ปิดเทอม! ใครคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อ ‘การเรียนรู้’ เกิดขึ้นตอน ‘หยุดเรียน’ และเราต่างเติบโตในอีกมุมเพราะช่วงปิดเทอม

จำได้ไหม คุณมีประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และเติบโตจากช่วงเวลาปิดเทอมอย่างไรกันบ้าง? 

…เที่ยวเล่น พบเพื่อนใหม่-อยู่กับครอบครัว-อ่านการ์ตูนทั้งวัน-ดูหนังฉ่ำ- ทำกับข้าวเป็นเพิ่มขึ้นหลายเมนู-ช่วยที่บ้านทำงาน-ไปตลาดกับแม่บ่อยขึ้น -เริ่มคิดเงินทอนเก่งขึ้น-รู้วิธีตกปลาเป็นครั้งแรก-ได้เล่นเกมใหม่ๆ เต็มที่–ตะลุยทำกิจกรรมแปลกๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน และอีกมากมาย…

ใกล้เข้าสู่เดือนตุลาคมแล้ว แน่นอนว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาของการสอบปลายภาคที่นักเรียนหลายคนกำลังเหน็ดเหนื่อยและอาจกำลังทดท้อจากการเรียนอย่างหนักตลอดช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา แต่อีกเพียงไม่กี่อึดใจ ในช่วงเวลาแห่งการหยุดพักที่หลายคนรอคอยอย่าง ‘การปิดเทอม’ ก็กำลังจะมาถึงแล้ว 

เมื่อพูดถึงช่วงวันหยุดครั้งใหญ่ของโรงเรียนอย่างการปิดภาคเรียนนั้น หลายคนอาจคิดว่าเป็น ‘ช่วงเวลาว่างเปล่า’ สำหรับการพักผ่อนที่ดูเหมือนว่าไม่ใช่ช่วงของการเรียนการสอนทางวิชาการ หรือบางคนอาจมองว่าเป็นช่วงขาดๆ หายๆ ของความรู้ 

ทว่าในทางหนึ่งการปิดเทอมนี่แหละ ที่เป็นช่วงเวลาซึ่งเด็กจะมีโอกาสพบกับการเรียนรู้ครั้งสำคัญ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้และการเติบโตผ่านประสบการณ์ ไม่น้อยไปกว่าช่วงเปิดเทอมอันเคร่งเครียด และอัดแน่นไปด้วยการเรียนการสอนแต่อย่างใด 

Mappa ชวนผู้อ่านสำรวจความสำคัญของช่วงวันหยุดยาวที่เด็กๆ ซึ่งสวมหมวกของการเป็นนักเรียนมาตลอด จะได้ถอดหมวกนั้นออกไปบ้าง เพื่อใช้เวลาไปกับการเติบโตในแง่มุมอื่นๆ 

พร้อมกับชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมของผู้อ่านเช่นกันว่า ช่วงเวลาปิดเทอมนั้นมี ‘ความหมาย’ อย่างไรอีกบ้าง และมากกว่าคำถามถึงประโยชน์และความสำคัญคือปัญหาที่พบ ไปจนถึงความท้าทาย ความยากง่ายในการรับมือกับช่วงเวลาปิดเทอม ผ่านประสบการณ์ของผู้อ่านด้วยก็คงจะคลี่ขยายประเด็นนี้ให้ไปไกลได้มากขึ้น  

ช่วงเวลาของการหยุดพักจากห้องเรียน  

แน่นอนว่าความสำคัญข้อแรกของช่วงปิดเทอมคือการได้พักผ่อนหรือ ‘หยุด’ จากการใช้สมองไปกับการเรียนตามระบบหรือวิชาการแบบในห้องเรียนที่จัดวางเป็นระบบระเบียบ มีกรอบเกณฑ์ที่ชัดเจน และมีการวัดผลประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนในการทำให้นักเรียนกดดันหรือเคร่งเครียดจากการอยู่ในบรรยากาศเหล่านั้นเป็นเวลานานไม่มากก็น้อย อย่างในระบบการศึกษาไทยที่การสอบค่อนข้างเป็นเรื่องจริงจังและเข้มงวดก็สร้างความตึงเครียดสะสมให้กับนักเรียนได้ ดังนั้นช่วงเวลาของการปิดเทอม จึงช่วยให้ได้ถอยห่างออกจากบรรยากาศเหล่านั้น เพื่อให้สมองได้ฟื้นฟูและเติบโตในบรรยากาศใหม่ๆ นั่นเอง 

ทว่าหากผู้ปกครองมองว่าอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากบทเรียนของโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและเกรงว่าจะขาดหายในช่วงปิดเทอมเอง เด็กก็สามารถที่จะเรียนหรือศึกษาวิชาการให้ต่อเนื่องจากโรงเรียนได้ด้วยเช่นกันในช่วงปิดเทอม ทว่าอาจต้องเป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความสมัครใจ และในอัตราที่ช้าลง ต่างจากการเรียนแบบเข้มข้นที่ต้องอ่านหนังสือสอบหรือค้นคว้าข้อมูลเพื่อการบ้านอย่างในโรงเรียน 

กล่าวคือ ครอบครัวอาจออกแบบร่วมกันว่าพวกเขาสนใจเรื่องไหน และอยากต่อยอดเรื่องอะไร แต่ควรเป็นการเรียนในช่วงพักปิดเทอมที่ไม่ได้เข้มข้นและมากจนเกินไป อาจเป็นในลักษณะชวนเพื่อนๆ ไปทบทวนบทเรียนที่ผ่านมากันในบรรยากาศที่สนุกสนาน เป็นต้น และเรื่องสำคัญคือไม่ควรเป็นไปด้วยการบังคับ แต่ควรเป็นความเต็มใจของผู้เรียนที่สนใจอยากเรียนเพิ่มเติมและมีความพร้อมที่จะทำ   

ช่วงเวลาของการเรียนรู้ผ่าน ‘ประสบการณ์’ และ ‘การลงมือทำ’ 

นอกจากการได้พักผ่อนหย่อนใจ พักจากความเครียด พักจากบทเรียน การสอบ และการส่งการบ้านในทุกๆ วันแล้ว ช่วงปิดเทอมยังทำให้เด็กได้รู้สึกถึงบรรยากาศที่ ‘ต่างออกไป’ ซึ่งเอื้อให้พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ พวกเขาจะให้ความสนใจในชีวิตส่วนอื่นๆ มากขึ้น ชีวิตด้านอื่นๆ จะถูกไฮไลต์ให้เด่นชัดขึ้น เพราะจุดโฟกัสไม่ได้มุ่งไปที่เฉพาะการไปโรงเรียนตลอดทั้งวันเพียงอย่างเดียว 

ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านชีวิตประจำวันในช่วงปิดเทอม พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีพลัง เป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า ‘การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ’ (Experiential Learning) เป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างประสบการณ์ซึ่งจะติดอยู่ในใจและความจดจำของเด็กได้เป็นอย่างดี 

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปิดเทอมเด็กบางคนอาจได้ไปจ่ายตลาดกับแม่บ่อยขึ้น ทำกิจกรรมที่ต้องจับจ่ายมากขึ้น การเรียนรู้เรื่องการจ่ายเงิน-การทอนเงินก็จะเกิดขึ้นมาอัตโนมัติ และพวกเขาก็จะเข้าใจเรื่องของคณิตศาสตร์ในแบบฉบับการใช้ชีวิตมากขึ้น หรือเด็กๆ บางคนได้ไปเที่ยวสวนสัตว์กับพ่อแม่ ไปดูน้องเด้งๆ ด้วยกัน พวกเขาก็จะได้สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดผ่านประสบการณ์การพบเจอแทนที่จะเป็นการอ่านหนังสือแบบเรียนเกี่ยวกับสัตว์

หรือช่วงปิดเทอมที่ได้ลองปลูกต้นไม้แล้วเห็นมันเติบโตขึ้น ใบเอนไปหาแสง พวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสงได้ด้วยตัวเอง หรือเด็กในวัยเล็กที่ยังชอบการเล่นเป็นชีวิตจิตใจ ช่วงเวลาปิดเทอมก็เป็นช่วงที่พวกเขาจะได้เล่นอย่างอิสระมากขึ้น กล่าวคือเล่นตามที่ใจอยากจะเล่น วิ่งเล่นกับเพื่อน ไปตกปลากับเพื่อน เล่นบทบาทสมมติกับเพื่อนข้างบ้าน หรืออื่นๆ ซึ่งการเล่นเหล่านี้ก็เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์อีกแบบหนึ่งเช่นกัน

ช่วงเวลาของความสัมพันธ์

นอกจากประสบการณ์จากการลงมือทำ ประสบการณ์ที่เด็กๆ จะได้สัมผัสมากเป็นพิเศษในช่วงปิดเทอมอีกประการหนึ่งคือประสบการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ เริ่มต้นจากในครอบครัวที่จะมีช่วงเวลาสำหรับการได้ใช้ชีวิตในด้านต่างๆ มากขึ้น เป็นช่วงของการเรียนรู้ทั้งการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ด้วยกัน การเห็นด้วย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไปจนถึงความสัมพันธ์อื่นๆ ที่พวกเขาจะได้มีเวลาโฟกัสมากขึ้นในช่วงปิดเทอม อย่างญาติมิตรที่อาจได้มีเวลาพบเจอกันมากขึ้น หรือวัยรุ่นบางคนก็เรียนรู้ที่จะเดตในช่วงปิดเทอม บางคนใช้เวลาไปกับเพื่อนต่างโรงเรียนที่โดยปกติตอนไปโรงเรียนไม่ได้เจอกัน 

บางคนใช้เวลาไปกับเพื่อนที่อยู่ใกล้บ้าน บางคนใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง ซึ่งล้วนเป็นการทำงานเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่อยู่รอบๆ ตัวอย่าง การปฏิสัมพันธ์กับสังคมและชุมชนที่อยู่มากขึ้น หรือหากใครใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ก็อาจได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้คนหลากหลายมากขึ้นในช่วงปิดเทอม เป็นต้น 

ช่วงเวลาของการ ‘ค้นหา’ ด้วยตัวเอง 

นอกจากนี้ช่วงเวลาปิดเทอมก็เป็นช่วงที่ดีที่หลายคนจะได้ใช้ไปกับการทำอะไรที่ชอบหรือสนใจ การอ่านหนังสือ การเล่นดนตรี การร้องเพลง การวาดภาพ งานอดิเรกต่างๆ ที่อาจไม่ได้ใช้เวลาไปกับมันมากนักในช่วงเปิดเทอม ช่วงเวลาปิดเทอมจึงเป็นอีกช่วงที่สร้างพื้นที่และโอกาสในการค้นหาตัวเองในมิติอื่นๆ ได้ 

จะเห็นว่าช่วงเวลาปิดเทอมสำหรับเหล่านักเรียนผู้คร่ำหวอดอยู่กับห้องเรียนมาตลอดทั้งเทอมเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียนเลย หากช่วงของการปิดเทอมนั้นเป็นช่วงที่เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงๆ ของพวกเขาเองได้อย่างเต็มที่ 

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าประเด็นที่เราต้องตั้งคำถามต่อคือในระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม ไปจนถึงในระดับโครงสร้าง จะสนับสนุน สร้างสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เอื้อให้เกิดช่วงเวลาและพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง 

อ้างอิง 


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts