เรียนรู้อยู่กับความไม่แน่นอน – ทำความรู้จักความยืดหยุ่น – ท่องโลกกว้างนอกห้องเรียน – เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง นี่คือ 4 วิชา (ชีวิต) ที่เด็กๆ หยิบฉวยจากไวรัสแบบไม่รู้ตัว
วิชาที่ 1 เรียนรู้อยู่กับความไม่แน่นอน
เมื่อต้องกักตัวหลบไวรัสอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน เด็กหลายๆ คนมีคำถามว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก แน่นอน พ่อแม่ก็ตอบไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครตอบได้เรื่องวัคซีน
ความแน่นอนอายุสั้นแค่วันนี้ พรุ่งนี้ก็คาดเดาอะไรไม่ได้แล้ว
แต่การเผชิญกับความไม่แน่นอนตั้งแต่เด็ก คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเติบโต
เมื่อลูกมีคำถาม พ่อแม่จะช่วยเขาได้อย่างไร?
เช่น เมื่อไหร่หนูจะได้ไปเล่นกับเพื่อนเหมือนเดิม
รวมถึงคำถามอื่นๆ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบชัดเจนให้ลูกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพียงแค่พ่อแม่ซื่อสัตย์และพูดความจริงกับลูกว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่พ่อแม่เองก็ไม่รู้ ถ้าเป็นเด็กเล็กหรือก่อนเข้าโรงเรียน คำแนะนำที่ดีที่สุดเราอาจจะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า คุณหมอกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อคิดค้นยามารักษาเราให้แข็งแรง และเมื่อไหร่ที่เราแข็งแรง เราก็จะได้กลับไปเป็นเหมือนเดิม (ใช้ชีวิตเหมือนเดิม อาจยากเกินไป)
สำหรับเด็กโต พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดอาจจะสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมาได้มากขึ้น เริ่มด้วยการถามเขาก่อนว่า ‘ลูกคิดอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้’ จากนั้นบอกว่าพ่อแม่รู้และไม่รู้เรื่องอะไรบ้าง พ่อแม่และลูกควรคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอถึงความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
วิชาที่ 2 คิดและใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่น!
อาจมีหลายอย่างที่เด็กๆ รู้สึกติดขัดอยู่นั่นแหละ ไม่ได้ดั่งใจ แต่ก็ยังไม่เลิกทำเสียที แต่จุดนี้แหละที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความยืดหยุ่นจะเกิดขึ้นไปในตัว ช่วงเวลานี้เหมาะกับการปรับตัวมากที่สุดแล้วในการกลับไปเริ่มใหม่หรือแก้ไขด้วยตัวเอง
“เด็กๆ เกือบทุกคนจะโอเค – ประเด็นนี้สำคัญมาก เด็กๆ และวัยรุ่นจะยืดหยุ่นเป็น”
พ่อแม่ช่วยให้ลูกรู้จักยืดหยุ่นได้อย่างไร?
“แค่ให้พื้นที่หรือปล่อยให้ลูกเจอกับความไม่สะดวกสบาย” วิธีที่ทำได้ง่ายๆ (ต้องเหมาะกับอายุเด็ก) เพื่อแสดงให้เด็กๆ รู้ว่าไม่ใช่แค่ลูก แต่พ่อแม่ก็กลัวและทุกข์ใจไปกับเขาเหมือนกัน ฉะนั้นเรามาหาวิธีการรับมือด้วยกันไหม
“อยากเดินเล่นไหม” “ลองสูดหายใจลึกๆ สิ” “คุยกับเพื่อนไหม” หนึ่งในคำตอบที่จะช่วยลูกให้รู้จักยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง
ภายใต้คำแนะนำเหล่านั้น พ่อแม่เองก็ไม่ต้องเครียด แค่เสริมและสนับสนุนให้ทักษะการแก้ปัญหาของเด็กๆ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น
เมื่อเจอคำถามยากหรือสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ลองใช้ช่วงเวลานี้ให้เด็กๆ เล่าให้ฟังว่าพวกเขาคิดอะไรนอกจากลูกจะได้ฝึกทักษะชีวิตแล้ว นี่จะเป็นโอกาสทองที่ครอบครัวจะได้มีเวลานั่งลง คุย สังเกตกระบวนการคิดและทักษะการแก้ปัญหาของลูกอย่างจริงจัง
วิชาที่ 3 เรื่องสนุกอีกตั้งมากมายนอกห้องเรียน
พ่อแม่เคยสังเกตตารางชีวิตที่ผ่านมาของลูกไหมว่าเขายุ่งเกินตัวไปหรือเปล่า
ถ้าชีวิตของลูกยุ่งเหยิง อัดแน่น เต็มไปด้วยการเรียนที่เคร่งเครียด จนพวกเขาไม่มีเวลาหยุดพักหรือเล่นสนุก โอกาสนี้เองที่ทำให้พวกเขาได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะมีเวลาเหลือเฟือ เพื่อเบนสายตาไปทางอื่นนอกจากตำราเรียน
เมื่อเห็นลูกลุกขึ้นมาจับกีตาร์ อบขนม เข้าครัวทำอาหาร อย่าตกใจ
เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาตัวเอง แต่มันคือการทำให้เด็กๆ ตระหนักว่า พวกเขามีเวลาและพื้นที่ที่จะกลับไปเชื่อมหรือสานสัมพันธ์กับอะไรก็ได้นอกโรงเรียน โดยที่ไม่เกี่ยวกับภาระหน้าที่รูทีนทั้งหลาย
สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยลูกได้ แค่คุยหรือถามลูกๆ ว่า ลูกมีอะไรอีกบ้างที่อยากทำมากกว่านี้ จากนั้นช่วยเตรียมให้เขาได้ลงมือทำงานอดิเรกที่เขาเลือกเอง (แม้ว่าเขาจะเลือกเล่นเกมออนไลน์ก็เถอะ)
ถ้าลูกไม่มีไอเดียหรือไม่รู้ว่าอยากทำอะไร พ่อแม่อาจชวนเขาคิดถึงสิ่งง่ายๆ ที่คุณกับลูกทำด้วยกันได้ เช่น เล่นบอร์ดเกม หรือ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ งานบ้าน แล้วก็บอกลูกว่าคุณมีความสุขมากแค่ไหนที่ได้ใช้เวลาด้วยกัน
วิชาที่ 4 ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในบ้านของตัวเอง!
ก่อนโลกจะเจอไวรัส พ่อแม่บางคนอาจจะยุ่งแต่กับการออกไปทำงาน ลูกก็ต้องออกไปทำหน้าที่ของตัวเอง จนทำให้ทุกคนหลงลืมและมองไม่เห็นบทบาทของตัวเองในบ้าน
นี่เป็นเวลาดีที่จะทำให้เรามองเห็นกันและกันชัดเจนขึ้น พ่อมองเห็นแม่ แม่มองเห็นพ่อ ลูกมองเห็นพ่อแม่ ในความหมายของการเป็นทีมเดียวกัน ครอบครัวเดียวกันจะขาดใครคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ เพราะทุกคนสำคัญและจำเป็น
พ่อแม่รู้ไหมว่า เราสามารถสอนเด็กๆ เรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัว ผ่านสิ่งเหล่านี้ได้
ถ้ามีเด็กเล็กในบ้าน ขอให้เขาช่วยจัดหรือทำความสะอาดของเล่น หรือให้ช่วยงานบ้านง่ายๆ ที่คุณอาจจะต้องวนกลับไปทำซ้ำ แต่นั่นเท่ากับคุณและลูกกำลังทำกิจกรรมด้วยกัน หรือคุณทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพียงแค่สิ่งเล็กน้อยแค่นี้ก็ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาคือทีมเดียวกับคุณแล้ว
ถ้าเด็กโต ขยับให้เขารู้จักคำว่าหน้าที่ ผ่านการรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ในบ้านมากขึ้น เช่น อนุญาตให้เขาตั้งเวลานาฬิกาปลุกเอง ให้เขาทำอาหารกินเอง ออกไปทิ้งขยะและทำความสะอาดรอบๆ บ้าน แบ่งให้ลูกได้ทำกิจกรรมสำคัญๆ ในบ้าน ย้ำเขาบ่อยๆ ว่า เขาสำคัญแค่ไหนต่อครอบครัว และเขาก็จะเรียนรู้บทบาทในบ้านของเขาด้วยตัวเอง
ที่มา: รอน สโตลเบิร์ก (Ron Stolberg) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Alliant Intertaional University