การปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้เด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็ก เปรียบเสมือนการมอบกุญแจสู่ความมั่นคงทางการเงินในอนาคต เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการออม การลงทุน และบริหารการเงินส่วนบุคคล จะช่วยให้พวกเขามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการตัดสินใจทางการเงินในชีวิตจริง
Sea (Thailand) จึงได้สร้างสรรค์ ‘Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน’ บอร์ดเกมที่จะพาเด็กๆ ไปผจญภัยในโลกของการเงิน พร้อมเรียนรู้ทักษะการบริหารเงินแบบเข้าใจง่าย ผ่านเกมที่สนุกสนานและท้าทาย
วันนี้ Mappa จึงชวน นก-มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO แห่ง Sea (Thailand) มาเล่าถึงที่มาที่ไปของการทำบอร์ดเกมการเงิน ‘Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน’ กับความตั้งใจที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังแรงบันดาลใจในการสร้างบอร์ดเกมการเงินครั้งนี้ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินของคนไทย
แท้จริงแล้วปัญหาทางการเงินของคนไทยเกิดจากอะไร
ปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินจากการกู้ยืม การออม หรือการลงทุน หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาก็คือ การขาดความรู้ทางการเงิน
ประเด็นปัญหาทางการเงินที่หลาย ๆ หน่วยงานให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องหนี้ของคนไทย เนื่องจากการกู้ยืมส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ แต่เป็นการกู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ในประเทศไทยมีการกู้ที่ไม่สร้างรายได้สูงถึง 67% และ 1 ใน 5 ของผู้ที่เป็นหนี้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย
อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
“ที่ผ่านมา Sea (Thailand) ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Garena, Shopee และ SeaMoney และเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง เราเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม และปัญหาทางการเงินของผู้ใช้งานใน Ecosystem ของเรา โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ไม่ลงตัว เพราะฉะนั้น นอกจากการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานแล้ว เรายังพยายามที่จะให้ความรู้ทางการเงินกับผู้ใช้งานด้วย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางการเงินที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย แม้ว่าการเงินจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่การป้องกันปัญหาทางการเงินที่ดีที่สุดคือ การสอนให้เยาวชนมีความรู้และพฤติกรรมทางการเงินที่ดีตั้งแต่เด็ก โดยการฝึกออมก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
แม้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จะจัดอันดับทักษะทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับ 60-70% แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ความรู้ด้านการลงทุน การกระจายความเสี่ยง และการคำนวณอัตราดอกเบี้ยยังค่อนข้างต่ำ ทำให้คนจำนวนมากต้องพึ่งพาการกู้ยืม ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสียและความไม่มั่นคงทางการเงิน คุณนกกล่าวเสริม
นอกจากนี้ ในบ้านเรายังไม่มีวิชาห้องเรียนทางการเงินอย่างเป็นทางการ ทำให้เด็กขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน การมีเป้าหมายทางการเงิน และการลงทุนที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การมีปัญหาทางการเงินซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้ หัวใจสำคัญคือ เราจะนำความรู้ทางการเงินมาไว้ในห้องเรียนได้อย่างไร Sea (Thailand) จึงได้พัฒนาบอร์ดเกมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงิน การวางแผน การออม และการลงทุน สร้างพฤติกรรมและภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี เพราะทักษะเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อชีวิตในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
หลายคนรู้จัก Sea (Thailand) ในมุมของบริษัทดิจิทัล ทำไมจึงเลือกใช้บอร์ดเกมสอนเรื่องการเงิน
หลายคนตั้งคำถามว่าทำไม Sea (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการดิจิทัล จึงเลือกให้ความรู้การเงินผ่านบอร์ดเกม คำตอบคือบอร์ดเกมสามารถเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มที่สนใจเรื่องการเงินเข้าถึงความรู้ทางการเงินได้แม้ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัล นอกจากนี้ การเล่นบอร์ดเกมยังถือเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ผู้เล่นจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หากเป็นพ่อแม่หรือคุณครูที่ต้องการจะสอนเด็กๆ เรื่องการเงิน ก็สามารถใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือในการเปิดประเด็นพูดคุยและค่อยๆ อธิบายระหว่างที่เล่นเกมไปด้วยกันได้
อีกทั้งการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมเป็นวิธีที่สนุกและน่าสนใจ ทำให้เด็กๆ อยากเรียนรู้และจดจำได้ดีกว่าการเรียนจากหนังสือหรือบรรยาย ขณะเดียวกันการใช้บอร์ดเกมยังช่วยให้การเรียนรู้ไม่เครียดเกินไป และเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกการวางแผน ตัดสินใจในสถานการณ์จำลอง โดยพวกเขาจะเห็นภาพจริงของการบริหารเงิน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ทำให้การเรียนรู้สนุกและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นกมองว่าบอร์ดเกม Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน เปรียบเสมือนการจำลองสถานการณ์การจัดการเงินในหลายรูปแบบ ที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกการวางแผนการเงินอย่างมีเป้าหมาย ฝึกการออม ฝึกการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ส่วนทักษะอื่นๆ ที่เป็นผลพลอยได้ก็จะมีทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม ผ่านการเล่นกับเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง
อะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญในการพัฒนาบอร์ดเกม
บอร์ดเกม ‘Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน’ พัฒนาขึ้นโดย Sea (Thailand) ร่วมกับ Wizards of Learning ซึ่งเป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบอร์ดเกม, สถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ และคุณหนุ่ม จาก Money Coach กูรูด้านการเงิน ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการออกแบบให้เนื้อหาถูกต้อง น่าสนใจ และสนุก
โจทย์แรกของการทำบอร์ดเกมในเวอร์ชันแรกคือ อยากให้เด็กได้ความรู้พื้นฐานที่สามารถครอบคลุมคอนเซปต์ด้านการเงินส่วนบุคคลที่เข้าใจง่าย จึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อหาข้อมูลว่าจริงๆ แล้วเด็กมัธยมต้นหรือผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรมีความรู้ด้านการเงินในมิติใดบ้าง เช่น เรื่องการออม การบริหารเงิน และการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เราเชื่อว่า พ่อแม่หรือครูจะสอนเรื่องการออมเงินอยู่แล้ว แต่สำหรับเด็กในวัยนั้นอาจยังไม่เข้าใจเรื่องเงินฉุกเฉินหรือเงินออมสำหรับเกษียณ เราจึงปรับจากการออมระยะยาวเป็นการออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นที่พวกเขาต้องการ เช่น การเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ต เที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อของที่อยากได้ช่วงปิดเทอม การกำหนดเป้าหมายเหล่านี้ช่วยให้เด็กสนุกกับการเล่นเกมมากขึ้น
และในเวอร์ชันที่ 2 จะตอบโจทย์เด็กที่โตขึ้นหรืออยู่ในวัยมหาวิทยาลัย พร้อมปรับวิธีการเล่นให้สามารถเล่นได้ใน 2 ระดับความยาก คือ ผู้เล่นเริ่มต้น (beginner) และ ผู้เล่นมืออาชีพ(pro-player) เพื่อให้ผู้เล่นสัมผัสประสบการณ์การจัดการเงินในหลายรูปแบบ และใช้เวลาเล่นน้อยลง จากเดิมที่ใช้เวลา 45 นาทีต่อ 1 เกม เหลือเพียง 30 นาที ซึ่งเหมาะกับการใช้ในห้องเรียนใน 1 คาบ
“บอร์ดเกมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราเชื่อว่าเหมาะกับเด็กและเยาวชนในยุคนี้ เนื่องจากทำให้การเรียนรู้เรื่องการเงินเป็นเรื่องสนุกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาและนำเสนอสื่ออื่นๆ ที่สามารถสื่อสารความรู้ทางการเงินในรูปแบบที่น่าสนใจและสนุกยิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน”
ปัจจุบันบอร์ดเกม ‘Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน’ ได้กระจายไปสู่โรงเรียน 120 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์การเรียนรู้ TK Park ทุกสาขา นอกจากนี้ Sea (Thailand) ยังได้เผยแพร่บอร์ดเกมดังกล่าวในฉบับ Print & Play ผ่านเว็บไซต์ Sea Academy เพื่อเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ ไปใช้เล่นกันได้เอง ตอนนี้มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1,000 ครั้ง
การใช้บอร์ดเกมกับเด็กในห้องเรียนและในครอบครัวต่างกันอย่างไร?
นกมองว่า บทบาทของผู้นำในการเล่นเกม (moderator) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เกมสนุกและเป็นประโยชน์กับผู้เล่น ซึ่งในกรณีที่เด็กเล่นบอร์ดเกมที่บ้าน อาจมีผู้ใหญ่คอยแนะนำ แต่ถ้าเล่นในโรงเรียน คุณครูจะเป็นผู้นำที่สำคัญในการจัดการและดูแลการเรียนรู้จากเกม นี่เป็นเหตุผลที่เราทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร นำบอร์ดเกมเข้ามาในโครงการ ‘ห้องเรียนการเงิน’ เพื่อให้ครูในสังกัดสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น Wizards of Learning และ Inskru มาร่วมพัฒนาเนื้อหาและเทคนิคการใช้บอร์ดเกมในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูรู้วิธีการเล่นอย่างสนุก และสามารถถอดบทเรียนจากเกมเพื่อสอนเด็กๆ ได้ โดยเนื้อหานี้ออกแบบมาเพื่อครูที่ต้องจัดการกับเด็กหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน ทำให้การสอนผ่านบอร์ดเกมเป็นทั้งเรื่องสนุก ทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่มีระบบและเป้าหมายชัดเจน
เนื้อหาที่เราพัฒนาร่วมกับพันธมิตรเหล่านี้ จะช่วยให้คุณครูมีแนวทางในการดึงบทเรียนจากเกมอย่างเป็นขั้นตอน เช่น การวางแผน การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การใช้บอร์ดเกมในห้องเรียนเกิดประโยชน์สูงสุด
เห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้ Sea (Thailand) เพิ่งจัดการแข่งขันบอร์ดเกมเป็นครั้งแรก ผลตอบรับเป็นอย่างไร
จากที่กล่าวไปข้างต้น เราต้องการให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ด้านการเงินให้ได้มากที่สุด จึงได้จัดการแข่งขัน Wishlist Thailand Tournament 2024 เป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 คน ทั้งตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนทั่วประเทศ และบุคคลทั่วไปที่เป็นตัวแทนจากศูนย์การเรียนรู้ TK Park รวมถึงร้านบอร์ดเกมต่างๆ
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เราต้องการส่งเสริมความรู้และทักษะการบริหารจัดการเงินให้กับเยาวชนและประชาชนผ่านการเล่นบอร์ดเกม Wishlist ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สนุกสนานและสร้างสรรค์ เป็นเวทีสำคัญในการพัฒนาความรู้ทางการเงินผ่านการเล่นและสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า และตั้งใจว่าจะจัดการแข่งขันในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ คุณนกยังเล่าถึงบรรยากาศภายในงานให้เราฟังว่า ผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เป็นเด็กมัธยม สามารถแข่งขันกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าได้ และผลการแข่งขันครั้งนี้ ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยม ซึ่งเป็นตัวแทนจาก TK Park กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชนะของรุ่นบุคคลทั่วไป
ครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่มักไม่พูดคุยเรื่องการเงินร่วมกัน คุณมีวิธีสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร
ต้องบอกว่า นอกจากบทบาทผู้บริหาร Sea (Thailand) แล้ว คุณนกยังเป็นคุณแม่ของลูกวัย 4 ขวบ การสื่อสารและให้ความรู้เรื่องเงินก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เหล่าผู้ปกครองทุกคนต้องเจอ เนื่องจากครอบครัวคนไทยบางครอบครัวอาจไม่พูดคุยเรื่องการเงินเท่าไรนัก
คุณนกเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการเงินสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็ก แต่เป็นการสอนแบบง่ายๆ เช่น สอนออมเงินโดยการให้หยอดกระปุก หรือทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแลกกับเงินค่าขนม เพราะเด็กในวัยนี้ย่อมมีของที่อยากได้ ทั้งของเล่นหรือหนังสือ วิธีนี้ทำให้เด็กเข้าใจว่าเงินไม่ได้มาง่ายๆ แต่ต้องแลกมาด้วยความพยายาม และเรียนรู้ที่จะรอคอยสิ่งที่ต้องการ
ทำไมพ่อแม่ต้องฝึกวินัยทางการเงินให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ
ถ้าเราสอนให้เด็กรู้จักบริหารเงินตั้งแต่ยังเล็ก จะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้เขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและสามารถดูแลตัวเองได้ การมีวินัยทางการเงินไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่ยังเป็นการฝึกให้เด็กมีวินัยในเรื่องอื่นด้วย แม้การสอนเรื่องการเงินสามารถทำตอนโตได้ แต่เรามองว่าถ้าเริ่มสอนตั้งแต่เด็กจะดีกว่า เพราะเด็กเปรียบเสมือนกระดาษขาวที่เราควรใส่ความรู้ที่ถูกต้องเข้าไป สร้างพฤติกรรมการใช้เงินที่ดีเพื่อให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยทางการเงินและสามารถวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม
หากถามว่า เด็กในวัยนี้จะเข้าใจเรื่องการเงินมากน้อยแค่ไหน คงตอบได้ยาก แต่การให้แนวคิดขั้นพื้นฐานไปในเวลานี้จะช่วยให้ลูกมีวินัยทางการเงินตั้งแต่เด็ก ในกรณีที่โตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่อาจขยับมาเป็นการให้เงินรายสัปดาห์เพื่อให้เด็กได้บริหารจัดการการเงินด้วยตัวเอง หรือพูดคุยถึงสถานการณ์การเงินในครอบครัว เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีความรับผิดชอบและเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินในระยะยาว
“สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ การสื่อสารกับลูกอย่างเปิดใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเด็กยุคนี้มีความคิดเห็นที่เป็นของตัวเอง และต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและมีความสุข”
ทำงานก็ว่าเหนื่อยแล้ว การดีลกับลูกในเรื่องการเงินเป็นอย่างไรบ้าง “เหนื่อยกว่าทำงานอีก” คุณนกหัวเราะพร้อมอธิบายว่า การคุยกับลูกใช้วิธีการสื่อสารคนละรูปแบบกับที่ทำงาน เพราะทุกคนจะรู้ว่า ต้องทำอะไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร แต่กับลูกเราต้องเป็นผู้ให้ เพราะเขาอาจยังไม่มีอะไรที่จะสอนเราได้ เราจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้สอน ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเด็กในวัยนี้ต้องการให้ผู้ใหญ่รับฟังและมีความเป็นตัวของตัวเองสูงของตัวเอง แล้วเราจะแทรกสิ่งที่ต้องการสอนไปพร้อมกับสิ่งที่พวกเขากำลังสนใจได้ ถือเป็นทักษะอีกแบบหนึ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ต้องปรับตัว
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อาจใช้เวลาอยู่กับหน้าจอในแต่ละวันมากกว่าที่คิด แต่เราคิดว่าชีวิตยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ทุกคนพัฒนาทักษะที่หลากหลายได้ ไม่ใช่แค่ความรู้จากโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว
“เราเชื่อว่าเด็กๆ สนุกกับการเล่นเกมอยู่แล้ว แต่ถ้าการเล่นนั้นช่วยเสริมทักษะที่สำคัญให้กับเด็กด้วยก็เป็นเรื่องดี โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน การสร้างปฏิสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
“เราอยากเห็นเด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็งและมีความสุข มีความรู้เท่าทัน มีทักษะที่เหมาะกับยุคสมัย และดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ บอร์ดเกม Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน เป็นหนึ่งในความพยายามของเราที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจุดเริ่มต้นที่ดีในการเติบโตสำหรับเด็กๆ และเยาวชนทุกคน” คุณนก กล่าวทิ้งท้าย