เรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถูกพูดถึงมากขึ้นใน เดือน ‘Pride’ มีผู้คน องค์กร หรือสื่อ ออกมาสร้างจุดยืนสนับสนุน LGBTQIA+ ส่งต่อความเข้าใจให้คนในสังคมรับรู้ถึงตัวตนที่มีอยู่จริง รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวน่าเหนื่อยใจ และเจ็บปวดใจที่พวกเขายังต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แค่สิทธิทางกฎหมายที่ไร้ความเท่าเทียม แต่แม้เรื่องที่ง่ายกว่านั้น อย่างระดับการใช้ชีวิตในสังคม หลายคนก็ยังถูก ‘สเตริโอไทป์’ ว่าการเป็น LGBTQ+ จะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ แบบโน้น ซึ่งก็ล้วนมาจากการคิดเองเออเองของคนภายนอก และไปสร้างกรอบความเป็นตัวตน และความอึดอัด ไปจนถึงสร้างแผลใจให้กับชีวิตของพวกเขาไม่น้อยเลย
เลสเบี้ยน (Lesbian) ก็แค่ผู้หญิงที่อกหักจากผู้ชาย เลยหันไปซบอกผู้หญิงด้วยกัน… ซึ่งมันใช่ที่ไหน คนมันจะชอบผู้หญิง ก็คือชอบผู้หญิง ผู้ชายไม่จำเป็นต้องมาเกี่ยวข้องในสมการตั้งแต่แรก
เกย์ (Gay) ต้องออกสาว มีจริตความเป็นหญิงทุกคน… ซึ่งมันใช่ที่ไหน เกย์ก็คือผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน สามารถแมนได้ สาวได้ และถ้าไม่อยากเป็นตัวแม่ของใคร ก็ไม่ต้องเป็น
ไบเซ็กชวล (Bisexual) ไม่มีอยู่จริง ก็แค่คนที่สับสนทางเพศ เลือกไม่ได้ว่าจะชอบผู้ชาย หรือผู้หญิง…ซึ่งมันใช่ที่ไหน การชอบได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ก็คือการ ‘เลือก’ แล้วว่าสบายใจกับทั้งสองเพศ
ผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Woman) คงเป็นคนบ้าผู้ชาย ต้องตลก หรือเป็นคนแรงๆ… ซึ่งมันใช่ที่ไหน ทรานส์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรงๆ ไม่ได้ชอบเข้าหาผู้ชายแบบถึงเนื้อถึงตัว ไปจนถึงบางคนก็ไม่ได้ชอบผู้ชาย
ยังมีเรื่องไม่เข้าใจมากมายที่เกิดกับคนในตัวอักษร LGBTQ+ ที่สังคมควรทำความเข้าใจเสียใหม่ เราชวนอ่าน 4 เรื่องราวการโดนสเตริโอไทป์ของ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และผู้หญิงข้ามเพศ ว่าทำไมเราถึงไม่ควรปล่อยผ่าน และต้องจริงจังกับปัญหาเรื่องการสเตริโอไทป์ เพราะมันกระทบกับชีวิตของพวกเขา และทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียมทางเพศขึ้นสักที
เลสเบี้ยนไม่ได้ชอบผู้หญิงทุกคนและไม่จำเป็นต้องเคยชอบผู้ชายมาก่อน
เอม – ภาณุมาศ จำปาพงษ์ นิยามตัวเองเป็นเลสเบี้ยนโดยกำเนิด รู้ตัวว่าตัวเองชอบผู้หญิงมาตั้งนาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องชอบผู้ชายมาก่อน ฉะนั้นถ้าใครจะมาบอกว่าเลสเบี้ยนทุกคนจะต้องอกหักจากผู้ชายมาก่อน แล้วถึงมาคบผู้หญิงได้ คุณคิดผิดแล้วล่ะค่ะ! และนี่คือสิ่งที่เอมอยากบอก
หนึ่ง: เลสเบี้ยนไม่ได้ชอบผู้หญิงทุกคน: “สังคมสเตริโอไทป์เราว่า เป็นเลสเบี้ยนแสดงว่าต้องผู้หญิงทุกคนล่ะสิ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เวลาจะรักใคร ก็ต้องใช้ความรู้สึกรัก หรือมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จะรู้สึกชอบผู้หญิงทุกคนไปทั่วอย่างที่สังคมคิดกันไปเอง”
สอง: การถูกมองว่าเป็นเลสเบี้ยนจะต้องชอบและจีบผู้หญิงไปทั่วไม่ใช่เรื่องตลกเลย เพราะทำให้ผู้หญิงระแวงเลสเบี้ยน: “การสเตริโอไทป์ว่าเลสเบี้ยนจะต้องชอบผู้หญิงทุกคน มันส่งผลทำให้เราต้องเสียเพื่อนไปอย่างไม่สมเหตุสมผล เวลาเราทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่เป็นผู้หญิง เพื่อนจะพูดแซวว่า อยู่กับกูบ่อยๆ เดี๋ยวคนอื่นก็คิดว่าเราเป็นแฟนกันหรอก หรือตอนเรามีรูมเมตเป็นผู้หญิง เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่า แม่บอกว่าให้ระวังตัวด้วยเวลาอยู่กับเรา ซึ่งมันแปลว่านี่คือปัญหาที่กระทบชีวิต และคิดว่าเกิดจากสื่อต่างๆ เช่น ละคร หรือซีรีส์ ที่บางครั้งสร้างบทเลสเบี้ยนให้ชอบเพื่อนสนิทอยู่เรื่อยๆ และผลิตซ้ำจนเป็นภาพจำในสังคม”
สาม: เลสเบี้ยนไม่จำเป็นต้องอกหักจากผู้ชายมาก่อน: “จริงๆ เป็นความคิดที่ไม่ถูกและไม่ผิด เพราะอาจจะมีคนที่เป็นแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่ได้อยากให้คนส่วนใหญ่มองว่าที่คือสิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคลมากกว่า ยิ่งในสังคมที่เพศชายเป็นศูนย์กลางทั้งอิทธิพลด้านสังคม ศีลธรรม และความคิด ทัศนคติต่างๆ จึงฝังรากว่าเลสเบี้ยนเป็น loser ที่ไม่สมหวังกับผู้ชาย เลยมาหาแฟนเป็นผู้หญิง ทั้งที่ความจริง เลสเบี้ยนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง อยากให้เปิดใจ และเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นค่ะ”
และสำหรับภาพสังคมไทยที่เอมในฐานะเลสเบี้ยนอยากเห็นในอนาคต คือ “ทุกคนและทุกเพศ มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งด้านกฏหมายและการยอมรับในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน รวมไปถึงรัฐบาล ให้ความสำคัญ ตระหนัก และเปิดใจยอมรับความหลากหลายนี้ แล้วมาช่วยกันสร้างสังคมที่ไม่ได้มองเราที่เพศ แต่จะเป็นสังคมที่มองว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง”
เกย์ ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง และไม่จำเป็นต้องออกสาวทุกคน
ฟร้อง นิยามตัวเองเป็นเกย์ เขาเลือกจะไม่เปิดเผยชื่อจริงหรือภาพถ่าย เพราะครอบครัวยังไม่ยอมรับ นั่นทำให้เห็นว่าต่อให้ทัศนคติต่อ LGBTQ+ ในวันที่ความเท่าเทียมทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้น ก็ยังไม่มากพอและเป็นปกติเพียงพอ จนทำให้คนในคอมมูนิตี้ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระทุกคน นี่คือสิ่งที่ฟร้องอยากบอก
หนึ่ง: เกย์เป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง : “เราเป็นเกย์ก็จริง แต่เพื่อนสนิทบางคนจะเรียกเราว่าตุ๊ด กะเทย แม้เราจะไม่ได้แต่งหญิง ไม่ได้อยากสวย เรายังแต่งตัวเป็นผู้ชาย ใช้ชีวิตแบบผู้ชาย แค่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกันเท่านั้น”
สอง: มีเพื่อนเป็น LGBTQ+ ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจ LGBTQ+: “บางคนที่สนิทกับเรา แทนที่จะเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจด้วยซ้ำ อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้อยากจะแต่งหญิง แต่ก็จะโดนถามว่า อ้าว ทำไมไม่แต่งหญิง ทำไมไม่ไว้ผมยาว ทำไมไม่แต่งหน้า ทำไมไม่เป็นแบบนั้น แบบนี้ เราก็คิดว่าแบบ ทำไมฉันจะต้องแต่งด้วย ทำไมต้องไว้ผมยาว ก็เราชอบที่จะเป็นตัวเราแบบนี้ แบบนั้นมันขัดกับตัวเรามากเลยนะ หลายคนยังคิดว่าผู้ชายที่ชอบผู้ชาย จะแปลว่าอยากเป็นผู้หญิง และควรจะสวย ควรจะไปให้สุด ซึ่งแสดงว่าคุณไม่ได้เข้าใจเลย ว่าเกย์คืออะไร”
สาม: ทุกคนควรเรียนรู้ความหมายของคำว่าเกย์ และทุกตัวอักษร LGBTQ+: “ทุกวันนี้อาจจะดีขึ้นมาหน่อย เพราะหลายคนในสังคมก็ให้เกียรติคนแต่ละเพศอย่างชัดเจน เช่น คนนี้เป็นเกย์ คนนี้เป็นเลสเบี้ยน แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางคนก็ยังมอง LGBTQ+ เป็นภาพเดียวอยู่ เรียกทุกคนว่าตุ๊ด เรียกทุกคนว่ากะเทย อย่างซีรีส์วายเอง ก็จะเน้นเรื่องความรักเสียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้เน้นปัญหาพื้นฐานที่เกย์ต้องเจอจริงๆ ในสังคมมากนัก เราคิดว่าสำคัญมากเลยนะ ถ้าสื่อช่วยสื่อสารตัวตนของเกย์ออกมาตรงๆ ไปเลย”
สี่: คำบูลลี่ เหยียดเพศ ยังไม่หมดไปในสังคมไทย: “เวลาที่เราอยู่ในออฟฟิศ หรือที่ข้างนอก บางคนจะชอบถามคำถามน่าอึดอัดที่เขาเคยดูมาจากหนัง หรือจะชอบหยอดเรา ในสื่อเองก็ยังเลือกใช้คำบูลลี่ พูดเล่น ติดตลก ทำให้คำเหล่านั้นกลายเป็นคำเบสิกที่ใครจะพูดก็ได้ ดูไม่เสียหาย แต่พอในชีวิตจริง มันร้ายแรงตรงที่ว่าผู้คนจะคิดกันว่าฉันจะพูดแบบนี้กับเธอก็ได้ ฉันจะทำยังไงกับเธอก็ได้ เหมือนฟอกขาวเรื่องที่ผิดให้เป็นเรื่องที่ไม่ผิด”
แม้ทุกวันนี้เกย์จะถูกยอมรับมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ของคนในสังคมก็อาจจะกระทบใจของ LGBTQ+ นั่นทำให้เราคิดว่าทุกคนควรจะหันมาคิดก่อนพูด และเอาใจเขามาใส่ใจเรากันให้มากขึ้น และตัวฟร้องเองก็เป็นตัวแทนของเกย์ที่ยังไม่ถูกยอมรับในระดับครอบครัวด้วย เขาบอกว่า “พ่อเราเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม และมีทัศนคติไม่ดีต่อ LGBT ทุกคนที่บ้านรับรู้ว่าเราเป็น มีแค่พ่อที่จะรู้ไม่ได้ อย่างแม่เอง ไม่ได้อะไรกับตัวตนของเรา แต่ก็เคยพูดว่าอย่าไปทำให้พ่อเห็นนะ เพราะพ่อเป็นคนอารมณ์รุนแรง เวลาไม่พอใจจะด่าและแสดงออกมาเลย เวลาเจอพ่อก็ต้องแกล้งทำเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง มันก็เกร็งๆ นะ”
ไบเซ็กชวล มีอยู่จริง ไม่ได้สับสนทางเพศ เพราะการชอบทั้งสองเพศไม่ใช่เรื่องแปลก
มุก – พิชามญชุ์ สมมิตร นิยามตัวเองเป็นไบเซ็กชวล และขยายความให้เราฟังว่า เธอเป็นเพียงผู้หญิงที่ชอบผู้ชายหรือผู้หญิงสักคนที่ทำให้รู้สึกสบายใจ และแม้จะชอบสองเพศ แต่เวลาคบกับใคร เธอก็เต็มที่เสมอ ไม่ได้จะโลเลไปหาคนอื่น หรือเพศอื่นกลางคัน และนี่คือสิ่งที่มุกอยากบอก
หนึ่ง: ไบเซ็กชวลมีอยู่จริง จริงใจ ไม่ได้สับสนทางเพศ: “หลายคนชอบคิดว่าไบเซ็กชวลเป็นเพศที่ไม่มีจริง ไม่จริงใจ และสับสนทางเพศ แม้ไบเซ็กชวลจะเป็นอักษรตัวใน LGBTQ+ ก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะสังคมอาจจคิดว่าถ้าแกชอบและคบผู้หญิงด้วยกัน ก็เป็นเลสเบี้ยนไปสิ หรือถ้าแกชอบและคบผู้ชาย แกก็คงกลับไปเป็นผู้หญิงสเตรทมั้ง แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะการเป็นไบ มันหมายถึงว่า ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าเรารู้สึกดี รู้สึกชอบ รู้สึกสบายใจ เราก็พร้อมจะทำความรู้จัก และเริ่มต้นความสัมพันธ์ ถ้ามันไม่ใช่ เราก็แค่เลิกกันเพราะไปต่อไม่ได้ เหมือนกับความสัมพันธ์ของเพศอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเราสับสนทางเพศ”
สอง: สังคมไทยยังยึดติดกับกล่องเพศอยู่มาก เลยไม่เชื่อในไบเซ็กชวล: “ความคิดตามกรอบเดิมๆ ของมนุษย์ คือผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิงเท่านั้น หรือแม้แต่ใน LGBTQ+ ก็ยังมีกรอบบางอย่างที่คนยังยึดติด เช่น ชอบเพศเดียวกันก็เป็นเกย์ไปเลย ถ้าชอบทั้งชาย ทั้งหญิง จะเป็นเรื่องแปลก และถูกอคติได้ คนจะชอบบอกว่าไบเซ็กชวลแค่กำลังค้นหาตัวเองในช่วงหนึ่งเท่านั้นว่าตกลงจะชอบเพศอะไร ซึ่งเราก็เคยมาคิดกับตัวเองนะว่าเราเป็นแบบนั้นไหม สรุปคือ เราไม่ได้สับสนอะไรเลย เราแค่สามารถรู้สึกชอบใครก็ได้ และไม่ได้ใจง่าย แบบบางคนจะกลัว ถ้าเราคบผู้ชายอยู่แล้วอาจจะไปชอบผู้หญิงคนอื่นได้ง่ายๆ ซึ่งมันไม่ใช่ เรื่องแบบนี้มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มันเกี่ยวกับเรื่องนิสัยมากกว่านะ บางคนเป็นสเตรทแท้ๆ ยังนอกใจแฟนไปชอบคนอื่นได้เลย”
แม้คนจะไม่เข้าใจไบเซ็กชวลตอนนี้ แต่มุกกลับเชื่อว่าสังคมเปลี่ยนได้ เธออยากเห็นวันที่ “ทุกคนเคารพความต่างของกันและกัน ลดอคติและเปิดใจให้กว้างๆ และอยากให้มีกฎหมายที่คุ้มครองและให้สิทธิทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ เราคิดว่าถ้าคนเรามีความเข้าใจในความต่างของคนอื่นๆ สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ความเชื่อเปลี่ยนได้เสมอ”
เป็นทรานส์ ไม่ได้แปลว่าจะบ้าผู้ชาย หรืออนุญาตให้ใครมาคุกคามทางเพศ
ลูกอี๊ด – ปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง นิยามตัวเองเป็นผู้หญิงข้ามเพศ หรือ Trans Woman และการเป็นผู้หญิงข้ามเพศของเธอนั้นไม่ง่าย เธอยังคงเจอเรื่องท้าทายมากมายในสังคม เมื่อทัศนคติที่ไม่ดีต่อทรานส์ และการไม่ให้เกียรติในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งยังคอยวนเวียนอยู่ในบ้านเรา นี่คือสิ่งที่ลูกอี๊ดอยากบอก
หนึ่ง: ทรานส์ไม่ได้บ้าผู้ชาย และไม่ใช่ผู้หญิงหมายเลข 2 ที่ใครจะทำอะไรก็ได้: “สังคมเราชอบสเตริโอไทป์ทรานส์ว่าบ้าผู้ชาย และคิดว่าทรานส์จะชอบให้ผู้ชายมาจับนั่น จับนี่ หรือแฮปปี้มากๆ เวลาผู้ชายมาลวนลามร่างกาย ไปจนถึงผู้ชายบางคนก็คิดว่า การคบทรานส์ที่มีเพศสภาพหญิงเป็นความท้าทายและเรื่องน่าตื่นเต้นในการเปิดประสบการณ์เซ็กซ์ เพราะมองเราเป็นของแปลก ซึ่งมันแปลว่าเขาไม่ได้ให้เกียรติอะไรเราเลย”
สอง: ทรานส์หลายคนถูกคุกคามทางเพศ เพราะสังคมคิดว่าทำได้: “การมีอยู่ของสื่อที่นำเสนอภาพจำของทรานส์ในมิติที่แบนราบมาอย่างยาวนาน ประกอบกับการที่ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้ จึงสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อสังคมออกไปบนแพลตฟอร์มต่างๆ มันเป็นการตอกย้ำภาพจำที่ไม่ดีต่อกลุ่มทรานส์อยู่เสมอ เราโดนคุกคามทางเพศทั้งทางวาจา สายตา การกระทำ เช่นขอจับนมหน่อย รู้นะว่าชอบ ท่าทางดูฟิตน่าดู หรือแม้แต่การลองคุยกับผู้ชายใน Tinder หลายๆ ครั้งก็เข้ามาคุยเพียงแค่อยากลองมีเซ็กซ์ ซึ่งก็ทำให้เราแอบกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์ และหมดหวังในการมีชีวิตคู่ในประเทศนี้”
สาม: กฎหมายคุ้มครองทรานส์ควรจะเข้มข้นมากขึ้นในไทย: “เมื่อทรานส์หลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตในประเทศได้อย่างไม่ปลอดภัย สิ่งที่ควรมีเลยคือการปราศจากการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการคุ้มครองป้องกันการกระทำความรุนแรงที่เข้มแข็งมากขึ้น ตอนนี้บางคนแค่ไปแจ้งความว่าถูกคุกคามทางเพศ ยังโดนตำรวจชายแท้บอกว่าน้องน่าจะชอบน้า มาแจ้งทำไม ก็คือไปพัก เจ้าหน้าที่รัฐคือตัวดีที่สั่นคลอนความปลอดภัยสุดๆ”
สิ่งที่ลูกอี๊ดอยากฝากถึงสังคมในฐานะทรานส์คนหนึ่งนั้นเรียบง่าย เธอแค่อยากเห็น “สังคมมีการปลูกฝังและสร้างมุมมองอันดีต่อกลุ่มเพศหลากหลายตั้งแต่เด็ก เพื่อสอนให้เด็กทุกคนให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร นับถือศาสนาไหน รูปร่างแบบใด ฐานะต่างกัน เชื้อชาติต่างกัน เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้คือการทำงานหนักของชนชั้นปกครองในการเพิ่มหลักสูตรทางการศึกษา การผลักดันกฏหมายเพื่อความหลากหลายให้มีการบังคับใช้สักที”