Third Space

พ่อแม่ถาม “อยากให้ลูกเข้าคณะนี้ต้องทำยังไง”​ แต่เด็กจะถามว่า “คณะนี้หนูมีโอกาสเข้าไหม” พี่ลาเต้ Dek-D 

  • เลือกคณะเรียนก็เหมือนกับการเลือกแฟน ต้องเลือกคณะที่เราได้เป็นตัวเอง คำแนะนำของพี่ลาเต้ Dek-D ที่ปรึกษาสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เคยใช้บริการ
  • เข้าคณะที่ถูกจริตถือเป็นจุดสตาร์ทที่ดีว่าเราจะเรียนประสบความสำเร็จ แต่ก่อนจะรู้คณะ เราต้อง ‘ค้นหา’ ตัวเองเจอก่อน
  • “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่จริง! แต่เรียนที่ไหนก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ อันนี้จริง”

‘พี่ลาเต้’ ชื่อที่บางคนอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าคุณเป็นนักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องเคยได้ยินชื่อ หรืออาจเคยใช้บริการถามปัญหา ขอคำปรึกษาจากพี่ลาเต้ บุคคลที่นักเรียนหลายคนยกย่องว่า ถ้าไม่มีเขา คงไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

12 ย่าง 13 จำนวนปีที่พี่ลาเต้ หรือ มนัส อ่อนสังข์ นั่งในตำแหน่งบรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไซต์ Dek-D.com พ่วงตำแหน่งโฆษกระบบสอบเข้ามหา’ลัย รวมถึงรับบทครูแนะแนวให้คำปรึกษานักเรียนทั่วไทย 

พี่ลาเต้ – มนัส อ่อนสังข์

“เรื่องของการค้นหาตัวเองถือเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทย” 

คือสิ่งที่พี่ลาเต้เจอตลอดระยะเวลาการทำงาน และทำให้เขายังคงเป็นที่ต้องการของเด็กๆ เสมอ เขาเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เด็กในการค้นหาตัวเอง เพราะระบบการศึกษาให้ไม่ได้

พี่ลาเต้ถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของเด็กหลายคนในการสอบเข้ามหา’ลัย แล้วตอนที่พี่ลาเต้เป็นนักเรียน ใครเป็นที่ปรึกษาเราเรื่องนี้

ไม่มีเลย ดำน้ำเอาเอง แต่เราเป็นคนที่ชอบวิชาแนะแนวเป็นทุนเดิม เพราะตอนที่เรียนรู้สึกว่าวิชาแนะแนวมันเห็นอนาคตชัดดี จริงๆ เราชอบเรียนสังคมกับไทยมากนะ เคยสอบสังคมได้คะแนนสูงสุดของห้อง เราก็ดีใจ แต่ตั้งคำถามว่ามันเอาไปทำอะไรต่อได้ แต่พอเป็นวิชาแนะแนวเราเห็นแนวทางชัดเจนว่า อ๋อ ถ้าเราจบ ม.6 ไปเรียนต่อที่คณะนี้ได้นะ 

ยุคเรามันไม่ค่อยมีตัวช่วยในการค้นหาตัวเองเท่าไร ตามมีตามเกิดเลย อาศัยคุยกับเพื่อนว่าอยากเรียนอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนมากกว่าที่มาถามเราว่า มึง… อย่างกูเรียนคณะอะไรดี 

มีเพื่อนมาปรึกษาด้วย แสดงว่าเราก็เริ่มให้คำแนะนำตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว?

เราเป็นคนที่ชอบอะไรแล้วจะลงลึกศึกษาเรื่องนั้นๆ ตอนม.ต้นเราชอบรถไฟมาก (เน้นเสียง) ถึงขนาดศึกษาว่าทำยังไงเราถึงจะได้ทำงานเป็นคนขับรถไฟ ไปเจอหนังสือเล่มนึงของสำนักพิมพ์บัณฑิตแนะแนวเกี่ยวกับเส้นทางหลังจบม.3 เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เปิดโลกและทำให้เราชอบวิชาแนะแนว ในหนังสือจะบอกว่ามีโรงเรียนสอนม.4 ที่ไหนที่สอนเกี่ยวกับรถไฟบ้าง มีโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟที่เรียนด้านนี้โดยตรง รู้จักโรงเรียนแบบอื่นๆ

ตอนที่เราสอบเข้ามหา’ลัย ไม่มีเว็บไซต์ให้เข้าไปดูว่ามหา’ลัยมีระเบียบการเปิดรับสมัครยังไง ต้องไปซื้อหนังสือที่ขายตามมหา’ลัย เราก็ไปซื้อมานั่งอ่าน ครูแนะแนวก็ฝากซื้อด้วย (ยิ้ม) มีความสุขมากนะตอนอ่าน ได้รู้ว่า อ๋อ มีมหา’ลัยแบบนี้ด้วย อ่านจนเข้าใจระบบสอบเข้าเลยไม่มีปัญหา ทั้งๆ ที่ตอนนั้นระบบก็เข้าใจยากพอสมควรเหมือนกัน

สิ่งที่เราได้ยินเกี่ยวกับระบบสอบเข้ามหา’ลัย คือ การเปลี่ยนระบบที่เกิดขึ้นบ่อย ในการทำงานของพี่ลาเต้ เจอระบบสอบเข้ามหา’ลัยกี่แบบ

ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน ระบบสอบเข้าจะไม่ค่อยเปลี่ยน มาเริ่มเปลี่ยนครั้งแรกประมาณปี 53 จากสอบ A-NET เป็นสอบ GAT-PAT พอปี 61 เปลี่ยนมาใช้ระบบ TCAS จากนั้นเรียกว่าทุกปีมีเรื่องให้ต้องเปลี่ยนในระบบ เช่น จากเลือกคณะได้ 6 อันดับเป็น 10 อันดับ หรือเปลี่ยนคนออกข้อสอบ

ถ้ามองในมุมคนที่เปลี่ยนแปลงระบบ เราว่าเขามีวัตถุประสงค์ที่ดีนะ เทียบกับอดีตที่การสอบเข้ามหา’ลัยให้ความรู้สึกว่า เด็กต้องไปร้องขอ ข้างบนสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำตาม ข้อมูลมีเท่าที่เขาให้ ตอนนี้เทคโนโลยีก็ช่วยซัพพอร์ตให้เด็กรู้ข้อมูลมากขึ้น สมมติต้องสมัครสอบพรุ่งนี้ วันนี้เด็กรู้ละว่าหน้าตาเว็บสมัครเป็นยังไง

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนระบบ เขาจะบอกสาเหตุเสมอ ต้องการแก้ปัญหา 1 2 3 พอแก้พวกนี้เสร็จดันเกิด 4 5 6 ตามมา กลายเป็นแก้ไม่จบ เช่น รุ่นเราเด็กยังไม่จบม.6 ก็ต้องสอบเข้ามหา’ลัยละ เขาเลยปรับให้เด็กสอบม.6 ให้จบก่อน แล้วค่อยไปสอบเข้ามหา’ลัย แต่มันดันต้องสอบหลายอย่างพร้อมกันก็เลยต้องปรับเรื่อยๆ 

เรื่องสอบเข้ามหา’ลัยมันมีหลายเรื่อง หนึ่ง – ระบบสอบเข้าที่เล่าไป กับสอง – เรื่องบริการ ไม่รู้เปรียบเทียบชัดเจนไหม แต่เรารู้สึกเหมือนเราไปใช้บริการร้านอาหาร 2 ร้าน ร้านนึงเซอร์วิสเต็มที่ แต่อีกร้านเราต้องทำเองแทบทุกอย่าง แม้กระทั่งเดินไปตักอาหารเอง ร้านที่บริการดีแบบนี้ได้ส่วนหนึ่งเพราะเขาเก็บค่าใช้บริการสูงกว่า แต่ระบบสอบเข้าของเรา เด็กๆ ก็เสียเงินนะ เช่น สมัครสอบเลือกคณะ เด็กเสียเงินอันดับละ 100 บาทเลย เขาก็เลยรู้สึกว่าบริการที่เขาได้รับไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป 

การเปลี่ยนระบบที่เกิดขึ้นทำเพื่อพัฒนาระบบ แต่เด็กบางส่วนรู้สึกว่าการแจ้งกระชั้นชิดไป เตรียมตัวไม่ทัน บวกกับรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นหนูทดลอง ทั้งๆ ที่เป็นอนาคตของเขา

ผู้ใหญ่เคยพูดในที่ประชุมว่าถ้าจะเปลี่ยนอะไรในระบบ จะแจ้งก่อน 3 ปี แต่ทุกวันนี้ 3 เดือนถึงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย เราว่ามุมผู้ใหญ่อาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นผลลบ เช่น เปลี่ยนจากเลือกคณะ 6 อันดับเป็น 10 อันดับ ทำให้เด็กมีโอกาสมากขึ้น หรือการเปลี่ยนคนออกข้อสอบ เขามองว่า ไม่ว่าคนออกข้อสอบเป็นใคร เด็กก็ต้องอ่านหนังสือสอบอยู่ดี แต่เด็กจะรู้สึกว่าไม่เหมือนกัน เขาฝึกทำข้อสอบมาแบบหนึ่ง แต่คนออกข้อสอบหน้างานจริงกลับไปอีกคน แนวข้อสอบก็ไม่เหมือนกัน

เราว่าอยู่ที่การสื่อสาร ผู้ใหญ่อาจไม่ได้ให้ข้อมูลเด็กมากพอ อย่างเรื่องค่าสมัครสอบ 900 บาทที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ ในมุมทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบสอบเข้ามหา’ลัย เขาบอกว่าไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เงินที่ใช้ทำงานมาจากค่าสมัครล้วนๆ ถ้าเขาแจกแจงจุดนี้ให้เด็กได้ เด็กก็จะเห็นภาพว่า อ้อ เงินที่เขาเสียเอาไปใช้กับอะไรบ้าง 

ส่วนการออกแบบระบบสอบเข้า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักๆ จะมีแค่มหา’ลัย ยังขาดคนอื่นๆ เช่น เด็ก ผู้ปกครอง ครูแนะแนว แต่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้นะ หลังๆ ทปอ.ทำประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็นคนข้างนอก เช่น รอบสอบเข้ามหา’ลัยที่ยื่นแฟ้มผลงาน อยากให้จัดช่วงไหน 

เรื่องที่เด็กมาปรึกษาพี่ลาเต้ช่วงนี้มีเรื่องอะไรบ้าง เหมือนหรือแตกต่างจากที่เราเคยเจอไหม 

ช่วงที่ทำงานใหม่ๆ เรื่องที่ถามเข้ามาเยอะสุด คือ เรียนคณะอะไรดี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้สิบกว่าปี ปัญหานี้ยังมีเข้ามาถามอยู่ เด็กทุกรุ่นมีปัญหานี้ร่วมกัน กังวลว่าจบม.6 จะไปเรียนอะไรต่อ ส่วนคำถามที่หลังๆ เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น คือ เรื่องระบบสอบ ปีนี้ระบบสอบเข้าเป็นยังไง 

คำถามพวกนี้มันสะท้อนอะไรกับเราบ้าง

สะท้อนว่าระบบสอบเข้าไม่นิ่งเลย เด็กต้องถามตลอดว่าระบบปีนี้เป็นยังไง ส่วนเรื่องเรียนอะไรดี เป็นเรื่องของการค้นหาตัวเอง จริงๆ นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทยเลยนะ เราตอนอยู่ม.6 ก็เคยมีคำถามแบบนี้เหมือนกัน แต่โชคดีที่เรายังพอรู้ว่าชอบ – ไม่ชอบอะไร เลยเลือกคณะได้ แต่เด็กบางคนไม่รู้จักตัวเองจริงๆ (เน้นเสียง)

ประเทศไทยเรียนหลักสูตรขั้นพื้นฐาน 12 ปี แต่เราเรียนอะไรกัน? ไม่มีวิชาหรือการส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเองมากพอหรือเปล่า ขอยกตัวอย่างวิชาแนะแนว รุ่นเราก็เรียนนะ มีให้ค้นหาตัวเองด้วย แต่เป็นเชิงทำเพื่อให้จบคาบไป ทำแบบทดสอบว่านิสัยเราเหมาะกับอาชีพอะไร สามารถเดาออกเลยว่า ถ้ากูตอบข้อนี้ กูต้องได้เป็นแพทย์แน่ๆ หรือตอบแบบนี้กูต้องได้เป็นครู 

ตอนที่เรียนแนะแนวแล้วรู้สึกเข้มข้นสุด เป็นช่วงม.3 กับม.6 คุณครูจะมาบอกว่ามีโรงเรียนไหนเปิดรับสมัคร มีทุนอะไรบ้าง เอาใบสมัครมาให้ เป็นซัพพอร์ตที่เรียน แต่ไม่ได้ซัพพอร์ตว่าเราน่าจะไปต่อยังไง

กลายเป็นว่าคาบแนะแนวที่ควรทำให้เราค้นหาตัวเอง ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

เรามีโอกาสไปแนะแนวเด็กในโรงเรียนเลยได้คุยกับคุณครูแนะแนว เข้าใจบริบทเขาเยอะขึ้น บางโรงเรียนมีครูแนะแนวคนเดียว ต้องดูแลเด็ก 6 ชั้นเรียน นอกจากการสอนก็มีภาระงานอื่นๆ อีก จนไม่สามารถให้เวลาเด็กเต็มที่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเจอหลายโรงเรียน

ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าตำแหน่งครูแนะแนวบางโรงเรียนไม่ค่อยสนับสนุนด้วย ถ้าครูวิชานี้ขาดจะเอาครูวิชาอื่นมาสอนแทน หรือไม่ก็ครูที่ปรึกษา วิชาแนะแนวเลยเป็นแบบผิดเพี้ยนมาเรื่อยๆ เด็กคนไหนพอมีกำลังก็ไปงาน open house ของมหา’ลัย เปิดโลกให้ตัวเอง แต่ถ้าไม่มีทุนหรือเป็นเด็กต่างจังหวัดแบบเรายากเลย เดินทางลำบาก ปิดกั้นโอกาสที่จะค้นหาตัวเองทางนี้

การขาดโอกาสแบบนี้ส่งผลกับเด็กอย่างไร 

เด็กรู้จักไม่กี่คณะ แพทย์ ทันตะ อยากเป็นทนายไปเรียนนิติ หรือเป็นครูไปเรียนศึกษาฯ ทั้งที่จริงทุกวันนี้คณะเกิดขึ้นใหม่เยอะมาก เราเคยเจอเด็กคนหนึ่งชอบเล่นกีฬามาก เขาปรึกษาว่าเข้าคณะไหนต่อดี เราแนะนำไปว่าถ้าชอบเล่นกีฬาลองดูพวกคณะวิทยาศาสตร์กีฬา หรือชอบดูแต่ไม่ได้ชอบเล่น สามารถไปดูสาขาวิชาสื่อสารมวลชนทางกีฬาได้ จบไปทำงานนักข่าวสายกีฬา พอเด็กรู้ว่าทุกวันนี้มีคณะอะไรบ้าง เขาจะเห็นภาพตัวเองมากขึ้น

ระบบการศึกษาก็มีครูแนะแนวที่ช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง หรือมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้ามหา’ลัยโดยตรง แต่เด็กส่วนใหญ่หรือแม้แต่โรงเรียนเองเลือกที่จะมาหาพี่ลาเต้ มาขอข้อมูล มาปรึกษา เราคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งเราว่าครูแนะแนวตามระบบไม่ทัน เพราะภาระงานเยอะ ถ้าเทียบเรากับครูแนะแนว ใน 1 วันเราสามารถตามเรื่องระบบสอบเข้าได้ทั้งวัน แต่ครูแนะแนวไม่สามารถทำได้ เพราะมีภาระหน้าที่มากกว่าเรา

บวกกับการนำเสนอคอนเทนต์ของเราอาจตรงจริตน้องๆ ด้วยความที่เราทำสายออนไลน์ตั้งแต่แรก รู้ว่าคอนเทนต์ลงออนไลน์ต้องนำเสนอยังไงถึงจะได้ผล เช่น คอนเทนต์อธิบายระบบสอบเข้ามหา’ลัย เราจะไม่เสนอแบบเอกสารเด็ดขาด แต่ย่อยเป็นอินโฟกราฟิกแทน ช่วยเรื่องความเข้าใจมากขึ้น หรือบางเรื่องทำเป็นอินโฟกราฟิกไม่เวิร์ก ทำคลิปจะดีกว่า เดี๋ยวนี้เด็กเล่น tiktok เยอะขึ้น มันมีฟังก์ชันที่เราสามารถตอบคอมเมนต์น้องที่ถามเข้ามาในรูปแบบคลิปได้ด้วย ซึ่งหน่วยงานที่ทำตรงนี้โดยตรงอาจจะไม่มีกำลังมาทำพาร์ตนี้ 

การทำงานของเราเอาคนรับสารเป็นตัวตั้ง พยายามทำความเข้าใจวิธีรับสารของเขา ต่างจากหน่วยงานที่เอาระบบเป็นตัวตั้ง 

ใช่ เป็นสิ่งที่พี่หัวหน้างานสอนเราเสมอว่า เวลาทำข่าวให้นึกตลอดว่าคนอ่านของเราคือเด็ก ทำให้เวลาเขามาดูหน้าฟีดเพจหรือเว็บเราก็เจอแต่เรื่องที่เขาสนใจ

รวมถึงวิธีการสื่อสารของเราด้วยไหมที่ทำให้เด็กเลือกที่จะมาคุย

หลักการสื่อสารเราเหมือนแอดมินทั่วไป น้องถามหรือต้องการความช่วยเหลืออะไร ถ้าตอบหรือช่วยได้ก็จะทำ แต่ถ้าสิ่งไหนที่น้องถามแล้วเราไม่ชัวร์ก็จะแนะนำให้เขาไปถามคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่บางทีน้องจะบอกว่าถามไปแล้วเขาไม่ตอบ เราก็ต้องติดต่อส่วนตัวไปขอคำตอบเขามาให้น้อง

เคยนั่งคุยกับทีมงานว่าคำถามที่น้องส่งมาไม่ใช่เรื่องของเราเลย เหมือนเราทำเพจถ่ายรูปรถเมล์ มีคนรอรถเมล์แล้วไม่มาสักที ก็ inbox มาถามเราว่าทำไมรถเมล์ไม่มา รอนานมาก เราไม่รู้หรอก เพราะไม่ใช่งานที่เราทำ ต้องไปถามคนที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็พยายามช่วยเขา 

ที่สำคัญเราจะไม่ตัดสินน้องเด็ดขาด ต่อให้น้องมาด้วยคำถามที่เรารู้สึกว่าคำถามนี้ง่ายมาก “อ้อ ปัญหาแบบนี้อ่อนมากน้อง พี่ผ่านมาแล้ว” เราจะไม่พูดแบบนั้นเด็ดขาด เวลาทุกคนมีปัญหา เขาเหมือนอยู่ในวงกลมของปัญหา เรามีหน้าที่หาทางออกให้เขา

ส่วนการแนะแนวของเราจะไม่ชี้เป้าให้น้อง แต่ให้เป็นทางเลือก เช่น เป็นคนชอบพูดเข้าคณะไหนดี ก็มีนิเทศฯ หรือถ้าชอบเที่ยวด้วยก็มีคณะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่จะมีเรื่องภาษาเพิ่ม 

การทำงานที่ไม่ใช่หน้างานของเรารู้สึกอย่างไร

เราทำโดยคิดว่าตอบเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลาย จริงๆ เด็กส่วนใหญ่เวลามีคำถาม เขาจะมุ่งไปถามทปอ. อันดับแรก ถ้าไม่ได้คำตอบถึงมาหาเรา ซึ่งเด็กที่มาหาเรามีจำนวนเยอะมาก แต่เราคิดว่าจำนวนเด็กที่ทปอ.เจออาจจะเยอะกว่า แต่กำลังคนดูแลเขาอาจจะไม่พอ 

ทีมแอดมินของเรามีกี่คน

มีประมาณ 4 คน แบ่งเวรกันดูแล แต่พอหน้างานจริงก็ช่วยกันตอบ เพราะเราเป็นคนไม่ชอบเห็นแจ้งเตือน ถ้าเห็นจะต้องเข้าไปตอบทันที (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าไม่ตอบไม่ได้ ถ้าเราตอบช้า น้องอาจจะเข้าใจผิดแล้วส่งผลยาว สมัครสอบผิด หรือสมัครสอบไม่ทัน เราต้องเข้าไปตอบก่อนจะสายเกินไป

อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าปล่อยแจ้งเตือนทิ้งไว้ไม่ได้ น้องถามต้องรีบตอบทันที

เรารู้สึกว่าเด็กเป็นเหมือนกับลูกค้าของเรา แล้วเราเป็นตัวช่วยที่เขามองหา เขาอุตส่าห์วางใจที่จะถามเรา เราก็ต้องตอบแทนเขา พยายามซัพพอร์ตเขา ถือจะไม่ได้ค่าตอบแทนโดยตรง แต่มันสร้างมูลค่าให้เว็บเรา เกิดการบอกต่อ

แต่มันนอนไม่หลับนะ ถ้าไม่ตอบเด็ก (หัวเราะ) เพราะคนที่ทักมาหาเราคือคนที่มีปัญหาทั้งนั้น ดังนั้น เราช่วยเหลือเขาก็แฮปปี้ทุกฝ่าย แม้เราจะปวดหลังหรืออยากออกไปเที่ยว แต่ถ้าตอบได้ก็อยากทำ เรารู้สึกใจฟูด้วยเวลาน้องบอกว่า พี่ตอบเร็วจัง หรือขอบคุณพี่มากนะ หรือแค่ประโยคสั้นๆ พี่ หนูเข้าใจแล้ว เรื่องพวกนี้ทำเราใจฟูหมด จะแคปเก็บไว้แชร์กับทีมงาน

รากฐานปัญหาในระบบการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากที่เด็กค้นหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าอยากเรียนคณะไหน บางทีเลือกไปแล้วไม่ใช่ก็ออกมาเป็นเด็กซิ่ว ค้นหาตัวเองอีกรอบ

เราว่าในอนาคตจำนวนเด็กซิ่วจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบ ยิ่งเปลี่ยนมาให้เลือกคณะได้ 10 อันดับ ลองนึกภาพตามนะว่าเวลาคนคนหนึ่งเลือกคณะ ถ้าใน 10 อันดับมีแต่คณะที่เราอยากเรียน แน่นอนไม่มีปัญหาหรอก แต่บางคนจะวางคณะที่อยากเรียนไว้ 5 อันดับแรก อันดับที่ 6 – 10 จะเป็นคณะที่เลือกเพื่อเซฟละ ไม่ใช่อยากเรียน แต่ตอนประกาศผลดันติดอันดับนี้ 

บางคนเลือกเข้าไปเรียนก่อน เพราะรู้สึกว่าถ้าตั้งใจก็จะเรียนได้ ทำให้คนที่เรียนแล้วประสบความสำเร็จก็มี หรือบางคนเข้าไปเรียนแล้วไม่ใช่ก็ซิ่วออกมา เราแอบรู้สึกว่าตอนที่เลือก 4 อันดับจะไม่ค่อยมีปัญหานี้ เพราะเลือกได้น้อย ถ้าไม่ติดก็ไปม.อื่นแทน บางคนเลือกไปเอกชนเลย เพราะเขารู้สึกว่าเรียนในคณะที่ใช่มันมีความสุขกว่า

พี่ลาเต้มองเรื่องนี้อย่างไร

เราว่าเด็กซิ่วเป็นคนที่ต้องยืนอยู่หน้าผา 2 ครั้ง ม.6 ยืนรอบหนึ่ง แล้วต้องมายืนอีกครั้ง ต้องแบกหลายอย่าง บางคนแบกความหวังพ่อแม่ บางคนมาสอบแล้วได้คะแนนน้อยกว่าม.6 ก็รู้สึกกดดัน แล้วไม่มีอะไรรับประกันว่าเด็กซิ่วจะสอบติดอีกนะ

การที่เราจะเข้าไปเรียนแล้วมีความสุข ไม่ใช่แค่ว่าคณะนั้นเป็นคณะที่เราชอบนะ สังคมก็ส่งผลด้วย ถ้าเข้าไปเรียนแล้วสังคมไม่ถูกกับเรา คนตัดสินใจซิ่วก็มี บางคนซิ่วเข้าคณะเดิมแต่ต่างมหา’ลัย เรื่องค่าเทอม อาจารย์ เพื่อน พวกนี้มีผลหมด แถมคนจะซิ่วต้องใช้พลังใจมากนะ (เน้นเสียง) ต้องอดทนต่อป้าข้างบ้านที่ถามตลอดว่า “อ้าว ไม่ไปเรียนเหรอ” ค่อนข้างทำร้ายจิตใจนะ ดังนั้น ถ้าเด็กตัดสินใจซิ่วแปลว่าเขาก็ต้องแลกกับบางอย่าง

ทางฝั่งผู้ใหญ่หรือคนที่เกี่ยวข้องเขามองเห็นเรื่องนี้ไหม

ฝั่งมหาวิทยาลัยเขาเห็นนะปัญหาที่เราพูดไป เริ่มมีโครงการที่ออกมาช่วยเด็ก เช่น ที่ม.ธรรมศาสตร์ ออกโครงการเรียนก่อนค่อยเลือกคณะ หรือที่ม.เชียงใหม่ ศิลปากร เปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า คอนเซ็ปต์คือเข้าไปค้นหาตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าเรียนได้ พอเข้ามาเป็นนักศึกษาจริงๆ ก็ไม่ต้องเรียนวิชานี้ซ้ำอีก 

เว็บ Dek-D เวลาแนะแนวน้องเรียนต่อ เราบอกเด็กเสมอว่าเวลาเลือกคณะอย่าดูแค่ชื่อ แต่ให้ดูถึงสาขาหรือวิชาเรียนเลย น้องจะเห็นภาพชัดขึ้น พิจารณาได้ว่าเราเหมาะกับคณะนี้ไหม และเราจะย้ำหลายรอบมากว่า น้องต้องเลือกคณะที่ตัวเองอยากเรียน ถ้าประกาศผลออกมาแล้วไม่รู้สึกเฮ อย่าเลือกเลย เพราะวันที่ประกาศผลมันควรเป็นวันที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย กูติดแล้ว ดีใจ ไม่ใช่ลังเลว่าเอาดีไหมวะ 

ตอนเราอยู่ม.3 ต้องเลือกแผนการม.ปลาย อยากไปสายศิลป์ แต่สายศิลป์โรงเรียนเรามีแต่เด็กเกเร คุณครูก็จะบอกว่าห้องเราเด็กเก่งต้องเรียนสายวิทย์สิ “เรียนไปก่อนวิทย์เลือกได้ทุกคณะ” ประโยคนี้ติดอยู่ในหัวเราตลอด พอเรียนจริงๆ เหมือนเรียนแก้บน เรียนให้จบๆ ไป เกรดออกไม่ติดรอ ไม่ติดศูนย์ พอละ ไม่ได้เรียนเพื่อพัฒนาตัวเราเลย จนตอนที่เข้ามหา’ลัยถึงรู้สึกว่าได้เรียนในสิ่งที่ชอบ อาจารย์สั่งงาน 10 เราทำ 20 ได้พัฒนาตัวเอง

พี่ลาเต้คิดว่าพอจะมีวิธีที่ช่วยแก้ปัญหานี้ไหม ทำให้เด็กได้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมา 12 ปี หลักสูตรสอนอะไรเด็ก เด็กถึงไม่รู้ตัวเองควรจะไปไหนต่อ พี่รู้สึกว่าหลักสูตรโรงเรียนกับมหา’ลัยมันคนละโลกจนเด็กไม่สามารถเชื่อมกันได้ จบมาได้เกรด 4.00 3.50 ก็เท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมกับมหา’ลัยได้ว่าฉันควรไปอยู่จุดไหน

ทุกวันนี้ทุกคนเรียนไปตามค่านิยม “เด็กเก่งก็ต้องเรียนแพทย์สิ” มีน้องคนหนึ่งมาปรึกษา กำลังเรียนแพทย์ เขาเล่าว่าทุกวันที่ตื่นเช้าจะถามตัวเองตลอดว่า “วันนี้ตื่นมาทำไมวะ” เราว่ามีความคิดแบบนี้มันค่อนข้างอันตรายแล้วนะ การที่ตื่นเช้ามาแล้วไม่สนุกเลย 

ทุกวันนี้น้องคนนี้ก็ยังเรียนแพทย์อยู่นะ เพราะคนรอบตัวไม่มีใครเห็นด้วยเลยถ้าเขาจะซิ่ว ผู้ใหญ่จะชอบบอกว่า “ถ้าสอบติดได้ก็ต้องเรียนได้” ประโยคนี้ฆ่าเด็ก ทุกคนบอกว่าเขาเรียนได้ แต่ทุกวันนี้เขาทุกข์ แล้วคนที่พูดก็ไม่ได้ทุกข์กับเขา 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่มีคณะไหนดีไปกว่าคณะไหน ทุกคณะเราเรียนเพื่อต่อยอดชีวิตตัวเอง ถ้าเรารู้สึกว่าเรียนแพทย์ไปแล้วไม่ได้ต่อยอดชีวิตเรา เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ คนชอบซูฮกว่าคณะนี้ดี เพราะคะแนนสูง คณะไหนคะแนนต่ำคือไม่ดี มันไม่ใช่ การเรียนในคณะที่ถูกจริตเรานั่นแหละคือใช่

นอกจากให้คำปรึกษาเด็กๆ มีพ่อแม่มาปรึกษาพี่ลาเต้บ้างไหม

มี เยอะมาก โทรมาคุยก็มี หลังๆ Dek-D จัดงาน Dek-D’s TCAS FAIR มีบูธให้คำปรึกษาเรื่องเรียนต่อ จะมีพ่อแม่พาลูกมาคุยด้วย เคยเจอคู่หนึ่งเป็นแม่ลูก เราก็สังเกตนะถามอะไรไปเด็กจะตอบว่า “แล้วแต่แม่” แต่ดูทรงไม่น่าจะแล้วแต่แม่นะ (หัวเราะ) 

ตัดสินใจแยกคุยจนรู้ว่าแม่ตั้งความหวังอยากให้ลูกเรียนแพทย์ ซึ่งลูกเขาเรียนเก่งนะ แต่เขาอยากไปสายอื่นมากกว่า เราก็พูดทำความเข้าใจกับคุณแม่ พยายามจี้จุดเขา ประมาณว่าคุณแม่น่าจะเคยถูกบังคับมาไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การถูกบังคับให้ต้องทำอะไร มันคือการฝืนใจ ถึงคุณแม่จะยอมทำเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ แต่เรามีความสุขหรือเปล่า แล้วสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับลูกเรา พยายามทำความเข้าใจกับเขา 

เวลาที่พ่อแม่มาคุยกับพี่ลาเต้ เขาคุยเรื่องอะไรบ้าง

หลักๆ จะถามเหมือนกับเด็ก คือ เรื่องระบบสอบเข้า พ่อแม่ส่วนใหญ่จะมาแบบมีธงว่าอยากให้ลูกเข้าคณะนี้ต้องทำยังไง ต่างจากเด็กที่จะมาแบบถามความเห็น “พี่ว่าคณะนี้หนูมีโอกาสเข้าไหม” “คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร”

การอยู่ในระบบการศึกษาค่อนข้างเป็นช่วงเวลายากๆ สำหรับเด็ก การมีพื้นที่ที่เซฟโซนเป็นสิ่งที่เด็กหลายคนต้องการ ไว้พิงหลังเพื่อกลับไปสู้ต่อ พี่ลาเต้คิดว่า ณ วันนี้ระบบการศึกษามีพื้นที่แบบนี้ให้พวกเขาไหม

ณ วันนี้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่เรามองเห็นและรู้สึกว่าดูยั่งยืนสุด เป็นแฮชแท็กใน Instagram ชื่อ #studygram อาจจะไม่ใช่เซฟโซน 100% แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ที่เติมพลังให้เด็ก ได้ระบายความรู้สึก เป็นสังคมที่มีความเกื้อกูลกัน เราก็เข้าไปใช้เล่นเหมือนกัน ฝึกทำคอนเทนต์คำคม ให้กำลังใจเด็ก ทำอะไรที่ช่วยกระชากวิญญาณน้องให้รู้สึกลุยต่อ 

ทวิตเตอร์วัยรุ่นก็เล่นเยอะเหมือนกัน เป็นอีกหนึ่งเซฟโซนของเด็ก ส่วนใหญ่จะใช้หาข่าวสาร ดูพวกแฮชแท็ก #เด็ก65 #เด็ก66 

เคยถอด learning ตัวเองไหมว่า ทำไมเราถึงชอบแนะแนวมากๆ จนทำเป็นอาชีพและอยู่กับสิ่งนี้เป็น 10 ปี

สำหรับเราการแนะแนวก็คือการแนะนำ เราเป็นคนชอบแนะนำ ชอบเวลาที่แนะนำแล้วคนฟังเข้าใจเรา อย่างบอกว่าวิชาแนะแนวเป็นวิชาที่เปิดโลกเรา จับต้องได้ สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

ก่อนจบบทสนทนาอยากให้พี่ลาเต้ทิ้งท้ายกำลังใจสำหรับเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงสอบเข้ามหา’ลัย

น้องๆ หลายคนอาจจะรู้สึกกลัว หรือเหนื่อยกับสิ่งนี้ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเพราะมันเหนื่อยจริงๆ แต่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่หลายคนต้องผ่าน ณ วันนี้ถ้าน้องมีโอกาสเข้ามหา’ลัยได้ เราก็อยากให้เข้านะ เพื่อไปใช้ชีวิต ไปต่อยอดชีวิตเรา

ใครที่เคยเรียนพลาด เลือกสายการเรียนผิดตอนม.ปลาย จนรู้สึกติดลบ ถ้าน้องเข้าไปเรียนในมหา’ลัย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะมหา’ลัยมีคณะให้เลือกมากกว่าสายการเรียนตอนม.ปลาย มันต้องมีคณะที่ถูกโฉลกน้อง ถ้าน้องได้เลือกในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของเราจริงๆ ก็จะมีความสุข

การเลือกคณะก็เหมือนกับการเลือกแฟน คนนี้หล่อมาก แต่ทำไมเวลาที่เราอยู่กับเขาถึงรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง วันแรกอาจจะยังพอทน แต่นานๆ ไปยิ่งคุยยิ่งไม่เข้าใจ นั่นคือไม่ใช่ ไม่ต้องคิดเยอะ คนไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ กับอีกคนอาจจะไม่หล่อมาก แต่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ รู้สึกเกื้อกูลชีวิตเราจัง ทำให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง นั่นคือใช่

เราไม่เชื่อประโยคที่ว่าเรียนที่ไหนเหมือนกัน เพราะไม่มีทางเหมือนแน่ๆ แต่ที่ก็ต่างบริบท แต่เราเชื่อว่าเรียนที่ไหนก็สามารถประสบความสำเร็จได้


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts