‘ประวัติศาสตร์’ เป็นปลายเปิดและเป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง คุยเรื่องความหลากหลายที่หล่นหายจากห้องเรียนประวัติศาสตร์ไทย กับ ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ 

‘…เพิ่ม ‘วิชาประวัติศาสตร์’ มุ่งปลูกฝังเด็กรักชาติ…’
‘…ตำรวจยึดบอร์ดเกมประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานี…’
‘…จัดอบรมครูสอนประวัติศาสตร์ ให้ทหารเป็นวิทยากร…’

เหล่านี้คือบางส่วนจากพาดหัวข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนประวัติศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทยที่เรามักจะได้ยินได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในสังคมไทย และมีมาเป็นระยะในทุกเดือนปี ตอกย้ำให้เราเห็นว่า รัฐไทยให้ความสำคัญและเพ่งเล็งวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนและพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเด็กๆ มากเพียงใด ทว่าการให้ความสำคัญต่อวิชานี้อย่างมากแบบที่กัดไม่ปล่อยก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เมื่อเปิดหนังสือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ดูแล้ว กลับพบเจอเนื้อหาคล้ายกันในแต่ละระดับชั้น ซึ่งมุ่งเน้นอยู่กับประเด็นความสำคัญของชาติไทย การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย ตลอดจนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย 

ขณะเดียวกันก็ยากนักที่จะพบเจอเนื้อหาประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ที่มักจะอยู่นอกตำราและพูดถึงกันข้างนอกห้องเรียนในมุมเล็กลับเป็นส่วนใหญ่อย่าง 6 ตุลาฯ, การปฏิวัติ 2475 และอีกมากมายหลายเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเรียนรู้ไม่แพ้กัน ทว่า ‘ที่ทาง’ บนหน้าหนังสือแบบเรียนกลับมีเพียงไม่กี่บรรทัด 

คำถามของบทความนี้อาจไม่ได้อยู่ที่ว่า การมีอยู่ของเนื้อหาประวัติศาสตร์เรื่องอะไรจะถูกต้องกว่ากัน ดีงามกว่ากัน จริงแท้กว่ากัน และคู่ควรกับหน้าหนังสือเรียนของเด็กไทยมากกว่ากันแบบเป็นขาว-ดำ หากแต่คำถามที่อยากชวนผู้อ่านถามไปด้วยกันก็คือว่า แล้วทำไมจึงต้องมีชุดความรู้อยู่แบบเดียวบนหน้าหนังสือแบบเรียน ทำไมสังคมเราไม่อนุญาตให้มีที่ทางของประวัติศาสตร์ที่หลากหลายได้ แล้วสิ่งเหล่านี้ส่งผลเช่นไรต่อวิธีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพวกเรา  

Mappa ชวนพูดคุยในประเด็นเหล่านี้กับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ที่ก่อนเริ่มต้นพูดคุยครั้งนี้ อาจารย์เกริ่นกับเราว่า 

“มันมีการคุยเรื่องทำนองนี้ไปหลายครั้ง แต่คิดว่ายังคงต้องคุยกันไปอีกเรื่อยๆ”  

ประวัติศาสตร์หลากหลาย ที่หายไปจากหน้าหนังสือแบบเรียนไทย 

เราตั้งต้นพูดคุยกันในคำถามแรกว่าด้วยที่ทางของประวัติศาสตร์ภาคประชาชนและประวัติศาสตร์หลากหลายแบบ ที่มีอยู่น้อยนักในหนังสือแบบเรียนไทย สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไร—อาจารย์ให้ความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า โดยพื้นฐานที่สุดสิ่งนี้กำลังสะท้อน ‘อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์’ ซึ่งหมายถึง ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับอดีต และในกรณีของสังคมไทยคือ ‘อุดมการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติไทย’

“ผมเห็นว่าไม่ควรมี ‘อุดมการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติไทย’ เพราะควรมีความคิดความเข้าใจประวัติศาสตร์ได้หลากหลาย แต่ว่าในหลายประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทย ยังมีความคิดชาตินิยมหรือพัฒนาการของชาติมาถึงจุดที่ยังอยู่กับความคิดชาตินิยมอยู่เยอะ ประเทศเหล่านั้นมักจะมีอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งชาติที่หนาแน่นอยู่ชุดหนึ่ง” 

อาจารย์ชี้ให้เห็นต่อว่า สำหรับในประเทศที่มีความคิดชาตินิยมแฝงฝังและมีบทบาทอยู่อย่างแน่นหนานั้นก็มักจะปลูกฝังความคิดชาตินิยมลงไปในสารพัดกลไกที่สำคัญ ที่พวกเรามักจะเห็นกันได้อย่างง่ายที่สุดคือ แบบเรียน, อนุสาวรีย์, วันหยุด, สัญลักษณ์, ภาพ และเรื่องเล่าต่างๆ เพราะฉะนั้นสำหรับประเทศที่ชาตินิยมมีบทบาทมากก็มักจะถือว่ามี ‘อดีต’ ซึ่ง ‘ถูกต้อง’ อยู่แบบหนึ่ง และเป็นอดีตที่เป็นตัวแทนบอกถึงสปิริตหรือจิตวิญญาณของชาติ ซึ่งในกรณีของสังคมไทย อาจารย์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ราชาชาตินิยม’  โดยเหตุผลที่อาจารย์เรียกว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมอาจารย์บอกว่า คำตอบพื้นฐานที่สุดและตรงไปตรงมาที่สุดคือ เพราะประเทศไทยไม่ใช่รัฐประชาชาติ ประเทศไทยเป็น ‘รัฐราชาชาติ’ ในเมื่อเป็นราชาชาติ ชาตินิยมของราชาชาติ ก็จึงเป็นราชาชาตินิยม 

อาจารย์ยังพูดถึงเรื่องความคิดแบบจิตวิญญาณของชาติด้วยว่า 

“ความคิดแบบจิตวิญญาณของชาติมากับโลกยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่โลกยุคสมัยเก่า แต่เป็นสมัยใหม่ในแบบหนึ่งที่ความคิดชาตินิยมยังมีบทบาทมาก ทว่าในหลายประเทศ ผมอยากจะเรียกว่าเป็นสมัยใหม่ยุคปลายๆ หรือบางคนอาจเรียกว่าประเทศหลังสมัยใหม่ ซึ่งไม่ได้แปลว่า สมัยใหม่ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่แปลว่า เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดสมัยใหม่ในช่วงต้นที่ผ่านมาไปมากมาย ในประเทศแบบนั้นความคิดเรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่งแบบเดียวที่ถูกต้อง ที่ทุกคนต้องเรียนกันในชาติก็จะถูกลดความสำคัญลงไป แล้วเปิดพื้นที่ให้กับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หลากหลายมากขึ้น” 

อาจารย์คลี่ขยายต่อมาว่า สังคมแบบดังกล่าวข้างต้นอาจยังมี ‘รัฐประชาชาติ’ อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถมีประวัติศาสตร์ได้จำนวนมากในสังคมนั้น ดำรงอยู่ร่วมกันเพื่อให้คนรับรู้  ไตร่ตรอง และเลือกสรรตามความคิดแต่ละคน ไปจนถึงมีการต่อสู้ทางความคิด ปะทะ โต้แย้งกันได้ในสังคมตามปกติ ซึ่งอาจารย์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ‘วุฒิภาวะของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์’ พร้อมกับขยายความต่อว่า

“วุฒิภาวะของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ คือวัฒนธรรมที่จัดการ (deal) กับอดีตอย่างมีวุฒิภาวะ ควรจะเป็นวุฒิภาวะที่สามารถอยู่กับประวัติศาสตร์หลากหลายกระแส หลากหลายความเชื่อได้ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดและไม่จำเป็นต้องเชิดชูอย่างเดียว การผูกขาดหรือเชิดชูอยู่อย่างเดียวจะทำให้ประวัติศาสตร์ชนิดนั้น มักเป็นอันตราย” 

อาจารย์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า สำหรับประวัติศาสตร์ในสังคมไทย อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งหมายความถึงประวัติศาสตร์ที่รัฐเชื่อว่าและพยายามทำให้คนเชื่อว่า เป็นความถูกต้องแบบเดียวของชาติอย่างที่เราเห็นกันนั้น เป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบของไทยที่เป็น ‘ฐานราก’ ค้ำจุนสถาบันทางสังคมและการเมืองที่สำคัญอย่างน้อย 3 สถาบัน คือ สถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร และนิติศาสตร์แบบไทย ซึ่งอาจารย์ชี้ให้เห็นว่า การค้ำจุนเสาหลัก 3 ขาหลักของรัฐราชาชาติของไทยนี้ สะท้อนการให้ ‘ความสำคัญ’ ต่ออุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย มากกว่าที่พวกเราคิด 

“เท่ากับว่า อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ชุดนี้มีความสำคัญสูงมากๆ กว่าที่คนคิด มันไม่ใช่แค่ความรู้ประวัติศาสตร์ แต่เป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผลจะทำให้สถาบันทั้ง 3 ก่อร่างสร้างตัว และมีอิทธิพล มีความคิด มีความเชื่อไปในแบบหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ สถาบันและเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของสังคมไทย จึงไม่มีที่ทางให้กับประวัติศาสตร์แบบอื่น ซึ่งแตกต่างและขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” 

ภารกิจสำคัญ ‘ไม่ใช่’ การทำให้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมหมดตายหายไป

เมื่อพูดคุยกันไปในประเด็นข้างต้น เราถามอาจารย์ต่อถึง ‘ความสำคัญ’ ของการมีที่ทางสำหรับประวัติศาสตร์แบบอื่นที่แตกต่างไปจาก ‘อุดมการณ์ประวัติศาสตร์ชาตินิยม’ ทำไมการมีที่ทีทางของประวัติศาสตร์หลากหลายจึงจำเป็น อย่างประวัติศาสตร์ภาคประชาชนหรือประวัติศาสตร์จากคนเบื้องล่างซึ่งมีน้อยมากในหน้าหนังสือแบบเรียน อาจารย์ขยายประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ และชวนตั้งคำถามต่อ 

“สำหรับความเห็นของผม ความสำคัญ ‘ไม่ใช่เพียงประวัติศาสตร์ภาคประชาชนเท่านั้น’ แต่คือประวัติศาสตร์นานาชนิด ซึ่งแตกต่างและอาจจะขัดแย้ง หรืออาจแค่แตกต่างแต่ไม่ถึงกับขัดแย้งก็ได้กับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม หมายความว่า ผมไม่ได้คิดว่า จะต้องเป็น ‘ประวัติศาสตร์ภาคประชาชน’ เท่านั้นถึงจะถูกต้องที่สุด ผมกลับคิดว่า ทุกประวัติศาสตร์มีส่วนที่ถูก มีส่วนที่ผิดเยอะแยะ สำหรับบางคนอาจบอกว่า ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนคือประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องที่สุด แต่สำหรับผมมันไม่จำเป็นต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องที่สุด เพราะประวัติศาสตร์ภาคประชาชนแปลว่าอะไรผมก็ยังไม่แน่ใจ ผมคิดออกทันทีได้ 3-5 แบบ ดังนั้นสำหรับผมถึงที่สุดแล้วความสำคัญของมันก็คือเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย…มันจะเป็นแบบอื่นๆ ด้วยก็ได้ จะแบบมาร์กซิสหรือไม่ก็ได้ หรือประวัติศาสตร์แบบอื่นที่ไม่ได้ผูกพันอยู่กับการเชิดชูแบบราชาชาตินิยมอย่างเดียว และไม่ได้ปิดกั้นประวัติศาสตร์แบบอื่นด้วย หมายความว่า ถ้าหากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมจะเป็น ‘อย่างหนึ่ง’ ในบรรดาประวัติศาสตร์นานาชนิดที่ล่องลอยที่เป็นกระแสในสังคมไทย ให้คนสามารถรับรู้ ใช้ และตัดสินใจเอาไปคิดวิเคราะห์ ผมว่า ผมไม่ปฏิเสธ 

“ผมไม่คิดว่า ภารกิจคือต้องทำให้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมหมดตายหายไป แต่สำหรับผมคือการทำให้มันไม่ครอบงำ ไม่ผูกขาดความถูกต้องเพียงอย่างเดียว ใครอยากเชื่อก็ตามใจ แต่ปัญหาคือทำไมต้องห้ามหรือพยายามขัดขวางไม่ให้เชื่อแบบอื่น”

อาจารย์กล่าวอีกว่า หากจะให้กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ‘ความสำคัญ’ ของการมีประวัติศาสตร์ภาคประชาชนและประวัติศาสตร์ที่หลากหลายนั้นก็คือ การทลายการผูกขาดและทลายการครอบงำของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม 

“เพราะวุฒิภาวะของวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ก็คือควรเปิดโอกาสให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย การคิดการตีความอดีตที่แตกต่างกันมากมายได้ปะทะขัดแย้ง ได้นำเสนอตัวเองออกมาให้คนได้พิจารณา รวมถึงประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมก็อยู่ในกระแสเหล่านั้น เพื่อที่จะเปิดตัวเองให้คนพิจารณาก็ได้ ไม่เห็นเป็นความผิดตรงไหน” 

ประวัติศาสตร์เป็นปลายเปิด และเป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง

เมื่อสนทนากันถึง ‘ประวัติศาสตร์หลากหลาย’ อาจารย์ก็ได้คลี่ขยายว่า คำว่า ‘หลากหลาย’ นี้ ก็ไม่ได้หมายถึงการทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ

“อย่างไรก็แล้วแต่มันจะมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงพื้นฐานซึ่งคุณทำให้ ‘ขาว’ เป็น ‘ดำ’ ไม่ได้ แต่สุดท้ายประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอย่างเดียว มันเต็มไปด้วยการให้ความหมาย ดังนั้นมันมีตัวกำกับมากมาย เช่น เริ่มตั้งแต่ว่าคุณใช้ข้อมูลซึ่งชัดๆ ว่ามันมีอยู่จำนวนหนึ่ง หากเรากลับขาวเป็นดำอันนี้ก็แย่แล้ว อันนี้ก็ละเมิดแล้ว 

“ประวัติศาสตร์หลากหลาย ไม่ใช่ว่าคุณทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ก็คือว่า บนข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่ง สามารถที่จะมีการตีความ สามารถนำเอามาประกอบการอธิบายได้ต่างกัน ถามว่า ทุกอันถูกหมดไหม–ไม่จำเป็น ทุกอันดีเท่ากันหมดไหม–ไม่จำเป็น อาจจะไม่เท่าก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่า ทุกข้อเสนอทางประวัติศาสตร์ และทุกข้อเสนอเกี่ยวกับการอธิบายอดีตจะต้องน่าเชื่อถือเท่ากัน แต่ผมพูดในความหมายว่า  มีความเป็นไปได้ที่สูงมากที่เมื่อผ่านการถกเถียง ผ่านการกลั่นกรอง ผ่านการโต้เถียงกันเยอะแยะแล้วจะยังมีคำอธิบายอดีต ‘จำนวนเกินหนึ่ง’ หลายเวอร์ชัน ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันน่าเชื่อถือ อันไหนผิด อันไหนถูก ดูแล้วมันก็น่าเชื่อถือและเป็นไปได้ พอๆ กัน 

อาจารย์ชี้ชวนให้เห็นต่ออีกว่า “ประวัติศาสตร์มันเป็นปลายเปิด และเป็นไปได้มากด้วย”  โดยอาจารย์ยกตัวอย่างกับเราด้วยการยกมือข้างหนึ่งของอาจารย์ขึ้นมาแล้วกางนิ้วมือทั้งห้านิ้ว ในขณะที่เรานั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันในการพูดคุยครั้งนี้ พร้อมกับถามเราว่า “ผมถามคำถามง่ายๆ คุณว่า มองจากมุมของคุณ นิ้วโป้งของผมอยู่ด้านไหน”  ซึ่งเราตอบไปทันทีว่า อยู่ ‘ด้านขวา’ 

“ในสายตาคุณนิ้วโป้งอยู่ด้านขวา แต่สายตาผมนิ้วโป้งอยู่ด้านซ้าย ถามว่า ใครผิด–บอกไม่ได้ เราทั้งคู่ต่างถูก เพราะมองจากคนละทางกัน นี่คือปัญหาข้อเท็จจริงแบบง่ายๆ ว่า ‘ในภาพนี้มองจากมุมของคุณนิ้วโป้งอยู่ข้างไหน’ เราทั้งคู่ยังถูกเลย ต่างคนต่างถูกทั้งที่คำตอบต่างกัน เท่ากับว่า ความถูกของทั้งสองคน ทั้งคุณและผม มันมีข้อจำกัด มันมีเงื่อนไข ความถูกมีได้มากกว่าหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันความถูกทุกชนิดกลับมีเงื่อนไข ในกรณีนี้ก็คือ เงื่อนไขที่ว่า คุณดูจากฟากไหน” 

“เพราะฉะนั้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ การอธิบายประวัติศาสตร์ และการอธิบายอดีตจำนวนมหาศาลเป็นประเภทนี้ ต่อให้ไม่บวกกับปัญหาว่าข้อเท็จจริงได้มาถูกหรือไม่ ต่อให้ไม่ได้บวกกับปัญหาว่าการวิเคราะห์ดีหรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันมีประเด็นเหล่านั้นเข้ามาด้วยกันทั้งหมด เช่น คุณถามถูกหรือเปล่า คุณตีความคำถามว่าอย่างไร คุณอธิบายวิเคราะห์ว่าอย่างไร เอาแค่คำถามง่ายๆ แค่นี้ เพียงแค่ว่า นิ้วโป้งอยู่ข้างไหน คำถามง่ายๆ เรายังตอบได้ต่างกันเลย เพียงเพราะเรายืนอยู่คนละข้างกัน เพราะฉะนั้น ทำไมเราต้องจำกัดให้มีคำตอบเดียว เราควรจะเปิดโอกาสให้มีหลายคำตอบ โดยทำให้คนมีวุฒิภาวะ ให้คนเข้าใจว่าคำตอบที่ต่างกันนั้นอยู่บนเงื่อนไขอะไร เขาจะรู้จักคิด”    

เมื่อพูดคุยกันมาถึงตรงนี้อาจารย์ก็พาเรากลับเข้าไปในห้องเรียนและโรงเรียน โดยอาจารย์ชี้ชวนให้เห็นว่า เมื่อประวัติศาสตร์เป็นปลายเปิดและเป็นไปได้มากดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนเองจึงควรเป็นไปเพื่อที่จะสอน ‘ทักษะ’ ให้คนรู้จักว่า จะจัดการ(deal)กับอดีตอย่างไร  

“ในโรงเรียนต้องรู้จักสอนทักษะ ไม่ได้แปลว่า เลิกสอนเนื้อหา (Content) แต่กลับต้องสอนเนื้อหาแล้วให้เห็นว่า เนื้อหาที่สำคัญทั้งหลายนั้น สามารถมองได้มากกว่าหนึ่งแบบ บางทีพอไม่อยากถูกครอบงำด้วยราชาชาตินิยม ก็ตกใจกันไปว่า เราจะไม่เรียนประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์ปฏิรูปประเทศรัชกาลที่ 5–ไม่ใช่ คือเราสามารถสอนเรื่องเหล่านั้นได้ แต่ให้รู้ว่า เรื่องเหล่านั้นสามารถมีความเข้าใจได้หลายแง่หลายมุม 

 “ทักษะจำนวนหนึ่งซึ่งนักเรียนจะต้องเรียน ทักษะเหล่านั้นมีบางอย่างเท่านั้นเป็นทักษะที่เฉพาะตัว หมายถึงเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ แต่หลายอย่างเป็นทักษะร่วมของการเข้าใจสังคม ดังนั้นการฝึกฝนทักษะนี้มันไม่ใช่ถึงขนาดว่า เป็นเรื่องวิเศษวิโส มันเป็นเรื่องสอนกันได้ และทั่วโลกจำนวนมากสอนกันแบบนี้ เขายังสอนเนื้อหาอยู่ เนื้อหามีการปรับเปลี่ยน ถกเถียงกันได้ แต่ถึงที่สุดไม่ว่าเนื้อหาอะไรก็ตาม จะต้องสอนทักษะให้นักเรียนเข้าใจว่า จะจัดการกับประวัติศาสตร์ จัดการความรู้ในอดีตเหล่านั้นอย่างไร

“ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นอดีต คุณเริ่มสันนิษฐาน (assumed) ว่า มันมีสิ่งที่ถูกหรือผิดอยู่อันเดียว หรือ คุณสันนิษฐานก่อนเลยว่า มันมีมากกว่าหนึ่ง แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว และหลังจากคุณเห็นว่า มันมีมากกว่าหนึ่งแล้ว คุณต้องดูว่า แต่ละอันมีข้อจำกัดอย่างไร อะไรคือข้อจำกัดของความถูกต้องในแต่ละมุม ต่อมาก็ต้องรู้จักว่า การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของสำนักหรือของคนนั้นคนนี้ มันใช้หลักฐานคนละอย่างหรือไม่ ใช้แนวคิดในการวิเคราะห์หรืออธิบายคนละประเภทหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเราไปสู่คำตอบทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกต้องอยู่เพียงหนึ่งเดียว และก็ไม่ได้ทำให้เราเห็นว่า ใครเสนออะไรก็ถูกต้องหมดด้วย แต่จะทำให้เรารู้จักคิดว่า มองจากมุมของคุณนิ้วโป้งอยู่ข้างหนึ่ง มองจากมุมผมนิ้วโป้งอยู่อีกข้างหนึ่ง

“เพราะฉะนั้นเวลาอธิบายประวัติศาสตร์ คุณจะเกิดคำถามทันทีว่า ‘มองจากมุมไหน’ แล้วเมื่อลองเปลี่ยนจากคำว่า มุมคุณ-มุมผม เป็นคำว่าการเมือง เป็นคำว่าเศรษฐกิจ เป็นคำว่า ใช้หลักฐานจากอะไร เรามองหลักฐานจากอะไร ทำให้มองเห็นต่างกันและให้น้ำหนักสิ่งนี้ต่างกัน มันก็จะทำให้คนรู้จักดีลกับประวัติศาสตร์อย่างไม่ถูกครอบงำได้”  

อาจารย์สะท้อนมุมมองต่ออีกเล็กน้อยในประเด็นนี้ โดยกล่าวถึงว่า หลายคนตั้งต้นคิดเรื่องประวัติศาสตร์ในแบบที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์แบบไหน ถูก-ผิด’ อาจารย์ยกตัวอย่างถึงประเด็นที่มีการเถียงกันถึง ‘คำถาม’ ที่ว่า ‘6 ตุลาฯ เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นสังคมนิยม’ และให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า

‘แล้วทำไมจะต้องเป็นอย่างเดียวล่ะ’ ทำไมสันนิษฐานว่า เป็นอย่างนั้นล่ะ เป็นสองอย่างซึ่งดูไม่เหมือนกันเลยไม่ได้หรือ นักวิชาการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้กันดีว่า การปฏิวัติเวียดนามที่เวียดนามเน้นว่าเป็นสังคมนิยม มันก็เป็นการปฏิวัติชาตินิยมด้วย ทั้งสองอย่างนี้อันไหนถูกล่ะ แล้วทำไมต้องมีถูกอันเดียว มันอาจจะเป็นทั้งสองอย่างจากคนละแง่คนละมุม ทั้งสองอันมีส่วนถูก มีส่วนจำกัด ผมเลยคิดว่าการเถียงบนความเชื่อที่ว่า มีความถูกต้องเพียงอย่างเดียวนั้น–เหนื่อย ดังนั้นต่อหลายประเด็นผมเห็นว่า ความถูกต้องไม่จำเป็นต้องมีอย่างเดียว แต่ความถูกต้องที่แตกต่างกันล้วนมีข้อจำกัด และการตีความและอธิบายอดีตที่ต่างกันนั้นล้วนมีความหมาย มีผลกระทบทางสังคมการเมืองต่างกัน”

‘อนุญาต’ ให้เกิดประชาธิปไตยใน ‘การเรียนรู้’

เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่อง 6 ตุลาฯ เราก็ถามอาจารย์ต่อถึง ‘การรำลึก 6 ตุลาฯ’ ที่หลายคนมักจะพูดถึงเมื่อเดือนตุลาคมของทุกปีมาถึง ในขณะที่บางคนอาจถามว่า ทำไมต้องรำลึก บางคนบอกว่า มีแต่ภาพความรุนแรง พูดเรื่องรุนแรงขัดแย้งของสังคมไปทำไม บางคนอาจมองว่ามากกว่าการรำลึกเราทำอะไรได้อีกบ้าง อาจารย์อธิบายมุมมองของอาจารย์ให้เราฟังอย่างเรียบง่ายว่า 

“ในกรณีที่มีการรำลึกอะไรต่างๆ ผมกลับคิดว่า เชิญคิดกันไป เชิญทำกันไป เพราะผมเชื่อว่า คนมีความเห็นแตกต่างกันได้ และผมเชื่อว่า ต่อไปในอนาคต การรำลึก 6 ตุลาฯ จะต่างไปจากที่คนรุ่นผมคิด หรือรวมถึงอาจทำให้คนรุ่นผมไม่ต้องการ ไม่ชอบก็เป็นไปได้ มันหนีไม่พ้น หรือถึงจุดหนึ่งคนก็จะต้องลืม มันหนีไม่พ้น เพราะว่า สังคมเปลี่ยน 

“เวลาใครบอกว่า ทำไม 6 ตุลาฯ เรามีแต่เรื่องคนเจ็บ คนตาย ผมกลับคิดว่า ไม่ได้มีบังคับให้มีแต่เรื่องแค่นี้นะ มันมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น สถาบันและบุคคลสำคัญของประเทศจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ ผมกลับคิดว่า ต่อให้ภายใต้ข้อจำกัดอันเดียวกันก็สามารถพูดได้หลายแง่ คุณเสนออะไรก็เสนอมาเลย เกี่ยวกับการรำลึก 6 ตุลาฯ ควรเป็นพื้นที่เปิด ทะเลาะกันไปเถอะ แล้วในที่สุดคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนมัน ไม่ใช่เพราะคนรุ่นใหม่วิเศษวิโสกว่า แต่เพราะสังคมเปลี่ยน

“อย่างเรื่องการปฏิวัติ 2475 กว่าเราจะเข้าใจ กว่าเราจะ ‘เลิกลืม’ ใช้เวลาตั้งนาน แล้วเมื่อเราเข้าใจมันใหม่ เราก็เข้าใจมันอย่างคนยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนในตอนปฏิวัติ 2475 อยู่ดี เราเห็นคุณูปการ เห็นด้านดีด้านลบ เห็นอะไรต่ออะไรในอีกแบบหนึ่งซึ่งคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 เขาอาจไม่ได้ปรารถนาจะให้เราเห็นด้วยซ้ำไป ผมคิดว่า การที่ผม หรือรวมทั้งใคร หรือเพื่อนผมจะคิดหรือจำ 6 ตุลาฯ แบบหนึ่ง มันไม่ใช่ความผิด แต่ถ้าหากคนรุ่นผมหรือใครก็แล้วแต่จะไปผูกขาดว่าแบบนี้เท่านั้นที่ถูก อันนั้นผมจะมีปัญหา สำหรับผมใครอยากเสนอแบบไหน หากพอฟังได้เสนอมาเลย แล้วคุณก็โต้แย้งกันไป เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้างตามประสา

“รวมถึงการบอกว่า 6 ตุลาฯ เห็นแต่ภาพคนตาย ผมกลับคิดว่า มันไม่ได้มีแผนการอะไรพิเศษ มันเป็นจุดที่มนุษย์ปกติกระทบกระเทือนก็สามารถพูดออกมา แล้วอย่าดูแคลนว่า การพูดถึงแค่ความรุนแรง ไม่เห็นนำไปสู่อะไร คุณไม่เห็นเหรอว่า ปัจจุบันมันนำไปสู่อะไร ผมว่า ขณะที่เราพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น เรายังไม่มีการพูดถึงว่าใครเป็นผู้ลงมือ ใครเป็นผู้เกี่ยวข้อง ใครก่อเหตุการณ์เลย แต่สุดท้ายคนก็พอเข้าใจ โดยที่ไม่ต้องระบุเอง ทำไมดูถูกคนฟังนักล่ะว่า เพราะพูดถึงแค่นี้ก็เลยหยุดอยู่แค่นี้ มันไม่เคยหยุดอยู่แค่นี้หรอก ความคิดคนมันสามารถมีได้หลายแบบ 

“เราควร ‘อนุญาต’ ให้มันค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน ก็จะทำให้มีคนพูดถึงมันมากขึ้นเอง ตอน พ.ศ. 2539 เป็นครั้งแรกที่มีการรำลึก 6 ตุลาฯ เราไม่กล้าแม้จะเปิดรูปที่มีการแขวนคอ ตอนนั้นก็มีการเยาะเย้ยว่า  ‘แค่นี้ยังไม่กล้าทำ แล้วจะรำลึกไปทำไม ไม่มีทางไปไหนหรอก’ แล้วคุณเห็นไหม ปัจจุบันเป็นอย่างไร ตอนนั้นไม่กล้าเพราะมันเป็นครั้งแรก เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น(ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเอารูปนั้นออกนะ) แต่ถึงที่สุดคุณเห็นไหมว่า ขนาดตอนนั้นมีการตัดสินใจแบบนั้น จากที่มีการดูถูกว่า การรำลึกครั้งนั้นมันจะไม่นำไปสู่ความเข้าใจอะไรเลย–มันก็ไม่จริง ต่อมาทุกวันนี้เราสามารถตีพิมพ์ภาพนั้นได้ 

“จะเห็นว่า มันมีการค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน ดังนั้นมันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่า ต้องรำลึกแบบนั้น แบบนี้ ปล่อยให้มันมีหลายแบบ ปล่อยให้เกิดการปะทะถกเถียงโต้แย้งกันไป และในความจริงผมเชื่อว่า จะสามารถมีได้หลายแบบอยู่ร่วมกัน เพราะว่า เมื่อเรามองย้อนกลับไป 6 ตุลาฯ ก็เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ ที่มีหลายแง่มุมให้เรามองได้”  

หลังจากอาจารย์ชวนพูดถึงประเด็นดังกล่าวก็ทำให้เรานึกถึงกระทู้คำถามทางเพจ และอีกหลายๆ ครั้งที่เกิดกระทู้คำถามทำนองว่า หากเราจะแทรกประวัติศาสตร์ภาคประชาชนหรือประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่ร่ำเรียนกันอยู่นี้ลงในหนังสือแบบเรียนไทย เราจะทำได้ไหมอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคำตอบของบางคนก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ควรทำ เป็นความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ ในขณะที่บางคอมเมนต์ก็เป็นไปในทางขัดแย้งและหวาดกลัวต่อการ ‘เริ่มต้น’ ขยับหรือเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมที่เคยชิน อาจารย์สะท้อนว่า 

“เห็นไหมว่า ประวัติศาสตร์แบบผูกขาดมันอันตราย เราจึงกลัวผลกระทบที่ประวัติศาสตร์แบบผูกขาดมันพังลง ทั้งๆ ที่ถ้าประวัติศาสตร์ไม่มีการผูกขาดมันจะลดอันตรายลงไปด้วย มันจะกลายเป็นการถกเถียงกันตามปกติ ที่ไม่ต้องตีหัว ไม่ต้องฆ่าแกงกัน เป็นเพียงความคิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกัน และสังคมมันก็จะเติบโตจากการถกเถียง มีวุฒิภาวะมากขึ้นว่าอะไรเชื่อถือได้ อะไรเชื่อถือไม่ได้ ส่วนประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเชื่อถือก็จะกลายเป็นความรู้บางอย่างที่มีที่ทางน้อยลง”

“สังคมไทยมีความรู้ซึ่งไม่น่าเชื่อถือเต็มไปหมด ถามว่า วิธีการจะขจัดคืออะไร ก็เช่นเดียวกับประชาธิปไตย ไม่ใช่ได้มาด้วยการรัฐประหารจนประชาธิปไตยที่ดีไม่เกิดขึ้น ต้องปล่อยให้มันพัฒนาการไป ประวัติศาสตร์ไม่สามารถเกิดวุฒิภาวะด้วยการมีผู้รู้ดีบงการว่า แบบนี้ แบบนั้นถึงจะน่าเชื่อถือกว่า แล้วบังคับให้คนเชื่อ แล้วบอกว่า จะเกิดวุฒิภาวะ ต้องปล่อยให้เกิดความรู้ที่หลากหลาย ปะทะ ขัดแย้ง ถกเถียงกัน”  

อาจารย์ธงชัยยังได้พูดถึงประเด็นการทำให้เกิดการมีประชาธิปไตยในการเรียนรู้ในกรณีโรงเรียนไทยอีกว่า   

“สำหรับประเทศอย่างเมืองไทย ประเทศที่ชาตินิยม การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนยังมีความสำคัญมาก กล่าวคือการเรียนประวัติศาสตร์ ‘ยิ่งจำเป็นใหญ่’(ไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยนะ) ผมกลับเห็นว่าปัจจุบันมันยิ่งจำเป็นถึงกับจะให้เพิ่มวิชา ให้เพิ่มชั่วโมง เพราะมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย อย่างที่บอกว่า มันเป็นฐานของการก่อร่างสร้างตัวและอนาคตของสถาบันทางสังคมการเมืองอย่างน้อย 3 สถาบัน เพราะฉะนั้นเขายิ่งต้องให้เราเรียน ให้เราฝังหัว แต่หากยิ่งพยายามยัดเยียดแล้วมันไม่เวิร์ก ชนชั้นนำก็ต้องคิดว่าสถาบันเหล่านั้นจะตั้งอยู่บนฐานที่ง่อนแง่น สักวันหนึ่งคนจะเลิกเชื่อเลิกฟัง จากฐานที่ว่า เพราะคนไม่เชื่อไม่ฟังประวัติศาสตร์แบบที่เขาพยายามจะกรอกหู และพยายามให้เชื่อไปตามๆ กันอีกต่อไป แล้วตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้น 

“เพราะฉะนั้นทางออกมีอย่างเดียวคือ ปล่อยให้เกิดการมีประชาธิปไตยในการเรียนรู้ ด้วย แล้วฝึกให้คนคิดเป็น
นั่นเป็นทางรอด ไม่ใช่ว่า พยายามยัดเยียดให้คนเชื่อแล้วก่อร่างสร้างสถาบันต่างๆ บนความเชื่อที่ยัดเยียดกัน ถึงจุดหนึ่งเมื่อคนเลิกเชื่อ สถาบันเหล่านั้นจะยิ่งตกอยู่ในอันตราย แล้วอย่ามาโทษว่าใครที่ทำให้เกิดความพังทลายของสถาบันเหล่านั้น คนที่ทำคือบรรดาคนที่พยายามยัดเยียดประวัติศาสตร์เหล่านั้นเอง” 

อาจารย์ยังยกกรณีตัวอย่างเรื่อง ทหารกับพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเด็กๆ ในตอนที่มีการนำทหารมาฝึกสอนประวัติศาสตร์ และอีกเหตุการณ์ที่มีการพิจารณาลงโทษการทำบอร์ดเกมด้วยข้อหาว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมีเพียงเวอร์ชันเดียว’

“ทั้งหมดมันสะท้อนความอ่อนหัด อ่อนเยาว์ สะท้อนวัยทารกของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของสังคมไทย สำหรับผมทัศนะทางประวัติศาสตร์ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ควรจะเป็นประชาธิปไตย หรือมีความหลากหลาย และต่อสู้กันในพื้นที่สาธารณะ สู้กันไป เถียงกันไป บางอันนานวันเข้า ความคิดคนเปลี่ยนหรือหลักฐานเปลี่ยน ก็อาจหมดคนนิยมไป มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตควบคู่ไปกับวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันนี้เป็น ‘อุดมคติ’ ของวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ผมคิดว่าควรจะให้เกิดขึ้น แต่ว่ามันคงอีกไกลมากสำหรับประเทศไทย”  

ฝึกฝนกันไป—ฝึกฝนกันไป ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ช่วงท้ายของการพูดคุย เราก็พูดกันถึงเรื่องหลักสูตรประวัติศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ฉับพลันทันด่วน ทำให้ปัจจุบันเด็กสามารถหาข้อมูลและเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางต่างๆ ทางโลกอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือนอกห้องเรียนได้ ในแง่นี้หนังสือแบบเรียนหรือวิชาประวัติศาสตร์ในแบบที่ระบบการศึกษาใช้ในหลักสูตร จะยังคงมีพลัง มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน 

อาจารย์ตั้งต้นพูดคุยที่เรื่องของหลักสูตรก่อนโดยอาจารย์เห็นว่า การเรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมควรจะเริ่มได้แล้ว แต่จะเริ่มอย่างไรผมก็ยังไม่มีความรู้พอว่า เด็กแต่ละวัยควรเรียนรู้อะไรบ้าง”  หลังจากนั้นอาจารย์ก็ได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับหลักสูตรของประเทศอื่นๆ 

“ผมดูจากหลักสูตรในหลายประเทศ เขาสามารถเริ่มที่จะฝึกฝนให้เด็กมีทักษะ ในบางประเทศการเรียนรู้เรื่องมุมมองว่าเรื่องราว (story) หนึ่งๆ มีมุมมองหลายอย่าง เขาเรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมโดยผ่านการเรียนรู้จากนิทาน นิยาย เด็กจะได้เห็นว่า ตัวละครต่างๆ มีมุมมองเรื่องเหล่านั้นต่างกันได้ ที่เราบอกกันว่าประวัติศาสตร์มีมุมมองต่างกัน จริงๆ ไม่จำกัดเฉพาะประวัติศาสตร์หรอก มันโยงไปถึงวรรณคดีก็ได้ และเอาเข้าจริงเด็กเขาเรียนรู้จากสิ่งนั้น ในหลายประเทศหลักสูตรเขาจึงอยู่ในชั้นประถม โดยเขาไม่ต้องบอกว่าอันนี้จริงหรือไม่ ในเมื่อประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องเล่า มันก็ทำนองเดียวกัน(ไม่เหมือนกัน แต่ทำนองเดียวกัน)  ในชั้นสูงขึ้นเขาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องการจัดการกับหลักฐาน ถ้าให้เด็กเล็กไปเรียนรู้เรื่องการจัดการหลักฐานผมว่า มันก็มากไป อาจจะมัธยมปลาย หรือมัธยมต้นในบางครั้ง อันนี้ก็ต้องไปถกเถียงกันอีกที ผมไม่ใช่นักการศึกษาขนาดนั้น

“ส่วนเรื่องว่า หลักสูตรยังจำเป็นอยู่หรือไม่ การเรียนรู้ข้อมูลนอกตำราเยอะๆ มีข้อดีคือ มันทำลายข้อจำกัดของการพยายามผูกขาด คือมันผูกขาดไม่สำเร็จ แต่อีกด้านหนึ่งคือภาวะข้อมูลล้นเกิน ความจำเป็นในยุคหนึ่งคือการพยายามหาแหล่งข้อมูลต่างๆ นอกเหนือจากตำราเรียน แต่ผมว่า ยุคนี้มีแหล่งข้อมูลนอกเหนือตำราเรียนเยอะแยะไปหมด ความจำเป็นตอนนี้ จึงคือการฝึกฝนว่า จะจัดการ (deal) ข้อมูลที่มีเยอะแยะเหล่านั้นอย่างไร คือต้องฝึกทักษะในการรู้จักคิด รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ รู้จักกลั่นกรองว่าอะไรเชื่อถือได้ อะไรเชื่อถือไม่ได้ การฝึกฝนทำนองนี้มันอาจไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จแบบเรียบร้อย กล่าวคือข้อมูลจำนวนหนึ่งอาจมีเด็กจำนวนนิดหน่อยเห็นว่า น่าเชื่อถือ ในขณะที่ส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่น่าเชื่อถือ อันนี้บังคับกันไม่ได้ มีแต่การต้อง ‘ฝึกฝนกันไป ฝึกฝนกันไป’ มีแต่การต้องทำให้คนมีอาวุธทางความคิด มีอาวุธทางปัญญาสำหรับการกลั่นกรองเรื่องเหล่านี้ และที่เราพูดกันไปว่า ‘ความรู้’(ไม่ใช่เฉพาะวิชาประวัติศาสตร์) แต่คือความรู้สารพัดเลย ซึ่งไม่น่าเชื่อถือและไร้สาระจำนวนมากในสังคมไทยมีอยู่เยอะแยะก็เพราะเราฝึกฝนทักษะหรือพกอาวุธทางความคิดหรืออาวุธทางปัญญาเหล่านี้ได้ยังไม่ดีพอ

อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ทักษะสำคัญที่ว่านั้นคือ ‘Critical Thinking’ ซึ่งอาจารย์แปลคำนี้ในภาษาไทยว่า ‘การมีวิจารณญาณ’ ซึ่งถามว่า การฝึกฝนจะทำให้ทุกคนมีคำตอบเหมือนกันหมดหรือไม่ว่า เรื่องไหนเชื่อได้-เชื่อไม่ได้ อาจารย์บอกว่า ‘ไม่หรอก มันไม่เรียบร้อยขนาดนั้น’  แต่อย่างน้อยที่สุดคนก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น มีอาวุธทางปัญญาในการที่จะไปจัดการว่าข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้หรือไม่ หลักฐานนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เรื่องราว ข้อเสนอ และการประกอบเป็นเรื่องเหล่านั้นเชื่อถือได้หรือไม่ แล้วอาจารย์ก็ขมวดท้ายว่า หนึ่งในบทบาทหลักที่จะเข้ามาทำงานส่วนนี้ก็คือโรงเรียนและระบบการศึกษา 

“สังคมประชาธิปไตยไม่มีทางที่จะเรียบร้อย ถึงได้บอกคุณว่า จะใช้การรัฐประหารแล้วมาสั่งว่าความรู้แบบนั้นเชื่อถือได้ แบบนี้เชื่อถือไม่ได้ มันไม่ทำให้เรามีวุฒิภาวะ จนกว่าจะทำให้ผู้คนพลเมืองทั้งหลาย ‘เรียนรู้’ ผ่านระบบการศึกษา” 

“ผมจึงคิดว่า การเรียนประวัติศาสตร์ในหลักสูตรยังมีความจำเป็น แต่ไม่ใช่เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมในแบบใดแบบหนึ่ง แต่เพื่อ ฝึกฝนทักษะ ในการจัดการข้อมูล ในกรณีนี้คือจัดการข้อมูลที่เกี่ยวกับอดีต จัดการการใช้หลักฐาน การวิเคราะห์หลักฐาน”  

ทั้งนี้อาจารย์ยืนยันว่า เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต การเข้าไปหาอินเทอร์เน็ตในตัวมันเองไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาอยู่ที่ข้อมูลมาจากแหล่งไหน รู้จักคิด รู้จักใช้ รู้จักวิธีตรวจสอบ ถึงที่สุดรู้จักที่จะ ‘ฟังหูไว้หู’ หรือไม่

“ฟังหูไว้หู เป็นทักษะที่ผมคิดว่า ไม่ง่าย ฟังหูคือเก็บข้อมูลไว้ในหัวเต็มไปหมด ขณะเดียวกันอย่าเพิ่งไปเชื่อเต็มอกเต็มใจ เรา ‘ไว้หู’ เพราะเรารอจนมีข้อมูล จนมีความจำเป็นจะตัดสินใจต่อเรื่องนั้นๆ ว่า จะเชื่ออย่างไร เราก็หาเพิ่มเติม ตรวจสอบกัน วิพากษ์วิจารณ์กัน ฟังหูไว้หู ฟังหูไว้หู เก็บข้อมูลเต็มไปหมดเลยเข้ามาในหู มนุษย์ทำได้ มนุษย์ทำอย่างนั้นอยู่ทุกวัน เพียงแต่บางทีเรากระโจนเข้าไปหาความเชื่อบางอย่างง่ายเกินไป” 

หมุดหมายปลายทางในการเรียนประวัติศาสตร์   

ทั้งหมดทั้งมวลในการพูดคุย ผู้อ่านอาจมีคำตอบและคำถามต่ออีกมากมาย ไปจนถึงอาจคิดกับหมุดหมายในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ต่อได้อีกหลากหลายมุม สำหรับคำตอบของอาจารย์ธงชัย เมื่อเราขอให้อาจารย์ช่วยขมวดว่า หมุดหมายปลายทางในการเรียนประวัติศาสตร์นั้นคืออะไร อาจารย์ก็ได้ให้คำตอบมาว่า สิ่งนั้นคือ ‘วุฒิภาวะทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์’ นั่นเอง

“หมายถึงวุฒิภาวะที่สังคมจะรู้จักอยู่กับประวัติศาสตร์ อยู่กับอดีต และอยู่กับความรู้เกี่ยวกับอดีต วุฒิภาวะนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความรู้ มีข้อเสนอที่น่าเชื่อถือได้หลากหลายจำนวนหนึ่ง มีความสามารถที่จะทำให้สิ่งที่เชื่อถือได้น้อยหรือเชื่อถือไม่ได้ มันตกขอบไปอยู่ตามชายขอบไม่มีความหมาย การมีบางคนยังเชื่ออยู่ก็ช่วยไม่ได้ แต่ภาวะอย่างนี้มันซับซ้อนกว่าที่เราคิด ยกตัวอย่างเช่น สังคมอเมริกัน ตอนทรัมป์ขึ้นมาเห็นชัดว่า มีคนเชื่อแบบนั้นมหาศาล ทั้งที่เราไม่คาดคิด แล้วก่อผลมหาศาลด้วย ฉะนั้นมันไม่ได้ง่ายแค่เพียงว่า มีจัดการศึกษาแล้วจะจบ เพราะการเรียนรู้และการศึกษาของคนไม่ได้อยู่กับหลักสูตรเท่านั้น มันอยู่กับนิตยสาร รายการทีวี เรื่องเล่าสารพัด ประเพณี ละคร สารพัด

“หมุดหมายปลายทางจึงคือ วุฒิภาวะของคนที่จะอยู่ในวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่ง หมายถึงการที่สังคมนั้นจะเรียนรู้ จะอยู่ จะจัดการกับอดีตอย่างไร จะให้อดีตกลับมามีประโยชน์ มีอิทธิพล หรือไม่มีอิทธิพลขนาดครอบงำทำให้เราตายตัวหรือไม่อย่างไร นั่นคือจุดหมายปลายทางสำหรับผม ผมคิดว่า การฝึกฝน การเรียนรู้ต้องไปถึงจุดนั้น 

“โรงเรียนยังมีส่วนสำคัญ แต่หากถามว่า โรงเรียนเป็นอย่างเดียวไหม—คงไม่ใช่” 

ข่าวที่ยกมาอ้างถึงในบทความตอนต้น : 
https://theactive.net/news/learning-education-20231203/
https://www.matichon.co.th/politics/news_4607890
https://www.naewna.com/local/694503
https://www.gcc.go.th/2022/11/27


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Illustrator

Avatar photo

สุชาพิชญ์ นิติพัฒนกุล

ถ้าวันนี้จะนอน ฉันก็คือนักนอน ถ้าวันนี้ฉันทำงาน ฉันก็คือนักออกแบบกราฟิกในวันนี้

Related Posts