“จนกว่าเขาจะตัดสินใจเองได้ เราต้องหารูปติดฝาบ้านดีๆ ให้เขา” คุยเรื่อง privacy ลูกกับไอซ พาดี้และโต้ – วิรุนันท์

  • บทสนทนาต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของมนุษย์สองคนที่ต่างกันสุดขั้ว แต่พวกเขาตัดสินใจที่จะสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนผสมของกันและกัน
  • mappa ชวนคุยกับไอซ พาดี้ บิวตี้บล็อกเกอร์ เจ้าของชาแนล ‘ICEPADIE’ และสามี โต้ – วิรุนันท์ ชิตเดชะ ถึงวิธีเตรียมตัวสำหรับเลี้ยงลูก
  • รวมถึงประเด็น privancy จะบาลานซ์ความเป็นส่วนตัวของลูกกับแม่ที่ต้องอยู่ในสปอร์ตไลท์อย่างไร

รูปลูกควรโพสต์ลงโซเชียลไหม?

คำถามที่ยากจะหาคำตอบหนึ่งเดียว คล้ายๆ กับเราถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ความเป็นส่วนตัวของลูกถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความต้องการของพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน 

แล้วเราจะบาลานซ์สองสิ่งนี้อย่างไร ถ้าตัวแปรไม่ได้มีแค่ครอบครัว แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ตามมาเป็นขบวน โดยเฉพาะสังคม 

บุคคลที่เหมาะจะพูดถึงประเด็นนี้คงหนีไม่พ้นเหล่าคนดัง พวกเขาต่างเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์การลงรูปลูกในโซเชียล ไม่ว่าจะเปิดเผยรูปลูกมากเกินไปไหม หรือต้องบอกสถานที่ที่ลูกอยู่ด้วยเหรอ ข้อมูลอาจตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี

โต้ – วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ ไอซ – ภาวิดา ชิตเดชะ

mappa ชวนคุยกับไอซ พาดี้ หรือ ภาวิดา ชิตเดชะ บิวตี้บล็อกเกอร์ เจ้าของ Youtube Channel “ICEPADIE”

และสามี โต้ – วิรุนันท์ ชิตเดชะ ช่างภาพชื่อดังผู้เป็นที่รู้จักในหลายบทบาท กับประเด็นดังกล่าว ในฐานะที่พวกเขาเพิ่งถูกพูดถึงในโลกทวิตเตอร์เรื่อง privacy ของลูกว่า ตัวไอซนั้นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องนี้กว่า 3 ปีถึงจะตัดสินใจมีลูก 

ก่อนที่จะมารับบทเป็นพ่อแม่จริงๆ คุณไอซและคุณโต้เคยจินตนาการมาก่อนไหมว่าเราอยากเป็นพ่อแม่แบบไหน

ไอซ : เคยนะ ไอซรู้สึกว่าตัวเองโตมาในครอบครัวที่ very happy ม๊ากกกก (เน้นเสียง) เรารู้สึกว่าปาป๊ามาม้าเลี้ยงลูกได้ดีมาก เรากับพี่น้องเติบโตมาอย่างมีความสุข ไอซรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่กลัวอะไรเลย เพราะเรามี backup ที่ดี หันไปเจอป๊าม้า เจอพี่น้อง 

ถ้าถามว่าไอซอยากให้ครอบครัวตัวเองเป็นแบบไหน เป็นแบบครอบครัวที่เราโตมาแค่นั้นก็พอแล้ว 

โต้ : ของผมจะเป็นคนละแบบ บ้านคุณไอซอยู่ด้วยกัน เติบโตไปพร้อมกัน ส่วนบ้านผมจะเป็นแบบห่วงอยู่ห่างๆ เขาจะพยายามสนับสนุนสิ่งที่เราทำ ทั้งที่บางครั้งเขาอาจไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เราเป็นเลย ช่วงที่ผมทำงานศิลปะแรกๆ ออกแนวศิลปินมากกว่าตอนนี้ด้วยซ้ำ เขาก็เกิดคำถามนะ แต่สุดท้ายซับพอร์ตเรา

ทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าเกิดผมมีลูก แล้ววันหนึ่งลูกอยากทำในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ เราจะทำยังไง ซึ่งสิ่งที่ครอบครัวทำกับผมมันเป็น react แบบที่เรา happy นะ

เหตุผลที่ทำให้ทั้งสองคนตัดสินใจมีลูก

ไอซ : ไอซ always ready เลยค่ะ (หัวเราะ)

โต้ : ผมไม่ค่อยคิดเรื่องมีลูก รู้สึกมันมีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ มันน่าตื่นเต้นเกินไป อย่างความสัมพันธ์ของคนสองคนเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ แต่ลูกเราไม่ได้เลือก แล้วผมเป็นมนุษย์ realistic เราตั้งคำถามกับ unconditional love ตลอดเวลาว่ามีจริงๆ ไหม

แถมถ้าต้องเลี้ยงเด็กคนหนึ่งในสังคมที่มีสิ่ง disrupt มากๆ เราจะเลี้ยงไหวเหรอ? แต่คุณไอซอยากมีมาก คอยบิ๊วทุกวัน “เธอไม่อยากเห็นเหรอว่าลูกเราหน้าตาเป็นแบบไหน” ใช้คำว่าอะไรนะ?

ไอซ : ไม่อยากเห็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างจากเราสองคนเหรอ มัน limited edition เลยนะ (เน้นเสียง) ถ้าเราไม่สร้าง ไม่มีนะ น่าตื่นเต้นจะตาย 

โต้ : เหมือนโดนป้ายยาตลอดเวลา ดูหนังครอบครัวก็รู้สึกว่า เออ ถ้าเรามีสภาพแวดล้อมแบบนั้นก็คงดีเหมือนกันนะ และผมก็มีความเชื่ออย่างหนึ่ง อาจจะขัดกับที่บอกไป คือ ผมเชื่อในการสร้างคน เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย รู้สึก happy ที่ลูกศิษย์เราเติบโตไปเป็นมนุษย์ที่ดี ถ้าเป็นลูกเราเอง เราน่าจะทำได้เหมือนกัน

ที่คุณโต้ตั้งคำถามกับ unconditional love ตอนนี้ได้คำตอบหรือยัง?

โต้ : ยังไม่ได้คำตอบ 100% แต่ผมเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า bonding สายสัมพันธ์ รู้สึกว่าเราสัมผัสได้ เวลาคุณไอซบอกลูกดิ้นแล้ว แต่พอผมจับไม่ดิ้นเลย (หัวเราะ) หรือช่วงนี้ไปทำงานต่างจังหวัดบ่อย จะโทรหาเขา คุณไอซก็จะบอกว่า เฮ้ย ลูกดิ้นแล้ว คิดเข้าข้างตัวเองแหละว่าคงเป็นเพราะเสียงเรา 

เริ่มสะสม moment พวกนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกนะว่าเป็นสายใยที่เราเริ่มสร้างกับเขา ไม่รู้จะรักกันแค่ไหน แต่ตอนนี้เป็นความรู้สึก positive มีความสุขมากๆ 

ทั้งสองคนดูมีความคิดแตกต่างค่อนข้างมาก แล้วมีความเชื่อร่วมกันบ้างไหม  

ไอซ : (นิ่งคิด) ไอซว่าเราสองคนเป็นคนดี (หัวเราะ) 

คุณโต้ : โห subjective มากเลย ดีสำหรับเรากับคนอื่นไม่เหมือนกัน  

คิดว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดีเหมือนกัน ผมรู้สึกว่าเราสองคนจะมองเห็นสิ่งดีๆ ในเรื่องร้ายเสมอ และเราเป็นคนเปิดกว้างให้กับคนอื่น น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราทำถูกไปหมด หรือสิ่งที่เขาทำถูกไปหมด เราพยายามเข้าใจคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรามากๆ มองว่าเป็นเรื่องสนุกดีกับการที่มีคนต่างๆ อยู่รอบตัวเรา 

ไอซ : ใช่ แค่เราเข้าใจกันเองก็ยากละ ต้องเปิดใจที่ค่อนข้างกว้างมาก (หัวเราะ) เรายอมรับความต่างของคนอื่นด้วยการพยายามทำความเข้าใจว่า…เออ ทำไมนะ ทำไมคนนี้เป็นแบบนั้น 

ถึงความสัมพันธ์เรามันจะเต็มไปด้วยความต่างทุกเรื่อง (เน้นเสียง) แต่สุดท้ายต่างฝ่ายต่างแอบฟัง แอบเอาความคิด หรือวิธีการของอีกฝ่ายไปใช้ เหมือนเรียนรู้ที่จะเป็นอีกคนหนึ่งด้วย

แล้วสิ่งที่ชอบในอีกฝ่ายล่ะ มีทฤษฎีบอกว่าการที่เราชอบคนที่ต่างมากๆ เพราะเขามีบางสิ่งที่เราไม่มี

ไอซ :  ไม่รู้ไอซมีสิ่งนี้ไหม ไอซชอบที่พี่โต้เก่ง เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เอาอยู่ เป็นคนที่จัดการได้ดี อยู่ด้วยแล้วปลอดภัย แต่พี่โต้ไม่เคยบอกว่าชอบไอซตรงไหนเหรอ (หันไปถาม)

โต้ : มีถามในวิดีโองานแต่งไง (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนจิตใจดี เขาเป็นคนไม่คิดร้ายกับใคร มันค่อนข้างยากที่เจอมนุษย์เอนเนอร์จีบวกจริงๆ แต่บางทีเวลาตัดสินใจเขาเด็ดขาดกว่าผมอีก ผมจะเป็นสายอ้อมๆ ส่วนเขาเป็นสายตรง

การเตรียมตัวสำหรับเลี้ยงลูกของทั้งสองคน

โต้ : แรกๆ จัดการมายด์เซตก่อน ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็ซื้อหนังสือมาอ่านเยอะมากว่ามนุษย์บนโลกนี้เขาเลี้ยงลูกแบบไหนบ้าง เหมือนทำ research อ่านทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต เอาข้อมูลไปรีเช็กกับคุณหมอหรือคนรอบตัว 

ด้วยความที่ข้อมูลมันเยอะมากๆ อย่างผมอ่านหนังสือเลี้ยงลูกของคุณแม่ ข้อมูลไม่เหมือนกันสักเล่ม ไม่มีอะไรที่เป็น absolute ในการเลี้ยงลูกหรือใครสักคนเลย สุดท้ายกลับมาว่าสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ อาจจะถูกที่สุด คือ เราแค่เฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตของลูก และก็พยายามเสริม support สร้างสภาพแวดล้อมให้มันเหมาะสมกับการเติบโตของเขา 

ไอซ : คนละแบบ หนังสือเลี้ยงลูกไอซไม่ได้ซื้อเลย พี่โต้ซื้อ “อะ เธออ่านเล่มนี้สิ” อ่านแล้วเราจะรู้สึกว่า…ก็ common sense อะ ไอซเป็นคนเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง อาจจะเพราะเราสายชิลด้วย เวลาท้องก็อยากกินอาหารดีๆ เองโดยอัตโนมัติ ทำอะไรที่มัน make sense นอนหลับพักผ่อน ทำจิตใจให้ผ่องใส

ถึงขั้นจับเข่าคุยวางแผนแนวทางการเลี้ยงลูกหรือยัง

ไอซ : ยังไม่ได้คุยถึงขั้นว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหน แต่ไอซรู้สึกว่าเราสองคนจะเลี้ยงลูกแบบที่มันควรจะเป็น อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเราสองคนเป็นคนมีเหตุผลค่ะ (หัวเราะ) เราคงคุยด้วยกันได้แหละ

และสิ่งหนึ่งที่เราเหมือนกัน คือ พยายามจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จะเลี้ยงเขาให้ติดจอ – ไม่ติดจอ หรือจะให้เวลาเขามากแค่ไหน เป็นสิ่งที่ไอซจะพยายามที่สุดอยู่แล้ว และพี่โต้เองก็พยายามที่สุดเพื่อเลี้ยงลูกให้ดีเหมือนกัน ฉะนั้น ดีที่สุดมันคือตรงไหนล่ะ คิดว่าอาจจะต้องรอให้เกิดขึ้นจริงก่อน แล้วเราก็คงหาทางที่ดีที่สุด ณ ตรงๆ นั้นไป ไม่ได้อยากไปบีบบังคับตัวเองว่าต้องทำอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น 

เรื่องที่ต้องเตรียมตัวสำหรับเลี้ยงลูกมีเยอะมากๆ โดยเฉพาะเรื่อง privacy ลูกที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งสองคนคิดอย่างไรบ้าง

โต้ : เป็นเรื่องที่สำคัญมากเลย จริงๆ อาชีพคุณไอซก็ส่งผลกับการตัดสินใจมีลูกด้วย เพราะเขารีวิวทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวผม (หัวเราะ) ผมเองก็ไม่ได้ชอบมากนัก ไม่ได้อยากอยู่ในสปอตไลต์ หรือเวลาผมลงรูป ถ้ามีคนไลก์หรือชมเยอะ ผม react ไม่ถูก ก็เลิกโพสต์ไปอาทิตย์หนึ่งเลย ค่อยกลับมาโพสต์ใหม่

ไอซ : คิดกันว่าถ้าลูกเกิดเป็นแบบพี่โต้ละ แล้วมีแม่อย่างเราจะทำยังไง ตัวพี่โต้สามารถบอกได้ว่าเขาไม่ชอบ ไม่อยากทำ แต่ถ้าเป็นลูกล่ะ แล้วเราไปทำแบบนี้กับเขา ไม่ได้ขอ consent ลูกหรือเปล่า 

เป็นประเด็นที่ไอซคิดหนักมากๆ (เน้นเสียง) เพราะไอซไม่เคยคิดเลย ตอนแต่งงานคุยเรื่องมีลูก พี่โต้ก็ raise ประเด็นนี้ ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ไอซก็ไม่เข้าใจนะ…ทำไมอะ เราจะถ่ายรูปลูกไม่ได้เลยเหรอ ตัวเราโตในครอบครัวที่มีรูปเราเต็มไปหมด วิดีโอก็มี พอฟังที่พี่โต้อธิบาย ตัวไอซเองก็ทำความเข้าใจเรื่อยๆ กลายเป็นเราต้องคิดเรื่องนี้หนักๆ ละ คนรู้จักลูกเราตั้งแต่เขายังไม่เกิด ด้วยอาชีพที่เราทำ และคิดว่าอาจหนักขึ้นอีกตอนลูกออกมาเป็นตัวเป็นตน คนอาจมีความคาดหวังบางอย่างกับเขา 

โต้ : ประเด็นนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ผมคิดว่าเราต้องแยกเป็น 2 พาร์ต security และ privacy ตัวผมกังวล security มากกว่า privacy เสียอีก ถ้าสมมติมีคนรู้ว่า…เฮ้ย ลูกเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรตลอดเวลา น่ากลัวเหมือนกันนะ พูดไปอาจดูเชย แต่ทุกวันนี้ยังมีเรื่องโจรลักเด็กอยู่เลย หรือมีใครไม่ประสงค์ดีกับเรา เขาอาจจะมาทำอะไรลูกเรา 

แต่เรื่อง privacy ก็สำคัญ ในวันที่ลูกยังตัดสินใจเองไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราจะเฝ้าดูเขาเหมือนกัน สมมติเขาอาจจะชอบสิ่งนี้ขึ้นมาก็ได้ ถ้าเขาอยู่ในวัยที่สามารถตัดสินใจได้เอง ผมก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ในวันที่เขายังตัดสินใจเองไม่ได้ เราไม่อยาก force เขาอยู่หน้ากล้อง หรือทำคอนเทนต์อะไรที่เกี่ยวกับเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่ถ่ายรูปลูกนะ มันคนละความหมายกัน

วางแผนเรื่องนี้อย่างไร

โต้ : ด้วยอาชีพคุณไอซ เขาต้องเล่าเรื่องลูกอยู่แล้ว ตอนแรกผมไม่เห็นด้วย ก็พยายามประนีประนอมระหว่างกัน สรุปร่วมกันว่าเราจะไม่ทำคอนเทนต์แบบ ‘ลูกลูก’ ไม่ force เขาให้อยู่หน้ากล้อง แต่จะทำคอนเทนต์ลูกผ่านแม่ เราอาจจะมานั่งเล่าเรื่องลูก หรือคุณไอซเล่าเรื่องลูก และไม่มี Instagram ส่วนตัวแน่ๆ (หัวเราะ)

ไอซ : คอนเทนต์ในโซเชียลสมัยนี้ มีหลายรูปแบบ ทั้งให้เด็กเป็นตัวแสดงนำและเล่าเรื่องเอง แต่ไอซคิดว่าเราจะไม่ทำแบบนั้นกับเขา ต้องรอให้เขาโตก่อน และถ้าเขาอยากมาถือกล้องเอง พูดเอง เล่าเรื่องตัวเอง ก็รอให้ถึงเวลานั้น แต่สิ่งที่ตอนนี้ไอซตั้งใจไว้ คือ ทุกอย่างจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านไอซในฐานะแม่คนหนึ่ง อาจจะใช้แอ็กติ้ง การพรรณนาโวหารในการเล่าว่าวันก่อนลูกทำอะไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราคิดกัน แต่ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอนาคต เราก็ยังไม่รู้จะเป็นยังไง

โต้ : ผมเคยคุ้ยดูว่า privacy ลิมิตมันคืออะไร ค่อนข้าง subjective พอสมควร ประมาณว่า ‘ในการถ่ายรูปและโพสต์รูปลูกที่จะไม่นำมาซึ่งความอับอายหรือเสียชื่อเสียงลูกในอนาคต’ ต้องอาศัย common sense พ่อแม่เหมือนกันนะ เพราะพ่อแม่เกือบทุกคนก็คิดว่า…ลูกตัวเองน่ารักเสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆ รูปตอนเราเด็กๆ ในอัลบั้มรูป ทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้ มีภาพที่ผมรู้สึกว่ามาดูตอนโตก็…มันใช่เหรอพ่อ ผมมั่นใจว่าตอนถ่ายพ่อแม่ไม่มีทางอยากทำให้ผมรู้สึกอับอาย เขารู้สึกว่ามันน่ารักจัง อาจต้องมีใครสักคนที่เชี่ยวชาญกว่าเราในการให้ข้อมูลว่าอะไรคือ boundary

ไอซ : ไอซว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรอก แล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคนเลย อย่างไอซก็มีรูปเปิดกระโปรงเห็นกางเกงในตอนเด็ก เรารู้สึกว่าน่ารักมาก (เสียงสูง) ในขณะที่พี่โต้…เฮ้ย เปิดกระโปรงทำไม แล้วพ่อแม่ถ่ายไว้ทำไม

มุมมองไม่เหมือนกัน แล้วทั้งสองคนตกลงร่วมกันอย่างไร

ไอซ : คงต้องผ่านมิติคณะกรรมการทั้งสองท่าน รูปนี้ได้หรือไม่ได้

โต้ : อาจใช้ logic อัลบั้มภาพสมัยก่อน จะมีรูปที่เรารู้สึกว่าคนมาบ้านดูได้ แปะโชว์ข้างฝา กับภาพที่ต้องซ่อนในอัลบั้ม ให้เฉพาะคนพิเศษดูเท่านั้น ตรรกะเดียวกัน ภาพที่แปะฝาบ้านได้ ก็อยู่ในโลกโซเชียลได้

consent ลูกสำคัญ ความต้องการพ่อแม่ก็มองข้ามไม่ได้ ทั้งสองคนคิดว่าจุดบาลานซ์อยู่ตรงไหน อาจจะเฉพาะสำหรับครอบครัวเรา

ไอซ : ถ้าไม่ให้ถ่ายรูปเลยคงจะอึดอัดใจดิฉันและคนอื่นค่อนข้างมาก ทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือคุณแม่ของดิฉันที่ต้องเห่อหลานแน่ๆ ไม่ใช่ห้ามเราคนเดียว แต่กลายเป็นห้ามทั้งหมด 

โต้ : คิดว่าหลักการที่ตอบไป น่าจะพอสำหรับช่วงแรกๆ คือ เราก็ถ่ายรูป คลิปลูกเก็บไว้ ถ้ารูปไหนแปะฝาบ้านได้ ประชาชนคนอื่นก็เห็นได้ พอเขาโตขึ้นคงเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง 

ข้อดี คือ คุณไอซเคยผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตในโซเชียลมีเดียมาอย่างช่ำชอง เจอทั้งข้อดีและข้อเสีย เกิดลูกชอบขึ้นมา อยากมีตัวตนในโซเชียลมีเดีย เราสามารถบอกเขาได้ว่านี่คือรายจ่ายที่จะต้องแลกมา เขาอาจจะเข้าใจหรือไม่ ก็จะพยายามอธิบายให้เขาเห็นภาพมากที่สุด วันหนึ่งที่เขาโตและเลือกเองได้ว่าจะทำอะไร

ไอซ : น่าจะสัก 2 – 3 ขวบที่เริ่มพูดได้แล้ว ถึงตอนนั้นเราคงพอเห็นลางๆ ว่าเขาฉายแววเป็นเหมือนพ่อหรือแม่ แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้นเราคงต้องหารูปติดฝาบ้านดีๆ ให้เขา 

การเป็นคนมีชื่อเสียง มักจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ซึ่งอาจมาถึงลูกเราด้วย ทั้งสองมีการคุยเรื่องนี้ไว้ไหม 

ไอซ  : ไอซตั้งใจว่าจะพูดแต่เรื่องของเรา เรื่องของแม่ คอมเมนต์ที่เกี่ยวกับลูกคงไม่น่ามีเยอะ น่าจะมาทางเรา วิธีการเลี้ยงหรือการแสดงออกของเรามากกว่า อย่างที่บอกว่าคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญ เราจะพยายามระวังคอนเทนต์แนวลูกงอแง ลูกดื้อ เป็นคอนเทนต์จากไอซว่าเราเห็นลูกเป็นไงบ้าง ถ้าด่าก็ด่าเราได้เลย เราเป็นคนที่รับคอมเมนต์ได้ ไอซคิดนะว่าถ้าไม่อยากให้คนมาคอมเมนต์ลูกเรา ต้องเริ่มที่เราไม่โพสต์คอนเทนต์ที่เป็นเขาตั้งแต่แรก 

คุณไอซและคุณโต้มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม

ไอซ : ตอนนี้เราตั้งแพลนไว้ว่าอยากทำแบบนี้ ไม่ลงคอนเทนต์ลูก แต่ในอนาคตมันก็อาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ เราเป็นคนคนหนึ่งที่มีความผิดพลาดได้ 

ไอซรู้สึกว่าชีวิตคนถ้าถูกทั้งหมดก็บ้าแล้ว หรือไม่เคยทุกข์เลยก็คงไม่ใช่ สุดท้ายมีเรื่องให้เรียนรู้อีกเยอะทั้งแม่และลูก เราก็เป็นแม่ครั้งแรก ไม่รู้จะเป็นไง ให้โอกาสตัวเองทำถูกทำผิดบ้าง

โต้ : เรื่อง consent ก็อยากให้ทุกคน aware มันอาจแตกต่างตามบริบทแต่ละครอบครัว  ผมว่าพ่อแม่ทำผิดได้ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เวลาคนเราทำผิด ต้องรู้ตัวและยอมรับในความผิดนั้น

ผมเชื่อว่ามีพ่อแม่ที่อาจถ่ายรูปลูกและลงไปแล้ว ถ้าเราทำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ทำพลาดไป เราไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเราสามารถยอมรับสิ่งนั้นกับเขาได้ เรื่องอาจไม่ต้องจบลงที่การฟ้องร้องแบบที่เราเห็นในข่าว แต่ละครอบครัวเจอโจทย์ที่แตกต่างกันออกไปในการเลี้ยงมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตมา ปัจจัยมันเยอะมาก

ไอซ : วิธีคิดต่างกัน สถานการณ์ครอบครัวต่างกัน ภาระต่างกัน หรือบทบาทในสังคมต่างกัน เป็นเรื่องของแต่ละครอบครัวที่ต้องหาเส้นทางตัวเอง


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Related Posts