งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 เพิ่งผ่านพ้นไป ผู้อ่านคอหนังสือเด็กได้เล่มไหนกลับบ้านกันบ้าง
ส่วนตัวผู้เขียนได้มาหนึ่งเล่ม ผลงานของนักเขียนชื่อคุ้นหูและอยู่ในใจของใครหลายคนอย่างชินสุเกะ โยชิทาเกะ (Shinsuke Yoshitake) ด้วยเหตุผลที่ว่าเปิดอ่านแล้วขำก๊ากออกมาหน้าแผงหนังสือ จึงหยิบติดมือกลับมาด้วย หนังสือเล่มนั้นเล็กกะทัดรัดตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Amarin Kids และแปลจากภาษาญี่ปุ่นโดย สุธีรา ศรีตระกูล ในชื่อว่า ‘นวดแล้วยืด’ ซึ่งถ้าเราพิมพ์แบบกระชับก็อาจจะไม่เห็นภาพเท่าใดนัก ต้องลองเปลี่ยนเป็น ‘นวดแล้วยืดดดดดดดด’ จะเห็นภาพมากกว่า
คอลัมน์ ‘เล่านิทานก่อนนอน’ เดือนนี้จึงมาแบบอารมณ์ขันกับงานของชินสุเกะ โยชิทาเกะ เล่มนี้ที่ทำเอาผู้ใหญ่อย่างเราซึ่งเต็มไปด้วยกรอบเกณฑ์ต่างๆ ที่สวมเข้ามาในตัวเองมากมายระหว่างเติบโต อยากจะหลอมละลายตัวเองกลายเป็นเจ้าแป้งนุ่มนิ่ม ยืดไปยืดมาไร้กรอบตายตัวแบบในเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ไปเลย และพอนึกไปว่าถ้าเด็กๆ ได้อ่านเล่มนี้คงจะสนุกและเห็นอะไรอีกมากมายยิ่งกว่าผู้ใหญ่อย่างเราแน่ๆ
‘นวดแล้วยืด’ เป็นหนังสือภาพที่เล่าถึงการนวดแป้งของเด็กชายคนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่น่าเชื่อว่าพอการนวดแป้งมันไปอยู่ในหัวของชินสุเกะ แล้วเขาเล่าออกมา มันกลับกลายเป็นอะไรได้มากกว่าแป้งนุ่มนิ่ม และเป็นได้มากกว่าการนวดแป้งเพื่อทำอาหาร มากจนเราคิดว่าถ้าเขามีหน้ากระดาษเพิ่มอีกไม่รู้จบ เขาคงจะหาวิธียืดแป้งก้อนนี้ไปได้อีกเป็นร้อยพันแบบ
ใช่แล้ว ตลอดการอ่านเราจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของเจ้าแป้งนั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ในทุกหน้า ตั้งแต่วงกลม วงรีที่ยืดออกไปไร้ทิศทาง ตามการสังเกตและทดลองของเด็กคนนี้ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังกลายเป็นทั้งคู่เต้นรำ เป็นผ้าห่ม เป็นคนที่นั่งเก้าอี้ได้ เป็นที่สำหรับกระโดดเด้งดึ๋งก็ยังได้ เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่มาพันๆ อยู่รอบตัวอีก และเป็นอะไรต่อมิอะไรได้อีกเกินจะคาดคะเน
จินตนาการที่ยืดไปไกลได้เรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราลืมความเป็นผู้ใหญ่ไปชั่วขณะ ปลดปล่อยความรู้สึกที่อยากเล่นแบบเด็กๆ ออกมาโลดแล่นไปในขณะที่อ่าน พบว่าสิ่งที่เราเคยคิดและเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นแบบเดียว กลับมีได้อีกหลายแบบเหลือคณา ไม่ต่างไปจากเจ้าแป้งก้อนนี้
เมื่อคิดต่อไปอีกก็พบว่า การที่เจ้าแป้งก้อนนี้มันปรับและเปลี่ยนเป็นอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมายในโลก และดูจะมีความเป็นไปได้ไม่รู้จบซ่อนอยู่ในนั้น ก็เพราะว่ามันมีคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือ ‘ความยืดหยุ่น’ นี่เอง ความเป็นไปได้ที่จะมีรูปทรงแบบต่างๆ จึงราวกับเป็นอนันต์
ชีวิตพวกเราในบางครั้งเหมือนกันเลย เมื่อเติบโตขึ้นและรับเอากรอบกล่องบางอย่างมาเป็นสรณะ บางทีก็พรากเอาความยืดหยุ่นที่ทำให้เราเห็นคำตอบหนึ่งๆ ได้มากกว่าหนึ่ง หรือความยืดหยุ่นที่ทำให้เราสามารถรับฟังถกถามกันได้โดยไม่แตกสลายเสียก่อนไปอย่างไม่ทันรู้ตัว ซึ่งนิทานภาพเรื่องนี้ก็ได้พาเราเคาะความเคยชินระหว่างการเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ออกไปได้อย่างน่าทึ่งในขณะอ่าน
ทั้งนี้ก็ยังทำให้เห็นด้วยว่าความยืดหยุ่นที่ ‘มากเกินไป’ ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอ เมื่อเด็กชายทำให้ขนมปังก้อนนี้ขยายใหญ่ ‘พองขึ้นอีก…พองขึ้นอีก’ แล้วกระโดดเล่นกับเจ้าก้อนแป้งมหึมา จนในท้ายที่สุดมันก็แตกกระจายออกไป ซึ่งจะเห็นว่า จากที่เราคิดว่าความยืดหยุ่นดีงามที่สุด จะเปลี่ยนรูปแปรร่างอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเกิดปัญหานั้นก็ไม่จริงเลย
เรื่องราวที่ดำเนินมาตรงนี้จึงทำให้เราเห็นว่า ความยืดหยุ่นมันก็มีข้อจำกัดของมันอยู่เช่นกัน เมื่อมากเกินไปก็อาจทำให้ผันกลายเป็นความเคร่งครัดอีกแบบหนึ่งที่สะสมอยู่ข้างใน และเมื่อทนไม่ไหวก็แตกกระจายออกมาในที่สุด
เด็กคนนั้นก็ค่อยๆ เก็บส่วนที่แตกกระจายมารวมกันใหม่ และผสานมันกลับเป็นก้อนเช่นเดิม ก่อนจะนวดและยืดเล่นและสร้างเจ้าก้อนแป้งให้เป็นหลายๆ แบบต่อไปอีก และแน่นอนว่าเขาได้เรียนรู้และรู้จักเจ้าก้อนแป้งนี้มากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง หลังจากพบว่ามันแตกกระจายได้ครั้งนั้น
หากเจ้าก้อนแป้งคือหัวใจของคนเรา มันก็มีศักยภาพอย่างมากในการจะยืดหยุ่นต่อสถานการณ์และเรื่องราวนานาประการ มีศักยภาพอย่างมากในการกระโดดโลดเต้นในท่วงท่าและรูปทรงต่างๆ ได้อย่างอิสระ ขณะเดียวกันมันก็ต้องการการเข้าใจอย่างมากว่าเรายืดหยุ่นต่อเรื่องหนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ กรอบเกณฑ์หนึ่งๆ และรูปทรงหนึ่งๆ ได้มากน้อยเพียงใด
ลองกระโจนออกมาเป็นเด็กกันอีกสักครั้ง แล้วสำรวจหัวใจของพวกเรากัน ว่ามันยืดได้แค่ไหน พองโตได้เท่าไร และแปลงร่างเป็นอะไรได้อีกบ้าง!