“Hurry Go Round” ตัวอย่างของการระลึกถึงศิลปินผู้ล่วงลับอย่างไร้ความเคารพ

  • Hurry Go Round สารคดีที่จัดทำขึ้นในปี 2018 เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การเสียชีวิตของ “ฮิเดะ” ศิลปินเจร็อกชื่อดัง เป็นการตามรอยชีวิตและการทำงานของฮิเดะ ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ผ่านสายตาของนักแสดงรุ่นใหม่ ยูโมโตะ ยูมะ
  • “ฮิเดะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุ” เป็นโจทย์หลักของสารคดีเรื่องนี้ โดยยูมะได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับฮิเดะทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อหาคำตอบ
  • อย่างไรก็ตาม สารคดีเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จากการขาดข้อมูลใหม่ๆ การวางตัวของผู้เล่าเรื่องอย่างยูมะที่ไม่เคารพฮิเดะ และยังละเมิดแหล่งข่าวคนอื่นๆ รวมทั้งท่าทีที่ “ไม่อิน” และ “ปลอม” ของยูมะ

2 พฤษภาคม 1998 โลกได้สูญเสียศิลปินนักดนตรีผู้มีพรสวรรค์อย่างมัตสึโมโตะ ฮิเดโตะ หรือ “ฮิเดะ” วัย 33 ปี อดีตสมาชิกวงร็อกในตำนาน X Japan สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วสังคมญี่ปุ่นและแฟนเพลงทั่วโลก แม้กระทั่งหลายปีผ่านไป ชื่อของฮิเดะยังคงได้รับการกล่าวขานในฐานะศิลปินที่มีความสามารถ ไอดอลด้านดนตรีและกำลังใจในการใช้ชีวิตของแฟนคลับ รวมถึงปริศนาการเสียชีวิตของเขา ที่ยังคงคลุมเครือระหว่างการปลิดชีพตัวเองและอุบัติเหตุ

20 ปีหลังจากการเสียชีวิตของศิลปินชื่อดังผู้นี้ ได้มีการจัดทำสารคดี Hurry Go Round โดยผู้กำกับ อิชิคาวะ โทโมจิ เพื่อเป็นการระลึกถึงฮิเดะ และแน่นอนว่า แฟนคลับทั่วโลกต่างจับตามอง และรอคอยที่จะชมสารคดีเรื่องนี้อย่างใจจดจ่อ เช่นเดียวกับเหล่าแฟนคลับในไทย ที่คาดหวังจะเห็นเรื่องราวของศิลปินที่พวกเขาชื่นชมได้โลดแล่นในหน้าจออีกครั้ง

Hurry Go Round เรื่องราวของฮิเดะจากสายตาคนรุ่นใหม่

Hurry Go Round สารคดีว่าด้วยการตามรอยชีวิตและการทำงานของฮิเดะ ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ ดำเนินเรื่องโดยยูโมโตะ ยูมะ นักแสดงชาวญี่ปุ่น วัย 27 ปี ผู้ไม่เคยรู้จักฮิเดะมาก่อน และได้แรงบันดาลใจในการเล่าเรื่อง จากเพลงสุดท้ายในชีวิตของฮิเดะ ที่มีชื่อว่า Hurry Go Round ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกจารึกไว้บนหลุมศพของฮิเดะ และถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเหมือน “จดหมายลาตาย” ของเขา ด้วยเนื้อหาที่พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด และการเกิดใหม่

สารคดี Hurry Go Round เปิดเรื่องด้วยการสัมภาษณ์โยชิกิ หัวหน้าวง X Japan ผู้ชักชวนฮิเดะให้เข้าสู่วงการนักดนตรีอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเสียใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาคิดว่า หากเขาไม่ชวนฮิเดะ ฮิเดะคงจะยังมีชีวิตอยู่ ตามด้วยภาพข่าวการยุบวง X Japan การเสียชีวิตของฮิเดะที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า ก่อนจะเข้าสู่โจทย์ของสารคดี ที่ยูมะต้องหาคำตอบ นั่นคือ “ฮิเดะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุ” ซึ่งเป็นโจทย์ที่เรียกความสนใจได้ไม่น้อย แถมยังตอกย้ำด้วยประโยคที่ว่า “ความจริงได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว” ราวกับว่าปริศนาทั้งหมดถูกคลี่คลายในสารคดีเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงค้นหาคำตอบ ดูเหมือนว่าสารคดีเรื่องนี้จะ “ไม่ตรงปก” อย่างที่หลายคนคาดหวังไว้

เหล้าเก่าในขวดใหม่ แถมรสชาติไม่กลมกล่อม

เนื่องจากฮิเดะเป็นศิลปินชื่อดัง ที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก รวมทั้งเรื่องราวการเสียชีวิตของเขาก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เรื่องราวชีวิตและการทำงานของฮิเดะอย่างละเอียดผ่านสื่อต่างๆ ทำให้แทบจะไม่เหลือข้อมูลหรือแง่มุมใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้ตื่นเต้นมากเท่าที่ควร นี่คือความท้าทายอย่างหนึ่งที่สารคดี Hurry Go Round ก้าวข้ามไม่พ้น แถมยังเป็นแผลขนาดใหญ่พอสมควร ให้แฟนเพลงของฮิเดะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยข้อมูลที่ยังพอจะ “ว้าว” ได้บ้าง ก็คือฟุตเทจเก่าตั้งแต่สมัยที่โลกยังไม่มี YouTube และเดโมเพลง Hurry Go Round เสียงร้องของฮิเดะในเทค 2 ซึ่งยังไม่เคยมีใครได้ฟังมาก่อน

นอกจากนี้ ในฐานะสารคดีที่ควรนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน Hurry Go Round กลับยังไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยมุมมองการนำเสนอเพียงด้านเดียว คือฝ่ายที่เชื่อว่าฮิเดะไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ กลายเป็นการปักธงชี้นำความคิด แทนที่จะค้นหาหลักฐานจากทั้งสองฝั่งมานำเสนอ เพื่อให้ผู้ชมได้ใช้วิจารณญาณ ชั่งน้ำหนักข้อมูล และเลือกพิจารณาด้วยตัวเองจากหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

ผู้เล่าเรื่องในบทบาทนักสืบ (สมมติ)

แม้การเลือกผู้ดำเนินเรื่องที่ไม่เคยรู้จักฮิเดะมาก่อน จะให้ผลดีในแง่ของความสดใหม่ และอาจหวังผลว่าจะได้รับปฏิกิริยาที่น่าสนใจ ในกรณีที่มีการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ แต่สำหรับยูโมโตะ ยูมะ เราไม่แน่ใจนักว่าเขาได้หาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับฮิเดะ หรือมีความรู้ด้านการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลมาก่อนหรือไม่ เพราะตลอดเรื่อง เราพบว่านอกจากเขาจะไม่มีความรู้เรื่องวงการเพลง ยังดูไร้ซึ่งอารมณ์ร่วมในการหาข้อมูลต่างๆ ซึ่งสะท้อนได้จากการ “เดินชมเมือง” ในบ้านเกิดของฮิเดะและในลอสแองเจลิส ที่ฮิเดะเดินทางไปทำงานเพลง เข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ เพื่อถามเจ้าของร้านว่าฮิเดะชอบกินอะไร และลองชิมอาหารตาม การบรรยายทุกสิ่งได้เท่าที่ตาตัวเองเห็น โดยไม่วิเคราะห์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการค้นหาข้อมูลที่เปลี่ยนไปตามใจ ไม่มีขั้นตอน และไม่ตั้งเป้าหมายใดๆ ราวกับเด็กที่กำลังแสดงบทบาทสมมติเป็นนักสืบ หรือแม้กระทั่งในช่วงสุดท้ายที่เขาได้ค้นพบเนื้อเพลง Hurry Go Round เวอร์ชั่นก่อน เขาก็สรุปเอาเองตามความเชื่อของตัวเองว่า เนื้อเพลงเวอร์ชั่นเก่านี้เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า Hurry Go Round ไม่ใช่จดหมายลาตาย

การระลึกถึงอย่างไร้ซึ่งความเคารพ

การขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงาน นอกจากจะทำให้สารคดีขาดความน่าเชื่อถือแล้ว ยังส่งผลให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ในสารคดีเรื่องนี้ด้วย 

ขณะที่สารคดีใช้วิธีการ “ตามรอย” ฮิเดะ แต่ในความเป็นจริงเราอยากเรียกว่าเป็นการ “ทับรอย” ด้วยพฤติกรรมต่างๆ ของผู้เล่าเรื่อง ที่ “พยายาม” จะเป็นฮิเดะอยู่ตลอดเวลา ทั้งการนั่งเล่นที่เก้าอี้ของฮิเดะในห้องอัด การนั่งสูบบุหรี่ ชื่นชมสิ่งของของฮิเดะที่วางโชว์ในห้องแต่งตัวที่โรคุเมกัง และฉากสุดท้ายที่ยูมะไปยืนโพสท่าบนเวทีและทำสีหน้าซาบซึ้งโดยไม่มีเหตุผล รวมทั้งวิธีการวางตัวในสถานที่ต่างๆ เช่น การยืนอยู่หน้าวัดที่จัดงานศพฮิเดะ และเล่าเรื่องด้วยท่าทีสนุกสนาน หรือการแสดงท่าทางตื่นเต้นเมื่อเห็นว่าศิลปินที่ตนชื่นชอบได้อัดเสียงในสตูดิโอเดียวกับฮิเดะ ซึ่งดูราวกับเด็กไปทัศนศึกษา มากกว่าจะเป็นผู้เล่าเรื่องในสารคดี

อาการขาดความรู้ความเข้าใจ ยังปรากฏในบทสนทนาและบทพูดของยูมะ ผู้ดำเนินเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของสารคดี ที่เขาได้เดินทางไปยังบ้านเกิดของฮิเดะ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังได้รับฟุตเทจจำนวนมหาศาล แต่คำถามของเขากลับเป็นคำถามยิบย่อยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ กับเรื่อง เช่น การวิจารณ์รูปลักษณ์และบุคลิกของฮิเดะ (ใช้สเปรย์กี่กระป๋อง ผมจริงหรือเปล่า สูบบุหรี่วันละกี่ซอง กินอาหารอะไร) หรือเรื่องฝูงปลวกในห้องอัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีการหาข้อมูลหรือเตรียมคำถามเชิงลึกใดๆ 

ขณะเดียวกัน ทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดกับฮิเดะเป็นจำนวนมาก ทั้งเจ้าของร้านอาหารที่ฮิเดะไปเป็นประจำ เพื่อนร่วมงาน บอดี้การ์ด บรรณาธิการนิตยสารดนตรีที่รู้จักฮิเดะดี หรือแม้กระทั่งน้องชายแท้ๆ ของฮิเดะเอง บุคคลเหล่านี้ถือเป็นวัตถุดิบที่ดีที่ให้ทั้งข้อมูลเชิงลึกและแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการเล่าเรื่อง ทว่ากลับไม่มีประเด็นไหนถูกโฟกัสเป็นพิเศษ 

และที่ร้ายแรงยิ่งกว่า คือการ “เปิดแผล” ในจิตใจของแหล่งข่าวที่แบกความรู้สึกผิดต่อการเสียชีวิตของฮิเดะเอาไว้ โดยขาดความระมัดระวัง ทั้งการตั้งคำถามถึงประเด็นเรื่องปริศนาการเสียชีวิต และความพยายามซูมสีหน้าแววตาของแหล่งข่าว ขณะที่พวกเขาร้องไห้ รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ เพื่อตามหาโลเคชั่นถ่ายมิวสิกวิดีโอ Pink Spider และไม่มีทีท่ารู้สึกผิด เมื่อเจ้าของพื้นที่เดินมาไล่

อาจมองได้ว่า Hurry Go Round แบ่งเส้นเรื่องออกเป็น 2 เส้น คือการเดินทางของยูมะ และเรื่องราวของฮิเดะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของชีวิต หากเราจะประเมินคุณค่าของเรื่องเล่า จากการที่ตัวละครได้รับบทเรียนบางอย่างในตอนจบของเรื่อง เราพบว่าสารคดีเรื่องนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยูมะเองก็ดูจะยังไม่ได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตของฮิเดะ (นอกจากการสรุปเองว่าฮิเดะไม่ได้ฆ่าตัวตาย) ขณะเดียวกัน เรื่องราวของฮิเดะก็ดูจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ จากความสามารถในการเล่าเรื่องของยูมะและทีมงานที่ยังไม่ดีพอ บวกกับท่าทีที่ไม่ให้ความเคารพทั้งฮิเดะ แหล่งข่าวที่เป็นคนรอบข้างฮิเดะ และแฟนเพลง ก็ไม่แปลกใจที่ผู้ชมจำนวนมากจะผิดหวังกับสารคดีเรื่องนี้


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Writer

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts