แม่หน่อย-กนกวรรณ หรุ่นบรรจบ : เลี้ยงเด็กพิเศษอย่างไรให้แฮปปี้ เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นรูปแบบหนึ่งของความหลากหลาย

หัวอกคนเป็นพ่อแม่คงรู้กันดีว่า การมีลูกคือสิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตของตนเองไปตลอดกาล แต่ในฐานะคนที่ยังไม่มีลูกของตัวเอง เราไม่เคยเข้าใจประโยคนั้นอย่างถ่องแท้ได้เลย จนกระทั่งได้มาพบกับ แม่หน่อย-กนกวรรณ หรุ่นบรรจบ ที่ทำให้เราเห็นภาพนี้ ได้อย่างชัดเจน

แม่หน่อยนิยามตัวเองว่าเป็น ‘แม่เต็มเวลา’ พิเศษกว่านั้นคือแม่หน่อยเป็นแม่ของ ‘น้องตโจ’ เด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเกิดมาพร้อมกับภาวะผนังหน้าท้องเติบโตผิดปกติ (Giant Omphalocele) ทำให้น้องไม่มีผิวผนังหน้าท้อง ส่งผลให้อวัยวะบางส่วนในช่องท้องกองออกมาอยู่ข้างนอก 

นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ลืมตาดูโลก ตโจผ่านการนอนห้องไอซียูเป็นปี ผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่า และเคยต้องให้อาหารทางเส้นเลือดดำ จนถึงตอนนี้น้องอายุ 8 ขวบครึ่ง สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากพอที่จะกลับมาอยู่บ้าน ฝึกเคี้ยวข้าวให้เก่ง เรียนโฮมสคูลกับคุณแม่ และเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมกว้างใหญ่ต่อไป

ด้วยเงื่อนไขของลูก จากการเป็นผู้หญิงบ้างาน มีนิสัยโมโหร้าย แม่หน่อยกลายเป็นคนละคน เธอกลายเป็นแม่ที่ต้องวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ ที่สำคัญคือการเป็นคนที่ยอมรับทุกสิ่งในชีวิตได้อย่างที่ควรจะเป็น

แม่หน่อยถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงน้องตโจทั้งหมดผ่านเพจ ‘มีลูกเป็นครู’ ด้วยพลังบวก และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม่หน่อยเพิ่งเปิด Barefoot Garden พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่อยากให้เด็กพิเศษได้มารวมตัวกัน มากกว่านั้นคือเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองของเด็กพิเศษเหล่านี้ได้มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูน้องๆ ที่ต้องใช้ทั้งความรู้ พลังใจ และศรัทธาในระดับที่เข้มข้น

ในวันแดดดีแบบนี้ เราถือโอกาสมาขอพบแม่หน่อยและน้องตโจที่นี่ คุยกันเรื่องสิ่งที่คุณแม่ตกตะกอนจาก 8 ขวบปีที่ได้เลี้ยงน้องมา และหลักในการเลี้ยงลูกให้ดีและมีความสุข ซึ่งเราคิดว่าไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของเด็กปกติหรือเด็กพิเศษเอง ก็น่าจะอยากฟังเช่นกัน

การได้เป็นแม่น้องตโจ เปลี่ยนชีวิตของแม่หน่อยไปอย่างไรบ้าง

จากหน้ามือเป็นหลังมือ เปลี่ยนจากผู้หญิงนิสัยไม่ดีคนหนึ่งเป็นผู้หญิงปกติ เมื่อก่อนกินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวถึงเช้า นี่คือกิจวัตร แต่ก่อนเป็นคนโมโหร้าย ด่าทุกอย่างบนโลก หมาเหยียบเงายังโกรธ ยิ่งทำงานเป็นผู้กำกับโปรดักชั่น เราก็ปากร้ายเพราะมีอำนาจที่สุดในกองถ่าย รู้สึกว่าเราอยากได้อะไรต้องได้  แต่พอรู้ว่ามีลูกและลูกมีเงื่อนไข เราก็เปลี่ยนไปเลย เรารู้เลยว่าคำสั่งของเราไม่ได้มีอำนาจ เรากลายเป็นหน่อยธรรมดาที่ไม่ใช่พี่หน่อย คุณหน่อย หรือผู้กำกับ เป็นหน่อยที่ไม่มีคำนำหน้าหรือหัวโขน เป็นหน่อยที่ต้องเอาชีวิตรอดไปกับลูกให้ได้เท่านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเป็นแม่ของตโจคือเราเรียนรู้ว่าชีวิตไม่ได้ง่าย และมันก็ไม่ได้เข้าข้างเราตลอด ฉะนั้นการอยากขึ้นเป็นที่หนึ่ง การหงุดหงิดตลอดเวลา สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเลย การเป็นคนเก่งที่ทุกคนยอมรับ ไม่ได้ยืนยันว่าลูกฉันจะไม่ตาย แต่การที่เราเปลี่ยนตัวเองเป็นคนเข้าใจโลกและยอมรับมันมีความสุขกว่า เราเลยตัดสินใจลาออกจากงานและเป็นแม่เต็มตัว

แม่หน่อยใช้หลักคิดแบบไหนในการเลี้ยงลูกที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 

จริงๆ เรารู้ว่าตโจอยู่กับสิ่งที่คาดกาลไม่ได้ ที่ใช้คำว่า ‘กาล’ แทนการณ์ เพราะเขาพร้อมตายตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือ เราคิดว่าพรุ่งนี้(ลูก)ตายได้ ดังนั้นเราจะทำวันนี้ให้ดี ถ้าเรายังมีวันนี้อยู่ นี่เป็นหลักคิดของพ่อกับแม่ตั้งแต่ตโจคลอดออกมา 

เคยมีคนมาถามเราว่า ถ้าสมมติวันนี้ตโจไม่อยู่แล้ว แม่จะรู้สึกยังไง? เราก็จะบอกว่าแม่จะเสียใจแหละ แต่แม่ไม่เสียดายอะไรเลย เพราะเราทำทุกวันดีมากแล้ว ตโจผ่านวันที่เราเคยจองวัดมาแล้ว  ผ่านช่วงที่หมอบอกว่าไม่ไหวแล้วไม่รู้ตั้งกี่รอบ แต่เราก็ยังผ่านมันมาได้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ไม่คาดการณ์มันเกิดขึ้นได้ตลอด เราใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีดีกว่า ถึงแม้ลูกเราจะไม่ได้พร้อมเท่าคนอื่น 

ตั้งแต่ออกมาจากโรงพยาบาลเขามีเงื่อนไขเยอะ จะออกไปข้างนอกก็ยาก เพราะต้องดูดเสมหะเพื่อกันติดเชื้อ เรามีข้อกดดันหลายข้อ แต่กลับรู้สึกว่านี่คือความท้าทาย เราคิดว่าเราจะทำยังไงที่จะเอาลูกออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ ต้องใช้เป้แบบไหนที่แพ็คเครื่องดูดเสมหะแล้วสะดวกเดินทาง อะไรแบบนี้ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราไม่ได้ออกไปข้างนอก 

จำได้ว่าครั้งแรกที่เขาไปต่างจังหวัดคือตอนที่เขาไปลอยอังคารคุณตาที่สัตหีบ ตอนนั้นเราวางแผนก่อนว่าที่นั่นแล้วมีโรงพยาบาลที่ไหนใกล้ที่สุด ใช้เวลากี่นาทีจากที่พัก ร้านออกซิเจนที่ไหนใกล้สุด พกอาหารอะไรไปบ้าง เราทำให้รถเป็นเหมือนไอซียูห้องหนึ่ง แต่เชื่อไหมว่าเราไม่ได้กดดันเลย มันเป็นความท้าทายของพ่อแม่ เป็นการจัดการอย่างเป็นทีมเวิร์ก 

มันยากลำบาก แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะทำไม่ได้ มันไม่มีคำว่าทำไม่ได้เกิดขึ้นเลย มันมีแต่คำว่า ‘มันต้องได้’ แต่จะได้ยังไง นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด

มองย้อนกลับไป ช่วงไหนคือช่วงที่ยากที่สุด

ความยากคือการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งหน้าที่การงาน

อาชีพ สถานการณ์ทางการเงิน รูปลักษณ์ ทุกอย่างมันลดลง

แต่สิ่งที่มีมากขึ้นคือการมีความหมายในการมีชีวิต

จริงๆ การเลี้ยงตโจนั้นยากทุกช่วง แต่ยากต่างกัน อย่างวัยเด็กก็ยากเรื่องการรักษา หลังจากนั้นยากกับการทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น เมื่อออกมาจากโรงพยาบาลก็ยากเรื่องการสอนภาษา พอเจอโลกที่กว้างขึ้น มันก็ยากในการจัดการให้เขาเข้ามาสู่สังคม ทุกช่วงมีความยากต่างกันไปหมด

แล้วช่วงเวลาที่ยาก แม่หน่อยบอกตัวเองให้สู้ต่ออย่างไร

ไม่ได้บอกอะไรเลย แค่ทำแล้วเราก็ผ่านมันไป 

2 ปีแรกที่อยู่โรงพยาบาล สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือทำให้หมอกับพยาบาลเป็นพวกเรา เพราะ 1 ปีแรกที่อยู่ไอซียู ลูกอยู่กับเราน้อยกว่าอยู่กับพยาบาลอีก เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงให้พยาบาลรักลูกกับรักเรา ให้เขารู้สึกว่าการคุยกับเราแล้วไม่น่ารำคาญ ช่วงนั้นเราจะพยายามทำความเข้าใจศัพท์หมอ เพราะเวลาหมอมาคุยกับพยาบาลว่าอาการวันนี้เป็นยังไง เขาจะชอบพูดศัพท์ของเขาที่เราไม่เข้าใจ เราจะจำคีย์เวิร์ดแล้วไปหาความรู้ต่อที่บ้าน เพื่อที่ครั้งต่อไปที่เราไปคุยกับพวกเขา เราจะใช้ศัพท์พวกนี้ได้ และจะทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา พอเราจูนกันติด เขาจะอธิบายหรือพูดความจริงกับเราง่ายขึ้น และทำให้เขากับเราทำงานเป็นทีม 

หลังจากน้องตโจอาการดีขึ้นแล้ว หลักการเลี้ยงลูกของแม่หน่อยเปลี่ยนไปไหม

ยังเหมือนเดิม คือเราเอาลูกเป็นหลัก เราเรียนรู้ผ่านลูกมากกว่าจะให้ลูกเรียนรู้ผ่านเรา

ลูกเรานอนนิ่งๆ มาหนึ่งปี เพิ่งเดินได้ตอน 3 ขวบครึ่ง กล้ามเนื้อเขามีปัญหา เราก็เลี้ยงเขาด้วยวิธีแก้ปัญหาไปทีละจุด หรืออย่างตอนนี้ 8 ขวบครึ่ง เขาไม่ได้เข้าโรงเรียนแต่เรียนโฮมสคูล เราก็รู้สึกว่าโฮมสคูลก็ตอบโจทย์เขา เพราะเราใช้ตัวเขาเป็นหลักเกณฑ์ในการสอนเขา

หลักเลี้ยงลูกอีกข้อของเราคือความสุข ถ้าเขาสุข เราก็สุขตาม เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้หรือเปล่า ทุกครั้งที่ลูกรอดตายมาเราจะพูดแบบนี้เสมอ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษคืออะไร

เขามักจะเข้าใจว่าเด็กๆ จะกลับมาเป็นปกติ แต่คำว่าปกติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กปกติก็ยังมีระดับความปกติที่ไม่เหมือนกัน 

หลายคนเข้าใจว่าการมีลูกที่มีความต้องการพิเศษจะเป็นอันตรายกับคนอื่น จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นยาก จะไม่มีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ จะเป็นภาระครอบครัว มันมีแต่ข้อลบ แต่ไม่เคยมีใครมองเห็นว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของความหลากหลายของเด็ก เช่นเดียวกับการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายเช่นกัน 

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นตอนเราพาเขาเข้ากลุ่มเดียวกับเด็กปกติ คือสายตาที่ตัดสินเขาไปแล้ว แปลกว่าคนที่ตัดสินไม่เคยเป็นเด็กด้วยกัน แต่เป็นผู้ใหญ่ตลอด อย่างตอนจับคู่เล่นกับเด็กคนอื่น เราเห็นสีหน้าของพ่อแม่เด็กคนนั้นทำเฟลทันที แต่ถามว่าเราแคร์ไหม เราไม่แคร์ เราแคร์ความรู้สึกของลูกเรามากกว่า 

สิ่งที่ยากที่สุดคือการถูกตัดสินไปแล้วนี่แหละ ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเด็กเหล่านี้เล่นไม่ได้แน่ๆ เรียนไม่ได้แน่ๆ มีข้อบกพร่องแน่ๆ ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันก็แค่ความหลากหลายเฉยๆ

นี่คือเหตุผลที่เราอยากทำ Barefoot Garden ขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมต่อการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกของเขา

ที่มาที่ไปของการตั้งสเปซ Barefoot Garden คืออะไร

เราใช้คอนเซปต์ว่า ‘พื้นที่เล่นร่วมกัน’ จุดเริ่มต้นคือเรามีลูกที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เขาเล่น เราจึงอยากมีพื้นที่ให้เด็กๆ กลุ่มนี้มาเล่นร่วมกัน พร้อมกับมีกระบวนการเรียนรู้ที่เรากับครูพัฒนาขึ้นมา นั่นคือข้อแรก

ข้อที่สอง ในอนาคตเราอยากเปิดให้เด็กทั่วไปเข้ามาเล่นได้ เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงเด็กทุกกลุ่ม เพราะเราอยากให้เด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเขาได้จอยกันจริงๆ อยากเตรียมตัวเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เตรียมพร้อมกับสังคมจริงๆ  ในขณะที่เราอยากให้เด็กทั่วไปได้เรียนรู้ว่ามันมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษอยู่จริง และในสังคมมันไม่สามารถแยกกันได้ มันต้องจอยกันในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นทั้งสองฝั่งเคยปรับตัว เราเชื่อว่าความแตกต่างทำให้อยู่ยากแต่มันต้องอยู่ได้ 

ด้วยความที่ลูกของเราเคยเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้รับผลกระทบ คิดว่าทำไมเธอกับฉันไม่เหมือนกัน มันมีเส้นแบ่งตรงกลางอยู่ นั่นคือที่มาที่ไปที่เราอยากสร้างพื้นที่นี้

อีกส่วนหนึ่งคือเราอยากใช้องค์ความรู้ที่เรามีจากการเลี้ยงตโจมาช่วยเด็กๆ ช่วยในที่นี้ไม่ได้ช่วยแบบเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่เราใช้ประสบการณ์ตรง สิ่งที่เรารู้ว่าทำแล้วเวิร์กมาส่งต่อให้กับพ่อแม่ ซึ่งเวิร์กกับเราไม่ได้แปลว่าจะเวิร์กกับทุกคน เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะมีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน แค่แชร์ให้เขาลองทำ ถ้าเขาได้ประโยชน์ก็ดี

เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของพ่อแม่ด้วย เพราะพ่อแม่ของเด็กพิเศษเหนื่อยมากจริงๆ ทั้งเหนื่อยจากการรับมือลูกตัวเอง เหนื่อยกับการรับมือคนในครอบครัว และเหนื่อยจากการตัดสินจากคนอื่น เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เขาได้มาเล่นกับลูกด้วย

ถ้ามา Barefoot Garden เด็กๆ กับพ่อแม่จะได้ทำอะไรบ้าง

ปกติจะมีคลาสทุกวันพุธกับวันศุกร์ วันพุธจะเป็นคลาสศิลปะ และวันศุกร์จะเป็นดนตรีบำบัด ซึ่งเราจะรับเฉพาะเด็กพิเศษไม่เกิน 5 คน อายุคละกัน เราอยากเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะขยายใหญ่กว่านี้  

ในอนาคตเรามีโปรเจกต์หนึ่งที่อยากทำ ชื่อ ‘ห้องเรียนตั้งไข่’ เราอยากชวนเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาเริ่มตั้งไข่ด้วยกันเพื่อเตรียมพร้อมจะออกไปสู่สังคม มากกว่านั้นคือเราอยากเป็นพื้นที่ที่ให้พ่อแม่มาปรึกษากับนักจิตวิทยาเด็กได้ นี่คือความตั้งใจของเรา

นอกจากพื้นที่นี้ แม่หน่อยมีเพจเฟซบุ๊ก ‘มีลูกเป็นครู’ ด้วย ความตั้งใจในการทำเพจนี้คืออะไร

อยากแชร์พลังงานบวกให้กับพ่อแม่ ส่วนการให้คำปรึกษานี่มีเข้ามาโดยปริยาย ส่วนใหญ่พ่อแม่จะมาปรึกษาเรื่องการรักษา ซึ่งสุดท้ายเราก็บอกแค่ว่าถ้าเป็นเรื่องของการรักษา พ่อแม่ต้องตัดสินเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องวิธีการอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็บอกว่าพ่อแม่ก็ต้องอยู่กับมัน เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดีเสมอ

ถ้าการมีเพจและพื้นที่แบบ Barefoot Garden ทำให้ผู้ปกครองเด็กพิเศษหลายคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในฐานะผู้ก่อตั้ง แม่หน่อยคิดว่าการรู้สึกไม่โดดเดี่ยวสำคัญกับคนเป็นพ่อแม่อย่างไร

สำคัญนะ ถ้าย้อนไป 8 ปีที่แล้ว การที่เด็กจะเป็นโรคแบบตโจนี่ยากมาก งานวิจัยต่างๆ ก็มาจากเมืองนอก พอเราทำความรู้และข้อมูลตรงนี้ขึ้นมาให้คนอื่น ทำให้พวกเขารู้ว่าการรักษาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด 

การมีเพจ ‘มีลูกเป็นครู’ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมาก เวลามีคนมาปรึกษา เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อน ดีใจที่ได้แชร์ประสบการณ์ให้เขา  ได้ส่งต่อพลังบวกไปสู่ครอบครัวที่เขาอาจกำลังมีปัญหา บางครอบครัวเป็นครอบครัวที่อยากปรึกษาคนที่ไม่รู้จักกันเพราะไม่อยากถูกตัดสิน

เคยมีคนเดินมาขอบคุณไหม

มี (เน้นเสียง) ตลกมาก คือทุกครั้งที่เจอพ่อแม่ที่มีลูกซึ่งมีความต้องการพิเศษ พวกเขาจะร้องไห้ก่อน เขาบอกตามเรื่องตโจมานานมาก ดีใจมากเลยที่ได้เจอน้อง บางคนไม่ได้มีลูกแต่เข้ามาทักว่า สิ่งที่เราเขียนไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับคนมีลูกเสมอไป เพราะสิ่งที่เราถ่ายทอดไปบนเพจมันคือการ ‘เจอ’ กับชีวิตจริง 

ถ้าต้องให้คำแนะนำกับพ่อแม่ของเด็กพิเศษได้ 1 ข้อ คุณจะแนะนำว่าอะไร

รอ ให้เวลากับเขา

เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้จริงๆ เรารู้เพราะ 8 ปีที่เราอยู่ในอาชีพแม่ อยู่ในวงจรเด็กที่มีความต้องการพิเศษเกือบทุกรูปแบบ เรารู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของเด็กเหล่านี้คือการรอวันที่เขาพร้อม รอให้เวลาทำงาน รอให้ตัวพ่อแม่พร้อมเหมือนกัน แล้วทุกอย่างมันจะดีขึ้น

การรอไม่ใช่การคาดหวัง ในอนาคตอาจจะมีวันที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่อย่างน้อย เราจะบอกเสมอว่าจงดีใจไว้เถิดที่ลูกยังหายใจ อย่าไปอะไรมากเลย (เน้นเสียง) ด้วยความที่ลูกเราเป็นอย่างนี้ เราจะบอกทุกคนที่มีลูกว่าจงยินดีกับลูกเถอะ ลูกไม่อยากเรียนพิเศษก็ยินดีกับเขาเถอะ เขาก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้อยากไป หรือลูกลงไปนอนดิ้นกลางพื้น คุณก็ยินดีกับเขาเถอะเพราะเขาเป็นเด็กที่มีอารมณ์ จงยินดีกับอารมณ์ของลูกทุกอย่าง มันจะทำให้เขาเติบโตขึ้นไปโดยที่รู้ว่าเราคือพื้นที่ปลอดภัย

เมื่อเรารอเป็น พื้นที่จะปลอดภัยจะเกิด เมื่อพื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าลูกจะเติบโตหรือเดินทางไปไกลแค่ไหน เขาก็จะกลับมาหาเราในสักวัน

เมื่อเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกและคนอื่นได้ มันจะทำให้ตัวเรามีคุณค่า เมื่อเรารู้สึกมีค่า ชีวิตของเราก็จะมีความสุขไปเอง

ในฐานะผู้ก่อตั้งเพจ ‘มีลูกเป็นครู’ บทเรียนสำคัญที่แม่หน่อยได้เรียนรู้จากตโจคืออะไร

การมีชีวิตอยู่คือเรื่องที่ดีที่สุด การมีลมหายใจคือเรื่องที่ดีที่สุด การที่ยังมีวันนี้ด้วยกันคือของขวัญ

เราเสียใจแน่ๆ ถ้าวันหนึ่งตโจหายไป แต่เราไม่เสียดาย หมอเคยบอกว่าตโจจะอยู่ได้ถึง 2 ขวบ เขาก็ข้ามผ่านมาได้ พอ 2 ขวบก็ป่วยหนักอีก หมอก็บอกว่าจะอยู่ได้ถึง 8 ขวบ แต่นี่ก็เลยมาแล้ว เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คือกำไรแล้ว 

เราไม่ได้พูดด้วยเงื่อนไขที่ว่าเรามีกำลัง (ที่จะเลี้ยงลูก) ด้วยนะ เราพูดในเงื่อนไขที่ว่าเรายอมรับมันได้หรือเปล่า ต้นทุนของทุกคนที่มีได้เหมือนกันคือการยอมรับความจริง เมื่อไหร่ที่เรายอมรับความจริงได้ว่าลูกเราเกิดมาพร้อมกับเงื่อนไขอะไร เราก็จะอยู่กับความจริงได้อย่างมีความสุข


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts