เรียนเพื่อแก้ปัญหา เมื่อการศึกษาไม่ได้หยุดลงหลังเรียนจบ

  • การศึกษาต้องช่วยแก้ไขทั้งโจทย์ในชั้นเรียนและชีวิต ไม่อย่างนั้นผู้เรียนอาจหมดความสนใจหรือกำลังใจในการเรียนรู้
  • “ทักษะการแก้ปัญหา” และ “ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นสองทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้จากในห้องเรียนไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตและสร้างแรงขับเคลื่อนในระยะยาว
  • การปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนและทักษะการแก้ปัญหาแก่ผู้เรียนมีส่วนช่วยให้ความรู้และทักษะอยู่กับเขาไปตลอด

หากถามผู้เรียนหลาย ๆ คน คำตอบต่อคำถามว่าต้องการอะไรจากการศึกษาคงหนีไม่พ้นคำพูดทำนองว่า “อยากเอาไปใช้ประโยชน์” “อยากเอาไปทำงาน” “อยากเอาไปใช้ในชีวิตจริง” 

คงปฏิเสธได้ยากว่าการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างความรู้ในห้องสี่เหลี่ยมกับโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาทีไม่ใช่งานง่าย แต่ยากไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ อิฐและปูนที่ใช้สร้างสะพานดังกล่าวอาจมีมากกว่าแค่เนื้อหาในตำรา

นอกเหนือจากสูตรเลขซับซ้อนหรือหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนา ยังมีทักษะอื่น ๆ ที่จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ในบริบทอื่นนอกห้องเรียน และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แม้จะจบการศึกษาไปแล้ว เรากำลังพูดถึง “ทักษะการแก้ปัญหา” และ “ทักษะการเรียนรู้” อันจะเป็นส่วนเสริม เป็นเครื่องมือเพิ่มเติมให้ผู้เรียนได้เลือกหยิบไปใช้

ปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหา 

ในโลกที่เราไม่อาจคาดเดาว่าจะมีอุปสรรคอะไรเข้ามาท้าทาย การเตรียมการรับมือและจัดการปัญหาจึงเป็นทักษะจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในห้องเรียนและในชีวิตประจำวัน

แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาแก่ผู้เรียนมีดังนี้ 

สื่อสารกับผู้เรียน 

ให้ผู้เรียนระบุปัญหาเฉพาะ ความยากลำบากหรือความสับสนที่เขาเผชิญ แต่ไม่ต้องเสียเวลากับการแก้ปัญหาที่ผู้เรียนเข้าใจดีแล้ว หากผู้เรียนอธิบายเรื่องที่กังวลไม่ได้ ถามคำถามเกี่ยวกับแนวคิดหรือหลักการที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น จากนั้นลองถามวิธีแก้ไขที่เขาคิด ในบริบทการเรียนการสอนตัวต่อตัว ลองให้ผู้เรียนเล่าปัญหาออกมา วิธีนี้จะช่วยชะลอกระบวนการคิด ซึ่งจะช่วยให้ประเด็นปัญหาเด่นชัดขึ้น และผู้สอนเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น

เมื่อทำงานกับผู้เรียนแบบกลุ่ม ลองตั้งโจทย์ให้แบ่งครึ่งหน้ากระดาษเป็นสองช่อง ช่องหนึ่งเขียนปัญหา อีกช่องเสนอแนวทางแก้ไขโดยละเอียด นี่จะช่วยให้พวกเขาได้คิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยให้ผู้สอนระบุปัญหาได้ง่ายขึ้น

ภาพจาก https://www.pexels.com/photo/concentrated-black-kid-doing-sums-5905857/

สนับสนุนให้ผู้เรียนคิดด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างกระบวนการแก้ปัญหาย่อมดีกว่าการให้คำตอบแก่ผู้เรียน เมื่อขบคิดปัญหา ลองพิจารณาว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นน่าจะติดขัดในเรื่องใดเกี่ยวกับแนวคิดต่าง ๆ ในบทเรียน ก่อนยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ให้ผู้เรียนลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ถามคำถามชี้นำหรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์บ้าง แต่ช่วยเหลือเล็กน้อยและช่วยเฉพาะเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

กระบวนการนี้ใช้ผู้เรียนแบบกลุ่มได้เหมือนกัน ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือกันและกัน การถกประเด็นปัญหาจะเปิดโอกาสให้ครุ่นคิดมากขึ้นเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ปัญหา อีกทั้งช่วยให้ตระหนักว่ากลยุทธ์ในการแก้ปัญหามีหลากหลาย บางแนวทางอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าแนวทางอื่น

ไวต่อความรู้สึกของผู้เรียน

หลายครั้งเวลาผู้เรียนหาทางแก้ปัญหา พวกเขาไม่มั่นใจในตัวเอง การขาดความมั่นใจอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ผู้สอนควรตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อผู้เรียนเข้ามาปรึกษาหารือ และทำให้พวกเขารู้สึกว่าเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งแล้ว กล่าวคำพูดให้กำลังใจ ให้ผู้เรียนรู้ว่าพวกเขาบรรลุทักษะใหม่หรือเข้าใจแนวคิดใหม่แล้ว

บ่มเพาะความรอบคอบและความอดทน

สื่อสารกับผู้เรียนเป็นระยะว่ากระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์ แจ้งให้ผู้เรียนรู้ว่าต่อให้ไม่สามารถหาทางออกได้ในทันทีก็ไม่เป็นไร ซึ่งทำได้ด้วยการยืนยันว่าพวกเขามีความคืบหน้า ไม่แสดงท่าทางกังวลหรือเฉลยคำตอบให้พวกเขา และการสาธิตด้วยตัวอย่างการแก้ปัญหาทีละขั้นตอน

ประโยชน์ของทักษะการแก้ปัญหา

นอกจากผลดีตรงตามตัวอักษรอย่าง “แก้ปัญหา” นั้น ทักษะการแก้ปัญหายังพัฒนาผู้เรียนในอีกหลายด้าน ดังนี้ 

เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

การผนวกรวมทักษะการแก้ปัญหาเข้ากับการเรียนการสอนเป็นการย้ายศูนย์กลางการเรียนรู้ไปที่ผู้เรียน เนื่องจากพวกเขาต้องข้องเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ด้วยการถามคำถามและตริตรองเกี่ยวกับคำอธิบายและแนวทางแก้ปัญหา มากกว่าการซึมซับข้อมูลจากผู้สอนหรือท่องจำจากตำรา

เพิ่มความมั่นใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

เช่นเดียวกับทักษะอื่น ยิ่งผู้เรียนฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหา พวกเขาจะยิ่งคุ้นเคยกับการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ เมื่อได้เรียนรู้วิธีเข้าหาแนวคิดที่แปลกใหม่และเจอคำถามที่ไม่รู้คำตอบ ผู้เรียนจะมั่นใจมากขึ้นในความสามารถในการนำทักษะการแก้ปัญหาไปใช้ในด้านอื่นทั้งในและนอกรั้วสถานศึกษา

จุดมุ่งหมายของการปลูกฝังทักษะการแก้ปัญหาคือการทำให้เป็นทักษะอัตโนมัติ และเพื่อที่ผู้เรียนจะสื่อสารความสงสัยของตนเองอย่างสม่ำเสมอ สำรวจทางออกที่สร้างสรรค์ วิเคราะห์โลกรอบตัวและหาข้อสรุปของตัวเอง

ภาพจาก https://www.pexels.com/photo/multiethnic-female-students-fulfilling-homework-together-in-park-5965713/

ส่งเสริมการร่วมมือและการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ด้วยความที่การแก้ปัญหามักเกิดขึ้นในบริบทของการร่วมมือกับผู้อื่น ผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลนอกเหนือจากทักษะการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพต้องพึ่งพาการสื่อสาร ความรับผิดชอบ การเข้าใจและเข้าถึงใจคนอื่น ๆ การตั้งเป้าหมายและการจัดการ ทั้งหมดทั้งมวลนี้สำคัญต่อการศึกษาและการทำงาน

เพิ่มพูนทักษะด้านอภิปัญญา

คำว่า “อภิปัญญา” (metacognition) มักถูกอธิบายว่าเป็น “การคิดเกี่ยวกับการคิด” เพราะมันหมายถึงการทำความเข้าใจกระบวนการคิดของตัวเอง เมื่อเราตัดสินใจ อภิปัญญาจะทำให้เราพินิจผลลัพธ์ของแผนการปฏิบัติสารพัดและเลือกว่าแผนใดให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ทักษะด้านอภิปัญญาเกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่สูงขึ้นและพัฒนากลยุทธ์การเรียนรู้ ผู้เรียนที่มีทักษะด้านอภิปัญญาจะสามารถสะท้อนผลประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจตัวเองและโลกให้ดียิ่งขึ้น

ช่วยในการจัดเก็บองค์ความรู้ในระยะยาว 

ผู้เรียนที่มีทักษะการแก้ไขปัญหาจะมีความสามารถในการเก็บรักษาและดึงข้อมูลมาใช้ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อให้อธิบายว่ากระบวนการที่นำมาสู่ข้อสรุปของตัวเองเป็นอย่างไร ด้วยการแบ่งปันความคิดกับข้อเท็จจริงที่สืบค้นมา กระบวนการนี้จะช่วยเสริมความเข้าใจในประเด็นที่ศึกษา

สถานการณ์การแก้ไขปัญหาที่ผู้เรียนระดมความคิดและอภิปรายในกลุ่มเล็ก ๆ จะเอื้อต่อการฝึกทักษะการแก้ปัญหาเป็นพิเศษ เพราะการอภิปรายจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนถามและตอบคำถามเกี่ยวกับหัวข้อใหม่ที่กำลังสำรวจค้นคว้า

นำความรู้ไปใช้นอกตำรา ฝึกทักษะที่ดีต่อชีวิต

“คืนครูหมดแล้ว” หลายคนพูดทีเล่นทีจริงหลังจบการศึกษามาได้ระยะหนึ่ง แต่คงน่าเสียดายหากเรียนรู้จะจบลงเท่านั้น และคงจะดีกว่ามากหากเรายังมีทักษะหรือคุณสมบัติอื่น ๆ ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงความใฝ่รู้ใฝ่เรียน สนับสนุนการขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้

ทักษะความคิดสร้างสรรค์

คงไม่น่าแปลกใจที่ความคิดสร้างสรรค์จะอยู่เป็นลำดับต้น ๆ ในรายการนี้ ความคิดสร้างสรรค์ไม่เพียงเป็นเส้นทางการเรียนรู้ แต่จะเบิกทางให้กับความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน ในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้เราสร้างสิ่งใหม่และอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ได้ และที่สำคัญที่สุดคือ มันคือภาษาที่เราสามารถใช้ในการถ่ายทอดความคิดใหม่ ๆ และความหลงใหลของตัวเองได้

ทักษะการแก้ปัญหา

การแก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริงถือเป็นทักษะที่สำคัญมาก ในโลกที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาใหม่ ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ดังนั้น คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับอะไรที่คนยุคก่อนนึกไม่ถึง ซึ่งต้องอาศัยทักษะการแก้ปัญหาในการออกแบบหรือวางแผนทางออกที่เหมาะสม ทักษะการแก้ปัญหาช่วยได้ตั้งแต่การเขียนรายการจ่ายตลาดไปจนถึงวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ ๆ ในชีวิต

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

การคิดเชิงวิพากษ์หมายรวมถึงการคิดได้ด้วยตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อความคิดและคิดได้อย่างไม่รู้จบ วิธีที่เรามองโลก มองตัวเองและผู้อื่นส่งผลมากกว่าแค่ประสบการณ์ส่วนตัว เพราะแม้แต่ความคิดของคน ๆ เดียวก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ เหมือนหินก้อนเล็กที่หล่นลงในบึงแล้วส่งคลื่นแผ่ขยายเป็นวงกว้าง การคิดอย่างรอบคอบถ้วนถี่จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ทักษะความเป็นผู้นำ

คนที่นำคนอื่นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงจัดการสิ่งต่าง ๆ แต่ยังต้องเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นและสนับสนุนผู้อื่น มองเห็นศักยภาพของคนรอบข้างและผลักดันให้เขาก้าวหน้าในทางที่ถนัด ความเป็นผู้นำคือคุณสมบัติสำคัญในชีวิต มันเปลี่ยนจาก “ฉันทำได้” เป็น “เราทำได้” และทำให้ทุกคนพร้อมจะเดินหน้าไปด้วยกัน มันคือความเต็มใจรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ทำอย่างสุกเอาเผากิน

ทักษะการสื่อสาร

ทักษะการสื่อสารสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ทักษะการสื่อสารที่ดีนอกจากช่วยให้การทำงานราบรื่น ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ลดโอกาสการปะทะหรือกระทบกระทั่งกัน  

ทักษะการให้ความร่วมมือ

การทำงานร่วมกับผู้อื่นรวมถึงทักษะการสื่อสาร การเข้าถึงใจผู้อื่นและการเป็นผู้นำสำคัญอย่างมากในสภาพแวดล้อมที่ต้องทำงานกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย 

ภาพจาก https://www.pexels.com/photo/photo-of-people-near-wooden-table-3184418/

ทักษะการปรับตัว

นอกจากปรับตัวเข้ากับคนรอบข้างแล้ว การรู้เท่าทันโลกและปรับตัวเข้ากับยุคสมัยยังเป็นอีกทักษะที่จะช่วยให้เราอยู่รอดในโลกที่เทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความยืดหยุ่นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเป็นอีกทักษะที่จะช่วยให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทักษะความสงสัยใคร่รู้

หากไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน การเรียนรู้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย การที่ผู้สอนสามารถทำให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ของเนื้อหาที่เรียน ตื่นเต้นและสนุกกับบทเรียนได้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดการศึกษา 

ทักษะการสะท้อนคิด 

หลังเรียนรู้เรื่องใหม่ การสะท้อนคิดและทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนตามความเข้าใจของตัวเอง พวกเขาจะเห็นว่าตัวเองทำได้ดีตรงไหน ควรปรับปรุงจุดใดและสามารถพัฒนาได้อย่างไรในอนาคต 

สะพานระหว่างห้องเรียนกับโลกจริงเป็นสะพานที่ผู้เรียนต้องค่อย ๆ สร้างด้วยตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้และฝึกทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยให้กระบวนการนี้ง่ายและได้ผลดียิ่งขึ้น 

อ้างอิง 

https://www.ideaedu.org/idea-notes-on-learning/learning-to-apply-knowledge-and-skills-to-benefit-others-or-serve-the-public-good/

https://blog.futurefocusedlearning.net/10-beneficial-lifelong-learning-skills

https://cft.vanderbilt.edu/guides-sub-pages/problem-solving/


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts