“เรามีน้องสาวอายุห่างกัน 12 ปี ตอนที่เขายังเล็ก เราก็โตแล้ว ตอนนั้นได้ช่วยเลี้ยงน้องบ้าง และเคยเห็นแม่หยิบคู่มือเลี้ยงลูกเล่มใหญ่ๆ หนาๆ สองสามนิ้วมาอ่านด้วย”
คำพูดที่แสดงให้เห็นถึงภาพจำที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเลี้ยงลูกเล่มแรกๆ ในวัยเด็กของ ทราย–สุภลักษณ์ อันตนนา ที่ปัจจุบันมีอาชีพเป็นคุณแม่ลูกสองวัยประถม และมีงานอดิเรกที่จริงจังด้วยการเปิดสำนักพิมพ์ที่มีชื่อของตัวเองเป็นเหมือนลายเซ็น SandClock ไว้บนหน้าปกหนังสือ
“เราเห็นกระบวนการเลี้ยงลูกในยุคสมัยหนึ่งมา มองย้อนไปก็รู้สึกเอ๊ะ ในมื้ออาหาร ทำไมต้องมีคนคอยตามป้อนข้าว กินไปด้วย เล่นไปด้วย ดูทีวีไปด้วย ทำไมต้องประคบประหงม ปรนนิบัติลูกตลอดเวลา จะมีคำถามในใจมาตลอด เราเองก็ไม่เคยรู้ว่า ที่เมืองนอกทำแบบไหน ทำแค่ไหนถึงจะดีต่อพัฒนาการ หรือดีต่อเด็กต้องประมาณไหน” ต่อมความอยากรู้ของทรายเริ่มทำงานตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
‘กระบวนการเลี้ยงลูก’ เชื่อมโยงกับภาพคุณแม่ของเธอที่ยังชัดเจนอยู่เสมอ ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งทำงานเพื่อเด็กหญิงอีกคนหนึ่ง และอีกคนหนึ่ง ในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยความทุ่มเททั้งชีวิตให้กับลูกๆ
“ตอนเป็นเด็กอนุบาล จำได้ว่าเราเห็นแม่เป็นแม่เต็มเวลา แม่ขายของชำอยู่ที่บ้าน พอในยุคของน้องสาว คุณแม่ก็เริ่มทำธุรกิจโรงงานไสกาวเข้าเล่มหนังสือ แม่เราอยู่ๆ ก็กลายเป็น working woman เต็มตัว” ทรายพลิกนาฬิกาอะนาล็อกไปสู่จุดเริ่มต้น
ชีวิตของทรายแวดล้อมไปด้วยหนังสือ ธุรกิจโรงพิมพ์ และแนวทางการเลี้ยงลูก และในไม่ช้าต่อมความอยากรู้ของทรายก็กลับมาทำงานอีกครั้ง เมื่อเธอเห็นหนังสือที่เล่าถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกในประเทศฝรั่งเศสเล่มหนึ่งที่สนามบินตอนไปทำงานต่างประเทศ และแล้วโลกแห่งความอยากรู้ก็ได้ทำงาน นาฬิกาทรายพลิกกลับอีกหน หน้าต่างของโลกใบใหม่ก็ได้เปิดออก สายลมเย็นจากความน่าสนใจของเนื้อหาที่ให้ไว้ภายในเล่มได้ปะทะเข้าไปในหัวใจของเธออีกครั้ง
“อ่านแล้วเปิดโลก เป็นแม่แล้วดูสนุกจัง อ่านแล้วอยากมีลูก” ทรายหัวเราะแล้วบอกว่า ตอนที่อ่านเล่มนี้เธอยังไม่ได้แต่งงานด้วยซ้ำ
และเมื่อเธอเข้าไปในโลกหนังสือ และการเลี้ยงลูกอย่างจริงจัง เธอไม่ได้แค่สนใจเรื่องหนังสือ แต่ยังได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ นิทาน ความเป็นเด็ก สวัสดิการแม่ สวัสดิการเด็ก จากหลากหลายวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลก
หน้าต่างหลายบานได้เปิดออก สายลมแห่งความน่าสนใจได้ชักชวนให้ Mappa อยากรู้ และก็พร้อมที่อยากจะเล่าต่อให้คุณได้ฟัง
จากหนังสือคุณแม่ชาวฝรั่งเศส ข้ามไปพบกับหนังสือคุณแม่ชาวญี่ปุ่น และไปถึงสำนักพิมพ์ นาฬิกาทราย
“อ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกว่า เจ๋ง!” ทรายบอก พร้อมเปิดหนังสือเรื่อง Bringing up bébé ในเวอร์ชันที่แปลเป็นไทยแล้ว ซึ่งเป็นหนังสือลำดับต้นๆ ของสำนักพิมพ์ และเป็นเล่มแรกที่จุดประกายให้ทรายออกเดินทางสู่โลกหนังสือเลี้ยงลูก
“ตอนนั้นไม่เคยมีหนังสือแนวนี้ในเมืองไทยมาก่อน กับแนวคิดประมาณว่า คุณไม่ต้องทุ่มเททั้งหมดของชีวิตให้ลูก ไม่จำเป็น เพราะแต่ละคนก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง แม่ก็สมควรได้รับเวลาส่วนตัว เวลาที่ได้เป็นตัวของตัวเอง อย่างแม่ฝรั่งเศสเลี้ยงลูกแบบสวยๆ สบายๆ อ่านเล่มนี้ก็เปิดโลก ว่าไม่จำเป็นต้องฝากการเลี้ยงลูกไว้กับคนเป็นแม่อย่างเดียว คุณพ่อก็สำคัญ พอยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุก จนอยากทำ” ทรายบอกถึงหนังสือเล่มแรกที่เป็นแรงบันดาลใจในการเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง แต่ไม่ใช่เล่มแรกที่ตีพิมพ์
การขอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศใช้เวลานานพอสมควร ระหว่างนั้น จึงทำให้ทรายเจอกับหนังสือเลี้ยงลูกแบบฮาวทูสไตล์แม่ญี่ปุ่น ที่เข้าใจง่าย อ่านง่าย แล้วได้สารสาระไปครบครัน และมีขนาดที่กำลังพอเหมาะพอเจาะกับมนุษย์แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกไปด้วย
“หากแปลจากชื่อภาษาญี่ปุ่น จะมีความหมายว่า 66 ถ้อยคำที่ทำร้ายลูก ซึ่งเราก็ต้องเอามาปรับเป็น ถ้อยคำทำร้ายลูกที่คุณอาจไม่รู้ตัว โดยใช้ชื่อหนังสือว่า พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น
“ตอนที่เรายืนอ่านประมาณ 10 นาที แล้วรู้สึกว่าเล่มนี้เจ๋งมากๆ เพราะเป็นหนังสือ parenting ที่อ่านง่าย ไม่ใช่หนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือเยอะๆ พิมพ์สีดำทั้งเล่ม และที่ดีไปกว่านั้นคือ เป็นการรวมประโยคที่เราอาจเคยได้ยิน เช่น อย่าร้องไห้นะ หยุดร้องเดี๋ยวนี้ อย่าโกหกสิ เห็นไหมบอกแล้วไม่เชื่อ นี่ทำอะไรของลูก ตะโกนตะคอก แล้วทำไมไม่ดีล่ะ ก็จะมีคำอธิบายต่อ” ทรายอธิบายพร้อมกางหนังสือเล่มนี้ให้ดูเป็นตัวอย่าง
ด้านในแบ่งออกเป็นเนื้อหา มีภาพการ์ตูนพ่อแม่ลูกประกอบเล็กน้อย และมีการแบ่งช่องพักสายตาในการอ่าน พร้อมเป็นกรอบคำตอบว่า หากไม่พูดแบบนี้ แล้วควรพูดแบบไหน ไปตลอดทั้งเล่ม
“แม่ทุกคนเมื่อคลอดลูกใหม่ๆ แทบจะไม่มีเวลาว่างเป็นของตัวเอง เราจึงไม่ได้อยากทำหนังสือเล่มหนาๆ ที่แค่คิดจะเปิดอ่านก็ง่วงนอนก่อนแล้ว หนังสือเล่มเล็กแบบนี้สำคัญ มีภาพประกอบเข้าใจง่าย มีสีสันบ้าง ทำให้สนุกขึ้น ก็น่าติดตาม และยังมีความน่าสนใจในตลาดตอนนั้นด้วย” ทรายเสริม
หนังสือเล่มนี้จึงกลายมาเป็นเล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ของตัวเอง และเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ทรายกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก ส่วนลูกคนที่สองก็มาตอนที่กำลังเตรียมจะตีพิมพ์หนังสือลำดับที่ 8 ของสำนักพิมพ์ พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ (The Happiest Kids in the World) เธอบอกว่า แม้ในช่วงที่เพิ่งจะคลอด ทรายก็ยังสนุกกับการทำงานในฐานะบรรณาธิการกำลังตรวจต้นฉบับเล่มใหม่ในโรงพยาบาล ดูท่าจะแฮปปี้กับทั้งสองบทบาทที่แทบจะแยกจากกันไม่ได้ว่าบทบาทไหนยากง่ายกว่ากัน เพราะมันกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปโดยปริยาย
คุณแม่เต็มเวลา VS เจ้าของสำนักพิมพ์ มองมุมไหนก็เห็นเป็นคนเดียวกัน
อาจเป็นเพราะทรายเติบโตมาท่ามกลางหนังสือและโรงพิมพ์ ก่อนมีลูกก็ยังทำงานในโรงพิมพ์ ก่อนจะออกมาทำสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง เธอได้เห็นทุกกระบวนการจนคุ้นชิน เมื่อบวกตำแหน่งคุณแม่เข้าไป สองบทบาทนี้จึงอยู่ในจุดที่กำลังพอดิบพอดี
“เราจะเห็นภาพเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เห็นคุณแม่ทำโรงงานไสกาวเข้าเล่มตั้งแต่ ป. 2 พอโตมาเราได้มาทำงานที่โรงพิมพ์ของลูกพี่ลูกน้อง ก็ได้เห็นเส้นทางหนังสือมาโดยตลอด เห็นทุกกระบวนการพิมพ์ รู้จักผู้คนในวงการหนังสือมากขึ้น พอเริ่มทำสำนักพิมพ์ ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามสำนักพิมพ์แบบดั้งเดิม โชคดีที่เป็นยุคที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งช่วยพาให้สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เปิดใหม่ เป็นที่รู้จักในตลาดได้ไม่ยาก ตอนนั้นธุรกิจออนไลน์เริ่มจะเฟื่องฟู ระบบธุรกิจหลังบ้านต่างๆ คลังสินค้าแบบครบวงจร ธนาคารออนไลน์ ใช้แบบ outsource ทั้งหมด ช่วยเปิดโอกาสให้ได้ลองทำธุรกิจเองคนเดียวได้ ไม่ต้องมีตึกออฟฟิศ ไม่ต้องมีพนักงานประจำ การตรวจต้นฉบับ คุยกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ทุกอย่างทำได้ง่ายบนแล็ปท็อปที่บ้าน พร้อมเลี้ยงลูกไปด้วยได้ไม่ยาก ลูกหลับก็ค่อยเปิดคอมฯ ทำงานได้” ทรายบอกกับเรา
เราถามทรายว่า “ด้วยลักษณะงานบรรณาธิการอาจจะต้องใช้สมาธิมากๆ บวกกับการเป็นคุณแม่เต็มเวลา และต้องเลี้ยงลูกทั้งสองคนด้วยตัวเอง ทรายจัดการอย่างไร”
ทรายอธิบายว่า “เมื่อก่อน เรารู้ว่าเราชอบอยู่กับหนังสือ แต่ยังไม่แน่ใจว่าถนัดด้านไหนที่เกี่ยวกับหนังสือ” ก่อนมีลูกเธอลองรับงานแปล งานเขียน มาแล้ว ก็ได้ค้นพบว่าตัวเองสมาธิสั้น และทำงานด้านนี้ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
“แต่เราชอบงานบริหารจัดการ ชอบเดินร้านหนังสือ ห้องสมุด ชอบคัดเลือกหนังสือภาษาต่างๆ ที่จะเอามาตีพิมพ์ด้วยตัวเอง ชอบคิดชอบเดาใจแม่ๆ ว่า จะถูกใจเล่มที่เราเลือกไหมนะ เล่มนี้เปิดโลกดี น่าทำนะ น่าจะไปได้ดี หากไม่ดีเราก็รับผิดชอบเอง เรารู้ว่าใครเก่งสายงานไหน ก็ส่งงานไป ไม่ว่าจะเป็นนักแปล บรรณาธิการ คนออกแบบรูปเล่ม และปก รวมถึงโรงพิมพ์ เรามีช่างพิมพ์ที่รู้ใจ มีคนดูแทนหน้างาน ไม่ต้องลงไปทำเองทั้งหมด ส่วนกระบวนการพิมพ์ก็ง่ายหน่อย เรามีแบ็กกราวนด์เรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็จะเป็น Learning Curve ที่ค่อยๆ เรียนรู้ เพราะเราไม่เคยทำงานกองบรรณาธิการ แต่โชคดีที่รู้จักและได้ร่วมงานกับคนดีๆ บรรณาธิการเก่งๆ มากมาย”
ส่วนเรื่องการเลี้ยงลูก ทรายเล่าว่า ได้หยิบจากเล่มนั้นมานิด เล่มนี้มาหน่อย และสุดท้ายคนที่รู้เรื่องดีที่สุดคือ ‘แม่’
“เราทำตามหนังสือเลี้ยงลูกทั้งหมดคงไม่ไหว เพราะแม่แต่ละคนต่างกัน หนังสือบางเล่มก็เป็นแนวเรา เรานำมาเป็นไกด์ไลน์ได้ น่าจะนำไปประยุกต์ได้ หรือลองทำไปสักหน่อยแล้วรอดูผล หนังสือเหล่านี้ก็ผ่านการเขียนโดยคุณหมอ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว เราเองเลี้ยงลูกมาสองคน ยังคนละแบบเลย แม้จะใช้หนังสือเลี้ยงลูกเล่มเดียวกัน ลูกก็ยังต่างกัน”
เอาบางอย่างที่เราทำได้ และลูกรับได้ด้วย? เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“แล้วมันเวิร์ก (หัวเราะ) อาจจะคนละสไตล์ แต่แม่ก็อ่านเผื่อไว้ได้” ทรายตอบ
แล้วเหนื่อยไหม? เราถามเพราะรู้สึกว่าสองตำแหน่งนี้มีความยากซ่อนอยู่ไม่น้อย
เธอยิ้มแล้วตอบว่า “ทุกวันนี้เราเลี้ยงลูกเป็นหลัก สำนักพิมพ์เป็นงานอดิเรก แต่เรามีความสุข สนุก แค่นี้จริงๆ เราได้ทำในสิ่งที่ชอบ เราชอบหนังสือเด็ก ได้ทำในสิ่งที่ใกล้กับลูกเรา บางทีหนังสือเพิ่งมาจากต่างประเทศ ลูกก็รีบมามุงดูแล้ว มันเอนจอยกับช่วงเวลานั้น มันเป็นความบังเอิญในจังหวะที่เราทำงานได้ ดูแลลูกได้ ลูกสนุกกับงานของแม่ได้ด้วย
“อีกทางก็คือ เราช่วยส่งเสียงบางอย่างออกไปในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของแม่ การทำห้องสมุดดีๆ ให้เด็กๆ หรือมีสนามเด็กเล่นให้มากขึ้น”
หน้าต่างบานใหญ่ ที่ทำให้มองเห็นความสำคัญของโลกหนังสือที่ให้เด็กๆ มากกว่าหนังสือ
ระหว่างการทำหนังสือเลี้ยงลูก เมื่อลูกๆ เริ่มโตเข้าวัยประถม ทรายได้ออกเดินทางไปงานหนังสือ ไปเจอสำนักพิมพ์หลายประเทศ ไปค้นหานิทานเด็กดีๆ จากงาน Bologna Children’s Book Fair ที่อิตาลี งาน Frankfurt Book Fair ที่เยอรมนี และการได้มีเพื่อนชาวต่างชาติที่อยู่ในหลายๆ ประเทศแชร์ข้อมูลมาให้เธออัปเดต ทำให้เธอมองเห็นบางอย่างที่มากกว่าแค่การมีหนังสือหรือนิทานให้เด็กๆ ได้อ่าน ได้ฟัง แต่เธอมองลึกลงไปจนเห็นคำว่า ‘สวัสดิการแม่ เพื่อคุณภาพชีวิตของลูก’ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของหนังสือด้วย
“อย่างหนังสือแม่ฝรั่งเศส เยอรมัน ฝั่งสแกนดิเนเวีย เป็นเรื่องเล่าที่สนุก และทำให้เรารู้สึกว่า เจ๋งนะ ฝั่งยุโรปมีสวัสดิการสำหรับคนเป็นแม่ ดีจัง มีวันลาคลอดทั้งฝั่งพ่อและแม่ อย่างเรื่องวันลา ลาสองปีโดยรับเงินเดือนน้อยลงหรือ without pay ก็ได้ และเมื่อครบกำหนดก็กลับมาทำงานเหมือนเดิม สิ่งที่ได้จากสวัสดิการเหล่านั้นคือการที่แม่ได้ดูแลลูกตั้งแต่แรกเกิดด้วยตัวเอง ความรักความอบอุ่น กลิ่น เสียง สัมผัสของแม่คือสิ่งพิเศษที่สุดแล้ว แต่ที่ดีมากไปกว่านั้นคือ เขาก็มีระบบรับเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ดี สถานเลี้ยงดูเด็กมีมาตรฐาน คนดูแลเด็กที่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี ใส่ใจเรื่องโภชนาการของเด็กๆ รู้สึกว่าเปิดโลกดี”
ทรายอธิบายต่อว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับเด็กมาก สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะมีมากมาย ห้องสมุดมีอยู่แทบทุกถนน เด็กๆ เข้าไปอ่านหนังสือได้ทั้งวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ห้องสมุดก็มีบรรณารักษ์ที่มีประสบการณ์สูง และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ
“มีสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน ห่างจากบ้านแบบไปวิ่งเล่นได้เลย ถึงเวลาก็ให้ลูกกลับมาเองได้ และสิ่งที่เราเห็นชัดๆ เลยคือ มีห้องน้ำและห้องให้นมลูก ใกล้ๆ กันเลย เด็กๆ ไม่ต้องวิ่งหา
“เมื่อมีหนังสือเด็กดีๆ สนุกๆ เป็นกองๆ เด็กๆ ก็จะพุ่งเข้าหา เราก็ไม่ต้องเอาแต่บ่นว่าเด็กสมัยนี้ไม่อ่านหนังสือ ดูแต่ไอแพด เราคิดว่าหากมีห้องสมุดดีๆ มีหนังสือเด็กดีๆ ที่เปิดจินตนาการให้เด็กไทยเยอะๆ คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยก็จะดีขึ้นไปอีกแน่นอน” ทรายแสดงความคิดเห็น
เราขอให้ทรายยกตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจ เธอตอบว่าประเทศญี่ปุ่น
“อย่างที่ญี่ปุ่นมีห้องสมุดขนาดใหญ่ บรรณารักษ์ใจดี มีกิจกรรมหลากหลาย เราเคยเห็นว่า จะมีคุณแม่ขี่จักรยานพาลูกมาอ่าน มายืมหนังสือบ่อยๆ เรามองว่านี่คือความเรียบง่ายที่เข้าถึงได้ เราคิดว่าห้องสมุดสำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องตกแต่งอย่างอลังการ ขอเพียงทำจากวัสดุที่ปลอดภัย โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ความสูงของชั้น เหมาะกับร่างกายของเด็กๆ มีหนังสือใหม่ๆ จากทุกมุมโลกเข้ามาเรื่อยๆ วงการหนังสือเด็กที่ญี่ปุ่นเติบโตและแข็งแรงมาก นักเขียนนักวาดภาพได้รับการยกย่องและรายได้ดี มีนิตยสารที่สนับสนุนวงการหนังสือนิทาน หรือสนับสนุนสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน สำนักพิมพ์ทำงานดีๆ มีคุณภาพออกมา สิ่งเหล่านี้ทำให้ส่งลิขสิทธิ์หนังสือไปขายในต่างประเทศได้ไม่ยาก ทุกคนในวงการอยู่ได้และไปต่อได้”
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ทรายยังบอกว่า ที่จริง หลายๆ ประเทศก็น่าสนใจ ทั้งในเชิงสวัสดิการ การมีสนามเด็กเล่น และหนังสือสำหรับเด็ก
“เรามีเพื่อนหลายประเทศ อย่างอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน เกาหลี เคยเห็นรูปห้องสมุด พื้นที่สำหรับเด็กที่เขาส่งมา เด็กๆ จะยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านได้เยอะมากๆ อย่างที่อเมริกา มีห้องสมุดเด็กแห่งหนึ่ง เด็กๆ ยืมหนังสือได้ถึงครั้งละ 75 เล่ม ยืมได้นาน 14 วัน ถ้าไม่มีคนอื่นมาต่อคิว ก็ยืมต่อได้อีกสองรอบ แปลว่ายืมได้สูงสุด 42 วัน
นอกจากนี้หนังสือเด็กในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญเรื่องรูปเล่มของหนังสือมาก ลองสังเกตว่าหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นปกแข็ง เล่มใหญ่ เปิดได้สุด ตัวหนังสือตัวโต อ่านง่าย เด็กๆ มักจะเปิดกางหนังสือกันอย่างเต็มที่ ภาพชัด ภาพต่อระหว่างหน้าก็ต้องเป๊ะ ดังนั้นหนังสือก็ควรเปิดได้สุดซ้ายขวา ส่วนหนังสือที่เย็บมุงหลังคาจะมีลวด ซึ่งจะไม่ใช้เพราะอาจเกิดอันตราย
“อย่างนิทานปกแข็งก็จำเป็นต่อเด็ก เย็บเล่มดีๆ ภาพสวยๆ กระดาษหนาๆ มันจะทำให้เขารักหนังสือมากขึ้นด้วย เพราะเป็นโลกของจินตนาการ ความสนุกตื่นเต้นเมื่อเปิดอ่านของเขา ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการหยิบจับมันดี ไม่ใช่แค่พิมพ์สวยแล้วจบ เนื้อหาข้างในเองก็ต้องเปิดจินตนาการได้” ทรายยืนยัน
หนังสือให้อิสระ เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง มีคุณค่า และปลูกฝังให้คนเติบโต
จากตำราเลี้ยงลูกเล่มหนาที่คุณแม่ของทรายเคยอ่าน สู่ตำราเลี้ยงลูกเล่มใหญ่ที่มีความหนาลดลงแต่อ่านเพลิน อ่านง่ายขึ้น ในเวอร์ชันที่ทรายได้หยิบมาทำ หนังสือเหล่านั้นทำให้เห็นว่า ตำรายังคงเป็นเสมือนผู้ช่วยที่คอยไกด์ไลน์ให้แม่ แต่ในขณะเดียวกันคู่มือก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย
การเปลี่ยนแปลงของตำราเลี้ยงลูก ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทรายบอกว่า “เมื่อมีลูกทำให้ฉันเติบโตได้มากขึ้น” ก่อนมีลูกเรารู้สึกกับตัวเองแบบหนึ่ง พอมีลูกแล้วก็ได้รู้สึกถึงชีวิตในอีกแง่มุม เป็นแบบที่ได้กลับมารีเซตตัวเองครั้งใหญ่ ได้เริ่มทำความเข้าใจมนุษย์จิ๋ว เห็นความเปลี่ยนแปลงจากวัยที่แบเบาะ พูดไม่ได้ สู่วัยที่พี่น้องตัวจิ๋วเริ่มจะทะเลาะกันมากขึ้น ได้เห็นอารมณ์ของตัวเองเมื่ออยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบ ทุกวันคือความแปลกใหม่ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง บางช่วงความสัมพันธ์กับลูกก็ไม่สู้ดีนัก เพราะแม่งานยุ่งมากเกิน ก็มีจังหวะที่ต้องหยุด และกลับมาสะท้อนอารมณ์ หาเวลาอยู่กับลูกแบบออฟไลน์มากขึ้น อ่านหนังสือด้วยกัน เล่นบอร์ดเกมด้วยกันในครอบครัวให้บ่อยขึ้น เมื่อเราคุยกับลูก เล่นกับลูกเยอะขึ้น การปรับความเข้าใจก็ง่ายขึ้นตามไปด้วยอย่างไม่น่าเชื่อ
เช่นเดียวกับการคาดหวัง ที่เราถามไปว่า อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นนักอ่านไหม? ทรายตอบกลับมาว่า “ไม่คาดหวังเลย”
และเสริมว่า “ตอนที่อยู่ ป. 2 แม่เพิ่งเปิดโรงงานไสกาวใหม่ๆ เป็นยุคที่มีหนังสือวรรณกรรมเยาวชนแปลมากมายถูกตีพิมพ์สู่ท้องตลาด เราได้เข้าวงการหนังสือ ไม่ใช่เพราะจากโรงเรียน ไม่ใช่เพราะจากพ่อแม่ยื่นให้หรือสั่งให้อ่าน แต่เพราะธุรกิจของที่บ้านที่เป็นโรงงานไสกาว มีหนังสือเพิ่งผลิตเสร็จใหม่ๆ วางอยู่เต็มโต๊ะทำงานพ่อแม่ เบื่อๆ ก็เดินเข้าไปหยิบมาเปิดดู จากแรกๆ ที่ใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านจบทีละหน้า ไม่นานก็อ่านได้เร็วขึ้น ผ่านตาไปนับสิบนับร้อยเล่ม จากหนังสือเด็กไปสู่นวนิยายเมื่อเข้าวัยมัธยม คิดว่าที่ตอนนั้นเราชอบหนังสือมากๆ ชอบอ่านเยอะๆ เป็นเพราะความรู้สึกสบายๆ เป็นอิสระ ได้เลือกหยิบหนังสือเอง ไม่มีใครมาบังคับ
“เรามองว่า อย่าไปเครียดว่า ลูกฉันต้องเป็น “นักอ่าน” ไม่ต้องไปคาดหวังกับลูกมากเกินไป มันจะเป็นความกดดัน เพิ่มความเครียดโดยไม่จำเป็น แค่ปล่อยให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่มีหน้าที่หาสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการอ่าน อยู่บ้านอ่านหนังสือให้ลูกเห็น พาเข้าห้องสมุด เดินร้านหนังสือบ้าง อ่านหนังสือเยอะๆ ไปกับเขา ทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขา ถ้าพ่อแม่ติดดูหน้าจอ ดูมือถือตลอดเวลา มันก็ยากที่ลูกจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ
“อย่างตอนนี้เป็นจังหวะที่เราเห็นผลลัพธ์ ลูกคนโตอยู่ ป. 3 หันมาอีกทีคือจมไปกับหนังสือแล้ว อ่านไม่หยุด เขาเรียนในระบบที่ไม่เน้นเขียนอ่านในวัยอนุบาล จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยจะมีการบ้าน เราก็เห็นว่าเขามีไฟอยากอ่านอยากเรียนรู้จากข้างใน ลูกคนเล็กก็เช่นกัน เขาชอบฝึกสะกดคำจากป้ายข้างทาง จากเมนูร้านอาหาร มีไฟอยากดูอยากอ่านจากตัวเขาเอง ไม่ใช่จากที่เราไปสั่งให้เขาทำ ก่อนนอนก็ชวนลูกอ่านบ้าง ลูกไม่อ่านก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปบังคับเขา แต่ให้อิสระกับเขา”
ด้วยความสงสัย เราถามว่า “ถ้าไม่มีหนังสือให้อ่าน เด็กๆ ไม่มีนิทานภาพให้ดู จะเกิดอะไรขึ้น”
ทรายครุ่นคิดสักพัก ก่อนตอบว่า เรื่องแรกคงเป็นพัฒนาการทางภาษาที่อาจจะช้า ความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่ชัด การเปิดโลกจินตนาการคงไม่บรรเจิด ไหนจะเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่อีก แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทรายบอกว่า
“หนังสือภาพหลายเล่มเป็นการสะกิดกระตุ้นให้เด็กคิดออก เปิดประตูประสบการณ์สู่โลกภายนอก ถ้าเป็นฉัน ฉันจะทำอย่างไร รวมถึงสะกิดผู้ใหญ่ที่นั่งอ่านกับเด็กได้ด้วย บางเรื่องทำให้เราฉุกคิดอะไรได้หลายอย่างเลย เช่น ความโกรธ ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องความตาย”
เราต่างรู้ว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นเครื่องมือ เป็นผู้ช่วย เป็นกิจกรรมของครอบครัว หรือเป็นอะไรก็ได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร หนังสือนิทานเด็กก็จะช่วยกระชับสายสัมพันธ์ ทำให้พ่อแม่ลูกผูกพันกันมากขึ้น ผลพวงคือคลังคำ
และเรื่องสายสัมพันธ์นั้นมีค่าและมีตลอดไป ทรายยิ้มน้อยๆ แล้วบอกกับเราว่า
“ทุกวันนี้ต่อให้ลูกคนโตอ่านหนังสือเองได้คล่องแล้ว หากเราถามว่ามาอ่านเล่มนี้ด้วยกันไหม เขาก็จะพยักหน้า ต่อให้เขาอ่านเองได้แล้วก็ยังต้องการอยู่ใกล้ๆ แม่ นั่งพิงไหล่แม่ อ่านด้วยกัน อย่างบางเล่มเขายังไม่อยากอ่านตอนนี้ แต่พอแม่อ่านก็ค่อยๆ อยากมาอ่านด้วย ก็เป็นเรื่องราวดีๆ ระหว่างแม่ลูก เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มองว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังยังคงเป็นเรื่องใหญ่เสมอ”