- การประท้วงด้วยการอดอาหาร (Hunger Strike) คือการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากการชุมนุมประท้วงรูปแบบนี้เป็นเครื่องมือของคนที่ไม่มีอำนาจ หรือคนที่ยืนหยัดต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน
- การอดอาหารประท้วงทำให้เกิดการสื่อสารอีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้คำพูด เติมเต็มอัตลักษณ์ร่วมของผู้สนับสนุนขบวนการ และลดทอนอำนาจของผู้ปกครอง
- ข้อเรียกร้องของการประท้วงด้วยการอดอาหารมักจะมีความยาก ซึ่งส่งผลให้การอดอาหารมักจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะสั้น แต่การประท้วงด้วยการอดอาหารมักจะนำมาซึ่งความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นความสำเร็จในรูปแบบใด
- ประเทศไทยและต่างประเทศล้วนมีกรณีของการประท้วงด้วยการอดอาหารมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ให้เกิดเปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลง
- การประท้วงด้วยการอดอาหารครั้งล่าสุดของตะวันและแบม สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นวงกว้าง แต่การทำความเข้าใจที่มาของการใช้วิธีการที่ทั้งสองเลือก จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ และสังคมจะตำหนิพวกเขาด้วยเหตุผล ไม่ใช่การประณามแบบไม่เข้าใจ
การประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำของ 2 นักกิจกรรมอิสระ “ตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” และ “แบม – อรวรรณ ภู่พงษ์” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมากในช่วงโมงยามนี้ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความคิดเห็นจากคนหลายฝ่าย ขณะที่ 2 เยาวชนเลือกที่จะใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน เพื่อแลกกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ สังคมก็มีปฏิกิริยาและท่าทีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งฝ่ายที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารของทั้งสองอย่างรุนแรง
Mappa พูดคุยกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่า “การประท้วงอดอาหาร” และย้อนดูการเหตุการณ์อดอาหารที่อยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของโลกมาอย่างยาวนาน เพื่อช่วยสร้างพื้นที่ความเห็นต่าง ที่มีความเข้าใจ และไม่ตำหนิประณาม จนนำไปสู่ความแตกแยก
การประท้วงของผู้ไร้อำนาจ
ผศ.ดร.กนกรัตน์ เริ่มต้นอธิบายว่า การประท้วงด้วยการอดอาหาร (Hunger Strike) คือการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากการชุมนุมประท้วงรูปแบบนี้เป็นเครื่องมือของคนที่ไม่มีอำนาจ หรือคนที่ยืนหยัดต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ใช้ทุกวิถีทางในการกดดัน หรือเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรม แต่ก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ตัวเองร้องขอ “ร่างกาย” จึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาเหล่านั้นเหลืออยู่ ที่เขาจะสามารถใช้เป็น “อาวุธ” ในการต่อสู้ได้
“จากบทเรียนของทั่วโลกสามารถถอดเป้าหมายของการประท้วงอดอาหารได้ 2 แบบ คือ หนึ่งทำให้ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจรู้สึกผิด แล้วไปลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม และสองคือสร้างความกดดันให้กับคนที่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่อาจจะสู้มาจนเหนื่อย หรืออาจจะไม่กล้าที่จะออกมา ซึ่งมันทำให้เกิดแรงกดดัน หรือทำให้คนรู้สึกว่า เขาต้องเสียสละแบบเดียวกับที่คน ๆ นั้นเสียสละ ซึ่งถามว่ารัฐกลัวไหม ในหลายประเทศก็กลัว คือรัฐไม่ได้กลัวเพราะรู้สึกผิดบาป แต่รัฐกลัวว่า หากคนเหล่านี้เป็นอะไรขึ้นมา เขาอาจจะกลายเป็นวีรบุรุษทางการเมือง หรืออาจจะไปกระตุ้นหรือทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง”
อดอาหารเพื่อลดทอนอำนาจผู้ปกครอง
ผศ.ดร.กนกรัตน์ได้ทำการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและการศึกษาเรื่องการอดอาหารจากทั่วโลก และสรุปได้ว่าการเลือกใช้การอดอาหารมาเป็นเครื่องมือในการประท้วง มักอยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1. มีโอกาสชนะอยู่บ้าง 2. มีโอกาสที่คนที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนอุดมการณ์เดียวกัน เช่น พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มชนชั้นนำอื่น ๆ จะหันมาสนับสนุน และ 3. มีโอกาสที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งส่งผลต่อการเกิดพลวัตในการชุมนุมประท้วง
“หน้าที่สำคัญของการอดอาหารประท้วง คือทำให้เกิดการสื่อสารที่ไม่ต้องมีคนพูด เพราะการชุมนุมประท้วงอื่น ๆ มันใช้การพูด หรืออธิบายเหตุผลไม่รู้เท่าไรแล้ว ข้อเรียกร้องถูกพูดออกมาหมดแล้ว แต่การอดอาหารทำให้เกิดการสื่อสารอีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้คำพูด มันกำลังบอกว่านี่คือที่สุดแล้ว พวกเราเป็นผู้ถูกกระทำ จนเราไม่เหลืออะไรที่จะใช้ในการต่อสู้แล้ว และการประท้วงด้วยวิธีนี้ ยังไปเติมเต็มอัตลักษณ์ร่วมของผู้สนับสนุนขบวนการในอีกมิติหนึ่ง จากเดิมคือเราถูกกระทำร่วมกัน เราเป็นผู้เดือดร้อน เราเป็นคนรุ่นใหม่ แต่การเลือกใช้วิธีอดอาหารกำลังบอกว่า เราเป็นคนที่พร้อมจะเสียสละทุกอย่าง แม้แต่ชีวิตของเรา โดยแกนนำเป็นคนทำให้ดูว่ามันไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว และต้องใช้ทุกอย่างแม้แต่ร่างกาย”
“นอกจากนี้ การอดอาหารยังไปลดทอนอำนาจของผู้ปกครอง เนื่องจากคนที่เริ่มต้นอดอาหารประท้วง เขามักจะมีความคาดหวังว่า การประท้วงของเขาจะนำไปสู่พลวัตที่จะพาขบวนการเคลื่อนไหว ที่อาจจะต่อสู้มานานจนเหนื่อย หมดวิธีการใหม่ ๆ หรือหมดพลังกันไป ให้รู้สึกมีพลัง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้ง แล้วก็จะนำไปสู่การลดทอดอำนาจ หรือการระดมกลุ่มคนที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับรัฐ หันมาสนับสนุน”
ชัยชนะของการอดอาหาร
“ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของการอดอาหารประท้วง ต้องบอกว่ามีอยู่ 2 ระยะ คือความสำเร็จระยะสั้น ซึ่งแทบจะไม่มีม็อบไหน หรือการอดอาหารครั้งใดที่ได้ มันมีน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ยากจนเกินไป คือรัฐยอมได้ อาจจะเป็นการปฏิรูปบางอย่าง แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับความมั่นคง หรือนโยบายของสถาบันเศรษฐกิจ”
ข้อเรียกร้องของการประท้วงด้วยการอดอาหารมักจะมี “ความยาก” ที่นักวิชาการมองว่าเป็นไปไม่ได้ในทันที ซึ่งส่งผลให้การอดอาหารมักจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การประท้วงด้วยการอดอาหารมักจะนำมาซึ่ง “ความสำเร็จในระยะยาว” ทว่าก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นความสำเร็จในรูปแบบใด
“ผลกระทบของการอดอาหารประท้วง โดยเฉพาะเมื่อมีการตายเกิดขึ้น คือมันจะทำให้เกิด “ผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้” จำนวนมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเชิงลบต่อสังคมในระยะยาว เช่น ความเกลียดชังต่อชนชั้นนำ เป็นต้น แล้วมันยังจะทำให้ความไว้ใจที่มีต่อกันลดน้อยลง เพราะรัฐยอมให้มีคนตาย และสุดท้าย มันจะทำให้โอกาสที่จะมาจับมือร่วมกัน หรือสมานฉันท์กัน เกิดขึ้นได้ยากมาก”
ย้อนรอยการอดอาหารทั่วโลก
เมื่อค้นหาเรื่องการประท้วงด้วยการอดอาหารในโลกอินเตอร์เน็ต จะพบว่าการประท้วงรูปแบบนี้ถูกใช้เป็นการต่อสู้กับผู้มีอำนาจทั่วโลก และมักจะถูกใช้โดยคนที่ไร้อำนาจหรือไร้หนทางอื่น ๆ ในการต่อสู้
“กรณีที่ดังมาก ๆ ก็คือบ็อบบี แซนด์ส เขาเป็นนักการเมืองของไอร์แลนด์ ที่อดอาหารประท้วงจนตาย แต่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ไม่ได้สนใจการอดอาหารของแซนด์ส แล้วยังประณามว่าการกระทำของเขาคืออาชญากรรม จนวันที่แซนด์สตาย แทตเชอร์ก็ยังมีท่าทีไม่ใยดีต่อการตายของเขา อย่างไรก็ตาม งานศพของแซนด์สมีคนไปร่วมงานเป็นแสน แล้วมันก็ชนวนสำคัญให้กับคนไอร์แลนด์สนใจการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ในทันที เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหว แบบที่ไม่มีใครคาดคิด แล้วมันก็นำไปสู่ชัยชนะในระยะยาว”
การอดอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกคือ “มหาตมะ คานธี” มหาบุรุษแห่งอินเดีย ที่ลุกขึ้นมาประกาศอดอาหหารหลายครั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ยากไร้ในประเทศ การอดอาหารประท้วงรัฐบาลอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมในอินเดีย ส่งผลให้อังกฤษถึงกับต้องออกกฎหมายสั่งห้าม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
“ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าการอดอาหารนำไปสู่ความตาย รัฐจะลงโทษคนเหล่านั้นอย่างไรได้มากไปกว่าการตาย ดังนั้น การอดอาหารจึงเป็นการต่อสู้ที่มีพลัง เพราะรัฐไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าเอาเขาไปขังคุก แล้วก็ทำให้เขาตาย เพราะอย่างไรเขาก็จะตาย แล้วอังกฤษในตอนนั้นก็กังวลมาก ว่าเครื่องนี้นี้มีพลัง เรียกได้ว่ามันเป็นการต่อสู้ที่ไปลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาลอังกฤษ แล้วก็ไปกระตุ้นให้คนอังกฤษที่ต่อต้านนโยบายล่าอาณานิคม หันมาแสดงความสนับสนุนขบวนการต่อต้านอาณานิคมในอังกฤษ”
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการอดอาหารประท้วงของตุรกี ในระหว่างปี 2543 – 2549 ของนักโทษและประชาชน เพื่อประท้วงการใช้เรือนจำความมั่นคงสูงพิเศษ โดยมีผู้ร่วมอดอาหารมากกว่า 800 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการอดอาหารกว่า 100 คน ซึ่งถือเป็น “The Most Deadly Hunger Strike” ทว่าก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือกรณีของอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านในรัสเซีย ที่ตัดสินใจเริ่มอดอาหาร หลังเรือนจำปฏิเสธไม่ให้แพทย์เข้ามาดูแลอาการป่วยของเขา ซึ่งการอดอาหารของอเล็กเซทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ภาคประชาสังคมและนักการเมืองรัสเซียบางส่วนออกมาแสดงความสนับสนุนเขา และประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัสเซีย
อดอาหารในประเทศไทย
ในประเทศไทยก็มีกรณีการประท้วงด้วยการอดอาหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ที่เคยประกาศอดอาหารประท้วงหน้ารัฐสภาในปี 2535 เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล แต่ฉลาดก็คือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้นอย่างเปิดเผย หรือในปี 2555 ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ก็ประกาศอดอาหาร 112 ชั่วโมง เพื่อให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้เป็นพ่อ ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ทว่า สมยศก็ถูกปฏิเสธการประกันตัวทุกครั้ง
หรือไม่นานมานี้ 2 แกนนำของกลุ่มธรรมศาสร์และการชุมนุม อย่าง “เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์” และ “รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ก็ประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว และยังมีการประท้วงด้วยการอดอาหารของเยาวชนคนอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลังจากนั้น จนกระทั่งมาถึงกรณีของตะวันและแบม ที่ตัดสินใจถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ประกาศอดอาหารและน้ำ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 และยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
- ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
- ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
- พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116
ท่าทีของสังคมต่อตะวัน-แบม
“คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะรู้สึกว่า ข้อเรียกร้องยากเกินไป จะมีโอกาสเป็นไปได้อย่างไร แล้วหลายคนก็อาจจะตั้งคำถามว่าได้คิดคำนวณโอกาสที่จะชนะแล้วหรือยัง คือถ้าไม่ได้ทำ แล้วจะจบอย่างไร ถ้าเสียชีวิตแล้วจะได้อะไรไหม เคยมีคนเสียชีวิตมาก่อนแล้วนะ แต่มันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แล้วจะคุ้มหรือเปล่า คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็จะมองแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นมุมมองที่เต็มไปด้วยความรู้สึกกังวลต่อการสูญเสีย และความรู้สึกตำหนิว่าการอดอาหารแบบนี้ จะไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะ”
แม้เสียงสะท้อนของสังคมจะมี “ความไม่เห็นด้วย” อยู่ในกระแสของการต่อสู้ แต่ผศ.ดร.กนกรัตน์ ก็ชี้ว่า ชุดประสบการณ์การประท้วงด้วยการอดอาหารทั่วโลกมักส่งผลในระยะยาว และอย่างน้อยที่สุดการต่อสู้ในรูปแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง
“ทำไมต้องอดอาหารและน้ำ (Dry Hunger Strike) เพราะรอบที่แล้วที่อดอาหารมันไม่นำไปสู่อะไร คนรุ่นนี้สู้มาทุกรูปแบบ ไต่ระดับมาเรื่อย ๆ 3 ปีที่ผ่านมาไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็น Free Youth คณะราษฎร ทะลุแก๊ส แต่ทุกคนจะมีเพดานของตัวเอง ในขณะที่ทะลุวังไม่มีเพดานแล้ว ทั้งข้อเรียกร้องและวิธีการ เพราะฉะนั้น การที่เขาเลือกอดอาหารและน้ำ ก็เป็นเพราะเขารู้ว่าข้อเรียกร้องของเขามันยาก ถ้าใช้วิธีการเดิมจะไม่ได้ผล มันต้องทำอะไรที่กระชากสังคม ถ้าเขาประเมินแบบนี้ ก็เพราะว่าเขาต้องการวิธีการใหม่ ที่จะไปสู้กับโครงสร้าง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม”
“ถ้าในระยะยาว มันก็อาจจะส่งผลกระทบเหมือนกับที่เราพูดไปแล้ว คือมันจะสร้างความเกลียดชังต่อระบบการปกครองนี้ในคนอีกรุ่นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจจะเป็นแบบนั้น หรืออาจจะทำให้ความเชื่อใจที่มีต่อระบบการปกครองนี้ไม่เหลือเลย และถ้ามีการสูญเสียเกิดขึ้น แล้วรัฐบาลไม่ยอมทำอะไร ไม่ยอมแก้ปัญหา โอกาสที่จะเห็นสังคมกลับมาลดการแบ่งขั้ว อาจไม่ต้องพูดถึงมันอีกแล้ว เพราะมันจะเป็นไปไม่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และมันอาจจะสร้างบาดแผลระยะยาวให้กับสังคมไทย”
ผู้ใหญ่ต้องไม่ประณาม
การตัดสินใจของตะวันและแบม กลายเป็นประเด็นในการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม ทั้งจากคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการต่อสู้กับอำนาจของผู้ปกครองก็เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และต้องเรียกร้องตะโกนให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของคนใต้บังคับบัญชา ในขณะที่ระดับของความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การตะโกนเพื่อให้รัฐได้ยินของเขาจึงอาจทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการลงทุนมากเกินไป
ทว่า ในห้วงเวลาที่ชีวิตของ 2 เยาวชนถูกใช้เป็นเดิมพัน เพื่อแลกกับข้อเรียกร้องของพวกเขา แม้จะไม่เห็นด้วย แต่หน้าที่ของสังคมก็คงไม่ใช่การประณามการกระทำของทั้งคู่ แต่เป็นการทำความเข้าใจและเคารพในการตัดสินใจของพวกเขา
“สิ่งสำคัญคือไม่ประณามเขา แต่แสดงความคิดเห็นของเรา ผ่านความห่วงใย ไม่ต้องไปตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำอยู่กับถูกหรือผิด ผลที่ออกมาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด แต่ก็เคารพการตัดสินใจของเขา การกระทำของกลุ่มเยาวชนที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจที่มาของการใช้วิธีการแบบนี้ มันก็จะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และเมื่อเราเข้าใจ เราก็จะตำหนิเขาด้วยเหตุผล ไม่ใช่การประณามแบบไม่เข้าใจ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวสรุป