‘เด็กสมัยนี้สบายจะตาย’ เรื่องเล่าจากศูนย์คิด for คิดส์ที่บอกว่าเด็กไม่ได้สบาย แต่คือเดอะแบกที่กำลังตายจากวิกฤติรอบตัว

  • ‘เป็นเด็กสบายจะตาย’ ประโยคที่อาจใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้
  • สถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยภาวะโรคระบาด ปัญหาการเมือง และความเหลื่อมล้ำ ทำให้การใช้ชีวิตของเด็กบางคนยากขึ้น จนถึงขั้นบอกลา ‘ความฝัน’ เพราะอยู่ไกลเกินคว้า
  • ทำความเข้าใจปัญหาที่เด็กๆ กำลังเผชิญ กับศูนย์คิด for คิดส์ โดย 101 PUB เพื่อตั้งหลักกันต่อว่าเราจะสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ เติบโตอย่างไร

“เด็กสมัยนี้สบายจะตาย”

‘วัยเด็ก’ เป็นช่วงชีวิตที่ใครๆ ก็บอกว่าสบาย ก็แค่ใช้ชีวิต ไม่ต้องคิดเยอะ เป็นวัยเบ่งบานสำหรับการหาตัวตนและความฝัน

ไม่ต้องเครียดเรื่องเงิน ไม่ต้องเจอปัญหาในที่ทำงาน ไม่ต้องกังวลกับเรื่องความสัมพันธ์รอบตัว เด็กก็แค่เรียนและใช้ชีวิต ยังไม่มีเรื่องเครียดเท่าผู้ใหญ่มากนัก

ทำให้เด็กหลายคนมีฝันที่อยากทำให้เป็นจริง แต่ค่อยๆ เลือนหายไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

ขณะเดียวกัน เด็กบางคนต้องบอกลาความฝันตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะรู้ดีว่า ฝันนั้นไม่มีทางเป็นจริง สิ่งที่พวกเขาต้องคิดคือความจริงตรงหน้าว่า จะเอาชีวิตรอดในแต่ละวันอย่างไร 

แทนที่จะสบายกลับเป็นเดอะแบกจากสิ่งรอบตัวแทน จากการเผชิญวิกฤตโลกที่ท้าทายจากโควิด 19 ความคาดหวังของตัวเอง คนอื่น และสังคม สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ความฝันของเด็กหดลงและอยู่สูงเกินกว่าจะคว้ามาสำเร็จ

“เด็กและครอบครัวแยกจากสังคมไม่ได้ หน้าที่ของศูนย์ คือ เสนอนโยบายที่เปลี่ยนหรือ shape ความคิดคนในสังคม แล้วส่งเสียงให้มีการพัฒนาเรื่องเด็กและเยาวชนให้ดีขึ้น”

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB  – 101 Public Policy Think Tank บอกจุดเริ่มต้นของ ศูนย์คิด for คิดส์’ ที่ 101 PUB ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางส่งต่อองค์ความรู้ให้ประชาชนมีข้อมูลและคุยบนฐานคิดเดียวกัน “ประชาชนเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลง”  

ขณะเดียวกันศูนย์นโยบายแห่งนี้ไม่ได้นำเสนอเพียงตัวเลขสะท้อนปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลของเด็ก เยาวชน และครอบครัวผ่านเสียงของเด็กจริงๆ 

เพราะที่ผ่านมา หลายนโยบายและสวัสดิการทำเพื่อเด็ก แต่เด็กกลับไม่มีส่วนร่วม คิด for คิดส์ จึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนนำเสนอนโยบายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไปด้วยกัน

กิจกรรม เรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” เป็นหนึ่งกิจกรรมของศูนย์ฯ ที่ให้เยาวชนส่งเรื่องเล่า ว่าด้วยชีวิตและความฝันของเด็กและเยาวชนไทย เรื่องแต่ละคนสะท้อนชีวิตและความเป็นอยู่ที่พวกเขาได้รับในวัยเด็ก เช่นประโยคข้างต้นที่มาจากผลงาน ‘เด็กสมัยนี้สบายจะตาย’ โดยแก้วมรกต มาตย์เทพ ได้รับรางวัลชนะเลิศในกลุ่มอายุไม่เกิน 15 ปี

mappa คุยกับ 3 ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งศูนย์ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB, ‘นนท์’ วรดร เลิศรัตน์ และ ‘ใบเตย’ เจณิตตา จันทวงษา นักวิจัย 101 PUB เปิดข้อมูล 7 แนวโน้มสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวปี 2022 ที่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตั้งหลักและเดินหน้าต่อไปด้วยกัน

สภาพสังคมที่ทำให้ชีวิตเด็กกลายเป็นเดอะแบก

“โตขึ้นไปอยากจะเป็นอะไรเหรอ?”

คำถามยอดฮิตที่เด็กหลายคนเคยเจอ และปรากฎอยู่ในงานเขียนชิ้น ‘เด็กสมัยนี้สบายจะตาย’ คงพอสะท้อนให้เห็นเศษเสี้ยวบางส่วนของชีวิตเด็กไทย

จะว่าตอบง่ายหรือยากอาจขึ้นอยู่กับว่าชีวิตของเด็กคนนั้นเจออะไรบ้าง บางคนครอบครัวซัพพอร์ตให้ค้นหาตัวเองได้ตั้งแต่เล็กๆ การไปลองทำกิจกรรมหรือเดินทางไปต่างประเทศ เปิดโลกให้เด็กคนหนึ่งได้กว้างๆ จนอาจได้คำตอบ แต่กับเด็กบางคนหรือ ‘แก้วมรกต’ ที่เขียนงานชิ้นนี้อาจเป็นคำถามที่ตอบยากสักหน่อย เพราะไม่มีโอกาสได้ค้นหาตัวเองมากพอจะรู้คำตอบ และความเป็นจริงที่พวกเขาเจอก็สอนให้รู้ว่า ‘ความฝัน’ เป็นเรื่องไกลตัว

“ไม่อยากเข้าคุก อยากจะมีบ้านสักหลังไว้ให้นอน มีข้าวไว้ให้กิน”

“นั่นเขาเรียกว่าความฝันแน่เหรอ?”

“ก็ ไม่รู้สิ”

“แล้วที่เคยอยากเป็นตอนเด็กๆ ที่เคยบอกว่าอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ตอนนี้ยอมแพ้แล้วเหรอ”

“ไม่นะ ไม่ได้ยอมแพ้ แค่ไม่คาดหวังแล้ว”

ภาระที่เด็กบางคนเจอก็ทำให้พวกเขายอมทิ้งความฝัน และหันมาจับสิ่งที่มองเห็นและจำเป็นกว่าอย่าง วันนี้จะกินอะไรดี” หรือ “พรุ่งนี้จะไปเรียนได้หรือเปล่า”

รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2022 โดยศูนย์คิด for คิดส์ สำรวจสถานการณ์ที่เด็กไทยเผชิญในปัจจุบัน มี 7 ด้าน ได้แก่

  • ภาวะการเรียนรู้ถดถอยพัฒนาการหยุดชะงัก
  • เข้าถึงบริการของรัฐยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • ถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น
  • มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
  • มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น
  • โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น
  • ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรง บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กๆ บางคนสูญเสียพ่อแม่จากโรคระบาด หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่ผู้ปกครองตกงาน จนถึงขั้นหลุดออกจากระบบการศึกษา

‘ใบเตย’ เจณิตตา จันทวงษา

‘การเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss’ เป็นสภาวะที่เด็กหลายคนเผชิญเนื่องจากการหยุดเรียนเป็นเวลานาน ทำให้เมื่อกลับมาเรียนอีกครั้ง ศักยภาพในการเรียนไม่เท่าเดิม 

ใบเตย ยกตัวอย่างปัจจัยในประเทศไทยที่เพิ่มการเกิด Learning Loss แก่เด็กๆ คือ นโยบายปิดโรงเรียน

“การปิดโรงเรียนของไทยเกิดขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างจะหว่านแห แล้วปิดเป็นระยะเวลานาน ถ้านับเฉพาะพื้นที่ที่ปิดโรงเรียนตามคำสั่งรวมของรัฐบาล กินเวลาประมาณ 16 สัปดาห์ หรือบางพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง ระยะเวลาปิดอาจถึง 53 สัปดาห์เลย”

คุณภาพระบบการศึกษาแบบเดิมเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าเด็กๆ จะสามารถกลับมาเรียนได้ทันหรือไม่ ในความคิดของใบเตย ระบบการศึกษาไทยโดยภาพรวมยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร บางพื้นที่เด็กๆ อาจไม่ได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพียงพอ ทำให้การกลับมาเรียนอีกครั้ง ความรู้ต้นทุนเดิมอาจไม่พอที่จะแก้ไขสภาวะ Learning Loss

“มีคนทำการสำรวจเด็กวัย 2 – 6 ปี ที่ปิดเรียนประมาณ 42 วัน พบว่าทักษะที่เด็กมี เช่น ทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือทักษะการจำ หายไปประมาณ 80 – 100% เลย”  

และความเหลื่อมล้ำก็เป็นตัวเพิ่มจำนวนเด็กให้หลุดจากระบบการศึกษา หรือเข้าถึงอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ที่มีเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด – 19 ไม่ดีพอ 

“มีน้องคนหนึ่งเป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด เขาเล่าว่าที่บ้านทำซักรีด มีรายได้ประมาณวันละ 400 บาท เป็นรายได้ก่อนหักต้นทุนต่างๆ เขาจะต้องใช้เงินในการเติมอินเทอร์เน็ตวันละประมาณ 58 บาท ถือเป็นก้อนที่ใหญ่มาก แล้วเขาไม่มีเงินมากพอที่จะเติมเป็นรายเดือนที่อาจจะราคาถูกกว่า 

‘นนท์’ วรดร เลิศรัตน์

“มีเด็กจำนวนมากที่อาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่มีเงินไม่พอจ่าย หรือเด็กที่ไม่สามารถจ่ายได้เลย มีความไม่เท่าเทียมตรงนี้เกิดขึ้นเยอะ” ข้อมูลจากนนท์

ฉัตรมองว่า การกลับมาเรียนแบบออนไซต์ในตอนนี้อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหา Learning Loss หรือดึงเด็กกลับเข้าระบบได้ หากภาครัฐยังมองไม่เห็นปัญหานี้และหาวิธีแก้ไข

“โรงเรียนตอนนี้เหมือน ‘เปิดเพื่อเปิด’ ไม่ได้เปิดแล้วจะยังไงต่อ สิ่งที่เราเล่าไปเราเรียกว่าแผลสดที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เวลาผ่านไปมันกลายเป็นแผลเป็น ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วการเปิดโรงเรียนจะมีการรับมือเรื่องนี้ไหม เช่น มีการประเมิน หรือเช็กตัวเด็ก มีวิธีการทำให้แผลเป็นนี้หายไปไหม ณ ตอนนี้ เราไม่ได้เห็นว่ามาตรการจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรม” 

สังคมที่มีคนหลากหลายวัย แต่ไม่มีการรองรับความแตกต่าง กลายเป็นความขัดแย้ง

สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนก็ส่งผลต่อการเติบโตของเด็กๆ ‘ความขัดแย้งทางความคิดเห็นการเมือง’ กลายเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่บั่นทอนความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการสำรวจของศูนย์ฯ ที่สอบถามวัยรุ่น นนท์มองว่า เพราะสังคมมีคนหลากหลายวัย แต่ละคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน มีวิธีรับข้อมูลข่าวสารต่างกันออกไป ทำให้ความคิดแตกต่าง เกิด Generation gap หรือช่องว่างระหว่างวัย

“ยิ่งเด็กเกิดน้อยลง ทำให้ผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อโครงสร้างประชากรในอนาคต  การกระจายอำนาจหรือทรัพยากร เช่น การเลือกตั้ง ผู้สูงอายุอาจเป็นฐานเสียงใหญ่ เด็กก็อาจมีอำนาจต่อรองน้อยลง 

“เรื่องทรัพยากร ถ้างบประมาณจำกัด แล้วอนาคตมีผู้สูงอายุเยอะขึ้น งบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดจะจ่ายไปกับเงินบำนาญ หรือเงินที่ใช้ดูแลคนกลุ่มนี้ เป็นเคสที่เจอมากในยุโรปหรือที่ญี่ปุ่นเอง ซึ่งงบที่มักถูกตัดเป็นงบส่วนของเด็กและเยาวชน

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นยังคงเป็นปัญหาในสังคมและหลายๆ ครอบครัว คือ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้เกิดชีวิตที่สวนทางกันระหว่างรุ่น เด็กปรับตัวเร็ว แต่ผู้ใหญ่ตามไม่ทันและรู้สึกไม่มั่นคงจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงกว่าเดิม

“โลกเปลี่ยนเร็ว มีความมั่นคงน้อยลง ทำให้เด็กที่ก้าวทันจะเปลี่ยนเร็ว แต่ผู้ใหญ่ที่ก้าวไม่ทันจะรู้สึกไม่มั่นคง แล้วกอดของเดิมให้แน่นขึ้นเพราะกลัวจะเสียมันไป ดังนั้นขณะที่คนหนึ่งก้าวเร็วเหลือเกิน อีกคนยังกอดของเดิม จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น” นนท์อธิบาย

การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด คือ ‘พลังประชาชน’

52 คือ จำนวนสัปดาห์ที่โรงเรียนปิดในช่วงโควิด

70 คือ อายุเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

400 คือ จำนวนเด็กกำพร้าที่เกิดในช่วงโควิด

แนวคิดสำคัญในการทำงานของศูนย์นโยบายเยาวชนและครอบครัวคิด for คิดส์ คือ การยืนยันด้วยตัวเลข หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้คนมองเห็นปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเพศหรือวัยไหนก็ตาม

“ถ้าเรากางข้อมูลจะทำให้เราคุยบนฐานข้อมูลเดียวกัน ศูนย์ฯ เลยพยายามทำเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ น่าจะทำให้คุยกันรู้เรื่องมากขึ้น” นนท์เสริม

ศูนย์คิด for คิดส์ จึงทำงานบนความเชื่อที่ว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุด คือ ‘พลังประชาชน’

ศูนย์นโยบายและครอบครัวนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรหนึ่งในการรวบรวมงานวิจัยและผลงานต่างๆ ส่งต่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจและขับเคลื่อนประเด็นเด็ก การศึกษา เยาวชน และครอบครัวไปด้วยกัน 

“หนึ่งองค์กรไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ได้ทุกอย่าง คิด for คิดส์ เป็นเพียงข้อต่อหนึ่งของเครื่องจักรที่จะทำงานในเชิงข้อมูลแล้วสื่อสาร เราเชื่อว่าถ้าประชาชนเห็นปัญหา เขาจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลง” นนท์อธิบาย

นอกจากคิด for คิดส์จะทำงานเรื่องเยาวชน นักวิจัยของศูนย์นโยบายแห่งนี้ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาและสมัครเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องนี้ให้กับสังคม

ใบเตย คือ หนึ่งในนั้น

เพราะมองเห็นสังคมที่บิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรม การก้าวเข้ามาเป็นนักวิจัย คือ คำตอบของเจณิตตา ที่อยากเห็นคุยด้วยเหตุผลเพื่อเปิดพื้นที่คุยกัน

“เราเป็น first jobber ที่เห็นสังคมบิดเบี้ยว ผิดปกติ แต่รู้สึกว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่ามีหลายวิธี แต่ที่สนใจคือการเปลี่ยนด้วยความรู้ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อถกเถียง สื่อสาร และอยู่ร่วมกัน และงานนโยบายก็เป็นงานที่สำคัญและจำเป็น อย่างน้อยจะเข้าใจมากขึ้นว่า เราควรจะต้องรู้และเถียงกันเรื่องอะไร”

เด็กไม่ได้เติบโตด้วยตัวเอง เขาต้องการสังคมที่เปิดรับตัวตนของเขาจริงๆ

“เป็นไปไม่ได้ที่เราจะช่วยเด็ก แต่ไม่ปรับสังคม” ฉัตรบอก

ทำให้รายงาน 7 แนวโน้ม รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ปี 2022 ที่ทำโดยศูนย์คิด for คิดส์ให้ความสำคัญกับเรื่องโควิด ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนา และสังคมการเมือง แวดล้อมรอบตัวของสังคมที่เด็กกำลังเติบโต

สิ่งนี้สะท้อนผ่านผลงานกว่า 500 ชิ้นในกิจกรรม “เรื่องเล่าของ ‘เด็กสมัยนี้’” ที่บอกว่า นอกจากตัวเลขแล้ว สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง คือ ความเป็นมนุษย์ของเด็กและครอบครัว

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB

บางครั้งอ่านเรื่องราวอาจรู้สึกหดหู่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

“เวลามองรายงานอาจจะเห็นว่า มีเด็กกำพร้า 400 – 500 คนแล้วไง แต่เรื่องที่เขาเขียนทำให้เห็นว่า เด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นมา 1 คน มันไม่ได้จบที่ตัวเลข แต่มีเรื่องราวที่เขาจะต้องถูกส่งไปบ้านญาติ ถูกข่มขืน จนกลายเป็นแม่เล้า ขายยา เข้าสถานพินิจ พอออกมาชีวิตก็วนลูปแบบเดิม” นนท์ขยายความ

ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ ฉัตรมองว่า เรื่องราวของเด็กๆ เป็นไฟในการทำงาน เพื่อเตือนคนทำงานแบบเขาว่า หากวันไหนที่ศูนย์มีความพร้อมที่จะลงลึกในประเด็นเหล่านั้น เรื่องราวจากน้องๆ กลุ่มนี้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลักดันนโยบายอื่นต่อไปในอนาคต

“สำหรับผม เรื่องเล่าของเด็กๆ คือ ข้อมูลแบบหนึ่งและคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นและเป็นสิ่งที่ควรบอกสังคมว่า มันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ และถ้าเรื่องนั้นสามารถทำให้คนกลับมาทบทวนสังคมไทยและระบบของประเทศได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเปิดใจและพร้อมจะคุยกันมากขึ้น”

และเมื่อถึงวันนั้น วันที่ทุกคนเปิดใจ ความฝันของเด็กคนหนึ่งก็จะเป็นจริง

และเมื่อวันนั้นมีอยู่จริงในอนาคต ‘แก้วมรกต’ เจ้าของผลงาน ‘เด็กสมัยนี้สบายจะตาย’ คงจะไม่ต้องระบายสี (สีที่หมายถึงความฝันที่เธอกำลังตามหา) ที่ไม่ชอบจนหมดแท่ง เพื่อให้ได้พบกับสีที่เธอชอบจริงๆ เสียที

เหมือนกับคำลงท้ายในเรื่องราวที่เธอแต่งขึ้นในวัย 15 ปีเขียนไว้ว่า

“ถึงวันนึง ฉันจะได้เจอสีที่ฉันชอบที่สุดเอง”

และกว่าจะถึงวันที่กระดาษของเธอจะหมดลง เธอยังคงเชื่อมั่นที่จะกอบกุมสีทุกสีที่เข้ามาในชีวิตเธอ ถึงแม้บางทีมันก็แสนไม่น่าดู บางคราวก็อ่อนเกินไปกว่าจะได้โดดเด่นบนผ้าใบ หรือบางเวลาก็ไม่ถูกใจใครที่มองผ่านเข้ามา เธอก็ยังยืนยันที่จะวาดลงไปอีก

เธอต้องการที่จะจับสีที่เธอต้องการสักครั้ง

“ขอแค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว”

ยิ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที นอกจากเด็กจะต้องการความรักของพ่อแม่แล้ว เขาต้องการคนรอบตัวที่เข้าใจและสภาพแวดล้อมที่เชื่อมั่นในตัวเขาว่า ฉันจะเป็นใครก็ได้ โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ก็ตาม


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts