How to Give Photo Credit 101: ถึงจะให้เครดิต ก็อาจถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี

  • ในโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอันหลากหลาย แถมยังสามารถทำบทบาทผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ เราจึงเห็นการหยิบยืนและเปลี่ยนข้อมูลจากเว็บนั้นทีเว็บนี้บ้าง โดยเฉพาะรูปภาพที่บางครั้งก็มาพร้อมเครดิตและอ้างอิง แต่บางครั้งเมื่อถูกส่งต่อกันเรื่อย ๆ ชื่อของเจ้าของผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ก็กลับเลือนหายไป  
  • “แค่ให้เครดิตก็ไม่ผิดแล้ว” คืออีกหนึ่งความเข้าใจผิดของหลาย ๆ คนที่มีต่อการนำภาพบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ แน่นอนว่าการให้เครดิตเป็นเรื่องที่ดี แต่ผลงานบางชิ้นที่เจ้าของลิขสิทธิ์สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ การให้เครดิตก็อาจจะยังผิดกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ดี
  • ภาพแบบไหนนำมาใช้ได้ ภาพแบบไหนสงวนลิขสิทธิ์ เงื่อนไขลิขสิทธิ์มีอะไรบ้าง การให้เครดิตควรให้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

ในโลกปัจจุบันที่ใครต่อใครก็เข้าถึงข้อมูลมากมายมหาศาลได้ ใคร ๆ ก็สามารถทำบทบาทผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ รายงานข่าวได้ โพสต์ภาพได้ เขียนบทความได้ เราจึงเห็นการหยิบยืมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากเว็บนั้นทีเว็บนี้บ้างกันอยู่บ่อย ๆ การหยิบยืมบางครั้งมีอ้างอิงไปถึงต้นทางอย่างชัดเจน แต่การหยิบยืมหลาย ๆ ครั้งบนโลกอินเตอร์เน็ตกลับไม่ได้มาพร้อมการให้เครดิตต้นทางด้วย

Mappa เองก็เป็นทั้งผู้หยิบยืมและผู้ถูกหยิบยืมข้อมูลเนื้อหาหรือภาพถ่ายในวัฏจักรการทำคอนเทนต์เช่นกัน เราเคยทั้งหลงลืมการให้เครดิตภาพเสียเอง แต่บางครั้งเราก็พบว่าภาพถ่ายของเรากลับไปปรากฏอยู่บนช่องทางอื่นที่ไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของเรามาก่อน แถมเมื่อมองหาเครดิตก็ยังไม่เจอ

ที่จริงแล้วการให้เครดิตเป็นเรื่องที่ควรทำ จนอาจถึงขั้น “ต้องทำ” ในบางครั้ง แม้กระทั่งการรีโพสต์มีมขำ ๆ บนเฟซบุ๊กหรือการใช้ภาพจาก Creative Commons ที่เราคิดว่าเป็นของฟรี การให้เครดิตก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันตัวเองจากการถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ในผลงานที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีข้อบังคับจากกฎหมายลิขสิทธิ์ การให้เครดิตก็ยังถือเป็นมารยาทที่ดีและเป็นคำขอบคุณให้เจ้าของลิขสิทธิ์ที่แบ่งปันผลงานดี ๆ ภาพสวย ๆ ให้เราได้ใช้ด้วย

เรื่องที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำภาพมาใช้และการให้เครดิต

เรื่องที่หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจผิดอยู่ก็คือ “แค่ให้เครดิตก็ไม่ผิดแล้ว” และการให้เครดิตจะให้เป็นอะไรก็ได้ เราจึงเห็นหลาย ๆ กลุ่มในเฟซบุ๊กที่มักจะโพสต์ภาพจากอินเทอร์เน็ตโดยให้เครดิตว่า “เครดิต : เจ้าของภาพ” หรือ “เครดิต : Google” แต่การนำภาพมาใช้ในบางกรณี เพียงแค่ให้เครดิตอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะบางครั้งเราอาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาโพสต์ใหม่ตั้งแต่แรก และต่อไปนี้คือเรื่องที่ชาวเน็ตมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำภาพมาใช้และการให้เครดิตภาพ

เราสามารถเอาภาพบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ได้เลย

เพลง วิดีโอ โปรแกรมต่าง ๆ มีลิขสิทธิ์ฉันใด ภาพก็มีลิขสิทธิ์ฉันนั้น โดยลิขสิทธิ์มักจะเป็นของช่างภาพผู้เป็นคนถ่ายภาพนั้น ๆ หรืออาจจะเป็นของบริษัทต้นสังกัดของช่างภาพคนนั้น หรือคนที่ซื้อลิขสิทธิ์ภาพจากช่างภาพไปก็ได้

ภาพที่ดัดแปลงแล้วไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

หลายคนมักจะคิดว่า หากนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ รีทัช ปรับสี ฯลฯ ก่อนที่จะนำมาโพสต์ลงอีกครั้ง ถือว่าไม่ผิดลิขสิทธิ์เพราะเป็นผลงาน (การดัดแปลง) ของเราเอง แต่ที่จริงแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมไปถึงการดัดแปลงผลงานเช่นกัน

“ใคร ๆ ก็ทำกัน”

บางครั้งเราจะเห็นข้ออ้าง “ใคร ๆ ก็ทำกัน” เกิดขึ้นบ่อย ๆ จริงอยู่ที่ปัจจุบันหลายคนนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ ไม่ว่าจะในโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โพสต์ลงเพจ โพสต์ลงสื่ออื่น ๆ แต่เพียงเพราะใคร ๆ ก็ทำกันไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นถูก และแม้ภาพนั้นจะถูกนำมาโพสต์โดยคนอื่นก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้แปลว่าลิขสิทธิ์ในภาพนั้นจะเป็นโมฆะ ต่อให้จะเห็นภาพดังกล่าวบนสื่อใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำก็คือการหาต้นทางของภาพให้เจอ ตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์หรือขออนุญาตเจ้าของภาพก่อนนำมาใช้

ให้เครดิตก็ไม่ผิดแล้ว

การให้เครดิตไม่สามารถปกป้องเราจากกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ เพราะภาพบางภาพนั้นคือภาพ “สงวนลิขสิทธิ์” ที่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่แรก ก่อนการนำภาพใดบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ จึงควรตรวจสอบลิขสิทธิ์ให้ดีหรือขออนุญาตเจ้าของภาพก่อนเสมอ

ลิขสิทธิ์ประเภทต่าง ๆ

สิ่งแรกที่เราควรรู้เกี่ยวกับการให้เครดิตภาพจึงเป็นศัพท์และสัญลักษณ์เกี่ยวกับประเภทของลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ว่าเราจะสามารถนำภาพแบบไหนมาใช้ได้บ้าง

Copyright (ลิขสิทธิ์) คือสิทธิทางกฎหมายที่มอบให้ผู้สร้างสรรค์งานสร้างสรรค์ทุกประเภท และถือสิทธิ์ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่าย ทำซ้ำ จัดแสดง สร้างสรรค์งานดัดแปลงจากผลงานต้นฉบับ

All Rights Reserved (สงวนลิขสิทธิ์) คือผู้ถือลิขสิทธิ์สงวนสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งกำหนดโดยกฎหมาย เช่น การแจกจ่าย ทำซ้ำ จัดแสดง สร้างสรรค์งานดัดแปลง นั่นหมายถึงว่าคนอื่นจะมีสิทธิ์ใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยตรงจากเจ้าของลิขสิทธิ์

Creative Commons (CC) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนให้สาธารณะสามารถใช้สื่อต่าง ๆ ได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยสัญญาอนุญาต ในขณะที่เจ้าของผลงานก็ยังคงสามารถรักษาสิทธิในผลงานไว้ได้ ผ่านทางเลือกที่เรียกว่า Creative Commons License Options ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถกำหนดเงื่อนไขได้หลัก ๆ 4 ข้อคือ

  • Attribution – BY แสดงที่มา / อ้างอิงแหล่งที่มา คือการอนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานไปใช้ได้ แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงาน
  • Non Commercial – NC ไม่ใช้เพื่อการค้า คือการอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการค้า
  • No Derivative Works – ND ไม่ดัดแปลง คือการอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ แต่ห้ามดัดแปลงผลงาน
  • Share Alike – SA ใช้สัญญาอนุญาตเดิม คือการอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ แต่หากจะเผยแพร่งานดัดแปลงจะต้องใช้สัญญาอนุญาตที่มีเงื่อนไขเดียวกันกับต้นฉบับ

Fair Use หมายถึงการอนุญาตให้นำผลงานไปใช้เฉพาะจุดประสงค์เพื่อการศึกษา การใช้งานส่วนตัว การวิจัย หรือเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ

Public Domain (CC0) คือผลงานที่ไม่ถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า “สมบัติสาธารณะ”

ภาพแบบไหนต้องให้เครดิตอย่างไร

หลังจากรู้จักสัญลักษณ์ลิขสิทธิ์ประเภทต่างๆ ไปแล้ว เราก็จะพบว่าบางภาพนั้นอาจเป็นภาพที่นำมาใช้ไม่ได้เลย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ ในขณะที่บางภาพเป็นภาพที่นำมาใช้ได้โดยมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมา และบางภาพก็เป็นภาพที่นำมาใช้ได้เลย

โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพแบบใดและลิขสิทธิ์ประเภทใดก็ตาม เมื่อนำมาใช้ การให้เครดิตก็นิยมให้ไว้ใต้ภาพหรือชิดกับขอบด้านใดด้านหนึ่งของภาพด้วยฟอนต์ที่มีรูปแบบและขนาดที่ทำให้อ่านได้ชัดเจน  

สำหรับภาพที่สงวนลิขสิทธิ์ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการขออนุญาตจากเจ้าของภาพ และให้เครดิตเมื่อนำภาพไปใช้ โดยสามารถให้เครดิตด้วยการพิมพ์ว่า

ภาพโดย [ชื่อเจ้าของผลงาน] จาก [ลิงก์ต้นฉบับ]

หากเป็นภาพจากสำนักข่าว เราสามารถให้เครดิตได้ง่าย ๆ โดยการพิมพ์ว่า ภาพ: [ชื่อสำนักข่าว] [ลิงก์ข่าวที่มีภาพต้นฉบับ]

หากเป็นภาพจากหน่วยงานภาครัฐ เราสามารถให้เครดิตได้ด้วยการพิมพ์ว่า ภาพ: [ชื่อหน่วยงาน]

ส่วนเว็บไซต์ของ Creative Commons เองแนะนำว่า หากเป็นภาพที่มีเครื่องหมาย Creative Commons ให้ใส่เครดิตตามรูปแบบต่อไปนี้

ชื่อผลงาน: “[ชื่อผลงาน]”

เจ้าของผลงาน: [ชื่อเจ้าของผลงาน]” – [ลิงก์ไปที่หน้าเว็บไซต์ของเจ้าของผลงาน]

แหล่งข้อมูล: [แหล่งข้อมูล]” – “[ลิงก์ของภาพต้นฉบับ]

การอนุญาต: [สัญลักษณ์เงื่อนไขต่าง ๆ ของ Creative Commons เช่น CC BY-ND (ซึ่งแปลว่า นำมาไปใช้ได้โดยต้องให้เครดิตและไม่อนุญาตให้ดัดแปลง)]” – [ลิงก์ข้อมูลการอนุญาตของ Creative Commons]

ขณะเดียวกันก็มีบางเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถขายลิขสิทธิ์การนำภาพไปใช้ให้กับผู้ที่สนใจได้ อย่างเว็บ Shutterstock ที่กลายเป็นแหล่งหารายได้เสริมออนไลน์ของใครหลาย ๆ คน ซึ่งเมื่อซื้อภาพแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้เครดิตในภาพนั้น ๆ

นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ “ภาพฟรี” ที่ชาวกราฟิกหลาย ๆ คนมักเข้าไปใช้งานอย่าง Unsplash ที่ในหน้า License (การอนุญาต) ระบุไว้ว่า ภาพทุกภาพสามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้ได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไปหรือการใช้เชิงพาณิชย์โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและไม่จำเป็นต้องให้เครดิต (แม้ทางเว็บไซต์จะมีวงเล็บไว้ว่า “แต่ถ้าให้ก็จะซึ้งใจมาก!” ซึ่งหากต้องการให้เครดิตภาพจากเว็บไซต์ประเภทนี้ โดยปกติเมื่อคลิกดาวน์โหลดภาพก็จะมีเครดิตขึ้นมาให้ก็อปปี้อยู่แล้ว) ส่วนสิ่งที่เว็บไซต์อย่าง Unsplash ไม่อนุญาตให้ทำก็คือการนำภาพไปขายโดยไม่ได้ทำการดัดแปลงอันเห็นได้ชัดหรือการรวบรวมภาพจากเว็บไซต์ไปเพื่อไปเปิดเว็บไซต์บริการภาพถ่ายในรูปแบบเดียวกัน

กรณีที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจมากที่สุดก็คือกรณีการนำภาพจากเว็บไซต์อย่าง Google หรือ Pinterest มาใช้ เพราะหลายคนมักจะคิดว่าเว็บไซต์เหล่านี้คือเว็บไซต์ภาพฟรี เพียงแค่เสิร์ชแล้วเจอภาพอะไรก็สามารถนำมาใช้ได้ หากให้เครดิต หลายคนจึงมักให้เครดิตว่า “ภาพจาก Google” หรือ “ภาพจาก Pinterest” หรือบางคนก็แปะลิงก์รูปภาพจากแต่ละเว็บไซต์ไว้ให้ด้วย แต่ที่จริงแล้ว Google เป็นเพียง search engine หรือเครื่องมือค้นหา ขณะที่ Pinterest หากจะให้นิยามใกล้เคียงที่สุดก็เป็นเพียงแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ไม่ต่างจาก Facebook, Instagram และแพลตฟอร์มอื่น ๆ เว็บไซต์เหล่านี้จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ และไม่ได้เป็นแม้กระทั่งลิงก์ต้นฉบับของภาพ

วิธีการใช้ภาพจากทั้งสองเว็บไซต์ (รวมถึงภาพที่หาได้จาก Facebook Instagram Twitter และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน) ก็คือการตรวจสอบประเภทลิขสิทธิ์ของภาพนั้น หากเป็นภาพในกลุ่ม Creative Commons ก็ต้องดูเงื่อนไขว่าเราสามารถใช้แบบไหนได้บ้าง หรือตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของภาพและขออนุญาตใช้งานจากเจ้าของ แต่หากหาข้อมูลเหล่านี้ไม่พบ การเสี่ยงใช้ภาพโดยอาจละเมิดลิขสิทธิ์คือสิ่งสุดท้ายที่ควรทำ ลองพยายามหาภาพที่เป็น Creative Commons หรือภาพจากเว็บแบบ Unsplash ดีกว่า

อ้างอิง

https://creativecommons.org/about/cclicenses/


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts