ชีวิตในวงกตความรุนแรงของ “ลูกสาว-แม่-เมีย” ใน “Kim Ji-young: Born 1982”

  • “คิมจียองเกิดปี 82” ภาพยนตร์ปี 2019 สร้างจากนวนิยายขายดีในชื่อเดียวกัน บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ “คิมจียอง” หญิงสาวแม่ฟูลไทม์ รวมทั้งชีวิตของผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีใต้
  • เรื่องราวของคิมจียอง สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้หญิงในด้านต่างๆ ทั้งตัวตน หน้าที่การงาน และสุขภาพจิต
  • หนัง “คิมจียองเกิดปี 82” เสนอแนวทางในการเยียวยาจิตใจของผู้หญิง ได้แก่ การมองเห็น การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เป็นตัวเอง และการเปิดใจยอมรับการแสดงความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์

“ฉันไม่คิดว่าการเป็นแม่และเมียจะเป็นชีวิตที่แย่ บางครั้งก็มีความสุข แต่บางทีฉันก็รู้สึกเหมือนติดกับ ฉันเดินอ้อมกำแพงเพื่อหาทางออก แต่กลับมีกำแพงอีกอันขึ้นมา แล้วก็อีกอัน ฉันคิดว่าอาจจะไม่มีทางออกเลยตั้งแต่แรก และรู้สึกโกรธ แล้วฉันก็คิดว่าเป็นความผิดของฉันเอง เพราะคนอื่นๆ อาจจะหาทางออกได้ แต่ฉันไม่มีความสามารถเอง ฉันก็เลยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

คำพูดของ “คิมจียอง” แม่ลูกหนึ่งฟูลไทม์ ผู้เคยเป็นสาวออฟฟิศการตลาด และเป็นลูกสาวคนรองในครอบครัวชนชั้นกลาง พูดกับจิตแพทย์ หลังจากวันที่เธอค้นพบว่าเธอมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่ในบางครั้งเธอก็โพล่งคำพูดที่ตรงไปตรงมา เสียดแทงใจผู้ฟัง ทว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นคำพูดของคนอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแม่ ยาย หรือเพื่อนสนิทที่เสียชีวิตไปแล้ว จนทำให้คนรอบข้างคิดว่าเธอเป็นบ้า หรือไม่อย่างนั้นก็ภูตผีเข้าสิง

แต่ในความ “บ้า” นั้น สะท้อนให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ทับถมอยู่ภายในใจของผู้หญิงคนนี้ และภาพยนตร์ “คิมจียองเกิดปี 82” (Kim Ji-young: Born 1982) ก็ได้เปิดเผยให้ผู้ชมได้รับรู้

“ลูกสาว – แม่ – เมีย” บทบาทหลักของผู้หญิงในสังคมเกาหลีใต้ 

“คิมจียองเกิดปี 82” ภาพยนตร์ปี 2019 ผลงานการกำกับของคิม โด-ยอง ที่สร้างจากนวนิยายขายดีในชื่อเดียวกันของนักเขียน โชนัมจู บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ “คิมจียอง” หญิงสาวแม่ฟูลไทม์ พร้อมแวดล้อมไปด้วยเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ซึ่งเชื่อมร้อยกันด้วยบทบาทต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นผู้หญิง

เช่นเดียวกับสังคมไทย ผู้หญิงในเกาหลีใต้มักจะถูกกำหนดบทบาทและแบกความคาดหวังของสังคม ตั้งแต่เด็กจนโต ต้องเป็นลูกสาว แม่ และเมีย ที่ดีงามหมดจด ไม่มีข้อบกพร่อง เมื่อเป็นลูกสาว ผู้หญิงในเรื่องต้องเสียสละทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อถึงวัยอันควรก็ต้องแต่งงาน มีลูก ซึ่งหากมีลูกชายก็จะดีมาก รวมทั้งเป็นแม่บ้านแม่เรือน คอยสนับสนุนสามี และสุดท้ายคือ อย่าหยุดสวย

ขยับออกมานอกบ้าน ผู้หญิงในเรื่องดูเหมือนจะเป็นประชากรชั้นสองในสถานที่ทำงาน เพราะนอกจากพวกเธอจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานช้ากว่าผู้ชายแล้ว ผู้หญิงที่เลือกการทำงานมากกว่าดูแลครอบครัว ก็จะถูกเหยียดหยามด้วย 

และแน่นอน หากเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องระวังตัวเอง ทั้งไม่แต่งตัวโป๊ ไม่ยิ้มให้ผู้ชาย และคอยตรวจตราสิ่งผิดปกติรอบตัว

นี่น่าจะเป็นค่านิยมหรือแนวปฏิบัติที่เราคุ้นเคยกันทั่วไป ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนภาพ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่มีต่อผู้หญิง โดยที่เราไม่รู้ตัว

วงกตความรุนแรงที่ไร้ทางออก

เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุความหมายของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ว่าเป็น “สังคมที่มีกลไกที่หลบซ่อน ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพได้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น กลไกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในกฎระเบียบทางกฎหมาย มาตรการ บรรทัดฐาน นโยบาย วิธีปฏิบัติที่ดำรงอยู่ในสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข สวัสดิการ ศาสนา ขนบธรรมเนียมและแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งเอื้อให้คนบางกลุ่มได้เปรียบและได้ประโยชน์มากกว่าคนบางกลุ่ม กลไกดังกล่าวถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนยอมรับและนำไปปฏิบัติโดยไม่สงสัยว่ามันเป็นความรุนแรง”

และใน “คิมจียองเกิดปี 82” ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แม่ฟูลไทม์ = เกาะสามีกิน / ซึมเศร้าหลังคลอด = เป็นบ้า

ความรุนแรงที่เห็นได้ชัดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการตัดสินและตีตราผู้หญิงที่เป็นแม่ฟูลไทม์ เลี้ยงลูกอย่างเดียว และสามีเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงเหล่านี้จะถูกสังคมมองว่าใช้ชีวิตสุขสบาย เกาะสามีกิน โดยที่ไม่อาจรู้ว่า ตลอดเรื่อง คิมจียองแทบไม่ทำอย่างอื่นเลยนอกจากเลี้ยงลูก พับผ้า ทำความสะอาดบ้าน และดูแลครอบครัวสามี และหากเธอพาลูกสาวตัวเล็กออกไปนอกบ้าน ก็ต้องเผชิญกับสายตาและคำพูดของคนแปลกหน้า ที่มองว่าแม่ลูกเล็กอย่างเธอน่ารำคาญและน่ารังเกียจ

ยิ่งกว่านั้น หากผู้หญิงมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ก็จะถูกผู้ชายนินทาเรื่อยเปื่อยว่าเป็นโรคจิต ควรเอาไปขัง หรือแม้กระทั่งถูกผีสิง

กำแพงที่ชื่อว่า “ลูกสาว – แม่ – เมียที่ดี”

นอกจากการตีตราแล้ว ค่านิยมอย่างการเป็นลูกสาว แม่ และเมียที่ดี ยังเป็นกำแพงอีกชั้น ที่สกัดกั้นการเติบโตก้าวหน้าของผู้หญิงในทุกด้าน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แม่ของคิมจียองต้องทิ้งความฝันที่อยากเป็นครู เพื่อทำงานเย็บผ้าในโรงงาน หาเงินมาจุนเจือครอบครัวตามหน้าที่ของพี่สาวคนโต และละทิ้งความฝันนี้ไปชั่วชีวิต เพื่อเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ขณะที่พี่สาวของคิมจียอง ลูกสาวคนแรกของครอบครัวคิม ก็ต้องเลือกเรียนครูทั้งที่ไม่ชอบ เพื่อเร่งหาเงินมาช่วยเหลือทางบ้าน ในวันที่พ่อตกงานช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นเดียวกับคิมจียอง ที่ทิ้งงานที่รักและถนัด เพื่อมาเป็นแม่ อย่างที่ครอบครัวสามีต้องการ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่คิมจียองที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงเช่นนี้ เพราะเพื่อนร่วมงานของเธอ ที่แม้จะเป็นสาวโสด ก็ก้าวหน้าในที่ทำงานได้ช้ากว่าผู้ชาย ขณะที่พนักงานหญิงที่มีลูก ก็ถูกมองว่าไม่สามารถอุทิศตนให้กับงานได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น โอกาสในการเติบโตในสายงานจึงเป็นของผู้ชายมากกว่า

ส่วนผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยไม่ได้เลี้ยงลูกเอง อย่างหัวหน้าคิมในเรื่อง ก็จะถูกมองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดีเช่นกัน หรือหากให้ฝ่ายสามีลางานเพื่อเลี้ยงลูกแทนภรรยา สามีก็อาจจะเสียตำแหน่งในที่ทำงาน หรือได้เลื่อนตำแหน่งช้ากว่าเพื่อนร่วมงาน เพราะฉะนั้น ผู้หญิงที่ออกไปทำงานและให้สามีลามาเลี้ยงลูก จึงถูกมองว่าทำลายอนาคตสามี

“ใครจะสนเรื่องความสำเร็จ ถ้าเลี้ยงลูกไม่ได้เรื่อง” ตัวละครผู้บริหารชายคนหนึ่งกล่าวกับหัวหน้าคิม

และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตัวละครแม่ๆ ในเรื่อง ที่มีทั้งการศึกษาดีและมีความสามารถ ต้องใช้ความสามารถของพวกเธอมาเป็นเครื่องมือประกอบการเลี้ยงลูกแทน

เหตุร้ายทั้งหมดเกิดจากพวกเธอเอง

ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่น่าตกใจไม่น้อย คือบทสนทนาระหว่างเพื่อนร่วมงานของแดฮยอน สามีของคิมจียอง ที่ตั้งคำถามว่า เราจะรู้เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไปทำไม ส่วนเพื่อนอีกคนตอบว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป และเราก็แค่ต้องตามน้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในออฟฟิศเก่าของคิมจียองจะมีกล้องแอบถ่ายอยู่ในห้องน้ำ แต่แทนที่ผู้จัดการเห็นภาพพนักงานหญิงแล้วจะแจ้งความ กลับชวนพนักงานผู้ชายมาดูภาพด้วยกัน แล้วก็เป็นหน้าที่ของพนักงานหญิงที่ต้องระวังตัวกันเอาเอง แม้จะรู้สึกหดหู่มากก็ตาม

เหตุการณ์นี้สะกิดให้คิมจียองนึกถึงสมัยเป็นวัยรุ่น ที่ถูกเด็กคนหนึ่งติดตามมาถึงบ้าน และพ่อของเธอกลับตำหนิเธอ ห้ามไม่ให้ใส่กระโปรงสั้น ห้ามยิ้มให้คนอื่น และสำทับว่า หากเกิดเหตุร้ายขึ้น ก็เป็นเพราะเธอไม่ระวังตัวเอง

มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน

นอกจากมุมของคิมจียองแล้ว หนังยังเสนอมุมมองของแดฮยอน สามีของคิมจียอง ที่โดยทั่วไป เขาทำหน้าที่ดูแลภรรยาและลูกได้ไม่ขาดตกบกพร่อง และยังพยายามช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้ภรรยาอยู่ตลอดเวลา ตามที่เขาเคยสัญญากับคิมจียองไว้หลังแต่งงานว่าจะช่วยเลี้ยงลูก

แต่แท้จริงแล้ว เราไม่มั่นใจว่าชายคนนี้จะสามารถดูแลภรรยาได้จริง เพราะเขายังคงคิดว่า การมีลูกทำให้เขาแค่ไม่ได้ไปปาร์ตี้หลังเลิกงานกับเพื่อนๆ แต่ไม่ได้ถามภรรยาว่าชีวิตเธอจะเปลี่ยนไปอย่างไร ใหญ่หลวงแค่ไหน ยิ่งเมื่อคิมจียองต้องการออกไปทำงาน เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะทำให้เธอมีความสุขได้ แดฮยอนกลับคิดแทนภรรยาว่าการทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยจะเหนื่อยมาก และให้คิมจียองไปออกกำลังกายแทน

และในที่สุด รางวัลของลูกสาว แม่ และเมียที่ดี คือการเก็บกดความรู้สึกและความต้องการส่วนตัวเอาไว้ ไม่อุทธรณ์ใดๆ ต่อการตีตรา มุ่งพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวและสังคมเห็นค่า ในที่สุดก็สูญเสียตัวตนและไร้เสียงของตัวเอง เช่นเดียวกับคิมจียอง ที่ต้องแสดงออกความในใจผ่านเสียงของคนอื่น

ภาพที่คิมจียองแบกลูกสาวใส่เป้อุ้ม นั่งรถไฟไปบ้านแม่ตัวเอง ระหว่างทางต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกแบบทุลักทุเลในห้องน้ำสาธารณะ และกลั้นปัสสาวะตลอดทาง เพราะกลัวโดนแอบถ่ายในห้องน้ำ จึงเป็นภาพที่มัดรวมความลำบากของผู้หญิง และสะท้อนให้เห็นว่าพวกเธอกำลังเดินอยู่ในเขาวงกตที่เหมือนจะไม่มีทางออกรออยู่

มองเห็น เปิดพื้นที่ และยอมรับความโกรธ

อย่างไรก็ตาม หนทางในการเยียวยาจิตใจของคิมจียอง รวมทั้งผู้หญิงคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ก็ใช่ว่าจะตีบตันไปเสียทีเดียว เพราะระหว่างทาง หนังได้พยายามบอกกับสามีของคิมจียองและผู้ชมถึงสิ่งที่คิมจียองต้องการจริงๆ ผ่านคำพูดของคนอื่นที่ออกมาจากปากของคิมจียอง ซึ่งได้แก่การมองเห็นตัวตนของเธอ และชื่นชมว่าเธอทำหน้าที่ทั้งหมดได้ดีแล้ว

การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพ โดยเฉพาะการทำงาน ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการเยียวยา ความพยายามกลับไปทำงานกับหัวหน้าคิม สะท้อนให้เห็นว่า หัวหน้าหญิงคนนี้เป็นคนเดียวที่มองเห็นความสามารถของคิมจียอง และเธอไม่จำเป็นต้องกลายเป็นคนอื่นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง นอกจากนี้ การทำงานยังยืนยันตัวตนว่าเธอยังมีความสามารถ และเมื่อเธอทำสิ่งต่างๆ ได้ เธอจึงมีคุณค่า

คำสอนหนึ่งที่แม่สอนคิมจียอง คือการอนุญาตให้ตัวเองโวยวาย อาละวาดได้เมื่อรู้สึกไม่พอใจ เพราะอารมณ์โกรธเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ และการที่ผู้หญิงสามารถยอมรับความรู้สึกแง่ลบได้ ก็เท่ากับการยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพราะฉะนั้น ในช่วงท้ายของหนัง ที่คิมจียอนปะทะคารมกับผู้ชายที่ดูถูกเธอแทนที่จะเดินหนี เธอได้เปล่งเสียงพูดความในใจออกมาด้วยตัวเองจริงๆ แม้จะรู้สึกแปลกๆ แต่เธอก็ยอมรับกับจิตแพทย์ว่า นั่นเป็นความรู้สึกที่ไม่เลวเลย


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts