- ขอบเขตความตลกเป็นเซนส์ของการเดินอยู่บนเส้นบางอย่างที่เกือบจะข้ามแต่ยังไม่ข้าม
- ความตลกปลดเปลื้องความเป็นมนุษย์ที่อยากมีความสุขผ่านเสียงหัวเราะ
- ยู – กตัญญู สว่างศรี เล่าว่าการเป็นคนตลกช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไรบ้าง อ่อนไหวได้ไหม มุกแบบไหนที่สังคมขำ-ไม่ขำ
ราว 7 – 8 ปีก่อน ขณะเดินอยู่บนฟุตปาธคอนโดย่านพระราม 9 ตอนตี 3 บรรยากาศสงัดเงียบ มีแต่เสียงลากรองเท้าแตะเนิบ ๆ ผู้เขียนและ กตัญญู สว่างศรี หรือ พี่ยู ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ณ เวลากำลังเดินไปซื้อไส้กรอกชีสและขนมถุงประทังความหิวโหยระหว่างรอตัดงาน กตัญญูบอกว่า สักวันเขาจะทำ Stand up comedy หรือที่เรารู้จักกันว่า ‘เดี่ยว’ ให้ยิ่งใหญ่ให้ได้ เชื่อว่ามันต้องเป็นจริง สักวันเขาจะทำโชว์ที่มีคนมาดูและหัวเราะไปด้วยกัน
ตัดภาพมาเราเดินเคี้ยวไส้กรอกกันในลุคเด็กหออ่านหนังสือสอบ ปล่อยฉากและบทสนทนาคล้ายการ์ตูนมังงะที่ตัวเอกฝันให้ไกลไปให้ถึง และเดินลากรองเท้าแตะกลับห้องทำงานขนาดย่อมไปตัดงานต่อจนถึงเช้า
จากนั้นเราแยกย้ายกันไปทำงานตามที่ทางของตัวเอง อีกไม่กี่ปีถัดมาก็ได้ข่าวว่ากตัญญู สว่างศรี หรือพี่ยูจะทำ Stand up comedy ครั้งแรกที่ชั้นบนของร้านหนังสืออิสระย่าน RCA ชื่อ ‘A Katanyu stand up comedy 2016 30 ปี ชีวิตห่วยสัส’ ที่มีผู้ชมอบอุ่นในพื้นที่เล็ก ๆ และต่อมาเขาก็ส่งข้อความมาชวนไปงานเดี่ยวของตัวเองที่สเกลใหญ่ขึ้นระดับโรงละคร คือ The Man Who Stand Up พร้อมถามว่ามันถูกแกรมมาหรือเปล่าวะ และ Love so hard รักยากสัส ที่ผู้ชมคือผู้ชมจริง ๆ ไม่ใช่คนรู้จักหรือเพื่อนฝูงอย่างที่เคยเป็นมาครั้งยังเป็นเดี่ยวขำ ๆ รุ่นเยาว์ พี่ยูในเสื้อลายทางพร้อมหนวดจิ๋มยิงมุกและแซวผู้ชมเป็นพัก ๆ
8 ปีผ่านไป เราอยู่กันที่ร้านกาแฟแถวสามย่าน พี่ยูในเสื้อลายทาง (ไม่รู้ว่าตัวเดิมรึเปล่า) เดินตัดหน้าสองสาววัยรุ่นที่กำลังถ่ายรูปเก๋ ๆ หน้าร้านกาแฟ ยิงมุกอย่างเป็นธรรมชาติ เข้ามาในร้านแล้วก็ยังเล่นมุกต่อกับพนักงานร้านกาแฟหลังจากที่เธอยื่นแก้วสูตรใหม่ของร้านมาให้ชิม
“โอ้ อยู่ดี ๆ ก็ปวดขี้ขึ้นมาเลยครับ กาแฟนี่ใส่อะไร ใส่โปรไบโอติกปะ”
เขาไม่เปลี่ยนไปเลยแม้เราจะไม่ได้คุยกันมานาน และวันนี้ยังไม่ทันได้เริ่มสัมภาษณ์ กตัญญู สว่างศรี ในฐานะเจ้าของ A Katanyu Stand up comedy club ที่เวลานี้เป็นแหล่งบ่มเพาะนักแสดงเดี่ยวหน้าใหม่ ๆ มากมาย พี่ยูก็เริ่มยิงมุกไปตลอดทางก่อนที่เรากลับเข้าไปที่คลับแสดงเดี่ยวเพื่อคุยกันเรื่องชีวิตขำ ๆ ของเขา แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องวัฒนธรรมเดี่ยวของไทย-เทศ การเป็นคนตลกช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไรบ้าง อ่อนไหวได้ไหม มุกแบบไหนที่สังคมขำ-ไม่ขำ
“คอนเซ็ปต์พี่ตอนนี้นะ เป้าหมายของชีวิตคือตลกไปวัน ๆ”
เขาว่าไว้แบบนั้น
พี่ยู
“มันคิดแค่ว่า เฮ้ย กูชอบเล่าเรื่อง มีคอนเทนต์ ชอบกวนตีน เราชอบนึกถึงตอนที่มูราคามิ(นักเขียนชาวญี่ปุ่น) อยู่ในสนามเบสบอลทั้ง ๆ ที่ทำบาร์แจสมาตลอดชีวิตแล้วก็บอกตัวเองว่า กูเขียนหนังสือได้ แล้วก็เริ่มเขียนหนังสือ เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรหรอกนะ แต่เราชอบ วันหนึ่งเราก็ กูน่าจะทำ Stand up comedy นะ แล้วมองบริบทรอบ ๆ ตัวที่เราทำ ทั้งงานเล่าเรื่อง งานสร้างสรรค์ งานพูด เฮ้ย มันลง format นี้ว่ะ แต่เราไม่ได้คิดว่าเราอยากเป็นเดี่ยวไมโครโฟนอะไร เราคิดแค่ว่าทำอันนี้มันน่าจะโรแมนติกดีว่ะ เราได้ตลก ได้ลองเล่าเรื่อง แค่นั้นเลย”
กตัญญู สว่างศรีเคยเป็นนักเขียน กองบรรณาธิการนิตยสาร Writer นิตยสารที่เข้มข้นด้านวรรณกรรมและวงการน้ำหมึก เคยเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านมานุษยวิทยา เป็นพิธีกรฝีปากกล้าที่อาจจะไม่เท่าหนุ่ม กรรชัย แต่ก็ยิงมุกเละเทะในงานเสวนาปัญญาชน งานคอนเสิร์ต หรืองานอีเวนต์ใด ๆ ก็ตามที่เขาได้รับมอบหมาย
ช่วงที่เราเดินไปซื้อไส้กรอกชีสตอนตีสองตีสามด้วยกันเพราะงานหนัก คือช่วงที่เขาเป็นครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งอยู่ได้ราวปีกว่า เราทำรายการร่วมกันชื่อว่า แบกบาล มีประเด็นหลักในการชำแหละความนามธรรมต่าง ๆ บนโลก เช่น ความกลัว, ความสุนทรีย์, ความขำ, ความเมา จนต่อมาเขาทำงานอยู่ที่เอเจนซีโฆษณา การโชว์เดี่ยวเริ่มผลิบานเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ช่วงนี้ พี่ยูแยกตัวออกมาเปิดบริษัทเอเจนซี เปิดร้านกาแฟ และท้ายที่สุดเราก็นั่งกันอยู่ที่ A Katanyu Comedy club พร้อมกาแฟหนึ่งแก้ว และเบียร์หนึ่งขวด
ตอนเด็ก ๆ จุดที่รู้จักความตลกคือช่วงไหน
ตอนนั้นน่าจะประมาณ ป. 3 จะมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชื่อปราโมทย์ ตอนนั้นเรายังไม่ได้เป็นคนกวนตีนเท่าไหร่ ปราโมทย์เป็นคนเงียบมาก แบบอยู่ในห้องแล้วก็ไม่คุยกับใคร เราบังเอิญไปนั่งอยู่กับมัน แล้วเราเป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริง แต่ยังไม่ได้กวนตีนนะ แล้วพอรู้จักกับมัน ก็เลยรู้ว่ามันกวนตีน เช่น เวลาไปโรงเรียนมันจะต้องเดินไกลกว่าจะไปถึงป้ายรถเมล์ พวกเด็กมีตังค์ก็จะนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไป เด็กไม่มีตังก็จะเดินเอา จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งที่กลับบ้านแล้วปราโมทย์ก็เรียกวินฯ มันก็ถามวินฯ ว่า พี่ กี่โมงแล้ว แล้วมันก็วิ่งไปเลย เราก็วิ่งตาม ขำกันคิกคัก ๆ แล้วหลังจากนั้นก็เลยรู้สึกว่า อ้อ มันสนุกอย่างงี้นี่เอง
หลังจากนั้นเราก็เป็นคนที่ชอบแซวอาจารย์ในห้องตลอด เหมือนเมื่อกี้ที่เดินตัดหน้าคนที่ถ่ายรูปแล้วก็ไปแซวเขา หรือเราชิมกาแฟที่ร้านแล้วก็เออ ปวดขี้ว่ะ มันมีโปรไบโอติกปะ อะไรแบบนี้ เหมือนการเล่นตลกหนึ่งตับที่เราไม่ได้ตั้งใจ แต่เรารู้ว่าเรามีเชื้อที่ชอบสร้างความสนุกอยู่ตลอด
ในฐานะของคนที่ไม่ตลก และต้องครุ่นคิดก่อนพูดว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับใครไหม ทำไมพี่ยูในตอนเด็กถึงกล้าแซวอาจารย์
มันห้ามตัวเองไม่ได้ จริงจริ๊ง แบบ ถ้าพูดแบบนี้ออกไปมันต้องตลกแน่เลยว่ะ ต้องขำแน่เลยว่ะ แล้วมันมีความมั่นใจบางอย่างว่ามันต้องเดินอยู่บนเส้นที่เขารับได้ ถ้ายกตัวอย่างสถานการณ์ที่เราเจอกันเมื่อกี้ ถ้าพูดผิดไปนิดเดียวมันอาจจะแย่ไปเลย แบบกินกาแฟคุณแล้วรู้สึกปวดขี้อะครับ มันเป็นเซนส์ของการเดินอยู่บนเส้นบางอย่างที่มันเกือบ ๆ จะข้ามแหละแต่มันยังไม่ข้ามนะ มันเกือบ ๆ จะเสียมารยาทแหละ แต่ยังไม่ได้เสียมารยาทนะ เมื่อกี้เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราไปแกล้งเขา แต่เขาก็สนุกไปกับเราด้วย
ไอ้ความกล้าเล่นมันค่อย ๆ ขยายขอบเขตมั้ง มันขยายจากการที่เรากล้ากวนตีน กล้าเล่น กล้าตลก กล้าสร้างสรรค์ กล้าทำงาน กล้าขยายโปรเจ็กต์ คือจริง ๆ แล้วสิ่งที่ใหญ่ขึ้นมาคู่กับบุคลิกของเราเลยคือความกล้าที่มาพร้อมกับความแบบ ใครจะทำวะ เราอยากพูดคำนี้ออกมา มันตลกแน่เลย หรือเราอยากทำ Katanyu Comedy Club เพราะมันต้องตลกแน่เลย มันเป็นความเชื่อลึกๆ ที่บางทีไม่มีใครมาเชื่อด้วย แต่เมื่อเราได้ทำหรือทดลอง เราจะรู้ว่ามันถูกหรือผิด
ซึ่งตอนเด็ก ๆ เหตุการณ์แบบนี้มันก็ทดสอบเราไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่รู้ตัวถูกไหม
มันก็ลับคมเราไปเรื่อย ๆ ว่าเส้นไหนที่เราเดินแล้วมันสวยงาม มันจะมีเส้นที่เล่นแล้วเกินไป ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีสิ่งที่เล่นแล้วรู้สึกว่าเกินไปอยู่ เราก็อยากแก้อยากปรับ
มันอาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวที่เราชอบทบทวนหรือตั้งคำถามกับตัวเองค่อนข้างเยอะเนอะ ตอนเด็ก ๆ เราเคยมองกระจกแล้วก็สงสัยว่านี่เป็นเราเหรอวะ หรือว่านี่คือภาพสะท้อนของกระจกเท่านั้น แล้วตัวจริงของเราคืออะไร แขน ใบหน้า สิ่งนี้คืออะไร โลกใบนี้คืออะไร ดวงจันทร์ทำไมอยู่ตรงนั้น แล้วความสิ้นสุดของจักรวาลอยู่ตรงไหน เราเป็นคนชอบตั้งคำถามและสนใจคำถามเชิงปรัชญาตั้งแต่เด็กว่าตายแล้วเป็นยังไงวะ เราต้องตายเหรอ
แล้วได้หาคำตอบไหม
ก็พยายามไปหาคำตอบ แต่วิธีของเด็กมันก็ง่าย ๆ เช่น ถามแม่ อ่านหนังสือนิทาน หรือเข้าห้องสมุด การตั้งคำถามเหล่านี้มันก็นำมาสู่การค่อยๆ เลือกว่าวิธีของการแซว เล่นตลก แบบนี้นี่มันทำร้ายคนอื่นไหมนะ เขารู้สึกแย่เปล่าวะ มีเหตุการณ์ที่คิดว่า แหม๊ ไม่น่าพูดคำนี้ออกไปเลยว่ะ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้มีเครื่องมืออะไรในการเลือก choice ว่า choice นี้ผิด ถูก ต้องแก้ไข นอกจากการตั้งคำถาม ทุกครั้งก็จะฝังหัวว่าเราเล่นมุกนี้ไปแล้วเขาจะรู้สึกไม่ดีเปล่าวะ ไม่น่าพูดคำนี้เลย หรือ อันนี้ดีว่ะ ถ้าเล่นต่อมันจะดีไหมนะ เล่นกับผู้ใหญ่จะถูกไหมวะ
แต่ว่าคำถามในชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่กับสิ่งที่ผิดมากกว่าสิ่งที่ถูก เพราะเล่นแล้วตลกไปแล้วก็จะลืม แต่ถ้าเล่นไปแล้วมันผิด มันจะคาใจว่าแล้วเราไปทำร้ายความรู้สึกเขาหรือเปล่าวะ
เพราะการเล่นตลกมันแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่ทำร้ายคนในทางใดทางหนึ่ง
มีเหยื่ออยู่แล้ว เรา ใครสักคน หรือ object บางอย่างจะต้องเป็นเหยื่อ ตอนนี้เราโตมาแล้วเข้าใจว่าบริบทของการเล่นตลกมันอยู่ตรงไหนแล้วถูกต้อง เช่น บนเวทีเล่นได้แค่ไหน ในชีวิตประจำวันเล่นได้แค่ไหน ในห้องประชุมที่เราขายงานกับลูกค้าได้แค่ไหน ประสบการณ์มันจะบอกเราว่าเส้นประมาณนี้กำลังดี
คิดว่าบริบทของตัวเราสำคัญกับมุกที่เราจะเล่นนะ
สำคัญมาก เรียกว่ากาละเทศะยังได้เลย อย่างเล่นที่นี่คือเราเปิดเต็มที่ เล่นอะไรก็ได้ เราบอกคนดูว่านี่คือ stand up comedy ที่ปลดปล่อยเต็มที่ เป็นเวทีที่ใส่เต็ม แต่สมมติเราไปอยู่ในห้องขายงานกับลูกค้า เรามีเป้าหมายที่อยากให้เขาสนุก เอ็นจอยไปกับงานขายของเรา เราก็เลือกได้ว่าจะเล่นมุกประมาณนี้ มันเหมือนกับว่ายิ่งเราโตขึ้น เราจะรู้ว่าเพลงของเราจะไปอยู่คลื่นไหน คลื่นนี้เพลงลูกทุ่ง คลื่นนี้เพลงสากล คลื่นนี้เพลงแจซ พอเรามีประสบการณ์มากพอ เราก็จะจูนถูกว่าในบรรยากาศนี้คนต้องการฟังเพลงอะไรแล้วเขาจะเอ็นจอย แต่จริง ๆ ในเนื้อตัวทั้งหมดมันต้องการแค่สร้างความสนุกให้กับบรรยากาศ มันเป็นนิสัยน่ะ
ถ้าย้อนไปบริบทตอนเด็ก ๆ เรารู้เส้นนี้ไหม มีกรอบหรือข้อจำกัดของสังคมวัฒนธรรมอะไรในตอนนั้น
ตอนเด็กมันไม่คิดหรอก มันโพล่งออกไปแล้วมานั่งคิดว่า อุ๊ย เขาจะรู้สึกยังไงนะ มันไม่ได้มาแบบว่า โห กรอบนี้ไม่ควรพูด เล่นก็คือเล่น แต่เราจะรู้ว่ามันมีบรรทัดฐานบางอย่างที่เรารับรู้อยู่แล้วว่าไม่ควรเล่น แต่มันอาจจะฝังอยู่ใต้หัวสมองเราก็ได้นะ ยิ่งเราโตขึ้นมา ไอ้บรรทัดฐานเนี่ยมันถูกตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมเล่นไม่ได้วะ
เช่น?
ฆฆ๒๓๔ูฤ๐๑๓๒๔฿ฺ?ฆโฆฏโฆ
เอาที่ลงได้สิ
(หัวเราะดังทั้งคู่) เห็นไหมว่ามันสนุก ก็มันเป็นสิ่งที่ถูกตรึงไว้ เรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องกรอบทางสังคม เรื่องระบบอุปถัมภ์ที่สิทธิเสรีภาพมันยังไม่สุดที่จะพูดถึงขั้นนั้น แต่อย่างง่ายที่สุด เราจะเห็นว่าถ้ามีใครแซวนายกฯ ก็จะมีคนพูดมุกประมาณว่า ไม่หาร ไม่ร่วมด้วย มันคือ self-censorship บางอย่าง อย่างวันนี้เราไปพูดอยู่ในห้องสัมมนาออนไลน์ นักศึกษาก็แซว เราก็ไม่อยากจะไปพูดถึง เลยพูดขึ้นมาว่า อ้าว เราพูดถึงคนนี้ได้ด้วยเหรอ เราก็ self-censorship แล้วน้องก็ขำแห้ง ๆ เราก็บอกว่าอย่าไปพูดถึงคน____ แบบนี้เลย แล้วเราก็ข้ามเรื่องไป (หัวเราะ) สุดท้ายเราก็พูดออกไปอยู่ดี
แต่เรื่องการเมืองเราเล่นมุกกันในชีวิตประจำวันเละเทะอยู่แล้ว
เละเทะเมื่อ off record น่ะ คือเราไม่ได้จบที่การเมืองไง ที่เราเล่นตลกกันไป ๆ มา ๆ แล้วเราสุดท้ายมันไปเสียดสีหรือพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเรา มันเป็นเรื่องที่เราอาจจะเจ็บใจอยู่ลึก ๆ หงุดหงิดอยู่ลึก ๆ แล้วมันอยากระบายออกมา
เมื่อไหร่ที่ไม่ขำ
คิดว่ามุกตลกเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำให้คนเข้าใจความเป็นไปของปรากฎการณ์ทางสังคม
ถ้านักแสดงตลกเก่ง เราจะได้สิ่งนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งก็ได้ ถ้าเขาพูดในเรื่องที่แตกต่างจากความคิดเห็นของเรา แต่เราซื้อลอจิกเขาแล้วขำน่ะ เมื่อนั้นเราจะรู้สึกว่าเราเริ่มฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มันช่วยให้คนเปลี่ยนแปลงความคิดหรือตั้งคำถามได้ เป็นการวางเป้าหมายการเล่นเดี่ยวของแต่ละคน อย่างแสตนด์อัพรุ่นใหม่ก็มีคนที่อยากสื่อสารเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน แต่เราคิดว่าสิ่งที่อยู่ในใจของนักแสดงตลกที่ออกมา มันสะท้อนสิ่งที่เขาคิด พื้นที่ที่เขาอยู่ แล้วพอมันต่างไปจากเรื่องเล่าชุดตลกผัวเมีย มันก็จะได้เจอเรื่องอื่น ๆ มากขึ้น
พี่ยูเองเป็นนักแสดงเดี่ยวแบบไหน
เรารู้สึกว่าเรายังทำการบ้านไม่มากพอกับการทำแสตนด์อัพของตัวเองนะ
เหรอ?!
ใช่ เราอยู่มานาน แต่เราก็ไม่ได้เล่นจนรู้ว่าทางของตัวเองคืออะไร ที่ผ่านมาเราชอบเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ความผิดหวัง ความเป็นขี้แพ้ สิ่งที่เราพยายามเล่าหรือพูดเสมอคือเรื่องความพยายามที่จะก้าวข้ามชีวิตที่มันต้องดิ้นรนยากลำบาก เช่น Love so hard พูดเรื่องการก้าวข้ามผ่านความรัก ความผิดหวังแล้วก็ไปต่อ หรือโชว์แรก The man who stand up ก็พูดเรื่องการพยายามที่จะมีพื้นที่ของตัวเอง แต่พอมาเป็น set up ใหม่หลังจากผ่านแสตนด์อัพมา 6 ปี มันจะมีจุดที่เราดู Stand up แล้วเขาเสนอไอเดียน่าสนใจ เช่น เดี๋ยวจะมียืนเดี่ยวคอนเซ็ปต์เรื่องผิดผี เพราะเราไม่อินกับเรื่องผีเลย แต่ถ้าเราเชื่อร่วมกันว่าผีมีจริง แสดงว่าทุกคนต้องกลายเป็นผี คำถามคือ เรามองผีเป็นอื่นมาตลอดเลย แต่จริง ๆ ผีคือพวกเรานะเว้ย เตรียมตัวเป็นผีกันแล้วหรือยัง
มุกเราก็จะแบบว่าถ้ากูเป็นผี อย่างแรกกูไม่อยู่บ้านร้าง เดี๋ยวก็มีคนมาล่าท้าผีอีกและ ไม่สงบเลย มันมีโรงแรมดี ๆ ที่คนไม่อยู่ไหม สะอาดหรู ๆ หรือเสาร์อาทิตย์เขาเตะบอล ไปรวมตัวเป็นเด็กผีกับเขาไหม
นี่คือคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ ว่าผีไม่ได้ผิดอะไรเลยนะเว้ย แต่เราหมกมุ่นกับผีมากเลย เราตั้งใจที่จะล้อเลียนความคิดว่าทุกอย่างเราไปโทษผี เราไม่ได้อยากเอาความชุดความคิดเดิม ๆ มาเล่าอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำงานกับความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ได้เล่าจากแค่เรื่องประสบการณ์ส่วนตัว
คิดว่ามุกที่เล่นได้/ไม่ได้คือมุกแบบไหน
เราอธิบายเรื่องนี้ด้วยการแยก genre (ประเภท) เช่น เวลาเราดูหนัง มันมีหนังดรามา ฆาตกรรม หนัง X หนังรักโรแมนติกเพียบเลย แต่พอมันเป็นการแสดงเดี่ยว ทำไมมันไม่มี genre วะ ซึ่งจริง ๆ มันมีนะ เช่น dark comedy (ตลกร้าย), political comedy (ตลกแนวการเมือง), comedy แบบใส ๆ น่ารัก หรือสายเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิต genre พวกนี้มันสามารถทำให้เรื่องตลกมันลงล็อคและคนจะเข้าใจมันได้ว่าเรากำลังจะเจอสิ่งนี้อยู่ เรากำลังจะเจอเรื่อง satire (เสียดสี) แบบนี้ อย่างเทรเวอร์ โนอาห์ (นักแสดงตลกชาวแอฟริกัน) ก็เคยเล่าเรื่องอวัยวะเพศนะ ว่าคนออกมาจาก pussy ได้แสดงว่ามันแข็งแกร่งมาก แต่เขาเล่าเรื่องอวัยวะเพศผ่านความเป็นปัญญาชน ผ่านการคิดและสร้างสรรค์ตีความ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีมุกหยาบโลนแบบ หน้า_ อยู่ในเดี่ยวแบบจิมมี่ คาร์ (นักแสดงตลกชาวอังกฤษ) ทีนี้พอมันมี genre มันก็ทำให้บริบทของแต่ละเรื่องมันถูกต้องของมัน และคนที่เลือกเสพก็จะเข้าใจว่ากำลังดูสิ่งนี้ จิมมี คาร์เริ่มต้นโชว์มุกร้ายขายขำ (His dark material) ว่ามุกกับเรื่องจริงเป็นคนละเรื่องกัน มุกข่มขืนกับการข่มขืนไม่เท่ากัน มุกข่มขืนคือมุก การข่มขืนคือสิ่งที่ผิด
แต่คนอาจจะบอกว่ามุกคนดำ มุก 18+ ต่าง ๆ มันก็มาจากปรากฎการณ์ทางสังคมจริง ๆ มันจะสามารถเล่นมุกเพื่อเสียงหัวเราะโดยไม่คำนึงถึงประเด็นอื่นได้เหรอ
เราว่าคนละประเด็นกัน ถ้าเข้าใจว่าเรากำลังนำเสนอไอเดียว่ามันคือมุก มันจะอยู่ในบริบทของการเป็นมุก ความจริงมันมีอยู่ มุกตลกมันแค่สะท้อนความจริงเฉย ๆ เราแค่นำเสนอไอเดีย แล้วถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่เคารพคนดำเลย คุณไม่ควรอยู่ในโรงละครแห่งนี้จ้ะ คุณควรไปดูอย่างอื่นที่คุณชอบเพราะคุณไม่เข้าใจแล้ว เหมือนคนไม่ชอบหนังผี ไม่ดูหนังซอมบี้ มันแหยะ แค่นั้นเอง เราไม่ได้อยากไล่คนดูนะ แต่บริบทของ เดี่ยวในบ้านเรา genre มันน้อย ตลกก็คือตลกทั้งมวล แล้วเรื่องเราก็ตลกบ้านเรามันก็เป็นชุดเดิม ๆ ชุดผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ชายเจ้าชู้ ไปแอบมีใคร ไปเที่ยวหมอนวด
หรือแนวเรื่องรูปลักษณ์ ผู้หญิงอ้วนดำ ผู้ชายอ้วนดำ
ผู้หญิงก็เป็นวัตถุดิบให้กับมุกตลก สวยหน่วยก็แซว มุกตลกใน tiktok ก็เป็นแบบนี้เยอะเต็มไปหมดเลย เราไม่ได้บอกว่ามันผิดหรือไม่ดีนะ แต่แค่เรื่องเล่าชุดนี้มันเป็นเรื่องเล่าชุดใหญ่ที่ถูกเล่าอยู่ในมุกตลกบ้านเรา โดยไม่ได้มี genre อื่น ๆ มาก มันเลยทำให้มุมมองต่อเรื่องตลกมันถูกครอบไปว่าตลกมันจะแค่นี้แหละ แต่ในขณะที่นักแสดงตลกในประเทศอื่นอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจและแตกต่างออกไป เช่น ริกกี้ จีเวลส์ (นักแสดงตลกชาวอังกฤษ) เล่นมุกเรื่องวิทยาศาสตร์ ความจริงของมนุษย์ เทรเวอร์ โนอาห์ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ การเมืองโลก เดฟ ชาเพล (นักแสดงตลกชาวอเมริกัน) พูดถึงเรื่องตำรวจที่ชอบเล่นงานคนดำ มันก็จะมีจุดยืนบางอย่างของนักแสดงตลกบางคน
แต่เราก็รู้สึกว่าเป็นนักแสดงที่ผู้หญิงไม่ชอบเหมือนกันว่ะ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่านะ แต่เราเป็นคนเล่นมุกลามกและหยาบคายเหมือนกัน
ได้คิดกับเรื่องนี้ไหม เพราะเรื่องนี้มันเป็นแรงต้านของสังคมอยู่เหมือนกัน
ก็พยายามสร้างสมดุลคาแรคเตอร์ของตัวเองที่เราชอบ กับความเป็นตัวของเราเองให้เป็นที่ชื่นชอบมากยิ่งขึ้น พยายามลดคำหยาบ ตัดทอน เลือกใช้มากยิ่งขึ้น แต่ว่าก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองดีหรือเก่งเท่าไหร่ ต้องพัฒนาอีกเยอะ บางมุกใต้กระโปรงที่เคยเล่นคือเหี้ยมาก แต่ตัวตนเราเป็นแบบนี้น่ะ ซึ่งมันก็แล้วแต่จริตคนชอบ เคยลองใช้แทนคำอื่นที่ไม่ใช่คำหยาบแล้ว แต่ยังไม่มีคำไหนที่จะไปถึงความต้องการได้
พี่ยูมีวิธีการรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์ การโดนตัดสินหรือความผิดพลาดยังไง เพราะมุกตลก 18+ มักจะโดนวิพากษ์เยอะ
อาจจะเป็นโชคดีที่เราโดนวิจารณ์ในแง่บวกค่อนข้างเยอะนะ อะไรที่เป็นคำวิจารณ์ในแง่ลบเราตั้งใจฟังในสิ่งที่จะมาพัฒนาเราได้ เช่น ถ้ามีคนบอกว่าไม่ตลกเลย เรายอมรับส่วนหนึ่ง แล้วเดี๋ยวเราไปพัฒนาให้ตลกขึ้น หรือเห็นการใช้สายไมค์ที่ดูไม่คล่องแคล่วแล้วอึดอัดมากเลย แล้วเราไม่ถนัดจริง ๆ อันเนี้ยเราก็ฟัง แล้วก็ไปดูว่าฝรั่งเขาเล่นกับสายไมค์ยังไง หรือแม้กระทั่งเมื่อจบโชว์ครั้งแรก จำได้ว่านิ้วกลมโทรมาคุยเลยว่าแบบนั้นแบบนี้น่าจะมืออาชีพมากขึ้น เราก็เอามาพัฒนาโชว์ที่ 2 เราคิดว่ารับเป็นเรื่อง ๆ ไป เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ โดนด่าแบบไร้สาระก็ไม่เป็นไร ก็เข้าใจ ไม่ได้ถือไว้นาน
การเอาความรู้สึกจริง ๆ มากองให้คนได้เห็นมันมีหัวจิตหัวใจดี
พี่ยูเปลี่ยนอาชีพมหาศาลอยู่เหมือนกันตั้งแต่เป็นนักเขียน เป็นครีเอทีฟรายการทีวี และสุดท้ายเป็นเจ้าของเอเจนซี ทำเดี่ยวไมโครโฟน มีส่วนผสมบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของแต่ละงาน แต่ตัวงานแตกต่างกัน
เราว่าผลิตภัณฑ์มันเปลี่ยนเท่านั้นเอง แต่เรายังครุ่นคิดเหมือนเดิมนะ แค่วันหนึ่งเราเคยอยู่ในร้านอาหารที่เป็นไฟน์ไดน์นิ่ง แต่วันนี้เราทำขนมหวาน เราก็ต้องคิดเยอะนะ มันก็มอบความสุขเหมือนกัน สร้างสรรค์เหมือนกัน แค่มันอาจจะดูไม่ปัญญาชนแล้ว แล้วต่อให้บอกว่าเปลี่ยนรูปแบบแต่ตัวตนก็เหมือนเดิมเลยนะ ตอนเป็นนักเขียนก็ซีเรียสเนอะ แต่เวลาเป็นพิธีกรเราก็ซีเรียสกับความกวนตีน เราเป็นคนที่มีส่วนผสมของความซีเรียสกับความกวนตีนน่ะ
ความปัญญาชนมันก็พูดยากว่าความหมายของมันคืออะไรกันแน่ อย่างความตลกหรือการใช้เซนส์นี้มาแปลงเป็นชีวิต การทำงาน ก็ถือเป็นชุดความรู้
มันก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นความรู้แบบที่ไม่มีความเป็นวิชาการขนาดนั้น สมมติว่าเราเรียนมานุษยวิทยามา เราก็จะมีลอจิก มีวิธีวิทยาชัดเจนว่ารูปแบบในการสร้างงานวิจัย ต้องมีการลง fieldwork ถึงเแม้ว่าการสัมภาษณ์ของนักมานุษยวิทยาในการเข้าใจสังคมต่าง ๆ จะเลื่อนไหลไปตามวัฒนธรรมและอาจจะแตกต่างกันมาก ๆ แต่สุดท้ายมันมีความเป็นวิชาการบางอย่างที่ชัดเจน แต่ในขณะที่ Standup comedy มันไม่ได้มี school ของมัน มันอาจจะมีในอเมริกาก็ได้นะ แต่ว่ามันไม่ได้ถูกจัดเรียงข้อมูลขนาดนั้นเพราะมันเป็นศิลปะด้วย ศิลปะก็อาจจะถูกจัดเรียงในนิทรรศการ แต่ความตลกมันไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้มันชัดเจน มันเป็นความบันเทิง ความสร้างสรรค์ที่ใช้ความคิดเยอะก่อนที่จะนำเสนออกมา แล้วมันเสือกเป็นความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับความตลกมั้ง
เดี่ยว Love so hard นี่เหมือนเป็นการบำบัดเหมือนกันไหม การทำแสตนอัพ การเอาส่วนที่อ่อนไหวเปราะบางออกมาในยุคที่คนมองว่าความอ่อนแอเป็นสิ่งที่ต้องก้าว มูฟออนต่อ ทำไมถึงเลือกเล่าส่วนนี้
เราว่ามันเชื่อมโยงกับผู้คนได้ เราชอบพูดกับพวกนักแสดงเดี่ยวว่าเวลามึงเอาหัวใจตัวเองมากองบนเวทีมันรู้สึกว่าเชื่อมโยงกับคนฟังดี เรารู้สึกว่ามันเหมือนเราเอาความรู้สึกจริง ๆ มากองให้คนได้เห็น เพราะพอมันเป็นงาน เราปรุงแต่งมันได้ เราทำให้มันสนุกขึ้นได้ และเราว่ามันมีหัวจิตหัวใจดี เราไม่ได้อยากจะฟังแสตนด์อัพฯ แค่เพียงอยากจะฟังไอเดีย ความตลกต้องมาเป็นหลัก แต่ว่าเราก็อยากจะฟังถึงหัวจิตหัวใจของเขา มันมีนักแสดงตลกที่เราตามดูทั้ง ๆ ที่ก็ไม่เห็นว่ามันตลกสักทีเลย แต่ว่ามันมีบางอย่างที่ชอบมากเกี่ยวกับความรู้สึกของเขา
เราว่าการแสดงเดี่ยวมันมีเสน่ห์ตรงที่ได้รู้จักคน ได้สนิทกับเขาโดยที่ไม่ได้พูดคุยกันหรอก อย่างนักแสดงตลกอย่างโจ คอย ( นักแสดงตลกชาวอเมริกัน) เล่าเรื่องแม่ เรื่องครอบครัว เราก็รู้สึกว่าเหมือนไปนั่งในครอบครัวเขาน่ะ แล้วความรู้สึกนี้มันเชื่อมโยงระหว่างคนฟังกับคนดู
ชอบที่เทรเวอร์ โนอาห์บอกว่า เขาเรียนรู้ว่าอารมณ์ขันมันสามารถเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนบทสนทนา และมองชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นจริง พี่ยูคิดว่ามันมีส่วนให้ชีวิตมันไปต่อได้อย่างไร
โอ้ เยอะมาก สำหรับเรามันอยู่ในทุกจังหวะเลยนะ ตอนเช้าที่มีการบรรยายให้นักศึกษามหาวิทยาลัย เราก้ใช้ sense of humor แชร์ประสบการณ์ที่มากกว่าแค่มานั่งบรรยายตลก ๆ น้อง ๆ ก็ชอบมาก แต่ประเด็นที่เราชอบมาก ๆ เลยและเพิ่งค้นพบคำตอบในการอธิบายคือ หลังจากดูโชว์มุกร้ายขายขำของจิมมี่ คาร์ เขาเป็นตลกแนวเสียดสีแบบโหด ๆ รุนแรง เช่น ขอเสียงคนเป็นวีแกนหน่อย เอ้า ไม่มีแรงตอบอะสิ หรือเขาไปเล่นตลกให้ผู้ป่วยที่เหลือเวลาในชีวิตไม่เยอะ เขาก็ขึ้นเวทีแล้วบอกว่า เอ้า พวกคุณเหลือเวลากันอีกไม่เยอะแล้วนี่ เขาบอกแล้วว่าเวลาที่เขาเล่นมุกเสียดสี ทิ่มแทง หรือเล่นแรง ๆ เขาสงสารคนที่ไม่ขำ คนที่หัวเราะได้เวลาที่เขาขมขื่นกับชีวิต เวลาที่เขาแย่ ทุกข์ทรมาน เขาจะหัวเราะกับมันได้ แต่คนที่หัวเราะไม่ได้ เวลาเขาเจอเรื่องขมขื่นทรมาน เขาจะกอดความทุกข์นั้นเอาไว้ แล้วก็จะจมกับความรู้สึกแย่อยู่แบบนั้น
แต่ทักษะแบบนี้มันต้องได้รับการฝึกฝนขัดเกลาระหว่างการเติบโต
เราคิดว่าความขี้เล่น กวนตีน มันต้องอาศัยครอบครัวที่เปิดกว้างนะ เราถูกปลูกฝังมายังไง มันมักจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ครอบครัวหรือพ่อแม่ที่ยอมให้เราเล่นได้ เปิดโอกาสให้เราพูด หรือเปิดโอกาสให้เราคิด
เรานึกถึงตัวเองเลยวันที่การงานหนักหนามาก มันจะมีวันที่ยากสัด ๆ แบบก็มาดิค้าบ แล้วปรากฎว่าสิ่งที่ค้นพบว่าทุกปัญหามันมีทางออกจริง ๆ ว่ะ และเราแบบ เออ แล้วไงอะ กูขำน่ะ เราผ่านมันมาได้ด้วยเสียงหัวเราะ หัวเราะกับความทุกข์โศกของมัน เราว่านี่คืออีกพาร์ทหนึ่งในการใช้ความตลกมาขับเคลื่อนชีวิตนอกจากทำงานสร้างสรรค์ ทำงานครีเอทีฟหาเลี้ยงชีพให้ตัวเอง ใช้จังหวะของชีวิตไปทุก ๆ วันกับเสียงหัวเราะแล้วเรายังผ่านความทุกข์ไปด้วยเสียงหัวเราะด้วย พี่แม่งโคตรแฮปปี้
ฮาซาน มินฮาจญ์ นักแสดงตลกชาวอินเดีย-อเมริกัน เคยพูดไว้ว่าเขามองความตลกเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะ เป็นศิลปะที่ซื่อสัตย์และสวยงามที่เปิดโอกาสให้เราพูดเรื่องอะไรก็ได้ อาชีพนี้ทำให้เขาได้สร้างความเชื่อใจให้คนดู และเขาเองก็เติบโตมาแบบที่เข้าใจว่าตัวเองรู้จักนักแสดงตลกคนนั้น ๆ ดี เห็นมุมมองของพวกเขาที่มีต่อโลก ดังนั้นการแสดงตลกจึงเป็นของขวัญที่ล้ำค่าไม่ใช่แต่เฉพาะเขาเองที่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกับชีวิต อะไรที่อยากแบ่งปันให้โลก แต่ยังเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้มองเห็นคนดู และคนดูมองเห็นตัวเขา
เทรเวอร์ โนอาห์ก็เคยบอกไว้ว่าเขาคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของความตลกคือเสรีภาพในการพูดและหาความรู้ใส่ตัวเองว่าอยากจะเล่นมุกอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก ความตลกดึงคุณกลับมาว่าคุณอยากจะเป็นใคร เคยเป็นใคร และโลกไม่ได้แตกหรอกแม้ว่ามันจะดูเหมือนเป็นอย่างนั้น คุณต้องสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก เล่ามันออกมันไปบนพื้นฐานของความเป็นจริง แล้วมุกตลกก็จะมาของมันเอง
หลังจากจบบทสนทนา นักแสดงเดี่ยวแต่ละคนขึ้นพูดบนเวทีราวหนึ่งทุ่มกว่า ด้านนอกเสียงฝนสะท้อนกำแพงจัดจ้าน แต่หลายสิบคนในห้องเล็ก ๆ บนชั้นสองของตึกกำลังหัวเราะกันอยู่ สิ่งที่น่าประทับใจคือความรู้สึกที่เปิดกว้าง พื้นที่ที่โอบรับ และความปลอดภัยของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทั้งประเด็นเองก็หลากหลายเหลือจะกล่าว มีทั้งเรื่องผู้หญิง เซ็กส์ ปมเรื่องส่วนสูง ความเป็นคนอีสาน สรรพนามและเพลงอีสาน เป็นความสวยงามของการเชิญให้คนดูร้องและรำตามไปด้วย มีทั้งมุกที่ขำและไม่ขำปะปนกันไป แต่เราต่างก็รู้ว่านั่นไม่ใช่ประเด็นของการดูเดี่ยวไมโครโฟน
เหตุการณ์วันนี้ทำให้เรานึกถึงวันที่นั่งมองกตัญญูจากบัตรระยะไกลในเดี่ยว Love so hard รักยากสัส เมื่อปี 2561 ที่รู้สึกว่าตัวเขาบนเวทีไม่ได้แตกต่างจากตัวเขาที่นั่งเคี้ยวคอหมูย่างด้วยกันบนโต๊ะ หรือลากแตะไปซื้อไส้กรอกชีสด้วยกันเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ความตลกมันแค่ปลดเปลื้องความเป็นมนุษย์ที่อยากมีความสุขผ่านเสียงหัวเราะ เราล้วนอยากเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด อยากเลิกแพ้ อยากปลอดภัย อยากหายเหงา อยากให้มีคนยอมรับ อยากเป็นคนรักที่ดีของใครสักคน
การมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะสั้นหรืออยู่ในรูปแบบไหนล้วนงดงาม เมื่อเราหัวเราะ ชุดเกราะแห่งอคติจะค่อย ๆ หายไปทีละชั้น เรารู้ได้โดยธรรมชาติว่านี่คือโอกาสแห่งการได้เป็นตัวเอง และเมื่อเอาเวทีและไมโครโฟนออกไป อย่างน้อยที่สุดและสำคัญที่สุด มนุษย์ที่ยืนอยู่ตรงนั้นเข้าใจในทันทีว่าพวกเขาถูกรับฟัง
ผลงานเดี่ยวของกตัญญู
บันทึกการแสดงสด AKATANYU: Love So Hard
’30 ปีชีวิตห่วยสัส’ Stand Up Comedy ครั้งแรกของ กตัญญู สว่างศรี