้พวกเขาพบความสำเร็จในชีวิตได้

หากยังไม่สายเกินไป ผู้ใหญ่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงในบ้านได้อย่างไร?

ความห่วงใย การสนับสนุน ความปลอดภัย ความเคารพ และการมีส่วนร่วม คือ 5 หมวดหมู่ที่พวกเขาจัดไว้ แต่เหนืออื่นใด แก่นแท้ของการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงคือการทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าถูกยอมรับและทะนุถนอมอย่างเต็มแขนในบ้านของตัวเอง เมื่อพวกเขารู้สึกอย่างนั้น พวกเขาจะสามารถเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และสามารถพัฒนาตัวตนของตัวเองขึ้นมาได้อย่างสง่างาม

งานวิจัยยังบอกอีกว่า เด็กๆ ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวกว่า 49% นั้นมีโอกาสจะ ‘เบ่งบาน’ ได้มากกว่าเด็กๆ ที่สายสัมพันธ์ในครอบครัวแข็งแรงน้อยกว่า โดยโอกาสที่จะพัฒนาสายสัมพันธ์ให้ดีคือช่วงเวลาระหว่างมื้อเย็นที่ผู้ใหญ่ควรจะสร้างบรรยากาศที่เด็กสบายใจมากพอที่จะพูดได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตัดสิน

“บทสนทนาที่มีความหมายกับลูกนั้นสำคัญกับสายสัมพันธ์ของคุณมากกว่าพาลูกไปทริปแพงๆ เสียอีก” Elaine Reese ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ให้สัมภาษณ์ไว้ 

และนั่นอาจเป็นประโยคอันเป็นหัวใจสำคัญที่สรุปเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เราเชื่ออย่างนั้น

Photo by Nathan Dumlao on Unsplash

อ้างอิง

https://ooca.co/blog/family-not-safe-zone/

https://typeset.io/questions/what-s-the-view-of-people-from-broken-families-to-romantic-1cx5hkdu53

https://typeset.io/questions/how-broken-family-affect-out-mental-health-51f73fvt4z

https://typeset.io/questions/what-are-positive-impact-of-having-a-broken-family-4cj3cm74hl

https://edition.cnn.com/2022/05/20/health/family-connections-flourish-parenting-study-wellness/index.html

https://www.thenews.com.pk/magazine/you/76974-the-effect-of-a-broken-family

https://www.intechopen.com/chapters/86469

https://douglasmcquistancounseling.com/how-to-heal-a-broken-family-relationship/

https://www.wikihow.com/Detach-from-Dysfunctional-Relatives

https://www.wikihow.com/Heal-Family-Wounds


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts