พลอยเรียกที่นี่ว่าโฮมออฟฟิศ เพราะเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ซึ่งเธอตกแต่งมันจากความชอบของเธอ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์งานไม้ไผ่ที่แซมเข้าไปรอบบ้าน พระพุทธรูปที่ทำจากกระจูด ไปจนถึงการแบ่งสัดส่วนโต๊ะทำงานให้กับพนักงานของเธอที่มอบความร่มเย็น และเพลินตาด้วยการมองไปเจอสวนผักออแกนิกหลายพืชพรรณในบ้าน พร้อมทั้งวางพื้นที่ตรงกลางเป็นโต๊ะขนาดยาว ไว้รับแขกสำหรับร้านอาหารที่เปิดเป็นรอบๆ อย่าง เยียวยาคิทเช่น นอกนี้ยังมีสเปซไว้ให้สุนัขของเธอวิ่งเล่นรอบๆ แม้พื้นที่นี้จะไม่ได้ใหญ่มาก แต่เรียกได้ว่าใช้คุ้ม และไม่อึดอัดแม้แต่น้อย
“เราเชื่อในการอยู่ไปทำไป เพราะจะได้เรียนรู้กว่าทำอะไรที่สำเร็จรูป” พลอยบอกเราตั้งแต่ยังไม่กดเรคคอร์ดเสียงด้วยซ้ำ เธอเชื่อว่าทุกการขยับคือการเรียนรู้ เรียนรู้ที่ว่าคืองานสถาปัตย์ชุมชนทำให้เธอได้เรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้งานจริงๆ มากกว่าการสุ่มเดาเอาเองจากสมมติฐาน ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน และเธอคิดว่าสิ่งปลูกสร้างทั่วเมืองไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ต่างเป็น Learning Space ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของแต่ละคนไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง
งานส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะ หรือ Learning Space เป็นงานที่พลอยแวดล้อมมาตลอด 18 ปีที่เป็นสถาปนิกชุมชน สำหรับพลอย Learning Space ที่ดี นอกจากใช้งานได้จริง จะต้องเปิดรับความหลากหลายของผู้คน ผู้คนที่หมายถึง ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความแตกต่าง และถึงแม้จะทำให้เท่าเทียมครบถ้วน 100% ไม่ได้ แต่ก็ควรใกล้เคียงจุดนั้นมากที่สุด และในไทย ยังมีอีกหลายหนแห่งที่ยังไปไม่ถึง
การออกแบบที่อยู่ไปทำไป เรียลต่อความต้องการชุมชนที่สุด
อาชีพของพลอยคือ ‘สถาปนิกชุมชน’ ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจว่ามันต่างจากสถาปนิกธรรมดาอย่างไร พลอยยอมรับตรงๆ ว่าไม่ได้มีคำนิยามกลางอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการทำงานร่วมกับ ‘กลุ่มคน’
“การทำงานกับกลุ่มคน คือความความตั้งใจในการร่วมสร้างอะไรบางอย่างด้วยกัน มันจะไม่ใช่การทำงานคนเดียว แต่เป็นการแชร์ความสนใจ หรือทิศทางในชีวิตบางอย่างกันเป็นกลุ่ม อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่งานสถาปัตย์ชุมชนสามารถขยายไปกว้างกว่านั้นได้ ทั้งพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะ หรือการร่วมสร้างอะไรบางอย่างที่มันเป็นสเปซอื่นๆ”
“สิ่งที่เห็นชัดในงานสถาปัตย์ชุมชนคือการเชื่อมโยงกับมิติสังคม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสถาปนิกกระแสหลักไม่ทำ เพียงแต่งานของสถาปนิกชุมชนจะมีการคุยกันในหลายภาคส่วน ทั้งชาวบ้าน คนที่อยู่ในพื้นที่ มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในกระบวนการเยอะกว่า ซึ่งเราไม่ได้กำลังบอกว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน”
“ตอนช่วงปีสอง เราไม่ชอบกระบวนการเรียนเพราะว่าเราไม่เข้าใจจุดประสงค์หลายอย่างในวิธีการออกแบบ การเรียนการสอนของอาจารย์ที่ตั้งใจให้เราสมมติทุกอย่างขึ้นมา สมมติโจทย์ สมมติบรีฟ อะไรที่เราจะเรียนรู้ว่าดี หรือไม่ดี เวิร์กหรือไม่เวิร์ก มันผ่านสายตาของอาจารย์คนเดียว มันคือการไปหาอาจารย์หนึ่งคน เพื่อฟังสิ่งที่เขาเห็น ว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นอย่างไร ซึ่งเรารู้สึกเจ็บปวดกับกระบวนการลักษณะนี้ จนช่วงปีสาม เราได้เจออาจารย์ที่ทำให้ข้างในใจเรารู้สึกว่างานสถาปนิกมันอยู่ที่เราจริงๆ เขาบอกเราว่าการเรียนรู้ของเราขึ้นอยู่กับเราออกแบบอีกที พอเราได้ยินวิธีคิดนี้ เราบอกตัวเองได้แล้วว่าจบไปฉันจะทำงานสถาปัตย์ชุมชน”
เรายิ้มตามที่พลอยพูด เพราะดีใจที่มีนักออกแบบที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของชุมชนมากกว่าความต้องการของตัวเองเป็นหลัก และดูจากการจัดสรรพื้นที่บ้านของพลอย คงเป็นตัวอย่างที่ดีในการอยู่ร่วมกับพนักงาน และน้องหมาอีก 2 ตัว พร้อมทั้งรับแขกมาร่วมกินอาหารเมื่อเปิดร้านอาหาร ที่ทุกคนต่างแฮปปี้กับการใช้พื้นที่ และอย่างที่ย้ำไปตอนต้น เธอเชื่อในกระบวนการอยู่ไปทำไป จนนำมันมาเป็นแกนหลักในการทำงาน
พื้นที่หนึ่งที่พลอยยกตัวอย่างให้ฟังคือ ‘บ้านเต้นรํา’ สเปซย่านนางเลิ้งอายุ 90 ปี ที่เคยเป็นโรงเรียนสอนลีลาศในอดีต ซึ่งปิดตัวลงไปแล้วในระยะหนึ่ง และด้วยความที่ลูกหลานเจ้าของที่ไม่ได้เข้าออกเป็นประจำ ทำให้โครงสร้างอาคารผุพังตามกาลเวลา จนถึงเวลาที่พลอยจะเนรมิตที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้
“บ้านเต้นรำ นางเลิ้ง เราเข้าไปทำงานกับชุมชนในระยะหนึ่ง แล้วพบว่า เขาต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมแบบที่มันมีร่ม เพราะพื้นที่ส่วนกลางในชุมชนหายาก และด้วยความที่เจ้าของบ้านมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำในพื้นที่ เขาเลยรู้สึกอยากแบ่งปันพื้นที่บ้านเต้นรำให้เป็นพื้นที่สำหรับชุมชน เราเลยเข้าไปรีโนเวตพื้นที่ให้ยังเป็นพื้นที่ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตรงนั้น แต่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ซะทีเดียว เพราะมันจะเป็นการจัดกลุ่มที่แข็งเกร็งไปหน่อย เราเลยพยายามทำให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการเรียนรู้มากกว่า ชุมชนเห็นสิ่งไหนควรเก็บ เจ้าของบ้านเห็นสิ่งไหนควรเก็บ ก็เอามายำรวมกัน ให้ตอบโจทย์กลุ่มชุมชนที่อยากจะใช้พื้นที่ตรงนั้นจริงๆ”
“เราเชื่อในกระบวนการออกแบบพื้นที่แบบที่อยู่ไปทำไปมาก บ้านเต้นรำ ที่นางเลิ้ง เป็นเคสที่เราแบ่งเฟดการทำ คือค่อยๆ ทำ แต่อยู่ได้เรื่อยๆ ไม่อันตราย เริ่มจากเฟดแรก เราซ่อมฐานราก เสา อาคาร หลังคาให้แข็งแรง และเปิดให้คนในชุมชนเข้ามาใช้ได้เลย หลังจากนั้นพอเขาใช้งานและเริ่มมองเห็นภาพตรงนั้นคร่าวๆ ก็ไปสู่เฟดถัดไป คือชวนกันออกแบบผนัง ทำอะไรกันดีคะ ผนังนี้ ผนังนั้น ผนังโน้น พอเขาเริ่มเสนอว่าว่าผนังควรจะเปิดให้ลมเข้าแทน หรือทำให้ผนังเป็นเชิง exhibition เราก็ทำงานร่วมกับเขาต่อด้วยการหยิบเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าของบ้านมาทำเป็นโคมไฟ หรือเป็นมุมเล่าเรื่องบ้านหลังนี้บางอย่าง ไปจนถึงการทำห้องน้ำ หรือปรึกษากันเรื่องการมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมสอนลีลาศ หรือเอาเด็กๆ มาทำกิจกรรมข้างใน”
“การทำแล้วร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชน ทำให้สถาปนิกเห็นว่าอะไรที่อยากจะเติมเต็ม และต่อเติมในสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ พี่เห็นความสวยงามของกระบวนการนี้ มันเห็นการเติบโต มันทำให้เราน้ำตาจะไหล เวลาที่เราทำทุกอย่างเสร็จทีเดียว แค่มีตังค์พอ แล้วสั่งทำ มันก็จะจบเร็วมาก แต่สักวันหนึ่งมันไม่มีทางที่เราจะไม่คิดต่อเติม หรือพลิกแพลงมัน การได้ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เลยให้โอกาสในการเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วอะไรจำเป็นต่อชุมชน อะไรไม่จำเป็นต่อชุมชน อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกดีในพื้นที่นั้น แค่การที่เขามาบอกว่าเราต้องเปลี่ยนผนังทึบให้เป็นกระจก สำหรับเรามันมีค่ามาก เพราะทำให้เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่จริงที่สุด”
“การออกแบบและทำทุกอย่างให้เสร็จในทีเดียว มันใช้การสมมติเยอะมาก มันคาดเดาแบบทำให้เราตั้งคำถามว่าจริงๆ เหรอวะ คืออยากได้แบบนี้จริงเหรอ มันจะดีจริงๆ ดิ แต่พอชุมชนได้ทดลองใช้มัน จนเริ่มรู้สึกกับสเปซ ได้มองเห็น ได้สัมผัส เอาตัวเข้าไปอยู่ในมุมนั้น มุมนี้ ความต้องการของเขามันจะจริงมาก”
พื้นที่การเรียนรู้ที่ดีต้องใช้ได้จริง ไม่เร่งรีบ และไม่ยึดติด
งานส่วนกลางที่พลอยออกแบบและสร้างสรรค์มันอยู่ทุกวันนี้ เธอบอกว่าสามารถเรียกมันเป็น Learning Space ได้เต็มปาก ทั้งการเรียนรู้เชิงกระบวนการระหว่างทำที่เธอได้รับ เรียนรู้ระหว่างกันและกันกับชุมชน เรียนรู้กับพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อตีโจทย์การออกแบบให้แตก และหลักสำคัญคือต้องเป็นพื้นที่ที่คนใช้ คนอยู่ หรือคนที่แวะเวียนผ่านมา ‘สบายใจ’
“นอกจาก Learning Space ต้องใช้ได้จริงแล้ว สำหรับเรามันต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนวางใจ สามารถถอดหัวใจของเราไปวางตรงไหนก็ได้ในสเปซ ความสบายใจมันเป็นพลังงานที่เกิดจากการที่เราเลือกจะหยิบ วาง จับ หรือสรรค์สร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา เพื่อเปิดอิสรภาพของผู้คนให้เกิดทั้งข้างใน ข้างนอก หากพื้นที่นั้นไม่ทำให้เกิดความสบายใจ การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด เรายกตัวอย่าง สวนเล็กๆ บางสวนในบ้านเรา ที่ทำเป็นพื้นที่หญ้าโล่ง มีแต่การตกแต่ง คือมันมอบสุนทรียะผ่านสายตาอย่างเดียว ไม่ได้มอบอะไรผ่านการสัมผัส เพราะมันไม่เอื้อต่อการสัมผัส เคมีเยอะ จะนั่งตรงหญ้า ยังอาจต้องคิดว่าเขาฉีดเคมีไปแค่ไหน แถมยังมีกฎเกณฑ์เยอะมากในการใช้ ทั้งเวลาเปิดปิด การเหยียบตรงนั้น หยิบตรงนี้ การนั่ง นอน ที่มีข้อห้ามจนทำให้อิสรภาพไม่เกิด จริงๆ แล้วสวนของเมืองควรจะเป็นอะไรที่โคตรอิสระ และทำอะไรก็ได้”
แสดงว่า Learning Space จำเป็นต้องช่วยเสริมการเรียนรู้ให้กับคนที่มาใช้งาน? เราถามพลอย เธอตอบว่า ใช่ แต่ “เราคิดว่าเสริมการเรียนรู้ได้ แต่ต้องไม่เร่ง การเสริมสำหรับเรามันเป็นเรื่องการสร้างความหลากหลายมากกว่าที่จะไปกระตุ้นให้เกิดความเร็ว หรือความเร่งบางอย่าง อย่างถ้าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นสวน แน่นอนที่สุดคือ สวนนั้นต้องตอบโจทย์ชีวิตการกินอยู่ของคนในพื้นที่ มีความหลากหลายของพืชพันธุ์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของจุลินทรีย์ตรงนั้น สมมติเราบอกว่าเราทำสวนผักชุมชน แต่ปลูก 1 แปลง 1 พันธุ์ นั่นไม่เรียกความหลากหลาย การจะทำให้เกิดการเรียนรู้ของคน คือการที่ทำให้เขาได้รับร่มเงา ขณะเดียวกันก็ได้กินผัก กินสมุนไพรที่หลากหลายจากตรงนั้นได้ อันนี้คือพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการเติบโต”
คูน้ำ เถียงนา งานวัด ตลาดนัด ไปจนถึงฟุตบาทที่เราเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นผ่านการใช้ชีวิต สามารถเป็น Learning Space ได้หมดในมุมของพลอย อยู่ที่ว่าเราอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตรงนั้นอย่างไรบ้าง หรือสิ่งต่างๆ ตรงนั้นเอื้อต่อการเรียนรู้หรือเปล่า
“สำหรับเรา ทุกอย่างสามารถเป็น Learning Space ได้หมด ขึ้นอยู่กับวิธี และความรู้สึกนึกคิดของคนที่อยู่ตรงนั้น วิธีมองของเรา วิธีสัมผัสของเรา สมมติเราเดินไปวัด แต่รู้สึกเบื่อ เพราะเติบโตมากับวัด เห็นบ่อยจนไม่อยากเข้า ขอเดินผ่านเฉยๆ มันก็เป็นการล็อกเป้าจากการใช้ประสบการณ์เดิมตัดสิน แต่ถ้าความรู้สึกนึกคิดของเรา มองว่าวัดเป็นพื้นที่หนึ่ง ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นพื้นที่ ไม่ยึดติด ไม่ให้ความหมาย มองมันเป็นอะไรก็ได้มากกว่าที่เราคิดว่ามันเป็น การเรียนรู้จะเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าวัดคือวัด ห้องน้ำคือห้องน้ำ โต๊ะนี้คือโต๊ะทำกับข้าว ปากกาคือปากกา ถ้าเราดูจากลักษณะของมันว่ามันสามารถเป็นได้มากกว่านั้น และทำให้เกิดแนวโน้มของการพัฒนาพื้นที่ การเรียนรู้จะเกิด”
“การกำหนดปลายทางการออกแบบให้ชัดเจนว่าเราจะต้องไปสู่สิ่งหนึ่งเป็นภาพชัดเจน จนไม่ยืดหยุ่น เป็นกระบวนการที่เราไม่สนับสนุน เพราะปลายทางที่ยืดหยุ่นมันมีประโยชน์มากและเอื้อต่อการเรียนรู้ โปรเจ็กต์หนึ่งที่อยู่ในใจเรามานาน คือการได้ไปปรับปรุงสนามเด็กเล่นในพื้นที่ เราใช้เวลาหนึ่งปีในการทำความรู้จักผู้คนในชุมชน และทำงานกับเด็กๆ ตอนนั้นเราพกความมั่นใจไปสูง เพราะเราคิดว่าฝืมือการออกแบบเราสวย ปลายทางมันสวยแน่ เซ้นซ์เราไม่แย่ พอได้เริ่มก่อสร้าง และออกแบบกับเด็กๆ ออกมาเราพอใจมาก โคตรสวย เรานี่มันแน่จริงๆ แต่อีกไม่ถึงสามวัน ชาวบ้านเอาไม้พาเลท กับไม้กล่องลังคอนเทนเนอร์ มาตอก มาต่อเติมบางส่วน จนเป็นคลองเตยสไตล์ แม้ในความรู้สึกของนักออกแบบ มันจะมีความรู้สึกว่าขัดไม้ตรงนั้นที่สากหน่อยดีไหม ตรงนั้นยังไม่สวยเลย แต่อะไรที่เหนือความคาดหมายแบบนี้ มันก็แจ๋วดี”
“หรืออย่างที่คลองสาม ตอนนั้นเข้าไปปรับภูมิทัศน์เพื่อผู้สูงอายุริมคลอง เราทำสวน ทำม้านั่ง พื้นที่ปลูกผัก ทำเสร็จสองเดือนน้ำท่วมปี 54 เสียดายมาก แต่พอกลับไปดูใหม่ เราเห็นว่าชาวบ้านเอาไม้ เอาโครงสร้างของเก้าอี้ที่มันยังอยู่ไปต่อเติมไม้มาเติม จนมันกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม นี่คือความสำเร็จที่วัดได้ ว่าสิ่งที่เราทำไป มันต่อยอดการเติบโตของเขาอย่างไร”
Learning Space ควรเปิดรับความหลากหลาย และไม่กีดกันใคร
ขั้นตอนการออกแบบ Learning space ที่ดี บางคนอาจคิดว่า นักออกแบบต้องคำนึงถึงฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์คนเป็นกลุ่มๆ เป็นพอ เช่น ทำพื้นที่สำหรับเด็ก ก็ควรมีเด็กเท่านั้นที่จะได้ใช้พื้นที่นั้น พลอยไม่คิดว่ามันจริง เพราะเธอเชื่อในการไม่ยึดติด และเชื่อในความหลากหลายของผู้คนในการใช้พื้นที่ ซึ่งเธอก็พบว่าปัญหาของ Learning ข้อหลักๆ คือการที่ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงมันได้ ด้วยปัจจัยต่างๆ
“มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าเราต้องตั้งคำถามให้ชัดว่าคนกลุ่มไหนที่เราจะทำงานด้วย เพราะการแลกเปลี่ยนกับเขา เราจะรู้ว่าต้องเตรียมเครื่องมืออะไรบ้างในการทำให้เกิดสเปซที่เขาวางใจ เช่น ถ้าเราจะสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ที่ต้องใช้การขีดเขียน ใช้สี สีสันแบบไหนที่เราต้องใช้ แต่เราก็ไม่ควรยึดติดว่า นี่คือพื้นที่ของเด็กอย่างเดียว เพราะผลพลอยได้ในการทำงานกับเด็ก มันมีความตั้งใจจะให้ผู้ใหญ่มาเข้าร่วมด้วย เพราะยังไงผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นคนพาลูกหลานมาอยู่ดี”
“เครื่องมือที่จะเตรียมส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือสำหรับเด็ก สีไม้ สีเทียน ดินน้ำมัน ซึ่งดินน้ำมันเป็นอุปกรณ์ที่ง่ายต่อการสร้างทรง สร้างฟอร์มอะไรก็ไ้ด้ แต่ทุกครั้งที่เจอในกระบวนการออกแบบคือ ผู้ใหญ่จะไม่จับดินน้ำมัน เราเคยถามเขาว่าทำไมไม่จับ ส่วนใหญ่จะบอกว่ามันเด็ก ทำไมฉันต้องมานั่งบีบดินน้ำมัน มันไม่ให้ความหมายอะไรกับเขา พอเราเห็นสิ่งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าดินน้ำมันอาจจะไม่เหมาะกับผู้ใหญ่ในสเตจแรก แต่อย่างน้อยถ้าเราออกแบบให้เด็กใช้ พอเด็กใช้เสร็จ ผู้ใหญ่จะเริ่มมาหยิบดินน้ำมันอันนี้ ย้ายไปวางอันนี้ บีบอันนี้ให้มันแหลมขึ้น เพื่อช่วยเด็ก เหมือนเขาถนัดในการวิพากษ์ดินน้ำมัน และสร้างดินน้ำมันจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าที่จะเริ่มต้นเอง 100% สำหรับเรานี่คือการเรียนรู้ในเชิงกระบวนการออกแบบ”
แม้จะไม่ควรยึดติดว่าพื้นที่นั้นๆ จะมอบการเรียนรู้ให้กับใครบ้าง แต่การสร้าง Learning Space ยังต้องใช้การคำนึงถึงความต่างทางกายภาพต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย และเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
“สมมติเราทำงานกับเด็ก และผู้สูงอายุ เรารู้แน่นอนว่ากายภาพเขาต่างกัน สเปซที่ออกแบบก็ควรสนับสนุนการเคลื่อนที่ของเขาอย่างปลอดภัย ถ้าเราอยากทำพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ และเด็กสามารทำกิจกรรมร่วมกัน หรือใช้ชีวิตด้วยกันได้ แต่เราดันไปทำพื้นที่ที่กว่าจะขึ้นบันไดแต่ละก้าวเป็นเรื่องยาก มันก็ไม่เอื้อ สำหรับพี่เราควรจะรู้ว่า สำหรับคนทุกคนจริงๆ ต้องมีองค์ประกอบอะไรเพื่อสนับสนุนให้เขามา ดึงดูดให้เขามา อาจจะไม่ได้โน้มน้าวถึงขั้นขายของว่ามาที่นี่กันเถอะ แต่ทำให้เขารู้สึกวางใจที่จะมาตรงนั้น”
“ถ้าเรารู้สึกว่าพื้นที่ที่สร้างขึ้นต้อนรับทุกคนจริงๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทุกคนจริงๆ เราต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม แต่เวลาเราบอกว่าทุกคน มันอาจจะไม่ได้ครบถ้วนขนาดนั้น แต่ก็ควรทำให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ สมมติเราไปพื้นที่แคบที่เราทำทางลาดเพื่อวีลแชร์ไม่ได้ เราอาจจะต้องใช้ทางเลือกอื่นที่ทำให้เขามาได้ เช่น เราเคยออกแบบบ้านสำหรับผู้มีความพิการภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะในการอยู่อาศัย และอยู่บนเนิน บางคนตาบอด บางคนใช้วีลแชร์ เราเลยต้องคิดระบบลิฟต์แบบ DIY เพื่อยกขึ้นมาโดยใช้มือหมุน หรือกดปุ่ม แม้ตอนนั้นจะไม่ได้สร้างจริง เพราะติดปัญหาเรื่องทุน แต่ไอเดียนั้นทำให้เราได้ใช้ความคิดกับเจ้าของบ้าน และสื่อสารกับคนพิการจริงๆ ว่าแบบไหนที่เหมาะกับพวกเขา”
นอกจากมิติทางกายภาพที่ต้องมีความหลากหลายแล้ว มิติการเข้าถึงก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรเกิดจากการออกแบบที่อ้าแขนรับคน ‘ทุกคน’ จริงๆ อย่างไม่กีดกันเพราะความต่างบางอย่าง
1. ถ้าเข้าถึงไม่ได้ ต้องมีชอยส์ให้เขา : อย่างที่พลอยยกตัวอย่างเรื่องพื้นที่สาธารณะกับคนพิการ ที่บางพื้นที่อาจไม่สามารถสร้างพื้นที่ให้ตอบโจทย์ได้ แต่การมีชอยส์ทางเดินอื่นๆ ให้ก็ถือเป็นการทำให้พวกเขาสามารถเข้าใช้พื้นที่นั้นๆ ได้เหมือนคนอื่น และหากมองเป็นเรื่องการเข้าถึงที่เกิดจากทางการเงิน เรายกตัวอย่างการต้องเสียค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ ที่คนอื่นอาจไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการเงินมาถามพลอย นี่คือความคิดเห็นของพลอยต่อเรื่องนี้
“เรารู้สึกว่าโจทย์การตั้งราคาค่าเข้าสถานที่เป็นปัญหา เพราะมันทำให้ความหลากหลายหรือการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นกับผู้คนตามธรรมชาติได้ หรือมีอิสระกับพื้นที่นั้นได้จริงๆ แต่มันจะไม่มีปัญหาเลยถ้าเรามีทางเลือกอื่นๆ ให้กับคนที่เสียค่าเข้าไม่ได้ ว่ากันตามตรง การเสียค่าเข้ามันไม่ได้ผิด ความยั่งยืนไม่ได้เกิดได้จากความฟรีเสมอไป เพราะการลงทุนมันมี cost ทั้งทางเวลา ทางเงินทุน และทางความรู้สึก แต่เราเข้าใจมากๆ ในแง่ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่มากในสังคม นั่นทำให้เราควรมีทางเลือกที่ทำให้ปลายทางทุกคนเข้าได้ เช่น ถ้าคิดเร็วๆ แบบไม่มีกรอบ การแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เอาขยะที่รีไซเคิลได้มาแลกปริมาณเท่านี้ เพื่อให้ได้เข้า หรืออีกแบบคือเงินซัพพอร์ตในกระบวนการอื่นๆ อาจจะจากการขายของอะไรบางอย่างในมิวเซียม ที่ตัดเปอร์เซ็นต์มาซัพพอร์ตคนที่เข้าไม่ได้จริงๆ เป็นต้น”
2. พื้นที่สาธารณะที่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าสาธารณะจริงๆ : แม้เราจะบอกว่าประเทศไทยมี Public Space หรือพื้นที่สาธารณะ แต่หลายครั้งพื้นที่ตรงนั้นสำหรับพลอย “บางพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าสาธารณะ มันมีความไม่สาธารณะอยู่ในนั้น มันยังมีความส่วนตัวบางอย่างอยู่ ไม่ใช่ใครเข้าก็ได้ เช่น สวนรถไฟ เราบอกว่ามันสาธารณะ แต่มันเป็นสาธารณะในแบบที่คนแต่งตัวดู homeless จะถูกยามเรียก อันนี้สาธารณะจริงหรือเปล่า บางทีคนคนหนึ่งแต่งตัวไม่ดี ก็อาจถูกกีดกันขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากจากการนิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ให้แก่กัน และตัดสินมันโดยทันที เราเข้าใจนะในแง่ความปลอดภัยที่เราควรคอยมองอยู่ตลอด แต่การเปิดโอกาสให้กันและกันเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ที่เขาสนใจได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นใครมันดีเสมอ เพราะบางทีคนหนึ่งแค่อยากนั่งพักเฉยๆ แต่พอเสื้อขาด ก็ถูกยามเรียกแล้ว ก็แค่โน้ตไว้ว่าต้องมีระบบความปลอดภัยในนั้น”
3. Learning Space บางอย่างยังกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ : เวลาเราพูดถึงพิพิธภัณฑ์ พื้นที่จัดคอนเสิร์ต พื้นที่จัดนิทรรศการ ร้านหนังสือ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ผู้คนจะนึกถึงกรุงเทพฯ ก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งๆ ที่พื้นที่ในต่างจังหวัดสามารถเป็น Learning Space ที่ฟังก์ชั่นดีๆ ได้เยอะกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่มันไม่ถูกจัดการ
“เรารู้สึกว่าพื้นที่ชนบทหรือต่างจังหวัดมีมากกว่าในเมืองเยอะมาก และมีอิสระในความเป็นพื้นที่โล่งเยอะกว่ามาก เด็กบางคนอยากฝึกสเก็ตซ์บอร์ดก็สามารถหาพื้นที่โล่งได้มาก แต่ความน่าสนใจคือบางสิ่งบางอย่างกลับกระจุกตัวอยู่ในเมือง เพราะเมืองมีความสามารถในการรวมเอาความหลากหลายมาอยู่ที่ที่เดียว เป็นคอลเลกชั่น ทำไมเด็กต่างจังหวัดต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะมันมีคอลเลกชั่นของสถาบันการศึกษาที่หลากหลายอยู่ที่นี่ เมืองมันเป็นพื้นที่รวมตัว รวมทุกอย่าง เลยง่ายที่คนจะมาเรียนรู้จากที่นี่ ทั้งๆ ที่ในต่างจังหวัดเกิดขึ้นได้เยอะมาก เพราะมีพื้นที่ทางธรรมชาติเอยะ เพียงแต่ไม่ถูกจัดการให้ดูดคนเข้ามา หรือดึงคนเมืองให้อยากไปใช้พื้นที่นั้น อย่างออฟฟิศเรา รับทั้งเด็กที่จบจากหลักสูตรมหาลัย และรับเด็กช่างเข้ามาทำงานก็จริง แต่ในสังคมยังมีการผลักให้เด็กช่างต้องไปต่อมหาลัย เพื่อให้มีวุฒิ เพื่อให้ได้ชื่อมหาลัย ซึ่งมันจำเป็นจริงหรอวะ”
Learning Space ในไทยยังเฟล และต้องช่วยกันแก้ไขอีกยาว
มองไปรอบๆ เมือง เราจะเห็นสิ่งปลูกสร้าง สเปซ หรือ Learning Space ที่น่าเสียดายในแง่ฟังก์ชั่นที่ไม่ตอบโจทย์ แง่การออกแบบที่เอื้อต่อการใช้งาน ไปจนถึงแง่ของการถูกทำลาย หรือเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปเป็นสิ่งหนึ่ง และที่สำคัญในแง่ของจำนวนที่อาจจะยังมีไม่มากพอ
เริ่มที่สเกลพื้นฐาน คือสิ่งปลูกสร้างเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนอย่าง ‘ฟุตบาท’ ถนน พลอยมองว่า “ฟุตบาทก็เป็น Learning Space และแน่นอนเราเห็นความเฟลของมันที่ไม่สนับสนุนโฟลวการเคลื่อนที่ของคนได้อย่างปลอดภัย หรือได้อย่างราบรื่น แต่ว่าขณะเดียวกัน ถ้าจะมองความเฟลนั้นเป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็มองได้ คือมันทำให้เราได้ระวังตัว สังเกต มองอย่างละเอียดเวลาเดิน แต่ว่าถ้าทำให้ดีกว่านี้มันจะสนับสนุนการใช้ชีวิตบางอย่างของมนุษย์มากขึ้น”
“ถัดมาเป็นสเกลชุมชน หากเป็นส่วนกลาง เรามองว่าต้องทำอีกเยอะมาก แต่จริงๆ จะทำจากพื้นที่ที่เรามีอยู่ก็ได้ ทำผ่านสวนสาธารณะ ทำผ่านพื้นที่สาธารณะ พื้นที่โล่ง พื้นที่วัด พื้นที่ชุมชน แต่ควรอยู่ในพื้นที่ใกล้ตัว ตัวเราเองมักจะออกแบบให้มีการเกาะกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ทำเป็นกลุ่มโซนย่อย เพื่อให้มันเกิดพื้นที่ตรงกลาง ที่ทุกครอบครัวสามารถมาแลกเปลี่ยนได้”
“ส่วนพื้นที่สาธารณะ ควรแบ่งสัดส่วนให้เอื้อต่อความหลากหลายทางกิจกรรมมากขึ้น เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้คนมาทำสิ่งต่างๆ ด้วยกัน ไม่ใช่แค่การค้าขาย เน้นขายของ แต่เราให้มันเป็นพื้นที่ที่คนไม่รู้จักกัน หรือรู้จักกันมาเจอกันได้ วันนี้ฉันอยากปิกนิกตรงนี้จังเลย ฉันเลยเอาเสื่อมากินข้าวกับเพื่อน ขณะเดียวกันฉันก็เห็นเสื่ออื่นๆ นั่งกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง กินน้ำปั่น แต่ตอนนี้บ้านเรามันมีกฎเกณฑ์อะไรเยอะมากในการใช้”
“สถานที่หนึ่งที่เราเสียดายคือบริเวณป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ยุคหนึ่งมันมีคนไปเต้น เล่นกิจกรรมแปลกๆ เพี้ยนๆ ตามสวน มีดนตรีมุมนั้น คนนั่งกินเบียร์ นั่งเล่น เล่นโยคะ สอนโยคะ คนหลายเชื้อชาติรวมตัวกันได้โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าเป็น tourist ขนาดนั้น สำหรับเราคือโคตรดีเลย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว”
พอพลอยพูดถึงเรื่องความเสียดายต่อสถานที่ต่างๆ ในเมือง เราเลยถามต่อว่า บางสถานที่ที่ถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างสิ่งใหม่ เธอรู้สึกเสียดายอะไรบ้างไหม
“กรณีสกาล่า เราเสียดายนะ เสียดายมาก อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัว เพราะเรามองในมุมประวัติศาสตร์ของพื้นที่ จริงๆ ต้องดูว่าการทิ้งสิ่งนั้นมันแลกเปลี่ยนกับอะไรอีกทีด้วย ซึ่งงานในเมืองส่วนใหญ่มักจะแลกเปลี่ยนเชิงพาณิชย์ เรื่องเศรษฐกิจ พูดแบบนี้ก็ยิ่งน่าเสียดายเข้าไปใหญ่”
“เราไม่ได้สนับสนุนการรื้อให้หมด เพราะบางอย่างมันต้องอยู่ ต้องมี เพื่อเป็นโน้ตในการเรียนรู้ เติมเต็ม เตือน ตั้งคำถามอะไรบางอย่าง แต่ถ้าเรามองว่ามันไม่มีอะไรอยู่ตลอดไป การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นในที่ใหม่ได้ตลอดเหมือนกัน แม้สิ่งนั้นจะหายไปแล้ว มีอย่างอื่นทับไปแล้ว การเรียนรู้ก็อยู่ใต้ดินได้ เพราะความทรงจำมันยังอยู่ การต่อยอดของความรู้ยังมีอยู่ และนำไปสู่อะไรต่อไป มันลบออกไปไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าแง่หนึ่งของการจากไปของสถานที่ มันก็กดดันให้ผู้คนต้องมูฟตัวเอง หรือหนีจากสิ่งที่เห็นตรงหน้า”
“อย่างเรื่องการเวนคืนที่ดิน เรายอมรับว่าเมืองมันต้องโต แต่จะโตแบบไหนดี บางครั้งพื้นที่ที่แลกเปลี่ยนไป มันอาจกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน แต่สำคัญเลยคือต้องเลือกตำแหน่งที่เหมาะสม การเสียประโยชน์ตรงนั้นต้องเหมาะสม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าประชาชนถูกรัฐทำร้ายตลอดเวลา รัฐรู้สึกได้เปรียบตลอดเวลา การประเมินมูลค่าชีวิตของคนประเมินจากกายภาพอย่างเดียวไม่ได้ เวลาเวนคืนมันจะมีความรู้สึกไม่คุ้ม หรือไม่เท่าเทียมอยู่ เพราะเราประเมินแต่สิ่งปลูกสร้าง เราไม่ได้ประเมินชีวิตว่ากระทบอย่างไรกับผู้คนในนั้น ถ้ามีการประเมินเรื่องพวกนี้เข้าไปด้วย เราว่าความยุติธรรม และความแฟร์ในการแลกเปลี่ยนมันอาจจะรู้สึกรับได้มากขึ้น”
“อีกอย่างที่เสียดายมากๆ คือต้นไม้ในเมือง กรุงเทพฯ มีต้นไม้น้อย บางทีเราทำงานชุมชน ผ่านไป 4-5 ปี อ้าว ต้นนี้ โดนตัดไปแล้ว สะเทือนใจมาก เราเสียดายดิน เสียดายความสามารถในการหายใจของธรรมชาติ บางครั้งพื้นที่ตรงนั้นถูกเททับด้วยปูน ต้นไม้ตัดเพื่อทำให้รู้สึกว่าตรงนั้นมันโล่ง และสะอาด แต่บางทีถ้าเรามีความวุ่นวายบ้างในพื้นที่ มันจะทำให้การเติบโตและการเรียนรู้สมบูรณ์มากขึ้น ตอนนี้ Learning Space ถูกออแกไนซ์เยอะไป”
อุปสรรคและความยากในการเป็นสนาปนิกชุมชนของพลอย คือเธอรู้สึกว่าตอนนี้คนทำงานด้านชุมชนตอนนี้ยังไม่พอ เพราะเราอยู่ในยุคที่เรื่องเงิน และการมีชีวิตแบบมีเงินเยอะๆ ถูกโปรโมทในวงกว้าง แน่นอนว่าเงินเป็นปัจจัยที่จำเป็นกับชีวิต แต่ว่าแรงบันดาลใจในการทำงานกับชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเธอ นั่นทำให้เธอยังแวดล้อมอยู่ในวงการนี้ต่อไป ขณะที่หลายคนที่ฝีมือดี อาจจะหยุดเส้นทางนี้ไป แต่เธอก็ยังเชื่อว่าจะยังมีคนที่รักในงานชุมชนมาช่วยพัฒนาเมืองนี้ให้น่าอยู่ต่อไปแน่นอน
“รัฐต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ให้มากขึ้น ทำให้ผู้คนรู้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ซึ่งโปรแกรมพวกนี้สามารถทำผ่านพื้นที่ชุมชนได้ รัฐควรลงมาดูให้มากขึ้น ว่าผู้คนแต่ละพื้นที่อยากจะเติบโตอย่างไร อยากเรียนรู้เรื่องอะไร ความหลากหลายเบสิกที่เป็นเรื่องธรรมชาติต้องถูกเติมเต็มเข้าไป เพราะมีธรรมชาติตรงไหน พื้นที่การเรียนรู้มันจะเกิด”
“พอลงมาดู คุณจะได้ทำความเข้าใจว่าการเติบโตในชุมชนเป็นเรื่องจำเป็น สิ่งที่ตามมาคือการสนับสนุนด้านคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะการสนับสนุนเรื่องคุณภาพชีวิตจะนำไปสู่การเติบโตด้านอื่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยอาจทำผ่านโปรแกรมการซัพพอร์ต พร้อมเงินทุนซัพพอร์ตด้านปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายต่อคนทุกวัย ทุกกลุ่ม และทุกคน มันจะดีขึ้นเอง”
Learning Space หรือ พื้นที่การเรียนรู้ จะทำให้คนทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ต่างกัน ไม่มีใครได้รับการเรียนรู้ที่เหมือนกันเป็นแน่ แต่การเรียนรู้นั้นจะเกิดหรือไม่เกิด ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ตรงนั้นมันมีมากพอ หรือดีพอหรือยัง ซึ่งเราหวังว่าพื้นที่การเรียนรู้ในไทยจะก้าวไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นหลังจากที่ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อนำมันไปพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ในอนาคต