การอ่าน งานบ้าน การเล่น

อ่าน เล่น งานบ้าน Learning Happens Everywhere

การอ่าน งานบ้าน การเล่น  3 การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กเล็ก

การเรียนที่โหมข้อมูลหนัก เร่งให้ลูกอ่านออก-เขียนได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่คุ้มค่าพอ เพราะเด็กไม่ใช่ปลาทองที่พ่อแม่จะเติมอาหารรีบเร่งสีเร่งวุ้นให้เขารีบเป็นปลาที่สีสันสวยงาม โดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

mappa รวบรวมนิยามและหัวใจสำคัญของการอ่าน การเล่น และงานบ้าน โดย

  • เกื้อ-เกื้อกมล นิยม ผู้คลุกคลีและทำงานเกี่ยวกับหนังสือเด็กและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการอ่านมาหลายปี
  •  ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ 
  • ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท แม่ครูผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) 

การอ่าน: เครื่องมือเชื่อมเด็กกับโลก ผ่านภาษาที่มีความหมายมากกว่าการอ่านออก-เขียนได้ แต่เป็นการอ่านเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจโลก 

การเล่น: เปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาทักษะอย่างเป็นธรรมชาติ ฝึกจินตนาการ สร้างสรรค์ แก้ปัญหา ทดลอง สร้างทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต 

งานบ้าน งานครัว งานสวน: สร้างความเข้าใจให้เด็กรับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น เป็นวิธีฝึกทักษะที่ง่ายที่สุด เริ่มได้ง่ายแค่บ้านต้นทุนไม่สูง

อ่าน

การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ เพราะเมื่ออ่านอย่างเข้าใจ จะเกิดเป็น literacy skill หรือทักษะการตีความ ซึ่งมีความสำคัญมากในยุคนี้

เกื้อ-เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร โรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้คลุกคลีและทำงานเกี่ยวกับหนังสือเด็กและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการอ่านมาหลายปี บอกว่า

เมื่อเด็กๆ อ่านนิทานแล้วเขาเจอเรื่องราวของตัวละคร เขาจะเปรียบเทียบเรื่องราวนั้นกับตัวเอง สำรวจตัวเองว่าความรู้สึกดีใจ เสียใจ เศร้ามันเป็นอย่างไร? เขาจะเชื่อมต่อประมวลมันออกมาเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องราวนั้น ทั้งหมดนี้คือกระบวนการตีความ คือการอ่านแล้วเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เก็ตว่าตัวละครตัวนั้นรู้สึกอย่างไร สามารถสวมความรู้สึกระหว่างกันได้ เข้าใจอารมณ์เสียใจ พลัดพราก ดีใจ อบอุ่น การอ่านจึงเป็นสารตั้งต้นของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ สร้างความเข้าใจโลกด้วยตนเอง

ท้ายที่สุด literacy skill อาจจะไม่ได้สร้างคาแรคเตอร์ด้านใดด้านหนึ่งของเด็ก แต่มันจะช่วย shape วิธีคิด ทำให้เด็กไม่จนปัญญา

เพราะการฝึกฝนการใช้ทักษะเชื่อมโยง เปรียบเทียบ วิเคราะห์ คิดกลับไปกลับมา ทั้งหมดทั้งมวลยืนยันว่าโลกไม่ได้มีคำตอบเดียว 

และผลพลอยได้คือเด็กก็จะมีความมั่นใจเพราะเขาได้อำนาจในการตีความหนังสือด้วยตัวเอง เขากลายเป็นคนที่ไม่กลัวความล้มเหลวหรือผิดพลาด เพราะเมื่อใดที่เขาเข้าใจหนังสือผิดแต่เมื่ออ่านครั้งต่อไปก็เข้าใจใหม่ เขาก็จะเรียนรู้ และยิ่งเด็กเจอความหลากหลายผ่านหนังสือบ่อยๆ ก็จะทำให้เขามีหนทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลายในการเผชิญโลก

เล่น

“ยิ่งเด็กเล่นมากเท่าไหร่ ยิ่งรักษาพลังที่มีแต่กำเนิดของเขา แต่การหยุดเล่นคือหยุดพลัง เพราะมันไม่สนุกแล้ว ชีวิตในโลกใบนี้ไม่เห็นสนุก”

ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

นอกจากการเล่นจะไม่ใช่เรื่องไร้สาระ การเล่นยังทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าโลกใบนี้มันมีความสุขมากเลย แล้วก็โลกใบนี้ มีอะไรที่น่าทำ น่าเรียนรู้เยอะแยะเลย ไม่มีอะไรยากที่ฉันจะทำไม่ได้หรือเรียนรู้ไม่ได้หรอก ถ้าฉันได้ทดลองมัน การเล่นคือการลองผิดลองถูก เขาได้ทดลองในสิ่งที่เขาสงสัย

แต่พ่อแม่หลายคนเล่นไม่เป็น จะพาลูกเล่นที ถึงกับพาไปเข้าคอร์ส

“พอได้ความรู้ว่าลูกต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น ก็เลยเอาไปเข้าคอร์สเล่น (ทำหน้างง) ตอนนี้กลายเป็นกระแสพ่อแม่ยุคใหม่ คือเด็กไม่ได้เรียนพิเศษ แต่ไปทำกิจกรรม กิจกรรมแบบนี้ทำที่บ้านก็ได้ แค่แม่ทำอาหาร ลูกไปนั่งเด็ดผักนี่ก็เล่นแล้วนะ ลูกได้ทอดไข่เจียวเขาก็เล่นแล้วนะ”​

ดังนั้น สำหรับเด็ก การเล่นจึงไม่มีคำว่า ‘ไม่เป็น’ 

งานบ้าน

งานบ้าน-งานสวน-งานครัว ไม่ใช่การบังคับเด็กให้ถูพื้นอย่างจริงจัง กวาดบ้านอย่างบ้าคลั่ง ต้มผัดแกงทอดให้เชี่ยวชาญ แต่มันคืองานอะไรก็ได้ที่เมื่อเด็กทำแล้วนอกจากได้ความแข็งแรงของร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ เขาได้เรียนรู้จังหวะชีวิต ความสม่ำเสมอ ได้ลองเป็นผู้สังเกตการณ์ วางแผนลำดับขั้นตอน หรือเป็นส่วนหนึ่งกับบรรยากาศรอบๆ ตัว

ในช่วงอายุ 0-7 ปี เด็กจะเรียนรู้ผ่าน ‘การเลียนแบบ’ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เด็กมีจังหวะชีวิตที่ดี ไม่ใช่การเร่งให้อ่านออก เร่งให้เขียนได้หรือฝึกท่องจำข้อมูล 

“ตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก หน้าที่ของพ่อแม่คือการสร้างความไว้วางใจ สร้าง trust สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เขารู้สึกว่าเขาได้ใช้ร่างกายได้อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้เราเร่งรีบกันมาก ‘เร็วๆ สิลูก เร็วๆๆ เร็วท่องหนังสือหรือยัง เดี๋ยวมันไม่ทัน ทำนู่นหรือยัง ทำนี่หรือยัง’ จังหวะชีวิตมันก็เพี้ยนหมด”

ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท แม่ครูผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) อธิบายว่าการเรียนรู้พื้นฐานของเด็กปฐมวัย ตั้งอยู่บนหลัก 3R คือ Rhythm จังหวะ, Repetition ทำซ้ำ, Reverence  ให้ความเคารพ และหนทางที่จะทำให้เด็กมี 3R ติดตัวไปตลอดกาลคือการพาให้เขารู้จักร่างกาย ผ่านประสบการณ์ การได้ลองหยิบจับ ทำนู่นทำนี่ หรือได้ทำงานบ้าน งานสวน งานครัว เขาจะรู้ว่า ‘ฉันมีกายแล้ว-ร่างกายฉันทำได้’ 

rhythm หรือ จังหวะ ไม่ได้หมายถึงเสียงเพลง แต่เป็นจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นจังหวะที่ลื่นไหล สม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรที่เกิดในทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เชื่อมโยงกับ repeatition หรือการทำซ้ำ ย้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กทำซ้ำผ่านการเรียนรู้อย่างเข้าใจความมั่นคงจะค่อยๆ ก่อตัวเกิดขึ้นตามมา 

“rhythm ที่ดี คือจังหวะที่ไปตามตาราง day and night ลูกตื่นนอนตอนเช้า เก็บที่นอน ลุกอาบน้ำ ลงมากินเช้า ขับถ่าย เตรียมตัวไปโรงเรียน…สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี กลางวันเป็นกลางวัน กลางคืนเป็นกลางคืน มีวินัย การทำซ้ำเกิดขึ้นวนไปทำให้รู้ว่านี่คือชีวิตของเขา” 

และเมื่อลูกมั่นใจและเริ่มมั่นคง ความเคารพก็จะเกิดขึ้น

พ่อแม่คือตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดของลูก

“การพยายามให้เด็กทำงานบ้าน เราไม่ต้องคาดหวังความเนี้ยบ ความสะอาดหมดจดจากลูก เด็กเล็กหน้าที่หลักคือการเล่น การที่เขากวาดบ้านตามเราก็คือการเล่นผ่านการเลียนแบบ แค่ผลลัพธ์คือการเรียนรู้ที่ติดตัวเขาไปตลอด

“พ่อแม่อย่าตัดรำคาญ คิดว่าตัวเองเอามาทำเองเร็วกว่า สะอาดกว่า หรือไม่อยากให้ลูกสัมผัสสิ่งสกปรก แล้วชี้นิ้วสั่งให้ลูกไปเลียนแบบแม่บ้านน่ะหรือ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะย่อยความงามของโลกใบนี้ให้ลูกดูได้อย่างไร จะย่อยบรรยากาศดีๆ ทั้งหลายส่งต่อลูกอย่างไร”


Writer

Avatar photo

mappa learning

Related Posts