LGBTI+

จักรวาลของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI+

  • ถ้าเป็นรหัสวิชาก็น่าจะเป็น 101 สำหรับการเข้าไป sit in ในคลาส ‘ความหลากหลายทางเพศ’ 
  • ตั้งต้นด้วยการทำความรู้จัก 15 คำเรียกเพศอันหลากหลายในจักรวาล
  • เมื่อเข้าใจ เสต็ปต่อไปคือการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเคารพสิ่งที่พวกเขาเป็น

คนส่วนใหญ่ในสังคมคุ้นชินกับการแบ่งเพศออกเป็น 2 เพศ คือชายและหญิง เวลาไปเดินห้างฯ ห้องน้ำก็แบ่งออกเป็นห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง เสื้อผ้าก็แบ่งออกเป็นแผนกเสื้อผ้าผู้ชายกับเสื้อผ้าผู้หญิง ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็มีเครื่องแบบผู้ชายและเครื่องแบบผู้หญิง เวลากรอกแบบฟอร์มประวัติส่วนตัวก็มักมีช่องให้เราระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ประสบการณ์เหล่านี้หล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อไปโดยไม่รู้ตัวว่าโลกนี้มีเพศชายและเพศหญิงเป็นพื้นฐานเพียง 2 เพศเท่านั้น

แต่ในสังคมยังมีคนที่ลักษณะแตกต่างไปจากเพศชายหรือเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นเกย์ กะเทย ทอม เลสเบี้ยน เควียร์ ฯลฯ ทำให้บางคนเข้าใจว่า คนเหล่านั้นผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ เพียงเพราะพวกเขามีลักษณะบางประการไม่ตรงกับความเข้าใจในเรื่องเพศชายและเพศหญิงของคนทั่วไป 

แต่ใครกันมีสิทธิ์กำหนดว่าอะไรคือปกติ อะไรคือธรรมชาติ (แม้แต่โลกของสัตว์ชนิดอื่นๆ นักชีววิทยาก็ยังพบการอยู่กันเป็นคู่ของสัตว์เพศเดียวกันอยู่มากมาย) หากจะบอกว่าพวกเขาผิดปกติและผลักไสให้พวกเขาต้องอยู่ในสังคมอย่างถูกลดทอนศักดิ์ศรีแล้วล่ะก็ จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนจะมาทำความเข้าใจเพศที่หลากหลายร่วมกัน เข้าใจพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่มีหัวใจ มีความรู้สึก รู้จักความสุขและความทุกข์ไม่ต่างไปจากคนอื่น รักเป็นไม่ต่างไปจากคนอื่น และเมื่อถูกทำร้ายก็มีบาดแผลไม่ต่างไปจากคนอื่น

เพศในมิติต่างๆ 

เพศในมิติของร่างกาย (เพศสรีระ, เพศทางชีววิทยา, เพศกำเนิด)

คือการที่คนเราเกิดมามีอวัยวะเพศชายหรือหญิง แต่จริงๆ แล้วเพศไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น เพราะยังมีคนที่เกิดมามีเพศกำกวมหรือมีอวัยวะเพศของทั้ง 2 เพศ (intersex) ด้วยเช่นกัน เช่นนั้นในทางชีววิทยา จึงไม่ได้มีแค่ 2 เพศอย่างตายตัว

เพศในมิติของจิตใจ (ตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางเพศ)

คือการที่คนคนหนึ่งรับรู้หรือคิดว่าตัวเองเป็นเพศอะไร โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นมีร่างกายเป็นแบบไหนเสมอไป เช่น บางคนเกิดมามีอวัยวะเพศชายแต่อาจรับรู้ในใจของตัวเองมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นผู้หญิง ลักษณะนี้อัตลักษณ์ทางเพศของเขาเป็นผู้หญิง แม้เพศกำเนิดจะเป็นผู้ชายก็ตาม นอกจากคนที่รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง บางคนไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นทั้งสองเพศ แต่อาจจะมองตนเองว่าเป็นกลางๆ ก็ได้

เพศในมิติของสังคม (เพศภาวะ, เพศสภาพ) 

คือส่วนที่คนรอบข้างมองคนๆ หนึ่งว่าเป็นเพศอะไร ซึ่งบ่อยครั้งจะตรงกับเพศกำเนิดและเพศทางจิตใจของคนนั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเพศทางสังคมไม่ตรงกับเพศกำเนิดหรือเพศทางจิตใจ อาทิ เมื่อคนหนึ่งแปลงเพศ คนอื่นๆ อาจจะไม่ทราบว่าเพศกำเนิดของเขาคือเพศอะไร หรืออาจจะถือว่าเขาเป็นเพศที่เขาบอกว่าเขาเป็น เพราะต้องการเคารพความรู้สึกของเขา หรือกรณีที่คนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเพศที่แท้จริงของเขาไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่ด้วยความกดดันจากสังคม ทำให้เขาไม่เคยบอกใครหรือแสดงออกตามเพศที่รู้สึกว่าเขาเป็น ในกรณีนี้คนรอบข้างอาจจะตัดสินเพศทางสังคมของเขาจากลักษณะภายนอก เพราะไม่ทราบว่าข้างในเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศอะไร

นอกจากนี้ เพศในมิติของสังคมยังมีความหมายรวมถึงบทบาท กิริยา ท่าทาง การแต่งกาย สิทธิ หน้าที่ ฯลฯ ที่คนรอบข้างคาดหวังว่าคนที่เป็น “เพศ” นั้นๆ ควรปฏิบัติตามธรรมเนียมของสังคมนั้น 

เพศในมิติของการแสดงออก (การแสดงออกทางเพศ)

คือคนคนนั้นมีการแสดงออกแบบใด แต่งตัวอย่างไร มีบุคลิกอย่างไร คนที่มีอวัยวะเพศหญิงบางคนอาจชอบที่จะแสดงออกด้วยการแต่งตัวแบบผู้ชาย ตัดผมซอยสั้น ใส่เสื้อยืดโคร่งๆ ไม่ชอบสวมกระโปรง เป็นต้น ทั้งนี้เพศในมิติของจิตใจและสังคมของเธออาจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้

เพศในมิติของความชอบและความรัก (วิถีทางเพศ)

คือคนหนึ่งมี “ความรัก” และ “ความใคร่” ต่อคนเพศใดบ้าง ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับคนอื่นก็ได้ เช่น ความรู้สึกที่มีต่อคนเพศเดียวกัน มีต่อคนต่างเพศ มีต่อคนมากกว่าหนึ่งเพศ หรือไม่มีต่อคนเพศใดเลย เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเพศทางจิตใจหรือทางสังคมของเขาก็ได้ 

เช่น คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิงบางคน อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย มีการแต่งตัวและแสดงออกเหมือนผู้ชาย แต่ก็อาจจะชอบผู้ชายได้เช่นกัน (ในแง่นี้ถือว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน) ในทางกลับกันคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชายบางคน อาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง อาจจะไปผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว แต่ก็อาจจะชอบผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน และถือว่าตนเองเป็นหญิงรักหญิง

จากตัวอย่างที่กล่าวถึงคร่าวๆ ในมิติของเพศต่างๆ จะเห็นได้ว่า เพศแต่ละมิติไม่จำเป็นต้องผูกอยู่กับเพศในมิติอื่น เช่น เกิดมามีอวัยวะเพศชาย อาจรับรู้ว่าตัวเองเป็นชาย หญิง หรือเพศอะไรก็ได้ การแสดงออกของเขาก็อาจมีความเป็นผู้ชาย ความเป็นผู้หญิง หรือกลางๆ ก็ได้ แล้วก็อาจจะชอบผู้ชาย ผู้หญิง อาจจะชอบทั้ง 2 เพศ หรือไม่ชอบเพศใดเลยก็ได้

15 คำเรียกเพศอันหลากหลาย

ตัวอย่างทั้ง 15 คือคำเรียกเพศอันหลากหลาย ซึ่งบางคำเราอาจจะคุ้นเคยกันดี ที่สำคัญ คำเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมสร้างขึ้น เมื่อความเข้าใจหรือยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหมายของคำเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงด้วย และอาจมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีก

  • เลสเบี้ยน (lesbian) หรือหญิงรักหญิง เป็นคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิง รับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิง และชอบผู้หญิง ส่วนการแสดงออกอย่างนิสัย ท่าทาง การแต่งกายอาจมีความแตกต่างไปในแต่ละคน
  • ทอม ในความเข้าใจของคนไทย คือ คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิง รับรู้ว่าตัวเองมีความเป็นผู้ชายไม่มากก็น้อย โดยแสดงออกคล้ายผู้ชาย แต่ระดับของการแสดงออกอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล (มีความซ้อนทับกับผู้ชายข้ามเพศ แต่ในภายหลัง คำว่า ‘ผู้ชายข้ามเพศ’ มักใช้เกี่ยวกับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองเป็นแบบผู้ชายไปด้วย ขณะที่ทอมอาจไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกาย)
  • ดี้ ในความเข้าใจของสังคมไทยคือคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิง แสดงออกแบบผู้หญิง และชอบทอม
  • เกย์ (gay) คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย รับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย และชอบผู้ชาย ส่วนการแสดงออกอาจมีความแตกต่างไปในแต่ละบุคคล โดยบางคนอาจแสดงออกไม่แตกต่างจากผู้ชายทั่วไป ขณะที่บางคนจะแสดงออกไปทางผู้หญิงในระดับหนึ่ง
  • คนรักเพศเดียวกัน (homosexual หรือ same-sex attracted) คำที่ใช้เรียกรวมทั้งหญิงและชายที่ชอบเพศเดียวกัน ซึ่งจัดว่าตรงกันข้ามกับ “คนรักต่างเพศ” (heterosexual หรือ straight)
  • ไบเซ็กซ์ชวล (bisexual) เดิมคำนี้หมายถึงคนที่ชอบได้สองเพศ แต่ในปัจจุบันถูกใช้ในความหมายว่าคนที่ชอบได้มากกว่าหนึ่งเพศ เช่น ชอบได้ทั้งชาย หญิง และนอนไบนารี่
  • กะเทย ในปัจจุบันมีความหมายถึงคนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย อาจรับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือกะเทย มีการแสดงออกที่ค่อนไปทางผู้หญิงหรือไม่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักชอบผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ก็มีกะเทยที่ชอบผู้หญิงเช่นกัน (มีความซ้อนทับกับผู้หญิงข้ามเพศ) บางคนเรียกตัวเองว่ากะเทย บางคนเรียกตัวเองว่าสาวประเภทสองหรือผู้หญิงข้ามเพศ แต่ด้วยความคุ้นเคยกับคำว่ากะเทยในสังคมไทย คนรอบข้างอาจเรียกเขาว่ากะเทยเป็นหลัก
  • ผู้หญิงข้ามเพศ (trans woman) คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศชาย แต่รับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิง มักแสดงออกแบบผู้หญิง โดยระดับของการแสดงออกอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งบางคนอาจมองว่าแตกต่างหรือไม่แตกต่างจากกะเทย
  • ผู้ชายข้ามเพศ (trans man) คนที่เกิดมามีอวัยวะเพศหญิง แต่รับรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย มักแสดงออกแบบผู้ชาย ซึ่งระดับของการแสดงออกอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
  • คนข้ามเพศ (transgender) คำที่ใช้เรียกรวมผู้หญิงข้ามเพศและผู้ชายข้ามเพศ
  • นอนไบนารี (non-binary) หมายถึงการไม่แบ่งขั้ว ซึ่งภายหลังถูกนำมาใช้โดยคนที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • คนที่มีเพศกำกวม (intersex) เป็นคนที่เกิดมามีลักษณะทางเพศโดยกำเนิดที่ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คืออาจมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง เช่น มีองคชาตแบบผู้ชาย แต่ไม่มีอัณฑะ และมีช่องคลอดแบบผู้หญิง ซึ่งบางคนมีอวัยวะเพศชายชัดกว่าอวัยวะเพศหญิง บางคนอาจเป็นในทางตรงข้าม
  • เควียร์ (queer) คนที่ไม่ต้องการอยู่ในกรอบของความเป็นชายและความเป็นหญิง ไม่ต้องการนิยามว่าตนเองรู้สึกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง รวมทั้งจะชอบผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศอะไรบ้าง เพราะพวกเขามองว่าเพศคือความลื่นไหล สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในอดีตเควียร์เป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ (แปลว่า “แปลก”) แต่ภายหลังผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มนำมาใช้เรียกตนเองด้วยความภูมิใจในความแตกต่างและการไม่ยึดติดกับกรอบเรื่องเพศ
  • อื่นๆ เช่น Asexual หมายถึงคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่น แต่ไม่ได้เสื่อมสมรรถภาพ พวกเขายังมีความต้องการทางเพศ มีเพศสัมพันธ์ และมีความรักได้ ส่วน Aromantic หมายถึงคนที่ไม่ได้รักคนอื่นแบบคู่รัก แต่ก็มีความรักแบบอื่นได้ เช่น รักแบบเพื่อน พี่น้อง หรือญาติสนิท
  • ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT, LGBTQ, LGBTI+ เป็นต้น) คำที่ใช้เรียกรวมคนทุกเพศไม่ว่าจะมีการแสดงออกแบบใด เพศภาวะแบบไหน หรือชอบเพศอะไร สำหรับในหนังสือเล่มนี้จะใช้คำว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ LGBTI+

นี่เป็นเพียงตัวอย่างอัตลักษณ์ทางเพศและคำเรียกเพศบางคำเท่านั้น เพราะยังมีอัตลักษณ์และคำอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้เราไม่สามารถตัดสินหรือนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของใครจากเพียงการแสดงออกภายนอก อาทิ การแต่งกาย ท่าทาง หรือการกระทำเท่านั้น เพราะแต่ละคนต่างมีความซับซ้อนทั้งความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกที่เป็นปัจเจก

สิ่งที่ทำได้คือการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเคารพสิ่งที่พวกเขาเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเป็นคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อน หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เมื่อพวกเขาไว้วางใจ เขาจะเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศให้รับรู้ด้วยตัวเอง

ที่มา: หนังสืออยู่ ร่วม สุข : เรื่องเล่าความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด LGBTI+


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts