คุยเรื่อง ‘ช็อกโกแลต’ ตัวช่วยฮีลลิ่งหัวใจในช่วงเวลาแห่งความเหนื่อยล้า กับ ‘เท้ม Kokomary BKK’

  • Mappa พาทุกคนไปทำความรู้จัก Kokomary BKK ร้านคาเฟ่ที่นำ ‘ช็อกโกแลตไทย’ มาเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประสบการณ์ฮีลลิ่งหัวใจแบบใหม่และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้อ่อนแอ
  • เท้ม – จิรัฎฐ์ วิจิตรายศภักดิ์’ คือเจ้าของร้าน Kokomary ที่ตั้งใจนำคาเคาหรือช็อกโกแลตมาใช้เป็น ‘ตัวเอก’ เพื่อสร้างประสบการณ์การดื่มช็อกโกแลต พร้อมพิธีกรรม Cacao ceremony ที่ใช้คาเคาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับตัวเอง
  • คาเคามีสารที่จะไปกระตุ้นสื่อประสาทเยอะมาก เช่น แมกนีเซียม เซโรโทนิน หรือฟีนิลเอทิลามีน ทำให้คนดื่มรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกตื่นตัว คล้ายเป็น ‘ยากระตุ้นอารมณ์ตามธรรมชาติ’ ที่ถูกใช้มาหลายพันปีแล้ว นอกจากนี้ คาเคายังให้ความรู้สึกเหมือนได้รับการกอดจากแม่ ทำให้รู้สึกปลอดภัยและกล้าแสดงออกถึงความอ่อนแอของตัวเองออกมา
  • ในปัจจุบัน เราแทบไม่รู้ตัวเลยว่าโดนสิ่งรอบข้างดึงเราออกจากตัวเองไปทุกที และจนสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องหันกลับมาใช้เครื่องมือเพื่อสะท้อนอารมณ์ในวินาทีนั้นของตัวเองออกมา เพื่อที่จะหาทางจัดการตัวเองให้ได้ และคาเคาก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้เช่นกัน

ในโลกที่ทุกอย่างดูจะรวดเร็วไปเสียหมด เชื่อว่าคงทำให้ใครหลายคนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการใช้ชีวิตกันบ้าง และเลือกหันหน้าเข้าสู่อะไรบางอย่างเพื่อ ‘เยียวยา’ ร่างกายและจิตใจของตัวเอง จึงไม่แปลกใจนักหาก ‘ศาสตร์การเยียวยา’ มากมายหลากหลายแขนงจะถูกหยิบนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการหมดแรงกายพลังใจของคนในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับร้าน ‘Kokomary BKK’ ที่ซุกซ่อนตัวอย่างเงียบสงบอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนอ่อนนุชที่ไม่เคยหลับใหล คาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้ที่ถูกล้อมรอบด้วยแมกไม้สีเขียวและกรุ่นกลิ่นหอมของ ‘ช็อกโกแลต’ ที่ ‘เท้ม – จิรัฎฐ์ วิจิตรายศภักดิ์’ เจ้าของร้าน ตั้งใจนำมาใช้เป็น ‘ตัวเอก’ เพื่อสร้างประสบการณ์การดื่มช็อกโกแลตและฮีลลิ่งหัวใจใครก็ตามเดินเข้ามาในร้านแห่งนี้ 

Mappa พาทุกคนไปทำความรู้จัก Kokomary BKK ร้านคาเฟ่ที่นำ ‘ช็อกโกแลตไทย’ มาเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประสบการณ์ฮีลลิ่งหัวใจแบบใหม่และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้อ่อนแอ

Q: เล่าให้ฟังได้ไหมว่าทำไมตั้งชื่อร้านว่า Kokomary

เท้ม: แต่เดิมเราตั้งใจจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนหรือพบปะ คือเราเองชอบงานฝีมืออยู่แล้ว เลยอยากทำให้เป็นสตูดิโอเล็กๆ เพื่อให้คนได้มาพูดคุยขายของกัน ส่วนคำว่า Kokomary ก็มาจากการคิดชื่อแบรนด์แหละ ซึ่งเราก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเลย ส่วนตัวเป็นตนชอบดูการ์ตูน ก็เลยคิดเป็นเรื่องราวเลยว่าให้ Koko เป็นผู้ชายหรือเป็นตัวแทนของความเป็นชาย (masculine) ส่วน Mary คือผู้หญิงหรือตัวแทนของความเป็นหญิง (feminine) แล้ว Koko เนี่ยก็เป็นตัวละครญี่ปุ่นที่หลงใหลในวัฒนธรรมอเมริกาใต้มากๆ ส่วน Mary ก็เป็นตัวละครชาวอเมริกันใต้ที่ชอบความเป็นญี่ปุ่น 

Q: เหมือนเป็นการเอาความชื่นชอบสองอย่างมารวมอยู่ด้วยกันใช่ไหม

เท้ม: ใช่ มันเป็นความชื่นชอบของคนสองแบบที่ตรงข้ามกันทั้งหมด แต่คนสองคนก็มีจุดศูนย์กลางอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาได้มาพบเจอกัน และมันก็กลายมาเป็นเรื่องของคาเคา* (Cacao) ซึ่งพลังงานของ 2 ตัวละครนี้ก็เป็นเหมือน 2 พลังงานที่หาจุดสมดุลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วมันดันมาเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ชงโกโก้ยุคโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิงและเพศชาย เวลาที่เราทำโกโก้จึงเป็นการสร้างชีวิตและจิตวิญญาณ หรือแสดงถึงการเกิดใหม่

*คาเคา (Cacao) เป็นชื่อที่ใช้เรียกต้นโกโก้และผลโกโก้ที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการคั่วด้วยความร้อน ขณะที่โกโก้ (Cocoa) คือเมล็ดคาเคาที่นำไปคั่วด้วยความร้อนและนำไปตากแห้งเรียบร้อยแล้ว ส่วนช็อกโกแลต (Chocolate) คือการนำโกโก้ไปบดผสมน้ำตาลและนม แล้วเทใส่พิมพ์จนกลายเป็นช็อกโกแลตบาร์ 

Q: แล้วทำไมต้องเป็นคาเคาด้วยล่ะ

เท้ม: ในคาเคามีสารที่จะไปกระตุ้นสื่อประสาทของเราเยอะมากนะ ไม่ว่าจะเป็นแมกนีเซียม เซโรโทนิน หรือฟีนิลเอทิลามีน ซึ่งมันทำให้คนดื่มรู้สึกผ่อนคลาย ได้ปลดปล่อย และทำให้รู้สึกตื่นตัว คือมันเป็นเหมือน ‘ยากระตุ้นอารมณ์ตามธรรมชาติ’ ที่ถูกใช้มาหลายพันปีแล้ว นอกจากนี้ เวลากินคาเคา เรารู้สึกเหมือนได้รับการกอดจากแม่ อุ่นใจ รู้สึกอบอุ่น ทำให้รู้สึกปลอดภัย และกล้าแสดงออกถึงความอ่อนแอของตัวเองออกมา ซึ่งเราว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีพื้นที่ให้แสดงความอ่อนแอน้อยลงมาก ทุกคนต้องแข็งแกร่ง ต้องสู้ ต้องอดทน มันไม่มีมุมที่บอกว่า ‘พวกมึงอ่อนแอออกมาบ้างเถอะ’ แต่เราว่าคาเคาให้คุณเป็นแบบนั้นได้โดยไม่มีการสร้างกรอบกำหนด

Q: อธิบายหน่อยได้ไหมว่ามันทำแบบนั้นได้อย่างไร

เท้ม: เรานำคาเคามาใช้ใน cacao ceremony เพื่อทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และในการทำพิธีกรรมของเราทุกครั้ง เราจะพูดเสมอว่าถ้าอยากเต้น หัวเราะ ร้องไห้ หรือโมเมนต์ไหนที่ทำงานกับความรู้สึกของเขา ก็แสดงออกมาได้เลย คือมันมีอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน  แล้วเขาก็กล้าจะร้องไห้ หรือกล้าที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนแปลกหน้าในวันนั้นฟัง ซึ่งเขาอาจจะรู้สึกปลอดภัย หรือรู้สึกว่าเราก็คงเจอกันแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวแหละมั้ง แต่คาเคามันทำให้เรากล้าเปิดและปลดปล่อยพลังงานลบๆ ออกมา 

Q: ฟังดูเหมือนคาเคาทำหน้าที่คล้ายๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยนะ ที่ว่ากินแล้วก็จะกล้าพูดมากขึ้น

เท้ม: ใช่ๆ มันมีส่วนเหมือนกัน มันเป็นเครื่องดื่มคล้ายแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ มันเป็นการหมักที่อาจจะทำให้รู้สึกมึนเมา แต่รู้สึกผ่อนคลาย บางคนมากินก็รู้สึกเหมือนเมาๆ นะ บางคนรู้สึกตาหนักๆ ย้วยๆ เลยต้องการขยับร่างกาย คือจะบอกว่าเหล้าก็ถูกมองว่าเป็นยาในสมัยก่อนเหมือนกัน เพราะมันไปกระตุ้นเลือดลม คาเคาก็ช่วยกระตุ้นเลือดลมเหมือนกัน

Q: แล้วคาเคาถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการฮีลลิ่งหรือเยียวยาคนดื่มได้อย่างไร

เท้ม: ในสมัยก่อน ชนเผ่าในลุ่มน้ำแอมะซอนก็หยิบจับคาเคามาใช้เป็นยา อย่างยุคโน้นเขามองว่าคาเคาเป็นยาครอบจักรวาล มันน่าเหลือเชื่อนะที่เขาหยิบมันมาใช้ เราว่าเขาเรียนรู้จากผลที่ตามมาหลังจากที่เขากินมันเข้าไป แล้วมันทำให้เลือดลมดี สุขภาพก็ดี จึงกลายเป็นความมหัศจรรย์ของพืชชนิดนี้ที่ช่วยรักษาอาการป่วยบางอย่างได้ ตอนนั้นเขาคงไม่รู้หรอกว่ามันมีสารอะไรบ้าง แต่มันทำให้เขารู้สึกสุขภาพดีขึ้นหรือป่วยแล้วหาย ซึ่งพอมาถึงปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้า มันก็พิสูจน์แล้วว่าคาเคามีคุณสมบัติช่วยได้จริง อย่างคาเคามีแมกนีเซียมที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ล้างพิษ กำจัดกรด ช่วยลดความไวต่อความเจ็บปวด แล้วยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ มีเซโรโทนิน หรือ ‘ฮอร์โมนแห่งความสุข’ ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างพวกเรา สิ่งที่จะบอกก็คือ คาเคาหรือโกโก้เป็นเครื่องกระตุ้นอารมณ์ตามธรรมชาติได้หลายแบบมาก ไม่ว่าจะเรื่องทางเพศ ความคิดสร้างสรรค์ ความสุข หรือถ้าใช้ควบคู่ไปกับการฝึกฝนสมาธิก็จะทำให้เข้าสู่สมาธิได้ลึกซึ้งมากขึ้น

Q: ฟีดแบคของคนที่เคยมาฮีลลิ่งด้วยการใช้คาเคากับคุณเท้มเป็นอย่างไรบ้าง

เท้ม: ขอเล่าเรื่องของน้องคนหนึ่ง คือเราจะบอกทุกคนว่าพอทำพิธีกรรมหรือกินเสร็จแล้วให้ลองกลับไปสังเกตตัวเองที่บ้าน ซึ่งน้องคนนี้ก็เขียนมาเล่ายาวมากเลย เขาบอกว่าวันที่มากินคาเคาที่ร้าน เขาใช้เวลาพูดคุย คิด แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนแผนการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งเขารู้สึกได้พลังบวก รู้สึกใจเบาขึ้น จากนั้นเขาก็ขับรถกลับบ้าน แล้วคาเคาก็เริ่มทำงานกับเขา เขารู้สึกสบายใจ อิสระ จากที่เคยกลัวความมืด เขาก็รู้สึกไม่กลัวอีกต่อไป มันเลยทำให้เขาเข้าใจว่าคาเคาคือการสำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้ง มันคือการสื่อสารกับตัวเองแหละ ไม่ต้องเสียเวลาคิดเยอะ เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง เพราะตลอดเวลาที่เราโตขึ้น เราโตมาแบบให้คิดวิเคราะห์เยอะ บางทีเราก็เลยไม่กล้าเชื่อตัวเอง เท้มมองว่าปัจจุบันเราฟังคนอื่นเยอะ ทำเพื่อคนอื่นเยอะ ดีกับคนอื่นเยอะ เราใช้ชีวิตจนลืมรักตัวเองหมดแล้ว

Q: สำหรับคุณเท้มแล้ว การฮีลลิ่งสำคัญกับคนยุคนี้อย่างไร แล้วทำไมการสำรวจตัวเองหรือการได้กลับมาอยู่กับตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

เท้ม: ในปัจจุบันนี้ เราอยู่กับอะไรมากมายที่พร้อมจะดึงเราออกไปจากตัวเราเสมอ ตื่นมาเราเปิดโทรศัพท์แล้ว พอเปิดโทรศัพท์ มันก็จะไม่ใช่เรื่องของเราอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของคนอื่นและข่าวสารต่างๆ เราใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่มีโทรศัพท์ มีโซเชียลมีเดีย โดยเราไม่รู้ตัวเลยว่าเราโดนดึงออกจากตัวเราไปทุกที จนเราไม่รู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร แต่สำหรับเท้ม สิ่งสำคัญมากๆ คือตอนนี้เรารู้สึกอะไร ทุกข์ สุข เศร้า แฮปปี้ คือกลับมาพิจารณาตัวเอง บางครั้งเราคิดว่าเดี๋ยวความรู้สึกนี้ก็หายไปเองแหละ แต่ไม่ใช่ จริงๆ แล้วมันถูกสะสมอยู่ในตัวเรา ในความทรงจำของเรา ทับกันหลบซ่อนกันอยู่ ดังนั้น เราจึงต้องกลับมาใช้เครื่องมือพวกนี้ ใช้คาเคา การพูดคุย การใช้เสียง หรือใช้กระบวนการอื่นๆ ที่มีหลากหลายวิธีมากในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนอารมณ์ในวินาทีนั้นของเราออกมา บอกให้ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ทำไมเรารู้สึกแบบนั้น เพื่อที่เราจะสามารถจัดการตัวเองได้ และไม่ปล่อยมันเอาไว้

Q: ขอเข้าประเด็นเรื่องวัตถุดิบของร้านหน่อยนะ ได้ยินมาว่า Kokomary BKK ใช้ช็อกโกแลตไทยมาเป็นวัตถุดิบหลักของร้านเลย

เท้ม: ใช่ คือมันเริ่มจากเรามีโอกาสไปงานช็อกโกแลตไทยแล้วได้เจอกับพี่คนหนึ่ง ซึ่งพอมาถึงวันที่เรารู้สึกช็อกโกแลต เราก็เลยโทรศัพท์ไปหาพี่เขา จากนั้นเขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาหาเราพร้อมกับช็อกโกแลต 10 กระปุก ซึ่งตรงนั้นแหละคือจุดที่ทำให้เราเห็นว่าบ้านเราก็มีอะไรอย่างนี้ด้วย ต่อมาเราก็เลยเข้ากลุ่มช็อกโกแลตไทยแลนด์ ก็เริ่มจากศูนย์เลย เราก็ถามคนนั้นคนนี้ว่ามันคืออะไร อยากได้ช็อกโกแลตเป็นก้อนๆ ต้องทำยังไง แล้วก็มีคนโทรมาอธิบายให้เราฟังดีมากเลย เรียกว่าเปิดโลกเราเลย

Q: ช็อกโกแลตไทยในร้านที่อยากแนะนำมีอะไรบ้าง

เท้ม: เอา 3 ตัวแล้วกัน ตัวแรกคือคาเคาของเชียงราย ซึ่งมันจะมีความเท่ มีเอกลักษณ์มากๆ นัวเหมือนเครื่องเทศ รสชาติฝาดแต่ไม่เปรี้ยว มีความครีมมี่ แล้วจะมีกลิ่นของกล้วยตากด้วย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มันมีกลิ่นของกล้วยตากก็คือจุลินทรีย์หรือการหมัก คือทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการผลิตนั่นแหละ แต่ต้องบอกเลยว่าคาเคาของเชียงรายจะให้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจ คือบางวันเราจะเลือกคาเคาตามอาการของเรา วันไหนอยากอบอุ่นหัวใจก็กินของเชียงราย หรือวันไหนอยากให้หัวใจรู้สึกเบิกบานหน่อยหรือกระชุ่มกระชวยหน่อย เราก็จะเลือกกินคาเคาของเพชรบูรณ์ ซึ่งมันเหมือนกินกาแฟแล้วตาโต เพราะเขาจะม่ีความเข้มข้นเหมือนกาแฟ ก็คือตื่นเลย 

ส่วนอีกตัวที่อยากแนะนำคือคาเคาของตาก ซึ่งจะมีรสชาติแบบเรดเบอร์รี่หน่อย มีความเปรี้ยวแบบน้ำส้มสายชู แต่พอเอาผสมกับนม บางทีมันก็จะรสชาติเหมือนส้มโอ แอปเปิ้ล หรือขนุน คือพอมันมีความครีมมี่หรือความหวานเข้ามา มันจะไปลดความฝาดหรือเปรี้ยวลงนิดนึงเพื่อให้ชูรสชาติ

คาเคาหนองคายสำหรับเท้มก็พิเศษเหมือนกันนะ หนองคายเขาจะปลูกติดกับแม่น้ำโขง อยู่ที่อำเภอสังคม ตัวนี้เราใช้ในพิธีกรรมของเราด้วยนะ จริงๆ เก็บมาเป็นปีแล้ว คือมันไม่เสียถ้าเก็บไว้ดีๆ ไม่มีความชื้น ไม่มีแมลง และยิ่งเก็บนาน รสชาติของมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งของหนองคายจะมีความเป็นดินหน่อย แต่รสชาติยังคงความเป็นดิน (earthy) สำหรับเท้ม คาเคาของหนองคายทำให้รู้สึกถึงพื้นดินมากขึ้น 

ร้าน Kokomary BKK ตั้งอยู่บนถนนอ่อนนุช ประมาณซอยอ่อนนุช 25 (https://goo.gl/maps/VPSMHM3rPUHv4e888

เฟสบุ๊ก https://www.facebook.com/Kokomarybkk 

อินสตาแกรม https://www.instagram.com/kokomarybkk/


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer

Avatar photo

ณัฐวุฒิ เตจา

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts