โครงสร้างสังคมที่โอบรับทุนขนาดยักษ์ใหญ่เข้าควบคุมผู้คนมหาศาลให้เดินตามเส้นทางบางเส้นทางอย่างยากปฏิเสธ เราเริ่มก้าวเข้าสู่ระบบทีละนิดผ่านโรงเรียนที่มุ่งสอบแข่งขัน สอนให้เราคว้ารางวัลและชัยชนะ เมื่อถึงวันวัยหนึ่งเราก็จะเริ่มทำงาน ทำงาน และทำงานอย่างหนักหนา “หามรุ่งหามค่ำ” เพื่อรับใช้ระบบ ตามหาความสำเร็จและความมั่นคงจนไม่เหลือเวลาหยุดพัก ระบบนี้ยังทำให้เรารู้สึกว่าการคลาน-เดิน-วิ่งไปตามเส้นทางนี้เราได้กำหนดเส้นทางของตัวเองเพื่อทะยานไปไขว่คว้า “ชีวิตที่ดีขึ้น” ราวกับว่าชีวิตที่ดีนั้นอยู่ห่างไกลและไม่ควรจะเป็นของเราตั้งแต่แรก แต่หลายครั้งเหมือนกันที่เราอาจรู้สึกว่าเส้นทางต่างหากที่กำลังกำหนดคนเราให้เดินตามมันไปอย่างเป็นระบบ มันอนุญาตให้เรามี “เวลา” เป็นของตัวเองเพียงชั่วลมพัดผ่านและมีเวลาค้นหาความสุขสบายกายใจเท่าที่ระบบนี้มอบให้ซึ่งก็ให้ไม่เท่ากัน ตามแต่ว่าใครจะยืนอยู่บน-กลาง-ล่างของโครงสร้างอันใหญ่หลวงนี้
ระบบสังคมเช่นนี้ทำให้มนุษย์อย่างเราๆ ต้องเดินและวิ่งแข่งขันไม่จบสิ้นในลู่ทางที่ใครก็มุ่งไป และเมื่อเส้นทางมีอยู่น้อยกว่าจำนวนและความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ใครหลายคนย่อมหล่นหายตายตกไปอยู่ขอบทาง หลายคนอาจถูกเหยียบย่ำจากความแออัด และหลายคนถูกขูดรีดเอาเลือดเอาเนื้อกันทั้งเป็น เพื่อผดุงให้ระบบยังคงอยู่และดำเนินไปได้
การลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือคิดอยากเดินไปคนละทิศจากเส้นทางและระบบที่ถูกกำหนดว่าเหมาะควรนั้น นอกจากทำให้เราถูกมองว่าขี้เกียจ ไม่เอาการเอางาน ไม่ขยันอดทน บ้า ประหลาด เพ้อฝันแล้ว มันยังคอยสร้างความรู้สึกหลงทาง เคว้งคว้าง หวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับเราเมื่อคิดอยากจะ “ออกนอกลู่นอกทาง” อีกด้วย
แล้วหนังสือที่เพื่อนให้มาเล่มนั้นก็ได้ชวนฉันออกนอกลู่นอกทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง
“…เจ้าสัตว์พวกนั้น กินนอนใต้ดิน ทำงานวันละแปดชั่วโมง ลากรถบรรทุกแร่ พวกเธอรู้ไหมว่าเมื่อลาเข้ามาอยู่ในเหมืองแร่แล้ว จะไม่มีวันได้ออกไปถ้ายังมีชีวิตอยู่…”
คำพูดของคุณครูมัสสิโมที่ ‘เหมืองแร่’ ขณะพาเด็กๆ ทัศนศึกษา เป็นฉากที่ปรากฏในตอนแรกเริ่มของวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เกาะแห่งเวลาที่เสียไป (L’isola del tempo perso) ผลงานของนักเขียนเปี่ยมจินตนาการ “ซิลวานา กันดอฟฟี” (Silvana Gandolfi) ในสำนวนการแปลของ “นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ” เป็นตัวบทที่นอกจากจะชวนให้นึกถึงภาพเจ้าลาผู้น่าสงสารในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะนึกเชื่อมโยงไปถึงผู้คนอย่างเธอ เขา เรา ฉันในโลกที่เหมือนกำลังตรึงแขนดึงขาพวกเราเอาไว้ให้ทำงานอย่างแข็งขันตลอดวันคืน–ไม่สิ ต้องบอกว่าตลอดการมีชีวิตอยู่!
เรื่องราวการหลงทางของ “จูเลีย” และ “อาเรียนนา” ก็เริ่มต้นที่เหมืองแร่แห่งนี้แหละ…จูเลียเดินออกจากแถวทัศนศึกษาของโรงเรียนขณะเดินชมเหมืองแร่ แล้วหลงทางเข้าไปในอุโมงค์มืดมิดเพื่อตามหาอาเรียนนาเพื่อนรัก ก่อนเกิดเรื่องน่าอัศจรรย์ใจที่ได้พาพวกเธอทั้งสองไปปรากฏตัวในเกาะซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งของมากมาย พร้อมทั้งผู้คนจำนวนหนึ่งที่พวกเธอไม่เคยพบเห็น หลังจากตัวละครทั้งสองปรากฏตัวในเกาะแห่งนี้ การอ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ของฉันก็เหมือนไม่ใช่การอ่านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะหลายจังหวะเหมือนกับว่าฉันได้กลายเป็นเด็กที่หัวใจได้โลดแล่นอีกครั้ง เชื่อมตัวเองเข้าไปในเรื่องราวและกลายเป็นเพื่อนที่หลงทางไปกับจูเลียและอาเรียนนาในดินแดนแสนประหลาดที่แตกต่างไปจากโลกเดิมอัน “เคยชิน” อย่างสิ้นเชิง
เกาะแห่งเวลาที่เสียไป เป็นทั้งชื่อหนังสือและชื่อเกาะแห่งนั้นที่ไม่แน่ชัดว่ามันตั้งอยู่จุดไหนในแผนที่โลก บางทีมนุษย์อาจค้นยังไม่พบจึงไม่เคยเจอในภาพแผนที่ไหนๆ และไม่แน่ชัดอีกด้วยว่ามันคือความจริงหรือความฝันของเด็กๆ กันแน่ แต่คำตอบก็เหมือนจะไม่สำคัญเท่าความหมายและเรื่องราวที่บอกเล่าประเด็นต่างๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้
แน่นอนว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในเกาะนี้ “ดาเนียเล” หัวหน้าเด็กๆ ในเกาะเขาชี้แจงกับพวกเราว่า ที่นี่มีแต่คนหลงทางบนโลกเท่านั้นอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะหลงยังไงก็ตาม ส่วนสิ่งของต่างๆ ที่พบเห็นที่นี่ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา แว่นตา ร่ม เสื้อผ้าและอีกมากมายก็ล้วนเป็นสิ่งของที่คนทำหาย ปลิวหาย หรือหล่นหาย เกาะนี้จึงเป็นเหมือนคลังของหายขนาดยักษ์นั่นเอง
ในบรรดาผู้คนที่หลงทางมายังเกาะบางคนเป็นเด็กกำพร้า บางคนเป็นเด็กที่ถูกเพื่อนรังแกและทอดทิ้ง ทั้งยังมีผู้บริหารสหภาพแรงงาน ผอ.สถาบันวิจัย นักฟิสิกส์ ศาสตราจารย์ รวมถึงจูเลียที่เธอหลงทางมาเพราะเดินไปตามใจออกนอกเส้นทางขบวนทัศนศึกษาของโรงเรียน
ฉันคิดว่าการที่นิยายเลือกให้ตัวละครหลักอย่างจูเลียหลงทางมายังเกาะด้วยเหตุผลนี้อาจเป็นการตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาในระบบที่มุ่งแต่จะให้คนอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบราวกับเป็นโรงงานผลิต ไม่แตกแถวและไม่แตกต่าง หรือว่าการที่ผู้บริหารสหภาพแรงงานพลัดหลงเข้ามาก็อาจเพราะเธอมีแนวคิดที่ต่างจากวิถีระบบการทำงานเยี่ยงลาในเหมืองแร่นั่น ไหนจะนักฟิสิกส์ล่ะ เขาอาจเหม่อลอยไปกับการตั้งคำถามแปลกๆ ที่ไม่ได้ตอบโจทย์โลกทุนนิยม ไปจนถึงเด็กที่ถูกลืม พวกเขาอาจจะกลายเป็นแกะดำจนรู้สึกอยากหันหลังให้กับการเป็นที่ยอมรับ แต่ไม่ว่าการหลงทางเข้ามาในเกาะนี้จะเป็นไปด้วยเหตุผลใด ทุกคนดูเหมือนจะมีความสุขอย่างน่าประหลาดหลังจากได้เข้ามาอยู่ อาจเพราะในเกาะนี้ไม่มีใครบังคับให้ใครทำอะไรเลย ทั้งไม่บังคับให้ทำ ให้เป็น ให้จำนนหรือจำยอมอย่างที่ดาเนียเลว่า
“ถ้าหากว่าบนเกาะจะมีกฎสักข้อนะจูเลียก็คงเป็นข้อที่ว่าไม่บังคับใครให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ”
การหลงทางของจูเลียและอาเรียนนาในครั้งนี้อาจดูหวาดหวั่นสำหรับพวกเธอในช่วงแรก แต่พอได้ทำความรู้จักเกาะแห่งนี้พวกเธอสนุกสนานจนแทบไม่อยากกลับเลยล่ะ เหมือนกับฉันที่แทบไม่อยากจะวางหนังสือเล่มนี้ลง
ห้านาทีบนโลกเท่ากับหนึ่งสัปดาห์ของที่นี่
ฉันพลิกอ่านไปได้สักพักใหญ่ตะวันก็ยังไม่ตกดิน ค้างเติ่งอยู่เหมือนตอนหนึ่งในเรื่อง ตอนที่จูเลียตื่นเต้นกับท้องฟ้ายามใกล้ค่ำที่ทาทาบสีสวยงามให้เธอมองได้อย่างยาวนาน นั่นก็เพราะว่าเกาะแห่งนี้เวลาจะเคลื่อนที่ไปอย่างเชื่องช้าเหมือนกับตอนที่คนเราขี้เกียจทำงาน เหมือนช่วงที่เรากำลังเหม่อลอยคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย เหมือนกับตอนที่เพ้อฝันถึงโลกในจินตนาการ เรามักจะลืมนึกถึงวันเวลา — และใช่! เกาะนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการคิด-การกระทำเช่นนั้นของคนบนโลก พูดง่ายๆ ก็คือผู้คนบนเกาะมีเวลาสำหรับใช้สอยในการดำเนินชีวิตได้จากการที่ผู้คนบนโลกเหม่อลอย ขี้เกียจ หยุดพัก และใฝ่ฝันถึงสิ่งต่างๆ เวลาจึงสะสมอยู่ในเกาะนี้มากมายและเคลื่อนผ่านอย่างช้าๆ นั่นเอง
กลไกของเกาะนี้ทำให้ฉันคิดถึงเจ้าลาที่ทำงานแปดชั่วโมงต่อวันนั่นอีกแล้ว เจ้าลาใช้เวลาไปกับการทำงานมากถึง 8 ชั่วโมง (และออกไปไหนไม่ได้ตลอดชีวิต) ซึ่งก็เหมือนกันกับโลกของฉันที่ “เวลา” ดูจะมีอยู่อย่างจำกัดสำหรับการทำอะไรที่นอกเหนือจากงาน รวมถึงถูกใช้ไปจำนวนมากเพื่อการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ซ้ำๆ วนๆ เสมอไป และหากใครทวงถามหาเวลาพักผ่อนหรือเรียกร้องลดเวลาทำงานก็อาจถูกมองด้วยสายตาแปลกต่างออกไป ฉันจึงคิดว่ากลไกเวลาที่วรรณกรรมเรื่องนี้เลือกใช้กับพื้นที่บนเกาะนั้นได้ท้าทายและชวนตั้งคำถามกับโลกการทำงานจริงๆ ของคนเราอย่างน่าสนใจว่า “เวลา” เป็นของใครกันแน่ ใครถือครองเวลาอยู่ ทำไมคนเราไม่ได้ใช้เวลาไปเพื่อชีวิต การค้นหา การพักผ่อนเพื่อความสบายใจไร้กังวลมากเท่ากับใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ใช้เวลาว่างในการพัฒนาตัวเอง และใช้เวลาว่างหามรุ่งหามค่ำลงแรงลงกำลังเพื่อสนับสนุนระบบที่ทั้งกดทับและรัดรึงเราอยู่นี้ให้ดำเนินต่อไปได้
ไม่เพียงแต่ทำให้คนอ่านและคนหลงทางอย่างฉันเกิดคำถามต่ออำนาจในการใช้เวลาของคนเราเท่านั้น เรื่องราวในเกาะแห่งนี้ยังมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่คลี่ขยายประเด็นที่ว่ามาข้างต้นอย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น ผ่านเรื่องราวของ “มนุษย์กินคน” ที่อาศัยอยู่อีกฟากของเกาะโดยมีบึงขาวกั้นอยู่ หลายฉากตอนที่นักเขียนพาฉันไปสำรวจชีวิตของมนุษย์กินคน บางฉากบรรยายถึงว่าพวกเขาแทะเล็มกระทั่งเนื้อหนังของตัวเอง นอกจากนี้ที่อยู่ของพวกเขาทางฝั่งนั้นยังมีควันสีดำลอยขึ้นมา แล้วมนุษย์กินคนก็สูดดมเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวัน
“…ดวงตาคล้ายมีม่านบาง ๆ ที่ทำให้สายตาไร้ความรู้สึก ไหล่ถูกกดทับด้วยน้ำหนักที่มองไม่เห็น…”
จูเลียอธิบายมนุษย์กินคนที่เธอไปเห็นกับตา ฉันสนใจลักษณะของมนุษย์กินคนมากทีเดียว เพราะมันทำให้ฉันนึกถึง “คนทำงาน” อย่างเราๆ ยิ่งในวรรคที่ว่า “ดวงตาคล้ายมีม่านบางๆ ที่ทำให้สายตาไร้ความรู้สึก” ยิ่งชวนให้นึกถึงการทำงานอย่างหนัก การต้อง Productive อยู่เสมอที่หลายครั้งก็กลืนกินความรู้สึกของเราไปด้วย ว่าแล้วก็นึกถึงฉากที่จูเลียดีใจตอนเห็นอาเรียนนาร้องไห้ เพราะมันทำให้เธอมั่นใจได้ว่าอาเรียนนายังไม่กลายเป็นมนุษย์กินคน
ในตัวบทที่ว่า “ไหล่ถูกกดทับด้วยน้ำหนักที่มองไม่เห็น” ก็เสนอให้เห็นภาพคนทำงานที่แบกภาระและความหนักอึ้งมากมายที่เราอาจมองไม่เห็นจากระบบสังคมเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวนี้ — และใช่ ควันที่ลอยออกมาจากปล่องควันนั่น คือเวลาดำหรือ “เวลาที่เสียไป” โดยเมื่อคนสูดดมเข้าไปมากก็จะกลายเป็นมนุษย์กินคน ทว่า “เวลาที่เสียไป” ซึ่งกลายมาเป็นเวลาดำนั้นไม่ใช่เวลาก้อนเดียวกันกับเวลาที่เสียไปจากความขี้เกียจของผู้คนหรอกนะ
“เวลาที่เสียไปลอยออกมาจากปล่องควันเหล่านั้น แต่ไม่ใช่เวลาแห่งความสบายใจไร้กังวลซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของเราทุกคนหรอกนะ ที่ออกมาจากตรงนั้นคือเวลาที่คนบนโลกเสียไปกับเรื่องโง่ ๆ ไร้ความคิดริเริ่ม หรือเวลาที่เสียไปกับระบบราชการ การจราจร เธอเข้าใจมั้ยว่าเป็นเวลาประเภทไหนเป็นเวลาที่บ่อนทำลาย มืดดำ กลืนกินผู้ที่สยบให้มัน”
จะว่าไปการมีอยู่ของมนุษย์กินคนและเวลาดำในอีกฟากของเกาะนี้ก็สะท้อนให้เห็นระบบที่เข้าไปกลืนกินผู้คนได้อย่างเห็นภาพชัดแจ้งทีเดียว
เวลาบนโลกเป็นของเรา!
ฉันแอบใจหายเหมือนกันที่หน้ากระดาษใกล้จะหมดลง พร้อมๆ กับเวลาในการอยู่บนเกาะของจูเลียและเพื่อนๆ ของเธอ เพราะเมื่อเวลาดำมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนอาจนำไปสู่การล่มสลายลงของ “เกาะแห่งเวลาที่เสียไป” ทำให้จูเลียและเพื่อนๆ ร่วมมือกันเดินทางออกไปจากเกาะ กลับสู่โลกเพื่อทำภารกิจสื่อสารให้ผู้คนรอบตัวตั้งคำถามกับเวลาที่เสียไปจากการทำงาน การกดทับจากระบบอันหนักอึ้ง และทวงคืน “เวลา” ที่เป็นของพวกเราคืนมา เวลาที่เราสามารถใช้ไปกับการเหม่อลอย มองท้องฟ้ายามรุ่งค่ำอย่างสบายใจ พักผ่อน ใฝ่ฝัน ไปจนถึงใช้ไปกับความขี้เกียจและการอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป
“…คนบนโลกต้องเรียนรู้กันใหม่ว่าเวลาที่ปล่อยทิ้งไปนั้นไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตที่ขาดไม่ได้ เราจะเอาชนะเวลาดำได้ก็ต่อเมื่อรู้จักใช้ความสามารถในการอยู่เฉยๆ…”
“พวกเธอเข้าใจใช่ไหมว่าเราต้องทำอะไร…เวลาบนโลกเป็นของเรา”
ภารกิจการยื้อแย่งเวลาจากระบบเวลาดำกลับคืนมาเป็นของพวกเราโดยจูเลียและเพื่อนๆ จะสำเร็จไหม สุดท้ายแล้ว “เกาะแห่งเวลาที่เสียไป” และผู้คนที่อยู่บนเกาะจะเป็นอย่างไร?
เธอลองหลงทางไปพักผ่อนที่เกาะแห่งนั้นดูสิ
ฉันก็อยากรู้เหมือนกันว่าตอนนี้ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างแล้ว