เราทุกข์เพราะคาดหวังความสมบูรณ์แบบ ในโลกที่ความสมบูรณ์แบบอาจเป็นเรื่องเกินจริง

คุณเคยแบกความคาดหวังต่อบางสิ่งบางอย่าง 

หรือบางเรื่องราวไว้บนบ่าและปล่อยมันไปวิ่งวุ่นอยู่ในหัวบ่อยๆ ไหม?

ความคาดหวังที่จะได้รับสิ่งที่ปรารถนา ความคาดหวังที่จะเห็นชีวิต ความสัมพันธ์ การงาน และสิ่งที่กำลังทำอยู่ออกมาราบรื่นสมบูรณ์แบบอย่างในความนึกคิด แล้วก็พบว่าบางครั้งแม้ทำอย่างเต็มที่ ลงใจ ลงแรง และค้นหาอย่างไรแล้วก็ตาม สิ่งที่ออกมาก็ยังดูเหมือนว่าห่างไกลจาก ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ที่อยู่ในหัวของพวกเราตั้งแต่แรกมากโข 

‘คอลัมน์นิทานก่อนนอน’ เดือนนี้หยิบหนังสือภาพอารมณ์ขัน ผลงานของ Jon Agee ในชื่อเรื่อง ‘I WANT A DOG’ มาคลี่ขยายตามสายตาแบบวัยรุ่นสร้างตัวอย่างผู้เขียนเอง ซึ่งอยู่ในวันวัยที่กำลังหาอ่านหนังสือภาพไปเรื่อยๆ ตามที่มีโอกาส  และเมื่ออ่านแล้วรูัสึกอย่างไร หรือนึกคิดอะไรได้ ก็อยากเอามาเล่าสู่กันอ่านในคอลัมน์นี้เช่นที่เคย  

I WANT A DOG คือหนังสือภาพที่เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เดินทางไปยังสถานสงเคราะห์สัตว์ เพราะเธออยากพาสุนัขสักตัวกลับไปเลี้ยง แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะที่นั่นไม่มีสุนัขอย่างที่เธอต้องการ ทว่าเรื่องราวกลับอบอุ่นใจกว่าที่คิด และพาให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คิดอะไรไปได้อีกต่อหนึ่งในขณะที่อ่านไปขำไป

 “ฉันต้องการสุนัขสักตัว” 

“แล้วลูกลิงบาบูนล่ะ? มันไม่ร้องโฮ่ง 

แต่มันไล่ลูกบอลเหมือนสุนัข!”

“แล้วงูหลามล่ะ

งูเหลามตัวนี้ไม่มีขาแต่มันจะเลื้อยเมื่อคุณเรียกมัน”

“แล้วกบตัวนี้ล่ะ? มันสามารถซ่อนกระดูกได้

มันเห่าเวลารถผ่านไปเหมือนสุนัข”

“ดูสิ่งที่ฉันพบ! ปลาทอง! มันกระดิกหางและรู้วิธีแกล้งตายเหมือนกับสุนัข”  

สถานสงเคราะห์สัตว์แห่งนั้นไม่ได้มีสุนัขให้กับเด็กหญิงเลยสักตัว เรื่องราวอาจจะจบลงที่กลับบ้านมือเปล่าก็ได้ ทว่าทางเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ก็พยายามอย่างยิ่งในการหาสัตว์ชนิดต่างๆ มาเสนอให้กับเด็กหญิงคนนี้เพื่อทดแทน โดยพยายามเลือกสรรให้ใกล้เคียงกับสุนัขในความเข้าใจร่วมกันมากที่สุด แต่ทุกๆ ข้อเสนอได้รับการตอบกลับว่า ‘ไม่’ จากเด็กหญิงตัวน้อย ซึ่งในขณะอ่าน วิธีการเล่าเรื่อง และการร้อยเรื่องในส่วนนี้ก็เป็นไปในบรรยากาศการอ่านที่สนุกสนานเรียกเสียงฮาไปจากคนอ่านอย่างเราได้เป็นระยะ

จนเมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงว่าทางสถานสงเคราะห์เริ่มท้อใจในการสรรหาสัตว์ต่างๆ มาให้เด็กหญิง ในขณะที่เด็กหญิงก็ทดท้อใจเหมือนกันที่จะสื่อสารบอกทางสถานสงเคราะห์ว่าตัวเองนั้นต้องการสุนัขจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่คล้ายสุนัขบ้าง หรือพยายามให้เหมือนกับสุนัขบ้างเหล่านี้ จุดนั้นเองที่เมื่อต่างฝ่ายต่างเริ่มท้อในการสื่อสารกัน 

ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจถามเด็กหญิงว่า

 “ก่อนที่คุณจะไป คุณช่วยได้ไหม บอกฉันว่าอะไรที่เป็นความพิเศษ เกี่ยวกับสุนัข?”  

เมื่อเด็กหญิงได้ยินเช่นนั้นจึงตอบลักษณะพิเศษของสุนัขตามความเข้าใจของเธอว่า 

“สุนัขก็คือ ซื่่อสัตย์, รัก, ปราดเปรื่อง, น่ากอด, กล้าหาญและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เท่าที่คุณอาจมีได้ในโลกนี้”  

จากคำตอบของเด็กหญิงทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เธอต้องการอาจไม่ใช่สุนัขเสียทีเดียว กล่าวคือไม่ใช่เรื่องของ ‘ลักษณะภายนอก’ ของสุนัข แต่เป็น ‘สุนัข’ ในคำบอกเล่าของใครบางคน และในความนึกคิดของเธอว่าสุนัขจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเธอได้ หากไม่ใช่สุนัขแท้ๆ อย่างสมบูรณ์แบบ จึงยากยิ่งที่เธอจะเชื่อว่าเธอจะได้รับเรื่องพิเศษๆ อย่างที่สุนัขให้ได้  หรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเป็นเพื่อนที่ดีอย่างสุนัขได้เช่นกัน 

ความคาดหวังต่อสิ่งที่จะได้รับจากสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข ถูกตั้งไว้มากมายหลายข้อ สุนัขในอุดมคติของเด็กหญิงอยู่ห่างไกลจากสัตว์อื่นๆ ในความเชื่อของเธอเหลือเกิน และไม่แน่เช่นกันอาจอยู่ห่างไกลจากที่สุนัขเป็นจริงๆ ด้วยก็ได้ ดังที่เจ้าหน้าที่พูดว่า

“จริงๆ แล้ว ฉันอาจมีสัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แบบก็ได้ ไม่ใช่สุนัข แต่ฟังดูคล้ายกับที่คุณอธิบายทุกประการ” 

เจ้าหน้าที่ตีโจทย์ใหม่นำสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเล่นว่า ‘ลูซินดา’ มาให้กับเด็กหญิง เด็กหญิงสบตากับลูซินดาสักครู่ด้วยแววตาที่พึงพอใจ แล้วตัดสินใจรับสัตว์ตัวนั้นกลับไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม เมื่อทั้งสองถึงบ้านก็ต่างเล่นสนุกกันอย่างมีความสุข โดยที่ลักษณะของลูซินดานั้นแตกต่างจากลักษณะของสุนัขอย่างสิ้นเชิง 

“ว้าวววว เพิ่งเคยเห็นว่าสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ไม่มีหมา แต่นั่นก็โอเค สุนัขถูกประเมินเกินจริง” 

คำพูดทิ้งท้ายของเด็กหญิง ชวนให้เราหัวเราะออกมาอีกครั้งด้วยความรู้สึกที่ว่าสิ่งที่อ่านช่างน่ารักน่าขันอะไรขนาดนี้ และคนเขียนก็ช่างถ่ายทอดถ้อยคำออกมาได้อย่างง่ายๆ แต่ก็คมคายและน่าคิดต่อ ซึ่งจริงๆ แล้วประโยคนี้สามารถขบคิดได้หลายทางจริงๆ 

ในทางหนึ่ง การที่เด็กหญิงได้เข้าใจว่าอุดมคติว่าด้วย ‘สุนัข’ และความคาดหวังที่จะได้สุนัขมาในตอนแรกของเด็กหญิงนั้นเป็นเรื่องเกินจริงไปมาก ก็เพราะว่าลูซินดาที่เธอได้เปิดใจพบเจอและยอมรับที่จะพากลับบ้าน มอบความรู้สึกพึงพอใจและความสุขฉันเพื่อนที่ดีคนหนึ่งได้เช่นกัน โดยที่เธอไม่ได้ครอบครองสุนัขดังในตอนแรกอย่างที่หวัง 

ทำให้เราที่อ่านนึกเชื่อมโยงไปอีกถึงเรื่องความคาดหวังต่อบางอย่างที่เราเชื่อและถูกทำให้เชื่อว่ามันจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบมาก ดีงามมาก และยอดเยี่ยมที่สุด พอรู้สึกว่ามันไม่เป็นดังที่คิด ไม่ได้มา ทำมันไม่ได้ หรือไปไม่ถึง ก็รู้สึกทุกข์ในใจขึ้นมา ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะรู้สึกเช่นนั้นได้ไม่ผิดอะไร ทว่า ในหลายครั้งความรู้สึกที่คาดหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด เราจะได้สุนัขในอุดมคติมาเป็นเพื่อนของการเติบโตอยู่ๆ เสมอๆ นั้น อาจทำให้เราเองลืมมองไปว่า สิ่งที่เรามีอยู่คืออะไร สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราเป็นอย่างไร สิ่งที่เราทำอยู่นั้นยอดเยี่ยมอย่างไร และเราได้เรียนรู้อะไรจากความขาดตกบกพร่อง หรือความไม่สมบูรณ์แบบ (อย่างในความคิด) ของเราเหล่านั้นบ้าง 

บางครั้งเราคิดว่าสิ่งที่มีอยู่หรืออยู่ตรงหน้าไม่มีค่า และไม่ดีงามเท่าสิ่งที่คาดหวังจะให้เป็น หรือภาพในหัวที่วาดไว้ ทว่ามันอาจ ‘จริง’ กว่าภาพในหัวของเราก็เป็นได้ และเมื่อเราเปิดใจต่อมัน เราอาจค้นพบความสุขสงบใจ พบการเรียนรู้ครั้งสำคัญ และพบความพอใจอย่างยิ่งที่ผลิบานในหัวใจก็เป็นได้ เช่นกันกับเด็กหญิงคนนั้น

_

เกี่ยวกับเจ้าของผลงาน I WANT A DOG

Jon Agee เป็นผู้สร้างหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับการยกย่องมากมาย รวมถึง The Wall in the Middle of the Book, Life on Mars, It’s Only Stanley, Little Santa และ Milo’s Hat Trick หากสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขาได้ที่ https://jonagee.com/


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Related Posts