Preteen 101

“แม่ที่แปลว่าเพื่อน” ‘ไอด้า’ ไอรดา ศิริวุฒิ ซิงเกิลมัมกับลูกสาววัยพรีทีน

  • “หนูไม่ดูดนิ้วแล้วนะคะ” “ขอห้องส่วนตัวได้ไหม” “หนูมีความรักแล้วนะ” ‘ไอด้า’ ไอรดา ศิริวุฒิ คุณแม่สายแฟชั่น บอกกับ mappa ถึงพฤติกรรมของลูกสาววัย 9 ขวบ ‘น้องลัลลาเบล’ ที่ทำให้รู้ตัวแล้วว่า ลูกไม่ใช่เด็กและก้าวเข้าสู่วัยพรีทีนเต็มตัว
  • เพราะวัยพรีทีนไม่ใช่วัยเด็ก และวัยพรีทีนไม่ใช่วัยรุ่น โอบกอดที่รัดแน่นของพ่อแม่อย่างในตอนเด็กอาจต้องคลายลง ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าจะปล่อยให้อิสระเท่ากับวัยรุ่น การหาสมดุลในวัยพรีทีนจึงเป็นเรื่องซับซ้อน
  • การเลี้ยงลูกในรูปแบบ ‘เพื่อน’ คือแนวทางที่เธอเลือก ด้วยมองว่าการเป็นเพื่อนจะทำให้ลูกรู้สึกสนิทใจ ไม่กลัว และกล้าที่จะปรึกษาทุกปัญหาในชีวิต

“เราจะอัพเดท relationship ของเราตลอด ยิ่งกว่าแฟน”

คือคำพูดของ ‘ไอด้า’ ไอรดา ศิริวุฒิ คุณแม่สายแฟชั่นที่สนทนากับ mappa ในวันที่ลูกสาว ‘น้องลัลลาเบล’ วัย 9 ขวบ เริ่มเติบโตและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป 

พฤติกรรมที่ว่า เช่น การขอห้องนอนส่วนตัว สนใจเรื่องความสวยความงามมากขึ้น มีความลับกับแม่ หรือแม้แต่เริ่มมีความรัก เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ลูกอาจไม่ใช่เด็กเหมือนเคย แต่เริ่มเข้าสู่วัยพรีทีนอย่างเต็มตัว

ตามคำอธิบายของจิตแพทย์เด็กบอกไว้ว่า พรีทีนคือวัยรากฐาน (foundation) ของการเข้าสู่วัยรุ่น หากพ่อแม่ใส่ใจและเตรียมความพร้อมจะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นวิธีการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ต้องคอยโอบกอดและใส่ใจอย่างมากในตอนที่เขายังเด็กอาจต้องค่อยๆ คลายลง ขณะเดียวกันก็ใช่จะปล่อยมือให้เขาได้มีอิสระเท่าวัยรุ่น 

แล้วจะหาจุดสมดุลในการเลี้ยงลูกวัยพรีทีนอย่างไร?

สำหรับ ไอด้า ที่มีลูกในวัยนี้ เธอเลือกการเลี้ยงลูกแบบ ‘เพื่อน’ อย่างที่ครอบครัวเลี้ยงดูเธอมา โดยมองว่าการที่ครอบครัวรับฟังกันและกัน ให้ความสนิทสนมเหมือนเพื่อนที่พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ยิ่งในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านนี้ จะทำให้ลูกกล้าพูด กล้าคุย กล้าปรึกษาเรื่องต่างๆ ในชีวิต เพราะหากแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้แล้ว ลูกก็จะมั่นใจและไม่กลัวที่จะเติบโต

ในวัย 9 ขวบ น้องลัลลาเบลส่งสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่า เขาไม่ใช่เด็กแล้วนะ

ณ ตอนนี้คือเรื่องความสวยความงามค่ะ ตอนเด็กๆ เขาไม่ชอบแต่งตัวเลย เหมือนถ้าเราจับให้เขาใส่อะไร เขาก็จะถอดทุกอย่าง ส่วนตัวไอด้าคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของความสบายตัว พอเราใส่อะไรให้เขา ถ้าเขาไม่สบายตัวก็จะดึงออกหมด แต่พอช่วง 3-4 ขวบ เริ่มรู้เรื่อง เริ่มดูออกว่าอันนี้สวย อันนี้ไม่สวย ก็เลยเริ่มอยากแต่งตัว 

สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนเลยคือ ตอนเด็กเขาจะดูดนิ้ว พอเขาดูดนิ้ว ฟันข้างหน้าก็จะเป็นเคิร์ฟ (curve) ซึ่งเขาก็รู้ตัวนะ แต่ตอนนั้นไม่ได้ใส่ใจ เพราะถ้าไม่ได้ดูดนิ้วจะรู้สึกนอนไม่หลับ แต่ตอนนี้เขาพูดเองเลยว่า เขาไม่อยากดูดนิ้วแล้ว อยากฟันสวย แล้ววันหนึ่งก็หยุดดูดไปเองเลยโดยที่ก่อนหน้านี้ทำสารพัดวิธีก็ไม่หยุด แต่พอมาวันนี้ก็คือ หนูไม่ดูดนิ้วแล้วนะคะ 

นิสัยอย่างอื่นมีไหมคะ เช่น มีความลับ มีโลกส่วนตัว หรือไม่อยากให้แม่เข้าไปยุ่งกับเขามากเกินไป

มีค่ะ เริ่มมีไลน์แชทกับเพื่อน แล้วเวลาเล่นเกมก็จะเริ่มแยกตัว ปกติเขาจะค่อนข้างติดเรามาก เพราะอยู่กันสองคน หลังๆ พอเราออกไปธุระข้างนอก เขาก็จะเริ่มไม่ค่อยอยากออกไปด้วย หรืออย่างเวลาซื้อโต๊ะเครื่องเขียนใหม่ให้ เขาก็จะเริ่มขอว่าไม่ตั้งกลางบ้านได้ไหม ให้เอาไปไว้ในห้องแทน แล้วก็เริ่มขอห้องนอนส่วนตัวค่ะ

ตอนนี้แยกห้องนอนแล้วเหรอคะ

ยังนอนด้วยกันค่ะ แต่เขาขอไว้ก่อน

ในมุมมองคุณไอด้า คิดว่าการแยกห้องส่วนตัวให้ลูกมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

มีประโยชน์ในแง่ที่ว่า ตัวเขาเองก็จะมีพื้นที่ที่จะทำนู่นทำนี่ แล้วก็เป็นการฝึกตัวเขาเองด้วย เพราะต้องรับผิดชอบห้องเอง กวาดห้องเอง ทำความสะอาดห้องเอง ซึ่งถามว่ามีข้อเสียไหม มันก็มีเหมือนกัน เพราะพอเขามีพื้นที่ส่วนตัว เขาก็จะเริ่มมีความลับกับเรา เราจะตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง แต่เราก็มีวิธีของเรานะ คือเราจะไม่กระโตกกระตากหรือเข้าไปยืนเฝ้า แต่จะเข้าไปแบบเนียนๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้านตรงนั้น อะไรทำนองนี้ 

เขามีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในบ้านบ้างไหม

ช่วงแรกมีแม่บ้าน เลยไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ตอนหลังแม่บ้านลาออก เลยถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมาก เพราะก่อนหน้านี้เขาค่อนข้างติดเกม แล้วพอเราไม่มีแม่บ้าน เราก็บอกเขาว่าต้องทำเองแล้วนะ ลัลลาเบลต้องช่วยหม่าม้านะ เขาก็โอเค หลักๆ หน้าที่เขาตอนนี้ก็จะเก็บผ้า ถูบ้าน เราก็พยายามดึงให้เขามี activity คู่กับเรา

เขาเคยอิดออดไม่อยากทำไหมคะ

มีบางครั้งค่ะ ตอนที่เขาเล่นเกมอยู่ แต่ก็ค่อนข้างโชคดี ที่เขาพูดรู้เรื่องหน่อย เลยไม่ค่อยมีปัญหามาก

ถ้าเทียบตัวคุณไอด้าเองกับน้องลัลลาเบลในช่วงวัยพรีทีน คิดว่ามีความเหมือนหรือต่างกันตรงจุดไหนบ้าง

ส่วนตัวเราคิดว่า ลัลลาเบลเป็นตัวของตัวเอง ค่อนไปทางไม่ค่อยฟัง เขาจะมีความคิดเป็นของตัวเองแบบชัดมาก เราก็เลยรู้สึกว่าเขาจะดื้อรึเปล่า แต่คุณพ่อเราเคยบอกว่า ตอนเด็กๆ เราดื้อกว่าลูกเยอะมาก ไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ เอาแต่ใจ ไม่ค่อยฟัง จำได้ว่าตอนเด็กเราเคยไปกินสเต็ก แล้วเราสั่งไก่ แต่ได้หมูมา เราก็โยนจานเลย ภาพที่จำได้คือเขวี้ยงจานไปข้างหลังแบบฉันไม่ได้สั่งหมูอะ แต่ลัลลาเบลจะไม่มีอารมณ์แบบนี้ เขาจะดื้อแต่มีเหตุผล 

มีเหตุผลอย่างไร ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม

อย่างช่วงแรกที่เขาได้มือถืออะค่ะ คือเมื่อก่อนเราจะไม่ให้เขาใช้ มีอะไรก็จะให้เล่นเครื่องเรา แต่พอเริ่มโต เริ่มไปโรงเรียน ก็มีมือถือเป็นของตัวเอง แล้วตอนนั้นเขาแชทกับเพื่อนอยู่ เราก็แอบเข้าไปดู แต่เราไม่ได้ตั้งใจนะ แค่อยากรู้ว่าคุยอะไรกัน กลายเป็นว่าเขาหันมาแล้วก็พูดว่า อันนี้มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขานะ หม่าม้าอยากดูต้องขออนุญาตก่อน เขาจะชอบพูดในลักษณะที่ว่า นี่มันสิทธิของเขานะ เขาจะใส่อะไร ไม่ใส่อะไร จะกินอะไร จะชอบอะไร หม่าม้าต้องเคารพสิทธิของเขา อะไรอย่างนี้ค่ะ เราก็แบบ โอเค รู้เรื่อง 

ก่อนที่ลูกจะรู้จักอธิบายเหตุผลแบบนี้ เราสอนเขาอย่างไร

จริงๆ แล้วไอด้าไม่ได้ทำอะไรที่เป็นหลักเกณฑ์ขนาดนั้น แต่ส่วนตัวคิดว่า น่าจะเกิดจากเราเอง ณ ตอนนี้ที่ค่อนข้างเป็นคนมีเหตุผลมาก ซึ่งพออยู่ด้วยกันแล้วก็คงซึมซับพฤติกรรมกัน เช่น เวลาซื้อของ เขาจะเอาอะไร เราก็จะพูดในลักษณะว่า โอเค อันนี้หนูจะเอาไปทำอะไร เหตุผลที่หนูจะซื้อคืออะไร ซื้อมาแล้วมันเกิดประโยชน์หรือคุ้มค่าไหม หรืออย่างเวลาเขาไปซื้อขนม เราก็จะตั้งงบให้ 50 บาท แล้วก็บอกเขาว่า หนูจะซื้ออะไรก็ได้ มันเป็นสิทธิของหนูเลย หม่าม้าให้แล้ว ไปคำนวณเอาเองว่าอยากได้อะไรในงบ 50 บาทนั้น แล้วเขาก็ไปร้านขนมทีแบบครึ่งชั่วโมงอะค่ะ วนอยู่ในนั้น เพราะว่าอยากได้หลายอย่าง (หัวเราะ)

ในเรื่องการสื่อสาร พ่อแม่บางคนมักพูดคุยกับลูกโดยใช้เสียงสองหรือใช้ภาษาง่ายๆ เพราะคิดว่าคุยกับเด็กก็ต้องใช้ภาษาเด็ก สำหรับคุณไอด้าเวลาคุยกับน้องลัลลาเบลเป็นแบบนั้นไหม

จริงๆ เราคุยกันเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่คุยกันปกติค่ะ แล้วก็เป็นอารมณ์เหมือนคุยกับเพื่อน เพราะเวลาเราอธิบายอะไรเขา เราไม่ต้องมานั่งคิดว่าเราพูดคำนี้แล้วเขาจะเข้าใจไหม เหมือนเราพูดไปได้เลย เขาก็เข้าใจของเขาเอง 

เลยทำให้สนิทกันง่าย เหมือนเพื่อนกัน?

อารมณ์นั้นค่ะ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพื่อนจ๋าขนาดที่ว่า โอ้โห ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเคยมีจุดที่เกือบจะเป็นเพื่อนเกินไปแล้ว ด้วยความที่เราอยู่ด้วยกันตลอด สนิทกันมาก เขาก็จะกล้าพูดทุกอย่างกับเรา จนเราสัมผัสได้เองว่า ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เดี๋ยวจะกลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ 

จุดที่ว่าคืออะไร แล้วจัดการอย่างไร

เรื่องการพูดคำหยาบค่ะ บางทีพูดเล่นกันขำๆ จนเขาเผลอหลุดกูมึงออกมากับเรา แต่ไม่ได้เรียกเรานะ แค่เหมือนหลุดเวลาเราเม้าท์กับเพื่อน เราก็เลยบอกเขาว่า โอเค เราไม่มีปัญหาเลย เพราะถ้าถึงเวลายังไงเขาก็ได้พูด ตัวหม่าม้าเองก็พูด มันคือเรื่องปกติ มันคือการสื่อสาร เพียงแต่ว่าบางอย่างเราอาจจะต้องดูกาลเทศะว่า ณ ตอนนี้เราพูดอยู่กับใคร เราพูดได้ไหม และตอนนี้หนูกำลังเป็นเด็กผู้หญิงที่น่ารักมากเลยนะ ช่างพูด ช่างคุย แต่ถ้าสมมุติว่าหนูพูดเร็วเกินไปมันอาจจะดูไม่น่ารักก็ได้นะ เขาก็เข้าใจ

คุณไอด้าเอาความเป็นพรีทีนของตัวเองมาคิดหรือมาดีลกับพรีทีนของลูกอย่างไรบ้างคะ

อย่างที่บอกตอนเด็กเราดื้อมาก ไม่มีเหตุผล ใครพูดอะไรเราเถียงทุกอย่าง ซึ่งกับลูกเรามีความคล้ายกันตรงที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เชื่อมั่นในตัวเอง เราก็เลยพยายามยกหลักเหตุผลขึ้นมามากขึ้น เหมือนไม่ใช่แค่กับเรื่องลูก แต่รวมถึงเรื่องของตัวเองด้วย เพราะเวลาเราทำอะไรก็ตาม เขาจะเห็นหมด ฉะนั้นเราก็ต้องมีเหตุผลในเรื่องของเราด้วย ไม่งั้นเขาก็จะย้อนเราได้ทันทีว่า ทีหม่าม้าล่ะ แบบนี้ค่ะ

อะไรที่ทำให้ตัวเองเปลี่ยนแปลง จากเด็กดื้อสุดๆ ไม่ฟังใคร กลายเป็นคนที่มีเหตุผลมากขึ้น

ช่วงมหา’ลัยถือเป็นจุดเปลี่ยนเลย ตอนนั้นเอนทรานซ์แล้วเราได้เรียนวิศวะ ศิลปากร ต้องไปอยู่นครปฐม 4 ปี แล้วคุณพ่อเขาคงเห็นว่า เราดื้อมาก ดื้อสุดๆ ต้องเนรเทศ (ยิ้ม) เลยอยากให้เราลองไปใช้ชีวิตเอง เขาก็ให้เหตุผลว่า คณะนี้เปิดใหม่ น่าเรียนนะ เราก็โอเค เชื่อคุณพ่อ ก็ไปเรียน ไปอยู่คนเดียว แล้วเหมือนแบบไม่มีใครให้ท้ายอะค่ะ เด็กที่มาเรียนก็เป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนกัน ทำให้เราต้องเริ่มดูแลตัวเองมากขึ้น 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตคุณไอด้าที่สังคมภายนอกเห็น คือช่วงที่แยกทางกับคุณพ่อน้องลัลลาเบล ตอนนั้นที่สภาพจิตใจเราอ่อนแอ เรารับมือกับมันอย่างไร

โห…ตอนนั้นคือโชคดีมาก มีเพื่อนดี น่ารัก ซัพพอร์ตเรา แล้วตัวเราเองเป็นคนอารมณ์ดีตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านเลี้ยงมาแบบไม่เครียด เวลามีปัญหาอะไรที่บ้านก็ไม่กดดันเรา ทุกอย่างเลยค่อนข้าง flow และตัวเราเองเป็นคนจัดการตัวเองได้ ไม่ฟูมฟาย เวลามีปัญหาเลยไม่ค่อยเครียด แต่จะแบบวางแผนในหัวว่า โอเค มันเกิดปัญหาแบบนี้ จะทำอะไรต่อไป ทางไหนจะดีที่สุด

ตอนนั้นมีความกังวลมากน้อยแค่ไหนกับการเลี้ยงลูก

ณ ตอนนั้นไม่ได้กังวลเลยเอาจริงๆ เพราะว่าเราเป็นคนตัดสินใจแล้วตัดสินใจเลย พอตัดสินใจไปแล้วว่า โอเค จะแยกกันเนอะ มันก็มีแต่ความคิดที่ว่าฉันเลี้ยงได้ มันคือความมั่นใจว่าเราจะเลี้ยงลูกได้ ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้มีความกลัวเลยว่า ฉันจะต้องเลี้ยงลูกคนเดียวรึเปล่า

อีกอย่างเราเลี้ยงเขาตั้งแต่แรกคนเดียวด้วย ตั้งแต่ท้องมาจนคลอด เขาเห็นเราเป็นหลักคนเดียว ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันจะต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ โอเค อาจจะขาดส่วนหนึ่งไป แต่เรามั่นใจว่าเราเติมเต็มตรงนั้นได้

ครอบครัวซัพพอร์ตอย่างไรบ้างคะช่วงนั้น

ครอบครัวเราค่อนข้างรับฟังกัน ให้ความเป็นเพื่อนและความสนิทสนมกัน เลยทำให้ไม่รู้สึกว่ามีสเปซจนเราไม่กล้าทำอะไร หรือไม่กล้าพูดอะไร 

สำหรับเรา ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจอาจจะเป๋ได้เหมือนกันนะ แต่โชคดีที่บ้านเราน่ารักมากๆ ตอนแรกที่เกิดเรื่องก็บอกพี่น้องก่อนว่า เฮ้ย ทำยังไงดี เสร็จปุ๊บบอกแม่ แล้วแม่ก็บอกป๊าเลย ซึ่งเราสนิทกับพ่อมาก แต่ด้วยความที่สนิทมากมันก็จะมีจุดหนึ่งที่เราเข้าถึงกันยาก เช่น เรื่องความรัก เราจะไม่คุยกับเขาเลย ตอนนั้นใจก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวว่าเขาจะโอเคไหม แต่พอเล่าให้เขาฟัง เขาก็เหมือนชิล เขากอดเรา แล้วบอกว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เห็นต้องไปเครียดเลย อารมณ์ประมาณว่า เราก็มีกันอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว การที่จะขาดอะไรไปมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตขนาดนั้น แล้วตัวเราตั้งแต่มหา’ลัย เราดูแลตัวเองมาโดยตลอด เขาก็บอกกับเราว่า เราเก่งมากแล้ว เราดูแลตัวเองได้ หลังจากนี้มันก็ไม่ได้ต่างจากเดิม 

การที่ครอบครัวอยู่กับเราตลอดมันสำคัญอย่างไร

สำหรับไอด้ามันสำคัญมากๆ เลยนะ เพราะว่าหลักๆ แล้วที่พึ่งทางใจ ครอบครัวก็จะเป็นอันดับแรกเลย ถ้าที่พึ่งทางใจเข้าใจเรา มันทำให้เรามีความมั่นใจในการตัดสินใจต่างๆ ในชีวิต ไม่กลัว เพราะรู้ว่าเรามีแบ๊ค มีคนรอซัพพอร์ต 

เราเคยมีเพื่อนที่ไม่สนิทกับครอบครัว จนเราคิดว่า เฮ้ย มันมีอยู่จริงเหรอวะ คนที่แบบแม้แต่เรื่องแค่นี้ก็ไม่กล้าที่จะบอกพ่อแม่ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นปัญหาชีวิตอะไรเลย แล้วทำให้เหมือนเขาห่างกับครอบครัว จนบางทีก็แอบมีอะไรที่มันผิดพลาดในชีวิต เราก็เลยรู้สึกว่า นี่เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น 

สำหรับคุณไอด้าเองเป็นแบ็คให้ลูกอย่างไรบ้าง

เราตั้งใจว่าจะซัพพอร์ตเขาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม อยากให้เขาสบายใจ ไว้ใจที่จะเล่าให้เราฟัง

เพราะเรารู้สึกว่าการตัดสินใจบางอย่างโดยที่ไม่ได้ปรึกษาใคร แม้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว มันก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน ถ้าเป็นลูก เราก็อยากให้เขากล้าที่จะปรึกษาเราทุกเรื่องจริงๆ อยากให้เขารู้สึกไว้ใจ มั่นใจกับเรา เพราะบางอย่างเขาอาจจะตัดสินใจผิด หรือมองในมุมที่ใกล้ปัญหามากจนไม่เห็นจุดบอดของการตัดสินใจนั้น 

มีช่วงไหน หรือบทสนทนาอะไรที่รู้สึกว่า เรามาถึงจุดที่ลูกไว้ใจเราที่สุดแล้ว 

คงเป็นเรื่อง “หนูมีความรักนะ” คือปกติไม่มีเรื่องพวกนี้หรอก แต่พอโควิดต้องอยู่บ้าน เขาเล่นเกมกับเพื่อน ก็จะบอกเราว่า เนี่ยมีเพื่อนในเกมมาจับคู่ให้เป็นแฟนกันด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเล่าให้แม่ฟังเลย หลบตลอด เหมือนมีความลับ กลัวแม่รู้ จนเราเริ่มสัมผัสได้ เราก็เลยเนียนๆ ไปถามตอนเขาเล่นเกมว่า ตัวละครในเกมนี้ใครเหรอ ชื่ออะไรเหรอ เขาก็บอกตัวละครนี้เป็นเพื่อนที่โรงเรียน เราก็ อ๋อ โอเค เลยเนียนๆ ถามว่าเขาเป็นใคร เหมือนเราสนใจเรื่องของเขา แล้วเรารับฟังที่เขาพูด จนเขาบอกว่า เอาจริงๆ คนนี้แหละแฟนหนู 

ตอนนั้นเราก็ตกใจมาก แต่เขาบอกคุยกันแค่ในเกมนะ เราก็ค่อยยังชั่วหน่อย เลยถามต่อว่า เคยเห็นหน้ากันไหม เขาก็บอกไม่เคย แล้วต่างคนต่างไม่ใช้รูปจริง เราก็เลยพูดกับเขาว่า เจอกันในเกมไม่เป็นไร แต่ในชีวิตจริงหนูรู้ใช่ไหมว่าขนาดในเกมตัวหนูเองยังไม่ใช้รูปจริงเลย เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ตัวจริงคนนี้เขาเป็นผู้ใหญ่ เด็ก หรือเป็นใครมาจากไหน อาจเป็นมิจฉาชีพก็ได้ ก็พยายามอธิบายให้เขาฟังว่า ในโลกนี้มีความหลากหลายอีกมากที่เขาไม่เคยเจอ เขาก็เข้าใจและรับฟัง

พอแม่ได้ยินว่า “หนูมีความรักนะ” รู้สึกอย่างไรบ้าง 

โอย…แสบมาก คือเขามาเล่าว่า แฟนหนูดูแลหนูดีมากเลยนะในเกม สมมุติหนูกำลังจะตายแล้ว เขาก็มาช่วยเติมชีวิตให้หนู 

แล้วบางทีเขาก็มาแขวะเราในชีวิตจริงด้วยนะ อย่างเรางอนกับแฟน เขาก็จะบอกว่า เป็นผู้หญิงแบบนี้ใครเขาจะชอบ ขี้บ่นแบบนี้ผู้ชายเขาไม่ชอบหรอกนะ (หัวเราะ)

ถ้าให้คะแนนความสนิทของตัวเองกับลูก คิดว่าสนิทกันกี่เปอร์เซ็นต์

อุ๊ย ก็เต็มร้อยเลยค่ะ เพราะมันติดหนึบกันจริงๆ เหมือนไอด้าจะคบหรือไปเดทกับใคร เขาก็ไปด้วย เขาต้องรับรู้ทุกเรื่อง เพราะว่าเขามีส่วนในการตัดสินใจในชีวิตเราเยอะ 

แล้วในเรื่องของคุณพ่อน้องลัลลาเบล คุณไอด้าให้ลูกรับรู้ในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน

ในเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขารับรู้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ เพราะว่าตัวเขาเองเวลาอยู่กับคุณพ่อ ยังไงเขาต้องคุยกันอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ถึงกับว่ามานั่งจับเข่าคุยกันว่าคุณพ่อเป็นอย่างงี้ๆ นะ เราจะรอจนเขาเป็นคนถามเอง ซึ่งถ้าเขาถาม เราก็ตอบ เราไม่ปิดบัง เพราะรู้ว่ายังไงวันหนึ่งเขาก็ต้องรู้ เพราะเขาเล่นโซเชียลเป็นแล้ว ไหนจะเพื่อนที่โรงเรียนเขาอีก เขาก็เคยมาถามเราว่า ป๊ามี่โดนจับเหรอ ป๊ามี่ต้องเข้าไปอยู่ในนั้นจริงเหรอ เราก็ค่อยๆ มาอธิบายว่ามันเป็นอย่างงี้ๆ นะ 

เราก็อธิบายให้เข้าใจนะคะว่า การที่เข้าไปมันไม่ได้หมายความว่า มันจะมีแต่ข้อเสีย คือเราก็อธิบายในอีกมุมว่า สิ่งที่ป๊ามี่ทำ อะไรถูกก็ว่ากันตามถูก อะไรผิดก็ว่ากันตามผิด การเข้าไปในนั้นมันอาจจะทำให้ป๊ามี่ได้สงบจิตสงบใจ อยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเอง เขาก็อาจจะตกตะกอนอะไรมากขึ้นก็ได้ เราก็ยกทั้งข้อดีข้อเสียให้เขาฟังตามความเป็นจริง 

ทำไมถึงเลือกที่จะไม่นั่งจับเข่าคุยกับลูก แล้วบอกว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทำไมจึงเลือกให้เขารู้เองจากคนภายนอก

เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาจำเป็นที่จะต้องรับรู้ทั้งหมดขนาดนั้นนะ ณ ตอนนี้ ส่วนตัวเราแค่รู้สึกว่า วันหนึ่งเขาต้องรู้แหละ แต่ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เรามั่นใจว่าถ้าเขารับรู้แล้ว เขาจะมาคุยกับเราแน่นอน ซึ่งเขาก็มาคุยจริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้มีความรู้สึกไม่เข้าใจอะไร จะมีแค่ว่าหนูเป็นห่วงป๊ามี่ ป๊ามี่จะเป็นอะไรไหม เราก็พูดในเชิงที่บวกๆ หน่อย ว่าป๊ามี่ไม่เป็นอะไร ป๊ามี่อยู่ดี สบายดี กินอ้วนเลยแหละ เขาเข้าไปอยู่ในนั้น เขาน้ำหนักขึ้นเลยนะ อะไรประมาณนี้ค่ะ

ยากไหมในการอธิบายเรื่องนี้

อย่างที่บอก ลัลลาเบลค่อนข้างเข้าใจง่าย ไม่ต้องมานั่งประดิษฐ์หรือต้องคิดว่าจะพูดยังไง คือพูดไปตามความจริง เขาก็เข้าใจนะคะ เช่น สมมุติเขาถามว่า ที่ป๊ามี่ออกไปชุมนุม ป๊ามี่ทำไปเพื่ออะไร เราก็อธิบายเรื่องความเป็นประชาธิปไตย เขาก็เข้าใจ ก็ยังบอกกับเราเหมือนกันว่าหนูกับเพื่อนเป็นสามกีบนะ ตอนแรกเราก็ขำแหละ ก็เลยถามความเห็นเขา เพราะอยากรู้ว่าเขาเข้าใจคำนี้มากน้อยขนาดไหน เข้าใจยังไง เพราะเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจลึกขนาดเรา เราก็อธิบายว่า สามนิ้วมันคือสัญลักษณ์อะไร เป็นสัญลักษณ์สากลนะ ไม่ใช่อยู่ๆ ทุกคนก็มโนขึ้นมาเอง เราก็อธิบายรายละเอียดมากขึ้น 

พ่อและแม่พูดกับลูกไปในทางเดียวกันไหม

ทางเดียวกันค่ะ คือไอด้าไม่แน่ใจว่าครอบครัวอื่นเขาคุยกันไหม แต่เราทั้งคู่จะไม่มานั่งแบบว่า เราจะพูดกับลูกอย่างนี้นะ ยูต้องพูดกับลูกอย่างนี้นะ คือไม่ อาจจะด้วยความโชคดีที่ว่า ผีเห็นผีอะค่ะ (หัวเราะ) เหมือนรู้จักกันดีมาก ว่านางจะพูดกับลูกยังไง นางเองก็รู้ว่าเราจะพูดกับลูกยังไง ก็เลยค่อนข้างเป็นธรรมชาติ 

ในความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่แยกทางกัน บ้างอาจเป็นเพราะผิดใจกัน ทำผิดต่อกัน หรือไม่ลงรอยกัน ขณะเดียวกันก็ไม่เคยพูดว่าร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง สำหรับคุณไอด้าการทำแบบนี้มันสำคัญอย่างไรกับเด็กคนหนึ่ง

อืม…ไอด้าค่อนข้างซีเรียสนะ โอเค เขาอาจจะเคยทำผิดกับเราไม่ว่าอะไรก็ตาม แต่เราจะไม่มานั่งพูดว่าเขาไม่ดี เพราะสุดท้ายลองนึกว่า ถ้าเราเป็นลัลลาเบล เราก็คงไม่แฮปปี้ ทำผิดก็คือผิด เราพูดตามหลักเหตุผล ตามความเป็นจริง 

เขาก็เคยถามว่าทำไมถึงเลิกกัน เราก็ตอบตามความเป็นจริงว่าป๊ามี่เจ้าชู้ ซึ่งพอเราพูดตามความจริงเขาก็เข้าใจ เอาจริงๆ เวลาเขาไปๆ มาๆ เขาก็รู้อยู่แล้วแหละว่าอะไรเป็นอะไร เขายังเคยพูดติดตลกกับเราเลยว่า เออ ดีแล้วแหละที่เลิก เจ้าชู้ไม่ไหว ปวดหัว แต่เขาก็แฮปปี้นะ เขาก็มีความสุขในพาร์ทของฝั่งเรา แล้วเขาก็มีความสุขในฝั่งป๊ามี่เหมือนกัน

ตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณแอมมี่กับคุณไอด้าคือเป็นเพื่อนกัน?

ค่ะ

บางครอบครัวเป็น co-parenting แต่สำหรับคุณไอด้าเรียกว่าเป็น single mom เลยได้ไหมคะ

ได้ค่ะ

ทำไมถึงเลือกเป็น single mom แทนการเลี้ยงดูร่วมกันแบบ co-parenting คะ

อืม…นั่นน่ะสิ (หยุดคิด) ไอด้าก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นจุดนี้ได้ยังไง แต่คิดว่าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ มันไม่ได้ถึงกับว่า ฉันจะต้องเป็นซิงเกิลมัม แต่แค่บางอย่างมันก็คงต้องเป็นอย่างงี้แหละ 

จุดไหนที่คิดว่าเราเป็นซิงเกิลมัม

ก็อาจจะตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจจบความสัมพันธ์ มันก็เลยเหมือนค่อนไปทางซิงเกิลมัม แล้วก็ด้วยความสบายใจ รวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตที่อาจจะไม่สามารถ co-parenting ได้ 

ชีวิตตอนนี้ที่เราโสด อาจมีคนนู้นคนนี้เข้ามาบ้าง คุณไอด้าบอกกับลูกอย่างไร หรือแนะนำกับเขาอย่างไรว่าคนนี้คือคนรักใหม่นะ

เอาจริงๆ แทบไม่ต้องพูดเลย เพราะนางรู้หมด แค่บางทีพามากินข้าว นางก็รู้แล้วอะ (หัวเราะ) เหมือนนางก็คงจับพิรุธแม่นางได้ แต่อย่างหนึ่งที่เราตั้งไว้ในใจเลยคือ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าลูกเราไม่โอเค ไม่แฮปปี้ ถึงเราจะแฮปปี้ให้ตาย เราก็จะไม่เอา

อีกอย่างเราไม่ใช่คนขวนขวายความรัก แบบฉันจะต้องมีความรัก คือเอาจริงๆ เราเป็นคนที่เปิดใจยากมาก เป็นคนที่คุยกับคนยาก เราไม่คุยกับคนไปทั่ว หรือไม่ใช่คนแบบไปเที่ยวแล้วถูกใจแลกเบอร์ ซึ่งมันไม่ได้ผิดนะคะ แต่ส่วนตัวเรา เราแค่รู้สึกว่าเราไม่ได้รู้สึกอยากจะคุยเปิดใจ หรือคุยแบบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอคนที่ใช่ มันก็เลยยากนิดหนึ่งที่จะเจอคนที่คลิกจริงๆ 

ในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว พอเราเจอคนนี้แล้วไม่ใช่ ก็แยกย้าย แต่ความสัมพันธ์แบบแม่ลูกไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง สำหรับคุณไอด้าแล้วมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ราบรื่นที่สุด

จริงๆ ก็พยายามคุยกับเขาตลอดว่าเรามีกันอยู่สองคน ไม่จากเป็นก็คือจากตาย แค่นั้น ไม่ว่าเราจะมีปัญหาอะไร เราต้องคุยกัน เราต้องเคลียร์กัน พอเราเปิดใจคุยกันก็จะเข้าใจกันมากขึ้น 

เพราะฉะนั้นไอด้าจะพยายามคุยกับเขาทุกเรื่อง สมมุติมีอะไรที่เราไม่โอเคในตัวเขา หรือเขาไม่โอเคในตัวเรา เราจะอัพเดทกัน เหมือนเราอัพเดท relationship ของเราตลอด ยิ่งกว่าแฟน

อย่างก่อนนอนจะเป็นช่วงที่เราได้ใช้เวลาด้วยกัน เพราะเรานอนด้วยกันสองคน มันเหมือนช่วงเวลาเปิดใจ ถ้าวันไหนทะเลาะกัน เราก็จะถามเขาว่า วันนี้งอนหม่าม้าไหม ยังโกรธอยู่รึเปล่า หรือบางทีเขาก็ถามเรากลับว่า เขาทำแบบนี้เขาได้กี่คะแนน วันนี้เขาดื้อไหม เขาก็จะถามตลอด เป็นคนเซนซิทีฟ

ช่วงเวลาที่ลูกใกล้เข้าวัยรุ่นแบบนี้ ห่วงอะไรมากที่สุด แล้วเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

น่าจะเป็นเรื่องการคบเพื่อน การมีสังคมที่กว้างขึ้นทำให้เราแอบกังวล เพราะว่าลัลลาเบลค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง เหมือนเราตอนเด็กที่คนที่บ้านน่าจะห้ามอะไรไม่ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ)

เราก็จะพยายามใกล้ชิดเขาให้ได้มากที่สุด รู้จักเพื่อนของเขา คุยกับเขาว่าคนนี้เป็นยังไง ในลักษณะเชิงเม้าท์มอยอะค่ะ เพราะถ้าถึงอายุที่เขาเป็นวัยรุ่นจริงๆ เริ่มออกไปไหนมาไหนหรือออกจากบ้านเองได้แล้วโดยที่ไม่ต้องมีเรา ตรงนั้นแหละที่เราแอบกังวล

มีนิสัยไม่ดีอะไรบ้างที่ไม่อยากให้น้องลัลลาเบลเลียนแบบตัวเอง

เรื่องอารมณ์ค่ะ เพราะภาพในหัวที่จำได้คือเมื่อก่อนเราเป็นคนดื้อมาก แล้วก็ค่อนข้างใช้อารมณ์ แต่อย่างที่บอก จุดเปลี่ยนคือช่วงมหา’ลัย ที่เรากลายเป็นคนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช้อารมณ์ เข้ากับทุกคนได้ง่ายมาก แบบเสียงส่วนใหญ่ของเพื่อนว่าไงก็ว่าตาม แต่ก็ยังมีจุดยืนของตัวเองนะ แต่จะไม่ทำตัวเรื่องมากกับคนอื่น

แต่มันก็จะมีบางจุดที่เราหลุดเหมือนกัน เพราะเราเคยเป็นคนอย่างงั้นอะ (หัวเราะ) บางจุดที่ว่าคือ อะไรที่มันเกินเส้นที่เราจะรับไหว เราก็จะชนเหมือนกัน ซึ่งเราก็พยายามพูดกับเขาเรื่องนี้

อยากให้เขาแข็งแรงเรื่องไหนมากที่สุด

หลักๆ 2 เรื่องค่ะ คือเรื่องการใช้ชีวิตหรือการเอาตัวรอด เช่น เราเป็นคนที่ชอบขายของมาก เราก็พยายามปลูกฝังเขาว่า การค้าขายเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถติดตัวเขาไปได้ยันโต เขาสามารถเอาตัวรอดได้จากอาชีพนี้ ซึ่งเขาเห็นเรามาหมดแล้วตั้งแต่เด็ก ว่าเราทำงานอะไรมาบ้าง เขารู้ว่าเราวางแผนการขายยังไง กระบวนการการทำงานของเราเป็นยังไง เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละเป็นสิ่งหนึ่งที่เราคายตะขาบให้เขาได้

ส่วนเรื่องที่สอง คืออยากให้เขามีความเข้มแข็งทางจิตใจ เพราะว่าเอาจริงๆ เราเจอเรื่องราวในชีวิตมาเยอะมาก ไม่ใช่แค่อย่างที่ทุกคนรู้ มันมีอะไรที่แบบ โห…ต้องไปขายบทให้พี่อ้อยพี่ฉอดแล้วอะค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งถ้าความเข้มแข็งของจิตใจไม่มี เราคิดว่าอาจจะเป๋ไปแล้วก็ได้

ในเรื่องการค้าขาย คิดว่าเขาจะได้ทักษะอะไร

ไอด้าพยายามอยากจะให้เขาเข้าใจว่าไม่ต้องอายทำกิน ทุกอาชีพถ้ามันสุจริตคือมันเท่ากัน ซึ่งเราทำงานหลายพาร์ท มีพาร์ทในวงการบันเทิงด้วย เขาก็จะเห็นความพริวิเลจ (privilege) บางอย่างที่อยู่ในสังคมเรา อย่างการทรีตคนในแต่ละชนชั้น เราเลยพยายามที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจตรงนี้อย่างถ่องแท้ว่า จริงๆ แล้วไอ้ความพริวิเลจ ต่างๆ สังคมเราสร้างขึ้นมาเอง

มีครั้งหนึ่งไปจอดรถในห้าง แล้ว รปภ. หาที่จอดให้ เราก็ยกมือไหว้ขอบคุณ ลูกก็ถามว่า ทำไมหม่าม้าถึงยกมือไหว้ เราก็อธิบายให้เขาฟังว่าก็เขามีน้ำใจ เขาหาที่จอดรถให้เรา เขาวิ่งลงมาตั้งแต่ชั้นหนึ่งเลยนะ ตามเราลงมาถึงชั้นใต้ดินอะไรอย่างงี้ หรือไม่ว่าจะกับใคร เรายกมือไหว้หมด ซึ่งส่วนตัวเราคิดว่า ถ้าใครทำอะไรให้เราหรือมีน้ำใจกับเรา มัน why not การยกมือไหว้ไม่ได้เสียหายอะไรเลย มันทำให้เราดูเป็นคนที่น่ารักด้วยซ้ำ ก็อธิบายให้เขาฟัง

อยากให้น้องลัลลาเบลเติบโตมาในสังคมแบบไหน

อยากให้เติบโตในสังคมที่มีแต่คนคิดดี จิตใจดี เข้าใจธรรมชาติความเป็นมนุษย์ รายล้อมไปด้วยคนที่เข้าใจว่า nobody perfect เพราะมนุษย์มันไม่มีใครเป็นคนดีจ๋าขนาดนั้นอยู่แล้ว อีกอย่างอยากให้เขาอยู่ในสังคมที่มีเหตุมีผล มีความเห็นอกเห็นใจกัน และใจดีกับเพื่อนมนุษย์ 

ทั้งหมดนี้เราคงจะเลือกให้เขาไม่ได้ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องเป็นคนเลือกสังคมในแบบของเขาเอง


Writer

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts