JKBoy – เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ ช่างภาพชนเผ่าที่พาเราไปสัมผัสความหลากหลายผ่านภาพถ่ายจากทุกมุมโลก

  • ประมาณ 15 ปีก่อน บอย-เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกรเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมทั้งซื้อกล้อง compact เล็ก ๆ ไว้เก็บเกี่ยวภาพทิวทัศน์ระหว่างทาง ก่อนที่เขาจะเริ่มเป็นช่างภาพ landscape อย่างจริงจัง และหลังจากนั้นเขาก็เริ่มหันเหความสนใจไปที่การถ่ายภาพชนเผ่า
  • ปัจจุบันภาพถ่ายของบอยสามารถคว้ารางวัลระดับโลกมาได้หลากหลายรายการ รวมไปถึงการเพิ่งไปคว้ารางวัล Photographer of the Year 2023 จากรายการ European Photographer Awards ซึ่งถือเป็นการคว้ารางวัลสูงสุดของรายการนี้ถึงสองปีซ้อน นอกจากนั้นเขายังถูกแต่งตั้งให้เป็นทูตวัฒนธรรมแห่งมองโกเลียและกรรมการตัดสินรายการ Nikon Photo Contest อีกด้วย
  • และนี่คือเรื่องราวของชายที่บุกป่าฝ่าดง ปีนเขา เอาอุปกรณ์ถ่ายภาพไปกับตัว เพื่อไปสัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั่วโลก และถ่ายทอดประสบการณ์ล้ำค่าออกมาเป็นภาพถ่ายและเรื่องราวให้เราร่วมสัมผัสความงดงามของความหลากหลายนี้ไปด้วยกัน

15 ปีก่อน ชายคนหนึ่งตัดสินใจลาออกจากการเป็นวิศวกร ซื้อกล้อง compact หนึ่งตัว ขับรถออกท่องเที่ยวและเก็บภาพด้วยกล้องเล็ก ๆ ตัวนั้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง จนกระทั่งเริ่มติดใจจากการถ่ายภาพ เขาจึงซื้อกล้อง DSLR มาเรียนรู้การถ่ายภาพ landscape ด้วยตัวเองผ่านกูเกิล หนังสือภาพต่างประเทศ และการเสพผลงานของช่างภาพต่างประเทศคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตีฟ แม็กเคอร์รี เซบาสติโอ ซัลกาโด และจิมมี เนลสัน

หลายปีผ่านไป เมื่อการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์มาถึงจุดอิ่มตัว บอยที่มักจะเดินทางด้วยตัวคนเดียว เริ่มคิดว่าคงจะดีถ้าได้เพื่อนเพิ่มจากการเดินทางและเพื่อค้นหาความท้าทายใหม่ให้กับตนเอง เขาจึงหันมาถ่ายภาพบุคคล

ด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพทิวทัศน์มาก่อน เขาจึงได้ผสมผสานจุดเด่นของความงามของธรรมชาติจากภาพถ่ายวิวทิวทัศน์และเสน่ห์ในวัฒนธรรมของผู้คนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่เรียกว่า “Environmental portrait” ที่มีการนำองค์ประกอบของบรรยากาศและทิวทัศน์โดยรอบมาจัดวางและนำเสนอร่วมกับภาพบุคคลทำให้ผลงานของบอยมีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์

ความท้าทายที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือบุคคลในภาพถ่ายของเขา ไม่ใช่นายแบบหรือนางแบบมืออาชีพแต่กลับเป็นชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธ์ุต่าง ๆ ทั้ง ที่มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสุดขอบ อาทิเช่น นักล่านกอินทรีทอง ชนเผ่าที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์ มนุษย์กินคน ชนเผ่าที่นับถือฤาษี หรือภูตผีมนุษย์โคลนแห่งอาซาโร่ ล้วนแต่เป็นผู้คนที่อยู่ในภาพถ่ายของเขาทั้งสิ้น

เขาคือ บอย-เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ หรือ JKBoy ช่างภาพชาวไทยที่หลงใหลในเรื่องราวเล่าขานและตำนานชนเผ่าต่าง ๆ หากสุดขอบโลกมีจริง ความหลงใหลนี้ก็คงเป็นสิ่งที่นำพาเขาไปสุดขอบโลกนั้น ทั้งในป่าลึก เทือกเขาสูง หุบเขาอันเปล่าเปลี่ยว ทะเลทราย หรือชายแดน เพื่อไปเห็นผู้คนที่เขาเคยอ่านเจอในหนังสือกับตา และเก็บภาพถ่ายกลับมาเพื่อบอกเล่าและสร้างแรงบันดาลใจต่อ

นอกจากความหลงใหลจะพาเขาไปไกลสุดขอบโลกแล้ว ผลงานของเขายังทำให้บอยได้รับรางวัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น The International Portrait Photographer of the Year ในตำแหน่ง Overall Winner รางวัล One Eyeland Photography Awards และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการเพิ่งไปคว้ารางวัล Photographer of the Year 2023 จากรายการ European Photographer Awards ซึ่งถือเป็นการคว้ารางวัลสูงสุดของรายการนี้ถึงสองปีซ้อน

และนี่คือเรื่องราวของชายที่บุกป่าฝ่าดง ปีนเขา เอาอุปกรณ์ถ่ายภาพไปกับตัว เพื่อไปสัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั่วโลก และถ่ายทอดประสบการณ์ล้ำค่าออกมาเป็นภาพถ่ายและเรื่องราวให้เราร่วมสัมผัสความงดงามของความหลากหลายนี้ไปด้วยกัน

เริ่มต้นที่ทะเลทรายโกบี สู่ทุกพื้นที่ที่ไปถึง  

ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 30 องศา ช่างภาพคนหนึ่งกับไกด์สมัครเล่นที่เพิ่งลาออกจากงานประจำมาเป็นไกด์ท้องถิ่นเดินเคาะตามประตูบ้านของผู้คนที่อาศัยอยู่ใจกลางแนวเทือกเขาอัลไตเพื่อถามไถ่ข้อมูลและแกะรอยตามหานักล่าอินทรีแห่งมองโกเลีย

บอยเริ่มต้นการเป็นช่างภาพจากการถ่าย landscape แต่เมื่อเขาได้ไปเห็นภูเขาในปาตาโกเนียที่เขานิยามว่าเป็น ‘นางงามจักรวาลแห่งภูเขา’ หรือทิวทัศน์ที่อาจจะเรียกได้ว่าสวยที่สุดเท่ามที่มนุษย์คนหนึ่งจะพาตัวเองไปเห็นมากับตา สถานที่อื่น ๆ หลังจากนั้นจึงไม่มีมนต์เสน่ห์มากพอให้เขามุ่งมั่นเก็บภาพวิวทิวทัศน์ต่อ ประกอบกับการต้องดำรงตนประหนึ่งพระธุดงค์ผู้เดียวดายในป่าในระหว่างการเดินทางไปเก็บภาพทิวทัศน์ บอยจึงเริ่มโหยหาปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เช่นนั้นการผจญภัยในฐานะช่างภาพ portrait ที่คนในภาพคือชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่หลายคนไม่เคยรู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงจึงเริ่มขึ้น

จุดหมายปลายทางแรกที่เขามุ่งหน้าไปก็คือใจกลางแนวเทือกเขาอัลไต บริเวณพรมแดนรอยต่อระหว่างคาซัคสถานและมองโกเลีย ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ที่บุคคลในตำนานอย่างเจงกิส ข่าน ที่บอยเคยอ่านเจอในหนังสือตั้งแต่เด็ก ๆ เคยมีตัวตนอยู่ ก็ยังเป็นสถานที่ที่มีชนเผ่าที่น่าสนใจอย่างชนเผ่าซึ่งเลี้ยงอินทรีทองไว้เพื่อล่าสัตว์ (Eager Hunters) อยู่ด้วยเช่นกัน

©Jatenipat Ketpradit

“พอได้เจอคนแถวนั้นมันก็ได้มีปฏิสัมพันธ์ ถ้าไปถ่าย landscape มันคุยอยู่กับตัวเอง มีแค่เรากับธรรมชาติที่คุยกัน แต่พอมาถ่าย portrait มันต้องถ่ายกับคน ภาพที่ออกมาไม่ได้เกิดจากเราทั้งหมด เราก็เลยประทับใจการได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ไปถึงก็เฮฮานั่งคุยกันตอนกลางคืนมีแคมป์ไฟ ก็สนุกดี พอคุยก็ได้รู้เรื่องราววัฒนธรรมที่ไม่เคยรู้ ไปเจอชนเผ่าที่ล่าสัตว์ด้วยนกอินทรี เราก็รู้สึกว่ามันเจ๋งมาก เหมือนที่เราเคยอ่านในนิยายกำลังภายในเลย พอเห็นตัวเป็น ๆ อยู่ตรงหน้าเรามันเลยรู้สึกอลังการมาก ก็เลยประทับใจ แล้วรู้สึกว่าต้องหาโปรเจ็กต์อื่นต่อแล้วล่ะ“

แม้จะแอบหวั่นใจว่าจะไม่ได้รับการต้อนรับหรืออาจจะเจอเผ่าที่ไม่เป็นมิตรในการเดินทางไปถ่ายภาพชนเผ่าต่าง ๆ ในครั้งแรก ๆ แต่บอยบอกกับเราว่าการเดินทางไปถ่ายภาพทิวทัศน์นั้นอันตรายกว่ามาก หลายครั้งเขาต้องนอนคนเดียวท่ามกลางป่าเขาที่เต็มไปด้วยสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ บางที่ก็มีเสือพูม่าลาดตระเวนให้ได้ลุ้นเล่น ๆ การเดินทางไปเพื่อพบเจอคนสักกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวจนเกินไป

ที่จริงแล้วชนเผ่าแทบทั้งหมดที่บอยเคยได้พบเจอมาต่างก็เป็นมิตรและยินดีรับแขกที่เดินทางไปหาพวกเขา ตั้งแต่เผ่าแรกที่เขาไปเยือนอย่างนักล่าอินทรีที่ตอนนี้บอยแทบจะกลายเป็นสมาชิกอีกคนในเผ่า จนถึงชาวอาซาโรแห่งเขาโกโรโปกา ในปาปัวนิวกินี ที่บอยไปผูกมิตรไว้ด้วยการนำวัสดุที่มีตามธรรมชาติในบริเวณนั้นอย่างกะเพราและกระเทียมมาสอนพวกเขาทำเมนูยอดฮิตอย่างผัดกะเพราและหมูทอดกระเทียมให้พวกเขาทาน มีเพียงครั้งเดียวที่เขาต้อง ‘กระเจิง’ ออกมาจากชนเผ่าที่เอธิโอเปีย แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าหนึ่งในผู้ร่วมทริปบุกเข้าไปในบ้านของคนในเผ่าและถ่ายรูปโดยไม่ขออนุญาต บอยจึงมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าใด ก็คือการเคารพและให้เกียรติกันและกัน

“ตอนแรกเราก็เกร็งเหมือนกันว่าเขาอาจจะเข้ม ๆ ดุ ๆ แต่พอเราไปถึง ไปอยู่กับเขา ปรับตัวเข้ากับเขา ใช้ชีวิตด้วยกัน ก็กลายเป็นเพื่อน พอเป็นเพื่อนเขาก็เปิดใจ ต่างคนก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมากชนเผ่าส่วนใหญ่เป็นมิตรมาก ๆ เขายินดีที่จะมีแขกเข้ามาหา แต่ส่วนใหญ่ไกด์ท้องถิ่นก็จะประสานก่อนว่าจะมีคนเข้าไปถ่าย ต้องมีความเชื่อใจในระดับหนึ่ง พอเข้าไปเขาก็จะพาไปหาหัวหน้าเผ่าก่อนเลย ไปฝากเนื้อฝากตัว”

“อย่างเผ่าที่เลี้ยงเรนเดียร์ตอนไปครั้งแรกไปถ่ายได้แค่สองวัน ไปถึงวันแรกกลางคืนก็มีแคมป์ไฟ นั่งกินดื่ม เขาสอนเราเรื่องวัฒนธรรมของเขา แลกกับที่เขาก็อยากรู้เรื่องภายนอกเหมือนกัน พอเป็นแคมป์ไฟมันก็สนุกเฮฮา กินดื่มกับหัวหน้าเผ่ากันจนตีสีตีห้า หัวหน้าเผ่าก็เมา ร้องไห้ ตลกมาก วันที่สองไปถ่ายได้แป๊บเดียว พายุหิมะมาถล่ม ต้องรีบกลับออกมา เพราะถ้าเข้าไปติดอยู่ในนั้นหิมะจะสูงมากจนออกมาไม่ได้ ปีต่อมาก็เลยต้องกลับไปซ้ำอีกรอบ ซึ่งครั้งที่สองดีกว่าเดิมเพราะว่าเขารู้แล้วว่าเราเป็นใคร เขาเปิดใจ เวลาถ่ายภาพมันก็ไม่เกร็ง เขาก็เชื่อใจว่าเรากำลังจะทำอะไร ซึ่งจริง ๆ เรื่องการถ่ายภาพมันสำคัญมากที่ตัวแบบต้องมีส่วนร่วมกับเรา มันถึงได้ปฏิสัมพันธ์กับตัวแบบและคนที่ดูภาพ”

©Jatenipat Ketpradit

เครื่องแต่งกาย ภาษา บ้าน ที่อยู่อาศัย ภูมิประเทศ อาหารการกิน ลักษณะของผู้นำเผ่า และสิ่งที่ชนเผ่าต้องการจะสื่อสารกับคนภายนอกคือสิ่งที่บอยต้องการจะถ่ายทอดออกมาผ่านภาพถ่าย บางชนเผ่าต้องการบอกเล่าว่าพวกเขายังขาดแคลนอะไรบ้าง ชนเผ่าหนึ่งในเขตชายแดนซูดานกำลังประสบปัญหาประชากรลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้คนล้มตายเพราะการรบราฆ่าฝันด้วยอาวุธหนักอย่างปืนที่เข้ามาแทนที่ไม้กระบองรวดเร็วเกินไป ส่วนชาวกะเหรี่ยงในไทยก็อยากสื่อสารให้คนไทยได้เข้าใจว่าพวกเขาไม่ใช่คนที่ตัดไม้ทำลายป่าและแท้จริงแล้ววัฒนธรรมและความเชื่อของพวกเขาต่างก็แฝงไปด้วยแนวคิดของการหวงแหนและคอยเป็นผู้รักษาผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์

นอกจากสิ่งที่เขาจะสื่อผ่านภาพแล้ว ผลงานของบอยยังนำมาซึ่งผลลัพธ์น่าประทับใจที่สุดสำหรับเขา นั่นคือการทำให้ชนเผ่าและชาติพันธุ์ต่าง ๆ เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเองอีกครั้ง และในบางกรณี มันยังทำให้หลายคนที่ต้องจากบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ได้กลับสู่บ้านเกิด

“ล่าสุดผมไปถ่ายกะเหรี่ยงที่อยู่ทางอุ้มผาง หมู่บ้านมอทะ กับ เลตองคุ เขานับถือฤาษีที่พรหมแดนพม่ามาหลายรุ่นแล้ว เราไปอยู่กับเขาอาทิตย์หนึ่ง ก็เลยได้รู้ว่าเขารู้สึกว่าที่เขาใส่เสื้อผ้ากะเหรี่ยงชนเผ่าอยู่แบบนี้มันดูเชย ไม่ทันสมัย แต่พอเราถ่ายภาพพวกนี้ออกไป เขาก็กลับมาภูมิใจในเผ่าพันธุ์เขา เขารู้สึกว่าชุดเขาสวยมาก หรืออย่างเซตที่ผมได้มีโอกาสไปถ่ายภาพเจ้าสาวในงานแต่งงานของอิ่วเมี้ยน คนเมี่ยนเขาก็มาแชร์ในเฟซบุ๊กเต็มเลย แล้วแต่ละคนจะแคปชันว่า ภูมิใจที่ได้เป็นคนเมี่ยน ประโยคพวกนี้มันดีมากเลยสำหรับเรา

“ชนเผ่าที่เลี้ยงนกอินทรีไว้ล่าก็เหมือนกัน ตอนแรกที่ไปต้องไปตามเคาะประตูบ้านกับไกด์เลยว่าเขายังอยู่กันไหมเพราะเขาเหลือประชากรน้อยมาก จนไปเจอแค่ 3 คน ก็ไปถ่ายกันมา ก่อนกลับก็ไปเจอน้องผู้หญิงชื่อซามานโบ เลยขอถ่ายภาพเขามา พอภาพออกสื่อเยอะก็มีสื่อต่างประเทศตามไปสัมภาษณ์น้องเขา จากแต่ก่อนครอบครัวเขาไม่ได้เป็นคนล่าอินทรีแล้ว ต้องออกไปทำงานในเมือง แต่ตอนนี้พอปิดเทอมเขาก็กลับมาเรียนการล่าอินทรีต่อทุกปี ก็ได้สานต่อกันไป”

จากเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนที่เขาได้พบเจอกับเผ่านักล่าด้วยอินทรีทองและนำภาพถ่ายมาเผยแพร่จนทำให้การท่องเที่ยวของมองโกเลียกระเตื้องขึ้นจนผู้คนสามารถกลับมาสร้างงานสร้างอาชีพที่บ้านได้ มิตรภาพของเขากับชาวมองโกเลียจึงยิ่งเติบโตงอกงามจนการกลับไปมองโกเลียของบอยแต่ละครั้งกลายเป็นการกลับไปเยี่ยมญาติมิตรต่างเชื้อชาติ และการได้เพื่อนใหม่จากชนเผ่าต่าง ๆ นั่นเองคือสิ่งที่เขาประทับใจที่สุดในการเดินทาง

“ที่มองโกเลียเราได้มาแทบทุกอย่าง ได้แม้กระทั่งม้า ซึ่งการให้ม้าคือการให้เกียรติที่สุดของแขกที่ไปเยือนแล้ว มันเหมือนผลงานเราได้ไปสร้างหลายอย่างให้เขา สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างเส้นทางท่องเที่ยว เขาเลยให้เรามาหมด เสื้อ ม้า ตอนแรกจะให้ที่ดินไว้ปลูกกระโจมด้วย (หัวเราะ) คนมองโกเลียเขาเป็นนักรบ เขาจะมีความจริงใจ รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง พอเขาให้ใจกับเราร้อยแล้วเราให้ใจกับเขาร้อยมันทำให้เราอินมาก มันเหมือนไปหาเพื่อนเลย เพื่อนก็ช่วยเหลือเราทุกอย่าง ก็อยู่จนสนิทกันมาก ๆ ตอนนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ ที่อื่น ๆ เราก็ได้ผูกมิตรเอาไว้ อย่างชนเผ่าอาซาโร ที่ปาปัวนิวกินี ผมก็มีน้องชายอยู่เผ่านี้ด้วย เราจะเรียกกันว่า บาราตะ (brother) เวลาผมไปเขาก็จะมาแบกของช่วย มาเดินตาม เป็นน้องรักเลย สิ่งที่ประทับใจที่สุดจากการเดินทางก็คงเป็นการได้เพื่อนในทุกเผ่านี่แหละ”

กว่าจะถึงปลายทาง

ภาพถ่ายชนเผ่าแต่ละภาพที่ได้มานั้นต้องผ่านกระบวนการมากมายที่ไม่ใช่เพียงเรื่องหน้างาน เพราะมันยังประกอบไปด้วยการหาข้อมูลสถานที่และเส้นทางสำหรับการเดินทาง การหาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าเพื่อจะได้เข้าหาพวกเขาได้อย่างถูกต้องและด้วยความเคารพ การติดตามข่าวสารความขัดแย้งในท้องถิ่นที่ บอยบอกกับเราว่าในบางพื้นที่ก็อาจจะต้องมีคนรักษาความปลอดภัยที่อาวุธครบมือเดินทางไปด้วยเพราะเป็นพื้นที่ที่มีสงคราม การปล้น และการลักพาตัว รวมถึงการตระเตรียมอุปกรณ์เพื่อให้พร้อมที่สุดเมื่อถึงหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นกล้อง แฟลช แบตเตอรีกล้องและแฟลชที่ต้องชาร์จไปให้เพียงพอเพราะกว่าจะสามารถกลับออกมาชาร์จได้ก็ต้องรออีก 3-4 วัน และยังต้องคำนวณว่ากำลังไฟที่มีอยู่นั่นสามารถถ่ายภาพได้กี่ภาพ แล้วยังมีผ้าดำที่บอยต้องพกไปเสมอเพื่อขึงเป็นฉากในกรณีเจอสถานที่ที่จัดแสดงไม่ได้

“แต่ 2-3 วันแรกไม่ค่อยได้ถ่ายรูปหรอก มีแต่คุยเฮฮากับชนเผ่า เดินสำรวจทั่วหมู่บ้านให้คนพื้นที่พาไปดูมุมต่าง ๆ ว่ามีมุมสวย ๆ หรือจุดไหนที่เขาอยากส่งสารออกไปให้คนข้างนอกไหม  บางทีที่จินตนาการไปกับตอนเห็นหน้างานจริงมันไม่เหมือนกัน เช่น ตอนไปถ่ายระบำหน้ากากที่มองโกเลียก็คิดว่าจะไปเจอพระสูงอายุ ปรากฏว่าชุดระบำหน้ากากมันหนักมาก ลามะหนุ่มถึงจะใส่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนจากแบบคนแก่เป็นวัยรุ่นแล้ว ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเลยจำเป็นเหมือนกัน

“ถ้าถามเรื่องความรู้สึกว่าครั้งแรกกับครั้งนี้ต่างกันไหม จริง ๆ การเดินทางมันตื่นเต้นทุกครั้ง ปัจจุบันก็ตื่นเต้นอยู่เพราะเราไปเห็นเผ่าใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ๆ ก็ดีนะเพราะเราจะมีความกระตือรือร้นอยากถ่าย แต่ถ้าไปที่เดิมความตื่นเต้นอาจจะลดลงนิดนึง เป็นความสบายใจมากกว่า เหมือนได้กลับไปหาเพื่อน”

©Jatenipat Ketpradit

เมื่อพูดถึงเรื่องการตระเตรียมอุปกรณ์และการทำงานหน้างานแล้ว เราจึงได้โอกาสถามบอยว่าเขามีความเห็นอย่างไรที่อาจมีคนที่ไม่ชอบงานที่ต้องอาศัยการ setting โดยมองว่าสิ่งที่ปรากฏออกมาต้องอาศัยการจัดฉาก แม้ว่าการ ‘จัดฉาก’ ก็เป็นไปเพื่อการได้มาซึ่งภาพที่สมบูรณ์ที่สุด บอยมองว่าทุกอย่างคือการ setting แม้กระทั่งภาพทิวทัศน์ที่ต้องจัดมุมเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด แต่เขามองว่าการ setting ก็คือศิลปะในการจัดวางเช่นกัน  

“ชนเผ่าเขาก็อยู่แบบนี้จริง ๆ แต่เราจะถ่ายทอดยังไงให้กลุ่มชาติพันธ์แต่ละกลุ่มดูมีความสง่า เราไม่ได้อยู่กับเขาทุกวัน เผ่าบางเผ่าเราอาจมีโอกาสไปแค่ครั้งเดียวในชีวิตก็ได้ เราเลยต้องทำให้มันดีที่สุด ส่วนเรื่องคำวิจารณ์ผมก็เฉย ๆ นะ รับมาเพื่อเป็นการเรียนรู้ว่าจะถ่ายยังไงให้มันดีขึ้น ให้มันดูธรรมชาติมากขึ้น ตอนแรก ๆ อาจจะมีแข็งบ้าง เราก็เอาคำพวกนี้มาปรับปรุง แต่ส่วนใหญ่เราก็เน้นไอเดียและสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดออกไปมากกว่าเรื่องการ setting   

“ผมเคยไปเนปาล เจอภิกษุณีที่เขามาไหว้เจดีย์ ซึ่งสมัยนั้นเขายังมีความเชื่ออยู่ว่าภาพถ่ายจะดูดวิญญาณ เขาก็จะไม่ให้ถ่าย แต่บางคนไม่สนใจ เอากล้องไปจ่อเขา เขาเลยเอาไม้เคาะระฆังฟาดเลนส์แตกเลย  แต่เมื่อเราจะไปถ่าย เราไหว้เขาก่อน เขาก็ยินดีให้เราถ่าย ผมเลยจะไม่ไปแอบถ่ายใครก่อน ต้องขออนุญาตเขาแล้วถึงถ่ายเขามา ก็โยงเรื่องของ setting ได้เหมือนกัน ว่าทำไมผมถึงชอบไปขอถ่ายตรง ๆ มากกว่า ให้เขาสื่อสารกับเราด้วยดีกว่า”

ในชีวิตที่ชีพจรต้องลงเท้าอยู่เสมอ ในขั้นตอนเตรียมตัวอันยุ่งเหยิงก่อนออกเดินทาง และในการเดินทางเสี่ยงอันตราย บอยยังมีกำลังใจสำคัญคือครอบครัว ที่แม้สมาชิกบางคนในครอบตรัวอาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่เขาทำในตอนแรก แต่ก็เริ่มเปิดใจเมื่อเห็นว่าสิ่งที่บอยทำมีคุณค่ามากกว่าที่พวกเขาคิด

ไม่ต้องย้อนมองไปไกลถึง 10 กว่าปีที่แล้ว แต่แม้แต่ทุกวันนี้ที่สังคมเปิดกว้างในอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น การลาออกจากงานประจำที่มีรายได้มั่นคงเพื่อทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีสิ่งใดรับประกันรายได้ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่แปลกหากจะมีใครสักคนตั้งคำถามด้วยความห่วงใย ไม่ต่างอะไรกับแม่ของบอยที่ไม่เข้าใจการตัดสินใจของเขาในตอนแรก แต่แล้วก็เปิดใจเมื่อได้เห็นผลงานอันเป็นประจักษ์ของเขา

“ตอนแรกแม่ก็ไม่อยากให้ทำหรอกเพราะว่าครอบครัวรับราชการกันหมด เขาก็อยากให้เราทำงานมีเงินเดือน ได้เงินเดือนมาก็เอาไปฝากธนาคาร แต่เราแหกคอกเอาเงินไปซื้อของแล้วยังทำงานไม่เป็น routine ด้วย ผมเป็นคนทำงานกลางคืนเกือบถึงเช้า เขาก็จะถามว่ากลางวันทำไมนอนทั้งวัน ไม่ทำงานเหรอ จนวันที่มีนิทรรศการเขาถึงเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ทำอยู่ พอเห็นคนมาร่วมงานเยอะ เขาก็บอกว่า ครั้งหน้าถ้าจะจัดให้บอกจะได้ช่วยทำ” บอยเล่า

นอกจากนั้น บอยยังมีภรรยาและลูกชายอย่างน้องเนปาล (ที่บอยเล่าว่าเคยมีโยคีที่เอเวอเรสต์เบสแคมป์บอกกับเขาว่าเนปาลย่อมาจาก ‘never ending peace and love’ ซึ่งทำให้เขาประทับใจจนนำมาตั้งเป็นชื่อลูก) คอยเป็นกำลังใจทางบ้านและเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น

“ตอนแรกไม่มีลูกก็ไปดะเลย อยู่เมืองไทยนับวันได้เลย แต่พอมีลูกแค่ 7 วันก็น้ำตาไหลคิดถึงลูกแล้ว แต่พอเขาเริ่มเข้าใจ พอจัดงานแล้วพาเขาไปดู เขาก็ชอบ ถ้าในไทยที่ไหนพอไปได้ก็จะพาเขาไปด้วย เขาก็พยายามเอามือถือมาถ่ายของเขาเองด้วย

“เราห่วงชีวิตตัวเองมากขึ้นเพราะเราก็อยากอยู่กับลูก อยากเห็นลูกโต แล้วเวลาในการทำงานก็สั้นลง จากเมื่อก่อนไปเป็นเดือนและไปถี่ ตอนนี้ก็ไปแค่ 1-2 อาทิตย์ แล้วก็ไปไม่บ่อยมากปีละ 2-3 ครั้งก็พอ กลัวลูกลืม ความ extreme ก็ลดลง ประเด็นสำคัญที่สุดเวลาเราทำการบ้านก็เลยเป็นเรื่องความปลอดภัย ต้องหาข้อมูลเยอะมากแล้วก็หาไกด์ท้องถิ่นดี ๆ ข้อมูลต้องแน่นถึงจะไป”

ภารกิจและบทบาทใหม่ในเส้นทางของช่างภาพชนเผ่า

แม้เส้นทางการเป็นช่างภาพของบอยอาจเรียกได้ว่าเริ่มจากศูนย์ ต้องเรียนรู้และทดลองทุกสิ่งด้วยตัวเอง และยังใช้เวลา 10-15 ปีกว่าที่ผลงานจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ความพยายามและการทำสิ่งที่ตัวเองรักของบอยก็ดูจะผลิดอกออกผล เมื่อในปี 2565 บอยเพิ่งจัดนิทรรศการภาพถ่ายชนเผ่าของเขาขึ้นครั้งแรกที่ River City ภายใต้ชื่อ ‘People and Their World’ งานนิทรรศการที่บอยบอกว่าเป็นสิ่งที่ ‘ตอบโจทย์ทุกอย่าง’

“เพราะภาพถ่ายส่วนใหญ่มันจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อพิมพ์มันออกมา เพราะสมัยก่อนกระบวนการถ่ายภาพก็ต้องมาล้างฟิล์ม แต่ปัจจุบันเราเก็บเป็นไฟล์ดิจิตัลเลย พอเราได้มีการพิมพ์ออกมามันก็เหมือนได้จบครบกระบวน เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย คนที่เขาชอบงานเราก็มาเดินในงานกัน คนที่เพิ่งเห็นงานเรา เห็นนิทรรศการ เขาก็ชอบงานเราเพิ่ม มันไม่เหมือนกันเลยนะ พอปรินท์รูปมาเรียง ๆ ติด ๆ กันแล้วพลังมันเยอะมาก แล้วเรามีโทนสี แสง เพลงที่มันเป็นเพลงชนเผ่าก็ทำให้อารมณ์ร่วมมันเยอะ ต่างกันเยอะมาก อยากให้ลองไปดูกัน”

และในปีนี้ บอยก็กำลังจะจัดนิทรรศการภาพถ่ายชนเผ่าครั้งที่ 2 ของเขาในชื่อ People and Their World #2: “TSAM · The Dance of Gods” 

“จริง ๆ แล้วปีนี้เราจะเน้นไปที่เรื่องวัฒนธรรม พิธีกรรมและความเชื่อ แล้วไฮไลต์จะอยู่ที่ระบำหน้ากากซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากศิลปินแห่งชาติของมองโกเลียที่จะเอาชุดมาแสดงร่วมกับเราด้วย ปีที่แล้วเราได้เสียงตอบรับดีมากทั้งที่ตอนแรกแค่มองว่านิทรรศการมันเป็นเวทีที่เราจะได้บอกว่างานที่เราสะสมมามันคืออะไร เพราะมีคนสนใจเยอะ เลยคิดว่าลองมาจัดกันสักที คิดแค่ว่ามาสนุก แต่เสียงตอบรับมันดีกว่าที่เราคิด มีคนที่เข้ามาชมแล้วมายืนร้องไห้หน้างานเพราะเขาอินมาก เขาบอกว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้เลย เราเลยรู้สึกว่าภาพถ่ายมันเข้าถึงใจคนดูได้ขนาดนี้ ความรู้สึกระหว่างดูนิทรรศการกับการดูจอมันต่างกันเลย”

©Jatenipat Ketpradit

อีกหนึ่งสิ่งที่เขาได้ติดตัวมาจากมองโกเลียนอกจากมิตรภาพก็คือตำแหน่งทูตวัฒนธรรมแห่งประเทศมองโกเลีย (The Cultural Envoy of Mongolia) ที่บอยเพิ่งได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการไปในปีนี้ ก่อนหน้านั้นบอยเคยได้เข้าไปถ่ายระบำหน้ากากในวัด Amarbayasgalant ที่โดยปกติไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปเนื่องจากเป็นวัฒนธรรมโบราณ แต่เพราะผลงานของเขาที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับมองโกเลีย ประกอบกับความผูกพันระหว่างเขากับมองโกเลีย บอยจึงได้เข้าไปถ่าย ‘ระบำวัชระ’ วัฒนธรรมที่เคยสูญหายไปในช่วงโซเวียตบุกมองโกเลียและเพิ่งได้รับการปลุกชีพและสานต่อเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วโดยศิลปินแห่งชาติของมองโกเลียในที่สุด

“ก็เป็นภาพเซ็ตแรกที่ได้ถ่ายทำจากวัดนี้ แล้ววัดก็มีความสุขมากเพราะเป็นวัฒนธรรมที่เคยสูญหายไป พิธีนี้เขาเรียกว่าระบำวัชระ เป็นระบำของนิกายวชิรญาณ ปีหนึ่งจะระบำแค่หนึ่งครั้งเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย จัดแค่ 2 วัน ผมก็เลยเป็นคนช่วยในโปรเจ็กต์นี้ ได้ทำงานร่วมกับคนทำหน้ากากเพื่อจะดันวัฒนธรรมนี้ให้ไปยูเนสโก ล่าสุดก็เพิ่งแสดงที่ปักกิ่ง เดือนตุลาคนทำหน้ากากก็จะมาที่ไทยเพื่อจะเอาชุดมาแสดงร่วมกันกับภาพถ่ายด้วย”

©Jatenipat Ketpradit

ไม่เพียงแต่เป็นทูตวัฒนธรรมแห่งมองโกเลียเท่านั้น แต่บอยยังเป็น artist ของ Yellow Corner แกลลอรีภาพถ่ายจากฝรั่งเศสที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก รวมไปถึงการเป็นกรรมการตัดสิน Nikon Photo Contest และ International Portrait Photographer ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับเขาเช่นกัน  

“การได้ร่วมงานเป็นกรรมการให้ Nikon Photo Contest สนุกมากครับ ผมมีโอกาสได้เห็นงานและมุมมองของช่างภาพที่ร่วมส่งผลงานกันมาจากทั่วโลก และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรรมการท่านอื่น ๆ ที่มาจากหลายสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง พวกเขามีความชำนาญและมุมมองที่หลากหลาย งานในระดับโลกเขาไม่ได้มีแต่ช่างภาพที่จะมาตัดสินภาพถ่าย อย่างในชุดคณะกรรมการ จะมีคนที่เป็นภัณฑารักษ์เก่ง ๆ ในวงการศิลปะของญี่ปุ่นมาร่วมด้วย โดยมีผมที่เป็นช่างภาพตัวแทนฝั่งเอเซีย แล้วก็มีช่างภาพสารคดีของ National Geographic อีกสองคน และช่างภาพ ผู้กำกับ บรรณาธิการ มาจากยุโรป อินเดีย อเมริกาใต้ ครบเลย ส่วนประธานกรรมการเป็นบรรณาธิการของ National Geographic ที่อเมริกา พอได้คุยกันมันก็ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายแล้วเราก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้เยอะมาก เวลาตัดสินเราก็จะมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันแบบ face to face ซึ่งดีมาก เหมือนได้นำเสนอแต่ละรูปเลยว่าเรามองว่าเป็นยังไง ความหมายที่ซ่อนอยู่คืออะไร อะไรที่เขาอยากให้เรามอง มานั่งเถียงกันเลย สุดท้ายก็มาวัดว่าใครจะได้ที่หนึ่ง มันดีกว่าเรามานั่งให้คะแนน เอาคะแนนมารวมแล้วบวกว่าใครได้คะแนนเยอะเลย”

จากความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมา คำถามที่ไม่ถามคงไม่ได้คือกว่าจะมาเป็นช่างภาพไทยที่สามารถคว้าความสำเร็จในเวทีระดับโลกได้ บอยมีเส้นทางอาชีพอย่างไรและอะไรที่ทำให้เขาได้มาอยู่จุดนี้

องค์ประกอบของความสำเร็จและผลลัพธ์ที่มากกว่าภาพถ่าย

“คนไทยมีจุดอ่อนสำคัญเลยคือเรื่องภาษา” บอยตอบเมื่อเราถามถึงองค์ประกอบที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ “เพราะเราไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษและเราก็มักจะเหนียมอายเมื่อต้องใช้ หรืออย่างเมื่อก่อนผมต้องศึกษาจากภาพที่ 500px ที่เป็นงานของต่างประเทศเพื่อดูว่าเขาทำยังไง โทนสีเขาเป็นยังไง ภาษาเลยเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วเมื่อก่อนเวลาเราโพสต์เฟซบุ๊กอะไรยาว ๆ ชอบมีคนแซวว่า ไม่อ่านเกิน 8 บรรทัด แต่ในตอนที่คุณต้องทำนิทรรศการ คุณต้องทำหนังสือ กลับมาย้อนดูสิ่งที่โพสต์ลงไปมันโคตรมีประโยชน์ เป็นสวรรค์ชัด ๆ เลยที่เราเวิ่นเว้อไว้ มันได้ใช้หมด หลายคนไม่เขียนเพราะคิดว่าภาพต้องแทนคำพูดได้ แต่ย้อนกลับไปเป็นสิบปีเราอาจลืมความรู้สึกตอนถ่ายไปแล้วว่าเป็นยังไงหรือถ่ายอะไรไป ก็แนะนำว่าควรจะเขียนและอ่านเยอะ ๆ เลย การอ่านมันส่งผลกับเราเยอะมาก”

ถัดจากการฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อจะได้หาความรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น การหาเอกลักษ์ของตัวเองก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และเมื่อหาเอกลักษณ์ของตัวเองเจอแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการผลักดันผลงานออกไปสู่สายตาชาวโลก

“เราต้องพยายามผลักดันงานตัวเองออกไปเวทีต่างชาติ เวทีประกวดไทยมักใช้กรรมการตัดสินชุดเดิม งานที่เข้าประกวดเลยมักจะออกมาคล้าย ๆ เดิม แต่ต่างประเทศกรรมการชุดใหญ่จะเปลี่ยนทุกปีเพื่อให้ภาพมีความหลากหลาย และตอนนี้ก็มีเวทีประกวดที่ส่งฟรีหลายเวที ก็อยากให้ส่งไปเลย ไปเรียนรู้ บางการตัดสินเขามีเขียนคำติชมให้ด้วย อย่างน้อยถ้าได้คำติชมกลับมาเราก็เอามาเรียนรู้ได้ และถ้ามีโอกาสก็ลองทำนิทรรศการภาพเล็ก ๆ ก็ได้ เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาเห็นงานเรา เพราะการที่เราเห็นภาพในหน้าจอกับตอนปรินท์ออกมา อารมณ์มันคนละอย่างเลย ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวศิลปินเองที่ได้เห็นงานตัวเองปรินท์ออกมาแล้วมันมีพลัง แล้วก็คนอื่นที่เห็นงานเราด้วย การส่งต่อแรงบันดาลใจก็เป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ”

การส่งต่อแรงบันดาลใจคืออีกหนึ่งผลพลอยได้ที่เหนือความคาดหมายของบอย จากแรกเริ่มที่เขาเดินทางไปพบและถ่ายภาพชนเผ่าเพื่อตอบสนองความฝันวัยเยาว์ ภาพของบอยกลับกลายเป็นภาพที่สร้างประโยชน์ให้กับทั้งชนเผ่าและคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ที่อาจสูญหายไปของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าต่าง ๆ ไว้ หรือแม้แต่การรักษาความทรงจำของสมาชิกที่จากไปในครอบครัวบางครอบครัวให้คงอยู่ไว้ในภาพถ่าย

“มันถ่ายมาหลายปีก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง คุณค่าจริง ๆ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เราเหมือนกลายเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งที่เก็บบันทึกลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ ในอนาคตลูกหลานของเขาก็จะได้เห็นว่าบรรพบุรุษเขาเป็นยังไง มีคุณลุงคนหนึ่งที่เผ่าที่ล่าสัตว์ด้วยอินทรีทองก็เพิ่งเสียไปปีก่อน ผมไปครั้งล่าสุดก็ปรินท์รูปกลับไปให้ครอบครัวเขา ครอบครัวเขาก็ดีใจร้องห่มร้องไห้เลยเพราะเขาไม่เคยมีรูปพ่อเขาเก็บไว้”

หรือการสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาที่แต่ละชนเผ่าต้องเจอรวมถึงความเชื่อผิด ๆ ที่คนอื่น ๆ มักจะมีต่อบางชนเผ่า ที่บอยได้ใช้ภาพถ่ายและคำบรรยายที่เขาบันทึกไว้เองเพื่อบอกเล่าให้ผู้คนที่มาเดินงานนิทรรศการของเขาได้รับฟัง และภาพถ่ายเหล่านั้นยังสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้ศิลปินในสาขาอื่น ๆ เช่น งานปั้นและงานวาด ที่ขอภาพถ่ายของเขาไปเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงานต่อด้วยเช่นกัน  

“ชอบที่สุดคือสร้างความภูมิใจให้ชนเผ่าเขา เพราะเราพยายามจะทำให้เขาออกมาดูสง่า มีความภูมิใจในชาติพันธุ์ เขาไม่ต้องอายในเรื่องของเครื่องแต่งกาย ความเชื่อ หรือบ้านเกิดของเขา ซึ่งพอเราทำออกมาชนเผ่าเขาก็ดีใจ เช่น เผ่านักล่าอินทรีที่ตอนแรกเขาจะเลิกกันหมดแล้ว ไปทำงานในเมือง แต่พอมีภาพถ่ายเราออกไปแล้วเกิดการท่องเที่ยว มันทำให้เขาได้รายได้ เขาก็ได้อยู่กับบรรพบุรุษเขาอีกครั้งแล้วเขาก็ชื่นชอบชีวิตแบบนี้มากกว่าชีวิตในเมือง

ตอนนี้เขาก็กลับบ้านกันเยอะขึ้น ลูกหลานไม่หนีไปไหน ไปเรียนเสร็จก็กลับมาพัฒนา ปิดเทอมก็กลับมาเป็นนักล่าอินทรีต่อ ยังคงมีพิธีกรรมของเขาอยู่ มีเทศกาลของเขาอยู่ คนก็ยังเลี้ยงอินทรี ยังระลึกถึงบรรพบุรุษกันอยู่ ความเจริญมันห้ามไม่ได้หรอก วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมันก็อาจหยุดไม่ได้แล้ว กาลเวลามันเดินไปเรื่อย ๆ แต่มันก็ยังมีวิถีบางอย่างที่เขาอนุรักษ์ไว้ไม่ให้มันถูกกลืนหายไปหมด อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขามีอยู่มันมีคุณค่า”

สำหรับใครสนใจชมภาพถ่ายชนเผ่าของบอย สามารถรอชมนิทรรศการ People and Their World #2: “Spirit and Rituals” ซึ่งจะจัดขึ้นที่ห้อง RCB Gallery 3 ชั้น 2 River City Bangkok ในวันที่ 24 ตุลาคม – 5 ธันวาคม 2566 นี้ นอกจากคุณจะได้ชมภาพถ่ายชนเผ่าสวย ๆ และรู้เรื่องราวของชนเผ่าที่คุณอาจไม่เคยรู้แล้ว ไม่แน่คุณอาจได้แรงบันดาลใจในการออกเดินทางและสร้างสรรค์ผลงานจากนิทรรศการนี้ด้วยเช่นกัน  


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts