- ในปีนี้มีแบรนด์ไทยที่ไปเฉิดฉายบนเวที New York Fashion Week ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เป็นที่ฮือฮาก็คือแบรนด์ที่ว่ามีเจ้าของเป็นเด็กอายุ 11 และ 10 ปี
- ฮีโร่-วจนะ ชุมพวง และ วินนี่-เคสิยาห์ ชุมพวง คือศิลปินเด็กที่คนหนึ่งวาดรูป realistic และอีกคนวาดรูป abstract แล้ววันหนึ่งสองพี่น้องก็ร่วมหุ้นกันสร้างแบรนเ์เสื้อผ้าอย่าง Keziah ขึ้น
- แต่ พ่อโพ-กรกมล ชุมพวง พ่อของทั้งสองยืนยันว่าเด็ก ๆ ไม่ได้เป็นอัจฉริยะหรือมีพรสวรรค์มากกว่าคนอื่น ๆ และใคร ๆ ก็ไป New York Fashion Week ได้หากมีใครสักคนเชื่อในตัวเขา
“ความวิตกกังวลทำให้ใจหดหู่ แต่คำพูดที่ให้กำลังใจย่อมทำให้เขามีความสุข”
– สุภาษิต 12:25
เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าตื่นเต้นและเป็นที่ฮือฮาเกิดขึ้น เมื่อคนไทยสามารถพาแบรนด์เสื้อผ้าไปเฉิดฉายโลดแล่นบนเวทีแฟชั่นระดับโลกอย่าง New York Fashion Week ได้ ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยที่ว่าคือศิลปินน้อยวัย 11 และ 10 ปี อย่าง ฮีโร่-วจนะ ชุมพวง และ วินนี่-เคสิยาห์ ชุมพวง สองพี่น้องผู้หลงใหลในการสร้างงานศิลปะ
“อัจฉริยะ” และ “พรสวรรค์” น่าจะเป็นคำที่ใครต่างก็ต้องเอ่ยออกมาเมื่อได้เห็นผลงานและความสำเร็จของฮีโร่กับวินนี่ ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องของอัจฉริยะหรือพรสวรรค์ เรื่องราวเส้นทางความสำเร็จของสองพี่น้องคือเรื่องของเด็กธรรมดา ๆ ที่มีความหลงใหลใฝ่ฝันเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ผลงานชิ้นแรกของพวกเขาไม่ได้ต่างจากผลงานชิ้นแรกของคนทั่ว ๆ ไป และหากจะมีสิ่งใดที่ใกล้เคียงกับคำว่า “พรแสนวิเศษ” สิ่งนั้นก็คือการที่มีใครสักคนเชื่อมั่นในตัวพวกเขา เชื่อมากพอที่จะไม่ดับไฟแห่งความฝัน เชื่อมากพอที่จะไม่พูดคำว่าเป็นไปไม่ได้ และเชื่อพอที่จะ ‘เล่นสนุก’ ไปกับพวกเขาบนเส้นทางแห่งความฝันนี้ อย่างที่ พ่อโพ–กรกมล ชุมพวง และแม่มุ้ย–ยุภวัลย์ ย่องภู่ เชื่อมาตลอด
-Preface-
วินนี่อยากให้ทุกคนใส่แบรนด์ของวินนี่
“สวัสดีค่ะ หนูชื่อเคสิยาห์ ชุมพวง ชื่อเล่นชื่อ วินนี่ ค่ะ อายุ 10 ขวบ” วินนี่แนะนำตัวเสียงฉะฉานเป็นการเปิดบทสนทนา “สวัสดีครับ ผมชื่อเด็กชายวจนะ ชุมพวง ชื่อเล่นชื่อ ฮีโร่ ครับ อายุ 11 ขวบ” ฮีโร่แนะนำตัวตามมาด้วยเสียงที่เบากว่าน้อง
“ฮีโร่ไปเจอมิชชันนารีครอบครัวหนึ่ง เขามีลูก 4 คน ลูกคนโตเวลาไปไหนชอบเอาสมุดสเก็ตช์ไปวาดรูปทุกที่ที่เขาไป ฮีโร่ก็เลยอยากลองวาดดูบ้างครับ พอได้ลองมันก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่เขาก็บอกว่ามันสวยมาก มัน amazing มากเลย ภาพแรกที่ฮีโร่วาดน่าจะเป็นวิวป่าครับ” ฮีโร่เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มวาดรูป
“วินนี่วาดตามฮีโร่ค่ะ แต่วินนี่ชอบแบบ abstract เพราะวินนี่วาดเหมือนจริงไม่ค่อยเก่ง” วินนี่เสริมขึ้นมาบ้าง
ฮีโร่เล่าว่าคำชมจากมิชชันนารีทำให้เขารู้สึกภูมิใจและลองวาดต่อมาเรื่อย ๆ โดยไม่เคยไปเรียนศิลปะเลย การฝึกฝนเพื่อพัฒนาฝีมือของฮีโร่จึงเป็นการ ‘เล่นไปเรื่อย ๆ’
“มีอยู่วันหนึ่งฮีโร่ถูกเชิญไปงานศิลปินสัญจรที่กระบี่ แล้วฮีโร่ได้ไปร่วม workshop กับเขา ปะป๊าก็เลยหาเฟรมให้วินนี่เพื่อให้วินนี่ไม่ไปกวนฮีโร่ แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ได้จับสีอะคริลิกทั้งสองคนเลย ตอนแรกทุกคนยังไม่รู้ว่ามันจะมีการประกวดด้วย พอวันถัดมาฮีโร่ได้เหรียญทอง วินนี่ได้เหรียญเงิน” นั่นคือครั้งแรกที่วินนี่ค้นพบความสามารถและความชื่นชอบของตัวเอง “ก็งงนิดหน่อยค่ะ แล้วพอกลับมาก็เลยวาดรูป abstract เรื่อย ๆ เลย”
ส่วนบทบาทของทั้งคู่ในแบรนด์ Keziah คือวินนี่ ‘ทำทุกอย่าง’ ส่วนฮีโร่วาดรูปและให้ลาย แต่นอกจากให้ลายแล้ว ฮีโร่ยังเป็นคนจ่ายเงินค่าออกแบบโลโก้ด้วย “วินนี่บังคับ” ฮีโร่บอก
ได้คุยกับทั้งสองคนทั้งที คำถามที่ไม่ถามไม่ได้ก็คือเรื่องประสบการณ์การได้ไป New York Fashion Week
“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรจริงจัง แค่อยากไปดูเทพีเสรีภาพ พอคิดว่าจะได้ไปจริงจังก็เลยรีบออกแบบชุด ตื่นเต้น ฮีโร่ให้ลายผ้าวินนี่มาหนึ่งลาย แล้ววินนี่ก็จะไปเลือกผ้าที่ร้านผ้าว่าชุดนี้จะเอาผ้าเนื้อแบบไหน พอเลือกเสร็จก็ไปคุยกับช่างตัด”
“ส่วนฮีโร่ก็ฝึกวาดรูปแมลงปอครับ เพราะรู้ว่าต้องไปวาดที่นั่น” นั่นเป็นเพราะชุดเดรสชูโรงของคอลเล็กชันที่สองพี่น้องนำไปแสดงบนงาน New York Fashion Week คือชุดลายแมลงปอที่ฮีโร่เป็นคนวาด “ฮีโร่ไปร้านกวนนิโตที่ตรังครับ แล้วเจอแมลงปอ รู้สึกมันตัวเล็กแล้วก็ปีกบาง ไม่เหมือนนกที่ปีกใหญ่ แต่มันก็สามารถบินได้”
“วินนี่เตรียมชุดไป 16 ชุด เลือกผ้าเอง ออกแบบเอง เลือกนางแบบเองทั้งหมด เลือกหน้าผมทั้งหมด แต่หน้าผมเลือกมาจากบ้านแล้วว่าจะเอาธีมอะไร แล้วก็เอาไปให้เขาดู เขาก็ทำให้” วินนี่เล่าถึงตอนที่ต้องเลือกนางแบบแต่ละคนมาสวมเสื้อผ้าของ Keziah ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างเครียดจนทำให้วินนี่เกือบจะร้องไห้ “ต้องเลือกนางแบบแต่ละคนเองค่ะ ถ้าไม่เหมาะก็ต้องปฏิเสธ เวลาต้องปฏิเสธก็เสียใจจะร้องไห้ แต่ก็พยายามกลั้นไว้ให้งานเสร็จก่อน หม่าม้าก็บอกให้เข้มแข็งเพราะถ้าวินนี่ร้องไห้ทุกคนจะทำงานกันยาก”
นอกจากจะให้ประสบการณ์ในการทำงานระดับโลกแล้ว การได้ไปเยือนนิวยอร์กยังทำให้เด็ก ๆ ได้แรงบันดาลใจกลับมาด้วย
“ตอนไป MoMA ได้ไปเจองานของแวนโก๊ะ แล้วคิดว่ามันเป็นภาพธรรมดาแต่ราคาระดับหลายพันล้าน ฮีโร่ก็อยากเป็นแบบนั้น อยากมีผลงานแบบนั้น อยากเป็นศิลปินระดับโลกบ้างครับ”
“วินนี่อยากไปปารีสเพราะเป็นเมืองศูนย์รวมแฟชั่น เวลาดูหนัง คนในปารีสก็แต่งตัวมีสไตล์ แล้วก็อยากให้ทุกคนรู้จักแบรนด์ของวินนี่ อยากให้ทุกคนใส่แบรนด์ของวินนี่”
-01-
ศิลปะที่ไม่มีกฎเกณฑ์
หลังจากที่การพูดคุยสั้น ๆ กับฮีโร่และวินนี่จบลงแล้ว เราก็ได้สนทนากับพ่อโพ–กรกมล ชุมพวง คุณพ่อผู้ทำอาชีพทนายความ และยอมรับกับเราว่าไม่เคยมีความรู้ด้านศิลปะมาก่อน แต่ความรักทำให้ต้องรู้ และยิ่งกว่าต้องรู้คือต้องประคับประคองเปลวไฟแห่งความฝันของลูกให้ยังสว่างไสวอยู่เสมอด้วยเชื้อเพลิงที่เรียกว่าความเชื่อและการสนับสนุน
เส้นทางศิลปินของฮีโร่และวินนี่เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง
ตอนแรกที่เขาวาดรูปก็นึกว่าเขาเล่นทั่วไป ไม่ได้คิดว่าจะมีความฝันเป็นศิลปิน ก็คือลูกเราทำงานศิลปะมาตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง พอทำมามันก็ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างอะไร แต่พอเขาเอารูปไปให้ครอบครัวมิชชันนารีที่เรารู้จักดู ทั้งสามีและภรรยาเขาจะชมแบบลงรายละเอียดว่ามันสวยมากเลยนะ สีนี้มันให้ความรู้สึกสดใสนะ ฮีโร่มีความสุขกับสีนี้ไหม ส่วนเราแค่ชมว่าสวย เสร็จแล้วพอเก็บกวาดบ้านก็เอางานเขาทิ้ง แต่ครอบครัวนั้นเขาให้ลูกเขียนวันที่ เขียนชื่อไว้ แล้วก็เก็บเข้าแฟ้มเพื่อดูพัฒนาการ เราเลยรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแล้ว
ฮีโร่ทำงานมาเราก็พยายามดู ดูไม่เป็นก็พยายามดูว่ามันสวยไหม สวยสิ มันต้องสวย เราก็ไม่อินหรอก แต่เราก็รักลูกเนอะ ความรักมันทำให้เราต้องเปิดมิติ จากไม่ดูงานศิลปะ ก็ต้องมาดู แล้วก็พาเด็กไปหาศิลปินไปดูเขาทำงานศิลปะ มีการแสดงงานก็พาเด็กไปร่วมกิจกรรม จากที่ไม่ค่อยให้เวลากับเขา ก็ให้เวลาด้วย นั่งเฝ้าเขาเพราะเด็กยังบีบสีไม่เป็น มือยังไม่แข็งแรงพอ เราก็ต้องช่วย แล้วก็ชื่นชมเขา รูปที่ได้มาก็เอาไปใส่กรอบ เพราะศิลปินมันก็ต้องแสดงงาน แต่เราไม่ได้เน้นเรื่องประกวด เราไม่เคยส่งลูกไปประกวดที่ไหนเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นศิลปินแล้วเขาต้องประกวดทำไม จะให้ใครยอมรับอีก ในเมื่อเขาก็เป็นศิลปินแล้ว และมันทำให้การตีความงานศิลปะแคบลงไปด้วย
ทีนี้ก็อย่างที่เขาเล่าให้ฟังคือเขาไปร่วมงานศิลปินแห่งชาติสัญจรเพราะฮีโร่ถูกเชิญไป ตอนนั้นวินนี่ 5 ขวบก็จะไปกวนพี่ไง เลยไปขอเฟรมมาให้เขาเล่น ฮีโร่ก็วาดของเขาไป วินนี่ก็วาดด้วย เสร็จแล้วผู้จัดก็เก็บงานไป แล้ววินนี่ก็ได้รางวัลเฉยเลย ทุกคนในงานก็งงกันหมด แต่ไม่มีใครกล้าค้านเพราะกรรมการเป็นศิลปินแห่งชาติสามท่าน เราเลยไปถามเขา เขาก็บอกว่าเกณฑ์การตัดสินคือเขาดูว่าเด็กคนนี้มีอิสระในการทำหรือว่ามีบล็อกมาไหม เพราะโดยมากเขาซ้อมกันมา แต่เราไม่ได้ซ้อม แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันมีการประกวด เราแค่มา workshop
การตัดสินครั้งนั้นทำให้เราเข้าใจเรื่องศิลปะด้วย แล้วได้รู้ศัพท์ใหม่เรื่องงาน abstract ที่วินนี่ทำด้วย ลองหาดูก็ไปเจองานของ Jackson Pollock 5 – 6 พันล้าน มองแล้วก็เหมือนของวินนี่ เหมือนกันเลย เลยคิดว่า แล้วอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าอะไรเป็นงานศิลปะ อะไรไม่ใช่งานศิลปะ ก็ดีเลยที่วินนี่ได้เจอสิ่งที่ตัวเองถนัด เราก็ได้รู้ด้วยว่าศิลปะมันคืออิสระ มันไม่ผิด งานวินนี่ก็เหมือนกัน ถ้าดูด้วยวิจารณญาณของคนทั่วไปก็ดูไม่รู้เรื่อง ความสวย ความเนี้ยบสู้พี่เขาไม่ได้ แต่ถ้ามองด้วยอารมณ์ของคนทำงานศิลปะว่าคนนี้เขาอิสระหรือไม่ เขามีอิสระ
อยากให้คุณพ่อช่วยเล่าเรื่องการแสดงงานศิลปะครั้งแรกของฮีโร่กับวินนี่
เริ่มจากฮีโร่ก่อนประมาณสัก 4 – 5 ขวบเขาก็คิดว่าเขาเป็นศิลปินแล้วไง เพราะมิชชันนารีบอกว่าเขาเป็นศิลปินระดับโลกแล้ว พอเป็นแล้ว งานก็เลยต้องเอาไปใส่กรอบ ใส่เป็น 20 – 30 รูป แล้วก็วาง ๆ ไว้ พอไปคุยกับศิลปินรุ่นใหญ่ เขาต้องแสดงงาน เราก็เลยแสดงงานด้วย แต่เอารูปไปแกลเลอรีเขายังไม่รับ เพราะเขามีมาตรฐานของเขาอยู่ พอดีที่ตรังมีงาน street art เป็นถนนงานศิลปะให้เราแสดงงานได้ ฮีโร่ก็ได้ไปแสดงครั้งแรก พอแสดงข้างถนนปุ๊บ ร้านกาแฟของเพื่อนก็อยากให้ไปแสดง แล้วก็เกิด talk of the town ในเมืองเล็ก ๆ หลังจากนั้นแกลเลอรีก็เชิญแล้ว เห็นความตั้งใจของเด็ก ประมาณ 7 ขวบ ก็ได้แสดงที่แกลเลอรี
ส่วนวินนี่ก็ยังไม่ได้แสดง เพราะยังไม่ได้เป็นศิลปิน ก็คิดว่าเราต้องทำยังไงดี แต่พอเขามาค้นเจอตอนได้เหรียญเงินก็รู้ว่า เขาคือศิลปินที่ทำงาน abstract หลังจากนั้นก็คู่กัน งานข้างถนนก็ยังแสดงอยู่ ร้านกาแฟ แกลเลอรี วนกันไป จนสักปีสองปีก็ส่งโปรไฟล์มาที่หอศิลป์จามจุรี เขาก็ให้มาแสดง เลยได้มาแสดงระดับประเทศในฐานะศิลปิน เขาก็เชื่อว่าเขาเป็นศิลปิน เราก็เชื่อตามที่เขาเชื่อ
-02-
งานศิลปะบนเฟรมผ้าใบสู่ลายบนชุดเดรส
ที่มาของแบรนด์ Keziah เริ่มจากจุดไหน
มาจากความชอบของวินนี่นี่แหละ เขาชอบมาตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เวลาปะป๊าซื้อชุดอะไรให้เขาจะชอบถ่ายรูป เหมือนกับ DNA เขามาทางอาร์ตแฟชั่น เขาทำงานศิลปะขึ้นมาแล้วบอกว่าถ้ามันเป็นกระโปรงนะ มันต้องสวยมากเลย อยากใส่กระโปรงลายนี้ เราเลยเอาความเห็นนี้ไปต่อยอด ไปศึกษาดูว่ามันต้องทำยังไง พอไปรู้มาปุ๊บ ก็หาว่าต้องไปพิมพ์ลายที่ไหน ก็เสิร์ชใน Google แล้วก็ลองพิมพ์มาไม่เยอะหรอก ทั้งของฮีโร่และวินนี่เลย ทดลองดูว่ามันจะออกมายังไง พอเป็นผ้ามันก็ว้าว พอเอาไปตัดเป็นชุดเป็นกระโปรงให้เขาใส่มันก็ดูสดใหม่ ก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งเขามีแฟนคลับติดตามงานศิลปะของเขาอยู่แล้ว เขาก็ขอซื้อบ้าง อยากได้บ้าง
เจ้าของโรงงานพิมพ์ลายเขาก็โทรมาแนะนำให้สร้างแบรนด์นะ การสร้างแบรนด์ในความเข้าใจของเราก็คือมีโลโก้ไง เราเลยให้เขาเล่นกันเอง คือวินนี่เขาไม่มีตังค์ เราไปเช็กค่าออกแบบโลโก้ก็ 4,000 บาท แต่ฮีโร่มีเงิน เราก็ให้เขาหุ้นกัน ก็กลายเป็นหุ้นส่วนกันขึ้นมา “เคสิยาห์” แปลว่า อบเชย ในโลโก้ก็เป็นหน้าเขาแล้วมีกิ่งอบเชย แล้วเขาชอบโลโก้นี้เลยเอาไปจดเครื่องหมายการค้า เป็นธุรกิจจริง ๆ เลย
พอมีแบรนด์ก็ต้องหาที่ขาย ที่แสดงงานเปิดตัว พอดีแม่เขาเคยทำงานที่กรมส่งออก มันจะมีงานแฟร์ของกรมส่งออกชื่อ Style Bangkok ก็ส่งโปรไฟล์ไปขอแสดงงาน ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้มาแสดงงาน ก็กลายเป็นผู้ประกอบการที่อายุน้อยที่สุด ในตอนนั้นวินนี่ 7 ขวบ ฮีโร่ 8 ขวบ
ก็ทำสนุก ๆ เราก็ไม่รู้ว่าอะไรจะขายได้ ทำทั้งผ้าพันคอ ชุดเด็ก เอาผ้าม้วนไป เอารูปไปโชว์แล้วมีคนมาถามขายรูปเหรอ ก็บอกไม่ขาย เด็กเอามาโชว์เฉย ๆ เด็กไม่อยากขายรูป บูธก็จัดแบบเลอะเทอะไปหมด อยากโชว์ไปหมด ไม่รู้ต้องโชว์ต้องขายอะไรบ้าง แต่บูธข้าง ๆ เขามาช่วย แล้วเขาเอาผ้าที่เป็นม้วน ๆ ของเราสองม้วนพาดจากข้างบนลงมาข้างล่าง พอลูกค้าเดินมา เขาก็มาซื้อผ้า ตัดขายเป็นหลาได้เยอะเลย คือเราไม่รู้ว่ามันขายได้ แต่มันดันขายได้และเราไม่ได้ขายถูกนะ หลาละ 4 – 5 ร้อย จากที่ไปแบบไม่ได้คาดหวังอะไร คิดว่าเด็กได้ทดลอง ได้มีประสบการณ์ มีโปรไฟล์ แต่ดันขายได้จริง ๆ ตลาดต้องการจริง ๆ
ความรู้สึกตอนขายได้เป็นยังไงบ้าง
ก็เป็นการเฉลยว่าเราต้องขายอะไรเพราะเราไม่รู้ เด็กเสนอไอเดียมา เราก็ต้องไปขยายต่อเพราะเด็กยังทำไม่ได้ พอมันเกิดการตอบรับของตลาดจริง ๆ มันก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ก็ไม่ได้เก่งอะไร ลองผิดลองถูกด้วยซ้ำ มันไม่ได้จะต้องเก่งแบบว่าวิเคราะห์ตลาดได้ พ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ทำกันสนุก ๆ กับเด็ก ๆ แล้วเราก็ได้เปรียบอย่างหนึ่งคือเด็กเขาลองผิดลองถูกได้ ถ้าผู้ใหญ่มันมีการเดิมพันเรื่องความเป็นอยู่ มันเป็นความกดดัน แต่เด็ก ๆ มันเล่น ๆ สนุก ๆ
เหมือน New York Fashion Week เราก็ไม่รู้ ได้ก็ดี ไม่ได้เราก็เสมอตัว พอได้มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกทีเลย เพราะต้องเตรียมสินค้า เตรียมอะไร อย่างนิวยอร์กก็ต้องเตรียมชุด เตรียมการเดินทาง เตรียมโชว์ มันกลายเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไปเลย
-03-
ใคร ๆ ก็ไปนิวยอร์กได้
ตอนได้รับเลือกให้ไป New York Fashion Week คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
เขาออกแบบมา เราก็หาที่ปรึกษาให้เขาเพื่อมาขยายไอเดียเขา ก็อาจมีที่ปรึกษาที่คุยกับคนตัดเย็บ เพราะจะให้เด็กไปคุยกับคนตัดเย็บเลย มันอาจเป็นไปไม่ได้ มันมีช่องว่างมากเกินไป มีศัพท์ที่เด็กยังไม่รู้ เด็กก็ต้องมีตัวเชื่อมไอเดียเขาขึ้นมาว่ามันคืออะไรบ้าง แล้วคนนี้เขาก็ต้องไปสื่อสาร
คุณพ่อคิดว่าปัจจัยอะไรทำให้เราได้รับเลือก
เอกลักษณ์ เพราะลายผ้ามาจากงานศิลปะ มันไม่เหมือนใคร แต่ละลายไม่เคยปรากฏที่ไหนในโลก การก่อกำเนิดของแบรนด์มาจากตรงนั้นก่อน เลยกลายเป็นเอกลักษณ์การทำงานไปด้วยว่ามันต้องมาจากตรงนั้น
บางคนบอกว่าการจะเอางานไปโชว์ที่นิวยอร์กได้จะต้องเป็นคนพิเศษหรือเป็นอัจฉริยะ
ก็แค่เด็กทั่วไปธรรมดา ก็แค่นี้ ไม่ได้วิเศษกว่าใคร ที่มองว่าเด็กเป็นอัจฉริยะ มันไม่ใช่ มันมี timing มีจังหวะเวลาการเดิน แต่สำคัญที่เราบ่มเพาะข้างในเขา ข้างนอกก็ให้มันเป็นธรรมชาติ มันจะออกมาเองเมื่อข้างในได้รับการดูแล ดูแลความเชื่อเขา ไม่ดับจินตนาการ เขาพูดอะไรก็อย่าไปดับความเชื่อเขา ถ้าเขาถามว่าไอเดียนี้ดีไหม รู้ไม่รู้ก็ดีไปก่อน ทุกอย่างมันดีลูก แค่เชื่อเขา
การไปนิวยอร์กให้บทเรียนอะไรกับคุณพ่อบ้าง
จริง ๆ ได้ประสบการณ์ทั้งครอบครัวนะ เพิ่งเคยไปกันทั้งหมดแหละ การเดินทางที่ไม่เคยเดินทางไกลขนาดนั้น การทำงานกับฝรั่ง ได้เห็นลักษณะเมือง ได้เรียนรู้ลักษณะการใช้ชีวิตของคนนิวยอร์ก เห็นการทำงานบนเวที New York Fashion Week
สิ่งหนึ่งก็ทำให้เราเห็นว่าในระดับโลก มันเป็นไปได้ทุกคน เมื่อก่อนเราก็คิดว่าระดับโลกมันต้องไกลเกินเอื้อมแน่ ๆ เลย แต่พอไปถึงจริง ๆ แล้วคนไทยทุกคนเป็นระดับโลกได้ เพียงแค่มีความเชื่อ ความกล้า ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง และต้องหลุดออกจากกรอบมากมายที่บ่มเพาะเราไว้ให้เรากลัวแล้วไม่กล้าจะก้าวออกไป
คนไทยไม่กล้านำเสนอไอเดียตัวเองเพราะกลัว กลัวไอเดียเราจะสู้เขาไม่ได้ กลัวอะไรต่าง ๆ มากมาย กลัวว่ามันจะไม่ถูกยอมรับ เพราะบ้านเรามักจะไม่ยอมรับกันเอง ทำให้เราถูกหลอกไปด้วยว่าเราคือคนที่ไม่ถูกยอมรับ
โดยเฉพาะในครอบครัว ครอบครัวไทยชอบคิดว่าการกดดันคือการผลักดันแต่ที่ไหนได้มันยิ่งทำร้ายเขา เขาลุกไม่ขึ้นเลย การเลี้ยงดูแบบนั้นไม่ทำให้เขาโตขึ้นเลย ไม่สร้างสรรค์เลย บางทีก็เจตนาดีแต่ไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็ทำแบบนี้ กดกันเอง เหยียบย่ำกันเอง ในขณะที่วัฒนธรรมที่อื่นมันให้กำลังใจ คุยกัน
การไปนิวยอร์กทำให้เป้าหมายเปลี่ยนไปบ้างไหม
เด็กเขามีฝันของเขา เขาก็มองปารีส มองมิลาน เราก็รอดูแล้วกัน ตอนนิวยอร์กเขาก็พูดประมาณนี้แหละ เราก็ไม่กล้าสบประมาทความคิดความเชื่อของเขา
-04-
ความสำเร็จที่มีส่วนผสมหลักคือคำชื่นชม
เบื้องหลังความสำเร็จของฮีโร่และวินนี่คืออะไร
เราได้รู้จักครอบครัวชาวอเมริกันที่เป็นมิชชันนารี มันเปิดโลกทัศน์และความคิดของเรา เราเห็นวิธีเลี้ยงลูกของเขา คือเด็กหรือมนุษย์ทุกคนมันจะมีด้านสว่างและด้านมืด เด็กก็เหมือนกัน แต่เวลาเด็กทำอะไรเขาจะไปจับด้านน่ารักขึ้นมาชมเขา
cheer up ลูกให้มีกำลังใจที่จะทำด้านดี พอเราชมเขา เขาก็ยิ่งทำ ส่วนด้านที่เขาไม่น่ารัก เรารู้แต่เราจะไม่โฟกัสที่มัน เห็นแหละ แต่ไม่ได้ไปจี้ให้เป็นปมด้อย หรือไปขยายความ ประจานเขา นี่คือวิธีคิดที่ได้จากมิชชันนารี
ข้างนอกเราเลือกไม่ได้ แต่ในครอบครัวเรา เราเลือกได้ เรากำหนดได้ว่าเราต้องการบรรยากาศยังไงในครอบครัว และครอบครัวเราก็เลือกแบบนี้ เรารู้ไหมว่าครอบครัวเราบกพร่อง เรารู้ แต่เราจะไม่จี้ เราจะไม่ประจาน เราจะไม่ไปทำเป็นปมให้เขาไม่สามารถจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้ เราก็ไปชื่นชมในจุดดีดีกว่า แล้วก็ให้เขานำจุดดีมาพาชีวิตเขาเคลื่อนไป แม้ยังบกพร่องอยู่แต่ชีวิตเขาเคลื่อนไปข้างหน้า มันก็โตไปได้ งานศิลปะเขาก็โตไปได้เรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าเด็กสองคนนี้จะวาดรูปเก่งกว่าใคร ไม่ใช่ว่าภาพเขาจะไม่มีข้อบกพร่อง แต่เขาสามารถทำไปเรื่อย ๆ ได้เพราะเราเลือกมองไปที่ความสวยงามของเขามากกว่าแล้วใส่แรงผลักดัน ให้กำลังใจไป
แสดงว่าพ่อโพเชื่อว่าทุกคนมีความพิเศษในตัว อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นไหม
ใช่ครับ ไม่ใช่เฉพาะสองคนนี้ ทุกคนเลย ทุกครอบครัว ไม่ใช่แค่เด็กด้วย คนเรามันต้องมีข้อดีบ้าง ไม่ได้เสียไปหมด เราต้องมองหาจุดดีของคนให้ได้ก่อน ถ้าเรามองหาจุดดีคนไม่เป็น เราจะหาจุดดีคนในครอบครัวไม่ได้เหมือนกัน เราก็จะเลี้ยงลูกแบบกดดัน เราก็จะเลี้ยงลูกแบบทับถมข้อเสียแล้วคิดว่าเป็นความหวังดีของพ่อแม่
บ้านเราชอบตำหนิแล้วบอกว่าติเพื่อก่อ แต่ติไม่เคยก่อ ซ้ำเติมด้วยซ้ำ มันทำลายพลังข้างใน ทำลาย passion คนเรามันต้องการพลังทุกวันในการแก้ปัญหา ติเพื่อก่ออย่าทำดีกว่า บางทีไม่ต้องพูดเราก็รู้แล้ว ลูกเราไปทำผิดพลาดหรืออะไรมา เขารู้แล้วว่าผิดพลาด เขารู้แล้วแหละว่าเขาผิดพลาดแล้ว เขาไม่โอเคแล้ว เราต้องพยายามช้อนเขามา ไปชมด้านอื่นของเขา แต่ถ้าเราซ้ำเติม วันนั้นเขาก็อาจทำอะไรไม่ได้เลย อย่าว่าแต่เด็กเลยเราก็เหมือนกัน ประคองตัวให้พ้นวันไปแค่นั้น มันไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มี passion ไม่มีอะไรที่จะทำให้ไปข้างหน้าได้
พอพูดถึงเรื่อง passion จะมีคนที่พยายามดันลูกจนบางทีกลายเป็นความกดดัน ไม่ให้ลูกได้ทำอย่างอื่นเลย คุณพ่อสร้างสมดุลตรงนี้ยังไง
จริง ๆ ตัวเขาเป็นคนกำหนดว่าเขาจะเคลื่อนหรือไม่เคลื่อน แต่เด็กก็คือเด็ก ไม่ใช่จะมีความรับผิดชอบทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าเด็กพวกนี้เจอเกมแล้วจะยับยั้งตัวเองได้ หรือเจอมือถือแล้วจะไม่เล่น เด็กทุกคนชอบเกม ชอบมือถือหมดเลย แต่เราก็ต้องให้เขาทำอย่างอื่นด้วย ที่สำคัญคือเราต้องเล่นกับเขา เด็กเขาต้องการเล่น ต้องการใช้เวลากับเรา ถ้าเราไม่ใช้เวลากับเขา เขาก็จะไปใช้เวลากับคนอื่น ทำไปทำมาเขากับเราไม่สนิทกัน และเขาก็ไม่ได้อะไรจากเราเลยเพราะเราไม่ได้แชร์ ไม่ได้เล่นกีฬาด้วยกัน ไม่ได้เล่นเกมกัน ไม่ได้อ่านหนังสือด้วยกัน ไม่ได้พูดคุยกัน เราต้องใช้เวลากับเขาด้วย เลี้ยงเขาเองด้วย เราจะให้เขาบินได้สูงกว่าเรา เราก็ต้องอยู่กับเขาเอง
และที่เด็กต้องการมากกว่าวัตถุภายนอกหรือความสำเร็จภายนอกคือกำลังใจ อาหารใจของลูกมันสำคัญ เราต้องให้กำลังใจ แล้วก็ให้เขาเคลียร์ตัวเองให้ไวเมื่อเจออะไรที่มันแย่หรือเศร้าเพื่อที่จะทรงตัวไปข้างหน้าได้ ถ้าเขาไปเจอการประจาน ซ้ำเติมมาจากข้างนอก ก็ต้องเคลียร์ให้ไว ให้เขามั่นใจในตัวเอง ให้เขารู้ว่าเขามีจุดดีมากมายกว่าคำตำหนิ
อย่างเวลาเขาไปแสดงงาน สิ่งที่จะเจอคือ หนึ่ง-เฉย ๆ สอง-คำชื่นชม สาม-คำวิจารณ์ คำชมก็พยายามดึงว่าอย่าหลงใหลไปกับคำชมเกินไป เฉย ๆ ก็โอเค ก็ต้องอยู่ให้ได้เมื่อมีการเฉย ๆ ส่วนคำวิจารณ์หรืออะไรที่มันบั่นทอน มันก็ต้องรีบเคลียร์ เดี๋ยวจะหมดกำลังใจ เราต้องเคลียร์ว่ามันเป็นแค่ความคิดเห็นหนึ่งนะ แต่ดูรายละเอียดสิว่าเรามาถึงไหนแล้ว เราอายุเท่านี้แต่ผลงานเราเป็นพันแล้วนะ ดึงจุดนั้นมาแล้วเคลียร์กลบของเสียให้ไวที่สุด
จุดไหนที่ทำให้คุณพ่อกล้าสนับสนุนความเชื่อของลูก เช่น การหาโรงพิมพ์ลายตอนที่วินนี่บอกว่าอยากมีชุดที่เป็นลายงานศิลปะของตัวเอง
เลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกครอบครัว แล้วมันเป็นเรื่องที่ทุกช่วงเวลาเป็นเรื่องสนุกไปด้วยกัน ตั้งแต่เขาเริ่มหัดเดินแล้วพอเดินได้มันคือช่วงเวลาที่สร้างความอิ่มเอิบใจให้กับพ่อแม่ มันก็ลุ้นตามกันไป แต่ละสเต็ป
พอวาดรูปได้ พอแสดงงานได้ ก็เริ่มจากแสดงงานข้างถนน ได้เห็นการเจริญเติบโต ได้เห็นเขาได้คุยกับคนที่มาชมงานเขา ได้เห็นเขายืนพรีเซนต์งาน เป็นภาพที่มันเป็นอาหารของพ่อแม่ด้วย เหมือนปลูกต้นไม้ที่พอมันเริ่มแตกหน่อแตกกิ่งอะไรขึ้นมา เรารดน้ำอยู่มันก็ชุ่มชื่นใจ การทำงานศิลปะก็เป็นสเต็ป ไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วได้รับการยอมรับเลย มันเริ่มจากข้างถนน ร้านกาแฟ แกลเลอรี
ต้องทำยังไงก็ไม่รู้แต่ก็ช่วย ๆ กัน เด็กออกไอเดีย ผู้ใหญ่ก็ how to เพราะเด็กยังทำไม่ได้ไง แต่พลังความคิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วพลังจะเยอะกว่าเด็ก เด็กอาจจะเยอะกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่ปิดกั้นเขา ไอเดียหรือความคิดของเด็กมันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์แต่เราต้องรับฟังเขา ผู้ใหญ่อาจถูกระบบหรือไปเจออะไรที่มันเลวร้ายมาจนไม่กล้าคิดแล้ว แต่เด็กยังกล้า พอคิดแล้วเราก็ว่าเออ มันใช้ได้ เราก็เรียนรู้ไปด้วยกัน มันไม่มีใครได้เรียนรู้ก่อน พ่อแม่ก็ไม่รู้ลูกคิดมาได้ก็ เออ ลองดู
ก็แบบนี้แหละ เราทำแบบสะเปะสะปะ ไม่มีสูตร สนุกแบบเด็ก ๆ เดินเตาะแตะไปเรื่อย ๆ ความไม่รู้มันทำให้เรากล้า ไม่รู้กันทั้งครอบครัว ตั้งแต่เราอยู่ที่ตรังแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ แล้วไม่อยากรู้เยอะด้วย เดี๋ยวจะไม่กล้าทำอะไร รู้เป็นสเตปไปดีกว่า
หัวใจของ Keziah คืออะไร
หลัก ๆ คือการเลี้ยงลูกมากกว่า การให้เวลากับครอบครัว การได้ปฏิสัมพันธ์กับสังคม คู่ค้า คู่สัญญา คนที่มาชื่นชมงานเขา แกลเลอรีต่าง ๆ รวมถึงตอนที่เขาไปนิวยอร์ก เขาเป็นดีไซเนอร์ที่ต้องทำงานร่วมกับออแกไนซ์ ทีมงาน นางแบบและช่างภาพระดับโลก กับช่างแต่งหน้า ช่างทำผม และคนที่มาชมงาน เขาได้ปฏิสัมพันธ์ ได้คุย ได้ทำงานร่วมกัน อันนี้ก็เป็นกำไร
แล้ว กำไรมาก ๆ มันหาไม่ได้ ส่วนเรื่องรายได้เราไม่ได้เอามากะเกณฑ์อะไร ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่เขาได้คือโอกาสที่ได้ทำงานจริง
การที่เราจะเติบโตไป สิ่งที่เราขาดไม่ได้คือการปฏิสัมพันธ์กับคนทุกแบบ เมื่อปฏิสัมพันธ์แล้ว มันจะเกิดวุฒิภาวะทางสังคม ค่อย ๆ เติบโตขึ้น เราเข้าสังคมแรก ๆ ตอนที่เรียนจบใหม่ ๆ เราก็จะหาความสมดุลในเรื่องวุฒิภาวะ แต่เด็กได้ทดลองก่อน ได้ลองผิดลองถูกก่อน มันก็จะสร้างความเติบโตทางวุฒิภาวะขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าวันหนึ่งน้อง ๆ บอกว่าไม่ชอบศิลปะแล้ว คุณพ่อจะรู้สึกยังไง
มันเป็นการพัฒนาและต่อยอดนะ เพราะผมเชื่อว่าทุกเส้นทางที่เราเดินผ่าน กว่าเราจะมาเป็นแบบนี้ มันมีลองผิดลองถูก ทุกอย่างที่เราทำมาผมมองว่ามันเป็นแต้มต่อนะ เราเอาไปต่อยอดที่เป็นเอกลักษณ์ของเราได้ ถ้าเราไปเป็นนักเขียนมันก็มีเอกลักษณ์นะ เพราะเส้นทางที่เราเดินมามันไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเขามีเส้นทางเดินมาอย่างนี้ แล้วเขาจะต่อยอดแตกกิ่งอะไร มันก็เป็นเอกลักษณ์ของเขา อย่าไปเสียดาย ซื้อเฟรมมาเท่าไรอย่าเสียดายเพราะมันเป็นการเรียนรู้หมดเลย สมมติเขาไปทำงานสายอื่น สมมติเป็นทนายแต่มีความเป็นศิลปะอยู่นะ เราก็ไม่จำกัดคำว่าศิลปะว่าต้องเป็นแค่รูปภาพ แต่มันคือการใช้ชีวิต จะไปเป็นอะไรก็ได้ แต่เราก็มีศิลปะ