หมอแพมชวนอ่าน

หนังสือแบบไหนเหมาะกับวัยหนู

การอ่านคือการสั่งสมประสบการณ์ที่เด็กไม่รู้ตัว

พ่อแม่อาจจะไม่ต้องหวังให้เขามีผลการเรียนที่โดดเด่นจากการอ่าน เพราะท้ายที่สุดผลลัพธ์ของการอ่านจะงอกงามและค่อยๆ แสดงผลของมันเองในระยะยาว

แล้วหนังสือแบบไหนจะเหมาะกับลูก คุยกับ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ หมอแพมชวนอ่าน

“เพราะเด็กที่ได้ฟังการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยทารก เขาจะได้รับความสนุกจากการได้ยินเสียง มีความสุขจากการถูกสัมผัสหรือสบตา ดังนั้นหากพ่อแม่เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เกิด และอ่านต่อเนื่องจนโต จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนรักการอ่าน”

0-3 เดือน: เล่มไหนก็ได้ ขอให้เป็นเสียงแม่ 

เด็กในวัยนี้สายตายังมองไม่ชัด ระยะการมองเห็นคล้ายคนสายตาสั้นประมาณ 800-900 และเห็นภาพเป็นสีขาวดำ ตามธรรมชาติเด็กวัยนี้จะมองชัดที่สุดคือระยะ 1 ฟุต นั่นคือระยะของหน้าแม่ตอนที่ก้มมอง หรือแม่ที่กำลังสบตาเขาขณะที่ให้นม

การอ่านหนังสือสำหรับเด็กวัยนี้ ยังไม่ต้องคาดหวังให้เกิดการพัฒนาด้านสมอง แต่ควรเป็นเวลาที่ทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัย ในเมื่อการมองเห็นยังไม่ชัดเจน ประสาทสัมผัสที่เด็กจะรู้สึกได้คือเสียง คุณแม่สามารถอ่านหนังสือทุกประเภทให้ลูกฟังได้ แม้กระทั่งอ่านนวนิยายหรือหนังสือแฟชั่น เพียงแต่ต้องเล่าผ่านโทนเสียงของแม่

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการอ่านหนังสือให้เด็กวัยนี้ฟังคือช่วงที่เด็กกำลังเคลิ้มหลับหรือขณะดูดนม เพราะคลื่นสมองกำลังเข้าสู่ระยะพักหรือเรียกว่าสมองกำลังจัดเรียงข้อมูล การที่เขาได้ยินเสียงแม่ขณะที่รู้สึกอารมณ์ดีจะทำให้เขาเชื่อมโยงว่าเสียงของแม่มาแล้วและนี่คือเวลาที่ฉันรู้สึกสบาย 

4-6 เดือน: ทุกอย่างคือเรื่องใหม่ ภาพต้องใหญ่และชัดเจน

เด็กในวัยนี้จะตื่นเต้นกับการใช้ดวงตามากขึ้น เขาจะพยายามหาแสง สี และการเคลื่อนไหว สังเกตได้จากเมื่อเล่นหยอกล้อ เด็กวัยนี้มักจะหัวเราะเอิ๊กอ๊ากทุกครั้ง นี่จึงเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่จะใช้หนังสือที่มีภาพใหญ่ๆ ชัดๆ อ่านให้ลูกฟัง

อีกทั้งสมองของเด็กในวัย 6 เดือน ยังเป็นจุดตั้งต้นของความจำใช้งาน เด็กจะเก็บข้อมูลเอาไว้ พอข้อมูลเริ่มซ้ำ เขาจะเชื่อมโยงได้ เช่น พ่อแม่เรียกรูปนี้ว่าแมวซ้ำไปมา ครั้งต่อไปเขาจะเริ่มจำได้ 

เด็กวัยนี้จะถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมได้ง่ายมาก มักเป็นวัยที่พ่อแม่นักอ่านบ่นว่าลูกไม่สนใจ แต่นี่คือพัฒนาการของเขา เพราะทุกสิ่งคือเรื่องใหม่และเขาจะตื่นเต้นกับสิ่งอื่นได้ง่ายเสมอ

6 เดือน-1 ขวบ: หนังสือต้องสนุก เร้าใจไม่แพ้ของเล่น 

หนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยนี้จะต้องให้ความรู้สึกกึ่งของเล่น เช่น มี pop-up หรือมีเสียงเพลงออกมา เพื่อช่วงชิงความตื่นเต้นและสนใจของเขา สำหรับพ่อแม่ที่รู้ว่าลูกสนใจหรือเริ่มแสดงความชอบของตัวเองอย่างชัดเจน สามารถเน้นอ่านหนังสือไปทางนั้นได้ เช่น หนังสือภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ ผัก ผลไม้

1-2 ขวบ: เลือกหนังสือตามความสนใจลูก เขาจะกลายเป็นนักฟังชั้นเยี่ยม

ถ้าเด็กรู้จักการอ่านมาตั้งแต่เกิด ช่วงหลัง 1 ขวบ เขาจะเริ่มแสดงความชอบที่เป็นของเขาชัดเจน ง่ายที่สุดเราเลือกหนังสือตามความสนใจของเด็กๆ

เด็กวัย 1-3 ขวบ ยังเล่นกับคนอื่นไม่เป็น (parallel play) แต่เขาจะสนใจความเป็นไปของเด็กคนอื่นอย่างมาก ดังนั้น หนังสือที่มีตัวละครซ้ำๆ เป็นชุด เด็กจะชอบมากในช่วงนี้ เช่น กุ๋งกิ๋ง หนูนิด ป๋องแป๋ง ฯลฯ

ส่วนเรื่องราวในหนังสือ สามารถมีเนื้อหาซับซ้อนได้มากกว่าวัยทารกที่มีแค่ภาพหรือมีตัวหนังสือไม่กี่คำ

เพราะเด็กวัย 1 ขวบ มีคลังศัพท์ปริมาณมากพอที่จะคิดเป็นภาพเคลื่อนไหวได้แล้ว แม้จะพูดออกมาเป็นคำไม่ได้แต่เขาฟังรู้เรื่องและพร้อมจะเป็นนักฟังชั้นเยี่ยม เขาต้องการฟังนิทานที่มีโครงเรื่องซับซ้อนขึ้น มี conflict มี climax มีการคลี่คลาย เพราะเขาเริ่มรู้โครงสร้างประโยค โทนน้ำเสียง ดังนั้นเราก็ต้องเลือกนิทานที่มีคุณภาพ ทั้งความถูกต้อง ความสละสลวยของภาษา ภาพประกอบ เช่น งานแรกของมี้จัง, คุณฟองฟันหลอ, เจ้าหมูหูหาย, ชุดไดโนน้อย 

ส่วนเด็ก 2 ขวบ หากดูเส้นใยสมองจะพบความยุ่งเหยิงอย่างมาก เพราะสมองของเด็กวันนี้เป็นอวัยวะที่ได้รับเลือดไปเลี้ยงมากที่สุด ถ้าเส้นใยประสาทเติบโตแบบ non-stop ร่างกายต้องทำงานหนัก ในการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มตามปริมาณเซลล์และเส้นใยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันร่างกายจำเป็นต้องรักษาสมดุล จึงมีการจัดระเบียบสมองเกิดขึ้น นั่นคือกระบวนการ pruning of cortical synapses 

การพัฒนาสมองและระบบประสาทในช่วง 2 ขวบปีแรกนั้น เกิดขึ้นด้วยอัตราสูงสุดถึง 40,000 synapses/sec จึงทำให้มีการสร้าง neurons และ synapses เกินจำเป็นต่อการใช้งานไปมาก 

ดังนั้นจึงต้องมีการกำจัดเส้นในสมองที่ไม่ได้ใช้งานออกไปบ้าง ยังคงแต่ในส่วนที่ใช้บ่อย 

เพราะฉะนั้นในวัย 2 ขวบ ถ้าอยากให้เด็กทำอะไร เช่น อยากให้เด็กถอดเสื้อผ้าแล้วใส่ลงตะกร้าก็ให้เขาทำซ้ำๆ ทุกวัน ใยสมองจะรับรู้ว่า นี่คือสิ่งจำเป็น ท้ายที่สุดก็จะเข้าไปเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ

ที่มา: พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ หมอแพมชวนอ่าน


Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts