Hello, everyone!
สวัสดีค่า พี่น้องป้องปาย
เสียงทักทายแรกในคลิปวิดีโอที่คนติดตามคลิปช่อง แก้วใส Daily Life Story มาตั้งแต่แรกจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จากนักศึกษาครูที่ทำคลิปพูดภาษาอังกฤษปนภาษาลาวภาคอีสาน เล่าเรื่องชีวิตประจำวันในหมู่บ้านทางภาคอีสาน อย่างบ้านหนองแสง อำเภอเจริญศิลป์ ตำบลทุ่งแก จังหวัดสกลนคร ด้วยวิธีเล่าที่ดูไม่เบื่อ ทั้งสนุก มีหลากหลายประเด็นในคลิปที่น่าสนใจ ทำให้ยอดรับชมและจำนวนผู้ติดตาม ไม่ว่าจะทางเฟซบุ๊กหรือติ๊กต็อกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาถึงปัจจุบัน
แต่อาจต่างออกไปหน่อยที่เรื่องราวในคลิปที่สื่อสารช่วงหลังมานี้เป็นบรรยากาศของโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งริมฝั่งโขง และเล่าเรื่องราวของเธอในบทบาท ‘คุณครู’ อาชีพที่แม้ว่าเธอเรียนสายตรงมา แต่ก็ไม่เคยคิดว่าอยากจะเป็น
เรากำลังพูดถึง แก้วใส-กชกร บัวล้ำล้ำ ครูรุ่นใหม่ที่บรรจุทำงานที่แรก ณ โรงเรียนบ้านน้ำเป จังหวัดหนองคาย หลังจากตัดสินใจลาออกจากงานผู้สื่อข่าวที่เธอบอกว่าเคยฝันใฝ่อยากจะเป็น แต่ทั้งสองอย่างก็นำพาชีวิตไปขบคิดอะไรต่ออะไรได้มากมาย
Mappa ชวนสนทนากับ ‘แก้วใส’ วิดีโอครีเอเตอร์ นักข่าวท้องถิ่น นักเรียนแลกเปลี่ยนทุน YSEALI (civic engagement) และบทบาทปัจจุบันคือคุณครูภาษาไทยที่เปิดห้องเรียนสอนภาษาอังกฤษฟรีให้กับนักเรียน เพื่อสร้างโลกใบอื่นๆ ที่เป็นไปได้ให้กับเด็กของเธอ
เธอมีวันวัยที่เติบโตมาอย่างไร และหมุดหมายของการทำงานในตอนนี้หน้าตาเป็นแบบไหน
‘แก้วใส’ โตมายังไง
เราเกิดในครอบครัวข้าราชการ แม่เป็นครู ส่วนพ่อเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ไคแต่ว่าพ่อกับแม่ได้เฮ็ดงานข้าราชการ (ดีหน่อยที่พ่อแม่เป็นข้าราชการ) ก็เลยมีคุณภาพชีวิตที่ค่อนข้างมั่นคงกว่าคนอื่นหน่อย แต่พ่อแม่เราไม่เคยมีความคาดหวังว่า ลูกจะต้องไปเข้าโรงเรียนใหญ่ เราก็เติบโตมากับการเป็นเด็กโรงเรียนในหมู่บ้านปกติ
และปกติก็ใช้ชีวิตแบบไทบ้านเหมือนคนอื่น เวลาเราถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ในคลิปของเรา มันเลยไม่ได้ตื่นตาตื่นใจสำหรับเรา เพราะมันเป็นชีวิตประจำวันของเราเอง เราเลยเล่าเรื่องเหล่านั้นได้อย่างเข้าใจ ไปนา ไปหาดกล้า ไปเล่นทุ่งนา ไปเล่นเถียง กินบักค้อ กินบักเม่า มันเป็นชีวิตที่เราไม่ได้เหนียมอายหรือรู้สึกแปลกกับการถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ เพราะพ่อแม่ก็เลี้ยงเหมือนปกติชาวบ้านทั่วไป กินปลาร้า กินข้าวเหนียว กินฮวก กินปกติ
ถ้าใครได้ติดตามช่อง ‘แก้วใส Daily Life Story’ นอกจากถ่ายทอดเรื่องในหมู่บ้านแล้ว ก็จะเห็นว่าเสียงพากย์เป็นภาษาอังกฤษสลับภาษาลาวภาคอีสาน เราเรียนรู้การพูดภาษาอังกฤษจากโรงเรียนหรือฝึกฝนเอง
จุดเปลี่ยนอย่างหนึ่ง คือ ตอนเราจบ ม. 6 ตอนนั้นเราอยู่โรงเรียนในหมู่บ้าน ปกติลูกครูลูกตำรวจมักจะถูกมองว่าต้องเรียนเก่งวิชาการ แต่เราเป็นเด็กที่ชอบวาดรูป ไม่ได้เก่งคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์อะไรเลย แล้วพ่ออยากให้เก่งภาษาอังกฤษ ตอนนั้นในหมู่บ้านถ้าพ่อแม่มีเงินหน่อยก็จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชนคาทอลิก พ่อแม่เราก็เลยกัดฟันส่งเราให้ไปเรียนโรงเรียนประจำช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) เราเป็นเด็กโรงเรียนประจำอยู่ 3 ปี อยู่โรงเรียนกินนอน ใช้ชีวิตที่ท่าแร่ เซนต์โยเซฟ ด้วยเป็นโรงเรียนคาทอลิกก็เน้นภาษาอังกฤษ นั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราชอบภาษาอังกฤษมาตั้งแต่นั้น แต่ว่าคนที่สอนอ่านภาษาอังกฤษจริงๆ ตั้งแต่เด็กคือแม่ แม่เป็นคนสอนให้รู้จัก A B C
พออยู่โรงเรียนคาทอลิกถึง ม.3 หลังจากนั้นเราก็ย้ายกลับมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนแม่
ตอนเราเรียนอยู่โรงเรียนเอกชน เรารู้เลยว่าเงินมันเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ซื้อคุณภาพการศึกษาได้ ซึ่งเราเห็นมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว
พอเรากลับมาเรียนโรงเรียนบ้านปกติ มาเรียนกับแม่ เราก็เลยรู้ว่าโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชนมันต่างกัน โรงเรียนฟรีกับโรงเรียนที่ต้องจ่ายเงินคุณภาพต่างกัน การใส่ใจก็ต่างกัน สังคมรอบตัวก็เปลี่ยนขึ้นอยู่กับเงินที่เราใช้ซื้อคุณภาพการศึกษา
แล้วเพื่อนๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านที่เคยเรียนมาด้วยกันเป็นอย่างไรบ้าง
เพื่อนในหมู่บ้านที่เรียนโรงเรียนประถมหรือว่ามัธยมมาด้วยกัน ส่วนมากเป็นแรงงานหมดแล้ว สมมติในรุ่นมีประมาณ 70 คน ได้เรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ถึง 15 คน ที่เหลือทำงานหมด เพราะว่าพวกเขามีความจำเป็นต้องหาเงินมาสร้างคุณภาพชีวิตตัวเองให้มันดีขึ้น
หลังเรียนจบมัธยม ทำไมแก้วใสตัดสินใจเรียนครู
ถ้าพูดถึงตอนที่ต้องเลือกเรียนมหาวิทยาลัย การจะเข้ามหาลัยเป็นจุดที่เจ็บปวด (pain point) ของเรามากในตอนนั้น เพราะว่าจริงๆ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราเป็นเด็กที่ชอบดูหนังมาก ตอนมัธยมปลายเราทำหนังประกวดเยอะมาก คือที่มีทักษะในการตัดต่อ แล้วก็ story telling แบบที่เห็นในคลิปมาจากตอนนั้นเลย แล้วก็ได้ทุนทำหนังไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนด้วย
แต่ตอนนั้นเราเลือกเรียนทำหนังไม่ได้ เพราะว่าด้วยสภาพสังคมที่บ้าน(ถ้ามาถามคำถามพ่อแม่ในตอนนี้เขาอาจจะตอบอีกแบบหนึ่งก็ได้) ในตอนนั้นเราโตมากับครอบครัวที่รับข้าราชการ แล้วเขาไม่เข้าใจว่า ความมั่นคงที่นอกจากชีวิตข้าราชการมันคืออะไร เขาคิดภาพไม่ออก และเขาไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะเลือกเรียนหนัง
ไม่ใช่แค่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยอย่างเดียว แต่ว่าพอเรามองสภาพสังคมจริงๆ เราก็รู้สึกว่า แล้วเราจะเป็นผู้กำกับสาวจากสกลนครเหรอ ใครจะมาดูหนังของเราที่เราเล่าเกี่ยวกับบ้านเรา เพราะด้วยความที่วงการหนังบ้านเราตอนนั้นก็ไม่ได้เปิดรับอะไรที่นอกกระแสด้วย
นอกจากนี้ก็มองทั้งในแง่อาชีพ ความเป็นไปได้ เงิน ความมั่นคง เลยได้คำตอบว่า มันยากที่เด็กบ้านนอกชนชั้นกลางจะเป็นผู้กำกับหนังหรือว่าทำงานสายภาพยนตร์ได้ ความเป็นไปได้ที่สุด เอาแบบโลกความเป็นจริง คือ รับข้าราชการ ถ้าอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีและกลับมาอยู่บ้านได้ เพราะเราก็ไม่อยากทำงานในเมืองด้วย เราไม่ได้มีความฝันที่จะใช้ชีวิตในเมืองเลย
ข้าราชการก็เลยเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาอยู่บ้านได้
ใช่ เป็นทางที่เป็นไปได้ส่วนใหญ่ของคนแถวนี้ ถ้าอยากอยู่บ้าน อยากทำงานที่มีความมั่นคงก็ต้องเป็นข้าราชการ ซึ่งยอดฮิตก็เป็นครู ถ้าไปถามเพื่อนเรียนครูส่วนมากว่า ทำไมถึงมาเป็นครู เขาอาจจะตอบว่า อยากเป็นด้วยความชอบก็ส่วนหนึ่ง แต่ความมุ่งมั่นส่วนใหญ่ของคนเรียนครูที่มาจากไทบ้านเฮา คือ การปลดแอกสถานะทางสังคม เข้ามาเพื่อที่จะอยากทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ชีวิตตอนที่เป็นนักศึกษาครูเป็นอย่างไรบ้าง
เราเป็นเด็กรหัส 62 ตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้ลองทำหลายอย่าง ออกไปทำงานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วเราเรียนที่ร้อยเอ็ดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประเด็นปัญหาเรื่องการทำเขื่อน โขง-ชี-มูล
จริงๆ ตอนเรียนครูรู้สึกว่า การเรียนคืองานอดิเรกมากกว่า ที่เหลือคือทำกิจกรรมหมดเลย และช่วงเรียนก็ได้เขียนข่าวให้ The Issan Record ด้วยโดยเป็น stringer (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค) ชีวิตช่วงนั้นเลยทั้งรายงานข่าว ท้้งไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเรื่องเขื่อน เพราะเรารู้สึกว่าเราชอบงานด้านสังคม มันทำให้เสริมมุมมองของเราในด้านนี้ ถ้าดูจากคอนเทนต์ช่องของเราในช่วงก่อนที่จะมาเป็นคุณครู เราพูดเรื่องนี้มาตลอด เรื่องปัญหาพื้นที่ท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ
ทำไมเรื่องเหล่านี้สำคัญสำหรับเรา
เรามีความสนใจประเด็นการเมืองอยู่แล้ว เราเกิดสกลนครซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีหมุดหมายบางอย่างเกิดขึ้นที่นี่ ครูครอง จันดาวงศ์ อยู่ที่นี่ จิต ภูมิศักดิ์ ก็เคยอยู่ที่นี่ ครูเตียง ศิริขันธ์ ก็อยู่สกลนคร เราโตมากับการที่พื้นที่เรามีเรื่องราวทางการเมือง เรื่องความเปลี่ยนแปลง เรื่องผู้คน เรื่องความคิด เราได้เห็นได้ฟังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พ่อเราก็ชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต แล้วพ่อก็พาไปกิจกรรมต่างๆ เพราะพ่อเป็น ตชด. ทำงานอยู่บนภูพาน ก็เล่าเรื่องครูเตียงให้ฟัง เราเลยรู้สึกว่ามันอยู่ในสายเลือดและอยู่ในการรับรู้ของเรามาตลอดตั้งแต่เด็ก
ชีวิตหลังจากเรียนจบครูเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นเราอายุ 23 ปี เพิ่งเรียนจบมา ส่วนมากคนเรียนครูเกือบ 100% ก็ไปเป็นครูกันหมดด้วยการสอบบรรจุเข้าระบบ แต่เราตัดสินใจไปเป็นนักข่าวก่อน เพราะว่าก็ทำงานให้ The Issan Record มานาน เลยไปเป็นลูกจ้างประจำ ไปอยู่ขอนแก่นได้ 8 เดือน พอถึงช่วงครูเริ่มจะเปิดสอบ แม่ก็ขอให้เรามาสอบ เพราะว่าเรียนครูมา เราก็คิดอยู่ในใจว่าสอบให้แม่สบายใจ แต่คงไม่เป็นหรอก เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ เราอยากทำงานสื่อมาโดยตลอด ตอนเด็กก็อยากเป็นคนทำหนัง แต่ก็สอบให้แม่ แล้วก็สอบติด
พอเขาเรียกบรรจุ ตอนนั้นมันมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายที่เขาเรียกเราไป เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมโขงเลย รอบแรกเราก็ยังไม่เอา เพราะรู้สึกว่าไม่อยากเป็นครู พอขอมารอบสองอีก ก็เลย โอเค คงจะได้เป็นครูจริงๆ แล้วล่ะ
ตอนนั้นเรายังทำงานอยู่ The Issan Record แล้วจะลาออก ซึ่งเป็นช่วงที่รู้สึกว่ากลัวจะเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนี้มาก
น่าจะเป็นช่วงที่ยากอยู่ก็สมควร
ใช่ กลัวที่จะออกมาจากการทำสื่อ กลัวว่าเป็นครูแล้วไม่มีเวลาได้ทำคลิป กลัวที่จะไม่ได้เป็นตัวเอง กลัวที่จะใส่ชุดข้าราชการ เพราะเราเห็นแม่ตัวเองมาตั้งแต่เด็ก
ตอนนั้นเราเลยไปปรึกษาพี่ บ.ก. แล้วเขาบอกเราว่า ‘ไปเถอะ พี่ก็เป็นเด็กบ้านนอกมาก่อน อยู่อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ สิ่งที่ทำให้พี่ได้เป็นนักข่าว ได้อ่านหนังสือเยอะ เป็นสื่ออยู่ตอนนี้ ก็คือครูรุ่นใหม่ที่ไปบรรจุนี่แหละ สร้างเด็กแบบพี่ขึ้นมา’
เราก็เลยลองดู พอมาทำก็โอเค เป็นด้านใหม่ของชีวิต การตัดสินใจนั้นทำให้เราคิดว่า เราวิพากษ์เรื่องสังคมมาตลอด แล้วมันมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ลงไปลงมือแก้ไขมันด้วยตัวเอง ในเมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์มันได้ เราก็ลงไปดูว่าปัญหาจริงๆ เป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยแก้มันอย่างไรในฐานะที่เราเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เราทำอะไรกับมันได้บ้างนอกจากวิจารณ์มันอย่างเดียว
ครูคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้จริงไหม
ครูเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ แต่เหนื่อยเกินไปสำหรับครูคนเดียว หรือต่อให้มีครูทั้งจังหวัดก็ยังเหนื่อยเกินไป เพราะว่างานเยอะ (หัวเราะ) นอกจากงานสอนแล้วก็ยังมีงานป๊อกล็อกแป๊กแล็ก (จิปาถะ) เต็มไปหมด หน้าที่งานและหน่วยงานที่มันซ้ำซ้อนเหล่านี้สะท้อนไปถึงระบบการจัดการอำนาจของประเทศไทย
จากที่ได้ทำงานมา อะไรคือความท้าทายในบทบาทครู
เราเลือกโรงเรียนนี้เพราะว่า ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขง แปลว่า ข้างหน้าคือประเทศลาว เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจในประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษาแล้วก็สังคมด้วย
ในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ความท้าทายในการทำงาน คือ ปัญหาในพื้นที่ ทั้งปัญหายาเสพติด ความยากจน การศึกษา ชุมชนที่เราทำงานอยู่เป็นชุมชนที่อยู่ติดชายแดน มีเรื่องเด็กที่ข้ามมาเรียน ผู้สูงอายุก็เยอะ และประเด็นเรื่องความจน
ความจนมันเป็นความป่วยไข้ที่ไม่สามารถสอนให้ใครมาเข้าใจมันได้ เพราะถ้าคุณไม่จนคุณไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรกับชีวิตคุณบ้าง กับเด็กคนหนึ่ง กับครอบครัวหนึ่ง ซึ่งนักเรียนส่วนมากเราเป็นแบบนั้น มีชีวิตแบบนั้น
แล้วเมื่อเราเห็นว่านักเรียนส่วนมากมีชีวิตแบบนั้น การทำงานในบทบาทครูเกี่ยวข้องกับพื้นหลังชีวิตแบบนั้นของเด็กมากน้อยแค่ไหน?
เกี่ยวกันมาก ในโลกเดิมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ มันจะเปลี่ยนไปก็เมื่อมีใครสักคนเข้ามาทำให้เห็นว่ามีโลกใหม่หลายใบ สังคมหลายแบบที่กำลังรอเขาอยู่ และเขาไปสู่สิ่งนั้นได้ แต่สังคมที่เขาอยู่เป็นสังคมแบบเก่าที่เขาคิดว่ามันไม่มีโอกาส ครูคนหนึ่งสามารถมอบพลังให้เขาและทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้มันกว้างมากกว่าสายตาเธอที่สามารถเห็นได้ในตอนนี้ สิ่งนี้มันเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้
ครูคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนความคิดเด็กได้ สามารถสอนเขาให้เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ อย่างตัวเราเองเลือกใช้อีกทางหนึ่งของภาษาอังกฤษ เพื่อทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นสะพานที่ทำให้เขาไปสู่โอกาสใหม่ได้ เห็นได้ว่าโลกมันมีที่อื่น มีสิ่งอื่น มีวัฒนธรรมอื่น มีภาษาอื่น มีการรับรู้อื่น มันมีความงดงามแบบอื่นอยู่ นอกจากพื้นที่ที่เราอยู่
พูดถึงภาษาอังกฤษ แก้วใสเป็นครูภาษาไทย แต่ถ้าใครได้ติดตามคลิปจะเห็นว่า มีความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เรียนภาษาอังกฤษ อย่างการเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษในวันหยุด หรือการใช้ภาษาอังกฤษกับเด็กๆ ในชีวิตประจำวัน เรื่องนี้สำคัญอย่างไร
ประเด็นหนึ่งคือเราเป็นเด็กบ้านๆ ก็จริง แต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเราเลยคือภาษาอังกฤษที่เราเรียนรู้มันด้วยตัวเอง มันทำให้เราได้รับการศึกษาที่ดี ภาษาอังกฤษให้โอกาสเราได้ทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
เราเลยมองว่า เราอยากสร้างคอมมูนิตี้ให้เด็ก อย่างตอนนี้โรงเรียนมีเด็กทั้งหมด 94 คน ถ้าสร้างจุดเปลี่ยนเล็กๆ ให้เขาชอบภาษาอังกฤษ แล้วเขาเอาภาษาอังกฤษไปใช้ได้ในอนาคตเขาก็จะไปสร้างโอกาสในชีวิตตัวเองต่อ
เราก็เลยเปิดสอนพิเศษเด็ก แต่ว่าไม่ได้เก็บเงิน หมายถึงว่า เด็กพวกนี้เขามาขอให้เราสอนภาษาอังกฤษให้นอกเวลาเรียน ซึ่งมีประมาณ 25 คนในคลาสนั้น
ในคลาสเราจะชวนเด็กตั้งคำถามก่อน โดยเราก็บอกเด็กว่าสบายใจที่จะอยากคุยเรื่องนี้ต่อหรือไม่ก็ได้ โดยเราจะชวนพวกเขาคุยประมาณว่า‘คุณรู้สึกว่าคุณเป็นเด็กบ้านนอกไหม’ แล้วเด็กก็ตอบว่า ‘เออ ก็บ้านนอกนะครู ถ้าเทียบกับในเมือง ทั้งระยะทาง ทั้งความสามารถ’ เราก็ถามอีกว่า ‘คุณรู้สึกว่าถ้าคุณไปสอบแข่งขันกับเด็กในเมือง คุณทำได้มากกว่าเขาไหม’ เด็กก็มักจะบอกว่า ‘ทำไม่ได้แน่ ก็เราอยู่ไกล เราโรงเรียนเล็กๆ แค่นี้’ เราเลยถามว่า ‘ทำไมถึงคิดแบบนั้น ใครเป็นคนที่บอก’
เราบอกกับเด็กว่า‘อย่าให้อะไรก็ตามมาตัดสินว่าเราเป็นคนบ้านนอก เพราะภาษาที่ครูจะสอนต่อไปนี้คนพูดกันทั่วโลก’ แล้วเราก็ถามต่อ ‘เธอรู้สึกว่าเธอเป็นคนไทยหรือเปล่า’ เขาก็ตอบว่า ‘ก็เป็นคนไทยนะครู’ แต่เราบอกว่า ‘เป็นคนไทยอย่างเดียวไม่พอนะ เธอต้องเป็นประชากรของโลกใบนี้ด้วย อย่าเป็นแค่คนไทย’ แล้วเราก็จะเริ่มสอนภาษาอังกฤษ
ก่อนเรียนเราจะบอกแบบนี้ตลอด เด็กก็เลยไม่รู้สึกว่า การพูดภาษาอังกฤษมันแปลก เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เพราะว่าเขาใช้ภาษาอังกฤษได้
พอทำงานครูมาได้ระยะหนึ่ง ตอนนี้มองเห็นความหมายในสิ่งที่ทำอยู่อย่างไร
ตอนเป็นสื่อก็มีความหมายต่อชีวิตอีกแบบหนึ่ง พอมาเป็นครู ความหมายต่อชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง มันเป็นอาชีพที่ใช้การสื่อสารสูงทั้งสองแบบ แต่ตอนนั้นเราสื่อสารเพื่อให้คนในสังคมรับรู้ ทำให้ปัญหาของพื้นที่ที่ด้อยโอกาส พื้นที่ชายขอบ พื้นที่ชนบท คนตัวเล็กตัวน้อยมีเสียงออกมา
ตอนนี้พอเราเป็นครูในพื้นที่นี้ เราได้เป็นหนึ่งในคนชายขอบที่พูดออกไปเลย และเราก็ทำให้คนอยู่ข้างเคียงเรา นักเรียนเรา ชุมชนเรา สังคมชายขอบของเราได้พูดออกไปพร้อมๆ กันด้วย ไม่ได้อาศัยสื่ออีกต่อไป คือเราเป็นสื่อเอง สื่อสารเรื่องที่ทำงานอยู่ผ่านช่องทางของเรา และเราทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อไปพร้อมกัน ไม่ต้องรอให้ใครมาสื่อสารให้
และคุณค่าในชีวิตตอนนี้ของเราคือ ฉันเป็นนักการศึกษา (educator)
ด้วยความที่ว่าการศึกษาประเทศเรามันมีบทเรียนในหลักสูตรมา เราก็ต้องสอนไป แม้จะเป็นคนไม่เชื่อในบทเรียนของกระทรวงเลยสักนิด แต่ว่า มันก็ทำให้เวลาเราจัดกระบวนการเรียนรู้ เราจะสอนในแง่ว่า เราไม่ควรเชื่ออย่างเดียว แต่เราควรตั้งคำถามกับบทเรียนด้วยว่า มันจริงหรือเปล่า และไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง เราควรตั้งคำถามต่อไปกับมันอีกไม่สิ้นสุด
เพราะการเรียนรู้มันไม่มีวันสิ้นสุด แล้วเราก็เชื่อเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาก เราไม่ชอบให้เด็กมานั่งอยู่ในห้องแล้วก็ท่องอะไรตามเรา แต่ว่าความสามารถพื้นฐานที่เราทำให้ได้ตอนนี้ คือ สอนให้เขาอ่านออกได้ เขียนได้ และตั้งคำถามเป็น
ในประเทศเราครูในพื้นที่ห่างไกลมีน้อย ในขณะที่ปริมาณนักเรียนที่ได้เรียนใกล้บ้านก็น้อยลงเรื่อยๆ คิดอย่างไรกับประเด็นนี้
อันนี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ต้องชวนตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมโรงเรียนนั้นถึงมีนักเรียนน้อย ก็เพราะว่า นักเรียนเข้าเรียนในเมืองหมดใช่ไหม เพราะผู้ปกครอง คนในชุมชนย้ายเด็กออกไป มันทำให้นักเรียนน้อย พอนักเรียนน้อย งบประมาณที่ลงมาก็น้อย พองบประมาณน้อยก็ทำให้อุปกรณ์ในการเรียน การพัฒนาต่างๆ น้อยลง ครูก็ต้องนับตามหัวเด็ก เด็กน้อย ครูก็น้อยตาม แต่ว่างานยังเท่าเดิม คือระบบการศึกษามันสะท้อนไปหาภาพการเมืองใหญ่เสมอ เพราะว่าราชการไทยมันจัดการระบบเหมือนกันทุกกระทรวงเลย มันเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ
เราควรให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่เปราะบางก่อน แต่สังคมไทยกลับกัน ในโรงเรียนที่เด็กเยอะ งบก็ยิ่งเยอะ การพัฒนาก็เยอะไปด้วย แต่พื้นที่เปราะบางกลับยิ่งได้รับน้อยลง
คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’
-ก็จริงนะ ใช้คนทั้งหมู่บ้านคือใช้จริง ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกันหมด ตอนไปบรรจุ ถ้ายิ่งหมู่บ้านเล็กๆ แบบนี้ เขารู้หมดลูกใครเป็นลูกใคร ฝากลูกไว้กับคนข้างบ้านแล้วก็ช่วยกันเลี้ยง มันเป็นสังคมทำงาน แถวนั้นปลูกยาง กรีดยาง เวลาพ่อแม่ใครไม่อยู่ก็ฝาก ทุกคนก็รู้หมดมันมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันทั้งหมู่บ้านจริงๆ ชุมชนมีผลกับเด็กสูงมาก
นิยาม ‘ครูแบบแก้วใส’
เรานิยามการเป็นครูของเราว่า ‘เป็นเพื่อนกับเด็ก’ พอเป็นเพื่อน แปลว่า อำนาจเราเท่ากัน แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ให้เด็กมาตบหัวเราได้หรือเราตบหัวเด็กได้ คือถ้าเราเป็นเพื่อนที่ดีเราก็ไม่ตบหัวกัน ในแง่ว่า คุณก็มีโอกาส มีทางเลือกในการที่คุณจะบอกฉันได้ว่า คุณอยากเรียนแบบไหน คุณต้องการอะไร เราไม่ใช่ครูในความหมายที่อยากควบคุมใครหรือตีใคร เราเป็นเพื่อนกัน เราเข้าใจกัน คุยกันได้ แต่เป็นเพื่อนกับ ป.1 มันจะเหนื่อยหน่อยนะ (หัวเราะ)
ระบบการศึกษายังเป็นความหวังอยู่ไหม
ปัญหาใหญ่ของการศึกษาคือพอเด็กจบ ป.6 ไปแล้ว หลายคนคิดว่าก็ไปทำงานได้เลย เรารู้สึกว่ามันก็อาจจะเป็นทางเลือกของเด็กว่าจะอยู่ในโรงเรียนไหม แต่ประเด็นสำคัญคือ โรงเรียนจะมีบทบาทอย่างไรที่จะทำให้โรงเรียนมีอยู่ต่อไปมากกว่า
โรงเรียนได้สร้างคุณค่าเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งอยากอยู่ในโรงเรียนต่อไป เด็กมีโอกาสที่จะได้เลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนไหม เด็กมีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะที่ตัวเองอยากทำหรือเปล่า ถ้าโรงเรียนมีความหมายมากพอ ทำให้เด็กมีความสุข พวกเขาก็อยากจะอยู่
แต่ว่าตอนนี้โรงเรียนไทยกำลังบอกอะไรกับเราอยู่ การที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ความจน? ความหมายของโรงเรียนที่ไม่สอดรับกับนักเรียน? คุณภาพการศึกษา? อันนี้คนในวงการการศึกษาและคนในสังคมต้องตั้งคำถามกันต่อ
แล้วการมีส่วนร่วมของประชาชน เราก็มองว่าสำคัญมากกับระบบการศึกษา เพราะว่า ถ้าคุณมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วคุณเลือกคนดีๆ เข้ามาบริหาร นโยบายเปลี่ยน การทำงานของกระทรวงต่างๆ ระบบการศึกษาก็จะเปลี่ยน บทเรียนก็อาจจะเปลี่ยนด้วย มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ ดังนั้น หน้าที่ทางการเมือง การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญมากในการทำให้ระบบการศึกษามีความหวัง
เพราะการศึกษา ‘เป็น’ ความหวังเสมอของคนเรา การศึกษามีส่วนทำให้เรารู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ไหม เราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครไหม เราขับเคลื่อนอะไรบ้าง แม้ว่าตอนนี้มันจะมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและรวดเร็วเข้ามาแทรกขนาดไหน แต่เราเชื่อว่าคนเรายังต้องเรียนหนังสือ มนุษย์เราต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิตเสมอ
อยากพูดอะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้และเพื่อนร่วมอาชีพ
เรารู้สึกว่า พอเราไม่ได้มาจากคนที่อยากเป็นครูมากขนาดนั้นในตอนแรก เราอยากจะฝากให้กับคนเป็นครูในระบบการศึกษาที่รู้สึกว่าเหี่ยวเฉากับชีวิตการงานนี้ว่า อาชีพครูมันสำคัญ คุณมีศักดิ์ศรีที่อนุญาตให้คุณได้อยู่กับเด็ก และคุณมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคมที่ใช้เวลากับเด็กได้
แม้การเปลี่ยนแปลงจะช้า แต่เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนแน่นอน ถ้าคุณมีความหวังต่อมัน ในทุกสิ่งที่ลงมือทำ ในทุกคำพูดที่คุณพูดออกมาเพื่อพวกเขา เราว่ามันเปลี่ยนแน่นอน ไม่ว่ามากหรือน้อย ให้คุณมีความหวัง ในการทำสิ่งนี้ ในการตั้งคำถามกับระบบ กับตัวเอง และในการตั้งคำถามว่า เราจะช่วยเคลื่อนไหวสังคมนี้ไปได้อย่างไร